เสนอทบทวนอ่าง”ห้วยขะยุง” กรมชลจับมือทัพภาค2ดันก่อสร้าง/ยันช่วยแก้ปัญหาน้ำ-ความมั่นคง

วันที่ 28/7/2009

http://www.naewna.com/news.asp?ID=171990.

นายทรรศนันทน์ เถาหมอ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 เผยว่า กรมชลประทานและกองทัพภาคที่ 2 ได้เสนอให้มีการทบทวนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง ต.ละลาย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความจำเป็นต่อมั่นคงของประเทศตามแผนแม่บทการจัดระบบป้องกันพื้นที่ชายแดนในเขตภาคอีสานตอนล่าง รวมทั้งสามารถส่งน้ำเพื่อประโยชน์ทางด้านการเกษตรไม่น้อยกว่า 20,000 ไร่ มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง และยังช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขต อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้อีกด้วย

 สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุงเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 309 ล้านบาท ตามแผนงานจะแล้วเสร็จในปี 2553 แต่ขณะนี้เกิดความล่าช้าไปมาก ทางด้านผลกระทบจากการก่อสร้างนั้น มีพื้นที่ของราษฎรได้รับผลกระทบบ้าง แต่กรมชลประทานมีแผนในการช่วยเหลือ โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้ราษฎรที่เดือดร้อนจากโครงการอย่างเหมาะสม เป็นธรรมและเป็นที่พอใจ

 ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการสูญเสียพื้นที่ป่าบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคง เนื่องจากอ่างฯห้วยขะยุงเป็นการก่อสร้างปิดช่องทางระหว่างไทยกับกัมพูชาที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขาสูง สลับซับซ้อน เอื้อต่อกำลังไม่ทราบฝ่ายและขบวนการกระทำผิดกฎหมายเข้าไปใช้ประโยชน์ จึงจำเป็นจะต้องการสร้างเครื่องกีดขวางตามแนวทางรุกดังกล่าว ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุงขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน และเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชา ชนในพื้นที่ นอกจากนี้พื้นที่ป่าที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวสามารถปลูกป่าทดแทน เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาภายหลังได้

พัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพ วางมาตรฐานปลอดภัย-รุกตลาดโลก

วันที่ 28/7/2009

http://www.naewna.com/news.asp?ID=171989.

นายวิวัฒน์ วินิจฉัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง(ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็ป กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯได้ลงนามบันทึกความร่วมมือในการวิเคราะห์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตจากฐานทรัพยากรชีวภาพชุมชนกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากฐานทรัพยากรชีวภาพมีความปลอดภัย

 “ปัจจุบันมีชุมชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ สร้างสรรค์สินค้าโดยใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนออกมามากมาย ซึ่งหากต้องการให้สินค้าเหล่านั้นเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ก็จำเป็นต้องมีการผลิตที่ได้มาตรฐานปลอดภัยที่สามารถพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งเซ็นทรัลแล็ปมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัย จึงร่วมมือกับ สพภ. เพื่อใช้ผลการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการบ่งบอกถึงเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์ มาตรฐานความปลอดภัย” นายวิวัฒน์ กล่าว

 นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริหาร สพภ. เปิดเผยว่า มีรายงานจากโครงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพของชุมชนว่า มีผลิตภัณฑ์จากชุมชนมากกว่า 80 รายการที่คุณภาพการผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้มาตรฐาน จึงได้ร่วมมือกับเซ็นทรัลแล็ปทำการวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้ผู้บริโภคทั่วไปมั่นใจว่าเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัย ซึ่งในอนาคตจะกำหนดให้มีการรับรองมาตรฐานด้านอื่นๆ ที่สูงขึ้น อาทิ GAP GMP อย. เป็นต้น

“หมอดิน”เดินสายเปิดทางขับเคลื่อน “โรงปุ๋ยชุมชน”

วันที่ 28/7/2009

http://www.naewna.com/news.asp?ID=171988.

นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของโรงปุ๋ยอินทรีย์ชุมชน งบ CEO ปี 2552 และการจัดทำแผนพัฒนาโรงปุ๋ยอินทรีย์ปี 2553 กรมพัฒนาที่ดินจึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้น 4 ครั้ง ใน 4 ภาค แบ่งเป็น ครั้งที่ 1 ในวันที่ 6 – 7 สิงหาคม ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ ครั้งที่ 2 วันที่ 13-14 สิงหาคม ที่โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 3 วันที่ 17-18 สิงหาคม ที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี และครั้งที่ 4 วันที่ 24-25 สิงหาคม ที่โรงแรมมารวยการ์เด้นท์ กทม.

 รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมขับเคลื่อนโรงปุ๋ยอินทรีย์ 4 ภาคที่จัดขึ้นครั้งนี้ นอกจากจะได้ติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาโรงปุ๋ยอินทรีย์ในปีที่ผ่านมาแล้ว ยังจะก่อให้เกิดการร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดของโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อนำไปสู่การวางแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมกันนี้จะเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ของเกษตรกรผู้บริหารโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งให้มีการระดมความคิด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและเกษตรกรผู้บริหารโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในการร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปี 2553 เพื่อนำไปใช้ในการขับเคลื่อนให้โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สามารถดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้อย่างมีคุณภาพ และผ่านเกณฑ์มาตรฐานปัจจัยการผลิตทางการเกษตร (Q) ของกรมพัฒนาที่ดิน

ประเทศไทยมีฝนเป็นแห่งๆ ถึงกระจายในระยะนี้

วันที่ 27/7/2009

http://www.naewna.com/news.asp?ID=171910.

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยวันนี้ (27 กค.52) เป็นดังนี้

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ส่วนมากบริเวณจังหวัดหนองคาย นครพนม ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรี ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และนราธิวาส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ใกล้ฝั่งทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร ส่วนห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

  ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดภูเก็ต ตรัง และสตูล ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ผุด1สหกรณ์1โรงปุ๋ยอินทรีย์ 4หน่วยงานผนึกกำลังลดต้นทุนผลิต/นำร่อง200แห่งทั่วปท.

วันที่ 27/7/2009

http://www.naewna.com/news.asp?ID=171838.

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีแนวคิดจะจัดทำโครงการนำร่อง 1 สหกรณ์ 1 โรงปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยให้สหกรณ์ผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีราคาถูกจำหน่ายให้กับสมาชิก เบื้องต้นตั้งเป้าหมายดำเนินการนำร่องจำนวน 200 สหกรณ์ทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือกสหกรณ์ที่มีโรงผลิตปุ๋ยและมีศักยภาพในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ หรือสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จมีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์อยู่เดิมมาเป็นต้นแบบเข้าร่วมในโครงการ

 นายศุภชัย กล่าวว่า จากการสำรวจของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในการทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนของเกษตรกร พบว่าเรื่องปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูง โดยต้องนำปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศในราคาที่แพง จึงเห็นว่าสหกรณ์การเกษตรเป็นสถาบันเกษตรกรที่มีสมาชิกแน่นอน มีกลไกการตลาดที่ชัดเจน รวมทั้งมีทุนในการดำเนินงานที่จะสามารถรองรับโครงการนี้ได้ ประกอบกับแต่ละอำเภอ มีสหกรณ์การเกษตรอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าอำเภอละ 1 แห่ง ซึ่งน่าจะมีศักยภาพในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยจะเน้นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก หากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีบ้าง จะใช้เฉพาะเป็นส่วนผสมที่จำเป็นบางส่วนเท่านั้น

 “โครงการนี้จะทำงานอย่างบูรณาการระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเป็นแม่งานหลัก กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานตรวจวิเคราะห์คุณภาพดินและแร่ธาตุต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อดูว่าดินแต่ละแห่งมีคุณภาพอย่างไร สารอาหารที่อยู่ในดินขาดมีอะไรบ้าง ควรจะเพิ่มเติมแร่ธาตุอะไร รวมทั้งร่วมกับกรมวิชาการเกษตรดูแลเรื่องการกำหนดสูตรปุ๋ย เพื่อให้สหกรณ์ได้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ตรงกับสภาพดินที่ควรจะปรับปรุงในพื้นที่แห่งนั้น โดยตั้งเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยลงประมาณ 30-40% คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการได้ประมาณต้นเดือนสิงหาคมนี้” นายศุภชัย กล่าว

ทำแม่บททรัพยากรชีวภาพ ผลักดันสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ/ทส.ประกาศเป็นแผนแห่งชาติ

วันที่ 27/7/2009

http://www.naewna.com/news.asp?ID=171837.

นายอภิวัฒน์ เศรษฐรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. เผยว่า สพภ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เพื่อเป็นกรอบหลักในการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพของประเทศ ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจบนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น

 ดังนั้น สพภ. จึงจัดสัมมนาเชิงนโยบาย “ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจไทย” ขึ้น เพื่อนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจฐานชีวภาพของประเทศไทยสู่สาธารณชน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว

 “ขณะนี้มูลค่าการตลาดของเศรษฐกิจฐานชีวภาพทั่วโลกเติบโตอย่างมาก สำหรับประเทศไทยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพเป็นทั้งศักยภาพและโอกาสของประเทศ เพราะทรัพยากรชีวภาพมีความสำคัญต่อความสมดุลยั่งยืนของระบบนิเวศน์ การให้บริการพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชนและเป็นวัตถุดิบต้นน้ำ นำไปสู่การพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ” นายอภิวัฒน์ กล่าว

 ขณะที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลของประกาศให้การพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เป็นปฏิบัติการแห่งชาติ เพราะเป็นไปแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และนโยบายรัฐบาล จึงเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยของรัฐบาล ต้องหนุนให้ทรัพยากรชีวภาพสร้างเศรษฐกิจของชาติอย่างยั่งยืน

 “ในรัฐธรรมนูญกล่าวถึงความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ไว้ในหลายมาตรา ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ก็มีการกำหนดเรื่องนี้เป็น 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์ เรื่องทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีกรอบและแผนงานในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ” นายสุวิทย์ กล่าว

เตือนพันธุ์ยางปลอมระบาด

วันที่ 27/7/2009

http://www.naewna.com/news.asp?ID=171836.

