50 ปีเขื่อนภูมิพล ปราบศึกแย่งน้ำด้วยการมีส่วนร่วม

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/sunday/180514/90636

สิ่งแวดล้อม
Sunday, 18 May, 2014 – 00:00
.
ปีนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งขอด แม้เข้าเดือนพฤษภาคมฝนเริ่มตกลงมาบรรเทาความแห้งแล้ง แต่ก็ไม่มากนัก สถานการณ์น่าเป็นห่วงและคาดการณ์ว่าฝนอาจทิ้งช่วงจนถึงเดือนมิถุนายน
ขณะนี้ปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนจึงมีไม่มาก รวมถึงเขื่อนภูมิพลที่มีหน้าที่สำคัญในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในภาคการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมทั้งพลังน้ำจากเขื่อนใหญ่นี้ยังผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยด้วย ทุกวันเขื่อนภูมิพลต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงวางแผนจัดการน้ำระยะยาวไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งรักษาระบบนิเวศ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้กล่าวบรรยายพิเศษใน งานสัมมนาวิชาการและนิทรรศการ “50 ปี เขื่อนภูมิพล ภูมิปัญญาสายน้ำปิง” เรื่อง “การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ” บอกว่า โครงการพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ เป็นเรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ โดยกว่า 80% เกี่ยวข้องกับน้ำ ตั้งแต่เขื่อนภูมิพลจนกระทั่งฝายชะลอน้ำ นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำ รวมถึงทรงแนะให้บริหารน้ำยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โครงการพระราชดำริห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ เป็นแบบอย่างการพัฒนาพื้นที่แห้งแล้ง ดินแข็งเหมือนหิน ใช้เวลา 7 ปี พลิกฟื้นความเขียวกลับคืนมา เกิดป่าธรรมชาติขึ้นเป็นลำดับชั้น โดยการทำเขื่อนลำลองชะลอน้ำ พระองค์ต้องการสร้างถุงน้ำเกลือบนภูเขาเพื่อรักษาความชื่น เพิ่มน้ำให้ผืนดิน เมล็ดพันธุ์และต้นไม้เติบโตงอกงาม
ดร.สุเมธกล่าวต่อว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัยหล่อเลี้ยงชีวิต ประเทศไทย น้ำมา 3 เดือน อีก 9 เดือนที่น้ำไม่มา จำเป็นต้องสร้างอ่างเก็บน้ำจัดการน้ำ ไม่ใช่ไล่น้ำหรือหนีน้ำ เช่น เขื่อนภูมิพลเหมือนโอ่งน้ำใบใหญ่ มีการศึกษาน้ำ 100 หยดบนแผ่นดิน ทั้งเครื่องมือที่มนุษย์สร้างหรือธรรมชาติสร้างเก็บได้ 8 หยด โดยภาคเหนือเก็บได้ 11 หยด ภาคใต้ 8 หยด ส่วนอีสาน 2-3 หยดเท่านั้น โดยเฉพาะอีสานมีปริมาณน้ำมากสุดในไทย 245,000 ล้าน ลบ.ม. น้ำแล้งทรงแนะให้ขุดคลองเก็บน้ำ น้ำล้นตามลำน้ำหาพื้นที่สาธารณะ หนองบึง ทำแก้มลิงบริหารจัดการ
“แต่ด้วยความโลภของมนุษย์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนบุกรุก อย่างบึงบอระเพ็ดพื้นที่ 1.3 แสนไร่ ขณะนี้เหลือ 3 หมื่นไร่ ทั้งหน่วยงานราชการ สถานศึกษา ชาวบ้านรุกพื้นที่ พอน้ำหลากไม่มีที่รับน้ำ ทะลักลงปลายน้ำ หรือราชการประกาศน้ำหมด ให้เกษตรกรงดปลูกข้าว จะได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง แต่พี่น้องเรียกร้องให้ปล่อยน้ำในเขื่อน อยากทำนาปรังครั้งที่ 2 มองผ่านข้าวเป็นเงินทอง ขณะนี้น้ำมีจำกัดต้องบริหารจัดการ ในหลวงรับสั่งนำ
ความพอดีเป็นที่ตั้ง ใช้ปัญญานำทาง ไม่ใช่เงินนำทาง” ดร.สุเมธย้ำปัญหาน้ำที่ผ่านมาให้กับผู้มาร่วมเรียนรู้การจัดการน้ำตามแนวพ่อหลวงในโอกาสเขื่อนภูมิพลครบรอบ 50 ปี รัฐพิธีเปิดเขื่อนภูมิพล ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2557 ณ อาคารเกษม จาติกวณิช เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก
สำหรับ 50 ปี เขื่อนภูมิพลนั้น เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากล่าว เป็นเขื่อนที่สร้างประโยชน์มหาศาล ระบายน้ำเข้าระบบชลประทานหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตร แต่เกษตรกรผู้ใช้น้ำก็ต้องปรับตัว วางแผนการเพาะปลูกพืชในช่วงน้ำน้อย ทุกคนต้องเข้าถึงภาระหน้าที่ตนเองและทำงานประสานกัน นึกถึงอนาคตของลูกหลานในวันข้างหน้า ทุกย่างก้าวพระบาทของการพัฒนาประเทศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือน บริหารจัดการน้ำได้ดีจะเป็นทรัพย์สมบัติล้ำค่ากลายเป็นมหาอำนาจทางด้านการเกษตร
นับจากวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนภูมิพลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2507 จนถึงวันนี้ ครบ 50 ปี เขื่อนภูมิพลสามารถระบายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ 270,951 ล้านลูกบาศก์เมตร หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรตั้งแต่จังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และชัยนาท กว่า 10 ล้านไร่
ส่งเสริมอาชีพประมงให้สามารถจับสัตว์น้ำได้ 13,150 ตัน คิดเป็นมูลค่า 427 ล้านบาท ส่วนประโยชน์ด้านพลังงานไฟฟ้าเขื่อนอเนกประสงค์ต้นแบบแห่งแรกของไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 64,580 ล้านหน่วย ชดเชยการนำเข้าน้ำมันเตาได้กว่า 15,466 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 342,418 ล้านบาท ยังไม่รวมประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว จากสถิติมีคนเดินทางไปเที่ยวเขื่อนภูมิพลมากกว่า 27 ล้านคน แนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ
แนวทางการพัฒนาของเขื่อนภูมิพลต่อจากนี้ สุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตลอด 50 ปี เขื่อนภูมิพลได้ทำหน้าที่เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ของประเทศ ก็ยังต้องปรับปรุงพัฒนาและบริหารงานให้ทันสมัย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนน้ำในลุ่มน้ำปิง ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนลดน้อยถอยลง เป็นผลกระทบจากป่าต้นน้ำถูกบุกรุกทำลายและภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดทั้งพายุรุงแรง ฝนทิ้งช่วง ประชาชนขาดแคลนน้ำกว้างขวาง เราเห็นความสำคัญของพื้นที่ป่าต้นน้ำ จะเพิ่มการปลูกป่าให้มากขึ้นจากที่เคยปลูกไปแล้ว 80 ล้านไร่ เน้นให้ชุมชนต้นน้ำดูแลป่า สร้างฝายร่วมกับชุมชนแล้วกว่า 12,000 ฝาย
ปีหน้าเตรียมโครงการปลูกป่าเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาจะชวนชุมชนปลูกอีก 6,000 ไร่ เพื่อฟื้นป่าให้สมบูรณ์ไว้เก็บน้ำทั้ง จ.ตาก และ จ.น่าน แล้วยังมีโครงการเปิดเวทีให้ผู้ใช้น้ำได้พบปะกัน โดยมีเขื่อนภูมิพลเชื่อมประสานคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้หาทางออกจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ส่วนการผลิตไฟฟ้าแม้จะเป็นภารกิจรอง แต่ผู้ว่าการ กฟผ. ยืนยันจะปรับปรุงประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีค่าต้นทุนเชื้อเพลิง ค่าไฟมีราคาถูกกว่าการใช้เชื้อเพลิงอื่นผลิตไฟฟ้า ช่วยรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้กรณีเกิดเหตุสุดวิสัยโรงไฟฟ้าอื่นไม่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟได้ อย่างไรก็ตาม ฝากรณรงค์ลดการใช้พลังงาน ขอความร่วมมือคนไทยใช้ไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อีกกิจกรรมบริเวณเขื่อนภูมิพลที่สร้างรอยยิ้มและไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก อยู่ที่อาคารจัดการน้ำ กฟผ.เขื่อนภูมิพล เปิดเวทีผู้ใช้น้ำฉลองกึ่งศตวรรษ มีพี่น้องกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมดเริ่มตั้งแต่กลุ่มคนต้นน้ำที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลตลอดทั้งปี กลุ่มคนกลางน้ำที่เป็นผู้อยู่ในพื้นที่เขื่อนภูมิพลตั้งอยู่ และกลุ่มคนท้ายน้ำ เป็นกลุ่มเกษตรกรและชุมชนที่อาศัยน้ำจากสายน้ำแม่ปิงดำรงชีวิตและเกษตรกรรม มาล้อมวงพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นในการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล เวทีนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าฯ กฟผ. และพิสุทธิ์ โชคคติวัฒน์ ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล (อขภ.) เข้าร่วมฟังเวทีนี้ด้วย
วันชัย ประกัตฐโกมล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำปิง ชาว อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ของเราเป็นจุดที่น้ำไหลรวมกันเป็นแห่งแรกเหนือเขื่อนภูมิพล เราอยู่ต้นน้ำคอยดูแลรักษาป่า ได้พลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้ง 625 ไร่ กลับเป็นป่า มีการสร้างฝายชะลอน้ำจำนวนมาก มีคำถามถึงความยั่งยืนจากพี่น้อง “ปลูกป่า ปักป้าย ถ่ายฮูป จะฮอดก่” ก็ได้สานต่อสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อส่งเสริมพันธกิจรักษาป่า จะได้มีน้ำไหลเข้าอ่าง โดยทำโครงการรักไม้ชายห้วยทั้งพี่น้อง อ.ดอยเต่า อ.แม่แจ่ม และ อ.ฮอด เชียงใหม่ ลดการถางให้เตียน ดันให้เรียบ ถมให้ราบ ปล่อยให้ป่าธรรมชาติเกิดขึ้น เพราะป่าเก็บน้ำถาวร
“หลังจากแย่งกันใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล ทะเลาะกันจนอ่อนแรง ได้ทำกิจกรรมเวทีผู้ใช้น้ำ มีส่วนราชการเข้ามาพูดคุย ตกผลึกทุกกลุ่มเห็นความสำคัญป่าและน้ำ น้ำที่แย่งกันนักหนาคือสายน้ำพระทัย นำไปสู่กลุ่มคนทำงานพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และท้ายน้ำ มีพันธกิจหลัก เหนือน้ำ ปลูกป่า รักษาป่า สร้างฝาย ป้องกันไฟป่า กลางน้ำ ดูเส้นทางน้ำ เกาะแก่งให้ไม่ตื้นเขิน ท้ายน้ำ ระดมทุนสนับสนุนคนต้นน้ำ มีปลูกป่าแลกข้าว นครสวรรค์ส่งไปให้พี่น้องอมก๋อย 15 ตัน เพื่อลดการถางป่าทำนา ส่วนกำแพงเพชรกลุ่มเกษตรกรสนับสนุนเก็บไร่ละ 1 บาท เป็นทุนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่ดอยเต่า แม่แจ่ม เงินไม่สำคัญเท่าน้ำใจ” ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำปิงให้ภาพสะท้อนชัดเจน และฝากถึงคนท้ายน้ำใช้น้ำจากเขื่อนอย่างรู้คุณค่า อย่าใช้มากจนเกินไป ส่วนลุ่มน้ำอื่นที่เกิดความขัดแย้งแนะให้ยึดกระบวนการมีส่วนร่วมควบคู่การทำเวทีแห่งการเรียนรู้ในพื้นที่
อนันต์ อินต๊ะเรือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และประธานเครือข่ายรักษ์ต้นน้ำขุนแม่หาด บอกว่า แต่ละหมู่บ้านได้แบ่งความรับผิดชอบในการดูแลป่าขุนต้นน้ำสำคัญของอำเภอ ทั้งขุนแม่หาด แม่ตื่น ที่จะเก็บน้ำไหลไปรวมกับแม่น้ำปิงที่ จ.ตาก สร้างฝายชะลอน้ำกว่า 10 ฝาย เคยใช้กระสอบ แต่กระทบระบบนิเวศลำน้ำ กระสอบฝังในทรายเกิดการตื้นเขิน ไม่ยั่งยืน จึงเลิกใช้ ฤดูแล้งก็ทำแนวกันไฟ ปีที่แล้วการเพาะปลูกข้าวโพดเริ่มเข้ามาในพื้นที่ ก็ต้องออกไปให้ความรู้ชาวบ้าน เพราะการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบนี้ป่าจะหมดจริงๆ โชคดีที่ชาวบ้านเห็นความสำคัญของป่าและเข้าใจ ก็จัดสรรงบ อบต.ซื้อเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ฟักทอง ส่งเสริมให้เขาเพาะปลูก คนต้นน้ำต้องช่วยรักษาป่าไว้ให้ลูกหลาน ทำลายหมดวันหน้าไม่มีกินจะอยู่อย่างไร
อีกเสียงจากคนกลางน้ำ ผู้ใหญ่สง่า มูลถี อ.สามเงา จ.ตาก กล่าวว่า ตากมีพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก ทั้งสวนลำไย กล้วยไข่ และไร่ข้าวโพด ความต้องการใช้น้ำสูง ได้ประโยชน์จากเขื่อนภูมิพล ก็อยากมีบทบาทดูแลธรรมชาติ ทำโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 ป่าชุมชน และสร้างฝายชะลอน้ำใน อ.สามเงา ปัจจุบันมี 10,000 ฝาย ทำร่วมกับเขื่อนภูมิพลพื้นที่มีความชุ่มชื้นขึ้น
“คนกลางน้ำไม่ได้รอ แต่ต้นน้ำหรือน้ำเหนือเขื่อนอย่างเดียว ก็ช่วยแก้ปัญหาความแห้งแล้ง รักษาธรรมชาติ ช่วยเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าบริเวณเขื่อน ครบ 50 ปี เขื่อนของพ่อ สัญญาว่าจะสร้างเครือข่ายรักษาดิน น้ำ และป่าต่อไป เชื่อว่าจะเกิดผลสำเร็จ เพราะคนต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำลุ่มน้ำปิง เลิกทะเลาะกันมา 4-5 ปีแล้ว เข้าใจภารกิจต้องช่วยกันเก็บป่า” ผู้ใหญ่สง่ากล่าวด้วยรอยยิ้ม
ประสงค์ อินทร์ขุน รองประธานบริหารลุ่มน้ำปิง อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ ตัวแทนคนท้ายน้ำกล่าวเป็นคนสุดท้ายว่า สมัยที่ยังไม่มีเขื่อนภูมิพล น้ำป่ามาท่วมบ้านเรือนเสียหาย แต่หลังเขื่อนเข้ามาจัดระบบบริหารจัดการน้ำช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้ และมีส่วนสำคัญในการแจ้งสถานการณ์น้ำหรือปริมาณน้ำเข้า-ออกของเขื่อนให้ชาวบ้านวางแผนใช้ประโยชน์หรือตั้งรับ ปรับตัวได้ ในฐานะผู้ใช้น้ำก็จะทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาด้วย ที่ผ่านมามีเวทีผู้ใช้น้ำปีละ 2 ครั้ง ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและแย่งชิงทรัพยากร รวมถึงระดมทุนไปมอบให้คนต้นน้ำอมก๋อย มอบข้าว เหลือ น้ำตาล และเตรียมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์กาแฟเพาะปลูกบนดอยด้วย แม้จะไม่ใช่แนวทางยั่งยืนเวลานี้ แต่แสดงความเอื้ออาทรให้กันของผู้ที่อาศัยลุ่มน้ำปิงเลี้ยงชีวิต.

