หากขาดแคลนงบฯเอาเงินจากไหนมาแก้ปัญหา

หากขาดแคลนงบฯเอาเงินจากไหนมาแก้ปัญหา

หากขาดแคลนงบฯเอาเงินจากไหนมาแก้ปัญหา

หากขาดแคลนงบประมาณเอาเงินจากไหนมาแก้ปัญหา : แลกคนละหมัด โดยชินสัคค สุวรรณอัจฉริย

              โจทย์ข้อนี้จะให้ความหมาย คือ การเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน หรือกล่าวง่ายๆ คือการกู้ยืมเงินมาใช้แต่และประเทศต่างมีวิธีการที่แตกต่างกัน แต่สำหรับประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก นั่นคือ สรรพากรพยายามไล่บี้การจัดเก็บภาษีเท่าที่ตนเองจะสามารถทำงานได้ทุกบาททุกสตางค์และต่างก็พยายามมุ่งหาโดยเฉพาะกับมนุษย์เงินเดือน แต่เมื่อมีการใช้จ่ายผ่านกรมกระทรวงในรูปของงบประมาณแผ่นดินนั้นน้อยมากที่จะตรวจสอบการใช้จ่ายอย่างถึงลูกถึงคน นี่คือเรื่องที่มีการพัฒนา ในด้านกลับกันโดยหน่วยงานราชการด้านการบริการ ความมั่นคง การศึกษาและหลายๆ หน่วยงานขาดงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมและหลายหน่วยงานมีงบประมาณที่ล้นเหลือ(คือใช้ไม่หมด)และพยายามใช้ในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

หากพิจารณาการเบิกจ่ายและโครงการที่ทำกันในช่วงเวลานี้ ภารกิจที่สำคัญคือ การพยายามใช้จ่ายเพื่อเรียกร้องสิทธิของการได้งบประมาณปีต่อไป อย่างน้อยก็ให้ได้ตัวเลขในจำนวนที่เท่ากับงบประมาณของปีที่ผ่านมาที่ได้รับการสนับสนุน และหากมองในแง่ประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรของส่วนรวมถือว่านี่คือเรื่องที่ไม่เป็นธรรม

ที่ผ่านมาภาครัฐก็ไม่ได้ให้ความสนใจในการติดตามการใช้งบประมาณทั้งภายในและภายนอกเนื่องจากหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่ต่างก็มีพฤติกรรมแบบเดียวกัน จึงทำให้การใช้จ่ายเงินไม่มีเป้าหมายและการจัดเก็บภาษีนั้นขาดการกระจายในความจำเป็นของสังคม แม้แต่เอาง่ายๆหน่วยงานการศึกษาบางมหาวิทยาลัยใช้เงื่อนไขแบบนี้ ไม่คืนงบประมาณและใช้จ่ายไปในเรื่องส่วนตัว อย่างเช่น การหาสาเหตุการอบรมในช่วงของการสอบนิสิตประจำภาคเพื่อให้เกิดรายจ่าย การหาวิธีการใช้จ่ายเพื่อไปดูงานต่างประเทศโดยไปทั้งคณะเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายโดยอ้างว่าไปดูงานโดยไปในโปรแกรมการท่องเที่ยวของบริษัทซึ่งจริงๆ แล้วการดูงานใช้เวลาเพียงแค่ 4-6 ชม.เท่านั้น ส่วนเวลาที่เหลือก็เอาไปเที่ยวในประเทศในยุโรปและอื่นๆ อีกมากมายที่พยายามทำให้เกิดการใช้จ่ายในการประชุมและอบรมที่ในข้อเท็จจริงนั้นต้องการแค่รายชื่อและรูปภาพ แต่ผลที่เกิดขึ้นของโครงการนั้นไม่ได้ให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะผู้ที่จัดโครงการและผู้บริหารภายในหน่วยงาน

ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในฐานะหน่วยงานระดับสติปัญญาของประเทศ แต่วิธีคิดคล้ายกับผู้รับเหมาก่อสร้างถนน ในขณะที่ยังมีเด็กอีกมากมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และขาดโอกาสในการศึกษา และพวกเขาก็รอคอยโอกาสและการสนับสนุนจากผู้ใจบุญ และหากสถานการณ์แบบนี้ได้กลายเป็นการอ้างภารกิจขององค์กรในรูปแบบต่างๆ เช่นเพื่อการศึกษาดูงาน นั่นหมายถึงว่าเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรมสำหรับผู้ที่ตัดสินใจ แต่ในแง่ของหน่วยงานอื่นๆ ที่กำลังรอคอยการบริจาคหรือรองบประมาณเพียงน้อยนิดในการทำงานถือว่าเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม

ความต้องการใช้จ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในแต่ละหน่วยงานในกระทรวงต่างๆ นั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการจัดการงบประมาณการใช้จ่ายโดยไม่ใช่ผ่านสภาเพียงอย่างเดียว แต่ควรที่จะมีองค์กรที่มีตัวแทนจากประชาชนซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาจัดการ ส่วนหน่วยงานที่คอยตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐก็ควรที่จะปฏิรูปทางความคิดด้วย เพราะที่ดำเนินการอยู่นั้นยังติดอยู่กับความสนใจและความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่มากกว่าที่จะออกแบบวิธีการใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพหรือติดตามการใช้จ่ายให้ถึงภารกิจตามที่ชอบอ้างกันจริงๆ ไม่เช่นนั้นคนที่จ่ายภาษีในรูปแบบต่างๆ ก็จะต้องส่งตัวแทนของตนเองเข้ามาตรวจสอบ

และนักการเมืองก็ควรที่จะเลิกอ้างตัวเลขค่าใช้จ่ายเสียที แต่ควรหาที่จะหาวิธีการวัดการใช้จ่ายไปถึงตัวเป้าหมายของโครงการจริงๆ เพราะส่วนใหญ่นั้นมีการสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาและไม่มีภารกิจให้เห็นเป็นรูปธรรมหลังจากการใช้จ่ายและเรียกร้องงบประมาณทุกปี ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยบางแห่งชอบที่จะอ้างว่าเพื่อการศึกษาและดูงาน แต่เอาเข้าจริงกลับใช้งบประมาณไปเพื่อการท่องเที่ยวส่วนตัวซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์ทางวิชาการที่เกี่ยวกับนิสิตหรือผู้เรียนแต่อย่างใด และหากมองในแง่ศีลธรรมผู้ที่มีการศึกษาก็ไม่ควรที่จะมีพฤติกรรมแบบนั้นเป็นอันขาดเพราะถือว่านี่เป็นการกรรโชกทางด้านนโยบาย ฉะนั้นหากภาครัฐขาดแคลนงบประมาณ ก็ควรที่จะแก้ไขโดยการลดงบประมาณในส่วนนี้เป็นอันดับแรก ก่อนที่จะพิจารณาขอกู้ยืมการใช้จ่าย

การเมืองในหมู่ตะหาน

การเมืองในหมู่ตะหาน

การเมืองในหมู่ตะหาน

การเมืองในหมู่ตะหาน : ประชาธิปไตยที่รัก โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ (madpitch@yahoo.com)

