ชะตากรรมภาคเกษตรไทยวิกฤติภัยแล้ง..ลามถึงปี60

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160111/220298.html

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป
วันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2559
ชะตากรรมภาคเกษตรไทยวิกฤติภัยแล้ง..ลามถึงปี60

ชะตากรรมภาคเกษตรไทยวิกฤติภัยแล้ง..ลามถึงปี60 : ดลมนัส กาเจ

            หากดูตัวเลขจากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครั้งล่าสุด ณ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าในอ่างเก็บน้ำเขื่อนต่างๆ ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 33 แห่งทั่วประเทศมีปริมาตรน้ำทั้งหมด 39,410 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากจำนวนเต็ม 70,370 ล้าน ลบ.ม. หรือ 56% ในจำนวนนี้มีปริมาตรน้ำที่ใช้ได้จริงเพียง 15,908 ล้าน ลบ.ม. หรือ 23% เท่านั้น ถ้าจะโฟกัสให้แคบลงเฉพาะ 4 เขื่อนสำคัญที่หล่อเลี้ยงลงสู่พื้นที่การเกษตรทั้งสองฟากฝั่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด อันเป็นพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉพาะมากที่สุดในประเทศไทย พบว่าเขื่อนภูมิพลที่ จ.ตาก มีปริมาตรน้ำ 4,891 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 13,462 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% ในจำนวนนี้ใช้ได้จริง 1,091 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 8% เท่านั้น

ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาตรน้ำ 4,704 จากความจุทั้งหมด 9,510 ล้าน ลบ.ม. เหลืออยู่ 49% ใช้ได้จริง 1,854 หรือ 19% ด้านเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาตรน้ำน้ำ 379 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 939 ล้าน ลบ.ม. หรือ 40% สามารถใช้ได้จริง 336 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% ขณะที่เขื่อนปาสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาตรน้ำ 496 ล้าน บล.ม. จากความจุ 960 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% ใช้ได้จริง 493 ล้าน ลบ.ม. หรือ 51%

น้ำอุปโภคบริโภคมีถึงเดือนพฤษภาคม

สอดคล้องกับตัวเลขที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (5 ม.ค.59) ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 10,499 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรวมกัน 4.25 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.60 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้การได้ คงเหลือรวมกันจำนวน 3,803 ล้าน ลบ.ม. (แผนการใช้น้ำระหว่าง 1 พ.ย.58-30 มิ.ย.59) ยืนยันว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนและรักษาระบบนิเวศไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2558/2559 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึงปัจจุบัน (5 ม.ค.59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,011 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของแผนการจัดสรรน้ำ (แผนกำหนดไว้ 2,900 ล้าน ลบ.ม.) คงเหลือน้ำใช้การได้ตามแผนในฤดูแล้งนี้อีกประมาณ 1,889 ล้านลูกบาศก์เมตร (การส่งน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.-30 เม.ย. ของทุกปี)

“ตัวเลขของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,636,000 ไร่ ขณะที่ปริมาณน้ำที่ค้างในพื้นที่หลังหมดฤดูฝน ได้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีการปลูกข้าวนาปรังอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต หากยังมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง จึงขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย-ปศุสัตว์-ประมง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พล.อ.ฉัตรชัย พร้อมคณะที่เป็นผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นสพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2558/59 และติดตามความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนในพื้นที่ จ.พิษณุโลก โดยมีนายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ต้อนรับ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งนั้น มีการแจกปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปลูกพืชน้ำน้อย เลี้ยงสัตว์ ทำประมง, การปรับปรุงดิน/ปุ๋ยพืชสดเกษตรกร เป้าหมาย 385,958 ราย งบประมาณ 971.98 ล้านบาท แจกปัจจัยการผลิต (ปลูกพืชน้ำน้อย เลี้ยงสัตว์ ทำประมง ปรับปรุงดิน/ปุ๋ยพืชสด) มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยผลการดำเนินงานในส่วนของพืชไร่ อาทิ ถั่วเหลือง/ถั่วเขียว/ถั่วลิสง 140.22 ตัน เกษตรกร 5,021 ราย จะให้แล้วเสร็จในวันที่ 15 มกราคมนี้

นอกจากนี้ในส่วนแรกโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย/ใช้ความชื้นในดิน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 กรมส่งเสริมการเกษตรได้โอนเงินให้ 22 จังหวัด 57 อำเภอ 129 ตำบล 159 โครงการ งบประมาณ 153.02 ล้านบาท เกษตรกรจะดำเนินการในเดือนมกราคม 2559 กระนั้นต้องยอมรับว่าหลายเรื่องยังติดขัดเรื่องกระบวนการจัดหาและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอาจจะทำให้การเพาะปลูกไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศและความชื้นในดิน ดังนั้นจะส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนชนิดของพืชที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับความชื้นในดินเพื่อลดความเสียหาย

มอบเมล็ดพันธุ์ใช้น้ำน้อย 2.3 พันตัน

ท่ามกลางความปั่นป่วนของเกษตรกรที่ไม่มีน้ำเพื่อการเพาะปลูกนั้น กรมวิชาการเกษตรได้สำรองเมล็ดพันธุ์พืชไร่ใช้น้ำน้อยและมีอายุเก็บเกี่ยวสั้นไว้รองรับความต้องการของเกษตรกรที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ดีไปปลูกในช่วงหน้าแล้ง เพื่อสร้างรายได้ทดแทนการทำนาปรัง รวมกว่า 2,300 ตัน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง จำนวน 800 ตัน และถั่วเขียว 1,300 ตัน และถั่วลิสง 200 ตัน โดยพืชเหล่านี้ใช้เวลาปลูกไม่เกิน 110 วันหลังทำนา ทั้งยังเตรียมเชื้อไรโซเบียมเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชตระกูลถั่วด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการปลูกข้าวโดยเฉพาะพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเป็นแนวทางช่วยให้เกษตรกรสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แนะนำว่า การเลือกปลูกพืชไร่ใช้น้ำน้อย เกษตรกรควรพิจารณาถึงพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ทั้งยังต้องมองความต้องการของตลาด ราคาผลผลิต และมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงความเหมาะกับสภาพแวดล้อมด้วย

สอดคล้องกับแนวทางสนับสนุนของ นายโอฬาร พิทักษ์ กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำว่า ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังซึ่งใช้น้ำมากมาปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเขียวทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง เพราะพืชเหล่านี้มีอายุการเก็บเกี่ยวใกล้เคียง หรือสั้นว่าข้าว แต่ใช้น้ำน้อยกว่า ให้ผลตอบแทนในการผลิตมากกว่า โดยมีตลาดรองรับอีกด้วย เน้นในพื้นที่เขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดพบว่ามีพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชไร่ดังกล่าวราว 4 ล้านไร่

ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ 6 เดือน

ขณะที่ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ บอกว่า ส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 206.233 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ประสบภัยแล้ง อัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีสมาชิกเป้าหมายจำนวน 134,479 ราย จาก 651 สถาบันเกษตรกร ซึ่งมีทั้งสัญญากู้เดิมและสัญญากู้ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557-30 เมษายน 2559 นอกจากนี้มีแผนสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นให้แก่สมาชิกในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) อนุมัติกรอบวงเงิน กพส. จำนวน 300 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ยืมไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนแบบปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน

ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินภาพของสถานการณ์ภัยแล้งและมาตรการในการช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยในฤดูการผลิตปี 2558/2559 ขณะที่ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่ามีข้อบ่งชี้ทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า อุณหภูมิบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ภาคเกษตรอาจได้รับผลกระทบทั้งในเรื่องปริมาณน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต และในแง่ของปริมาณผลผลิตอีกด้วย

ชมสวนสมุนไพร-แช่น้ำร้อนดื่มด่ำธรรมชาติที่’ริเวอร์แคว วิลเลจ’

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160110/220182.html

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป
วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2559
ชมสวนสมุนไพร-แช่น้ำร้อนดื่มด่ำธรรมชาติที่'ริเวอร์แคว วิลเลจ'

ท่องโลกเกษตร : ตระเวนชมสวนสมุนไพร-แช่น้ำร้อน ดื่มด่ำธรรมชาติที่ ‘ริเวอร์แคว วิลเลจ’ : โดย…สุรัตน์ อัตตะ

                      การหาสิ่งแปลกใหม่ด้วยกิจกรรมเพื่อสุขภาพ กลายเป็นกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญของธุรกิจบริการในการดึงดูดใจลูกค้า ในยุคปัจจุบัน โรงแรมริเวอร์แคววิลเลจ ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่หันมาเติมเต็มในสิ่งเหล่านี้ ล่าสุดได้สร้างลานกิจกรรม Xtreme Centric Park ซึ่งเป็นศูนย์รวมกิจกรรมเอ็กซ์ตรีมที่รวมเครื่องเล่นไว้มากที่สุดใน จ.กาญจนบุรี และเป็นรายแรกของประเทศไทยที่นำเข้า DTV(Dual Track Vesical) มาให้ทดสอบความท้าทาย ความกล้าของลูกค้าผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงกิจกรรมแช่น้ำร้อนริมแม่น้ำแควน้อยใหม่ทั้งหมด โดยยกออนเซนแบบญี่ปุ่นมาให้สัมผัสกันอย่างเต็มอิ่ม
                      “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้มาสัมผัสกลิ่นอายธรรมชาติกลางหุบเขาใน ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี แหล่งรวมกิจกรรมเพื่อสุขภาพของโรงแรมริเวอร์แคววิลเลจ ที่เต็มไปด้วยความสนุกตื่นเต้นเร้าใจ แต่มีการผ่อนคลายด้วยกิจกรรมแช่น้ำร้อนสมุนไพรธรรมชาติริมแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นไฮไลท์ของโรงแรม “สวัสดีครับทุกคน ยินดีต้อนรับสู่ริเวอร์แคววิลเลจครับ” คำกล่าวทักทายจากผู้บริหารหนุ่ม “วีรวัฒน์ เจียรจิตเลิศ” ทันทีที่พวกเราเดินทางไปถึง พร้อมน้ำดื่มสมุนไพรแก้กระหาย หลังใช้เวลาเดินทางเกือบ 4 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ จากนั้นก็มาสัมผัสกิจกรรมเริ่มด้วยการปาเป้าแล้วก็มาต่อด้วยกิจกรรมการยิงธนูเพื่อทดสอบสายตาและความแม่นยำ
                      จากนั้นก็นั่งรถมาที่บริเวณลานกิจกรรมเอ็กซ์ตรีม เซ็นทริค พาร์ค เพื่อมาทดสอบความกล้าและท้าทายด้วยเครื่องเล่นหลากหลายชนิด เริ่มด้วย บับเบิลฟุตบอล ขับเอทีวีในเส้นทางวิบาก รวมทั้งดีทีวี ซึ่งเป็นเครื่องเล่นท้าทายที่นำเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังใช้เวลาเล่นกิจกรรมเรียกเหงื่อพอสมควร แม้ว่าจะยังมีอีกหลายกิจกรรมที่รอความท้าทายแต่ร่างกายกลับไม่ไหว  เช้าวันต่อมาเริ่มด้วยการล่องแพเปียก ถือเป็นอีกกิจกรรมที่สนุกสนานทุกคนไม่ควรพลาดหากมีโอกาสแวะเวียนมาที่นี่ ก่อนจะเข้าสู่ไฮไลท์ในโซนRock Vallay Hot Spring&Fish Spa ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับโรงแรม
                      วีรวัฒน์ เผยระหว่างนำเยี่ยมชมกิจกรรมในโซน Rock Vallay Hot Spring&Fish Spa ว่าโซนนี้ได้มีการปรับปรุงใหม่ทั้งหมดและเสร็จสมบูรณ์ในปลายปีที่แล้ว หลังเปิดให้บริการมาเกือบ 10 ปี ด้วยการขยายบ่อแช่น้ำร้อนสมุนไพรจากธรรมชาติ จากเดิมมี 8 บ่อเพิ่มเป็น 15 บ่อ แบ่งเป็นบ่อด้านนอก 8 บ่อ ด้านใน 7 บ่อ เพื่อความหลากหลายมากขึ้น โดยบ่อแต่ละบ่อนั้นจะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันออกไป เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 38-42 องศาเซลเซียส พร้อมเติมเต็มด้วยพืชสมุนไพรไทยชนิดต่างๆ ในแต่ละบ่อ ซึ่งสมุนไพรแต่ละชนิดจะมีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น ขมิ้นชัน ไพล มะกรูด ตะไคร้ ใบเตย อัญชัน ชาใบหม่อน กาแฟ รางจืด กระเจี๊ยบแดง ยูคาลิปตัส ฯลฯ นอกจากยังมีสปาเท้า หรือฟิชสปา อีก 2 บ่อเพื่อความผ่อนคลายหลังจากได้แช่น้ำร้อนสมุนไพร พร้อมบริการพอกหน้าด้วยโคลนและนวดเพื่อการผ่อนคลาย
                      “บ่อน้ำร้อนของเราเป็นบ่อน้ำแร่ธรรมชาติเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ก็ได้พัฒนามาเป็นบ่อแช่น้ำร้อนสมุนไพร โดยเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2009 พัฒนามาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากทำเป็นบ่อสมุนไพรรวม คือรวมทุกอย่างไว้ในบ่อเดียวกัน จากนั้นก็ได้พัฒนาแยกชนิดของสมุนไพรไว้ในแต่ละบ่อ เพราะบางคนอาจจะไม่ชอบสมุนไพรบางชนิดหรือบางคนเกิดอาการแพ้ ใครอยากแช่สมุนไพรชนิดไหนก็เลือกได้ตามสะดวก” วีรวัฒน์ให้ข้อมูล พร้อมชี้ไปที่บ่อสมุนไพรรวม ซึ่งเป็นบ่อแรก ด้วยความร้อนอุณหภูมิปกติเพื่อต้องการปรับความสมดุลของร่างกายก่อนจะไปแช่ในบ่อถัดไป ที่แยกเป็นบ่อสมุนไพรแต่ละชนิด เช่น บ่ออัญชัน บ่อกาแฟ บ่อยูคาลิปตัส บ่อรางจืด เป็นต้น
                      สองข้างระหว่างทางเดินจากบ่อหนึ่งไปอีกบ่อหนึ่งเต็มไปด้วยพืชสมุนไพรนานาชนิดที่ปลูกไว้มีกลิ่นหอมคละคลุ้งไปทั่วอาณาบริเวณ และบางส่วนก็เก็บมาใส่ในบ่อน้ำร้อนด้วย สภาพร่มรื่นด้วยสมุนไพรทั้งใหญ่น้อยทำให้ผู้ที่มาใช้บริการรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้มาสัมผัสในโซนนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการแช่แต่ละบ่อเฉลี่ยประมาณ 10-15 นาที จากนั้นก็มาที่สปาเท้าด้วยปลา หรือฟิชสปา ในฐานะผู้บุกเบิกเป็นที่แรกเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ก่อนจะทำกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันแล้วก็มาผ่อนคลายด้วยการพอกหน้าด้วยโคลนและนวดตัวเป็นลำดับสุดท้าย โดยระยะเวลาในการใช้บริการโซนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ
                      นับเป็นอีกก้าวของโรงแรมริเวอร์แคววิลเลจในการปรับกลยุทธ์มัดใจลูกค้าในทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ โดยเน้นกิจกรรมเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายควบคู่การดูแลด้วยพืชสมุนไพร และในวันที่ 23 มกราคมนี้ ริเวอร์แคววิลเลจได้ฤกษ์เปิดศักราชใหม่ด้วยกิจกรรมปล่อยใจไปบนราง เดินทางด้วยเสียงเพลง พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเต็มรูปแบบ สนใจสัมผัสกิจกรรมเด่นสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร.0-2251-7828, 0-2251-7552 ได้ทุกวัน
———————
(ท่องโลกเกษตร : ตระเวนชมสวนสมุนไพร-แช่น้ำร้อน ดื่มด่ำธรรมชาติที่ ‘ริเวอร์แคว วิลเลจ’ : โดย…สุรัตน์ อัตตะ)

