‘มาม่า-เนชั่น’สานฝันเด็กไทยเข้าสู่มหาวิทยาลัย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20150828/212416.html

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป
วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2558
‘มาม่า-เนชั่น’สานฝันเด็กไทยเข้าสู่มหาวิทยาลัย

‘มาม่า-เนชั่น’สานฝันเด็กไทยเข้าสู่มหาวิทยาลัย เดินหน้า‘โครงการทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับสหพัฒน์ครั้งที่18’ 5-11ต.ค.นี้ พร้อมเจาะลึกแนวข้อสอบกับอาจารย์ชื่อดัง

        28 ส.ค.58 ที่อาคารบางกอกทาวเวอร์ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) และบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) จัด “โครงการทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับสหพัฒน์ ครั้งที่ 18” ระหว่างวันที่ 5-11 ตุลาคม 2558 โดยจัดสอนพร้อมกัน ใน 4 ภาค 4 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคกลาง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย(มกค.) ,ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) และภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ พร้อมถ่ายทอดสัญญาณบรอดแบนด์ไปยังโรงเรียนอีกกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ
        นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล (มหาชน) กล่าวว่า สหพัฒน์มุ่งสานต่อนโยบายในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมให้กับเยาวชนไทยทั่วทุกภาคของประเทศ เพราะขณะนี้การศึกษาไทยล้าหลังประเทศอื่น ขณะที่มีครูดีกระจายอยู่ในเมืองมากมาย ดังนั้น ผลิตภัณฑ์มาม่า บิสชิน มองต์เฟลอ และริชเชส ร่วมกับเนชั่น ในการจัดโครงการทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับสหพัฒน์ ครั้งที่ 18 เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้าศึกษาต่อในคณะ มหาวิทยาลัยที่ตนเองต้องการ ซึ่งการที่เด็กได้เรียนในคณะที่ต้องการ จะทำให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจและพยายามเรียนให้ดีที่สุด จบออกมาเป็นบัณฑิต บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถของประเทศ
        “การศึกษาถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะปลูกฝังความรู้และจิตสำนึกที่ดีให้เด็กไทยได้เติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและคนดีของสังคม โดยปี2557 ที่ผ่านมา สหพัฒน์ได้เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศเข้ามาติวฟรีจากอาจารย์ ติวเตอร์ชื่อดังอย่างเข้มขึ้นผ่านช่องทางห้องติวสดทั้ง 4 แห่ง และติวผ่านสัญญาณบรอดแบนด์ใน 720 แห่ง รวมเป็นจำนวน 726,938 คน เพิ่มขึ้นจากปี2556 ร้อยละ 26.23 และปีนี้ ครั้งที่18 คาดว่าจะมีนักเรียนที่สนใจเข้าร่วม 8 แสนคน” นายเวทิต กล่าว
        นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เนชั่น เป็นสื่อมวลชนที่คำนึงถึงบทบาทในการเผยแพร่ความรู้ไปสู่ประชาชน และเล็งเห็นความสำคัญในการเปิดโอกาส สร้างความเท่าเทียมให้เด็กและเยาวชนโครงการดังกล่าว จึงเป็นการกระจายความรู้ให้เด็กทั่วประเทศได้เรียน ทบทวนความรู้ก่อนสอบเข้าสู่มหาวิทยาลัยจากอาจารย์ ติวเตอร์ที่เก่ง อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยี อย่างบรอดแบนด์ มาถ่ายทอดสดอินเตอร์เน็ต เพื่อขยายโอกาสให้นักเรียนที่ไม่สะดวกในการเดินทางได้เข้าเรียน โดยนักเรียนสามารถไปทบทวน ดูได้จากโรงเรียน หรือถ้าโรงเรียนไหนสนใจ สามารถติดต่อขอการถ่ายทอดสดผ่านบรอดแบนด์ได้แต่ที่โรงเรียนต้องมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม อยากชวนนักเรียนเข้าร่วมในโครงการนี้
        ทั้งนี้ ในปีนี้ นอกจากได้เชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากมหาวิทยาลัยและสถาบันติวชั้นนำของไทย รวม 35 ท่าน อาทิ ครูพี่แนน-อริสรา ครูพี่กิฟต์ จาก เอ็นคอนเซ็ปต์ พี่โหน่ง พี่เต้ย พี่วิเวียน จากออนดีมานด์ พี่กอล์ฟ พี่ฟาร์ม จาก วี บาย เดอะเบรน อ.อนุวัฒน์ อ.ชัย จากพินนาเคิล อ.สาธิตา จากสถาบันภาษาจุฬา อ.พยุงศักดิ์ อ.ศุภชัย จากม.มหิดล และครูทอม จากรายการสอนไทยสไตล์เด็กแนว เป็นต้น มาร่วมถ่ายทอดความรู้แบบเจาะลึกทุกกลุ่มวิชาที่สามารถนำไปใช้ในการสอบ ทั้งการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ความถนัดทั่วไป (แกต)และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (แพต) แล้ว ปีนี้ยังมีความพิเศษครั้งแรกกับ ติวทอล์ก เจาะเทคนิคการทำข้อสอบภาษาอังกฤษจากอาจารย์ของสถาบันชั้นนำของเมืองไทย โดยจะจัดขึ้นวันที่11 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และจะถ่ายทอดสดผ่านสัญญาณบรอดแบนด์ไปยังโรงเรียนอีก 720 แห่งทั่วประเทศ
        สำหรับน้องๆที่สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน 2558 ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.sahapat.co.th หรือ http://www.mamalove.net และ http://www.247friend.net

‘ดาว์พงษ์’ย้ำนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มความรู้

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20150828/212414.html

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป
วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2558
‘ดาว์พงษ์’ย้ำนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มความรู้

‘ดาว์พงษ์’ย้ำนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มความรู้ตอบโจทย์รบ.-นายกฯที่หวังให้เด็กเรียนมีความสุข แจงเลิกเรียนบ่ายสองโมงไม่ใช่ให้กลับบ้านทั้งหมด นำร่อง3,500โรง เริ่มเทอม2