              เรื่องบิ๊กโอ๋หักดิบสัปดาห์ที่ผ่านมาในการแขวนสามนายพลในกระทรวงกลาโหมนั้นเป็นเรื่องที่มันยกร่อง ฟักทองแตงไท ซะจริงๆ               แต่ย้อนดูแล้ว ผมอยากมองในภาพใหญ่ว่าทำไมสื่อไทยถึงชอบที่จะมองว่านักการเมืองรังแกข้าราชการประจำ หรือว่าเขียนให้หวาดเสียวเล่นก็คือ มันมีเรื่องต้องห้ามบางเรื่องที่มันกระทบกันไปหมดแล้วแก้ปมไม่แตก เช่นข้าราชการนั้นได้เปรียบในการอ้างอิงวาทกรรม และสถาบันบางอย่าง แต่นักการเมืองนั้นไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ง่ายนัก ดังนั้นนักการเมืองก็แพ้ทาง

แม้ว่าเราจะรู้ว่า ข้าราชการก็เล่นพวกและโกง และแทรกแซงโน่นนี่ได้เช่นเดียวกัน

แต่พอการเมืองแทรกแซงข้าราชการประจำเข้าทีไร หูย…มันปรี๊ดแตกทันที

ทีนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของบิ๊กโอ๋ สัปดาห์ที่แล้วครับผม ก็ต้องแจ้งว่า งานนี้ย่อมเป็นการตัดสินใจทางการเมืองอย่างเต็มที่

นั่นก็คือ ในฐานะนักการเมืองนั้น เขาสามารถย้ายข้าราชการประจำได้อยู่แล้ว

แต่ในขณะเดียวกัน นักการเมืองก็ต้องสามารถแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองได้ด้วย นั่นก็คือ ต้องพร้อมที่จะตอบคำถามทั้งฝ่ายค้านและสังคมได้อย่างชัดเจน

เพราะตอนนี้บิ๊กโอ๋เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่เป็นผู้บังคับบัญชาในสายการบังคับบัญชาแบบข้าราชการประจำ ดังนั้นผมคิดว่าถ้าบิ๊กโอ๋คิดจะปรับเปลี่ยนระบบจริงๆ ก็คงจะต้องขยับเพิ่มขึ้นหน่อย

บอกตรงๆ นะครับ อย่างกรณีสมัยที่คุณยุทธศักดิ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเนี่ย ผมว่าน่าผิดหวังมาก (อันนี้ความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ) เนื่องจากผมรู้สึกว่าเวลาที่คุณยุทธศักดิ์พูดอะไรก็จะพูดว่า “น้องๆ พี่ๆ”

ประเด็นของผมก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไม่ใช่ทำงานแค่ว่า ถูกส่งไปดูแลพี่ๆ น้องๆ ไปสัญญาว่าจะไม่แตะทหาร หรือพูดถึงเอกภาพของกองทัพในทางหนึ่ง

หรือไม่ก็แสดงออกว่าสามารถโยกย้ายใครได้

ประเด็นใหญ่น่าจะอยู่ที่เรื่องที่ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นน่าจะเป็นคนที่สามารถพูดได้ว่าอะไรคือภารกิจของกองทัพจากมุมมองของการที่รัฐมนตรีเป็นตัวแทนของประชาชนและพลังประชาธิปไตยด้วย

ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับที่ทหารเก่าจะถูกส่งไปดูแลกระทรวงกลาโหม แต่มันขึ้นอยู่กับว่าทหารเก่าเข้าใจภารกิจใหม่ไหม

หรือว่าจะหาตัวช่วยมาวางภารกิจใหม่ๆ อย่างไรบ้าง ทำไมไม่เห็นมีการนำเสนอมุมมองว่างานด้านความมั่นคงนั้นมีหน่วยวิจัยที่น่าสนใจนอกจากข้าราชการบ้าง ทำไมกระทรวงอื่นๆ ถึงมีบริษัทที่ปรึกษามากมาย หรือสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยมากมาย

รัฐมนตรีก็ต้องหาพรรคพวกและพลังทางสังคมที่สร้างสรรค์ในการตั้งคำถามและตอบคำถามใหม่ๆ ให้แก่สังคมด้วย ไม่ใช่เรื่องผิดหรอกครับ ทำเรื่องนี้ให้เป็นระบบ ให้คุยกันได้ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น มากกว่าให้หนังสือพิมพ์ทำได้แค่ข่าวลึกๆ ลับๆ หรือไปสอบถามทัศนะของนักวิชาการหรือฝ่ายตรงข้ามแบบวันต่อวันไปเรื่อยๆ

นะครับผม…?

เตรียมตัวสู้สงครามไซเบอร์และนอกอวกาศ

เตรียมตัวสู้สงครามไซเบอร์และนอกอวกาศ

เตรียมตัวสู้สงครามไซเบอร์และนอกอวกาศ

เตรียมตัวสู้สงครามไซเบอร์และนอกอวกาศ : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร

              สงครามใหม่จะเกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ตและนอกโลก เนื่องจากส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงต่อคู่อริได้ดีกว่า ใครก็ได้หรือประเทศไหนก็ตามสามารถเข้าระบบไซเบอร์ของศัตรูและส่งไวรัสตัวร้ายเข้าในระบบสาธารณูปโภคและระงับการสั่งงานทุกอย่างในประเทศนั้นได้ระยะหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นหลายๆ ชั่วโมงหลายๆ วัน จนกระทั่งประเทศศัตรูต้องยอมจำนน ไม่มีขีดความสามารถในการตอบโต้ได้ ชัยชนะของประเทศทำได้จะอยู่แค่เอื้อม แน่นอนที่สุด สงครามที่มีการถล่มกันด้วยเรือรบและฝูงบิน แบบที่ประสบพบในสงครามครั้งที่หนึ่ง และครั้งที่สอง ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้นำประเทศต่างๆ ประมาทหรือมีความมั่นใจมากเกินไป แต่จะสิ้นเปลืองมาก ทั้งสองสงครามโลกทำให้คนเสียชีวิตเกือบสองล้านคน

อาจารย์อังกฤษชื่อคริสโตเฟอร์ ค็อกเกอร์ ให้ความเห็นเมื่ออาทิตย์ก่อนว่า สงครามไซเบอร์และนอกโลกอาจจะปะทุขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ขณะนี้ทั้งสองยักษ์ใหญ่กำลังวิ่งไล่ฟัดกันอยู่ ทั้งคู่มีเทคโนโลยีและขีดความสามารถในไซเบอร์สูงในระดับสูสี สหรัฐอเมริกาอาจได้เปรียบกว่า แต่จีนได้พัฒนาไปเรื่อยในด้านไซเบอร์และการส่งยานอวกาศไปนอกโลก เพื่อทดสอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่ใช้กาวเทียมเป็นตัวเชื่อมและสั่งจ่ายงาน

อาจารย์ค็อกเกอร์ คนนี้ค่อนข้างเชื่อว่าสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะว่าสหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับกติกาใหม่ที่จีนกำลังสร้างขึ้นมา สืบเนื่องจากความยิ่งใหญ่ของจีน พร้อมด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มขึ้นมาในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาได้เป็นแชมเปี้ยนในการสร้างระบบทุนนิยมและความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ ที่เชื่อมโยง สร้างความร่วมมือพหุภาคีในกรอบต่างๆ ให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทางด้านการคลังหรือการค้าระหว่างประเทศ