ผงขัดหน้าข้าวหอมทุ่งกุลา วิถีเพิ่มมูลค่า-สู่สินค้าคุณภาพ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160108/220071.html

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป
วันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2559
ผงขัดหน้าข้าวหอมทุ่งกุลา วิถีเพิ่มมูลค่า-สู่สินค้าคุณภาพ

ทำมาหากิน : ผงขัดหน้าข้าวหอมทุ่งกุลา วิถีเพิ่มมูลค่า-สู่สินค้าคุณภาพ : โดย…ทีมข่าวเกษตร

                      ผลิตภัณฑ์ผงขัดหน้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สูตรสมุนไพร แบรนด์ “กุลา” ของเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด โดยการนำของ นายสว่าง สุขแสง นับเป็นอีกวิถีเพิ่มมูลค่าข้าวจากภูมิปัญญาของชาวนาสู่สินค้าคุณภาพ ที่มีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การันตีปลอดภัยไร้สารเคมี บำรุงผิวหน้าและผิวพรรณได้ผลดี
                      นายสว่าง สุขแสง ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน ต.หนองแคน เล่าว่า จากที่ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาประสบปัญหาด้านการลงทุนเพาะปลูก อีกทั้งราคาข้าวตกต่ำ ในปี 2555 ได้รวบรวมชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิก ด้วยมุ่งจะเพิ่มราคาข้าวให้สูงขึ้น จึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์พร้อมผลิตผลข้าวหอมมะลิมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งตั้งเป้าราคาขายให้ได้กิโลกรัมละ 2,500 บาท
                      โดยกลุ่มคลัสเตอร์ข้าวหอมมะลิร้อยเอ็ด ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาข้อมูลทำให้รู้ว่าข้าวหอมมะลิ มีโอเมก้า 6 ช่วยให้ผิวสดใส มีน้ำมีนวล ชาวบ้านมีองค์ความรู้เรื่องหมอยาพื้นบ้าน จึงนำมาสู่การพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ จึงช่วยกันคิดค้นจนได้ผงขัดหน้าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สูตรสมุนไพร แบรนด์ “กุลา” ที่มีส่วนผสมของพืชสมุนไพร 8 ชนิด คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ต้นพญายา พืชสมุนไพรมีคุณสมบัติเหมือนผงทานาคา กวาวเครือขาว ว่านนางคำ ไพร เสลดพังพอน และใบหมาน้อย นำทั้งหมดมาบดเป็นผงแล้วผสมให้เข้ากันจนเป็นผงขัดหน้า ซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้ผิวสดใสมีน้ำมีนวล ลบเลือนริ้วรอย เหี่ยวย่น ฝ้า กระ ค่อยๆ จางลง แก้อาการเม็ดผื่นคัน และโรคผิวหนัง
                      “แรกๆ มีปัญหาเรื่องสมุนไพรที่ใช้เป็นตัวประสานจนพบว่าใบหมาน้อย น้ำจะมีลักษณะเป็นวุ้น จึงนำมาผึ่งลมให้แห้งจากนั้นทำเป็นผงละเอียดแล้วผสมรวมกับผงสมุนไพรตามสูตร เมื่อนำไปผสมน้ำพบว่าผงที่ได้มีลักษณะคล้ายโคลนพอกหน้าของต่างประเทศ ในปีแรกเราให้สมาชิกในเครือข่ายทดสอบผลิตภัณฑ์ ต่อมาจึงนำไปขึ้นทะเบียนโอท็อป สินค้าของดี จ.ร้อยเอ็ด จนปีที่ 2 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นำไปทดสอบในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน จำนวน 100 คน ไม่มีอาการระคายเคือง ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ สมาชิกจึงช่วยกันพัฒนาบรรจุภัณฑ์และควบคุมผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ”
                      ด้านการตลาด นายสว่าง บอกว่า เริ่มจากการบอกแบบปากต่อปาก จากนั้นขายผ่านทางเฟซบุ๊กในชื่อว่า “ดอน หนองโจน” ผลิตให้ร้านสปา จ.ขอนแก่น รวมถึงการออกร้านในงานโอท็อป ที่มีหน่วยงานประสานไป โดยผลิตภัณฑ์มี 3 ขนาด 3 ราคาให้ผู้สนใจได้ซื้อหา คือในซองขนาด 5 กรัม ขาย 15 บาท ใช้ได้ครั้งเดียว แบบกล่องสามเหลี่ยมขาย 159 บาท และแบบชุดกิฟท์เซต มาสก์หน้า จะมีผ้าขนหนูเช็ดหน้า ช้อน ถ้วยเซรามิก ขายกล่องละ 499 บาท
                      อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้หลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน ทำให้ชาวบ้านได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น ข้าวสารหอมมะลิทุ่งกุลา ที่ขายได้กิโลกรัมละ 38 บาท เมื่อแปรรูปเป็นผงขัดหน้าก็จะสามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 2,500 บาท
                      ส่วนผู้สนใจในผลิตภัณฑ์สอบถามได้ที่ นายสว่าง สุขแสง เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน 73 หมู่ 5 ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด โทรศัพท์ 08-4027-3039
———————-
(ทำมาหากิน : ผงขัดหน้าข้าวหอมทุ่งกุลา วิถีเพิ่มมูลค่า-สู่สินค้าคุณภาพ : โดย…ทีมข่าวเกษตร)

