เยาวชน…กับค่ายรักษ์สหกรณ์

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/223484

15 ธันวาคม 2554, 05:00 น.

ช่วงเดือนที่ผ่านมา…คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เดินทางไปเป็นประธานในการจัดงาน โครงการรณรงค์การบริโภคไข่ไก่ ณ ศูนย์สัมมนาและฝึกอบรมสายน้ำ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “ใส่ใจสุขภาพดี วันนี้คุณกินไข่หรือยัง?” ซึ่งจัดโดย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน

งานนี้นอกจากจะรวบรวมผลผลิต (ไข่ไก่ปลอดภัยไร้สารพิษ) ของสมาชิก 65 ราย มาจำหน่ายแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆให้กับเด็กและเยาวชน แข่งขันทักษะความรู้คุณประโยชน์ของไข่ไก่

…อันเป็นแรงผลักดันโครงการไข่ไก่ในโรงเรียนให้ได้รับผลสำเร็จ และที่สำคัญคือต้องการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ ประโยชน์ของโภชนาการไข่ไก่ที่ถูกต้องให้ผู้บริโภค ได้รับทราบ…!!!

เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่ในกลุ่มสหกรณ์ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท ซึ่งสนับสนุนโดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ถือเป็นนโยบายซึ่งวางแนวในการเข้าไปมีส่วนร่วมเป็น การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพสหกรณ์ เพื่อให้ระบบสหกรณ์ในชนบทมีความเข้มแข็งและมั่นคงยั่งยืน สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านสหกรณ์

คุณสุปรี เบ้าสิงห์สวย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า…ช่วงนี้ มูลนิธิฯกับซีพีเอฟได้เข้าไปมีส่วนร่วมดำเนินการสนองพระราชดำริ ด้วยการสนับสนุนการเลี้ยงไก่ไข่ในสหกรณ์ 7 แห่ง…คือ

…โครงการหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรสันกำแพง จ.เชียงใหม่ โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จ.เพชรบุรี โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุน-ห้วย จ.เพชรบุรี สหกรณ์การเกษตรหนองพลับ จำกัด จ.เพชรบุรี โครงการตามพระราชประสงค์กลัดหลวง จ.เพชรบุรี โครงการหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอู-ป่าเด็ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในผืนดินพระราชทาน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

โดย…ซีพีเอฟได้ให้การสนับสนุนด้านเทคนิค วิชาการ ตลอดจนติดตามผลการเลี้ยงไก่ไข่ในสหกรณ์ให้ได้มาตรฐาน รวมถึงให้คำแนะนำและช่วยเหลือด้านการตลาด เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพ และสามารถสร้างตลาดภายในชุมชนได้อย่างยั่งยืน…กระทั่งประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการเป็นอย่างดี

…การเข้าไปต่อยอดพัฒนา และสร้างความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน ตามแนวพระราชดำรินั้น ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาได้ดำเนินการผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการเลี้ยงไก่ไข่ 5,000 ตัว ของสมาชิกในหมู่บ้านสหกรณ์ แล้วขยายสู่ชุมชน

รวมทั้ง…มีการสนับสนุนอาชีพเสริมอื่นๆ โดยเฉพาะด้านการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งซีพีเอฟได้นำแพะเนื้อ ไก่พื้นเมือง และเป็ดพันธุ์ไข่ เข้าไปส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ที่มีความพร้อม ได้ทำการเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้

ขณะเดียวกัน…ได้ สร้างความยั่งยืนของระบบสหกรณ์ผ่านเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชน โดยทุกปีจะจัด โครงการค่ายรักษ์สหกรณ์ เป็นประจำปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับระบบสหกรณ์และ สร้างจิตสำนึกแก่ลูกหลานสมาชิก…

เป็นการ ถ่ายมรดก…จากรุ่นสู่รุ่นให้เกิดความตระหนัก และ รักสหกรณ์ อย่างยั่งยืน…!!!

ดอกสะแบง

กล้า…ดี…ภาพ​สะท้อน​ฟื้นฟู​คุณภาพ​ชีวิต

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/223224

14 ธันวาคม 2554, 05:01 น.

โครงการ “กล้า…ดี” : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืน โดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่ง ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นประธาน ได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี

ใน แผนการฟื้นฟูได้วางเป้าหมายไว้ 2 มาตรการ ซึ่งในการ ลดรายจ่าย กับ “ชุด 3 พร้อม” ได้พูดไปแล้วเมื่อวันวานว่ามีอะไรบ้าง วันนี้จึงต่อในส่วนของการ เพิ่มรายได้ด้วยการส่งเสริมอาชีพโดยการปลูกพืชระยะสั้นที่ตลาดต้องการ อย่างเช่น พริก Super Hot ให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ โดยชาวบ้านต้องรวมกลุ่มและแสดงศักยภาพในการบริหารจัดการตั้งแต่การปลูกถึงจัดจำหน่าย ซึ่ง โครงการจะให้การสนับสนุนเรื่องการตลาด