        28 สิงหาคม 2558 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงนโยบาย “การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดเรื่องนโยบายว่า การลดเวลาเรียนโดยเข้าใจว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ให้เลิกเรียนในเวลา 14.00 น. แต่ไม่มีการขยายความว่าเจตนาการปรับลดเวลาเรียนให้น้อยลง เป้าหมายเพื่อให้เด็กไม่ต้องเครียดจนเกินไป ตามนโยบายของรัฐบาล และได้มอบให้ศธ.มาทำการศึกษาดูความเป็นไปได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ได้ไปศึกษา และดูแล้วว่ามีความเป็นไปได้ คือสามารถลดการเรียนวิชาหลักลงได้ จากเดิมเด็กต้องเรียน 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 840 ชั่วโมงต่อปี โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเด็กเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา และเห็นว่าน่าจะสามารถเลิกเรียนได้ในเวลา 14.00 น.
        อย่างไรก็ตาม ศธ.ก็ได้มาพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยถ้าให้เลิกเรียนเวลาดังกล่าว ซึ่งก็พบว่า มีผู้ปกครองบางกลุ่มไม่พร้อมที่จะรับเด็กกลับบ้าน เพราะติดภาระหน้าที่การงาน กลัวลูกจะได้รับอันตราย และสบายใจที่จะให้ลูกอยู่ในโรงเรียนมากกว่าส่วนผู้ปกครองอีกกลุ่ม อาจจะมีภาระทางบ้านที่อยากให้พี่มาช่วยเลี้ยงน้อง มาช่วยดูแลบ้าน
        “ทั้งสองส่วนนี้ไม่ได้ห้าม ถ้าจะกลับบ้านก็ได้ แต่ส่วนที่ไม่พร้อมรับเด็กกลับบ้านโรงเรียนจะมีกิจกรรมที่มีความสุขให้เด็กในช่วงบ่าย แนวทางนี้จะตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี ที่ให้จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และครูมีความสุข หากเด็กได้เลิกเรียนเวลา 14.00 น.ไปทำกิจกรรม เล่นกีฬา ดนตรี ครูพาไปทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ได้โดยกิจกรรมนั้นต้องไม่ใช่การเพิ่มการบ้านให้เด็ก ซึ่งตอนนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างจัดทำกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ โดยจะต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้เด็กเครียด แม้กระทั่งจะให้เด็กนั่งทำการบ้านในเวลาสองชั่วโมงก่อนกลับบ้านก็สามารถทำได้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
        พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่าทั้งหมดนี้คือแนวคิดซึ่ง สพฐ.รับโจทย์ไปดำเนินการ และได้เริ่มวางแนวทางปรับลดเวลาเรียนดังกล่าวไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ และจะเริ่มนำร่องใน 3,500 โรงเรียนที่มีความพร้อมหรือคิดเป็น 10% ของจำนวนโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด สพฐ.ทั้งหมด ในภาคเรียนที่ 2/2558 เดือนพฤศจิกายน จากนั้นจะประเมินผล ดูว่ามีผลตอบรับในด้านบวกหรือลบ เพื่อทำการปรับปรุงและขยายผลต่อไป ขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่จึงต้องทำแบบนำร่อง ภายใต้หลักคิดดังกล่าว ไม่ใช่ให้เลิกเรียนแล้วเด็กกลับบ้าน ขอให้ใช้คำนี้ว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้ไปทำกิจกรรมพัฒนาสมองเด็ก
        ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การปรับลดเวลาเรียนโดยเลิกเรียนเวลา 14.00 น. เป็นไปตามข้อเรียกร้องของสังคมที่มองว่าเด็กเรียนมากเกินไป สพฐ.จึงปรับลดเวลาเรียนลงโดยในช่วงเช้าจนถึงเวลา 14.00 น.จะเรียนวิชาหลัก หลังจากนั้นจะให้เด็กเรียนวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติ อาทิ ศิลปะ นาฎศิลป์ ดนตรี พลศึกษา การงานพื้นฐานอาชีพหรือทำกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต อาทิ สอนว่ายน้ำ ทำกับข้าว เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านรวมทั้งการสอนเสริมโดยเฉพาะการสอนทำการบ้าน ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองโดยแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน
        ทั้งนี้ เร็วๆนี้ สพฐ.จะเชิญ ผอ.เชตพื้นที่การศึกษา และผอ.โรงเรียนมาประชุมเพื่อร่วมกันออกแบบการจัดตารางกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งจะมีประมาณ 6-7 รูปแบบให้โรงเรียนนำร่องได้เลือกใช้ตามความสมัครใจ คาดว่ากลางเดือน ก.ย.นี้น่าจะได้รูปแบบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าเลิกเรียนบ่าย 2 โมงแล้ว สพฐ.ไม่ได้ให้ปล่อยเด็กออกนอกโรงเรียน หรือให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เพราะเข้าใจความจำเป็นของผู้ปกครองที่ต้องทำงาน เวลาเลิกเรียนยังคง เหมือนเดิม แต่ในระหว่างนี้จะให้เด็กทุกคนได้ทำกิจกรรมเสริมความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านสังคม อารมณ์ และร่างกาย เพิ่มเติมจากเรื่องของสติปัญญา ยกเว้นเด็กที่มีความจำเป็นต้องกลับไปช่วยผู้ปกครองทำงานซึ่งก็จะมีเพียงเล็กน้อย
        เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่าเรื่องนี้ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกาและในยุโรปก็ทำอยู่ ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเด็กเรียนน้อยความรู้จะหดหายหรือไม่นั้น ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าเด็กเรียนมากแต่ไม่ได้เอาไปใช้สพฐ.จึงปรับลดเวลาเรียนวิชาหลักลง แต่ยังคงเนื้อหาไว้ที่เหลือนักเรียนจะต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมโดยการลงมือค้นคว้าและทำกิจกรรม อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการได้สั่งกำชับว่าทุกกิจกรรมที่ทำห้ามเรียกเก็บเงินจากนักเรียนในทุกกรณี หากมีการเรียกเก็บเงินจะถือว่ามีความผิด
นครบาลเร่งปรับแผนรับเลิกเรียนบ่าย2

พล.ต.ต.ชาญเทพ  เสสะเวช รอง ผบช.น. ดูแลงานสืบสวน กล่าวว่า สำหรับนโยบายการให้สถานศึกษาเลิกเรียนเวลาบ่ายสอง เราจะต้องมีการปรับแผนการปฎิบัติเพื่อให้สอดรับกัน ปัญหาเรื่องนักเรียนทะเลาะวิวาทในปัจจุบันเริ่มรุนแรง นักเรียนไม่ได้ยกพวกตีกันแล้ว แต่เป็นการใช้อาวุธปืนดักยิงกัน ซึ่งเรื่องการพกพาอาวุธของนักเรียนนั้นเราจำเป็นต้องมีการเข้าไปตรวจค้นอาวุธ ซึ่งเราได้จับตากลุ่มเสี่ยงไว้แล้ว แต่ละสถาบันก็จะมีกลุ่มเสี่ยง ก็จะทำการประสานกับฝ่ายปกครองว่านักเรียนของโรงเรียนไหนมีกลุ่มเสี่ยงเท่าไหร่ ก็จะดำเนินการตรงนั้น

พล.ต.ต.ชาญเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนคดียิงนายสมยศ สุธางค์กูร อดีตเจ้าของพระรามเก้าคาเฟ่ อยู่ระหว่างการติดตามจับกุมคนร้ายอยู่ คาดว่าจะสามารถจับกุมคนร้าย ได้แน่ แต่ต้องให้เวลากับตำรวจเพราะว่าคดีนี้มีประเด็นต่างๆเยอะ

ปั้น’นักวิทย์น้อยทรู’ฝึกคิดวิเคราะห์เรียนของจริง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20150828/212387.html

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป
วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2558
ปั้น'นักวิทย์น้อยทรู'ฝึกคิดวิเคราะห์เรียนของจริง

ปั้น’นักวิทย์น้อยทรู’ฝึกคิดวิเคราะห์เรียนของจริง : ชุลีพร อร่ามเนตรรายงาน

            กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นฐานของการพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์ แนวทางในการปลูกฝังการคิดริเริ่มด้วยตนเองที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางปัญญา สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย (สวทศ.) ร่วมกับกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จัด “โครงการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษาระดับชาติ หรือ นักวิทย์น้อยทรู” ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 20 เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยเห็นความสำคัญวิทยาศาสตร์ มีทักษะในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปีนี้นักวิทย์น้อยทรู จัดขึ้น ภายใต้ชื่อ “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต”

“รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ” นายกสมาคม สวทศ. กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี ที่ สวทศ.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น มาตั้งแต่ปี 2538 จัดโครงการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับประถมศึกษาแสดงความสามารถด้านสติปัญญาและด้านวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมเยาวชนโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง พัฒนาเจตคติวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ รวมถึงส่งเสริมนักเรียนมีพัฒนาการ และมีโลกทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น

ปีนี้มีโครงงานผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 14 โครงงาน จากโครงงานที่ส่งเข้าประกวด 204 โครงงาน จาก 137 โรงเรียน โดยทุกโครงงานล้วนใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปรากฏการณ์วิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ การประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ นำกลับมาใช้ใหม่ การลดมลพิษของสิ่งแวดล้อม การหาหรือสร้างสิ่งทดแทนที่มีอยู่เดิม การประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ การพัฒนา หรือการใช้ไอซีที ในการสร้างนวัตกรรมทางปัญญา

“ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ถ้าคนไทย สังคมไทยเข้าถึงแหล่งสาระความรู้อย่างเท่าเทียมกัน สามารถใช้ความรู้ในการสร้างสรรค์ และนำพาสังคมไทยให้เกิดการพัฒนา ก้าวหน้า และทัดเทียมนานาชาติได้ โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมสร้างสรรค์นักคิด นักทดลอง นักวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา ได้แสดงความสามารถ คิดโครงงานดีๆ เห็นถึงศักยภาพของเด็กประถมศึกษา รวมถึงแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีเพชรอยู่ทั่วประเทศ

โครงงานที่ส่งเข้าประกวดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ โครงงานประเภทสำรวจ โครงงานประเภททดลอง และโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์โดยทีมชนะในการประกวด รางวัลเหรียญทอง จะได้ชุดอุปกรณ์และสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในโครงการทรูปลูกปัญญา พร้อมเหรียญรางวัล เกียรติบัตรและเงินรางวัลโครงการละ 7,000 บาท, รางวัลเหรียญเงินและเหรียญทองแดง ได้รับเหรียญรางวัล เกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัล 7,000 บาท และรางวัลชมเชย ได้รับเงินรางวัล 1,000 บาท

ทุกโครงงานวิทยาศาสตร์ล้วนมาจากความคิดสร้างสรรค์ และคำนึงถึงประโยชน์ของคนในพื้นที่ “น้องวา” ด.ช.อภิสิทธิ์ กราปัญจะ นักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 โรงเรียนวัดควนขี้แรด จ.พัทลุง ทีมชนะเลิศรางวัลเหรียญเงิน จากโครงงานประดิษฐ์เครื่องช่วยตากและเกลี่ยข้าว

เปลือก เล่าว่า ที่บ้านทำนา ไม่มีพื้นที่ตากข้าวหลังเก็บเกี่ยว จึงไปปรึกษาครูและร่วมกันออกแบบใช้พื้นที่หน้าธง สนามของโรงเรียนใช้เป็นพื้นที่ตากข้าว โดยมีต้นแบบจากเครื่องตีเส้นตราจราจรมาประดิษฐ์เครื่องช่วยตากและเกลี่ยข้าวเปลือก พวกเราซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ทั้งในส่วนของออกแบบและสร้าง จนได้เครื่องประดิษฐ์ที่ทำให้ประหยัดเวลา ตากและเกลี่ยข้าวเปลือกได้ดีขึ้น

“วิชาวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาที่สนุกมาก เพราะครูจะให้เราทดลอง คิดค้น และเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่หากเรียนเฉพาะในหนังสือโดยไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ทดลองไปด้วย ประดิษฐ์ไปด้วย การเรียนวิทยาศาสตร์อาจเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เพราะเรียนจากตำราเพียงอย่างเดียวไม่สนุก และไม่น่าตื่นเต้น ซึ่งการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นวิชาเดียวที่ทำให้ได้ลองผิดลองถูก และเด็กมีความสุขในการเรียน อยากให้จัดโครงการแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กระดับประถมศึกษาเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ปลูกฝังการคิดวิเคราะห์ ทดลอง และทำให้เด็กเกิดความอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ และมีความสุขในการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น” เช่นเดียวกับ “น้องด้อง” ด.ช.อัฟฎอล สาและ นักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 โรงเรียนนิบงชนูปถัมภ์ จ.ยะลา ทีมชนะเลิศรางวัลเหรียญเงิน ในโครงการสิ่งประดิษฐ์ ถุงกล้วยหินเพาะกล้าลดโลกร้อน เล่าว่า โครงงานวิทยาศาสตร์ทุกโครงงานเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้คิด วิเคราะห์ และเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งพวกเขานำกระดาษที่เหลือใช้มาผสมกับน้ำยางจากเปลือกกล้วย ทำให้ได้ถุงเพาะกล้าแทนการใช้ถุงพลาสติกในการปลูกดาวเรือง โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ได้ถุงเพาะกล้าที่ใช้ประโยชน์ได้ดี ลดโลกร้อน และรู้จักนำสิ่งของเหลือใช้มาให้เกิดประโยชน์ อยากให้โรงเรียน ครู สนับสนุนจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ ให้เด็กเรียนรู้ตามโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น

‘ธงชาติ’ต้องสวยงามสดใสไม่ซีดจาง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20150827/212369.html

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป
วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558
'ธงชาติ'ต้องสวยงามสดใสไม่ซีดจาง

‘ดาว์พงษ์’ กำชับสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม โดยเฉพาะธงชาติไทย ธงประจำพระองค์ ต้องดูแล ไม่ปล่อยให้ซีดจาง

                       27 ส.ค. 58  พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหาร ศธ. ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ดูแลภูมิทัศน์ของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ ให้มีความสวยงาม และเหมาะสมกับการเรียนรู้ โดยเฉพาะธงชาติไทย ได้กำชับว่า จะต้องดูแลให้สวยงาม ไม่ปล่อยให้ฉีกขาด ผุพัง หรือซีดจาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังให้เด็กมีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ เพราะธงชาติคือสัญลักษณ์ของความเป็นชาติไทย ไม่ใช่ว่ามองแล้วห่อเหี่ยวไปตามสภาพธง รวมถึงธงประจำพระองค์ ซึ่งจะมีห้วงเวลาในการติดตั้งธงตามเดือนพระราชสมภพ ควรจะติดตั้งให้เหมาะสมตามห้วงเวลา ยกเว้นธงประจำพระองค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ปีนี้จะต้องติดไว้ตลอดทั้งปี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา ซึ่งสถานศึกษาก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยจนธงมีสภาพเก่า สีซีดจาง ไม่น่ามอง
                       อย่างไรก็ตาม ในการปรับภูมิทัศน์นั้น ศธ.จะดำเนินการเป็นตัวอย่างก่อน โดยได้สั่งการให้ปลัดศธ. ดำเนินการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ทั้งสนามหญ้าบริเวณหน้ากระทรวง ดูแลต้นไม้ไม่ให้รกรุงรัง รวมถึงทาสีเสาธง ธงชาติต้องให้มีสีสดใส
                       “ที่ผ่านมา ผมมักแหงนมองธงชาติไทย เมื่อเห็นสีสันสดใสก็รู้สึกภาคภูมิใจ แต่บางทีก็เห็นในหลายๆ ที่ ทั้งในโรงเรียน ฐานทัพ และสถานที่ราชการบางแห่ง ปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกโรงเรียนดูแล และถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการ ที่พูดเรื่องนี้ไม่ได้จะตำหนิใคร แต่ที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะผู้บริหารโรงเรียนมีงานมาก เลยไม่มีเวลามาดูแล หรืออาจไม่มีงบประมาณ ซึ่งเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องช่วยดูแล”

ผลรางวัลม.มหิดล57ดีเด่น5สาขา

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20150827/212368.html

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป
วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558
ผลรางวัลม.มหิดล57ดีเด่น5สาขา

เผยผลรางวัล ม.มหิดล 2557 ดีเด่นเฉพาะทาง 5 สาขา รับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเทพฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร 7 ก.ย.นี้