ตลาดข้าวเสรีอาเซียน…ยังห่างไกลกับความเป็นจริง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160108/220070.html

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป
วันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2559
ตลาดข้าวเสรีอาเซียน...ยังห่างไกลกับความเป็นจริง

ทำกินถิ่นอาเซียน : ตลาดข้าวเสรีอาเซียน…ยังห่างไกลกับความเป็นจริง : โดย … รศ.สมพร อิศวิลานนท์

                      ข้าวเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกกันมากในอาเซียน ทั้งนี้ เพราะข้าวเป็นทั้งพืชอาหารดั้งเดิมของเอเชีย เป็นวิถีชีวิตและเป็นแหล่งวัฒนธรรมซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละประเทศ ประชาคมอาเซียนมีผลผลิตข้าวโดยรวมประมาณ 117 ล้านตันข้าวสาร ในจำนวนนี้มีการใช้บริโภคภายในภูมิภาค 103 ล้านตันข้าวสารและมีผลผลิตส่วนเกินจำนวน 14 ล้านตัน แต่มีการค้าขายภายในอาเซียนประมาณ 4.4 ล้านตันในปี 2557 ดังนั้นผลผลิตส่วนใหญ่ของอาเซียนจึงต้องส่งเป็นสินค้าออกไปนอกอาเซียน
                      ความสลับซับซ้อนของตลาดข้าวอาเซียนนั้น แบ่งสมาชิกออกได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกได้แก่กลุ่มประเทศที่ผลิตข้าวได้เหลือกินเหลือใช้ในประเทศและส่งเป็นสินค้าออก ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ และสปป.ลาว โดยในกลุ่มนี้มีประเทศไทยซึ่งอยู่ในกลุ่มอาเซียนเก่าได้ตกลงยกเลิกภาษีการนำเข้าข้าวเป็นศูนย์มานับตั้งแต่ปี 2553 ส่วนประเทศเวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ และสปป.ลาว ซึ่งเป็นกลุ่มอาเซียนใหม่ตกลงที่จะยกเลิกการนำเข้าสินค้าข้าวเป็นศูนย์นับจากปี 2559 เป็นต้นไป กลุ่มที่สองได้แก่ประเทศที่มีพื้นที่การผลิตข้าวน้อยมากหรือไม่มีเลยและต้องพึ่งการนำเข้าเป็นสำคัญ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์และบรูไน ได้ตกลงลดภาษีการนำเข้าข้าวเป็นศูนย์นับจากปี 2553 พร้อมกับประเทศไทยด้วยเช่นกัน
                      ส่วนกลุ่มที่สามได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเป็นพืชอาหารที่สำคัญและมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยเกี่ยวข้องกับการผลิตข้าว แต่การผลิตข้าวภายในประเทศกลับมีไม่เพียงพอและต้องพึ่งพิงการนำเข้าข้าวเข้ามาเสริมบางส่วนให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ อีกทั้งเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประชากรในประเทศ พร้อมๆ กับการดูแลเกษตรกรในประเทศเหล่านั้นให้เกิดความมั่นคงในอาชีพการทำนาไปพร้อมๆ กัน
                      การดำเนินนโยบายเพื่อให้เกิดการพึ่งพิงตนเองเรื่องข้าวของประเทศในกลุ่มนี้ นอกจากจะยกระดับราคาในประเทศให้สูงเพื่อสร้างแรงจูงใจและสร้างรายได้ให้เพียงพอกับอาชีพการทำนาแล้ว ประเทศในกลุ่มนี้ยังคงใช้มาตรการทางภาษีเพื่อจำกัดการนำเข้าสินค้าข้าวที่มีราคาต่ำกว่าการผลิตภายในประเทศของตน และขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าข้าวเข้ามามากจนเกิดผลกระทบกับราคาข้าวที่เกษตรกรภายในประเทศจะได้รับ
                      โดยประเทศอินโดนีเซียแม้จะลดภาษีลงจากเพดานเดิมบ้างแล้วแต่ก็จะยังคงภาษีการนำเข้าข้าวไว้ที่ร้อยละ 25 และมีองค์กรที่เรียกว่า บุลล็อก (Bullogหรือ The National Logistic Supply Organization) ทำหน้าที่ในการบริหารการนำเข้าสินค้าข้าวและการกำหนดโควตาการนำเข้าในแต่ละปีเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาข้าวภายในประเทศประเทศ ฟิลิปปินส์กำหนดภาษีการนำเข้าสินค้าข้าวไว้ที่ร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้าภายในโควตาจำนวน 350,000 ตัน ส่วนการนำเข้าข้าวนอกโควตาได้จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 50 ทั้งนี้กำหนดให้สำนักงานอาหารแห่งชาติ (NFA หรือ National Food Authority) เป็นผู้กำหนดโควตาของการนำเข้าข้าวในแต่ละปี
                      สำหรับประเทศมาเลเซียจะยังคงภาษีการนำเข้าสินค้าข้าวไว้ที่ร้อยละ 20 และมีองค์กรที่เรียกว่าเบอร์นาส (BERNAS หรือ Padiberas Nasional Berhad) ทำหน้าที่ในการควบคุมและจัดการนำเข้าสินค้าข้าวเพื่อใช้เป็นมูลภัณฑ์กันชนสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศ
                      ดังนั้นสำหรับสินค้าข้าวแล้ว การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2559 ตลาดสินค้าข้าวจะยังไม่เป็นตลาดเสรี โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีนโยบายพึ่งพิงตนเองเรื่องข้าว เพราะจะยังคงรักษาระดับราคาข้าวในประเทศให้สูงเพื่อจูงใจให้เกิดการขยายตัวด้านการผลิตและขณะเดียวกันก็ยังจะใช้มาตรการด้านภาษีในการจำกัดการนำเข้าไปต่อไปอีกนาน
———————-
(ทำกินถิ่นอาเซียน : ตลาดข้าวเสรีอาเซียน…ยังห่างไกลกับความเป็นจริง : โดย … รศ.สมพร อิศวิลานนท์)