ภายใน 120 วัน….ผลที่คาดไว้ต่อราย คือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 1,606 บาท หักค่าต้นทุนการปลูก 540 บาทต่อราย ก็คงเหลือ 1,066 บาท หากมองเป็นรายๆอาจน้อยไปนิด แต่เมื่อรวมกลุ่มแล้วมันสามารถสร้างพลังให้ชุมชนเข้มแข็งได้

ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ทองดี กำนันตำบลพุคา อ.บ้านหมี่ ลพบุรี บอกว่า…ทางจังหวัดได้มอบหมายให้ชุมชนของเราเป็นตัวแทนเข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เมื่อเข้าไปสัมผัสก็เห็นว่าแผนปฏิบัติการนั้นคิดจากสภาพของความเป็นจริง อย่างพริก กระเทียม เกลือที่อยู่ในชุดพร้อมกิน หรือพร้อมปลูก พร้อมเพาะ ซึ่งสามารถเอาไปปลูกทดแทนพืชในชุมชนที่ถูกน้ำท่วมตายหมดได้เลย

ถัดจากแนวคิดก็คือ เรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งตอนเริ่มงานนั้นได้แบ่งออกเป็น  3  ขั้น ตอนแรกก็คือคนในหมู่บ้านเราก่อน  ขั้นที่  2  ก็ขยายไปทั้งตำบลพุคา แล้วจึงกระจาย ไปสู่ตำบลข้างเคียง สุดท้ายคือทั้งอำเภอ รวมแล้ว 157 หมู่บ้าน…

อีกภาพ…ที่สะท้อนกลับคือ ครอบครัวของนางประเชิญ นพคุณ ชาวเมืองอุทัยธานี ซึ่ง นางสาวบรรจงรัตน์ ลูกสาว ทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา พอน้ำท่วมก็กลับมารับจ้างเล็กๆน้อยๆอยู่กับบ้าน กระทั่งโครงการ “กล้า…ดี” มาตั้งศูนย์เพาะกล้า จึงสมัครเป็นอาสา…ความสุขกลับคืนสู่ครอบครัว อีกครั้ง

นางสาวบรรจงรัตน์ บอกว่า…ไม่เคยทำงานเกษตรมาก่อนเลย พอเป็นอาสาฯ เริ่มแรกทำงานผสมปุ๋ย ผสมดินมากรอกใส่ถุงและเพาะเมล็ดพันธุ์ แล้วเอามาปลูกใส่ปุ๋ยรดน้ำ ทำมาเดือนกว่า ตอนนี้ได้ความรู้สามารถนำไปปลูกพืชผักให้กับตนเองได้ อยู่ที่นี่มีความสุขเป็นนายของตัวเอง

นางประเชิญ ผู้เป็นแม่เอ่ยความรู้สึกว่า ตามปกติก็ปลูกพืชผักพื้นบ้านกินเอง แต่พอมาปลูกกับโครงการกล้า…ดี เป็นการปลูกให้คนเป็นล้านได้กินได้รอดรู้สึกดีใจและมีความสุข และ ที่สุขมากๆ คือลูกกลับมาบ้าน

นายบุญเลิญ ซังบิน กำนันตำบลหาดทนง อำเภอเมืองอุทัยธานี เล่าว่า….ปีนี้น้ำท่วมหนักมาก ต้นไม้ใหญ่ยังตาย พอน้ำเหือดโครงการกล้า…ดีนำต้นกล้ามาให้ชาวบ้านได้ปลูกกินกันเองคือผักสวนครัว  เหมือนกับว่ามีตู้เย็นไว้ข้างบ้าน อยากกินผักสดๆเมื่อใดก็ได้เลย ถือว่าเป็นสิ่งดี  เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นของการฟื้นฟู

…..วิธีการช่วยแบบนี้เกิดประโยชน์ทันตาเห็นและเป็นการช่วยที่แตกต่างจากการฟื้นฟูรายอื่นๆ เพราะเหลือจากแบ่งกันก็นำไปขายได้ มรรคผลที่เกิดหากคิดในแง่เศรษฐกิจอาจจะน้อย….แต่มันสูงด้วยค่าของความสำเร็จและภาคภูมิใจ…!!
ดอกสะแบง

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ดอกสะแบง
  • 14 ธันวาคม 2554, 05:01 น.

อาสา “กล้า…ดี” ช่วยอุทกภัย

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/223035

13 ธันวาคม 2554, 05:00 น.