จับตาสถานภาพเขาใหญ่ มรดกโลก

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/sunday/110514/90300

สิ่งแวดล้อม
Sunday, 11 May, 2014 – 00:00
.
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ชื่อว่าเป็นผืนป่ามรดกโลกที่สำคัญ อุดมด้วยสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ระดับชาติและระดับสากล ทั้งช้างป่า กระทิง แมวดาว หมาใน หมีควาย หมีหมา ลิงกัง นกกก และนกเงือกกรามช้าง ทั้งยังเป็นพื้นที่แห่งเดียวในโลกที่มีชะนีมือขาวและชะนีมงกุฎอาศัยอยู่ในป่าเดียวกัน
ปีนี้เขาใหญ่บ้านของสัตว์น้อยใหญ่ครบ 52 ปี ของการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ในปีหน้าครบ 10 ปี ที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติเห็นชอบให้ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2548 นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้รอบผืนป่าเขาใหญ่วันนี้เต็มไปด้วยที่พัก ที่กิน ที่เที่ยว เกิดขึ้นหนาแน่นตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม หากปล่อยปละละเลยให้เติบโตอย่างไร้ทิศทาง จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติจากทั่วประเทศ ผู้รักธรรมชาติและกลุ่มอนุรักษ์เขาใหญ่ที่พากันมาร่วมงาน “52 ปี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกอาเซียน มรดกโลก” อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ถือเป็นจุดหมายปลายทางธรรมชาติอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ตัวเลขจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานว่า ในแต่ละปีนักเดินทางมาเยือนที่นี่ไม่ต่ำกว่า 700,000-1,000,000 คน เนื่องจากเป็นที่เที่ยวใกล้กรุง อากาศเย็นสบายตลอดปี มีโอกาสได้เห็นสัตว์ป่าได้ไม่ยาก ทั้งช้างป่า กวางป่า นกเงือก
ในงานวันนั้น วิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน มีข่าวดี รมว.ทส.ประกาศให้ความสำคัญกับเขาใหญ่ อุทยานแห่งแรกของไทย แหล่งมรดกโลกจะปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้เป็นอุทยานสีเขียว เน้นให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้และสัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น เปิดเส้นทางจักรยานเป็นทางเลือกอินเทรนด์ให้ผู้รักการปั่นสองล้อ แถมเปิดลานกางเต็นท์ใหม่เพิ่มขึ้น ตอบสนองผู้นิยมการท่องเที่ยวแบบนอกสถานที่และพักแบบกางเต็นท์
งานฉลองอุทยานเขาใหญ่ 52 ปี ยังมีกิจกรรมปั่นเปิดเส้นทางจักรยานสีเขียวด้วย มี รมว.ทส.รับหน้าที่เป็นผู้นำขบวนปั่นพาชมธรรมชาติระยะสั้นๆ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเป็นการนำร่องสู่อุทยานสีเขียว แต่ยังลดการขับรถในพื้นที่เขาใหญ่ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้สภาวะโลกร้อน รวมถึงลดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่า
แม้รัฐมีความพยายามผลักดันเขาใหญ่เป็นอุทยานสีเขียว แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผืนป่านี้กำลังถูกคุกคามอย่างน่าวิตก มีหลายปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นในป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ หากไม่มีการแก้ปัญหา ปล่อยให้ป่าเสื่อมโทรม ยูเนสโกสามารถจัดให้เป็นมรดกโลกในภาวะอันตราย นำไปสู่การถอดถอนสถานะพื้นที่มรดกโลกได้ ซึ่งเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศูนย์มรดกโลก ยูเนสโก ส่งหนังสือแจ้งให้ประเทศไทยชี้แจง ขณะที่ ทส.เตรียมข้อมูลที่จะชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งเรื่องโครงการสร้างทางเดินเชื่อมป่าสำหรับสัตว์ป่าบนถนนสาย 304 โครงการเขื่อนห้วยโสมงที่จะส่งผลกระทบต่อจระเข้น้ำจืด เขื่อนห้วยสะโตน หรือมาตรการแก้ปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูง
นิพนธ์ โชติบาล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า การชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลกเกี่ยวกับสถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าการเจรจา และกรมอุทยานฯ จะเป็นผู้ให้ข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งกรมอุทยานฯ ไม่มีความกังวลว่าจะถูกถอดมรดกโลก ในประเด็นโครงการสร้างทางเดินเชื่อมต่อระหว่างผืนป่าสำหรับสัตว์บนทางหลวงแผ่นดินสาย 304 เพื่อเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่เขาใหญ่-ทับลาน เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่หากินก็กำลังดำเนินการ ยูเนสโกให้ชี้แจงผลการศึกษารายงานอีไอเอ ขณะนี้อีไอเอของการขยายช่องทางจราจรของถนนสาย 304 ช่วง กม.42-57 ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว เตรียมนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติรูปแบบการก่อสร้างและวงเงินก่อสร้าง ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนแบบโครงสร้างตอนนี้ได้ผลสรุปทั้ง 2 ช่วง เป็นแบบผสม ทั้งอุโมงค์ทางลอดและทางข้าม เพราะพฤติกรรมสัตว์ป่าแต่ละชนิดต่างกัน
“การเป็นมรดกโลก ผืนป่าต้องเชื่อมกัน ระบบนิเวศรวมเป็นหนึ่งเดียว สัตว์ป่าได้เคลื่อนย้ายไปมาหาสู่กัน ถนน 304 ทีแรกมี 2 ช่องจราจร แต่เมื่อความเจริญเข้ามา การคมนาคมเพิ่มขึ้น เชื่อมอีสานกับภาคตะวันออก กรมทางหลวงจะขยายถนน 4 เลนส์ ก็ต้องมีทางเดินเชื่อมสำหรับสัตว์ป่า เพราะสัตว์ข้ามอาจเกิดอันตรายตามมา” รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เผยความคืบหน้าของโครงการ
ส่วนเขื่อนห้วยโสมงที่ยูเนสโกห่วงโครงการก่อสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบประชากรที่เหลืออยู่ของจระเข้น้ำจืด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในระดับสากล เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมเป็นแหล่งอาศัยของจระเข้น้ำจืด นิพนธ์ชี้แจงว่า ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลก ครอบคลุมพื้นที่อุทยานฯ ปางสีดา ถิ่นอาศัยจระเข้น้ำจืด ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบจระเข้ ยาว 1 เมตร 30 เซนติเมตร บันทึกภาพได้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน เดิมพบแต่ร่องรอย แต่พื้นที่ที่อยู่อาศัยของจระเข้ห่างไกลจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไป 13 กิโลเมตร จะไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อประชากรจระเข้น้ำจืด สืบพันธุ์ได้ จะรายงานเพิ่มเติมพร้อมภาพถ่าย
อีกประเด็นโครงการก่อสร้างเขื่อนห้วยสะโตน รองอธิบดีให้ข้อมูลปัจจุบันยังไม่ผ่านการอนุมัติให้สร้างจากรัฐบาล กรมชลประทานยื่นขออนุญาตเข้าศึกษาวิจัยสภาพธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อกรมอุทยานฯ ซึ่งกรมมีแนวโน้มไม่อนุญาตให้เข้าศึกษา เพราะเป็นพื้นที่มรดกโลก ที่สำคัญคณะกรรมการมรดกโลกกำลังจับจ้องประเด็นนี้ แล้วกรมชลประทานมีทางเลือกหลายทาง เช่น สร้างเขื่อนนอกพื้นที่อนุรักษ์หรือทำโครงการแก้มลิง
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกประเด็นที่ยูเนสโกเพ่งเล็ง ไทยจะรอดได้ง่ายทั้งหมด อีกปัญหาหนักที่ต้องชี้แจง คือ กรณีการลักลอบตัดไม้พะยูงโดยผิดกฎหมาย ในพื้นที่มีการปะทะส่งผลให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบาดเจ็บเมื่อไม่นานมานี้ นิพนธ์กล่าวยอมรับว่า ปัญหาตัดไม้พะยูงทวีความรุนแรงขึ้น ราคาตลาดที่สูงเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้สถิติคดีสูงขึ้น กลุ่มนายทุนต่างชาติ กลุ่มผลประโยชน์เข้ามาตัดไม้ ในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจนปัจจุบันกรมอุทยานฯ ได้สนธิกำลังและจัดกำลังเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้ามาในพื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 150 นาย แต่เอาไม่อยู่ ขณะนี้มีกองกำลังต่างชาติเข้ามาคุ้มกันผู้กระทำผิด
“ขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงรูปแบบใหม่ แบ่งงานกัน มีคนชี้จุด คนตัดไม้ เลื่อยไม้ ขนย้าย ชักลาก รวมหมอน คนเฝ้าระวังต้นทาง และเป็นสายข่าว มีทั้งกองกำลังต่างชาติและอาวุธหนักเข้ามาในพื้นที่ ขณะนี้เราจะสนธิกำลังกับกองทัพภาคที่ 2 ขอกำลังทหารพรานเข้าลาดตระเวนให้เข้มข้นมากขึ้น ในการวางแผนลาดตระเวนจะมีเฮลิคอปเตอร์ตรวจปราบปรามทางอากาศวันละ 1 ชั่วโมง ทุกวัน กดดันๆ พวกตัดไม้พะยูงเป็นภัยคุกคามพื้นที่มรดกโลก เพราะไม้พะยูงทางอีสานตอนบนเริ่มหมด ก็ไล่ลงมาเรื่อยๆ อีสานตอนล่าง เป็นแหล่งสุดท้ายมีป่าไม้พะยูงธรรมชาติ ต้นใหญ่ เพิ่มจุดสกัด ออกตรวจลาดตระเวนชุดเฉพาะกิจ ออกปฏิบัติการมวลชนรอบแนวเขต เราชี้แจงยูเนสโกไปแล้ว แต่จะไปชี้แจงเพิ่มเติมที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ กลางเดือนมิถุนายนนี้” รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ย้ำมาตรการในป้องกันเร่งด่วน
นอกจากเหนือจากทำตามอนุสัญญามรดกโลกแล้ว นิพนธ์ให้ข้อมูลไทยยังเป็นภาคีอนุสัญญาไซเตสอีกด้วย ไทยประสบความสำเร็จการเป็นผู้นำเสนอให้ขึ้นทะเบียนไม้พะยูงอยู่ในบัญชี 2 ไซเตส ในการประชุมไซเตส คอป 16 ที่กรุงเทพฯ ก็เป็นความสำเร็จขั้นต้นในการต่อสู้กับการลักลอบค้าไม้พะยูงระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กรมอุทยานฯ ยังได้มีหนังสือขอความร่วมมือกับหน่วยงานไซเตสของเพื่อนบ้าน ได้แก่ จีน ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ช่วยดูแลและหยุดยั้งการค้าไม้พะยูงที่ผิดกฎหมาย ก็มีการตอบรับที่ดี รวมถึงดีเอสไอจะให้คดีลักลอบตัดไม้พะยูงเป็นคดีพิเศษ ขยายผลและส่งเรื่องให้ ปปง.ตรวจสอบจนยึดทรัพย์ในที่สุด คดี “เสี่ยถัง ชัยมาตร” ที่เป็นขบวนการค้าไม้พะยูงและสัตว์ป่า แสดงถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น
รองอธิบดีกล่าวอีกว่า เขาใหญ่มีความสำคัญยิ่งยวด เป็นอุทยานแห่งแรกของไทย มีนโยบายปรับปรุงอุทยานฯ เขาใหญ่ยกระดับเป็นเวิลด์คลาส วันนี้มีภัยคุกคามเช่นเดียวกับมรดกโลกอื่นๆ เดิมเขาใหญ่มีปัญหาตัดไม้หอม แก้ปัญหาหมดไป วันนี้มีปัญหาไม้พะยูงและการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวรอบพื้นที่เขาใหญ่ที่กำลังป้องกัน ส่วนในพื้นที่เขาใหญ่เพื่อรองรับเปิดประชาคมอาเซียน เน้นจำกัดนักท่องเที่ยว ควบคุมการจราจร วางมาตรการรักษาป่าเคร่งครัด ขณะเดียวกันจะมีการปรับปรุงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านพักอาจต้องให้เอกชนเข้ามาดำเนินการเพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ปัจจุบันมี 400 คน และต้องมาบริการด้านท่องเที่ยวกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนการพัฒนาเป็นอุทยานสีเขียวกำลังดำเนินต่อ ลดขยะ ลดมลภาวะ ในอนาคตจะห้ามรถเข้ามาในพื้นที่ ทางอุทยานฯ มีบริการรถไฟฟ้าทั้งหมดลดผลกระทบต่อเขาใหญ่มรดกโลก
ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยังมีโครงการรณรงค์เพื่อการลดขยะและเลิกให้อาหารสัตว์ในอุทยานฯ เขาใหญ่ ผ่านปฏิบัติการ 4 ม. ขอคืนพื้นที่เขาใหญ่ ซึ่งอุทยานฯ เขาใหญ่ร่วมกับกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ณัฐวุฒิ รักษ์กุศล ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ กล่าวว่า ปฏิบัติการ 4 ม. 1.ไม่ทิ้งขยะไว้เป็นภาระ โดยนำขยะกลับบ้าน 2.ไม่ให้อาหารสัตว์ 3.ไม่ขับรถเร็ว 4.ไม่ส่งเสียงดัง เริ่มรณรงค์กับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2554 เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบให้พฤติกรรมสัตว์ป่าเปลี่ยนแปลงไป ก้าวร้าวมากขึ้น ออกมาใกล้คนมากขึ้น กวางไม่หาอาหารในป่า เพราะกินอาหารที่คนให้ สัตว์ป่าถูกรถชนตาย
“นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเขาใหญ่ปีละไม่ต่ำกว่า 7 แสนคน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอุทยานฯ ผลกระทบเกิดขึ้น ต้องเร่งรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวมีความรับผิดชอบ โครงการนี้มีอาสาสมัครเกือบ 500 คน เป็นคนที่อยู่โดยรอบแนวเขตราว 70%” ณัฐวุฒิย้ำต้นตอปัญหาในพื้นที่อนุรักษ์คือมนุษย์
ส่วน นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” นายสัตวแพทย์กรมอุทยานฯ กล่าวว่า หลังปฏิบัติ 4 ม. เห็นผลสำเร็จที่ชัดเจน นักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกมากขึ้น และประชาชนมีส่วนร่วมรักษาระบบนิเวศเขาใหญ่ ขณะเดียวกันสถิติสัตว์ป่าถูกรถชนตายลดลง จาก 20 ตัว ต่อเดือน เหลือ 1-2 ตัวต่อเดือน ทั้งนี้ โครงการรณรงค์เพิ่มเติมเป็นปฏิบัติการ 4 ม. + 1 ไม่ปล่อยสัตว์ป่า ที่ผ่านมามีปัญหาลักลอบปล่อย แล้วเกิดโรคระบาด สัตว์ป่าติดโรคตายจำนวนมาก นี่คือการรักษาป่าเขาใหญ่ถิ่นอาศัยสำคัญของสัตว์ป่านานาชนิดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
ผืนป่ามรดกโลกเขาใหญ่สมบูรณ์ ชะนีก็อยู่รอด ในงาน 52 ปี อุทยานฯ เขาใหญ่ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ภาคชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยชะนีในอุทยานฯ เขาใหญ่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น อิลลินอยส์ แสดงนิทรรศการความรู้ให้ผู้ร่วมงานได้ชม ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิตรนนท์ นักวิชาการศูนย์วิจัยไพรเมทฯ บอกกับเราว่า การป้องกันลักลอบตัดไม้เป็นประเด็นสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ปัจจุบันนี้เขาใหญ่ถือเป็นพื้นที่แห่งเดียวในโลกนี้ที่สามารถพบเห็นชะนีมือขาวและชะนีมงกุฎได้พร้อมๆ กัน จากการศึกษามีชะนีมือขาวกว่า 20,000 ตัว และชะนีมงกุฎ 500 ตัว ชะนีเป็นสัตว์หากินอาหารบนยอดไม้ กินยอดอ่อนใบไม้ ผลไม้สุก หากมีการตัดไม้ทั้งไม้หอม ไม้พะยูง หรือทำโครงการกระทบระบบนิเวศ ทำให้ผืนป่าแยกออกจากกัน อาณาบริเวณหากินชะนีแคบลง เกิดปัญหาแน่นอน อยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาป่าและปกป้องชะนีให้อยู่คู่เขาใหญ่ ได้ยินเสียงร้องดังๆ ยาวๆ ตลอดไปในผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้.