ชาวสวนยางหันปลูกแตงโมขายสร้างรายได้

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160107/220072.html

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป
วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2559
ชาวสวนยางหันปลูกแตงโมขายสร้างรายได้

เกษตรกรชาวสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานี หันมาปลูกแตงโมขายสร้างรายได้ หลังประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

      7 ม.ค.59 บนพื้นที่สวนยางพาราอายุ 1 ปี จำนวน 65 ไร่แปลงนี้ตั้งอยู่ริมถนนสายสุราษฎร์ธานี-บ้านนาสาร ม.4 บ้านคลองหินแท่ง ต.พรุพี อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ที่ในร่องยางพาราปลูกแตงโมสายพันธุ์กินรี101และสายพันธุ์โบอิ้ง 787 กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในขณะนี้ โดยมีนายสุวรรณสาม มัชฌิม เกษตรกรชาวสวนยาง วัย 44 ปี ได้เช่าพื้นที่สวนยางปลูกแตงโมขายสร้างรายได้ หลังจากพบวิกฤติราคายางตกต่ำ 4 กิโลกรัม 100 บาท แต่โชคดีที่เจ้าของสวนยางรายนี้ไม่คิดค่าเช่า โดยแลกกับการดูแลสวนยางพาราแทน
      นายสุวรรณสาม บอกว่า ตนเองมีพื้นที่สวนยางเพียงไม่กี่ไร่และราคายางตกต่ำ ได้ตระเวนเช่าพื้นที่ปลูกพืชอายุสั้นแซมในสวนยางสร้างรายได้มานานกว่า 2-3 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแตงโม หรือข้าวโพด โดยเฉพาะแตงโมสายพันธุ์กินรี101และสายพันธุ์โบอิ้ง 787 ซึ่งเนื้อแน่น หวาน กรอบ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งได้ปลูกรอบแรกไปแล้วก็ประสบความสำเร็จพอสมควร เมื่อหักลบต้นทุนแล้วจะได้กำไรประมาณ 2-3 เท่าตัว โดยช่วยกันทำในครอบครัวดึงลูกหลานที่เป็นเยาวชนมาทำงานไม่ให้มั่วสุมกับอบายมุข และทุกคนก็ชอบเมื่อประสบความสำเร็จเห็นรายได้เป็นกอบเป็นกำ “ซึ่งจะหวังยางพาราไม่ได้แล้วต้องทำอย่างอื่นเสริม”
      นายสุวรรณสาม เล่าต่อว่า ซึ่งพื้นที่แปลงนี้ปลูกแตงโมได้ 28-29 วันแล้ว ประมาณกลางเดือน มี.ค.จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยแตงโมใช้เวลาปลูกประมาณ 2 เดือนครึ่ง หรือ 60-75 วัน ลงทุนไร่ละประมาณ 1 หมื่นบาท ขายได้ไร่ละประมาณ 4 หมื่นบาท เพียงแต่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ระบบน้ำต้องดี และห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้น้ำหอมกลิ่นแรงจะไม่ให้เข้าใกล้เด็ดขาด เพราะจะทำให้ฮอร์โมนหรือต้นอ่อนขาดการเจริญเติบโตหรือชะงักการเจริญเติบโตชั่วคราว โดยหากใครจะมาชมสวนหรือขอถ่ายรูปก็สามารถถ่ายได้ไกล ๆ และขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยเฉพาะช่วงนี้เหมาะสมที่สุด
      ทั้งนี้ ครอบครัวนี้มีความสนใจในอาชีพเกษตรกรทั้งครอบครัวโดยเฉพาะนายบุญเกิด มัชฌิม ลูกชายวัย 23 ปี และลูก ๆวัยรุ่น อีก 4 คนที่รักในอาชีพเกษตรกรช่วยกันปลูกแตงโม โดยนายบุญเกิด บอกว่า ตนเองเรียนจบ ปวช.วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ตอนแรกก็อยากเที่ยวเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่เมื่อปลูกแตงโมกับพ่อแม่โดยพ่อให้ค่าจ้างสูงช่วงแรก ๆ จนซึมซับและรู้สึกรักในอาชีพนี้ขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ชอบและทำทุกวันโดยไม่คิดค่าจ้างแล้ว แต่ทำด้วยใจรัก
      อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการทำอาชีพเสริมหลากหลายแล้ว คนในครอบครัวนี้ยังปรับสภาพดินปลูกข้าวไร่ ปลูกผักปลอดสารพิษทำกินในครอบครัวอีกด้วย ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจนปัจจุบันเริ่มทำเป็นธุรกิจในครอบครัวแล้ว ซึ่งมีเจ้าของสวนยางขนาดเล็กจำนวนมากติดต่อขอให้ปรับสภาพพื้นที่ในสวนยางเพื่อปลูกพืชอายุสั้นโดยที่ไม่คิดค่าเช่าเพียงขอให้ดูแลสวนยางให้เท่านั้น

ชูเลี้ยงไก่ไข่สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160107/219999.html

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป
วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2559
ชูเลี้ยงไก่ไข่สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

ศูนย์เรียนรู้เกษตรในโรงเรียน ชูเลี้ยงไก่ไข่สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ : โดย…ดลมนัส กาเจ