อุทกภัย ที่ผ่านมา…..ได้ ส่งผลกระทบและนำความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ปัญหา ความยากจนของเกษตรกรได้พอกพูน ทับถมและขยายวงกว้าง…

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ จึงได้ริเริ่ม โครงการ “กล้า…ดี” หรือ “การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืน” ขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย ส่งเสริมการรวมกลุ่มให้เป็นชุมชนเข้มแข็งและมีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองในอนาคต โดยเปิดโอกาส ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม (…จะด้วยแรงใจ แรงทรัพย์ ผ่านเว็บไซต์โครงการกล้า…ดี http://www.maefahluang.org/kladee)

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ประธานโครงการ เปิดเผยว่า…โครงการนี้ได้น้อมนำหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ระเบิดจากข้างใน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการ “ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง” เป็นหลักปรัชญาในการทำงาน……

……ซึ่งได้ปฏิบัติการมาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม (2554) แต่มาเปิดตัวในวันที่ 14 พฤศจิกายน โดยวางมาตรการ 2 ขั้นตอน…..คือ

มาตรการลดรายจ่าย……ด้วยการสนับสนุน “ชุด 3 พร้อม” ประกอบด้วย “ชุดพร้อมกิน” คือ เครื่องปรุงของแห้ง ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม และเกลืออย่างละ 0.50 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถนำไปประกอบอาหาร “ชุดพร้อมปลูก” คือ ต้นกล้าจำนวน 9 ต้น ได้แก่ พริกขี้หนู 3 ต้น มะเขือเปราะ 2 ต้น มะเขือยาว 2 ต้น และกะเพรา หรือโหระพา 2 ต้น, “ชุดพร้อมเพาะ” คือเมล็ดพันธุ์ ได้แก่ ถั่วฝักยาว 40 เมล็ด ฟักทอง 50 เมล็ด ผักบุ้ง 1,000 เมล็ด กวางตุ้ง 1,250 เมล็ด และชะอมหรือกล้วยน้ำว้า 1 ต้น…..

โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง คือให้จังหวัดอุทัยธานีและลพบุรีเป็นแหล่งจัดเตรียมต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ พร้อมเป็นจุดกระจายสู่เกษตรกร ในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง…..โดยวางเป้าหมายจ่ายแจกแก่ผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 1 ล้านคน

ก่อนหน้านี้……เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ชาวอาสากล้า…ดี ได้มาช่วยกันบรรจุเมล็ดพันธุ์ 30,000 ซอง มีประชาชนผู้มีจิตอาสาทุกเพศ ทุกวัย ทั้งคนไทยและต่างประเทศ ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

“…….ครั้งนี้เราเลือกจัดกิจกรรมในพื้นที่ประสบอุทกภัย เพราะเราเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจหลักของงานพัฒนาและสามารถมองเห็นปัญหากับความต้องการที่แท้จริงของผู้ประสบภัยได้…….

…..เราจึงอยากให้ชาวจิตอาสาซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มุ่งช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการลงพื้นที่เพื่อ “เข้าใจ เข้าถึง” สภาพปัญหากับเรา…….

และ……วันที่ 15 ธันวาคม โครงการกล้า…ดี จะได้เริ่มมอบชุด 3 พร้อม ให้กับเกษตรกร เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสนับสนุนให้ผู้ประสบอุทกภัยได้กลับมายืนด้วยตัวเองอย่างมั่นคงต่อไป…..” ประธานโครงการ กล่าวถึงแผนปฏิบัติการว่าอย่างนั้น…!!!
ดอกสะแบง

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ดอกสะแบง
  • 13 ธันวาคม 2554, 05:00 น.

เตือน…ส่งผลไม้ไปจีนต้องปลอดภัย

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/222780

12 ธันวาคม 2554, 05:00 น.

สินค้าผักสดผลไม้ไทย….เส้นทางการส่งออกสู่ตลาดโลกมีแนวโน้มว่าจะฉลุย แม้แต่ สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งค่อนข้างจะเข้มงวด ยังเปิดไฟเขียวให้ เพราะเราฝ่าด่านผ่านมาตรการ Establishment List : EL ได้อย่างเรียบร้อย

แต่ก็มาสะดุดเอากับคนบ้าน (ทวีป) เดียวกัน ด้วย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง รายงานมาว่า สำนักควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคสาธารณรัฐประชาชนจีน (ZAQSIQ) ได้แจ้งเตือนการตรวจ พบปัญหาศัตรูพืชในผลไม้ที่ส่งออกจากไทยไปยังจีนอย่างต่อเน่ือง…

โดย….ช่วงระยะเวลา 6 เดือน มีการแจ้งเตือนรวมแล้วกว่า 114 ครั้ง ซึ่งด่านนำเข้าของจีนพบแมลงวันผลไม้ Bactrocera correcta ในสินค้า ชมพู่และมะม่วง ทั้งยังตรวจพบ เพลี้ยแป้ง และ เพลี้ยแป้งสับปะรดในลำไย ที่นำเข้าจากไทย……

หลังได้รับรายงาน…..คุณจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจึง สั่งการให้เร่งตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้า พร้อมทั้งประสานผู้ประกอบการและผู้ส่งออกให้เร่งแก้ปัญหาโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้า….