จีนรู้ดีว่ากรอบความคิดที่เป็นเอเชียยังต้องพัฒนาอีกเยอะเพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้น แน่นอนมันย่อมขึ้นอยู่ที่ประชาคมโลกว่าจะยอมรับหรือไม่

นักวิชาการตะวันตกมักเชื่อว่าจีนไม่สามารถถีบตัวเองออกจากวงจรอุบาทว์ได้ เพราะความคิดที่หยั่งลึกของวัฒนธรรมจีนในประวัติศาสตร์เป็นพันๆ ปี ถ้าจีนต้องการยอมรับอาจจะต้องสลัดความเป็นจีนออกและส่งเสริมค่านิยมหรือกรอบความคิดเป็นสากลแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

สงครามไซเบอร์หรือสงครามนอกโลก ทำได้ง่ายกว่า ส่งผลรวดเร็ว สร้างความเสียหายมีผลกว้างขวางกว่า ถึงแม้ว่าผลกระทบกระเทือนต่อประชาชนตาดำๆ จะน้อยคือ จำนวนคนตายจะน้อยกว่าสงครามแบบเก่า แต่ผลเสียคือคุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเขาเหล่านี้อาจจะถูกทำลาย

ไทยเราไม่สามารถหนีออกจากวัฏจักรของการต่อสู้ครั้งนี้ได้ เพราะเรายังขาดพลังทั้งเศรษฐกิจและการเมืองในการบินเดี่ยวได้ ฉะนั้นต้องแน่ใจว่าเราเลือกทางออกที่ชัดเจน ไม่ชักเข้าชักออกอย่างที่เห็นกัน

ดราม่าอัมพวาของคนกรุง

ดราม่าอัมพวาของคนกรุง

ดราม่าอัมพวาของคนกรุง

ดราม่าอัมพวาของคนกรุง : ว่ายทวนอารมณ์ โดยใบตองแห้ง baitongpost@yahoo.com

                 2-3 วันก่อนมีข่าว “นักอนุรักษ์” ต้านรื้อห้องแถวไม้โบราณที่อัมพวา ซึ่งนักธุรกิจไฮโซจะสร้างโรงแรมมูลค่า 500 ล้านเป็นที่พักนักท่องเที่ยว

เรื่องนี้ชาวเน็ตถกเถียงกันมาก่อน กระทั่งเว็บ “ดราม่าเอยจงซับซ้อนยิ่งขึ้น” เอาไปถ่ายทอดเป็นที่สนุกสนาน

“นักอนุรักษ์” พากันคร่ำครวญว่า วิถีทุนนิยม (สามานย์) จะเข้าไปทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนอัมพวาที่อยู่ริมน้ำ เหมือนที่ความเจริญเข้าไปทำลายเกาะสมุย หรือเมืองปาย จนสูญเสียธรรมชาติ เปลี่ยนจิตใจคนให้เป็นธุรกิจ มุ่งแต่แสวงหากำไร

ฟังแล้วซึ้งจัง ถ้าไม่มีคนอัมพวาเองโต้ว่า วิถีที่คนกรุงเห็นอยู่นี่ไม่ใช่ของดั้งเดิม แต่เดิมอัมพวาเป็นแค่ตลาดขายเครื่องมือการเกษตร ตลาดน้ำมีตามวันจันทรคติ ไม่ได้มีกาแฟโบราณ ห่อหมกโบราณ ผัดไทยโบราณ สารพัดโบราณ ขายกันทุกเสาร์อาทิตย์เหมือนตอนนี้ ความจริงก็คือวิถีดั้งเดิมของอัมพวาหมดไปนับสิบปีแล้ว ตั้งแต่คนกรุงเห่อแห่ไปเที่ยวนั่นแหละ ชาวบ้านบางคนรำคาญ ค่ำมืดดึกดื่นเที่ยวล่องเรือดูหิ่งห้อยกันอยู่ได้ เขาก็ตัดต้นลำพูทิ้ง

จริตคนกรุงทำให้อัมพวาเปลี่ยนไป แล้วตอนนี้คนกรุงก็อยากสตัฟฟ์อัมพวาไว้ ให้เป็น “วิถีชีวิตดั้งเดิม” ในจินตภาพของตัว

ที่พูดนี่ไม่ใช่ผมสนับสนุนให้รื้อห้องแถวสร้างโรงแรมให้หมด จริงๆ แล้วควรเป็นเรื่องที่ชุมชนเขาตกลงกัน ว่าทำอย่างนั้นแล้วจะเรียกนักท่องเที่ยวมากขึ้นหรือทำให้คนไปเที่ยวน้อยลง ถ้าเห็นว่าเรียกนักท่องเที่ยวมากขึ้น ก็ช่างเขาเถอะ (อย่างน้อยห้องแถวไม้โบราณ 100 ปีที่เห็นในภาพมันก็จะพังมิพังแหล่)

แต่ประเด็นน่าถกคือทัศนคติของคนกรุง คนชั้นกลาง ที่โหยหา “วิถีชีวิตดั้งเดิม” “ธรรมชาติ” ในแบบอยากให้คนชนบทเขารักษาวิถีชีวิต “พอเพียง” เพื่อหลังจากตัวเองใช้ชีวิตอยู่กับ “วิถีทุนสามานย์” มาทั้งสัปดาห์ แล้ววันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดยาว จะได้ขับโฟร์วีลส์ไดรฟ์ออกไปมองไร่นาเขียวขจีผ่านกระจกรถ เห็นชาวนาไถนาอยู่กับควาย แล้วร้องว่า อ้า! ช่างเป็นวิถีชีวิตที่สุขสงบเสียนี่กระไร

โทษที เดี๋ยวนี้ไม่มีควายแล้วมีแต่คูโบต้า กู้ ธ.ก.ส.กู้กองทุนหมู่บ้าน หรือเอาบัตรเครดิตชาวนาไปรูดปื้ด

อ้าว ก็ด่าอีกว่าสนับสนุนให้ก่อหนี้เพิ่ม ไม่รู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง

ตลาดร้อยปี ตลาดพันปี ผุดเป็นดอกเห็ดรอบกรุงเทพฯ สนองจริตคนกรุง ของเก่าที่เอาไปขาย ก็สั่งจากสำเพ็งนี่เอง มองอีกมุมหนึ่งไม่รู้ใครฉลาดกว่าใคร ชนบทในสายตาคนกรุงไม่ใช่ชนบทที่เป็นจริง เพราะทุนนิยมเข้าถึงหมดแล้ว แต่คนชั้นกลางที่ทำงานบริษัท รายได้ตั้งแต่หลายหมื่นไปถึงหลายแสน ยังอยากให้คนชนบทพอเพียงอยู่กับการปลูกผักปลูกหญ้า กินผักกินหญ้า ไม่ควรซื้อมือถือ มอเตอร์ไซค์ หรือรถปิกอัพ

คนกรุงอ่านข่าวลูกหลานชาวนาไม่อยากทำนา แล้วก็คร่ำครวญ อาชีพชาวนาจะสูญพันธุ์ ถามตัวเองบ้างสิ อยากให้ลูกทำนาบ้างหรือเปล่า