                      ย้อนไปในปี 2532 เป็นเวลา 26 ปีแล้วที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี โดยมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน สนับสนุนและมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนทั่วประเทศ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 113 แห่ง รวมถึงโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในสังกัดอื่นๆ รวมแล้ว 551 โรงเรียนทั่วประเทศ ล่าสุดเลือกสนับสนุนโรงเรียนอนุบาลประจักษ์ศิลปาคม ต.บ้านนาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี นับเป็นโรงเรียนลำดับที่ 551 ที่ได้รับมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเป็น 1 ใน 50 โรงเรียนที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ) ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ สนับสนุนโครงการในปี 2558
                      นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ บอกว่า ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งมอบอาหารที่มีคุณค่า คุณภาพ และความปลอดภัยสู่คนไทยทุกกลุ่ม ด้วยเชื่อมั่นว่าเมื่อประชาชนได้รับโภชนาการที่ดีก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรง มีพลังในการนำประเทศสู่ความเข้มแข็ง ดังนั้นซีพีเอฟจึงส่งเสริมการเข้าถึงอาหารแก่คนไทยผ่านโครงการเพื่อสังคมที่หลากหลาย อาทิ โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต และโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน รวมถึงมอบเบี้ยยังชีพ อาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้สูงวัย ในโครงการ “กองทุน ซีพีเอฟ คืนสุขผู้สูงวัย” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 รวมแล้ว 716 คน มูลค่า 54 ล้านบาท ด้วย
                      สำหรับโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ได้ดำเนินการมากว่า 26 ปี โดยในปี 2559 มีการส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มอีก 50 โรงเรียน รวมเป็น 602 โรงเรียนทั่วประเทศ สนับสนุนงบประมาณไปแล้ว 82 ล้านบาท ส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลกว่า 120,000 คน มีสุขภาพอนามัยที่ดี เติบโตสมวัย และมีครูกว่า 5,000 คน ตลอดจนชุมชน 900 แห่งทั่วไทย ได้รับประโยชน์ และในครั้งนี้เป็นการส่งมอบโครงการแก่โรงเรียนอนุบาลประจักษ์ศิลปาคม อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี
                      ด้าน นายพัฒนา ศรีโบราณ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลประจักษ์ศิลปาคม บอกว่า โรงเรียนอนุบาลประจักษ์ศิลปาคม เป็นโรงเรียนขยายโอกาส และเป็นโรงเรียนต้นแบบจัดการศึกษาแบบลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ในพื้นที่ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียนรวม 190 คน ครูและเจ้าหน้าที่ 19 คน ได้รับงบประมาณค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กจำนวนทั้งสิ้น 125 คน ในอัตราคนละ 20 บาทต่อวัน
                      เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกร โรงเรียนจึงจัดการเรียนด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ มีการปลูกพืชผัก ปลูกมะนาว เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่บ้าน โดยเอาผลผลิตที่ได้มาเป็นอาหารกลางวันของเด็ก ที่เหลือก็ขายบ้างเอาเงินเข้าโครงการ กระทั่งเมื่อปี 2557 โรงเรียนทราบว่า ซีพีเอฟ มีการส่งเสริมในโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน จึงลองสมัครดูปรากฏว่าได้รับการคัดเลือก โดยทางซีพีเอฟ จะช่วยค่าโรงเรือน 1 หลัง แม่ไก่ 150 ตัว พร้อมอาหารคิดมูลค่า 2.7 แสนบาท และส่งเจ้าหน้าที่มาดูแล และเป็นพี่เลี้ยงในทุกขั้นตอน ถือเป็นโครงการที่ดีมาก ไม่เพียงแต่จะสอนให้เด็กรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ หากครูและคนในรอบชุมชนได้เรียนรู้และนำเป็นอาชีพเสริมได้ จนทุกวันนี้ที่โรงเรียนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรโดยเฉพาะการเลี้ยงไก่ไข่ให้แก่ชุมชนด้วย
                      ส่วน ด.ญ.จุฬารักษ์ บำรุงภักดี นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 หัวหน้ารับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่โรงเรียนอนุบาลประจักษ์ศิลปาคม หลังจากที่เข้าร่วมโครงการแล้วทำให้มีความรู้เพิ่มจากที่เรียนในห้องเรียน และสามารถสอนให้ผู้ปกครองเลี้ยงไก่ไข่ให้ถูกวิธีด้วย ที่สำคัญสิ่งที่ตามคือทำให้มีสมาธิและความรับผิดชอบสูงขึ้นอีกด้วย หากช่วงปิดเทอมอาจให้คุณพ่อกับคุณแม่เลี้ยงบ้าง
                      นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ สำหรับเยาวชนไทยที่สนใจอาชีพด้านการเกษตร ที่สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้
———————-
(ศูนย์เรียนรู้เกษตรในโรงเรียน ชูเลี้ยงไก่ไข่สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ : โดย…ดลมนัส กาเจ)

หลากเมนู ‘อาหารคลีน’ สูตรอร่อยมุ่งคนรุ่นใหม่

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160107/220000.html

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป
วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2559
หลากเมนู 'อาหารคลีน' สูตรอร่อยมุ่งคนรุ่นใหม่