….ผู้ส่งออกควรซื้อชมพู่ที่ได้มาตรฐานจากแปลงที่ได้รับการรับรอง GAP ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 360 แปลง และกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างตรวจรับรอง GAP เพิ่มอีก 600 แปลง…ส่วนใหญ่กระจายอยู่่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี

“……หากไม่เร่งปรับปรุงและแก้ปัญหา อนาคตจีนอาจเพิ่มมาตรการตรวจสอบและควบคุม เข้มงวดในการนำเข้าสินค้าชมพู่ มะม่วง และลำไยจากไทยมากขึ้น หรืออาจถูกระงับการนำเข้าไปเลยก็ได้….

……เพราะในกรณีเดียวกันนี้ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2554) ประเทศมาเลเซียได้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสั่งระงับการนำเข้าชมพู่ทับทิมจันทร์จากไทย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เจรจาต่อรองในเงื่อนไข เพื่อเรียกโอกาสกลับคืนมา จึงเป็นอุทาหรณ์ให้พวกเราได้ตระหนัก….”

นางสาวสัญญาณี ศรีคชา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้กล่าวเสริมว่า….ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และชาวสวนชมพู่ ควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยต้องพัฒนาระบบการผลิตตั้งแต่ระดับแปลงของเกษตรกร กระบวนการเก็บเกี่ยว รวมถึงคัดเกรด และบรรจุสินค้า

…..ซึ่งทุกขั้นตอนในการดำเนินการ กรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้สนใจ ได้นำไปดำเนินการ อันเป็นการร่วมพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรไทยให้ได้มาตรฐาน และก็ ให้การรับรองในความปลอดภัยหากนำไปปฏิบัติการอย่างถูกต้อง

หากเกษตรกรสนใจเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-5583 เวลาราชการ.

ดอกสะแบง

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ดอกสะแบง
  • 12 ธันวาคม 2554, 05:00 น.

ผักสดไทย…ฝ่าวิกฤติน้ำท่วม

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/221831

8 ธันวาคม 2554, 05:00 น.

บ้านเรา ถือว่าเป็น ฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และในยามนี้อยู่ในสภาวะ วิกฤติอุทกภัย พื้นที่การเกษตรได้รับแรงกระทบกว่า 10 ล้านไร่ ทั้งภาคกสิกรรม ปศุสัตว์  และประมง ต่างก็รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า …ส่วนจะหนักเบาขนาดไหนนั้นก็แล้วแต่

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร (สวป.) กรมวิชาการเกษตร บอกว่า…..สถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผักสดไปยังสหภาพยุโรป (EU) เช่นกัน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการผลิตสินค้าพืชผักอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศผู้นำเข้า

อีกทั้งหลังจากที่ได้นำ มาตรการควบคุมพิเศษบัญชีรายชื่อ ( Establiahment List : EL) โรงคัดบรรจุมาใช้แก้ไขปัญหาการส่งออกพืช 5 กลุ่ม 16 ชนิด ไปยัง EU ผลปรากฏว่า ไม่ได้รับการแจ้งเตือนเรื่องปัญหาแมลงศัตรูพืชกักกัน และ สารตกค้างปนเปื้อน สินค้าที่ส่งออกอีกเลย….ถือว่า OK ทุกอย่างผ่านสะดวก

ขณะนี้มีโรงคัดบรรจุ (Packing House) ที่ผ่านการตรวจประเมินของกรมวิชาการเกษตร ตามระบบ EL เพิ่มขึ้นเป็น 7 โรงงาน ได้แก่ โรงคัดบรรจุของ บ.เอ็กเซล ฟรุตส์ จก. บ.สวิฟท์ จก. บ.ไทเวอลด์ อิมปอร์ต จก. บ.เคอร์เนอร์ อะโกร เอ็กปอร์ต เซ็นเตอร์ จก. บ.อะกริ เฟร็ชโก จก. บ.เอเซีย เอ็กโซติก คอร์ปอเรชั่น จก. และ บ.วีเอส เฟรชโก จก.

และ…ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่กำลังเร่งปรับปรุงและพัฒนา  ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้ (2554) จะผลักดันโรงคัดบรรจุผักและผลไม้เข้าสู่ระบบ EL ได้ไม่น้อยกว่า 10 โรงงาน อันจะทำให้เครือข่ายการผลิตและส่งออกสินค้าผักสดของไทยไปยัง EU ขยายตัวเพิ่มขึ้น

“……จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมประกาศบังคับใช้ระบบ EL ในวันที่ 1 มกราคม 2555 เพื่อเพิ่มระดับความเข้มงวดในการควบคุมการนำเข้าผักสดจากไทย 5 ชนิด มีถั่วฝักยาว พืชตระกูลกะหล่ำ ผักชีไทย สะระแหน่ และขึ้นฉ่าย……

….ในยามนี้อยู่ใน ภาวะของอุทกภัย ผู้ประกอบการจึงร้องขอให้ขยายระยะเวลาบังคับออกไปก่อน จะได้มีเวลาในการปรับปรุง และพัฒนานั้น กรมวิชาการเกษตรก็รับฟัง และหลังน้ำลด เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ จะเร่งประสานในเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อการแก้ปัญหาให้ไปในทิศทางเดียวกัน….” ผอ.สวป. บอกอย่างนั้น แล้วก็ขยับต่ออีกว่า…..