ผมไม่ได้ต่อต้าน “พอเพียง” แต่ไม่ใช่คนกรุงที่มีเกินพอแล้วไปเรียกร้องให้คนจนพอเพียง อันที่จริงแม้แต่ “วิถีชาวบ้าน” ปัจจุบันก็กลายเป็นเครื่องมือการตลาด สินค้าโอท็อป สมุนไพรไทย เกษตรอินทรีย์ วางขายเต็มห้างไปหมด

ที่พูดเรื่องนี้เพราะความขัดแย้งเรื่องวิถีพัฒนาประเทศ ทัศนคติของคนกรุงต่อคนชนบท เป็นประเด็นสำคัญในวิกฤติสังคมไทย โดยยังหาข้อสรุปไม่ได้

ไม่เอา “ทุนสามานย์” แล้วไง แล้วจะไปทางไหนต่อ ก็ไม่มีความชัดเจน ในอนาคตเราจะมีรถไฟความเร็วสูง เป็นเส้นทางขนส่งระหว่างทวาย-ดานัง คุนหมิง-สิงคโปร์ โดยภูมิประเทศที่เอื้อ ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาค ชาวนาจะยังอยากให้ลูกหลานทำนาอยู่หรือ

คนกรุงอยากให้คนชนบทรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม ทั้งที่คนชนบทอาจบอกว่า เฮ้ย อยากเป็นทุนนิยม จะได้ลืมตาอ้าปากบ้าง ไม่ได้อยากมีวิถีชีวิตสุขสงบ แต่อยากรวย ผิดด้วยหรือ

ละครหลังข่าวเรื่องหนึ่งที่เพิ่งจบไป เอาพระเอกหล่อเฟี้ยว นางเอกสวยใสไปทำไร่ พร้อมกับคำพูดยัดเยียดให้ถูกจริตคนกรุง เช่นมีคนมาหลอกล่อคนงานไปทำงานเมืองนอกเงินเดือนหมื่นห้า พระเอกก็มีคำพูดซึ้งๆ ว่า “อย่าคิดว่าเงินจะซื้ออะไรได้ทุกอย่าง เพราะถ้าวันไหนที่ชาวไร่ชาวนาอย่างพวกเราไม่อยากขายข้าวให้คุณขึ้นมา คุณจะรู้ว่า ต่อให้คุณเอาเงินหมื่นยัดปากตัวเอง มันก็ไม่อิ่ม”

“ไม่มีใครตายเพราะกินอยู่อย่างพอเพียง แต่มีเศรษฐีบ้าอำนาจที่คิดแต่จะสร้างกำไรเท่านั้นล่ะที่ตายเพราะเส้นเลือดในสมองแตกไม่เว้นแต่ละวัน”

ทั้งที่แค่บอกคนงานว่าเงินเดือนหมื่นห้าต้องหักค่าหัวคิว ต้องเสียค่าใช้จ่าย มีค่าครองชีพสูง แค่นั้นก็พอแล้ว เพราะถ้าเงินเดือนสามหมื่นไม่หักหัวคิว คนงานไปแน่ ไม่มีใครซึ้งเป็นชาวนาอยู่หรอก

แต่เชื่อสิ ละครเรื่องนี้ต้องได้รางวัล

โลกที่แคบลง

โลกที่แคบลง

โลกที่แคบลง

โลกที่แคบลง : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

               โลกเราทุกวันนี้แคบลงกว่าแต่ก่อนทั้งในเรื่องของการเดินทาง การติดต่อสื่อสาร และรวมถึงพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งหากดูจากจำนวนประชากรประมาณ 7 พันล้านคนในปัจจุบันแล้ว ก็ถือได้ว่ามีมนุษย์อยู่บนโลกตอนนี้มากมายมหาศาลที่สุดเป็นประวัติการณ์

การที่คนล้นโลกในตอนนี้นั้น มีที่มาจากความเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ การสาธารณสุข และวิทยาการต่างๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งทำให้มนุษย์ไม่ต้องผจญกับโรคระบาดร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากอย่างในยุคกลาง ทารกและเด็กได้รับการดูแลสุขภาพและฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตในวัยเยาว์ลง นอกจากนี้โภชนาการ วิตามิน และยารักษาโรคที่มีคุณภาพ ได้มีส่วนช่วยให้พลโลกมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือความพยายามในการแก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้งด้วยสันติวิธี ก็ทำให้โลกเรารอดพ้นสงครามขนาดใหญ่ซึ่งอาจทำลายชีวิตผู้คนอย่างมากมายมาได้หลายครั้ง

ดังนั้น ถ้าจะมองว่าสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นภัยพิบัติครั้งสำคัญของมนุษยชาติ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน บ้านเมืองหลายแห่งถูกทำลายจนราบคาบ และคนจำนวนมากต้องพลัดพรากจากกัน รวมถึงความร้ายกาจของระเบิดปรมาณู แต่เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง ผลจากความสูญเสียของสงคราม ก็ทำให้มนุษย์มีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น รู้จักที่จะปรองดองกันมากขึ้น และเอาเวลาไปคิดค้นสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์มากขึ้น ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินพาณิชย์ ระบบโทรคมนาคม ดาวเทียมสื่อสาร โทรทัศน์คอมพิวเตอร์ โซเชียลเน็ตเวิร์ก ฯลฯ ล้วนแต่ช่วยย่อโลกให้แคบลง และกลายเป็นประชาคมที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม

ถ้าแบ่งโลกอย่างคร่าวๆ ในวันนี้ เราก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประเทศต่างๆ จะมีความเป็นภูมิภาคสูงขึ้น เช่นการรวมตัวของประชาคมยุโรป ซึ่งเป็นผลพวงโดยตรงของการจัดระเบียบยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วยฝีมือของสหรัฐ ประชาคมในทวีปอเมริกาเหนือ ประชาคมในทวีปอเมริกาใต้ ประชาคมอาฟริกา ประชาคมอดีตรัฐสหภาพโซเวียต ประชาคมในเอเชียใต้ และประชาคมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น ซึ่งการรวมตัวในลักษณะดังกล่าว ย่อมทำให้การอยู่ตามลำพังของประเทศหนึ่งประเทศใดมีความยากลำบากขึ้น ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจการค้า ความมั่นคง และการเจรจาต่อรองต่างๆ แต่ในเวลาเดียวกัน การอยู่ร่วมกันเป็นประชาคม ก็จำต้องยึดถือในกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ของประชาคม แต่ก็ต้องป้องกันไม่ให้ตนเองถูกกลืนหายไปกับวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่เข้มแข้งกว่าของเพื่อนร่วมประชาคม-เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือเหมือนกับ การเปิดร้านเล็กๆ ในห้างใหญ่ ซึ่งร้านเล็กๆ แต่ละร้านก็อาจจะขายสินค้าที่คล้ายๆ กัน ปัญหาจึงอยู่ที่ทำอย่างไรให้คนที่เข้ามาในห้างมาซื้อสินค้าจากร้านของตน แทนที่จะไปซื้อที่ร้านของเพื่อน และโดยที่ไม่เสียเพื่อนด้วย-เรื่องง่ายๆ อย่างนี้ เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ยากชะมัดเลยล่ะครับ