                       27 ส.ค. 58  ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดี ม.มหิดล เป็นประธานแถลงข่าวผลรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2557 ตอนหนึ่งว่า ม.มหิดล ได้คัดเลือกผลงานของอาจารย์ นักวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการและประชาชน ให้ได้รับรางวัล ม.มหิดล ประจำปีการศึกษา 2557 ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลประเภทดีเด่นเฉพาะทางทั้งหมด 5 สาขา ดังนี้
                       1. สาขาความเป็นครู ได้แก่ ศ.ดร.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ ภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
                       2. สาขาวิจัย ได้แก่ ศ.ดร.พญ.ศศิธร ผู้กฤตยาคามี ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน จากผลงานวิจัย เรื่อง “ยา ‘เคเออี 609’ กลุ่มอนุพันธ์สไปโรอินโดลอนชนิดใหม่ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัมและไวแวกซ์”
                       โดยการศึกษานี้ได้ประเมินประสิทธิภาพของ “เคเออี 609” ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ใหม่ กลุ่มอนุพันธ์สไปโรอินโดลอน ในผู้ป่วยจริงเป็นครั้งแรกในโลก พบว่า การให้ยาเคเออี 609 ปริมาณ 30 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลา 3 วัน สามารถขจัดเชื้อมาลาเรียได้รวดเร็วในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อมาลาเรียไม่ซับซ้อน ทั้งชนิดฟัลซิปารัมและไวแวกซ์ เป็นการพิสูจน์ว่า ยาเคเออี 609 มีประสิทธิภาพดี และเหมาะสมที่จะศึกษาต่อในวงกว้างต่อไป เพื่อใช้ทั่วโลกในถิ่นที่มีภาวะดื้อยา และ รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จากผลงานวิจัย เรื่อง “การสร้างโปรแกรมแปลความหมายข้อมูลแมกนิโตเทลลูริกซ์ แบบสามมิติ (Three-Dimensional Magnetotelluric Inversion)”
                       3. สาขาการประดิษฐ์ ได้แก่ ผศ.ดร.นิทัศน์ สุขรุ่ง หน่วยเครื่องมือพิเศษเพื่อการวิจัย สถานส่งเสริมการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากผลงานการประดิษฐ์ เรื่อง “ชีวภัณฑ์สำหรับวินิจฉัย ประเมินสภาวะ และรักษาโรคภูมิแพ้” น้ำยาวินิจฉัยและวัคซีนที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ในประเทศไทย
                       4. สาขาการแต่งตำรา ได้แก่ ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แต่งตำรา เรื่อง “เนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน (Bone and Soft-Tissue Tumors)” และ รศ.ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ จากผลงานการแต่งตำรา เรื่อง “วงปีไม้และการประยุกต์ในประเทศไทย (Tree-Ring and Application in Thailand)”
                       5. สาขาการบริการ ได้แก่ นางพรพิมล อดัมส์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย และหัวหน้าสำนักงานบริการการวิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำระบบบริหารทุนวิจัยต่างประเทศ (International Research Administration) อย่างครบวงจร เพื่อให้ตอบสนองนโยบายการวิจัยของคณะฯ โดยผู้ได้รับการคัดเลือกจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร 7 ก.ย. 2558 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร รางวัล ม.มหิดล เพื่อเป็นเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่มีความวิริยะอุตสาหะและปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพจนมีผลงานดีเด่นในสาขาต่างๆ ซึ่งผู้ได้รับรางวัลนอกจากจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว จะได้รับเงินรางวัลละ 200,000 บาท

‘ม.ล.ปุณฑริก สมิติ’ปลัดแรงงานหญิงคนแรก

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20150827/212313.html

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป
วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558
'ม.ล.ปุณฑริก สมิติ'ปลัดแรงงานหญิงคนแรก

‘ม.ล.ปุณฑริก สมิติ’ปลัดแรงงานหญิงคนแรก : กมลทิพย์ ใบเงินและธรรมรัช กิจฉลองรายงาน

            “ม.ล.ปุณฑริก” ปลัดหญิงคนแรกกระทรวงแรงงาน เผยไม่หนักใจ พร้อมทำงานตามนโยบายรัฐบาล-รมว.แรงงาน เดินหน้าแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว-ค้ามนุษย์ พัฒนาระบบประกันสังคม-ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ในช่วงบ่ายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงแรงงานคนที่ 9 ต่อจาก “นายนคร ศิลปอาชา” ปลัดกระทรวงแรงงานที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ มีคณะผู้บริหารและข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี โดยข้าราชการของ กพร.บางส่วนได้ขอถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

ทั้งนี้ ม.ล.ปุณฑริก นับเป็นปลัดหญิงคนแรกของกระทรวงแรงงาน ที่มีความรอบรู้ภารกิจของกระทรวงแรงงานครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ด้านการพััฒนาฝีมือแรงงาน การประกันสังคม ด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ด้านการจัดหางาน ด้านการค้ามนุษย์ ฯลฯ

ม.ล.ปุณฑริก เปิดใจหลังทราบมติ ครม.ว่า หลังจากนี้จะเดินหน้าทำงานตามนโยบายของรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสานงานต่อจากนายนคร ศิลปอาชา ในด้านความมั่นคงให้แก่แรงงาน ทั้งเรื่องของระบบประกันสังคม การส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากข้าราชการทุกหน่วยงานของกระทรวงแรงงานและพัฒนาศูนย์ข้อมูลกระทรวงแรงงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“ส่วนการแก้ปัญหาเแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์จะทำงานโดยยึดตามแนวทางของรัฐมนตรีที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เนื่องจากเคยเป็นประธานอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์แก้ปัญหาและจัดระบบแรงงานต่างด้าว (อกนร.) มาก่อน” ม.ล.ปุณฑริก กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกหนักใจหรือไม่ที่เป็นปลัดกระทรวงแรงงานหญิงคนแรกอาจทำให้ถูกจับตามองจากหลายฝ่าย จนมีข้อสังเกตจากบางส่วนว่า ความเป็นผู้หญิงอาจทำให้ตามกลุ่มผลประโยชน์ในกระทรวงแรงงานไม่ทัน

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะที่ผ่านมาเคยทำงานหนักในการแก้ปัญหาด้านการค้ามนุษย์ในสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงแรงงานมาก่อน ซึ่งการแก้ปัญหาผลประโยชน์นั้นจะต้องมีทีมงานขึ้นมาโดยเฉพาะ รวมทั้งจะต้องมียุทธศาสตร์และวางระบบการจัดการที่ดี โดยการวางตัวบุคคล และระบบให้มีความโปร่งใส เพื่อขจัดกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

ประวัติ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ  อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2500  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ศิลปศาสตรบัณฑิต (เอกภาษาอังกฤษ) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์  ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

ประวัติการทำงาน  ผู้อำนวยการกองประสานการพัฒนาฝีมือแรงงานสตรีและเด็ก  ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบการ  ผู้อำนวยการกองแผนงานและสารสนเทศ (รักษาการ)  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 3 ชลบุรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รองปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน ในระดับ 11 (ซี 11) ด้วยวัย 58 ปี

ม.ล.ปุณฑริกผ่านการอบรมหลากหลายหลักสูตร ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 23 (ปรอ.) วปอ.2553 จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 50 กระทรวงมหาดไทย สถาบันดำรงราชานุภาพ หลักสูตรนักบริหารพัฒนาฝีมือแรงงาน (รุ่นที่ 3) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หลักสูตร
Strategic Leadership for GMS Cooperation จากประเทศจีน ฯลฯ

พบ‘แจ๊สหมอลำ’ฉากทัศน์ไทยก้าวพ้นกับดักทุนนิยม

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20150827/212323.html

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป
วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558
พบ‘แจ๊สหมอลำ’ฉากทัศน์ไทยก้าวพ้นกับดักทุนนิยม