หนักเอาเบาสู้ : หลากเมนู ‘อาหารคลีน’ สูตรอร่อยมุ่งคนรุ่นใหม่ : โดย…ทีมข่าวเกษตร

                      จากกระแสของคนหนุ่มสาวที่หันมาดูแลเอาใจใส่สุขภาพ ออกกำลังกายควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำให้ วรพล แสวงเพ็ชร วัย 26 ปี ชาวขอนแก่น มีแนวคิดทำอาหารคลีนเดลิเวอลี่ให้บริการกลุ่มผู้รักสุขภาพกลุ่มนี้
                      วรพล เล่าว่า จบการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ เมื่อจบได้ทำงานด้านอาหารเสริมควบคู่กับการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพ จึงสนใจอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารคลีนที่หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดน้ำหนักได้ จึงทดลองทำสูตรอาหารรับประทานเองก่อนแจกให้เพื่อนๆ ได้ลองชิมจนเห็นผลว่ามีการเปลี่ยนแปลง จากที่เคยเป็นคนเจ้าเนื้อน้ำหนักเริ่มลดลงเมื่อทำคู่กับการออกกำลังกาย จนกลายมาเป็นไดเอทเมนูเดลิเวอลี่ เมื่อปี 2558
                      “ทดลองอยู่ระยะหนึ่งจนได้รสชาติที่ลงตัว จึงทำขายที่ร้านของแม่ ซึ่งเปิดร้านขายข้าวแกงขายให้นักศึกษาอยู่แล้ว ต่อเมื่อเสียงตอบรับดีจึงลาออกจากงานประจำ แล้วเปิดตลาดอาหารคลีนเดลิเวอลี่ ใช้ชื่อว่า ไดเอทเมนู บริการส่งตามบ้านในเมืองขอนแก่น”
                      วรพล บอกถึงเมนูว่า ปัจจุบันมีทั้งเมนูไก่ และเมนูปลา รวมกว่า 40 เมนู อาทิ ผัดกะเพรา ผัดฉ่า ผัดขิง ลาบ ทอดกระเทียม ผงกระหรี่ ผัดพริกไทยดำ โดยใน 1 กล่องจะมีข้าวกล้อง กับข้าว ผักรวม ทุกเมนูจะมีการคำนวณให้ได้พลังงาน 350 กิโลแคลลอรี ซึ่งเพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละมื้อ พร้อมกับรับประทานผัก ผลไม้ งดน้ำตาล เค็ม รับประทานติดต่อกัน 2-3 วัน จะเห็นผลชัดเจนว่าน้ำหนักลดลง
                      สำหรับการเจาะกลุ่มลูกค้านั้น วรพลบอกว่า ทั้งแจกใบปลิวให้คนรู้จัก กลุ่มเพื่อนๆ ที่ออกกำลังกายด้วยกัน จากการบอกปากต่อปาก พร้อมเปิดเพจรับออเดอร์ผ่านเฟซบุ๊ก และไลน์ชื่อ Diemenu
                      “เราจะทำเท่าที่ลูกค้าสั่ง จะไม่ทำค้างไว้ เพราะทุกเซตต้องทำใหม่ ต้องชั่งน้ำหนัก เพื่อให้ทุกกล่องมีคุณภาพและปริมาณที่เท่ากัน ตอนนี้จึงมีลูกค้ากระจายอยู่ในเทศบาลนครขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับราคาถือว่าไม่แพง เพราะมีลูกค้าหลายคนไม่มีเวลาทำรับประทานเอง เนื่องจากต้องใช้เวลาจัดเตรียมวัตถุดิบ ต้องพิถีพิถัน”
                      ในอนาคตอันใกล้ วรพลมีเป้าหมายจะขยายตลาดให้เพิ่มขึ้น ด้วยการคิดเมนูให้หลากหลายขึ้น รวมถึงการขยายพื้นที่การให้บริการ หากสนใจรายละเอียดติดต่อได้ที่ วรพล แสวงเพ็ชร เลขที่ 201/8 ถ.บ้านกอก อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทรศัพท์สอบถามได้ที่ 09-4169-7311 หรือทางเฟซบุ๊ก และไลน์ในชื่อ Diemenu
———————-
(หนักเอาเบาสู้ : หลากเมนู ‘อาหารคลีน’ สูตรอร่อยมุ่งคนรุ่นใหม่ : โดย…ทีมข่าวเกษตร)

ยึดหลักการตลาดนำการผลิตความสำเร็จ’สหกรณ์ดอนหอ’

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160106/219998.html

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป
วันพุธที่ 6 มกราคม 2559
ยึดหลักการตลาดนำการผลิตความสำเร็จ'สหกรณ์ดอนหอ'

ยึดหลักการตลาดนำการผลิตความสำเร็จ’สหกรณ์ดอนหอ’ : สุรัตน์ อัตตะ

          นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ จำกัด ต.ข้าวสาร อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ภายใต้การนำของเกษตรกรหัวก้าวหน้า “สมพงษ์ หมั่นมา” ในฐานะประธาน หลังประสบความสำเร็จในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากยางก้อนถ้วยเป็นเครปก็รุกมาทำการตลาดพืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้านอีก 2 ตัว ประกอบด้วยอ้อยและมันสำปะหลังเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในโครงการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มของสมาชิกตามสโลแกนของสหกรณ์สมาชิกมั่งคั่ง สร้างสหกรณ์ให้มั่นคง
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวชื่นชมระหว่างนำคณะลงพื้นที่เยี่ยมสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ  จำกัด โดยระบุว่าฟังการบรรยายสรุปจากประธานและการดำเนินการของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ จำกัด แล้วพบว่าการดำเนินงานของสหกรณ์แห่งนี้ได้ดำเนินการตามแนวทางของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยเฉพาะปี 2559 กระทรวงเกษตรฯ จัดให้เป็นปีลดต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันของเกษตรกร

“วันนี้เราแสดงให้เห็นถึงขบวนการของสหกรณ์ที่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มโอกาสการแข่งขัน รวมถึงเป็นหน่วยกลางในการส่งต่อความรู้เพื่อให้เกษตรกรนำไปเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตด้วย สิ่งหนึ่งที่ได้ฝากสหกรณ์เรื่องการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่จะเข้ามาร่วมกันช่วยสร้างสรรค์สังคมตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอชื่อชมสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ ขอให้ท่านนำแนวทางของสหกรณ์ไปช่วยเหลือสมาชิกซึ่งกันและกัน สหกรณ์เองก็อย่าลืมในการดูแลสังคมให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม”

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวถึงจุดเด่นของสหกรณ์แห่งนี้ว่าใช้หลักการตลาดนำผลผลิต ทำให้มีการขยายช่องทางการตลาดได้อย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะยางพาราในการทำยางก้อนให้เป็นยางเครป ซึ่งทำให้ยางมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ก็ยังมีพืชเศรษกิจที่สร้างอาชีพและรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่อย่างอ้อยและมันสำปะหลัง โดยผลผลิตอ้อยขายโรงงานนั้นจะเน้นการตัดสดแทนการเผา ถือเป็นแนวทางที่ดีและรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ที่สำคัญเกษตรกรสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรและชุมชน เนื่องจากไม่มีควันที่เกิดจาการเผาอ้อย  ส่วนมันสำปะหลังก็จะมีการบูรณาการของหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ที่จะเข้ามาดูแลพี่น้องเกษตรกรตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการตลาด

“ผมได้เรียนสมาชิกแล้วว่ากระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะเข้ามาช่วยท่าน ไม่ว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร แม้กระทั่งท่านที่สนใจการปรับปรุงที่ดิน กรมพัฒนาที่ดินก็จะเข้ามาช่วยดูแล ในช่วงฤดูแล้งที่ยังเพาะปลูกไม่ได้ก็มาเลี้ยงสัตว์ กรมปศุสัตว์ก็จะเข้ามา  อยากกราบเรียนพ่อแม่พี่น้องว่ากระทรวงเกษตรฯ พร้อมที่จะเข้ามาช่วยท่านให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมด้วย” ดร.วิณะโรจน์ กล่าวย้ำ

ขณะที่ สมพงษ์ หมั่นมา ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ จำกัด กล่าวเสริมว่า สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในระยะแรก โดยเน้นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากยางก้อนถ้วยเป็นยางเครป จากนั้นได้ขยายผลมาสู่พืชเศรษฐกิจอีก 2 ชนิดได้แก่ อ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้ของชาวบ้านที่นี่