นายจิรากร โกศัยเสวี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า ขณะนี้พบผู้ประกอบการหลายรายจำหน่ายพันธุ์ยางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร และไม่ขยายพันธุ์ยางจากต้นยางพันธุ์ดีตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ หากเกษตรกรหลงเชื่อซื้อตามคำชี้ชวนและนำไปปลูก ผลเสียหายจะไม่เพียงแต่จะตกกับเกษตรกรเท่านั้น ยังกระทบไปถึงผลผลิตยางและเศรษฐกิจของประเทศด้วยที่ต้องเสียเงินหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นเกษตรกรควรเลือกซื้อพันธุ์ยางจากแปลงขยายพันธุ์ยางที่ได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น

 นายจิรากร กล่าวอีกว่า พันธุ์ยางแต่ละพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรกว่าจะได้เป็นพันธุ์ยางแนะนำออกมา เพื่อให้เกษตรกรได้ปลูกกันอย่างถั่วถึงต้องใช้เวลาในการปรับปรุงพันธ์นานถึง 25 – 30 ปี โดยใช้แผนการปรับปรุงพันธุ์ตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่การผสมพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ เปรียบเทียบพันธุ์ขั้นต้น – ขั้นปลาย และทดสอบในพื้นที่ต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่น คือ ให้ผลผลิตสูงทั้งน้ำยาง หรือเนื้อไม้ และพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูก ต้านทานโรค

 เพื่อมิให้เกิดปัญหา ผู้ประกอบการรายใดขยายพันธุ์ต้นยางและจำหน่ายพันธุ์ต้นยาง โดยไม่มีใบอนุญาตอยู่ในขณะนี้ ขอให้รีบมาขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย ต้องระวังโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท รวมทั้งริบต้นยางหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยางที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดในคดีเพื่อนำไปทำลาย ทั้งนี้ขณะนี้สถาบันวิจัยยาง มีเอกสารพันธุ์ยางแนะนำปี 2550 ฉบับล่าสุด ที่เกษตรกรสามารถเลือกพันธุ์ยางพันธุ์ชั้น 1 ไปปลูกในสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งในพื้นที่แหล่งปลูกเดิม และแหล่งปลูกใหม่ รวมทั้งสามารถขอรับคำแนะนำในการเลือกซื้อพันธุ์ยางที่เหมาะสมต่อการปลูกยางได้ที่สถาบันวิจัยยางทุกแห่ง

กรมอุตุฯ ประกาศเตือนภัย พายุ “นกเตน” ฉบับที่ 12

วันที่ 31/7/2011

http://www.naewna.com/news.asp?ID=273111.

สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลา 04.00 น.วันนี้ (31 ก.ค.54) พายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK-TEN) ได้ขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว และมีศูนย์กลางบริเวณประเทศลาวตอนบน หรือที่ละติจูด 19.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนตัวในแนวประเทศลาว และทางตอนบนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมแรง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

วันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ระนอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

วันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร และตาก

ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2554 ไว้ด้วย (ประกาศ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)

ประเทศไทยมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่

วันที่ 31/7/2011

http://www.naewna.com/news.asp?ID=273103.

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยวันนี้ (31 ก.ค.54) เป็นดังนี้

ภาคเหนือ  มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนเป็นบริเวณกว้าง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร และอำนาจเจริญ กับมีลมแรงทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศา ลมตะวันตก ความเร็ว 20-35 กม./ชม.

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี และราชบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง บริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-31 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)  มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)  มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และ ภูเก็ต อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

กรมอุตุฯประกาศเตือนภัยพายุ“นกเตน”ฉบับที่9

วันที่ 30/7/2011

http://www.naewna.com/news.asp?ID=272985.

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้(30 ก.ค.) กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยเกี่ยวกับพายุ “นกเตน” ฉบับที่ 9 ระบุว่า พายุโซนร้อน “นกเตน”(NOCK-TEN) บริเวณอ่าวตังเกี๋ย หรือที่ละติจูด 19.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 107.2 องศาตะวันออก หรือทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดนครพนม ประมาณ 350 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางใต้ ด้วยความเร็วประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คาดว่าพายุนี้จะขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในคืนนี้(30 ก.ค.) ต่อจากนั้นจะเคลื่อนในแนวประเทศลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทย มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมแรง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

วันที่ 30-31 กรกฎาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ระนอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

วันที่ 2-3 สิงหาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร และตาก

ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 30 ก.ค. – 4 ส.ค. 2554 ไว้ด้วย