ฉากทัศน์ไทย30ปีติดกับดัก’คนด้อยคุณภาพ’ : ทีมข่าวการศึกษารายงาน

            เมธีวิจัยอาวุโส สกว.ชี้ฉากทัศน์ไทยใน 30 ปีข้างหน้า ถึงโชติช่วงแต่ไม่ชัชวาล ยังติดกับดักรายได้ปานกลางและทรัพยากรมนุษย์ เมืองจะกลืนชนบทและยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ผลิตภาพต่ำ อุตสาหกรรมไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โต

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวถึงฉากทัศน์ของประเทศไทยใน 30 ปีข้างหน้า ระหว่างการประชุมระดมความคิดเห็นและสรรหานักวิจัยรุ่นกลางและรุ่นใหม่ภายใต้โครงการความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์ ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิชาการ สกว. ว่าเป้าหมายของการวิจัยนี้คือ การเข้าใจปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคตโดยการประมวลและจัดการความรู้เพื่อเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะที่ดีสำหรับอนาคต และสร้างฉากทัศน์เกี่ยวกับอนาคตและจุดคานงัดของการเปลี่ยนแปลง งานวิจัยฉากทัศน์เป็นการมองอนาคต โดยใช้กระบวนการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตอย่างเป็นระบบ และคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านที่เป็นทั้งแรงผลักดันให้เหตุการณ์เกิดอุปสรรคและความไม่แน่นอนที่อาจพลิกผัน มีการเล่าเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ในอนาคตทำให้สามารถจินตนาการเป็นภาพในใจที่จดจำง่าย

“สามารถสรุปได้ว่าประเทศไทยวันนี้โชติช่วงแต่ไม่ชัชวาล เพราะทรัพยากรและการสำรองปิโตรเลียมจะหมดสิ้นใน 18 ปีข้างหน้าถ้าใช้มากเกินไป จึงต้องเร่งสร้างพลังงานทางเลือก ความสามารถในการแข่งขันของไทยยังเดินถอยหลัง ขณะที่ชาติอื่นวิ่ง ไทยจึงติดกับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างรวดเร็วได้ ต้องใช้เวลากว่า 20-30 ปี สาเหตุหลักคือกับดักทรัพยากรมนุษย์ที่ขาดทักษะแรงงาน ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมขาดความต่อเนื่อง งบวิจัยและพัฒนาต่ำ มหาวิทยาลัยไม่ทำวิจัย ชีวิตบริบูรณ์ขึ้นแต่อบอุ่นน้อยลง เกษตรกรไม่ใช่รายได้หลัก ครอบครัวแหว่งกลาง ค่าใช้จ่ายเหล้าบุหรี่สูง สถิติผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงที่สุดในอาเซียน สาเหตุการตายเกิดจากอุบัติเหตุ พฤติกรรมและพันธุกรรม สุขภาพจิตมีแนวโน้มน่ากังวลและพยายามฆ่าตัวตายมากขึ้น”

ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เกิดสึนามิประชากรและภาวะทุพพลภาพ การศึกษาก็มีผลลัพธ์ต่ำลงทั้งที่ไม่มีปัญหางบประมาณ เกิดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเพราะการอุดหนุนในระดับต่ำทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา จึงต้องปฏิวัติการศึกษาใหม่ ด้านระบบราชการในอนาคตจะรวมศูนย์แต่แยกส่วน เกิดการกระจายอำนาจเพราะเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ยกภาระให้แต่ไม่ให้งบประมาณ ด้านทรัพยากรธรรมชาติยังขาดการบูรณาการทั้งที่ดินและน้ำ ต้องมีการทำงานร่วมกับมวลชนและบูรณาการกับโลจิสติกส์ ด้านแรงงานข้ามชาติ 3-5 ล้านคน มองแรงงานต่างด้าวอย่างไร้ตัวตน กดขี่ข่มเหง ยกปัญหาให้สังคม จะมีแรงงานข้ามชาติรุ่นสอง เป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมแต่ไม่ใช่พลเมืองตามกฎหมาย

ในอนาคตคนไทยจะเป็นคนเมืองหมด เมืองกลืนชนบท กรุงเทพฯ ยังเป็นเอกนคร อีสานจะรุ่งโรจน์มากขึ้น ความท้าทายของสังคมคือความเหลื่อมล้ำ คนรวยมีรายได้มากกว่าคนจน 11 เท่า ชนบทไทยเป็นชีวิตในทวิภพ เป็นตลาดอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ มีการขยายตัวของภาคบริการ แรงงานรับเหมาโดยพ่อค้าเกษตร ถือครองที่ดินโดยคนเมืองและคนต่างชาติ เกิดเกษตรไทยโฉมใหม่แต่ใช้นโยบายเก่า เกษตรดั้งเดิมทยอยเกษียณ เปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์และเกษตรทางเลือกมากขึ้น นโยบายประชานิยมไม่แก้ปัญหาที่เหตุ ภาคอุตสาหกรรมผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ใช้แรงงานเข้มข้นมากขึ้นแต่ไม่ใช้ทักษะสูง แรงงานแพงกว่าเพื่อนบ้าน ต่างด้าวย้ายกลับ ขาดเทคโนโลยีของตัวเอง เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โต

“ท่ามกลางกระแสบูรพาภิวัตน์ อิทธิพลของจีนมีผลกระทบอย่างมหาศาล จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำเมืองชายแดนให้เป็นฮับ มองเพื่อนบ้านในแง่มุมของโอกาสและความร่วมมือไม่ใช่คู่แข่ง ปัญหาเศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้ปัจจัยภูมิเศรษฐศาสตร์มาแก้ไข ทั้งจีนและอินเดียจะเข้ามาแทรกซึมทั้งระดับรากหญ้า ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ ปรากฏการณ์ใหม่ของฉากทัศน์ในอนาคต คือ การเหินของภาคการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นเพราะค่าเงินบาทถูก แต่ปัญหาคือ เกิดความเหลื่อมล้ำ มีการซื้อขายที่ดินเพื่อทำแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ยังไม่มีระบบรองรับที่ดี เมื่อมองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับความสามารถในการแข่งขัน พบว่าไทยมีผลิตภาพการผลิตต่ำและการเคลื่อนย้ายของแรงงานทักษะสูง”

ด้าน ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจวิจัยและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญพบว่ามีสองฉากทัศน์ที่สะท้อนความเป็นไปได้ของประเทศไทย คือ “ซิมโฟนีปี่พาทย์” เป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้ระบบระเบียบที่ชัดเจน แต่ละคนมีหน้าที่และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รู้หน้าที่และบทบาทของตนเองภายในสังคม เป็นชีวิตที่อยู่ในองค์กรอย่างเป็นระเบียบและเป็นทางการ มีวาทยกรกำกับดูแลให้สังคมเดินไปตามข้อกำหนด สังคมไทยในอนาคตยังคงมีวัฒนธรรมของภาคกลางผสมผสานกับตะวันตก มีกฎระเบียบที่ชัดเจน คาดเดาว่าในอนาคตจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง มีการกลับมาของรัฐพัฒนา ต้องมีรัฐราชการที่เข้มแข็งและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักนี้ได้ แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่และอาจเพิ่มขึ้นเพราะเลือกเฉพาะบางกลุ่มในสังคมเพื่อให้เศรษฐกิจไหลริน โดยมีนัยที่เชื่อว่าคนเราเกิดมานิ้วมือยาวไม่เท่ากัน แต่ละคนมีความถนัดไม่เท่ากัน