50 ภาพแห่ง “ชีวิตในผืนป่าตะวันตก”

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/sunday/040514/89934

สิ่งแวดล้อม
Sunday, 4 May, 2014 – 00:00
.
ภาพถ่าย 50 ภาพ ที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการ “ชีวิตในผืนป่าตะวันตก” ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ขณะนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนำมาจากกิจกรรม “SCB ชวนกันทำ พี่อาสาพาน้องสะพายกล้องมองป่าตะวันตก” ซึ่งเป็นกิจกรรมในรูปแบบแคมป์ถ่ายภาพ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นำเยาวชนไปเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ สัตว์ป่า และชุมชนที่อยู่ร่วมกับผืนป่าตะวันตก พร้อมบันทึกภาพบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และบริเวณโดยรอบ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของคน ป่า และสัตว์ป่าในมุมมองของเยาวชน รวมทั้งได้นำภาพถ่ายโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และพนักงานจิตอาสาชมรมถ่ายภาพธนาคารไทยพาณิชย์มาประกอบเล่าเรื่องราวการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก โดยที่ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับผืนป่าและสัตว์ป่าได้
งานเปิดนิทรรศการวันอังคารที่ผ่านมา มีอาจารย์รตยา จันทรเพียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์อร อาภากร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อเดียวกัน ท่ามกลางความสนใจของคนทำงานและเด็กรุ่นใหม่
อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมหรือโครงการจอมป่าที่มูลนิธิสืบฯ จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานของรัฐ มีการทำแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่มาก่อนประกาศ ขณะนี้ดำเนินการมาครบ 10 ปี ราว 70% ของพื้นที่ทำงานผลสำเร็จน่าพอใจ ความขัดแย้งหมดไป หลังจากนั้นได้หนุนเสริมเรื่องรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิต ใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ แนะให้ปลูกสมุนไพรต่อลมหายใจผืนป่า ลดใช้สารเคมี ไม่เหมือนการส่งเสริมปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำลายระบบนิเวศผืนป่า จนถึงวันนี้มีเครือข่ายสมุนไพรอินทรีย์ในผืนป่าตะวันตก ก็ร่วมงานกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บุญมา ดาวเรือง เป็นหนึ่งในต้นแบบทำเกษตรอินทรีย์ได้ ก็ต้องขยายผลให้กับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ เพื่อ ไปให้ถึงจุดหมายคนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้
ด้าน บุญมา ดาวเรือง เจ้าของบ้านเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ผสมผสาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า โครงการจอมป่าทำให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เป็นมิตรกันมากขึ้นเหมือนครอบครัวเดียวกัน เราได้ร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ เพาะปลูกห้ามใช้สารเคมี ทำให้สุขภาพแข็งแรง มีความสุข ไม่ได้เอาสารพิษไปขายให้คนอื่น ทุกวันนี้ก็ทำเกษตรในแนวเขต และช่วยเป็นเครือข่ายรักษา ฟื้นฟูป่า อยากให้โครงการจอมป่ามีความต่อเนื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนร่วมกับชาวบ้านจนเป็นที่ยอมรับจากสังคม
“การจะรักษาผืนป่าให้อยู่ยั่งยืน จะต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ ปลูกฝังให้เด็กเข้าใจถึงคุณประโยชน์ของผืนป่า เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับป่า ใช้ประโยชน์และรักษาป่าไปพร้อมๆ กัน” บุญมาฝากทิ้งท้าย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการสำหรับบุคคลทั่วไป โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 2 กิจกรรม กิจกรรมละ 30 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ กิจกรรม DIY “สมุดทำมือ” จากผลิตภัณฑ์ชุมชนผืนป่าตะวันตก โดยนำกระดาษถนอมสายตาทำเนื้อในและนำเศษผ้าทออุ้มผางมาทำปกสมุด เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า ในวันเสาร์ที่ 17 พ.ค.2557 เวลา 09.30–12.00 น. อีกกิจกรรม DIY “ทำสบู่จากสมุนไพร” เพื่อเรียนรู้การใช้สมุนไพร เป็นหนึ่งในโครงการสมุนไพรรักษาผืนป่าของมูลนิธิสืบฯ วันเสาร์ที่ 31 พ.ค. เวลาเดียวกัน
พร้อมกันนี้ ธนาคารได้จัดพื้นที่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยเปิดร้านค้าวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า นำผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชนในโครงการของมูลนิธิสืบฯ มาจำหน่ายเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าให้กับชุมชน เปิดทุกวันเว้นวันหยุดธนาคาร นิทรรศการ “ชีวิตในผืนป่าตะวันตก” จัดแสดงถึงวันที่ 6 มิถุนายนนี้ เว้นวันหยุดธนาคาร ลงทะเบียนร่วมกิจกรรมได้ที่โทร.0-2544-3858.

“สาละวิน” มอดไม้เย้ยกฎหมาย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/sunday/040514/89935