โลกเราทุกวันนี้แคบลงก็จริงอยู่ แต่ยังแคบไม่พอที่เราจะทำความรู้จักเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมประชาคมได้ดีเพียงพอ ทั้งๆ ที่สิ่งนี้มีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของตัวเราและประเทศชาติ และการเดินทาง หรือการติดต่อสื่อสารก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากหรอกครับ ถ้าคนในประชาคมไม่ทำให้ระยะทางระหว่างความรู้สึกและหัวใจของตนกับเพื่อนร่วมประชาคมแคบลง

วิธีการทำก็ไม่อยากหรอกครับ เพียงแค่ลดพื้นที่เรื่องต่างๆ ของตัวเองในสมองและจิตใจ เช่นความรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น ความลุ่มหลงในอดีต หรือความทะนงตัวในทางที่ผิด ลงบ้าง แล้วเพิ่มพื้นที่ให้กับความเข้าใจ ความเห็นใจ และความดีใจ ในเรื่องต่างๆ ของเพื่อนร่วมประชาคมให้มากขึ้น-เท่านี้ เราก็จะได้ใจจากเขาเต็มๆ เลยล่ะครับ

เร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญประเทศเพื่อนบ้าน

เร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญประเทศเพื่อนบ้าน

เร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญประเทศเพื่อนบ้าน

เร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญประเทศเพื่อนบ้าน : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น Facebook: ruarob.muangman

               กำหนดการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ใกล้เข้ามาทุกทีพร้อมกับการตื่นตัวของทุกภาคส่วน รวมทั้งกองทัพในการพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ อะไรที่เสริมศักยภาพหรืออะไรที่อุดช่องโหว่ได้ก็เริ่มลงมือทำกัน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ทุกคนทราบดีว่ารอบบ้านทั้งสี่ทิศเรายังวางใจด้านความมั่นคงไม่ได้ ทางออกนั้นต้องอาศัยการลงทุนจูงใจและอดทนในการสร้างคน

ในยุคสงครามเย็นที่ไทยมีปัญหากับแทบทุกประเทศรอบบ้าน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของกองทัพมีมาก เพราะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย อาจกล่าวได้ว่ากองทัพมีผู้เชี่ยวชาญประเภทนี้มากที่สุด ขณะที่มหาวิทยาลัยเพิ่งจะตื่นตัวสอนแบบแอเรียสตัดดี้ประมาณ 20 ปีมานี้เองซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มของฝรั่งที่หันมาสนใจศึกษาเฉพาะพื้นที่ให้รู้ทุกเรื่องมากกว่าการลงลึกเฉพาะแขนง กาลเวลาผ่านไป การพัฒนาของบุคลากรของกองทัพกับนักศึกษากลับสวนทางกัน โดยขณะที่ในโลกของพลเรือนมีการสร้างความชำนาญเจาะลึกประเทศเพื่อนบ้านเฉพาะมากขึ้นจนสร้างคนเก่งพม่า เก่งเวียดนาม ได้มากและกระจายไปในที่ต่างๆ กองทัพเองกลับมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะพื้นที่น้อยลง โดยเฉพาะบุคลากรเชิงยุทธศาสตร์ ที่ต้องวิเคราะห์ภาพรวมจนถึงรายละเอียดของประเทศเฉพาะให้ได้

ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนเก่าแก่เกษียณ ขณะที่การสร้างคนรุ่นใหม่ต้องใช้เวลา แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่กดดันเท่ายุคสงครามเย็น ไทยไม่ได้เป็นปรปักษ์ต่อชาติใดโดยตรง จึงทำให้ลดทอนความใส่ใจต่อการสร้างคนระยะยาวที่ต้องติดอยู่กับเรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งไปจนตลอดชีวิตราชการหรือไม่ต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งอันนี้กลับไม่สอดคล้องต่อการที่กองทัพยกระดับความสำคัญของประเทศเพื่อนบ้าน โดยจัดตั้งกรมกิจการชายแดนทหาร โดยที่หน่วยข่าวต่างๆ ก็ยังมีกลไกเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ ขณะที่มี “นาย” ที่บริหารข้อมูลมากขึ้น ปริมาณข้อมูลที่รู้ที่ไหลเข้ามาจากนอกประเทศมีมากขึ้น แต่ความชำนาญโดยรวมของบุคลากรมีน้อยลง เนื่องจากการขาดความรู้ทางภาษา ความรู้พื้นฐานครบด้านซึ่งก็มาจากการขาดการศึกษาแบบแอเรียสตัดดี้ และประสบการณ์ไม่ได้คลุกคลีกับประเทศเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง นี่ยังไม่รวมถึงความจำเป็นของงานที่ส่งผลต่อเวลาในการพัฒนาตนเองของบุคลากร เช่น เจ้าหน้าที่โต๊ะต้องไปทำงานอื่น หรือต้องเปลี่ยนงานเพื่ออนาคตทางอาชีพ

ทางแก้นั้นต้องเกณฑ์คนที่น่าจะมีศักยภาพเข้ามาตั้งแต่เด็ก ส่งอบรมหลักสูตรและสัมมนาที่เกี่ยวกับประเทศเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยให้คนเก่าแก่ถ่ายทอดวิทยายุทธให้หมดเปลือกก่อนเกษียณ นำคนเข้ามาให้มาก อย่าไปคิดว่าเวียดนามมีความสำคัญด้านความมั่นคงน้อยกว่าพม่า ส่งเสริมการเรียนภาษาให้ครบมิติ รู้ยาวีนั้นใช้ประโยชน์กับมาเลเซียไม่ได้เพราะคนละภาษา นอกจากนี้ยังควรจูงใจให้อยู่แต่ในงานนานด้วยระบบแบบสิงคโปร์

จราจรหรือจลาจล

จราจรหรือจลาจล

จราจรหรือจลาจล

จราจรหรือจลาจล : วิถียุติธรรม โดยชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ

                ชีวิตคนไทยยุคนี้ต้องใช้รถใช้ถนนกันแทบทุกวันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โดยเฉพาะช่วงนี้มักมีข่าวคราวปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรหนาหูมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจจราจรถูกตำหนิว่าใช้วาจาไม่สุภาพ หรือแม้กระทั่งขับรถปาดหน้ากันจนถึงขั้นต้องฆ่ากันตาย ทำให้คิดว่าการใช้รถใช้ถนนก็ต้องมีวิถียุติธรรมเหมือนกับเรื่องอื่นๆ เช่นกัน

ไม่ว่าที่ไหนในโลกนี้ วิถียุติธรรมในการใช้รถใช้ถนนจะต้องมีกฎหมายเป็นกติกา ซึ่งสำหรับบ้านเราก็มีกฎหมายกับเขาเหมือนกัน และกฎหมายฉบับนี้ก็มีมานานแล้วคือพระราชบัญญัติจราจรทางบก อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้กฎหมายฉบับนี้ยังคงขาดๆ เกินๆ อาจจะด้วยหลายสาเหตุ เช่นทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ยังคงไม่เข้าใจและไม่มีความรู้ว่ากฎหมายมีรายละเอียดอะไรบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของบ้านเราที่กฎหมายยังไม่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอยู่มากมายหลายฝ่ายอาจจะเข้าใจและตีความแนวปฏิบัติตามกฎหมายแตกต่างกันไปได้

การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับจราจรจึงเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาในชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไปทุกกลุ่ม จนส่งผลกระทบไปหลายเรื่องหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจรติดขัด การเกิดอุบัติเหตุทั้งที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง หรือเกิดความขัดแย้งไม่เข้าใจเกิดการทะเลาะเบาะแว้งจนกระทั่งใช้ความรุนแรงต่อกัน ส่งผลให้การจัดระเบียบจราจรในสังคมไทยกลายเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ

การจราจรเป็นวิถีชีวิตของคนไทยและเป็นวิถีที่ต้องมีความยุติธรรมเพราะเป็นทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่ต้องมีโอกาสได้ใช้รถใช้ถนนอย่างเท่าเทียมกัน การมีและบังคับใช้กฎหมายจราจรที่ดีจึงเป็นกติกาที่จัดระเบียบให้ทุกคนได้ใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัย ส่วนเจ้าหน้าที่และประชาชนนั้นโดยหลักการแล้วจะต้องร่วมมือกันรักษากติกาที่มีอยู่ให้เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

หลักการที่ว่านี้ฟังดูสวยหรูและดูดีหากทุกอย่างเป็นไปเช่นที่ควรจะเป็น แต่ทุกวันนี้เมื่อมีผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้นหลายเท่าตัว กลับเป็นว่าคนส่วนใหญ่ขาดความใส่ใจในการบังคับใช้กฎหมายจราจรให้เป็นกติกาแสดงวิถียุติธรรมกันบนท้องถนน ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่ออ่านกฎหมายดูแล้วพบว่ามีรายละเอียดมากจริงตั้งแต่เรื่องลักษณะของรถที่ใช้ การใช้ไฟหรือเสียงสัญญาณของรถ การบรรทุก สัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร การขับรถ การขับแซงและผ่านขึ้นหน้า การหยุดรถและจอดรถ หรือแม้กระทั่งกติกาสำหรับคนเดินเท้าจะต้องทำอย่างไร

ส่วนเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานจราจรและพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีเขียนไว้อย่างละเอียด รวมทั้งเรื่องยอดฮิตคือการออกใบสั่งและการบังคับโทษจราจรซึ่งมักจะเป็นปัญหาอย่างมาก โดยรวมแล้วจะเห็นว่ากฎหมายมีเนื้อหาครบถ้วนแต่ขาดการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่กฎหมายฉบับนี้

วิถียุติธรรมบนท้องถนนจะเกิดขึ้นได้ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง การมองว่าบทบังคับโทษจะเป็นมาตรการในการทำให้ทุกคนเกิดความกลัวเกรงแล้วจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้นไม่ได้เป็นจริงเสมอไป ความจริงแล้วทัศนคติที่ถูกต้องต่อกฎหมายจราจรจะสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า หากมองว่ากฎหมายคือกติกาที่ใช้ร่วมกันในการใช้รถใช้ถนนและเป็นการรักษาสิทธิในการใช้รถใช้ถนนของแต่ละคน เชื่อว่าทุกคนจะมีความเคร่งครัดต่อกฎหมายจราจร รวมทั้งจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้แก่เจ้าหน้าที่เสียด้วยซ้ำไป

เมื่อชาวบ้านปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตัวเองและผู้อื่นแล้ว ส่วนของเจ้าหน้าที่หากมองเป็นเรื่องของการทำหน้าที่จัดระเบียบการใช้รถใช้ถนนไม่มองเป็นเรื่องเชิงอำนาจและพิธีการมากไปนัก  ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของกฎหมายก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางการจัดระเบียบการใช้รถใช้ถนนเท่านั้น โดยมีเรื่องการบังคับโทษเป็นมาตรการข้างเคียงในการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น

กฎหมายจราจรเป็นเบสิกของการจัดระเบียบสังคมไทย เริ่มต้นที่นี่เสียดีกว่าจะต้องเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น

กังวลกันว่า’อาจเอาไม่อยู่’

กังวลกันว่า’อาจเอาไม่อยู่’

กังวลกันว่า’อาจเอาไม่อยู่’

กังวลกันว่า’อาจเอาไม่อยู่’ : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ a.wanichwiwatana@gmail.com/twitter@DoctorAmorn

            แนวนโยบายของกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมอบหมายให้กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ให้ใช้ “ใบเตือน” สำหรับตักเตือนผู้ขับขี่ซึ่งทำผิดกฎจราจร แม้จะเป็น “แนวคิดในเชิงจิตวิทยา” เพราะต่างทราบดีว่า ข้อหาซึ่งได้รับการยกเว้นนั้น เป็นเรื่องซึ่งไม่ค่อยจับกันบ่อยนัก และเป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย ปกติก็มักให้คำแนะนำก่อนปล่อยตัวไปอยู่เป็นประจำ

แต่การออกเป็นนโยบายเช่นนี้ ทางฝ่ายตำรวจเองอาจเชื่อว่า จะมีผลทำให้สังคมเกิด “จิตสำนึกรับผิดชอบ (conscience)” ซึ่งส่วนตัวยอมรับว่า “ยากมาก” เพราะสังคมของพวกเราทั้งหลายนั้นเป็นสังคมซึ่งไร้ระเบียบวินัยอย่างแรง สิ่งพบเห็นกระทั่งก่อให้เกิดเหตุน่าสลดใจหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น เพราะ “ความประมาท ผสมผสานกับความมักง่ายธุระไม่ใช่” ผมมีข้อมูลจากภาพยนตร์รณรงค์การประพฤติปฏิบัติชอบของเว็บชื่อ “มูลนิธิคนไทย” ในยูทูบ(Youtube) เกี่ยวกับผลสำรวจของคนไทยกว่าสี่ห้าพันคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่มีความน่าเชื่อถือพอสมควร หากผ่านระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

ความน่าสนใจของงานวิจัยยืนยันว่า คนไทยยังคงคิดถึงแต่ตัวเอง เห็นเรื่องของครอบครัวตัวเองสำคัญกว่าเรื่องของส่วนรวม ปัญหาสำคัญคือ การทุจริตคอรัปชั่นน่ากลัวมาก พอดีเมื่อวันก่อนผมไปร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งของสำนักงาน ปปช. ทำให้ได้ทราบข้อมูลจากการศึกษาขององค์กรตรวจสอบความโปร่งใสในต่างประเทศ พบตัวเลขน่าประหวั่นพรั่นพรึงถึง “การทุจริตคอรัปชั่น” ของเราว่า ส่วนหนึ่งมาจาก “สินบน” หรือ “รางวัลนำจับ” หน่วยงานที่ถูกพูดถึงก็มีทั้ง จราจร ซึ่งหยิบยกมาเป็นประเด็นในวันนี้ รวมทั้ง ศุลกากร ซึ่งดูเหมือนจะเป็นขาประจำเกือบทุกครั้งในการสำรวจเรื่อง “สีเทาๆ ทำนองนี้”