ส่วนสุขภาพคนไทยจะมีชีวิตยืนยาวเท่าที่จ่ายได้เพราะเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่เท่ากัน เกิดปัญหา “แก่ เดียวดาย ชายขอบ” เป็นระบบสังคมปัจเจก เป็นชีวิตเมืองภายใต้ยานยนต์ภิวัตน์ คลื่นต่อไปผู้ขับขี่จักรยานยนต์จะหันมาขับรถมากขึ้นทั้งในเมืองและชนบทเพราะมีรายได้มากขึ้น และมีชีวิตเสมือนกับดักดิจิทัล ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น อีกฉากทัศน์หนึ่งคือ “แจ๊สหมอลำ”ซึ่งเป็นชีวิตที่เป็นไปตามความคิดที่เน้นความเป็นอิสระ ก้าวพ้นกับดักทุนนิยม กระจายอำนาจและงบประมาณสู่เทศบาลภิวัฒน์ ท้องถิ่นใดมือยาวสาวได้สาวเอา ใช้ชีวิตอิสรเสรีเหนืออื่นใด คนเมืองทันสมัยแต่อยู่ในชนบท ในน้ำมีปลาแต่ในนาไม่มีคนทำเพราะไม่มีแรงงาน เป็นดิจิทัลท้องถิ่นเช่นเดียวกับคนเมือง ใต้ร่มธงไทยนั้นปวงชนทุกคนคือไทย เกิดคนไทยรุ่นใหม่ที่พ่อแม่เป็นต่างด้าว

ถอดบทเรียนรู้-วัฒนธรรมการอ่านผู้นำมุ่งมั่นนโยบายชัด

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20150826/212263.html

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป
วันพุธที่ 26 สิงหาคม 2558
ถอดบทเรียนรู้-วัฒนธรรมการอ่านผู้นำมุ่งมั่นนโยบายชัด

ถอดบทเรียนรู้-วัฒนธรรมการอ่านผู้นำมุ่งมั่น นโยบายชัด รวมพลังสังคม : ชุลีพร อร่ามเนตรรายงาน

           “การอ่าน” จุดเริ่มต้นการเรียนรู้ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบาย ประกาศทศวรรษการอ่าน มีแนวทางส่งเสริมการอ่านให้เกิดขึ้นแก่คนในชาติ ทว่าที่ผ่านมาการอ่านกับคนไทยดูไม่กระเตื้องขึ้น แม้สถิติใหม่ล่าสุดผลการวิจัยในโครงการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนและการอ่านของไทย พ.ศ.2559-2562(4ปี) จัดทำโดย ผศ.ชนะใจ เดชวิทยาพร หัวหน้าโครงการ และคณะวิจัย ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากกรมการส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนำเสนอเป็นร่างแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้และการอ่านของไทย พบว่า เด็กไทยใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ยวันละ 1.51 ชั่วโมง แต่กลับพบปัจจัยอีกมากมายที่ส่งผลให้วัฒนธรรมการอ่านในไทยเกิดขึ้นอย่างกะปริดกะปรอย

จากการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในส่วนการจัดทำแบบสอบถาม สัมภาษณ์กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงถอดบทเรียนวัฒนธรรมการอ่านทั้งในไทยและต่างประเทศ รศ.ดร.ธนิดา จิตร์น้อมรัตน์ นักวิจัยจากมธบ. กล่าวถึงวัฒนธรรมการเรียนรู้และการอ่านของต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลี และฮ่องกง 3 ประเทศที่ส่งเสริมทักษะการอ่านระดับนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพลเมืองว่า ทั้ง 3 ประเทศประสบความสำเร็จสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้แก่พลเมืองประเทศ ด้วยเชื่อมั่นว่าการอ่านช่วยพัฒนาคุณภาพคนได้ โดยเกาหลีและสิงคโปร์ เน้นให้ประชาชนเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเกาหลีใช้ระบบการศึกษาเป็นยุทธศาสตร์ทำให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้การอ่าน และใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ขณะที่ สิงคโปร์พัฒนาห้องสมุดเป็นตัวชูโรง ส่งเสริมประชาชนทั้งประเทศรักการอ่านและเรียนรู้การอ่านตลอดชีวิต โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ พร้อมกับสร้างระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง ใช้การประเมินผลระบบการศึกษาสร้างศักยภาพให้ผู้เรียนและผู้จบการศึกษา ส่วนฮ่องกง กระทรวงศึกษาธิการและประชาชนเชื่อว่าการอ่านเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษา โรงเรียนต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน นักเรียนจบการศึกษาต้องมีทักษะการอ่าน เรียนรู้เพื่อการอ่าน และอ่านเพื่อเรียนรู้ โดยใช้ระบบการศึกษาเป็นวิธีหลักในการส่งเสริมการอ่านอย่างชัดเจน และใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งเสริมเพิ่มการเรียนรู้

ปัจจัยสำคัญทำให้ทั้ง 3 ประเทศนำไปสู่ความสำเร็จสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้คนในชาติ รศ.ดร.ธนิดา กล่าวต่อว่า ต้องเริ่มจากผู้นำประเทศเล็งเห็นการอ่านเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิต รากฐานสำคัญของการศึกษาช่วยสร้างประชากรมีคุณภาพ สังคมมีความเจริญ และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า รวมถึงต้องมียุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการอ่านต่อเนื่อง ผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้บรรจุส่งเสริมการอ่านเป็นนโยบายประเทศ เพราะวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้ต้องปฏิบัติซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง สอดรับกับความเอาจริงเอาจังของผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายต้องดำเนินการนโยบายการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ยอมรับยุทธศาสตร์และน้อมรับไปดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อให้นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง อีกทั้งบุคลิกลักษณะเชื้อชาติของประชากร ต้องมีความกระตือรือร้นในการศึกษาหาความรู้ ยอมรับและศรัทธาในผู้นำประเทศ เปิดใจ ยอมรับการพัฒนาตนเอง ชอบเรียนรู้และเชื่อมั่นในการศึกษา และความร่วมมือของสังคม ชุมชน ผู้ปกครอง ภาคเอกชนต่างตระหนักและพร้อมใจกันสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการอ่าน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดประเทศไทยต้องนำมาศึกษาและส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ

ความสำเร็จของประเทศที่สามารถสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นได้ล้วนมีหลากหลายข้อที่ประเทศไทยคงต้องนำมากลับมาทบทวนว่าจะดำเนินการเช่นใดได้บ้าง ผศ.ยุวดี ภักดีวิจิตร รองหัวหน้าโครงการ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ่านของไทยในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2553-2557) พบว่าคนไทยไม่ค่อยอยากอ่านหนังสือ อาจสะท้อนมาจากอุปนิสัยของคนไทยตั้งแต่อดีตที่มีนิสัยสบายๆ ไม่เคร่งเครียด ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เนื่องจากสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันเด็กไทยต้องสงบเสงี่ยม เรียบร้อย ไม่กล้าแสดงออก ทำให้ปิดกั้นการอ่านและการแสดงออกของเด็ก “คนไทยไม่มีนิสัยรักการอ่าน มีสื่อ กิจกรรมอื่นที่น่าสนใจมากกว่า การเข้าถึงของโทรทัศน์ทำให้คนไทยก้าวจากการฟังสู่การอ่านได้ไม่นานก็กระโดดไปดูทีวีมากที่สุด เด็กไม่พร้อม เยาวชน ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครองทิ้งเวลาของลูกไว้กับพี่เลี้ยงหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ขาดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการกระตุ้นการอ่าน ปัญหาด้านกระบวนการสอน การส่งเสริมการอ่านไม่ต่อเนื่อง หนังสือ ทรัพยากรการอ่านมีจำนวนจำกัด ปัญหาห้องสมุด บรรณารักษ์ ครูไม่ส่งเสริมการอ่าน การเข้าถึงหนังสือ ความไม่ชัดเจนของแผนงานส่งเสริมการอ่าน ที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ไม่ได้เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนกระบวนการอ่าน และโลกที่เปลี่ยนไปอาจทำให้คนอ่านกันสั้นลงแต่อาจจะอ่านเยอะขึ้น อนาคตหนังสือจะเปลี่ยนไปเป็นสื่อมัลติมีเดียมากขึ้นจนอาจทำให้คนมีสมาธิกับความเงียบน้อยลงและมีสมาธิในการอ่านสั้นลง”