สิ่งแวดล้อม
Sunday, 4 May, 2014 – 00:00
.
ในบรรดาป่าในเมืองไทย ป่าสาละวินได้รับการยกให้เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนความสูง 1,027 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย พื้นที่ติดชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาร์ มีพื้นที่ที่เป็นอุทยานแห่งชาติสาละวินมากกว่า 450,000 ไร่ ในเขต อ.สบเมย และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็น เลียงผา กวางป่า เก้ง หมูป่า หมี หนูหริ่ง เสือปลา วัวแดง กระทิง เสือโคร่ง กระต่ายป่า กระรอก กระแต ชะนี อีเห็น ด้วงปีกแข็ง ผีเสื้อ นกยูง และนกชนิดต่างๆ ทิวทัศน์และลักษณะทางธรรมชาติก็สวยงามได้รับการกล่าวขาน
ผืนป่าเขียวขจีแห่งนี้ มีพันธุ์ไม้สำคัญทั้งสัก แดง ประดู่ ชิงชัน มะค่าโมง รัง ตะเคียนหนู ตะเคียนทอง เต็ง เหียง พลวง แสดงให้เห็นถึงสภาพป่าสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำยวม แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำกองคา แม่น้ำแม่แงะ และแม่น้ำหาร ที่ชาวบ้านได้ใช้อุปโภคบริโภคตลอดมา
โดยอาณาเขตทิศเหนือติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง ทิศตะวันออกติดป่าสงวนแห่งชาติป่าสาละวิน ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง ทิศตะวันตกติดแม่น้ำสาละวิน ต.แม่คง และ ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง ทิศใต้ติดกับทางหลวงหมายเลข 1194 (ห้วยโผ-แม่สามแลบ) ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย
เหตุการณ์ลักลอบตัดไม้เถื่อนสาละวินอย่างโจ๋งครึ่ม เกิดที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสาละวิน พบจุดแปรรูปไม้อยู่ในป่าลึก และยึดไม้สักแปรรูปได้นับพันแผ่นตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นข่าวฉาวตามสื่อว่า มีนายทุนว่าจ้างชาวบ้านตัดไม้สักเพื่อแปรรูปเป็นแผ่นและตัดเป็นท่อนเพื่อล่องแพในแม่น้ำสาละวินเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกทำลายลงไปแล้ว นี่ยังถือเป็นการทำลายป่าครั้งมโหฬารอีกครั้งหนึ่งของเมืองไทย
สำหรับจุดที่พบไม้สักท่อนอยู่กระจายตามเชิงเขา และกองเรียงรายริมแม่น้ำสาละวิน ไม้ถูกชักลากจากป่าทั้งฝั่งไทยและเมียนมาร์ โดยเฉพาะช่วงระหว่างบ้านแม่สามแลบ บ้านสบเมย ของกลางบางส่วนเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารพรานขนออกไปแล้วบ้าง ส่วนของกลางที่เหลือในป่า เจ้าหน้าที่เร่งขนย้ายเพราะถ้าระดับน้ำแม่น้ำสาละวินเริ่มสูงขึ้นจะทำให้การเคลื่อนย้ายไม้ลำบาก ขณะเดียวกันกลุ่มลักลอบทำไม้เถื่อนจะขนไม้ทางน้ำง่ายมากขึ้นเช่นกันหากน้ำสาละวินสูงขึ้น
ดำรงค์ พิเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย (ทป.) ซึ่งได้เดินทางตรวจสอบสถานการณ์ตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ป่าสาละวินก่อนหน้านี้ กล่าวว่า เดินทางไปป่าสาละวินตอนล่างที่หมู่บ้านแม่แคะ หมู่บ้านกอเซโลและหมู่บ้านกอมูเดอ เมื่อเห็นสภาพพื้นที่ถึงกับเข่าอ่อน โค่นๆ เผาๆ กระจายเต็มพื้นที่ มีเศษไม้กองกระจัดกระจายในพื้นที่ 5,000 ไร่ ตรวจสอบพบตั้งแต่รัฐบาลยุบสภา มีความไม่สงบทางการเมือง เกิดการลักลอบตัดไม้อย่างต่อเนื่องถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่จับกุมได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย ไม่มีนายทุนถูกดำเนินคดีเลย มั่นใจว่ามีนายทุนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยเพื่อผลิตไม้แปรรูป และรับซื้อที่ด่านแม่สอด การลงทุนครั้งนี้ที่ป่าสาละวินไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ไม้ใหญ่ถูกโค่นจำนวนมาก ส่วนไม้สดๆ เข้าโรงเลื่อยชื่อดัง จ.เชียงใหม่ ขบวนการขนไม้เข้า-ออกเปิดเผย แสดงว่ามีอิทธิพลสูง
“กลุ่มแรกบ้านแม่แคะ โค่นต้นไม้ใหญ่ เลื่อยเป็นหน้าใหญ่เพื่อส่งขายเชียงใหม่ วิ่งถนนสายหลักผ่านด่าน ส่งตามสหกรณ์ กลุ่มที่สอง ชนกลุ่มน้อย ไม่แน่ใจมีนายทุนไทยหนุนหลังหรือไม่ บังคับเอาลงแม่น้ำสาละวิน เข้าเมียนมาร์ มีโรงเลื่อย 4 โรง แปรรูปไม้ แล้วนำเข้าด่านแม่สอด กลุ่มที่สาม โค่นต้นเล็กต้นน้อยเพื่อยึดพื้นที่ป่า เตรียมปลูกพืชในฤดูฝนนี้ เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน อุปสรรคสำคัญของเราคือไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตรงนั้น หน่วยพิทักษ์ป่าแม่ฮ่องสอน กรมป่าไม้ มีกำลังทั้งหมดกว่า 180 คน ดูแลทั้งจังหวัด ขณะนี้อยู่สาละวิน 40 นาย โค่นกันมัน อุทยานแห่งชาติก็ดูแลแต่พื้นที่อนุรักษ์ของตัวเอง” ดำรงค์ฉายภาพกลุ่มทำไม้เถื่อนสาละวิน
สำหรับปัญหาและอุปสรรคการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ดำรงกล่าวว่า นอกจากกำลังไม่เพียงพอแล้ว ยังมีเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงไม่พอต่อการลาดตระเวน ค่าเบี้ยเลี้ยง งบประมาณมีจำกัด แต่จากการประเมินสถานการณ์ทำลายทรัพยากรสาละวินปัจจุบัน หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ ไม่ดำเนินการอะไร จะไม่มีป่าเหลือ วิธีการตัดไม้แล้วลากลงหลุมรอให้เป็นไม้เก่ารอขาย ไม่น่าเกิดกับชนกลุ่มน้อย ถามว่าเอารถแทรกเตอร์จากที่ไหนมาปรับที่ไหล่เขาเพื่อเอาไม้ลงหลุม
“ฝั่งเมียนมาร์โค่นไม้ผลักลงน้ำสาละวิน ฝั่งไทยโค่นเอาลงหลุม มือใครยาวสาวได้สาวเอา วันนี้ไม่มีอะไรดี ต้องช่วยกันจึงร่วมกับสมาคมอุทยานแห่งชาติดำเนินการจัดตั้งกองทุนเพื่อปกป้องผืนป่าสาละวินรวบรวมเงินบริจาคจากประชาชนทั่วประเทศไปสนับสนุนการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ปกป้องป่าสาละวิน ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต เพราะชนกลุ่มน้อยติดอาวุธสงครามร้ายแรง ขณะที่เจ้าหน้าที่ไทยพกลูกซองหรือปืนสั้น” ดำรงค์เผย และระบุก่อนหน้าที่เคยเรียกร้องแผนปฏิบัติการปกป้องป่าสาละวินจากผู้บริหารระดับสูงของกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ แต่ไม่ได้รับการตอบรับที่ดี กังวลว่าเจ้าหน้าที่ตายฟรี
นอกจากนี้ ดำรงค์ระบุเสนอแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วนให้อธิบดีกรมป่าไม้จัดสรรกำลังเพิ่มเติมมาลาดตระเวนและเฝ้าระวังป่าสาละวินกว่า 5,000 -6,000 ไร่ที่เจอวิกฤติหนัก อย่างน้อยต้องมี 1,000 คน เมื่อถึงฤดูฝนลดกำลังลงเหลือ 100 คน เพราะวันนี้เจ้าหน้าที่เคลื่อนออกจากพื้นที่ลักลอบไม่ได้ ต้องตรึงกำลังไว้ตลอดเวลา มิฉะนั้น ไม้ของกลางถูกลำเลียงออกหมด ทั้งยังแนะนำให้ ทส. หมุนงบประมาณมาใช้ก่อน พร้อมออกคำสั่งให้สองกรมใช้งบประมาณกลางเข้าไปดำเนินการป้องกันร่วมกัน เพราะป่าไม้เป็นสมบัติส่วนรวม คำนึงถึงทรัพยากรของประเทศชาติเป็นหลัก ที่ผ่านมาเคยเสนอให้รวมสองกรมนี้แต่ไม่สำเร็จ ส่วนกองทุนเพื่อปกป้องผืนป่าก็เป็นอีกช่องทางสนับสนุน
นอกจากนี้ ดำรงค์ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับ จ.แม่ฮ่องสอนว่า มีพื้นที่กว่า 8 ล้านไร่ และมีราษฎรน้อยสุดอันดับ 5 ของประเทศ พื้นที่ป่าไม้มากถึง 7 ล้านไร่ คิดเป็น 83% มีป่าสงวนแห่งชาติ 9 แห่ง 1 ในนั้นคือ ป่าสาละวิน ประกาศจัดตั้งปี 2515 พื้นที่ 1.1 ล้านไร่ กรมป่าไม้ดูแล เมื่อแยกกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ป่าสาละวินตอนบนกว่า 3 แสนไร่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หากสำรวจตามแม่น้ำสาละวินยาว 120 กิโลเมตร จากเมียนมาร์เข้ามาฝั่งไทยเลาะเขตรักษาพันธุ์ฯ 60 กิโลเมตร ตอนกลาง 40 กิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติสาละวินกว่า 4 แสนไร่ และตอนล่าง 20 กิโลเมตร เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติกว่า 3 แสนไร่ ที่ปล่อยให้โค่นไม้กันมืดฟ้ามัวดินช่วง 3-4 เดือนมานี้ พื้นที่ดังกล่าวมีศูนย์อพยพ และปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้พักพิงส่วนหนึ่งบุกรุกทำลายป่าทั้งเพื่อยังชีพ และรับจ้างตัดไม้ให้นายทุน ฝากให้การคัดสรรบุคลากรทำงานในพื้นที่ เน้นทำงานป้องกันป่าไม้ ไม่ใช่ทำเงินจากไม้
ด้าน สุรเชษฎ์ เชษฐมาส นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า มีความห่วงใยปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและการทำลายทรัพยากรป่าไม้ของชาติ เมื่อพบปัญหาที่ใด สมาคมจะเข้าไปช่วยเสนอแนวคิดทางวิชาการในการแก้ปัญหา รวมถึงลงพื้นที่ด้วยเช่นกัน กรณีตัดไม้เถื่อนสาละวินได้พุดคุยกับดำรงค์ พิเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ หารือถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อปกป้องผืนป่าสาละวิน เงินที่ได้จากการบริจาคเข้ากองทุนจะนำไปสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ปกป้องป่าสาละวิน ปัจจุบันแม้จะมีหน่วยงานรัฐผิดชอบภารกิจนี้โดยตรง แต่พบว่างบประมาณมีจำกัด เงินกองทุนนี้จะนำไปจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นและยารักษาโรคให้กับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนและปฏิบัติงานจับกุมผู้ลักลอบตัดป่า รวมถึงการทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ โดยจะเร่งจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนจากภาคส่วนต่างๆ จำนวน 9 คน ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เบื้องต้นจะมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ และดำรง พิเดช หัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย เป็นคณะกรรมการด้วย ก่อนนัดประชุมเพื่อวางแผนจัดการและระดมทุน
การแก้ปัญหาไม้เถื่อนป่าสาละวิน สุรเชษฎ์แสดงทัศนะว่า ทั้งกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ต้องร่วมกันทำงานอย่างจริงจัง รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในหลายส่วน เช่น กระทรวงพาณิชย์ ห้ามนำเข้าไม้แปรรูปหรือสินค้าประดิษฐ์จากแม่สอด ด้านสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอให้ทบทวนและกำหนดนโยบายเรื่องศูนย์พักพิงให้ชัดเจนร่วมกับทรัพยากรป่าไม้เจ้าของพื้นที่ เพราะต้องยอมรับผู้อพยพพึ่งพาไม้ใช้สอยจากป่าในชีวิตประจำวัน รวมถึงตัดไม้มาทำฟืนหุงหาอาหารและสร้างบ้านเรือน จำเป็นต้องจัดระบบไม่ให้รุกป่าของไทย นอกจากนี้ จำเป็นต้องประสานงานกับทหารพราน ตำรวจตระเวนชายแดน ให้ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องพื้นที่อย่างเข้มแข็งและเพื่อให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
“การประสานงานระดับอธิบดีอย่างเดียวไม่มีประสิทธิภาพ ต้องระดับกระทรวงสั่งการ จี้ให้เกิดการทำงานร่วมกัน ระหว่างกระทรวงทรัพย์กับกองทัพ กระทรวงทรัพย์กับกระทรวงพาณิชย์ ระดับบนประสานกัน อาจใช้ช่องทางผ่านการประชุม ครม.”
อุปสรรคสำคัญในการจับไม้สักเถื่อนในป่าสาละวิน นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติเห็นว่า เป็นเรื่องกำลังของเจ้าหน้าที่ 40 นายกับพื้นที่ป่าสามแสนไร่ ทั้งสองกรมจำเป็นต้องเฉลี่ยกำลังคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาปฏิบัติการในช่วงวิกฤติป่าสาละวินก่อน ขณะนี้กลุ่มลักลอบตัดป่าได้ใจ เห็นว่าการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ผล จะแห่เข้าป่ามากขึ้น ป่าจะหมดเร็วขึ้น บวกกับช่วงนี้เกิดสุญญากาศทางการเมืองทั้งรัฐบาลและ ทส.ไม่มีนโยบายดูแลทรัพยากรชาติ
ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าสาละวินนั้น สุรเชษฎ์กล่าวว่า ป่าสาละวินเป็นผืนป่าสักทองที่ดี มีคุณค่าที่ยังหลงเหลืออยู่ และพบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นแนวเขตชายแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาร์ ในอนาคตเราอาจจะมีจัดตั้งแนวเขตการอนุรักษ์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ เคยมีการพูดคุยแต่เมียนมาร์ยังไม่พร้อม เนื่องจากปัญหาชายแดนมีความละเอียดอ่อน
“ผืนป่าสาละวินเป็นต้นน้ำสาละวิน รัฐบาลหรือคนไทยอาจไม่เห็นความสำคัญเท่าที่ควร น้ำไหลลงแม่น้ำสายหลักของเมียนมาร์ แต่ในอนาคตเราอาจต้องอาศัยน้ำจากสาละวิน ต่อท่อใช้กับพื้นที่เกษตรภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ทรัพยากรน้ำลดลง ผลจากการทำลายป่า ใน 10-20 ปีข้างหน้าไทยอาจขาดน้ำ ฉะนั้น จะต้องป้องกันไม่ให้ใครรุกล้ำทำลายป่าต้นน้ำ” สุรเชษฎ์เผยคุณค่าป่าให้น้ำ
สุรเชษฎ์บอกอีกว่า ป่าสาละวินยังหมายถึงบ้านของสัตวป่าอีกหลายชนิด ทั้งกระทิง สัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ประชากรกำลังลดน้อยถอยลงในประเทศไทย และยังพบวัวแดง สัตว์ป่าสงวน หายาก พบที่ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่ ปางสีดา ถิ่นอาศัยมีไม่มาก หากมีการตัดป่าแล้วสัตว์ป่าจะอยู่ได้อย่างไร ปัญหาตัดไม้ในสาละวินไม่ได้มีเฉพาะไม้สัก แต่ยังมีไม้ใหญ่อื่นๆ อีกด้วย ถ้าไม่มีต้นไม้ ไม่มีน้ำ ไม่มีป่า ไม่มีสัตว์ป่า สำหรับผู้ต้องการบริจาคเงินสมทบกองทุนทำได้ที่ธนาคารกรุงไทย สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ชื่อกองทุน กองทุนเพื่อปกป้องผืนป่าสาละวิน เลขที่บัญชี 4982-3-40963-3 (ออมทรัพย์) โดยกองทุนได้รับงบจากพรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย เป็นเงินประเดิม 50,000 บาท หลังจากปัญหาป่าสาละวินดีขึ้น เงินจากกองทุนนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์พื้นที่ป่าอื่นๆ ของไทยต่อไป.

เพาะพันธุ์ไม้พะยูงปลูกนอกถิ่น ม.เกษตรฯ หวั่นสาบสูญ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/sunday/270414/89565