ตัวเลขที่เขาค้นพบอ้างว่า รายได้ผู้หลักผู้ใหญ่ในกรมศุลกากร ซึ่ง “เป็นเงินถูกกฎหมาย” เป็นเงินจากสินบนนำจับมีมากถึงเกือบๆ ห้าร้อยล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินจำนวนนี้ ทำให้คนจำนวนมากเกิดคำถามขึ้นมาในใจหลายประการ ไม่ต่างกับเรื่องของ “จราจร” ในประเด็นว่า การบังคับใช้กฎหมายเป็นหน้าที่ประจำของคนเหล่านี้ เหตุใด “ทำงานในหน้าที่ซึ่งกฎหมายกำหนดบทบาทรับรองไว้เรียบร้อย ถึงจะต้องมาให้เงินให้ทองกันอีก” ทางผู้เชี่ยวชาญมองว่า เรื่องลักษณะนี้เป็นการส่งเสิรมให้การคอรัปชั่นบานปลายออกไป เนื่องด้วยคนจำนวนหนึ่งใช้ช่องว่างของกฎหมาย ซึ่งให้อำนาจเต็มที่ในการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิด ทั้งตั้งด่าน ทั้งเรียกรับ เพราะ “ยิ่งจับมาก จะทำให้ได้รับส่วนแบ่งจากสินบนนำจับมาก” ทำให้คนเหล่านี้เร่งทำผลงาน เลยยิ่งสบช่องโอกาสในการกระทำความผิดมากขึ้นต่อเนื่อง

จึงเห็นว่า โครงการของ บช.น.ในการอะลุ้มอล่วยแก่ผู้ขับขี่ในด้านหนึ่ง น่าจะเป็นผลดีในแง่ “การสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกขององค์กร” ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องให้ต้องขบคิดกันต่อว่า ปัญหาจริงๆ ที่ประชาชน “บ่นๆ กันนั้น” น่าจะมาจากการจับกุมในข้อหาซึ่งอยู่ใน 13 รายการเป็นปกติ และการถูกจับบ่อยๆ หรือถี่ๆ เป็นผลมาจาก “สินบนนำจับหรือไม่”

การกล่าวร้ายรุนแรงกว่าการฆ่า

การกล่าวร้ายรุนแรงกว่าการฆ่า

การกล่าวร้ายรุนแรงกว่าการฆ่า

การกล่าวร้ายรุนแรงกว่าการฆ่า : กระดานความคิด โดยสมบูรณ์ บัวหลวง abualuang@gmail.com

              จะขอทบทวนเบื้องหลังของความรุนแรงบางประการที่เกิดขึ้นในช่วงครบรอบปีที่ 8 ของเหตุการณ์ตากใบ (25 ตุลาคม 2547) ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ของเดือนรอมฎอนที่เป็นเดือนที่ 9 ของปฏิทินทางจันทรคติหรือเดือนแห่งการถือศีลอดของมุสลิมผู้ศรัทธาทั่วโลกได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเฉกเช่นเดียวกันกับพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยและจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคน วันเวลาที่หมุนเวียนไป 8 ปีผู้คนที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ตายหมู่อย่างทรมาน 78 ศพและบรรดาผู้ที่ถูกจับที่รอดชีวิตยังมีคนที่พิการนับร้อย และถึงแม้จะไม่ได้รับอันตรายมากนักแต่เจ็บปวดต่อการถูกกระทำในวันนั้นอีก 1,000 กว่าคน และไม่นับรวมมวลญาติพี่น้อง ครอบครัวและเพื่อนฝูงอีกนับแสนคนทั่วโลกที่รักความเป็นธรรมและปวดร้าวต่อเหตุการณ์ที่รัฐกระทำในเหตุการณ์ 25 ตุลาคม ปี 2547

ถึงแม้ทางราชการหลายหน่วยจะพยายามอธิบายตามการพิสูจน์ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่สรุปและอธิบายของความตายของมุสลิมทั้ง 78 ศพว่าเกิดจาก “การขาดหายใจ” บทสรุปนี้แหละที่ทางการได้พยายามอธิบายให้แก่คนท้องถิ่นและถูกกระจายไปทั่วโลกถึงความเก่งกาจของรัฐไทยในการแก้ตัว โดยไม่อธิบายสาเหตุที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริงในการการขาดลมหายใจว่ามันมาจากเจตนาการบรรทุกคนในสภาพที่วางทับถมกัน 4-5 ชั้นในรถบรรทุกที่เล็กคับแคบ ในขณะที่ทุกคนถูกมัดมือไพล่หลังไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ในระยะเวลาการเดินทางนานนับกว่า 5-7 ชั่วโมง ในขณะที่ทุกคนถือศีลอด ลองหลับตานึกว่าถ้าหากให้ตัวเองต้องอยู่ในสภาพอย่างนั้นในที่โปร่งกว้างขวาง (ไม่ต้องอับและอ้าวเหมือนวันนั้น) ในเวลาและสภาพการอดอาหารและอากาศร้อนเช่นวันนั้นจะเป็นเช่นไร

การกล่าวหาที่พรั่งพรูจากกระบอกเสียงโฆษณากล่าวหาว่าการชุมนุม ณ วันนั้นได้มีการเตรียมการที่จะเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศจึงต้องรีบเผด็จศึก ไม่ต่างอะไรกับการกล่าวหาประชาชนที่มุงดูเพื่อให้เจ้าหน้าที่เปิดทางเข้าไปรับศพในมัสยิดกรือเซะที่เสียชีวิตมาหลายชั่วโมงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับมองว่าชาวบ้านรอบๆ มัสยิดกรือเซะกำลังจะคิดร้ายและจะล้อมกรอบเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องจัดการจนเกิดความตายในมัสยิดนั้น 32 คน เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นถึงแม้บางส่วนจะได้รับการดูแลและเยียวยาจากรัฐแล้วก็ตาม แต่เหตุร้ายในการกล่าวหาต่างๆ มันไม่ได้คลี่คลายไปในทางที่ควรจะเป็น ซ้ำยังเข้าใจกันว่าเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นช่วงเวลาของการถือศีลอด เป็นช่วงที่มุสลิมผู้ศรัทธาต้องมุ่งมั่นกระทำความดีทั้งกายวาจาและจิตวิญญาณ สำหรับปีนี้ พ.ศ.2555 เดือนการถือศีลอดตรงกับช่วงวันที่ 19 กรกฎาคม ถึงประมาณวันที่ 18 สิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นห้วงเดียวกันกับเหตุการณ์ที่ตากใบ จ.นราธิวาส ได้ปรากฏความรุนแรงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้และยังต่อเนื่องอยู่

ทำไมปีนี้มันรุนแรงกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนมองได้ในหลายๆ ด้าน อย่างน้อยต้องถามว่ารัฐบาลในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้มีทางเลือกแก้ปัญหาในแนวทางอื่นเพิ่มอย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด กระบวนการนำความจริงในเรื่องต่างๆ มาสู่ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมากน้อยเพียงใด การสนธิกำลังเพื่อการตรวจค้นบุคคลเป้าหมายที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกหรือแนวร่วมของกลุ่มกองกำลังที่ใช้อาวุธต่อต้านรัฐบาลและกำลังปฏิบัติการความเลวร้ายในพื้นที่ตัวจริงสามารถพิสูจน์ได้จนกระบวนยุติธรรมได้มีข้อยุติทางคดีจนถึงที่สุดและศาลพิพากษาลงโทษจริงไม่ถึงร้อยละเท่าไหร่ของคดีความทั้งหมดหากยังเป็นข้อมูลเดิมที่ศาลยกฟ้องมากกว่าครึ่งหนึ่งของคดีที่ส่งถึงศาลทั้งหมด นั้นแสดงว่ารัฐบาลกำลังกล่าวหาความเลวร้ายแก่ประชาชนพลเมืองผู้บริสุทธิ์มากที่สุดในโลก นี้คือการฆ่าประชาชนที่หนักหนาสาหัสที่สุด