“…….ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกที่ยังไม่ได้เข้าระบบ EL ก็สามารถส่งออกได้ แต่ผักที่ส่งออกต้องมาจากโรงคัดบรรจุที่อยู่ในระบบ EL แล้วเท่านั้น โดย ต้องมีหนังสือรับรองสินค้าจากโรงคัดบรรจุด้วย เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจึงจะออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ให้ แนบไปกับสินค้าส่งออก….

….การจัดทำ EL จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและเกษตรกร เครือข่ายได้ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญให้ก้าวนำประเทศคู่แข่งที่สำคัญในอาเซียนได้…และ สร้างเสริมจุดแข็งสินค้าผักสดของไทย ให้ยืนหยัดบนเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน…!!!

ดอกสะแบง

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ดอกสะแบง
  • 8 ธันวาคม 2554, 05:00 น.

พัฒนาน้ำ…6 จังหวัดภาคใต้

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/221651

7 ธันวาคม 2554, 05:01 น.

น้ำท่วม…ภัยธรรมชาติที่สร้างความหวาดให้กับสังคมไปหมาดๆ แม้บางรายอาจเหือดหายไปแล้ว แต่ก็ยัง มีหลงเหลือที่ยังผวากับสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น…!!!

หน่วยงานของรัฐซึ่งข้องเกี่ยวกับน้ำ นอกจาก ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งรัฐตั้งขึ้นมาแบบเฉพาะกิจแล้ว ในระดับกรมมีหลายหน่วย งานที่มีบทบาทเกี่ยวกับน้ำ แต่ที่ได้รับความสนใจอย่างสุดๆในยามนี้ก็คงไม่มีอะไรที่จะเกิน กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะทุกขั้นตอนในการวางแผนบรรเทาอุทกภัย และบริหารจัดการน้ำจักต้องมีส่วนร่วมด้วย

และ…ก็มิใช่ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงพื้นที่แห่งนี้และครั้งนี้เท่านั้น ยังมีการวางแผนงานล่วงหน้าในการป้องกันทั้งอุทกภัยและภัยแล้งไปทั่วราชอาณาจักร อย่างในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช  พัทลุง  กระบี่  ตรัง และสงขลา ได้ วางแนวดำเนินการทั้งหมดกว่า 149 โครงการ…

คุณชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน บอกในเรื่องนี้ว่า…เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ จึงจะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากมี ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อย

ทั้งนี้ ก็ได้แจงออกมาแต่ละจังหวัด อาทิ สุราษฎร์ธานี จะพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 4 โครงการ เป็นอ่างเก็บน้ำ 3 โครงการ คือ คลองพนม แก่งกรุง และคลองพนม 3 กับสถานีสูบน้ำลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง และแหล่งน้ำขนาดกลาง 38 โครงการ เป็นอ่างเก็บน้ำ 36 โครงการที่สำคัญๆ เช่น ห้วยทรายขาว คลองลำพูน คลองกระแต คลองท่าตีน ฯลฯ และสร้างแก้มลิง 2 โครงการ ที่บึงขุนทะเลกับหนองแสนแก้ว ซึ่งจะกักเก็บน้ำรวมกันได้กว่า 1,068 ล้านลูกบาศก์เมตร

นครศรีธรรมราช เป็นการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังตอนบนและตอนล่างทั้งหมด และพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง 33 โครงการ สร้างอ่างเก็บน้ำที่สำคัญๆ เช่น ที่คลองกลาย คลองวังหีบ คลองสังข์ คลองระแนะ คลองนายคล้าย ฯลฯ สามารถกักเก็บรวมกันทั้งหมดกว่า 570 ล้านลูกบาศก์เมตร

พัทลุง…ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 20 โครงการ สามารถกักเก็บน้ำรวมประมาณ 151 ล้านลูกบาศก์เมตร และโครงการประตูระบายน้ำคลองประ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วน กระบี่ และ ตรัง สร้างและพัฒนาอ่าง เก็บน้ำขนาดกลางทั้งหมด 27 โครงการ กักเก็บน้ำรวมกว่า 318 ล้านลูกบาศก์เมตร

สงขลา…มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 โครงการ คือ ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ กับโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ระยะที่ 2 นอกนั้นก็มีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 21 โครงการ ให้กักเก็บน้ำรวมกันกว่า 296 ล้านลูกบาศก์เมตร

“…หากกรมชลประทานสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนที่กำหนดไว้ดังกล่าวได้ เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ฝนตกหนัก และปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งบรรเทาลงได้อย่างแน่นอน รวมทั้ง จะทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้น…” อธิบดีกรมชลฯโรยยาหอม ว่าอย่างนั้น…!!!
ดอกสะแบง

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ดอกสะแบง
  • 7 ธันวาคม 2554, 05:01 น.