สิ่งแวดล้อม
Sunday, 27 April, 2014 – 00:00
.
พะยูงเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเป็นไม้ที่มีราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ที่มีความเชื่อว่าเนื้อไม้สีแดงเป็นมงคล หากใช้เครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเนื้อไม้พะยูงซึ่งมีสีแดงตกแต่งภายในบ้าน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ชุดรับแขก ฯลฯ จะเสริมโชคลาภ อยู่แล้วรวยราวกับฮ่องเต้
เห็นได้จากช่วง 5 ปีหลัง ความต้องการไม้พะยูงจากจีนมีมากขึ้น ราคาไม้พะยูงสูงขึ้นมาก ล่อใจให้มีการลักลอบตัดไม้พะยูงในป่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ป่าพะยูงผืนสุดท้ายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเหลืออยู่เฉพาะในแถบเทือกเขาภูพานและเทือกเขาพนมดงรักเข้าสู่ขั้นวิกฤติ
ทั้งๆ ที่มีกฎหมายกำหนดชัดพะยูงเป็นไม้หวงห้าม การลักลอบตัดถือว่ามีความผิด ไซเตสประกาศให้อยู่ในบัญชีที่ 2 เป็นไม้ถูกคุกคาม และเสี่ยงต่อการลดลงของประชากร นำไปสู่การสูญพันธุ์ แต่อนุญาตให้ค้าโดยการควบคุมและติดตามไม่ให้จำนวนลดลง กลุ่มคนกลับกล้าเสี่ยงค้าแบบผิดกฎหมาย รวมทั้งขยายพื้นที่ทำไม้พะยูงกลุ่มป่าใหม่ๆ ไม้พะยูงที่มีลดปริมาณลงเรื่อยๆ
ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยสถาบันปลูกป่า ปตท. พยายามหาทางออกลดการลักลอบตัดไม้พะยูงด้วยการจัดเสวนาเรื่อง “ไม้พะยูง…พยุงชาติ” และสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ไม้พะยูงขึ้นที่ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มก. วันที่ 21-22 เมษายนที่ผ่านมา รวมทั้งมีการศึกษาดูงานที่สถานีวนวัฒนวิจัยหมูสี อ.ปากช่อง และแปลงปลูกป่า ปตท.FPT 49 จ.นครราชสีมา
ดร.สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ กลุ่มงานวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ เปิดเผยสถานการณ์ปัจจุบันของไม้พะยูงว่า ผลิตภัณฑ์ทำจากไม้พะยูงที่วางจำหน่ายในจีนจัดเป็นกลุ่มสินค้าไฮเอนด์ มีราคาแพง เป็นที่นิยมสูง การลักลอบตัดไม้ในไทยจึงรุนแรงมากขึ้น ปัญหาไม้พะยูงเห็นได้จากถูกจับมาเป็นของกลางจำนวนมาก ในอุทยานแห่งชาติภูผายล จ.สกลนคร มีการลักลอบตัดมานาน ไม้พะยูงของกลางมีอยู่ประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม้เหล่านี้หากขนไปถึงจีนได้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท แม้ไม้ที่คัดเลือกไว้ในพื้นที่อนุรักษ์ จ.สกลนคร ยังถูกตัด และพบว่าช่วง 3 ปีหลัง อุทยานฯ ทับลาน จ.นครราชสีมา ที่มีกลุ่มป่าพะยูง ถือเป็นแหล่งใหม่กลุ่มลักลอบตัดไม้ สถิติคดีทำไม้พะยูงช่วง 5 ปี จำนวนสูงถึง 3,280 คดี เฉพาะปี 2556 ยึดไม้ได้ 15,000 ท่อน ส่วนคดีปี 2557 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม้จะยึดได้มากกว่าเท่าตัว ขบวนการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงสำหรับไม้ที่มีค่านี้
“มีเพียง 4 ประเทศ ที่มีไม้พะยูงกระจายตามธรรมชาติ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม IUCN ขึ้นบัญชีแดงเป็นไม้ใกล้สูญพันธุ์ ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ทุ่มเทสรรพกำลังและเสียงบประมาณมากมายป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง” ดร.สุวรรณกล่าว และเสริมว่า ปีที่แล้วกระทรวงทรัพย์แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาไม้พะยูงแบบบูรณาการ หลายภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้ง กรมป่าไม้ อุทยานฯ คณะวนศาสตร์ มก. ออป. IUCN
ปัญหาเรื่องไม้พะยูงเขาสรุปว่ามีความสำคัญและเร่งด่วนต้องทำวิจัย ทำแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงมีการจัดการและอนุรักษ์พันธุกรรมป่าไม้ในประเทศไทย จากรายงานของสำนักป้องกันและควบคุมไฟป่า พบว่าแหล่งที่พบพะยูงมากในไทย อยู่ในกลุ่มป่าภูพาน-ภูสระดอกบัว กลุ่มป่าพนมดงรัก-ผาแต้ม กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าดงพญาเย็นและเขาใหญ่ พะยูงอยู่ใน 4 กลุ่มป่านี้รวม 250,000 ไร่ สำหรับพะยูงจากการศึกษาเรื่องพันธุกรรมพบความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงและต้องการผสมข้ามสายพันธุ์ อย่างไรก็ตามในไทยยังพบพะยูงในภาคตะวันออก แต่ไม่มาก รวมถึงนักวิจัยไม่รู้รายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับพันธุกรรมเลย
ส่วนของการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ไม้พะยูงโดยกรมป่าไม้นั้น ดร.สุวรรณให้ข้อมูลว่า นอกจากการป้องกันและปราบปรามตัดไม้พะยูงในถิ่นกำเนิดแล้ว ขณะนี้ได้ทำการอนุรักษ์พันธุกรรมแบบนอกถิ่นกำเนิดในรูปของแปลงอนุรักษ์เพื่อศึกษาวิจัย เสริมสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรรม ตามโครงการปรับปรุงพันธุ์และแปลงปลูกแบบต่างๆ เช่น แปลงอนุรักษ์พันธุ์ สวนรุกขชาติ สวนพฤกศาสตร์ ได้สำรวจคัดเลือกและบันทึกทะเบียนแม่ไม้รวม 455 ต้น จากป่าธรรมชาติและป่าปลูก การขยายพันธุ์แม่ไม้มี 3 วิธี ได้แก่ ชำกิ่งเพื่อชำยอด ชำรากเพื่อปักชำยอด และเสียบยอดพันธุ์ ทางรอดต้องส่งเสริมการปลูกและการใช้ประโยชน์
“เรากำลังสร้างแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ดี และสวนผลิตเมล็ดดีจะนำไปขยายผล แจกจ่ายให้ชาวบ้านไปปลูกเพิ่ม ขณะนี้มีแปลงอนุรักษ์พันธุกรรมไม้พะยูง อายุ 27 ปี เนื้อที่ 50 ไร่ ที่สถานีวนวัฒนวิจัยหมูสี จ.นครราชสีมา กำลังตัดขยายระยะเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตเมล็ดไม้พันธุ์ดี แปลงทดสอบลูกหลานที่สถานีดงลาน อายุ 13 ปี ก็จะพัฒนาเป็นสวนผลิตเมล็ด เน้นแม่ไม้ที่สร้างแก่น” ดร.สุวรรณเผยขณะนี้เร่งเพาะพันธุ์ไม้พะยูงสายพันธุ์ดีๆ หวั่นสูญพันธุ์จากการลักลอบตัดไม้
อย่างไรก็ตาม จากการปฏิบัติงานและสำรวจเก็บพันธุ์แม่ไม้ของทีมวิจัยตั้งแต่มกราคม-มีนาคมที่ผ่านมานี้ นักวิจัยกรมป่าไม้ย้ำชัดเจนสถานการณ์สูญเสียพันธุกรรมพะยูงอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ในเกณฑ์ต่ำ พบกล้าไม้หรือไม้หนุ่มน้อยมาก โดยเฉพาะป่าที่พื้นล่างแสงน้อย เพราะแสงมีความสำคัญต่อการเติบโตของตอที่ถูกตัดหรือหน่อจากราก
แผนงานระยะสั้นที่จะทำเพิ่มเติมภายใน 3 ปีนี้ ดร.สุวรรณระบุมีสวนผลิตกิ่งพันธุ์ สวนผลิตเมล็ดแบบอาศัยเพศ แปลงทดสอบสายพันธุ์ แปลงทดสอบลูกหลาน จัดสร้างแหล่งผลิตภัณฑ์ดี ด้านการศึกษาวิจัยควรศึกษาด้านเนื้อไม้ ศึกษาวงปี เพราะยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้ วิจัยคุณภาพและลวดลาย สีแก่น ต้องเสริมสร้างพันธมิตรและเครือข่ายทำงานทั้งภายในและต่างประเทศ มีงานวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุระดับภูมิภาค
“ไม้พะยูงน่าสนใจในการลงทุนปลูก มีความเสี่ยงน้อย แม้จะโตช้ากว่า สัก ประดู่ แดง แต่เติบโตได้ทุกภาคของประเทศไทย การเลือกต้นพันธุ์ที่มีแก่นมากมาปลูกจะเป็นโอกาสดี แต่ไม้พะยูงที่จะมีมูลค่าทางการค้าน่าจะมีอายุมากกว่า 40 ปี เกษตกรควรปลูกพืชอื่นควบคู่ในแปลงพะยูงด้วย” ดร.สุวรรณฝากถึงภาคประชาชน
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ความต้องการใช้ประโยชน์ไม้พะยูงแพร่หลายมาก เพราะเป็นไม้ที่มีเนื้อแข็ง สีสันและลวดลายไม้สวยงาม ทำให้ไม้พะยูงเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ราคาไม้พะยูงเพิ่มสูงมาก มีลักลอบตัดในป่าธรรมชาติ ขนไม้เถื่อนเพื่อการค้าแบบผิดกฎหมาย สถานการณ์ไม้พะยูงในไทยแหล่งสุดท้ายของโลกย่ำแย่ ถ้าไม่มีการแก้ไขที่ดีจะลดลงๆ ถ้าไปจีนและเวียดนามจะเห็นร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ชั้นดี ราคาแพง ตู้ โต๊ะ เตียง หลายแสนบาทต่อชิ้น ไม่รวมงานแกะสลักรูปเคารพ เครื่องดนตรี กลุ่มไม้แดง หรือ Rose Wood มี 33 ชนิดที่จีนนิยม ในจำนวนนั้นมาจากเอเชีย 21 ชนิด ซึ่งรวมพะยูงของเราที่มีถิ่นกำเนิดในภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่
“ปกติโดยเฉลี่ยจีนนำเข้าไม้แดงจากเอเชีย ซึ่งรวมพะยูง ชิงชัน ปริมาณ 100,000 ลบ.ม. ตั้งแต่ปี 2550 นำเข้าสูงเป็นกว่า 200,000 ลบ.ม. ปัจจุบันตัวเลขนำเข้าไม้แดงพุ่งสูงถึง 750,000 ลบ.ม. มาจากพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม ประมาณ 200,000 ลบ.ม. ที่เอามาจากประเทศไทยราว 50,000 ลบ.ม. รายงานการกระทำผิดคดีที่จับได้เพียง 1% ไม้พะยูงบ้านเราที่เล็ดลอดหายไป 5 หมื่น ลบ.ม.ในแต่ละปี ปัจจุบันที่มีการปราบปรามจริงจังพะยูงจากไทยและลาวจะถูกตัดเป็นท่อนเล็กลงเรื่อยๆ ให้รอดการจับกุม เส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 5 เซนติเมตร ก็พบ แสดงถึงมีความต้องการสินค้าสูงมากจริงๆ” ดร.จงรักเผยปัญหาลักลอบขนไม้เถื่อน
การปลูกไม้พะยูงเป็นทางรอดในการแก้ปัญหาการลดลงของไม้พะยูงในป่า คณบดีคณะวนศาสตร์กล่าวว่า การปลูกจะสร้างไม้พะยูงขึ้นมาใหม่ ถ้ามีการจัดการที่ดีจะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ต้องการในปริมาณมาก ขณะนี้ประชาชนสนใจปลูกไม้พะยูงมาก มีความต้องการปลูกและราคากล้าไม้พะยูงก็สูงขึ้น พบการขโมยกล้าไม้พะยูงด้วย นอกจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ต้องเร่งส่งเสริมการปลูกไม้พะยูงนอกพื้นที่รัฐเพื่อเป็นไม้เศรษฐกิจ ถึงจะมีค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโต 1 เซนติเมตรต่อปี ไม้พะยูงอายุ 30 ปี ความกว้างเพียง 29 เซนติเมตร แต่ก็เป็นไม้ที่โตค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับไม้สักในบางพื้นที่ จากการศึกษาพบว่า ปลูกได้ผลทุกภาคของประเทศ น่าลงทุนปลูก ราคาดี ด้วยคุณสมบัติเนื้อเหนียว แข็ง ทนทาน สามารถสร้างสวนป่าเศรษฐกิจได้ ในแง่ระบบนิเวศปลูกสร้างสวนป่ามีบทบาทต่อสภาพแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซ ลดโลกร้อนได้อีกด้วย
ในโอกาสนี้ภาควิชาวนศาสตร์ได้แบ่งปันองค์ความรู้ในการปลูกและการดูแลรักษาไม้พะยูง ดร.จงรักกล่าวว่า มก.ศึกษาเทคนิคการปลูกไม้พะยูงผสมร่วมกับไม้อื่นเพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีการปลูกไม้พะยูง ปลูกแทรกในสวนป่ายูคาลิปตัส สวนยางพาราไร่ละ 25 ต้น รวมทั้งปลูกตามหัวไร่ปลายนา ตามบริเวณบ้านเรือนและที่ว่างทั่วไป ก็เพิ่มมูลค่า รวมถึงเป็นเงินออม แล้วพะยูงยังเป็นหนึ่งใน 9 ไม้มงคลของไทยด้วย มีตัวอย่างสวนป่าไม้พะยูง จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ตราด ของ ออป. เนื้อที่ 1,000 ไร่ ให้ศึกษาต้นแบบ เสนอว่ารัฐวางแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ส่งเสริมให้มีการปลูกพะยูง 1 แสนไร่ ไร่ละ 30 ต้น อีก 30 ปีข้างหน้า จะมีไม้พะยูง 50,000 คิว ซึ่งเท่ากับปริมาณไม้พะยูงที่ออกจากประเทศไทยในขณะนี้ ฉะนั้น กรมป่าไม้และสถาบันการศึกษาต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีจากแม่ไม้ที่ดี เพาะพันธุ์นำมาแจกจ่ายให้ประชาชนปลูก แต่หากจะลดความเสี่ยงแมลงต้นพะยูงให้ปลูกผสมหลายพันธุกรรมในพื้นที่ นี่เป็นกุญแจไขปัญหาการลดลงของไม้พะยูง
อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมเสวนาวิชาการทางวนวัฒนวิทยาและระดมความคิดเห็นเสร็จสิ้น ทางผู้จัดจะรวบรวมข้อเสนอและบทสรุปจัดทำเอกสารนำเสนออธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยานฯ และสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงนโยบายการอนุรักษ์และพัฒนาไม้พะยูงในประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น.
///////////////////////////////////////////////////////////////////////
โค้ดคำพูด

“ปกติโดยเฉลี่ยจีนนำเข้าไม้แดงจากเอเชีย ซึ่งรวมพะยูง ชิงชัน ปริมาณ 100,000 ลบ.ม. ตั้งแต่ปี 2550 นำเข้าสูงเป็นกว่า 200,000 ลบ.ม. ปัจจุบันตัวเลขนำเข้าไม้แดงพุ่งสูงถึง 750,000 ลบ.ม. มาจากพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม ประมาณ 200,000 ลบ.ม. ที่เอามาจากประเทศไทยราว 50,000 ลบ.ม. รายงานการกระทำผิดคดีที่จับได้เพียง 1% ไม้พะยูงบ้านเราที่เล็ดลอดหายไป 5 หมื่น ลบ.ม.ในแต่ละปี ปัจจุบันพะยูงจากไทยและลาวจะถูกตัดเป็นท่อนเล็กลงเรื่อยๆ ให้รอดการจับกุม เส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 5 เซนติเมตร ก็พบ แสดงถึงมีความต้องการสินค้าสูงมากจริงๆ”