อัลกุรอานที่เป็นคัมภีร์ทางนำแห่งชีวิตมุสลิมกล่าวไว้ในซูเราะฮ. (บท) อัลบากอเราะ ฮ.โองการที่ 191 และ 217 ได้กล่าวและแปลเป็นภาษาไทยโดยสรุปว่า “การกล่าวร้าย (การกล่าวหาโดยปราศจากความจริง) มันเลวร้ายกว่าการฆ่า (เสียอีก)” หรืออาจจะกล่าวได้ว่าหากความเป็นธรรมไม่สามารถเข้าถึงได้ การเรียกร้องหาความเป็นธรรมคือตัวชี้วัดความศรัทธาได้ด้วยอีกประการหนึ่ง เหตุผลนี้คือส่วนหนึ่งไหมที่ถูกเรียกร้องแม้ชีวิตตนเองจะเสียก็ยอมพลี???

โพรง

โพรง

โพรง

โพรง : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

             ในหนังสือหิโตปเทศ ของเสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป ที่ผมเคยอ่านเมื่อตอนเล็กๆ มีอยู่บทหนึ่งที่ติดอยู่ในใจผมมาเป็นเวลานาน ก็คือบทที่กล่าวว่า “ปัญญาที่อยู่ในเรือนกายอันทราม ร้ายยิ่งกว่าเทวราชอยู่ในเรือนหลังคามุงฟาง” เพราะผมไม่เข้าใจในคำอุปมาดังกล่าวว่ามีความเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร จวบจนกระทั่งในเวลาต่อมาได้อ่านเรื่องสามก๊กที่กล่าวถึงตัวละครตัวหนึ่งคือบังทอง จึงทำให้บรรลุปรัชญาที่แฝงอยู่ในหิโตปเทศบทนั้น

ในยุคสามก๊กนั้นมีคำกล่าวประโยคหนึ่งว่า “หากใครสามารถครอบครองมังกรและหงส์ได้ คนผู้นั้นจะได้ครอบครองแผ่นดิน” มังกรนั้นหมายถึง จูกัดเหลียง ฉายาขงหมิน หรือ ขงเบ้ง มังกรหลับแห่งเทือกเขาโงวลังกั๋ง ส่วน หงส์ฝังทง หรือฮองซู ที่สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกว่า บังทอง ทั้งขงเบ้งและบังทองเป็นนักปราชญ์ที่มีความรอบรู้ มีอายุไล่เลี่ยกัน และเป็นเพื่อนรักกัน ต่างกันที่ขงเบ้งที่ “สูงหกศอก สีหน้าขาวเหมือนหยวก แต่งกายโอ่โถง ท่วงทีเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่” ต่างกับบังทองที่ “เห็นคิ้วใหญ่ จมูกโด่ง หน้าสั้น รูปร่างวิปริตนัก” ซึ่งหนังสือสามก๊กคำกลอนของขุนสนานุชิต (เจต) บรรยายไว้ว่า

“เมื่อนั้น                               เล่าปี่พิศวงให้สงสัย
เหนรูปร่างก็ตระหนกตกใจ      นิ่งขึงตลึงไปไม่พาที
พิศแต่หัวจดเท้าขาวแต่ตา  เกษาเส้นแดงเปนแสงสี
หัวทุยนุยโหนกขวางรี  เกษีหยิกหยงตองตอย
หูลี่ไหล่หลอบสอบซุ้ม  ขนพันเป็นกลุ่มเหมือนก้นหอย
สบักงอกขึ้นไปถึงท้ายทอย  หนวดสั้นหรอกหรอยรุงรัง
ฟันออกนอกปากเงอะงะ  ปากปะลิ้นใหญ่น้ำลายขัง
จมูกโด่งโง้งลงมาดูน่าชัง  แผลเปนมีทั้งกายา…”

บังทองเป็นคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวและสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา แต่ต่อมาจิวยี่กับโลซกแห่งง่อก๊กได้ชักชวนบังทองเข้ารับราชการกับซุนกวน แต่เมื่อซุนกวนเห็นรูปร่างหน้าตาของบังทองก็ไม่ได้เลื่อมใส และค่อนข้างจะดูถูกเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อโลซกเสนอที่จะให้บังทองมาดำรงตำแหน่งสมุหกลาโหมแทนตน ซุนกวนจึงไม่เห็นด้วย โลซกเกรงว่าบังทองจะไปอยู่กับโจโฉ จึงมีจดหมายแนะนำตัวบังทองให้ไปอยู่กับเล่าปี่ที่เป็นพันธมิตร ซึ่งก่อนหน้านี้ขงเบ้งก็เคยแนะนำให้เล่าปี่เชื้อเชิญบังทองมาอยู่ด้วยอยู่แล้ว แต่นั่นแหละครับ พอเล่าปี่เห็นบังทองก็เกิดอาการเดียวกับซุนกวน แต่เล่าปี่เป็นคนที่สุภาพ จึงไม่ได้ออกอาการอะไรมากนัก แต่ก็ตั้งให้บังทองเป็นเพียงนายอำเภอในอำเภอเล็กๆ บังทองก็เอาแต่กินเหล้าเมามายไม่เอาใจใส่ในหน้าที่การงาน จนเตียวหุยไปตรวจราชการจึงสั่งลงโทษบังทอง แต่บังทองแสดงความสามารถด้วยการใช้เวลาเพียงไม่นานสะสางงานที่คั่งค้างให้เสร็จสิ้นลงได้ จนเตียวหุยชื่นชมและพาบังทองไปพบเล่าปี่อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ขงเบ้งก็ได้ช่วยพูดจนเล่าปี่ยินยอมให้บังทองรับราชการอยู่ใกล้ชิด กินตำแหน่งที่ปรึกษาใหญ่คู่กับขงเบ้ง

จากกรณีของบังทอง จะเห็นว่าปัญหาของบังทองก็คือรูปร่างหน้าตาอันอัปลักษณ์ที่ทำให้คนทั่วไปมองข้ามความสามารถที่เขามีอยู่ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้เป็นเพราะคนเรามักจะมองคนอื่นด้วยรูปลักษณ์ภายนอก อะไรมิอะไรก็ขอให้หล่อขอให้สวยไว้ก่อน เรื่องสติปัญญาไม่ต้องไปพูดถึง

บ้านเมืองใด ที่ผู้คนในบ้านนั้นเมืองนั้นเอาความสวยความหล่อเป็นเกณฑ์ในการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง และคนที่ลงคะแนนก็ลงเพราะเห็นแก่ความหล่อความสวย มิใช่เพราะความรู้ความสามารถ ความดี หรือวิสัยทัศน์ ก็นับเป็นเรื่องที่น่าวังเวงอย่างมากทีเดียวแหละครับ เพราะมีโอกาสที่จะเจอคนประเภทที่ “ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง” ได้ง่ายๆ