ปีแห่งการพัฒนาสหกรณ์

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/221408

6 ธันวาคม 2554, 05:01 น.

น้ำท่วม…ภัยธรรมชาติซึ่งถือว่ายอดฮิตที่สุดในยามนี้ และ ได้ส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อทุกๆ สังคม แม้ว่าในแต่ละภาคส่วนอาจรับอานิสงส์ไม่เท่ากัน หนักบ้างเบาบ้างนั่นก็แล้วแต่ละสภาวะ ซึ่ง หลังจากพ้นวิกฤติแล้วต่างก็เยียวยา พลิกฟื้นเพื่อให้คืนสู่ปกติ หรือมุ่งพัฒนาให้รุ่งเรืองต่อไป

กรมส่งเสริมสหกรณ์…เป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งดูแล สหกรณ์มากถึง 6,963 แห่ง มีสมาชิกกว่า 11.13 ล้านคน…และส่วนหนึ่งก็ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เช่นกัน แต่เส้นทาง การพัฒนาระบบสหกรณ์ไทยยังก้าวไกลไม่มีการหยุดยั้ง

โดย…ปีหน้า (2555) ซึ่งอีกไม่กี่วันจะถึงนี้ ได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการพัฒนาระบบการส่งเสริมสหกรณ์–กลุ่มเกษตรกร” (The Year of Coo– perative Promotion System) เพื่อบูรณาการ สร้างหลักค้ำจุนความมั่นคง และ รุ่งโรจน์ต่อไปในระยะยาว…

คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ บอกถึงกิจกรรมนี้ว่า…จะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป พอระฆังปีใหม่ลั่นก็ขับเคลื่อนทันที…โดยตั้งเป้าหลักไว้ 3 ปัจจัยคือ

สหกรณ์แข็งแรง–คนสมดุล…เน้นสู่การวิเคราะห์กิจการ โดยนำเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจ และเครื่องมือวิเคราะห์ทางการเงินมาปรับใช้กับสหกรณ์แต่ละแห่ง ทั้งยังให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรวิเคราะห์ตนเอง เพื่อให้รู้ถึงศักยภาพและจุดบกพร่อง หรือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งเร่งรัดให้นำระบบสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพให้สูงขึ้น

สหกรณ์ก้าวไกล–คนพออยู่…ปัจจัยนี้มุ่งพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการสหกรณ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ ทั้งยังยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐาน GAP, GMP, HACCP, ISO, Carbon Footprint, Water Footprint และผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค อันเป็นกลไกสำคัญสู่การแข่งขันในตลาดโลก

ขณะเดียวกัน…ก็มุ่งเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตรสหกรณ์ให้เข้มแข็ง ในลักษณะสหกรณ์พี่-น้อง และผลักดันให้เกิดสหกรณ์ต้นแบบแนวคิด Zero Waste ตลอดจนเร่งสร้างภาพลักษณ์ของขบวนการสหกรณ์ไทยในเวทีโลก เช่น การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสหกรณ์ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกในปี 2555 เป็นต้น

และ…สหกรณ์ยั่งยืน–คนพอเพียง ด้วยการรณรงค์สร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ลึกซึ้งให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับขบวนการสหกรณ์ให้เกิดความศรัทธาในอุดมการณ์ พร้อมเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิผลในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรตามหลักการสหกรณ์ และหลักธรรมาภิบาล ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

…ระบบส่งเสริมสหกรณ์–กลุ่มเกษตรกรจะพัฒนารุดหน้าไปได้ และประสบผลสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง…

แล้ว…อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ทิ้งทวนกับประเด็นสำคัญ อันเป็นหัวใจซึ่งต้องฝังอยู่ในขบวนการสหกรณ์ อันจะส่งผลให้ องค์กรเจริญรุดหน้า ด้วยปัจจัยที่ว่า… “จิตสำนึก และจิตอาสา” ต้องมาก่อน!!!
ดอกสะแบง

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ดอกสะแบง
  • 6 ธันวาคม 2554, 05:01 น.

คลายปม “หนี้สิน” เกษตรกร

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/211318

24 ตุลาคม 2554, 05:00 น.

หนี้สินเกษตรกร….รู้สึกว่าจะเป็น  ปัญหาวังวนแบบงูกินหาง โดยเข้าไปผูกพันมีทั้งในและนอกระบบ นับวันยิ่งพอกพูน….ความหวังที่จะสะสางก็ริบหรี่เต็มทน

กรมส่งเสริมสหกรณ์   จึงจัดกิจกรรม  “โครงการลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยและยากจนผ่านสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร”  เพื่อลดวิกฤติและสร้างโอกาสให้เกษตรกร มีศักยภาพและความเป็นอยู่ที่ดี สามารถสะสางหนี้สินให้  หลุดพ้นเป็นไท

คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พูดถึงแนวทางว่า…ได้อนุมัติวงเงิน 4,689 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรม โดยชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ของเงินต้นที่สมาชิกชำระให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรระหว่างโครงการสำหรับหนี้เงินต้นไม่เกิน 100,000 บาท และ จัดฟื้นฟูอาชีพรายละ 3,000 บาทเพื่อให้กับสมาชิกใช้เป็นทุนพัฒนาอาชีพเดิม สร้างอาชีพใหม่หรืออาชีพเสริมตามความต้องการ…อันเป็นปัจจัยในการกระตุ้นและเพิ่มขีดความสามารถซึ่งจะชำระหนี้คืนได้

ปัจจุบันกิจกรรมของโครงการได้รับความร่วมมือจากสมาชิกเป็นอย่างดี มีขีดความสามารถในการชำระหนี้ต้นเงินกู้ได้เพิ่มสูงขึ้น โดยปีนี้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับชำระหนี้ต้นเงิน จำนวน   23,286.80  ล้านบาท  เป็นค่าดอกเบี้ยที่สมาชิกชำระ 1,397 ล้านบาท และค่าปรับร้อยละ 3 อีก 698.60 ล้านบาท
ส่งผลให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบสินเชื่อของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวนกว่า 26,081.20 ล้านบาท ซึ่งโครงการฯ ได้จ่ายชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3  แทนสมาชิก ใช้งบประมาณเพียง 698.604 ล้านบาท

สำหรับการฟื้นฟูอาชีพ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไปแล้ว 7,707 แห่ง สมาชิก 499,171 ราย มีเงินกองทุนเพื่อฟื้นฟูอาชีพ วงเงิน 1,497.51 ล้านบาท

โดยได้มีการบ่มเพาะอาชีพเดิม เสริมสร้างอาชีพใหม่  หรือสร้างอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย เน้นให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรทั้งในรูปแบบกลุ่มสมาชิกหรือรายสมาชิก ซึ่งเป็นช่องทางช่วยให้สมาชิกสามารถชำระหนี้เดิมได้ถึง 10,084.29 ล้านบาท และยังลดการฟ้องร้องคดีหนี้สินของสมาชิกได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม  จากสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัด คาดว่าจะมีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดที่อยู่ในเขตประสบภัยน้ำท่วมเร่งสำรวจเกษตรกรสมาชิกที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือและเร่งเยียวยาอย่างเร่งด่วน

“….ขณะนี้กรมฯได้พัฒนาระบบสำรวจข้อมูลความเสียหายของ

สมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรที่ประสบภัย พร้อมปรับปรุงการรายงานผลโดยใช้ Profile Online ซึ่งสามารถตรวจสอบและรายงานข้อมูลได้ทันสถานการณ์และรวดเร็วขึ้น จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที…….

…..สำหรับปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 พบว่า มีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 425 แห่ง ใน 42 จังหวัด ได้รับผลกระทบกว่า 68,946 ราย เป็นต้นเงินกู้ที่สมาชิกเป็นหนี้กับสถาบันเกษตรกร 5,933.193 ล้านบาท คิดเป็นดอกเบี้ยที่ต้องชดเชย 527.143 ล้านบาท….” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทิ้งท้ายว่าอย่างนั้น เป็นการเน้นถึง ข้อมูลในความยิ่งยวด…!!
ดอกสะแบง

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ดอกสะแบง
  • 24 ตุลาคม 2554, 05:00 น.

เร่งตรวจสอบ…ฌาปนกิจสหกรณ์

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/210435

20 ตุลาคม 2554, 05:00 น.

จากกระแสข่าว…เกี่ยวกับ สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งดำเนินการโดยความร่วมมือของ สหกรณ์ออมทรัพย์ และองค์การบริหารส่วนตำบลบางแห่ง อันเป็น ประเด็นให้สังคมสับสน ว่า…ดำเนินการอย่างถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่…

และ…กับกระแสนี้ได้รับความสนใจไปถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้กำกับนโยบายของรัฐ ล่าสุด คุณพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับ ดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ หลังได้เข้าตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล แล้วจึงเผยว่า…

…เรื่อง สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ของสหกรณ์นั้น หากเป็นการตกลงเข้าร่วมกันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ และสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ตกลงเข้าร่วมกัน ซึ่งถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ประสงค์จะหากำไร หรือรายได้เพื่อแบ่งปันกัน ก็ เป็นเรื่องที่ถูกต้องและสามารถดำเนินการได้

ส่วน…กรณีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ออกมาเตือนนั้นเป็นเรื่องของการให้ระวังการดำเนินธุรกิจในเรื่องนี้ เนื่องจากหากดำเนินการมีลักษณะเป็นประกันชีวิต เช่น ตกลงจะชดใช้เงินจำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุผลของการเสียชีวิต จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 และ ผู้ดำเนินการได้จะต้องเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น และต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตก่อน

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้กำชับให้ กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งกำกับดูแลตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ต่อไป ซึ่ง คุณสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึง ความคืบหน้าในการดำเนินการว่า…

…สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปค.) ได้ส่งฝ่ายกฎหมายมาหารือว่าเข้าข่ายการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตหรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้นก็ได้มีหนังสือยืนยันที่จะเข้าร่วมตรวจสอบเพื่อคลายข้อสงสัยในทุกๆเรื่อง

ขณะเดียวกัน…ก็ มีหนังสือหารือไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่า สมาคมฌาปนกิจฯซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 8 แห่งนั้นดำเนินการที่เข้าข่ายจะผิดหลักการของพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 หรือไม่ และกำชับไปยังสหกรณ์จังหวัดให้เร่งตรวจสอบการดำเนินธุรกิจดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกสหกรณ์ที่มีอยู่ทั่วประเทศเกิดความเสียเปรียบจากการดำเนินการใดๆของสหกรณ์ ที่ทำโดยขาดความรอบคอบ และไม่พิจารณาให้ดีเสียก่อน

“…กรมส่งเสริมสหกรณ์มีหน้าที่เตือน เพราะหากคนในบ้านทำผิดกฎหมาย ตัวอธิบดีจะต้องรับผิดชอบด้วย ฉะนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงต้องดำเนินการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลัก เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกของสหกรณ์ทั่วประเทศถูกเอารัดเอาเปรียบ นั่นเอง…” เป็นการกล่าวปิดท้ายของ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์.

ดอกสะแบง

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ดอกสะแบง
  • 20 ตุลาคม 2554, 05:00 น.

AFET…ขานรับจำนำข้าว

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/210180

19 ตุลาคม 2554, 05:00 น.

The Agricultural Futures Exchange of Thailand : AFET……..หรือ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย เป็น ศูนย์กลางการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรของประเทศ อันจะเป็นแหล่งอ้างอิงราคาสินค้าเกษตรระดับภูมิภาคและของโลกในอนาคต

และ….วันที่ 28 ตุลาคมนี้ ก็จะดีเดย์ในการเปิดตลาดซื้อขายล่วงหน้ายางแท่งเอสทีอาร์ 20 (STR20) จากนั้นมีแผนเปิดตลาดซื้อขายน้ำยางข้นล่วงหน้าด้วย

คุณประสาท เกศวพิทักษ์ ประธานกรรมการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย บอกว่า……ขณะนี้ AFET ได้เปิดให้มีการซื้อขายสินค้าเกษตรในตลาดล่วงหน้า 4 รายการ ได้แก่ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ยางพารา และมันสำปะหลัง

โดยจะใช้ระบบ IT เชื่อมโยงข้อมูลราคากับตลาดต่างประเทศ พร้อมผลักดันการเปิดตลาดสินค้าเกษตร เพิ่มเติมปีละ 2 ชนิดสินค้า โดยพิจารณาสินค้าที่มีศักยภาพ อาทิ น้ำตาล สับปะรด ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น…

ทั้งนี้ทั้งนั้น…..ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและสินค้าที่จะเข้ามาซื้อขายแต่ละวันต้องมีปริมาณมากพอ หรืออย่างน้อย 5,000 สัญญาต่อวัน จึงจะส่งผลให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเกิดสภาพคล่อง….ซึ่งจะเป็นปัจจัยดึงนักลงทุนเข้ามาซื้อขายมากขึ้น

และ……จาก โครงการรับจำนำข้าว ในปีนี้ อันเป็นนโยบายเร่งด่วนของ รัฐบาลในการระบายข้าว 25 ล้านตัน AFET พร้อมรองรับและแบ่งเบาได้ในบางส่วน โดยผ่านกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าได้ประมาณ 500,000 ตันถึง 1 ล้านตันต่อเดือน

เพราะเท่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลปี 2550 และ 2552 ประมาณ 800,000 ตัน ปรากฏว่าราคาซื้อขายข้าวใน AFET สูงกว่าราคาในตลาดข้าวปกติ ประมาณ 3% คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นประมาณ 134 ล้านบาท….

…..นับว่าเป็น การซื้อขายที่โปร่งใส เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถเข้ามาแข่งขันประมูลราคาได้ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งลงทุนของผู้แสวงหาผลกำไรได้อีกทางหนึ่ง และภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลราคาล่วงหน้าในการวางแผนปรับโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดเสถียรภาพราคา ช่วยให้รัฐชดเชยน้อยลง

การนำสินค้าหลักเข้ามาซื้อขายในตลาดล่วงหน้า นอกจากจะ ยกระดับราคาสินค้าจากตลาดปกติแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าได้อย่างน้อย 5% เป็นการประหยัดพลังงาน เป็นการลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

…….หากสนใจเกี่ยวกับระบบการซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ AFET 0-2263-9888, 0-2251-9535 หรือ www.afet.or.th เวลาราชการ.
ดอกสะแบง

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ดอกสะแบง
  • 19 ตุลาคม 2554, 05:00 น.