“โซนนิ่งเกษตร” ทางออกฉุกเฉินประชานิยม

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/sunday/200414/89187

สิ่งแวดล้อม
Sunday, 20 April, 2014 – 00:00
.
ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรสำคัญ (Zoning) แล้ว 13 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย สับปะรดโรงงาน ฯลฯ เป็นแนวคิดการจัดโซนนิ่งภาคเกษตรหวังขจัดปัญหาผลผลิตสินค้ามากเกินความต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำ
ปัญหาเห็นได้จากม็อบชาวนาเข้ากรุงทวงเงินจำนำข้าวจากรัฐบาล แล้วยังมีกลุ่มเกษตรกรทั้งม็อบอ้อย ม็อบสวนยางปิดถนนกดดันและเรียกร้องรัฐแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นระยะ ทั้งนี้ การทำโซนนิ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่วนเกษตรกรสามารถกำหนดปริมาณและคุณภาพผลผลิตได้แม่นยำมากขึ้น ภาครัฐเองจะมีระบบฐานข้อมูลกลางของประเทศใช้วางแผนบริหารการพัฒนาภาคเกษตรได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม แนวคิดโซนนิ่งภาคเกษตรและแนวทางการดำเนินงานได้ถูกตั้งคำถามว่ามีความเหมาะสมกับประเทศไทยเพียงใด และจากเวทีเสวนาเรื่อง “การจัดทำแผนการใช้ที่ดินเพื่อผลิตสินค้าเกษตรเหมาะสมกับประเทศไทยจริงหรือ” จัดโดยฝ่ายประสานงานวิจัยและประเมินผล สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับกลุ่ม มก.ร่วมกู้ชาติ เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกำพลอดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีข้อมูลเชิงวิชาการและข้อเสนอแนะการจัดทำโซนนิ่งให้มีความเหมาะสมกับประเทศชาติ สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยไม่ต้องเครียดขายผลผลิตได้ราคาต่ำ หนี้ท่วมหัวจนต้องผูกคอตายศพแล้วศพเล่า
ดร.กนก คติการ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โซนนิ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย ในรอบ 30 ปี มีการดำเนินการทำแผนใช้ที่ดินเพื่อผลิตสินค้าเกษตรสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ กำหนดเขตโซนนิ่งท่ามกลางคำถามของสังคม เพราะหลักคิดโซนนิ่งภาคเกษตรยังไม่ตกผลึกนำไปสู่การบริหารจัดการที่ไม่ชัดเจน ปัญหานโยบายที่ไม่ต่อเนื่องก็จะส่งผลกระทบต่อการทำโซนนิ่งด้วย นอกจากนี้ การโซนนิ่งที่วิเคราะห์ตามความเหมาะสมของดินนั้นไม่เพียงพอ หัวใจของภาคเกษตรไทยสิ่งที่ละเลยไม่ได้ คือ ธรรมชาติของสินค้าเกษตรและธรรมชาติของสิ่งแวดล้อม เช่น อิทธิพลของร่องมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้าสู่อ่าวไทย ส่วนร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าอันดามัน ร่องอากาศสูงจากประเทศจีนเข้าสู่ภาคเหนือของไทย บางปีผิดฤดูกาลผลผลิตไม่ออก ต้องนำเข้าสินค้า แล้วยังมีความเข้มของแสงเป็นปัจจัยกำหนดเขตเหมาะสมปลูกพืช อิสราเอลใช้ความได้เปรียบความเข้มของแสง 2 เดือนก่อนเข้ายุโรปผลิตผักและผลไม้ส่งตลาดยุโรป ได้ราคาดี
“การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินมีความจำเป็น ถามว่าเกษตรกรปลูกในที่ดินเขตเหมาะสมปลูกอ้อย แต่ปลูกแล้วราคาลดลง จะทำอย่างไร ทั้งที่กระทรวงเกษตรฯ บอกให้ปลูก ราคาจะดี ได้กำไร” ดร.กนกกล่าว และบอกด้วยว่าเขตเกษตรเศรษฐกิจตามประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มีคนบอกแนวทางนี้ทำไม่ได้ เพราะขาดแรงจูงใจ สรุปแล้วเราจะเอานโยบายประชานิยมใช่หรือไม่ หากไทยยังมีนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดจะทำโซนนิ่งทั้งประเทศไทยเพื่ออะไร เพราะรัฐมีโครงการจำนำข้าว 15,000-20,000 บาทต่อตัน
ทั้งนี้ ดร.กนกกล่าวอีกว่า หลักของการจัดทำโซนนิ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ นี่คือนโยบายที่จะปฏิรูปการเกษตรเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากเรายังยืนอยู่บนนโยบายประชานิยมจะรอดได้อย่างไร ไม่มีทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างแน่นอน อีกประเด็นขอเน้นการโซนนิ่งรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าไม้ นั่นไม่ใช่เขตเหมาะสมสำหรับการเกษตร มีกฎหมายป่าไม้ห้ามบุกรุกชัดเจน ฉะนั้น พึงระวังการใช้แผนที่ในผืนป่า
“การทำโซนนิ่งไม่ใช่คำนึงแต่ความต้องการซื้อกับความต้องการขายเท่านั้น รัฐต้องส่งเสริมวิชาการความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่ดีที่สุด เช่น ข้าวสายพันธุ์ดีเยี่ยม สินค้าเกษตรคุณภาพ จะเป็นสินค้าที่แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในตลาดโลกได้ เรียกว่า ทำซัพพลายไปครีเอทดีมานด์ ซึ่งสังคมต้องมีส่วนช่วยตรวจสอบวัตถุดิบ ด้วย” ดร.กนกแสดงทัศนะการปฏิรูปภาคเกษตรไทย
อภิชาติ จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กษ.ประกาศเขตโซนนิ่งปลูกพืชเศรษฐกิจแล้ว 13 ชนิด จากกว่า 30 พืช เป็นเรื่องยากจากความหลากหลายของพืชในประเทศไทย หากจะกำหนดพืชทุกชนิดลงแผนที่เกษตร รายละเอียดทับซ้อนมาก ส่วนการจัดทำโซนนิ่งภาคเกษตรเกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ออก พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ.2522 เป็นที่มาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป้าหมายใหญ่เพื่อทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ มีการทำมาตลอด แต่โซนทั้งหลายที่ประกาศไปก็นิ่ง แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาก มีเกษตรกรมาประท้วง เรียกร้อง ขอให้ประกันบ้าง จำนำบ้าง
“ราคาสินค้าเกษตร ปี 2551 พุ่งพรวดเป็นประวัติการณ์ เพราะสินค้าอาหาร สินค้าเกษตรทั่วโลกลดลง และราคาน้ำมันพุ่งพรวด จนเกิดความวิตกเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร กลัวพลังงานไม่มี กลัวพืชอาหารแย่งพืชพลังงาน ไม่เกิน 3 เดือน ราคาสินค้าเกษตรก็ดิ่งลงมา คนขายยางได้ราคาลดลง คนขายข้าวเคยได้ราคาดี ขึ้นไปถึง 11,000 บาทต่อตัน ลงมาเหลือ 6,000 บาท เรียกร้องรัฐบาลมาช่วย อ้อยไม่ออกมาม็อบเพราะมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลช่วยพยุงไว้อยู่ พืชทุกตัว หอม กระเทียม แม้แต่พริกพื้นที่ปลูกไม่กี่หมื่นไร่ออกมากดดันรัฐบาลให้ช่วยราคาต่ำ ทุกคนถามทำไมกระทรวงเกษตรฯ ไม่ทำโซนนิ่ง การเมืองมองว่าโซนนิ่งคือแก้ววิเศษแก้ปัญหาราคาได้ นั่นคือ เหตุผลรัฐมีการขับเคลื่อนเขตโซนนิ่งอีกครั้ง” อภิชาติกล่าว
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินยืนยันว่า การกำหนดเขตเหมาะสมวิเคราะห์ตามความเหมาะสมของที่ดิน เนื้อดิน ความอุดมสมบูรณ์ ความลาดชันและความต้องการของพืชแต่ละชนิด ร่วมกับข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์และอุปทาน เพื่อมากำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ หากทำแล้วเกษตรกรไม่เอาด้วยก็จบ หลักๆ โซนนิ่งแล้ว เกษตรกรต้องขายสินค้าได้ในราคาดี หากราคาต่ำ เกษตรกรจะหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ราคาดีกว่า คนอื่นปลูกกันรวยโครมๆ ทำไมเขาจะรวยบ้างไม่ได้
“กรมพัฒนาที่ดินทำแผนที่เขตเกษตรสวยหรู ตรงนี้เหมาะสม ตรงนั้นไม่เหมาะ ตรงนี้ปลูกแล้วต้นทุนการผลิตต่ำกว่าที่ไม่เหมาะสม แต่เกษตรกรปลูกแล้วขายสินค้าไม่ได้ ไม่มีใครทำตามประกาศแน่ โซนนิ่งไม่เกิดแน่นอน นี่คือ หัวใจสำคัญโซนนิ่ง” อภิชาติบอก
จากประสบการณ์ในการนั่งเป็นเลขาฯ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อภิชาติระบุว่า การผลิตข้าวที่ล้นเกินเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ปี 2550 เกษตรกรปลูกข้าวนาปี 18-20 ล้านตันต่อปี ข้าวนาปรัง 7-8 ล้านตันต่อปี รวมทั้งปี 27-28 ล้านตัน ปี 2556 ข้าวนาปี 25-27 ล้านตันที่ปลูก ข้าวนาปรังเพิ่มเป็น 14 ล้านตัน รวม 35 ล้านตัน ทำข้าวสารได้ 25 ล้านตัน เป็นสินค้าส่งออกได้สูงสุด 10 ล้านตัน ปริโภคในประเทศราว 12 ล้านตัน ที่เหลือเป็นสต็อกรัฐบาล ขณะนี้ส่งออกได้เพียง 4 ล้านตัน ระบายข้าวไม่ได้ ข้าวค้างสต็อก สร้างความเสียหาย ตัวเลขบวมมาก แล้ววันนี้พื้นที่ปลูกข้าวโพด 6 ล้านไร่ กลายเป็น 8 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกมันก็เช่นกัน น้ำตาลเคยผลิตได้ 68 ล้านตันต่อปี กลายเป็น 100 ล้านตันต่อปี นี่คือผลกระทบจากปี 51 ราคาสินค้าเกษตรสูง ทุกคนทำตามกัน ภูเขาสูงจังหวัดน่านหัวโล้นหมดถูกบุกรุกปลูกข้าวโพด พอราคาร่วงจะให้การเมืองมาดูแล
เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ แบ่งเป็น s1 เหมาะสมสูง s2 เหมาะสมปานกลาง s3 เหมาะสมเล็กน้อย และ n ไม่เหมาะสม อภิชาติให้ข้อมูลว่า พื้นที่ s3 เป็นนาข้าวที่เป็นนาดอน ผลผลิตต่ำ นี่เป็นจุดเป้าหมายแรกปรับเปลี่ยนข้าวเป็นอ้อย ช่วงแรกที่ดำเนินการราคาดี แต่ผ่านมาหนึ่งปีราคาอ้อยขั้นต้นร่วง ถามว่าใครจะรับผิดชอบ เงินกองทุนน้ำตาลวันนี้ติดลบ คาดว่าในอนาคตม็อบอ้อยจะออกมาอีก ปัญหาผลผลิตการเกษตรทั่วประเทศมีมากมาย โซนนิ่งเป็นความหวัง จำเป็นต้องทำลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ช่วยพัฒนาคุณภาพ แต่ไม่ได้ดำเนินการง่ายเลย ต่างประเทศมีพืชไม่กี่ชนิด พื้นที่ล้านไร่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว แต่ไทยปลูกสารพัดชนิด สลับหมุนเวียนในพื้นที่ เกษตรกรก็ไม่เข้าแถว ถ้าเป็นจีนหรือเวียดนามประกาศโซนนิ่ง ไม่เข้าแถวตีก้น บ้านเราตีก้นโดนตีกลับ เอาผู้ปกครองมาฟ้อง
“ไทยเพิ่งเริ่มต้นโซนนิ่ง กรมพัฒนาที่ดินดูเรื่องกายภาพ ดีมานด์-ซัพพลาย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะต้องทำ พยากรณ์ราคา ปริมาณผลผลิต ทุกอย่างมีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงตลอด โซนนิ่งต้องปรับได้” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินย้ำก้าวแรกของการโซนนิ่ง นอกจากด้านพืช ยังมีปศุสัตว์และประมงด้วย
คำถามที่ว่าการโซนนิ่งเหมาะสมกับไทยจริงหรือ ไพฑูรย์ อุไรรงค์ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวในวงเสวนาเดียวกันว่า โซนนิ่งเหมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งข้อดีและข้อด้อย เนื้อที่ทั้งหมดของไทย 320 ล้านไร่ เนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ นาข้าว 70 ล้านไร่ คิดเป็น 47% สวนผลไม้ 35 ล้านไร่ พืชไร่ 31 ล้านไร่ สวนผัก 1 ล้านไร่ ภายใต้แนวคิดจัดการผลิตข้าวภายใต้เขตเศรษฐกิจข้าวจะมีเนื้อที่เหมาะสมปลูกข้าว 43 ล้านไร่ เหมาะสมเล็กน้อย และไม่เหมาะสม 27 ล้านไร่ ขณะที่รัฐบาลมีเป้าหมายปรับรูปแบบผลิตข้าวในเขตไม่เหมาะสม ตนเห็นต่างควรไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวในพื้นที่เหมาะสมมากกว่า เร่งพัฒนาคุณภาพ เกษตรกรได้พัฒนาด้วย พื้นที่ไม่เหมาะสมก็ลดเนื้อที่ รัฐไปสนับสนุนปัจจัยบางอย่างเพื่อให้ปลูกพืชชนิดอื่นได้
“โซนนิ่งมีประโยชน์ แต่สุดท้ายนโยบายของการเมืองต้องไม่ทำให้ระบบสินค้าเกษตร การตลาดเสีย ถ้ายังมีโครงการรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท เขตเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เกษตรกรก็ปลูก การจำนำทุกเมล็ดจำนำข้าวขาว ราคารับซื้อจากเกษตรกรมากกว่าราคาขาย ฉะนั้น ขาดทุนตั้งแต่เริ่มต้น เกิดผลกระทบตามมามากมาย ตลาดข้าวเราเสียหาย คนซื้อเพื่อส่งออกไม่ไหว เราผิดสัญญาลูกค้าหนีหมด เราผลักลูกค้าข้าวไปให้ประเทศคู่แข่ง ผลเสียจากนโยบายที่ไม่ถูกต้องยังทำให้คุณภาพข้าวเสีย เกษตรกรปลูกให้มากที่สุด เก็บเกี่ยวให้เร็วที่สุด ข้าวอายุสั้นที่ภาคราชการพยายามกำจัดออกจากตลาดเพราะไม่ได้ตามมาตรฐาน แต่เกษตรกรปลูก ข้าวประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตามแนวชายแดน ข้าวคุณภาพไม่ดีเข้าไทย”
รองอธิบดีกรมการข้าวบอกว่า ขณะนี้มีกระแสข้าวคุณภาพไม่ดีรุนแรง โครงการจำนำหยุดสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ปัญหาตามมา กรมการข้าวและองค์กรเกี่ยวกับข้าวแทนที่จะได้พัฒนาวิจัยพัฒนาข้าว ต้องหยุดเพื่อแก้ปัญหา หากนโยบายชัดเจนไม่ส่งผลเสียต่อการค้าข้าว การโซนนิ่งมีประโยชน์ในการบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ยั่งยืน ลดค่าใช้จ่าย เห็นว่าต้องมีการกำหนดนโบบายชัดเจนในแต่ละปีประเทศไทยต้องผลิตข้าวเท่าไหร่ ต้องรู้ดีมานด์และซัพพลาย ต้องปลูกข้าวประเภทไหน ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวขาว ข้าวนึ่ง ข้าวเหนียว หากชัดเจนจะลงพื้นที่ปลูกในที่เหมาะสมนำไปสู่การบริหารจัดการที่ง่าย รวมถึงผลิตสินค้าสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ด้าน รศ.ดร.อุทิศ กุฏอินทร์ อดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ มก. กล่าวว่า ปัญหาภาคเกษตรมาจากที่ผ่านมารัฐไม่ได้มีนโยบายเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศที่ชัดเจน พื้นที่ป่าไม้เคยมี 40% ของประเทศ ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 30% พื้นที่เกษตรกรรมควรมี 40% แต่เขตเหมาะสมปลูกพืชกลับส่งเสริมทำที่อยู่อาศัย ทำคอนโดมิเนียมรวมถึงอุตสาหกรรม เมื่อมีภัยธรรมชาติจึงได้รับผลกระทบรุนแรง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ควรนำมาใช้กำหนดนโยบายโซนนิ่งที่ต้องคำนึง ได้แก่ สภาพของพื้นที่และภูมิประเทศ ความต้องการของประชาชน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ข้อจำกัดพิเศษของพื้นที่ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
นักวิชาการป่าไม้กล่าวอีกว่า การจัดชั้นลุ่มน้ำก็คือการโซนนิ่ง รัฐได้กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำต่างๆ ไว้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องปฏิบัติไปแล้ว 1A 1B เป็นป่าป้องกันบนพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ต่ำลงมาจาก 1A เป็นป่าเศรษฐกิจ และรักษาต้นน้ำลำธาร ต่อจากลุ่มชั้น 2 ลาดเทน้อยเป็นป่าเศรษฐกิจ ไม้ผล ไม้ยืนต้น เกษตรอนุรักษ์อย่างเข้มข้น ส่วนพื้นที่เชิงเขาทำไร่ ทำสวน ควรมีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม สำหรับที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับทำนาพืชชอบน้ำ และเป็นที่อยู่อาศัย
“ปัญหาของประเทศรัฐไม่กำหนดการใช้ประโยชน์ในระดับพื้นที่ที่ชัดเจนในแต่ละชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ขณะนี้เกษตรกรปลูกยางพาราในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 เป็นเหตุของดินถล่มจากภูเขาสูง พื้นที่ต้นน้ำถูกทำลาย รัฐต้องควบคุมให้ได้ ดำเนินการตามกฎระเบียบที่เข้มแข็งให้ทำตามที่กำหนด ขาดการส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เช่น พื้นที่เกษตรต้องเป็นพืชสวนเลียนแบบป่าธรรมชาติ” อาจารย์อุทิศย้ำรัฐต้องจัดทำแผนระดับชาติในการใช้ประโยชน์ที่ดินทุกประเภท
ถ้ารัฐวางแผนใช้ที่ดินเพื่อเกษตรแล้ว แต่ไม่แก้ปัญหาเรื่องน้ำภาคเกษตร ทั้งขาดน้ำฤดูแล้ง น้ำท่วมฤดูฝน และการกระจายน้ำไม่ทั่วถึง อดีตคณบดีคณะวนศาสตร์กล่าวในท้ายที่สุดว่า การโซนนิ่งไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้น ต้องจัดสัดส่วนการปลูกพืชและการพักดินเพื่อประหยัดน้ำ บริหารจัดการปลูกพืชเพื่อประหยัดน้ำ สร้างบึงหรือสระในพื้นที่เอกชนทางการเกษตร ส่วนปัญหาน้ำท่วมเพิ่มการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำ หนอง บึง สระ และพื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากนี้ ควรเร่งแก้ปัญหาด้านการตลาดสกัดการแย่งชิงการทำเกษตรหรือทำเกษตรตามๆ กันจนราคาสินค้าตกต่ำ มีระบบโควตาทางการเกษตรและระบบสหกรณ์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชประเภทอื่นลดการผลิตล้นตลาด.