นโยบายรัฐบาลที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมการอ่าน การศึกษามีความสำคัญ ผศ.ยุวดี กล่าวต่อว่า การที่จะพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่วัฒนธรรมการอ่านได้นั้น ต้องเริ่มจากการมีนโยบายที่ชัดเจน มีผู้นำที่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง โดยอาจมีหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมการอ่าน ซึ่งหากทำให้เกิดการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศโดยมุ่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าประเทศไทยก้าวสู่สังคมวัฒนธรรมการอ่านได้ไม่ยาก เพราะคนไทยพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ วัฒนธรรมใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ผลการนำเสนอจากงานวิจัยครั้งนี้ จะรวบรวบสรุปเป็นแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนและการอ่านของไทย เพื่อจะมีการประมวลผลและระดมความคิดเห็นอีกครั้งในวันที่ 27 สิงหาคม 2558

เลาะรั้ว’บวร’ไหว้พระชมศิลปะวัดทองฯ ณ คลองสาน

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20150826/212264.html

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป
วันพุธที่ 26 สิงหาคม 2558
เลาะรั้ว'บวร'ไหว้พระชมศิลปะวัดทองฯ ณ คลองสาน
เลาะรั้ว'บวร'ไหว้พระชมศิลปะวัดทองฯ ณ คลองสาน

เลาะรั้ว’บวร’ไหว้พระชมศิลปะวัดทองฯ ณ คลองสาน : ผกามาศ ใจฉลาดรายงาน

             “วัดทองธรรมชาติวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องฝั่งลำน้ำกับวัดปทุมคงคา (วัดสำเพ็ง) เลขที่ 141 ถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพฯ”

นั่นเป็นการระบุพิกัดที่ตั้งวัดอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อใครได้ร่วมกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ (วันพระ) ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ กลับพบความเป็นจริงที่แสนอบอุ่นว่า ขอบเขตของวัดแห่งนี้มิได้ล้อมด้วยเหล็กหรือก่ออิฐถือปูน กลับเป็นรั้ว “บวร” มีชุมชนวัดทองธรรมชาติ บ้าน โรงเรียนวัดทองธรรมชาติ เป็นรั้วล้อมด้วยรักอย่างปลอดภัย มีชาวบ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครอง คอยเป็นหูเป็นตาตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีวัด คณะสงฆ์นำโดย “พระราชธรรมมุนี” เจ้าอาวาสเป็นศูนย์รวมจิตใจ

วัดเอื้อเฟื้อเรื่องสถานที่เรียน ทุนการศึกษาให้เด็ก ตอนเช้าๆ ครูจะพาเด็กนักเรียนมาออกกำลังกาย สังเกตว่าโรงเรียนนี้ไม่มีรั้วกั้นระหว่างวัด โรงเรียน ชุมชน แต่เด็กนักเรียนไม่เคยหนีเรียน พวกเขาจะรักโรงเรียนมาก คนในชุมชนก็จะคอยเป็นหูเป็นตา ใครจะมาทำอะไรไม่ดี จะช่วยกันมาแจ้งคุณครู นี่แหละคือคำว่า บวร ค่ะ” ครูอังคณา ดวงรัตน์ ครูผู้สอนนักเรียนอนุบาล 1 โรงเรียนวัดทองธรรมชาติ สะท้อนภาพ

ครูอังคณา ยังบรรยายถึงความโดดเด่นของวัดทองธรรมชาติ นอกจากปัจจุบันจะมี “บวร” ที่เข้มแข็ง ภายในวัดยังมีตุ๊กตาจีนโบราณที่หาดูได้ยาก “ตรงทางพระอุโบสถจะมีหัวแหวนเก่าแก่โบราณ ไม่เคยเห็นที่อื่น ใกล้ๆ มีตุ๊กตาจีน สมัยก่อนในเขตคลองสานมีเรือสำเภาจีนเข้ามาค้าขายกันเยอะ มีชาวจีนมาตั้งถิ่นฐาน เลยมีตุ๊กตาจีนมาอยู่ในวัด ส่วนบริเวณหน้าโรงเรียนยังมีกุฏิไม้เก่าแก่ตั้งอยู่ หาชมได้ยากแล้วค่ะ”

ขณะที่น้องๆ ชั้นอนุบาลกำลังร้องเพลงประกอบการออกกำลังกายอยู่สนามหน้าโรงเรียนอยู่นั้น เราก็ได้ยินเสียงน้องๆ ระดับประถมศึกษาเริ่มสวดมนต์ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แผ่เมตตา เจริญจิตตภาวนา ฟังธรรมร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานราชการ 10 หน่วยงาน ในกิจกรรมเข้าวัดวันพระ ประกอบด้วย เปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักจัดหางาน กรมเจ้าท่า กรมศุลากร และกรมการบินพลเรือน

พระราชธรรมมุนี เจ้าอาวาสวัดทองธรรมชาติ กล่าวในช่วงหนึ่งของการเทศนาธรรมว่า ในปัจจุบันคนเข้าวัดน้อยลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนิกชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือในเมืองเจริญ เพราะญาติโยมมีภารกิจ มีหน้าที่ มีงานการที่ต้องทำ การดิ้นรนประกอบอาชีพเพื่อได้มาซึ่งเงินทอง เลี้ยงปากท้อง การที่กรมการศาสนาได้ฟื้นฟูกิจกรรมเข้าวัดวันพระขึ้นแล้วชักชวนหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมฟังธรรมในวันนี้ นับเป็นสิ่งที่ดี มีคุณ มีประโยชน์มาก

“สำหรับวัดทองธรรมชาติ มีกิจกรรมเข้าวัดฟังธรรมตลอดทั้งปี จนทุกวันนี้มีญาติโยมเริ่มมาเข้าวัดกันเยอะขึ้น เต็มพระอุโบสถ ให้ระลึกถึงสังคมชนบทที่อาศัยการเข้าวัดฟังธรรมนี้เป็นกิจกรรมร่วมกันของหมู่คณะ ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ถึงวันพระพ่อแม่ลูกจะหิ้วปิ่นโตพากันไปวัด ถวายอาหาร รับศีล ฟังธรรม ช่วงเวลาที่พระกำลังฉันภัตตาหาร ญาติโยมทั้งหลายก็จะจับกลุ่มคุยสนทนาเหตุการณ์บ้านเมือง พบปะสังสรรค์ถามข่าวคราวระหว่างครอบครัว สร้างความสามัคคี สอดคล้องกับรัฐบาลปัจจุบันที่พยายามสร้างความสมานฉันท์ ปรองดองในชาติ ส่วนคณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคม ช่วยกันรณรงค์หมู่บ้านรักษาศีล 5 ให้เป็นพื้นฐานสังคมที่ดี” เจ้าอาวาสวัดทองธรรมชาติ กล่าว

วัดทองธรรมชาตินี้ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เวลาผ่านไปหลายร้อยปียังคงมีการอนุรักษ์โบราณวัตถุศิลปวัตถุไว้อย่างงดงาม เมื่อเดินเข้าไปไหว้พระในพระอุโบสถจึงได้พบกับพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย จิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพไตรภูมิ ภาพพระพุทธประวัติ ภาพเทพชุมนุม รวมถึงภาพวิถีชีวิตของประชาชนในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เรียกได้ว่างดงามมาก