“เราเริ่มจากยางก่อน สหกรณ์ให้บริการสมาชิกนำยางก้นถ้วยมาแปรรูปเป็นยางเครปแล้วนำไปส่งให้บริษัทผู้ส่งออกโดยตรงเพื่อตัดปัญหาพ่อค้าคนกลางมาประมูลไป เพราะบางครั้งเกิดปัญหาพ่อค้าทิ้งประมูลหรือมีการฮั้วประมูลกันขายได้ต่ำกว่าราคาที่สหกรณ์รับซื้อมา เราไม่สามารถต่อรองหรือทำอะไรกับพ่อค้าคนกลางได้เลย จุดนี้เองที่ทำให้สหกรณ์คิดหาทางออกด้วยการรับซื้อยางเอง หาตลาดเองเพื่อตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง” ประธานสหกรณ์คนเดิมกล่าวและว่า จากนั้นได้ขยายผลมาสู่อ้อยและมันสำปะหลัง โดยเกษตรกรสมาชิกนำผลผลิตมาให้สหกรณ์เป็นผู้รวบรวมจากนั้นก็จะนำสู่โรงงานโดยตรง ซึ่งจะขายได้ราคาที่สูงกว่าและยังลดภารค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการนำผลผลิตส่งโรงงานอีกด้วย

สำหรับสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิก 407 ราย มูลค่าหุ้นทั้งสิ้น 359,600 บาท มีพื้นที่การเกษตรของสมาชิกทั้งสิ้น 13,003 ไร่ ประกอบด้วย ยางพารา 4,763 ไร่ ปลูกอ้อย 3,743 ไร่ มันสำปะหลัง 1,315 ไร่และข้าว 3,087 ไร่ ตามลำดับ

ปลูก’ดอกขจร’ทำเงิน’สมัย ขวาลำธาร’

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160106/219997.html

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป
วันพุธที่ 6 มกราคม 2559
ปลูก'ดอกขจร'ทำเงิน'สมัย ขวาลำธาร'

ปลูก’ดอกขจร’ทำเงิน’สมัย ขวาลำธาร’ : เกษตรกรคนเก่ง โดยกวินทรา ใจซื่อ

           ดอกสลิดหรือดอกขจร เป็นผักพื้นบ้านที่นิยมเพราะนำไปทำอาหารได้หลายเมนู ตลาดมีความต้องการ เกษตรกรหลายจังหวัดจึงปลูกขายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้กว่าแสนบาทต่อปี

นายสมัย ขวาลำธาร เกษตรกรบ้านหนองงูเหลือม อ.เมือง จ.ขอนแก่น ปลูกดอกขจรมากว่า 10 ปี จากเดิมที่ปลูกพืชสวนครัว เช่น พริก ผักชี หน่อไม้ฝรั่งแต่ไม่ดีเท่าที่ควร ต่อมาเมื่อเข้าร่วมอบรมของสำนักงานชลประทาน ที่นำเกษตรกรมาพูดคุยในเวทีประชุม ทำให้รู้ว่ามีบางรายปลูกดอกขจรเป็นพืชแซมควบคู่ไปกับทำนา สร้างรายได้พอควรจึงสนใจ พร้อมกับขอไปศึกษาในพื้นที่จริง

“เมื่อไปศึกษาในพื้นที่จึงรู้ว่ามีสายพันธุ์ที่ปลุกขายได้ มีช่อดอกใหญ่ มีให้เก็บขายทุกวัน หมุนเวียนตลอดทั้งปี และราคาส่งกิโลกรัมละ 50-60 บาท จึงเริ่มสนใจขอต้นพันธุ์เพื่อนบ้านมาเริ่มทดลองปลูกในพื้นที่กว่า 1 งาน ซึ่งปรับมาปลูกดอกขจรแทนการปลูกพืชสวนครัว”

สำหรับดอกขจรเป็นไม้เลื้อยจึงต้องทำค้างให้ ชอบแดดจัด เริ่มให้ดอกในเดือนที่ 4 หลังปลูก เก็บผลผลิตขายได้ 8 เดือน อีก 4 เดือนคือช่วงฤดูหนาวผลผลิตจะน้อย ในช่วงที่ต้นขจรยังไม่ให้ผลผลิตสมัยจะพักต้นพันธุ์ พร้อมบำรุงต้นให้มีความสมบูรณ์เพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มที่เมื่อถึงฤดู

โดยการปลูกในพื้นที่ 1 งานนั้น นายสมัยบอกว่า ปลูกได้ 200 ต้น ระยะห่าง 1.5 เมตรคูณ 1.5 เมตร สิ่งสำคัญคือการทำค้างให้เถาเลื้อย หลังทดลองทำ พบว่าเถาดอกขจรที่เลื้อยบนค้างในแนวตั้ง ให้ผลผลิตน้อยกว่าเถาเลื้อยบนค้างแนวนอน ฉะนั้นจึงรื้อทำค้างในแนวนอน พร้อมกับบำรุงดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ รดน้ำวันเว้นวัน

“เป็นพืชอายุยาวเก็บผลผลิตได้หลายปีขึ้นกับการดูแล การตัดแต่งกิ่งจะช่วยให้ผลผลิตดี ศัตรูพืชมีน้อย ไม่ต้องใช้สารเคมี ทุกวันนี้มีแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน ราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท ”

ดอกขจรจึงเป็นผักพื้นบ้านที่จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดยังต้องการต่อเนื่อง สำหรับเกษตรกรที่สนใจสอบถามได้ที่นายสมัย ขวาลำธาร 45 หมู่ 3 บ้านหนองงูเหลือม ต.หนองตูม อ.เมือง จ.ขอนแก่น

‘มะกอกเผือก’เป็นยา

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20160106/219995.html

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป
วันพุธที่ 6 มกราคม 2559
'มะกอกเผือก'เป็นยา

‘มะกอกเผือก’เป็นยา : ไม้ดีมีประโยชน์ โดยนายสวีสอง

          บางพื้นที่เรียก “มะกอกเผือก” ว่ามะกอกโคก มะกอกดอน พบในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง สูงจากระดับน้ำทะเล 250-800 เมตร สรรพคุณทางยา ใบแก้ปวดหู หูอักเสบ รากแก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ในวงศ์ ANACARDIACEAE สูง 15-20 เมตร ต้นตั้งตรง เนื้อไม้แข็ง กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทรงกลม

ใบ เป็นใบประกอบขนนก ออกเรียงสลับ ใบอ่อนสีน้ำตาลแดงอมเขียว ใบแก่สีเขียวเข้ม

ดอก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยมาก ดอกมี 5 กลีบ ปลายกลีบแหลม ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นกระจุก

ผล รูปไข่กลับ สีเขียว เปลือกแข็ง กว้าง 3-3.5 ซม. ยาว 5-6 ซม. เมื่อแห้งแตกเป็นสองซีก ภายในมี 1 เมล็ดมีปีก

ขยายพันธุ์ ตอนกิ่ง ปักชำ ชอบความชื้นปานกลาง มีแดดส่องเต็มวัน