มธ.คว้า13รางวัลสิ่งประดิษฐ์แนวสิ่งแวดล้อม บนเวทีสากลกรุงเจนีวา

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/sunday/130414/88905

สิ่งแวดล้อม
Sunday, 13 April, 2014 – 00:00
.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โชว์ศักยภาพนักประดิษฐ์ไทยในเวทีสากล คว้า 13 รางวัลจากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 42 หรือ “42nd International Exhibition of Inventions of Geneva” ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 2-6 เมษายน 2557
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี 2556 หนึ่งในทีมนักวิจัยที่นำผลงานเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ กล่าวว่า “ในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งนี้ ทีมนักวิจัยของ มธ.ได้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 12 ผลงาน สามารถคว้ารางวัลมาได้ 13 รางวัล แบ่งเป็น 3 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน 4 เหรียญทองแดง และ 2 รางวัลพิเศษ ซึ่งมาจากการโหวตของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ งานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 42 มีนักวิจัยจำนวน 790 ท่าน จาก 45 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน โดยมีผลงานส่งเข้าประกวดกว่า 1,000 ผลงาน ซึ่งการที่นักวิจัยจากธรรมศาสตร์ได้รับรางวัลมาได้ถึง 13 รางวัล นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยบนเวทีที่มีความสำคัญระดับโลก”
ผลงานของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับเหรียญทอง ได้แก่ 1.บรรจุภัณฑ์ฉลาด สำหรับดูดซับกลิ่นทุเรียน โดย รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ใช้เทคโนโลยี modified atmosphere packaging ประกอบด้วย 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ Active package ทำหน้าที่ดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ ทำด้วยแผ่นดูดซับที่สามารถย่อยสลายได้ และระบบ Intelligent Package มีเครื่องมือวัด ตรวจสอบคุณภาพและความสดของทุเรียน เพื่อบอกให้ผู้บริโภคทราบว่าทุเรียนสดภายในภาชนะยังคงมีคุณภาพและควรจะซื้อไปหรือไม่
2.แผ่นทำความสะอาดน้ำมันแบบใช้ซ้ำ โดย อ.ดร.สุวดี ก้องพารากุล สิ่งประดิษฐ์นี้ได้คิดค้นเพื่อพัฒนาตัวดูดซับน้ำมันซึ่งปกติใช้เพียงครั้งเดียวและนำไปกำจัดทิ้งโดยการเผา แต่แผ่นยางที่คิดค้นขึ้นมานี้สามารถดูดซับน้ำมันปิโตรเลียมได้มากกว่า 18 เท่าภายในระยะเวลา 1-2 นาที รวมทั้งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 30 ครั้ง
3.Home-Auto Lifting System (HALS) โดย ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ (เหรียญทองและรางวัลพิเศษจากจีน) อุปกรณ์นี้ออกแบบเพื่อช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุ ได้รับการออกแบบให้ง่ายต่อการขนย้าย ประกอบ และติดตั้ง โดยไม่ต้องดัดแปลงรถยนต์ ประกอบด้วย 2 ฐาน คือ ฐานที่ใช้ภายในบ้านและฐานที่ใช้ในรถยนต์ชุดยก สามารถนำไปใช้ได้ทั้งกับรถยนต์และในบ้าน สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 120 กก.
ผลงานที่ได้รับเหรียญเงิน ได้แก่ 1.การชักนำพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้ไม่มีความไวต่อช่วงแสงในการออกดอกมีอายุเก็บเกี่ยวสั้นและทนแล้งโดยใช้รังสีแกมมา โดย รศ.ดร.บุญหงษ์ จงคิด 2.ถ้วยกาแฟฉลาดรักษ์สิ่งแวดล้อม โดย รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้จากพืช สามารถย่อยสลายได้ ลดการตัดไม้ทำลายป่า และมีดรรชนีบอกอุณหภูมิว่าเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น 3.Floating Retreat (Futuristic Hospitality) โดย ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง เป็นนวัตกรรมในการออกแบบสภาพแวดล้อมทางสถาปัตยกรรม ประเภทรีสอร์ตทางเลือกคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ โดยบูรณาการศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมและภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการออกแบบอย่างยั่งยืน ในบริบทของความเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ
4.ซอฟต์แวร์เชิงจำลองเพื่อทำนายค่าอัตราการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการถ่ายเทความร้อนในศีรษะมนุษย์ขณะใช้โทรศัพท์มือถือ โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ใช้ในการคำนวณค่าความเข้มสนามแม่เหล็กไฟฟ้า อัตราการดูดกลืนพลังงานจำเพาะ และการกระจายตัวเชิงอุณหภูมิภายในศีรษะมนุษย์ขณะใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งซอฟต์แวร์นี้สามารถทำนายปรากฏการณ์ถ่ายโอนที่เกิดขึ้นภายในศีรษะมนุษย์ที่อยู่ภายใต้พลังงานสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือได้อย่างแม่นยำ ซึ่งผลงานนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสื่อสาร เช่น การออกแบบเสาอากาศและการออกแบบโทรศัพท์มือถือ
ผลงานที่ได้รับเหรียญทองแดง ได้แก่ 1.จมูกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับควบคุมคุณภาพอาหาร และเครื่องตรวจวัดชนิดของข้าวไทยแบบสกรีนนิ่ง โดย ดร.เรวัตร ใจสุทธิ ที่สามารถเรียนรู้ จดจำ และจำแนกชนิดของกลิ่นตามฐานข้อมูลที่มีอยู่ เครื่องมือนี้สามารถนำมาใช้ควบคุมคุณภาพอาหารและเครื่องดื่มได้ทั้งในกระบวนการผลิตจากฟาร์มสู่ผู้บริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าและความเชื่อมั่นในการส่งออก
2.สูงกินได้ โดย ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง เป็นนวัตกรรมชิ้นแรกของโลกในการออกแบบสภาพแวดล้อมทางสถาปัตยกรรมสำหรับอาคารประเภทตึกสูง ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ในการออกแบบ ที่บูรณาการศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม เกษตรกรรม แพทยศาสตร์ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการออกแบบอย่างยั่งยืน ในบริบทของความเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ
3.การอบแห้งเชิงอุตสาหกรรมโดยใช้ระบบไมโครเวฟกำลังต่ำ ที่ป้อนคลื่นสองตำแหน่งร่วมกับระบบระบบสุญญากาศ โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนโช และ ดร.สมศักดิ์ วงษ์ประดับไชย ระบบไมโครเวฟกำลังต่ำที่ป้อนคลื่นสองตำแหน่งร่วมกับระบบสุญญากาศ (CUMV) สามารถอบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ใบมะกรูด ใบหอมซอย เห็ดหูหนูขาวและดำ และพืชสมุนไพรบางชนิด สามารถนำมาอบแห้งและได้ผลเป็นที่สนใจ สามารถลดระยะเวลาในการอบแห้งลงได้ถึง 5-6 เท่าเมื่อเทียบกับการอบแห้งแบบดั้งเดิม และคุณภาพสีของผลิตภัณฑ์นั้นยังคงมีคุณภาพดี
4.Solar UAV โดย รศ.ดร.วิโรจน์ ลิ่มตระการ เป็นอากาศยานไร้คนขับที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ solar power เพื่อให้สามารถบินทำภารกิจได้นานขึ้น
ผลงานที่ได้รับรางวัลพิเศษ ได้แก่ 1.Home-Auto Lifting System (HALS) โดย ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ ได้รับรางวัลพิเศษจากจีน 2.ซีเมนต์โปร่งแสง โดย รศ.ดร.บุรฉัตร ฉัตรวีระ ได้รับรางวัลพิเศษจากอิหร่าน ซีเมนต์โปร่งแสงเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เริ่มใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ และในประเทศไทยก็เริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับซีเมนต์ที่โปร่งแสง โดยใช้พลาสติกโพลีเมอร์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เรซิ่น” เป็นส่วนประกอบในการทำซีเมนต์โปร่งแสง มีข้อดีคือ เรซิ่นเมื่อทำปฏิกิริยากับสารเร่งการแข็งตัวแล้วจะมีลักษณะที่ใส ซึ่งจะสามารถนำพาแสงได้ โดยความร้อนจะไม่ถูกนำพาเหมือนกับแสง และสามารถรับกำลังอัดได้สูง สามารถนำไปประยุกต์เป็นส่วนประกอบของซีเมนต์และคอนกรีตได้.