น.ส.วรรณา ไววิ่งรบ ผู้แทนจากกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เล่าว่า หลายปีก่อนเคยมาร่วมกิจกรรมสวดมนต์งานกฐินกับกรมการศาสนา การเข้าร่วมกิจกรรมเข้าวัดวันพระครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ปกติเป็นคนชอบทำบุญ ไหว้พระอยู่แล้ว โดยเฉพาะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตอนนี้เข้าวัดเพิ่มช่วงวันหยุดพาคุณแม่ทำบุญ อยากจะเชิญชวนให้ทุกหน่วยงานมาร่วมกันทำบุญ สวดมนต์ บำรุงศาสนา เป็นการรักษาวัฒนธรรมไทยไว้ด้วย

&nnbsp;   กรมการศาสนาได้ฟื้นฟู “โครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ” ขึ้นโดยได้ตระหนักถึงความต้องการของพุทธศาสนิกชนที่ต้องการเข้าวัดปฏิบัติธรรมในวันธรรมสวนะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ได้รับฟังและน้อมนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนามากล่อมเกลาจิตใจ นำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน และร่วมรณรงค์ให้ประชาชน นุ่งขาว รักษาศีล 5 ทุกวันพระ

‘เมืองกื้ดโมเดล’การศึกษาเพื่อสัมมาชีพ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20150825/212201.html

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป
วันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2558
'เมืองกื้ดโมเดล'การศึกษาเพื่อสัมมาชีพ

‘เมืองกื้ดโมเดล’การศึกษาเพื่อสัมมาชีพ

            “เมืองกื้ดโมเดล” เกิดจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กนักเรียนที่ยากจน และห่างไกล จึงเป็นที่มาในการจัดการเรียนรู้ที่สร้างให้เด็กเกิดรายได้ระหว่างเรียน เมื่อวิเคราะห์ถึงสภาพชุมชนโดยรอบจึงพบว่า โรงเรียนอยู่ท่ามกลางแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จึงตัดสินใจปรับ “หลักสูตรการเรียนรู้” เน้นสร้างทักษะอาชีพและทักษะชีวิตเพื่อให้เด็กที่จบไปสามารถประกอบอาชีพได้” ณรงค์ อภัยใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเมืองกื้ด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ กล่าว

โดยมีการประสานความร่วมมือไปยังบริษัททัวร์ ปางช้าง สถานบริการต่างๆ โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้างคอยช่วยเหลือร่วมกับชุมชนโดยรอบ เริ่มจากการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็ก โดยจัดตารางเรียนส่วนหนึ่งตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ แต่ โรงเรียนจะเสริมหลักสูตรด้านวิชาชีพทุกวันศุกร์ โดยตั้งเป็นชมรมต่างๆ อาทิ ชมรมกัปตัน (สอนล่องแพ) ชมรมมัคคุเทศก์น้อย ชมรมนวดแผนโบราณ เป็นต้น โดยให้นักเรียนที่อยู่ตั้งแต่ระดับชั้น ป.5-ม.3 ได้มีโอกาสเลือกและเรียนรู้ตามความสนใจ

“ในทุกวันศุกร์จะมีการเปิดโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชื่อมกับการท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมเรียนรู้ในโรงเรียน ขณะเดียวกันเด็กนักเรียนก็มีโอกาสฝึกทักษะอาชีพไปพร้อมๆ กับฝึกการสื่อสารภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ระหว่างเรียนแล้ว เด็กไม่ต้องหยุดเรียน ขณะเดียวกันเด็กยังสามารถค้นหาตัวเองได้ด้วยว่าถนัดด้านไหน เขาจะได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพภายหลังเรียนจบ” ผอ.ณรงค์กล่าว

ด้าน “จูพอ แสหลง” หรือน้องซี นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนบ้านเมืองกื้ด หัวหน้าชมรมกัปตันน้อย ซึ่งปัจจุบันใช้ทักษะล่องแพประกอบอาชีพในช่วงวันหยุด และปิดเทอม สร้างรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 5,000 บาท เล่าว่า รู้สึกภูมิใจและมีความสุขที่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ อีกทั้งยังสามารถส่งเงินให้พ่อแม่และน้อง ปัจจุบันที่บ้านน้องซียังเปิดเป็นโฮมสเตย์ต้อนรับชาวต่างชาติ ทำให้ได้ฝึกภาษาอังกฤษอยู่บ่อยครั้ง

“การได้โอกาสประกอบอาชีพหารายได้ระหว่างเรียน ทำให้ผมรู้ว่า การเรียนมีความจำเป็นแค่ไหน เพราะหากผมไม่มีความรู้ก็คงต้องเป็นลูกจ้างเขาไปตลอดชีวิต แต่หากมีโอกาสได้เรียนสูงๆ ก็จะเรียนรู้การบริหารจัดการ สามารถโตไปเป็นผู้ประกอบการได้ เวลาทำหน้าที่กัปตันเรือทำให้ผมได้ฝึกทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษเวลาคุยกับฝรั่ง นอกจากนี้ยังทำให้ผมกล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะเราเป็นคนที่กุมชีวิตลูกเรือที่นั่งไปด้วย”

ทั้งนี้ วันที่ 5-7 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับทีมงานเกรียนศึกษา ซึ่งเป็นแฟนเพจของกลุ่มเด็กเยาวชนที่สนใจปัญหาการศึกษาไทย จัดกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ “เมืองกื้ดโมเดล” ณ โรงเรียนเมืองกื้ด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อสัมมาชีพ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 2 จ.เชียงใหม่ โดยมี 3 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัคร 55 ทีม ได้แก่ ทีมที่ 1 ทีมไก่บ้านหนังเหนียว จาก ม.ธรรมศาสตร์ ทีมที่ 2 ทีมว่างจัง จาก ม.เกษตรศาสตร์ และทีมที่ 3 ที มWonder Wanderers จาก ม.ศิลปากร

อนึ่ง ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ สสค.มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้คณะทีมงานเกรียนศึกษา และทีมผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 3 ทีม ได้เรียนรู้รูปแบบการจัดการศึกษาแบบสัมมาชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-Based Education) ของ จ.เชียงใหม่ ที่เน้นให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน มุ่งวิเคราะห์แก้ปัญหาและอาศัยความต้องการของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง โดยผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 3 ทีม จะร่วมค้นหาแง่มุมและประเด็นปัญหาที่น่าสนใจของ “เมืองกื้ดโมเดล” เพื่อถ่ายทอดเป็นสื่อลักษณะต่างๆ สู่สาธารณะต่อไป

สำหรับโรงเรียนบ้านเมืองกื้ดเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอน ป.1- ม.3 มีนักเรียน 192 คน นักเรียนมีฐานะยากจน การเดินทางระหว่างบ้านกับโรงเรียนมีความยากลำบาก นักเรียนจำนวนหนึ่งต้องทำงานเพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว บางรายอยู่กับปู่ย่า ตายาย เพราะพ่อแม่หย่าร้าง นักเรียนที่เรียนจบ ม.3 แล้วไม่สามารถทำงานในสถานประกอบการ โรงเรียนจึงได้พัฒนาหลักสูตรวิชามัคคุเทศก์น้อย วิชานวดแผนไทย วิชาจักสาน บูรณาการกิจกรรมกาดมั่วครัวชั้นเรียน จัดการเรียนการสอนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ครู และสถานประกอบการและเครือข่าย วิทยาลัยเทคนิคสารภี สถาบันการโรงแรมจากออสเตรเลีย สถาบันการศึกษาจากสิงคโปร์ เพื่อให้นักเรียนได้มีรายได้ระหว่างเรียน ลดอัตราการออกกลางคัน และทำให้เรียนต่อสูงขึ้น และคนที่ไม่เรียนต่อก็สามารถประกอบอาชีพได้ในชุมชน สนใจเยี่ยมชม สอบถามได้ที่ โทร.0-5310-4048