“ฮักแพงโฮมคน” แนวทางทำมา-หาทางรอด

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/sunday/130414/88906

สิ่งแวดล้อม
Sunday, 13 April, 2014 – 00:00
.
“ฮักแพงโฮมคน” เป็นโครงการที่กลุ่มบริษัทมิตรผลร่วมพัฒนา ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชนและภาคีเครือข่าย ในการผลักดันแนวคิดเรื่อง “การกินดี อยู่ดี” สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการขยายผลเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น โดยการเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย รวมถึงเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน โดย นายศุภนิตย์ มานะจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทมิตรผลจำกัด ได้เล่าให้ฟังถึงการอยู่ร่วมกับคนในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดอย่างพึ่งพาอาศัยกัน หลังจากที่ทางกลุ่มบริษัทมิตรผลได้เข้ามาตั้งโรงงาน ว่าไม่เฉพาะชาวบ้านที่หมู่บ้านดงดิบเท่านั้น แต่หมายถึงคนไทยที่ถูกสั่งสอนเรื่องการทำมาหากินมาตลอดชีวิต แต่ไม่เคยมีการสั่งสอนเรื่องการทำมาหาเก็บ จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่หากใครไม่ระมัดระวังตัวความลำบากก็จะมาเยือนเอาได้ง่ายๆ
การที่โรงงานผลิตน้ำตาลของทางบริษัทก็ได้มีโครงการเข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้านให้ทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ คือนอกจากจะได้ผลผลิตมาก ได้ผลผลิตแบบยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวเขาแล้ว ยังได้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรอีกด้วย ความเป็นมิตรที่มุ่งหวังให้ชาวบ้านในละแวกนี้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีสังคมที่ดี มีการศึกษาที่ดี และมีสุขภาพที่ดี อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานสภาพสังคมของที่บ้านดงดิบถือว่าค่อนข้างดี แต่คนที่นี่ยังใช้ชีวิตอย่างไม่รู้ทิศทาง คือบางทีก็เหมือนไม่มีอะไรทำ บางทีก็มุ่งมั่นทำงานหนักจนน่าเป็นห่วง ดังนั้น ความรู้ที่ทางบริษัทเอาเข้ามาช่วยเสริมคือ การสร้างโอกาส พาไปศึกษาดูงานจากพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จจากการประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตที่ลงตัว เพื่อใช้ชาวบ้านดงดิบเอามาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพสังคมของที่นี่ ผลออกมาก็ถือว่าน่าพอใจ ชาวบ้านดูมีความสุข มีเงินเก็บเงินออม แต่ก็ยังมีสิ่งที่เราต้องเรียนรู้กันอีกมาก
“อยากให้เป็นต้นแบบการใช้ชีวิตด้วยทรัพย์สินที่มี แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคมากคือ ที่ผ่านมาสังคมไทยสั่งสอนให้คนทำมาหากินก็จริง แต่ไม่เคยสั่งสอนทำมาหากินให้รอด ไม่ได้สอนให้ทำมาหาเก็บ สังคมบ้านนอกไม่ได้มีการเรียนการสอนเรื่องนี้ และเขาก็ยังคุยเคยกับสิ่งเก่าๆ”
ขณะที่ นายพงษ์ศิริ คำศรีเมือง ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านดงดิบ หรือผู้ใหญ่หมี เล่าให้ฟังว่า การกินอยู่ของคนที่นี่ก็เหมือนกับที่อื่นๆ และค่อนข้างกลับหัวกลับหาง ซื้อกินแม้กระทั่งผักที่ปลูกตามรั้ว คนในชุมชนหาปลาไม่เป็น นี่คือปัญหา จนทำให้หลายๆ คนไม่มีเงินออม ตนในฐานะผู้ใหญ่บ้านได้คุยกับภรรยาว่า ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เห็นจะไม่ได้การ เพราะต้องซื้อเขากินทั้งเช้า กลางวัน เย็น อย่างนี้ไม่ไหวแน่ๆ 2 สามี ภรรยา ปรึกษาหารือกันจนได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า ต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวของตัวเองโดยการปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่บ้าน เลี้ยงหมู ไปพร้อมๆ กับการปลูกข้าว ปลูกอ้อย สร้างรายได้ อย่างรอบปีที่ผ่านมาได้ผลผลิตถึง 234 ตัน อย่างนี้เขาเรียกว่า “ปลูกอยู่ ปลูกกิน” ทำให้มีรายได้ มีเงินเก็บเงินออมมากขึ้น
“ช่วงที่มีโอกาสมาเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี 2542 ก็มีความคิดพาพี่น้องให้มีการปลูกอยู่ปลูกกิน มีความเข้มแข็งในครอบครัว โดยคิดว่าตัวผม ซึ่งเป็นผู้นำต้องเริ่มก่อน หลังจากนั้นจึงพัฒนาชุมชนร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกช่วยเข้ามาให้ความรู้ตามหมู่บ้าน จากนั้นกลุ่มบริษัทมิตรผลก็เข้ามาทำเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องรายได้ เรื่องสุขภาพของคนในชุมชน คืออย่างน้อยๆ การทำอย่างนี้ทำให้ชุมชนกลับมาเข้มแข็งนะ เขาได้มาเจอกันมากขึ้น ได้มากขึ้น ได้พูดคุยกันมากขึ้น ตอนนี้คนในชุมชนของเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมากขึ้น” ผู้ใหญ่หมี กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากผู้นำหมู่บ้านเริ่มทำเป็นแบบอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ผนวกกับมีการเข้ามาสนับสนุนของบริษัทน้ำตาลมิตรผล ทำให้การเผยแพร่ความรู้สู่คนในชุมชนทำได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนหลายคนเริ่มปลดหนี้สิน ลืมตาอ้าปากได้ เช่น ครอบครัวของ นายประสิทธิ์ ศรีชัย เจ้าของไร่แสนสุข ที่เล่าให้ฟังว่า ตอนเริ่มต้นมีที่ทำกินอยู่ 30 ไร่ ในช่วงของการเริ่มต้นจะมีปัญหาภาระหนี้สินมากจนเกิดความท้อแท้ เลยลองปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การใช้ชีวิต หันมาปลูกอ้อย ปลูกพืชหมุนเวียนเพิ่มเติม เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เพาะเห็ด พร้อมๆ กับการเก็บออมเงินเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ตอนนี้ก็เริ่มที่จะปลดหนี้ได้แล้วแถมยังมีเหลือพอที่จะซื้อที่ไว้ทำการเกษตรเพิ่มเติมอีก 1 แปลง
เช่นเดียวกับ นายวิทวัส มุขภักดี หรือนายหลั่น อายุ 44 ปี บอกว่า เขาได้แบ่งเอาที่ดินมา 10 ไร่จากที่เคยใช้สำหรับทำนาทั้งหมด 35 ไร่ มาปลูกอ้อยส่งขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้มีกินมีใช้ มีเก็บออม และคิดขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วยการเช่าที่เพิ่มอีก 20 ไร่ ตอนนี้ถือว่ามีความมั่นใจในการปลูกอ้อยมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องห่วงเรื่องราคา เพราะจะถูกกำหนดโดยคณะรัฐมนตรีเพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องห่วง แต่หากปีไหน ครม.เคาะราคาช้า ทางบริษัทมิตรผล ซึ่งเป็นผู้รับซื้ออ้อยจากเราจะกำหนดราคาขั้นต่ำเอาไว้ให้ หลังจากนั้นเมื่อ ครม.อนุมัติราคากลางมาให้แล้ว หากสูงกว่าราคาที่กำหนดไว้ทางบริษัทก็จะจ่ายส่วนต่างเพิ่มเติมให้
“การปลูกข้าวจะใช้เวลานานกว่า คือเริ่มไถหว่านกันเลยก็เดือนพฤษภาคม กว่าจะได้เก็บเกี่ยวก็โน่นเลยพฤศจิกายนไปแล้ว แถมบางพื้นที่ถูกน้ำท่วมอีก ทำนาไม่ได้ ส่วนอ้อยใช้เวลาปลูกไม่นาน ปักลงหลุมประมาณเดือนตุลาคม เก็บเกี่ยวเอาตอนเดือนพฤศจิกายน ที่สำคัญคือต่อให้น้ำท่วม ถ้าท่วมไม่ถึงยอดรับรองอ้อยงามและอยู่ได้สบาย เพราะฉะนั้นมันต่างกันตรงนี้ แต่เราก็ยังทำนาอยู่” นายวิทวัสกล่าว และว่า ตอนนี้มีปัญหาเรื่องดินเสื่อมจากดินร่วนกลายเป็นดินทราย ก็เลยปลูกพืชหมุนเวียนเพิ่มเติมและก็นำเอากากน้ำตาลมาช่วยฟื้นฟูสภาพดิน
นายวิทวัสกล่าวต่อว่า ตัวเขาเองเติบโตมากับการทำเกษตร เงินที่เลี้ยงครอบครัว เงินที่ส่งลูกๆ เรียนทั้งหมดก็มาจากภาคเกษตร อยากจะให้ลูกๆ เรียนจนจบปริญญาตรี อย่างน้อยๆ ให้เขาจบปริญญาตรีเพื่อจะได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ แต่หากที่สุดแล้วงานมันหายาก ไม่มีงานทำกลับมาเป็นชาวไร่ ชาวนาเหมือนบรรพบุรุษอย่างน้อยก็จะได้มีความรู้ติดตัวบ้าง
ด้านนายมาร์ติน วีลเลอร์ หนุ่มชาวอังกฤษ ที่หลงรักเมืองไทย และการดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำไร่ทำนา ได้แสดงอาการอิจฉาเมืองไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ น้ำดี ดินดี แดดดี สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี แต่เขายังเห็นว่า สิ่งสำคัญของเกษตรกรเมืองไทยคือจำเป็นจะต้องมีความรู้ รู้จักพัฒนาตัวเอง อย่างชาวบ้านที่นี่ก็ต้องรู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไรบ้าง ต้องรู้ว่าการปลูกอ้อยอย่างเดียวเขาจะอยู่ไม่รอด มันต้องรู้จักดัดแปลง รู้จักปรับเปลี่ยน เพื่อจะได้พัฒนาตัวเองและชุมชน ทั้งนี้ พัฒนาชุมชนจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือชุมชนนั้นจะต้องมีผู้นำที่เก่ง ลูกบ้านจะต้องมีคุณภาพ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือพี่เลี้ยง ผู้ที่จะมาคอยให้ความรู้ให้กับชาวบ้านจะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และต้องทำต่อเนื่อง ไม่ต้องรอหน่วยงานราชการที่แม้จะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ก็ขยับแข้งขยับขาช้าเหลือเกิน ที่สำคัญส่วนใหญ่มีแต่แผนการ ไม่มีการลงมือทำ.

นวัตกรรม “กระสอบพลาสติกแบบมีปีก InnoPlus” เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/sunday/060414/88592

สิ่งแวดล้อม
Sunday, 6 April, 2014 – 00:00
.
จากพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการหาวิธีการแก้ไขปัญหาพิบัติภัยดินถล่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาเข้าช่วยเหลือราษฎร และหาแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในการป้องกันดินถล่ม เพื่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น ดินถล่มเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มักพบอยู่ในท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ตามเชิงเขา มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนตกหนัก ที่น้ำจากภูเขาไหลบ่าพัดเอาดินเอาโคลนมากองรวมกันไว้มากๆ และเมื่อถึงระดับหนึ่งซึ่งบริเวณที่รองรับทนรับน้ำหนักไม่ไหวก็เกิดการถล่มลงมา หรือบางครั้งเกิดจากการตัดต้นไม้บนพื้นที่ภูเขาและไหล่เขา เมื่อเกิดฝนตกหนักไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่จะยึดดินไว้ ทำให้เกิดดินถล่มได้ ทำให้ปัจจุบันสถานการณ์ดินถล่มมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ของประเทศไทย สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทำกินในชุมชนหลายพื้นที่ เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน
ในฐานะที่เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ซึ่งสามารถช่วยเหลือสังคมได้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จึงได้ออกแบบวัสดุรับมือภัยธรรมชาติ ดำเนินโครงการกระสอบพลาสติกแบบมีปีก InnoPlus และได้ทำการส่งมอบกระสอบแบบมีปีกจำนวน 100,000 ใบให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อนำไปทดลองใช้ในพื้นที่บ้านน้ำต๊ะ จ.อุตรดิตถ์, บ้านห้วยขาน จ.เชียงใหม่, ศูนย์ศึกษาภูฟ้า จ.น่าน โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรธรณี
นอกจากนี้ บริษัทยังได้สนับสนุนกระสอบแบบมีปีกจำนวน 30,000 ใบ เพื่อใช้ในโครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาการป้องกันแก้ไขปัญหาดินถล่มบนที่สูงชันตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ในการดำเนินงานในพื้นที่
ดร.จารุณี ตันติเวชวุฒิกุล ผู้จัดการฝ่ายงานกลยุทธ์กิจการเพื่อสังคม กล่าวว่า การผลิตกระสอบพลาสติกแบบมีปีก เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ธรณีพิบัติภัย การป้องกันน้ำท่วม รวมถึงการเพิ่มคุณค่าให้เกษตรกร ด้วยการนำกระสอบพลาสติกแบบมีปีกเข้าไปใช้ในการจัดทำฝายชะลอน้ำ การทำแก้มลิง การจัดทำแนวป้องกันการพังทลายของตลิ่ง เป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการช่วยสนับสนุนและส่งเสริมด้านเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรอีกด้วย
สำหรับ การผลิตถุงกระสอบพลาสติกแบบมีปีกนั้น ได้ประยุกต์มาจากรูปแบบเดิมของประเทศญี่ปุ่น นำมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์และสถานภาพของประเทศไทย ซึ่งผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลิเอธิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene, HDPE) และโพลิโพรพีลีน (Polypropylene, PP) ด้วยการถักทอเป็นแบบไขว้ เพื่อให้ถุงกระสอบพลาสติกแบบมีปีกมีความหนาแน่นสูง แข็งแรง ส่วนรูปแบบการเย็บระหว่างถุงกระสอบและปีกเป็นการเย็บแบบเข็มคู่ เพื่อให้โครงสร้างถุงกระสอบมีความเหนียว แข็งแรง และทนทานกว่ากระสอบทั่วไป
นอกจากนี้ ยังมีการเติมสารป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตเพื่อให้ทนต่อแสงแดด และสามารถย่อยสลายได้ง่าย ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทำให้ ‘กระสอบพลาสติกแบบมีปีก’ คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม ในปี 2554
“เราหวังสนองพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการหาวิธีการแก้ไขปัญหาพิบัติภัยดินถล่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งการทดลองใช้กระสอบพลาสติกแบบมีปีกให้เหมาะสมกับพื้นที่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่านวัตกรรมกระสอบพลาสติกแบบมีปีก จะเป็นประโยชน์ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาการป้องกันแก้ไขปัญหาดินถล่มบนที่สูงชันตามแนวพระราชดำริ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง และมีแผนที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” ดร.จารุณีกล่าว.

ป่าชายเลนป้อมพระจุลฯ ปราการสู้กัดเซาะชายฝั่ง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/sunday/060414/88600

สิ่งแวดล้อม
Sunday, 6 April, 2014 – 00:00
.
ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนที่อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า แน่นขนัดด้วยพันธุ์ไม้เด่นและเป็นชนิดที่สำคัญในป่าชายเลนของไทย ทั้งไม้โกงกางสูงใหญ่รากออกจากลำต้นโค้งลงสู่พื้นดิน ไม้แสมอายุกว่า 100 ปี ไม้ตะบูนและตะบัน ไม้โปรง นอกจากพืชหลายชนิดแล้ว ป่าชายเลนปากแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ยังเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์นานาชนิด
ทั้งปูก้ามดาบหรือปูเปี้ยวสวยงามที่ประดับสีสันให้กับพื้นที่ป่าชายเลน ปูแสม พวกปูนับเป็นตัวจักรสำคัญในห่วงโซ่อาหารและช่วยหมุนเวียนธาตุอาหาร กุ้งดีดขันก็พบได้เสมอในบริเวณนี้ แล้วยังมีเจ้าลิงแสม นกขนาดเล็กและใหญ่หลายชนิดที่เข้ามาหาอาหารในป่าชายเลน หากมองจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติออกไปนอกชายฝั่ง จะพบแปลงปลูกป่าชายเลนและแนวเสาไฟฟ้าชำรุดสวมยางรถยนต์ใช้แล้วเป็นแนวยาว เพื่อลดความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า
การเข้ามาศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนป้อมพระจุลจอมเกล้าครั้งนี้เป็นกิจกรรมของโครงการ “เฌอร่าร่วมอนุรักษ์และบูรณะป้อมพระจุลจอมเกล้า พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จ.สมุทรปราการ โดยกลุ่มมหพันธ์ ผู้จัดจำหน่ายวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์แบรนด์ “เฌอร่า” ร่วมกับกรมกิจการพลเรือนทหารเรือ บูรณะศาลาป้อมพระจุลจอมเกล้าพร้อมปรับปรุงเส้นทางเดินศึกษาระบบนิเวศวิทยา ที่ไม้พื้นชำรุดทรุดโทรมหนักแทบใช้การไม่ได้ โดยมอบผลิตภัณฑ์เพื่อซ่อมแซมสถานที่ดังกล่าว ทั้งไม้พื้นเฌอร่า หลังคาห้าห่วงไตรลอน และไม้เชิงชาย พร้อมทีมงานช่างวิศวกร ช่างก่อสร้าง เข้ามาซ่อมเส้นทางนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพราะป้อมพระจุลจอมเกล้านอกจากเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การยุทธ์ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา รศ.112 แล้ว ยังมีเรื่องราวของธรรมชาติป่าชายเลนให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเหล่าเยาวชนได้ตระหนักคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนด้วย
นาวาเอกศรยุทธ พุ่มสุวรรณ์ ผู้บังคับการป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ กล่าวว่า ป่าชายเลนป้อมพระจุลจอมเกล้ามีนโยบายและแผนจัดการในพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อป้องกันไม่ให้ป่าถูกทำลายหรือหมดไป นอกจากนี้ป่าชายเลนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ากับพื้นที่มาก ทำหน้าที่เป็นแนวกำแพงกันคลื่นธรรมชาติ เพราะบริเวณนี้เป็นปากแม่น้ำ บวกกับอยู่ใกล้กับร่องน้ำเดินเรือ เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งรุนแรง การป้องกันด้วยโครงสร้างเสาไฟฟ้าชำรุดสวมยางรถยนต์ใช้แล้วยังไม่เพียงพอ ต้องรักษาป่าโกงกางที่มีอยู่และปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมให้หนาแน่น
“เรามีพื้นที่ปลูกป่าชายเลนที่บริเวณปากอ่าว 3,000 ไร่ ปลูกไปแล้ว 1,000 ไร่ ปี 2557 นี้มีแผนปลูกป่าชายเลนเพิ่มอีก 200 ไร่ โดยจะปลูกทุกเดือน เดือนละ 2,000 ต้น จากการติดตามผล พบต้นไม้รอด 1,200 ต้น ไม้แสมเป็นพืชเบิกนำใช้ปลูกป่าชายเลนหลังแนวป้องกัน และปลูกไม้โกงกางบริเวณหลังแนวป่าชายเลน ช่วยดักตะกอนเพิ่มขึ้นจนได้แผ่นดินกลับมาในระดับหนึ่ง ระบบนิเวศป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและแพร่กระจายพันธุ์ ชุมชนประมงได้พึ่งพิงทรัพยากร ถ้าไม่ทำอะไรเลยป้อมพระจุลฯ อาจจะหมดไป เพราะ จ.สมุทรปราการประสบปัญหากัดเซาะรุนแรง ทั้งอ่าวแหลมสิงห์ พระสมุทร