คลังเปิดขั้นตอน เว้นสอบภาษีธุรกิจ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

05 มกราคม 2559 เวลา 09:12 น….. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/economy/408301

คลังเปิดขั้นตอน เว้นสอบภาษีธุรกิจ

โดย…ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มียอดขาย 500 ล้านบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ในการยกเว้นการตรวจสอบภาษีดังกล่าว กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการขอยกเว้นไว้ โดยขั้นตอนดังกล่าว คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับประโยชน์ตาม
พระราชกำหนด จะต้องมาจดแจ้งต่อกรมสรรพากร โดยยื่นคำขอจดแจ้งผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรที่ http://www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2559 ถึงวันที่ 15 มี.ค. 2559

ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับประโยชน์ดังกล่าว จะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิและมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา ซึ่งมีระยะเวลาครบ 12 เดือน และมีวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 ซึ่งหากมีการจดแจ้งกับกรมสรรพากรแล้ว บริษัทดังกล่าวมีรายได้เกินกว่า 500 ล้านบาท บริษัทดังกล่าวจะยังคงได้รับการยกเว้นการตรวจสอบตามพระราชกำหนดดังกล่าว

นอกจากนี้ กรมสรรพากร ระบุว่า แม้จะมีการจำกัดรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท แต่จะไม่มีการจำกัดทุนจดทะเบียนของบริษัทที่จดแจ้ง รวมทั้งเปิดให้บริษัทที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถจดแจ้งได้

หลังจากจดแจ้งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรแล้ว กรมสรรพากรจะส่งข้อความแจ้งผ่านอีเมลของบริษัทที่ให้ไว้กรมสรรพากร ว่าได้รับการจดแจ้งเรียบร้อยแล้ว

ที่สำคัญ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค. 2559 เป็นต้นไป และจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร รวมทั้งต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้ครบถ้วน ตามประเภทภาษีที่บริษัทมีหน้าที่ในการยื่นแบบและชำระภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 เป็นต้นไป

โดยบัญชีและงบการเงินที่บริษัทจัดทำขึ้นและยื่นเสียภาษีต่อกรมสรรพากรนั้น ต่อไปจะให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินใช้บัญชีและงบการเงินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อ เพราะถือว่าเป็นบัญชีและงบการเงินที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมการเงินให้กับกิจการเหล่านั้น ทำให้รัฐสามารถให้ความช่วยเหลือกับ
ผู้ประกอบการได้ตรงจุดและตรงต่อความต้องการของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า บริษัทที่ได้จดแจ้งแล้ว กรมสรรพากรจะยกเลิกการตรวจสอบในอดีตทั้งหมดใช่หรือไม่ เรื่องนี้กรมสรรพากร ระบุว่า บริษัทได้จดแจ้งแล้วและอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบภาษีอากร เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หลีกเลี่ยงภาษีอากร หรืออยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดี ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2559 กรมสรรพากรจะยังคงดำเนินการเฉพาะกรณีนั้นๆ ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ ในกรณีที่หากบริษัทอยู่ระหว่างขอคืนภาษีอากร เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจะยังคงสามารถดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนภาษีที่ขอคืนนั้นได้

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากการจดแจ้งต่อกรมสรรพากรตามพระราชกำหนดฉบับนี้ นอกเหนือจากการไม่ถูกตรวจสอบหรือไต่สวนการเสียภาษีย้อนหลังแล้ว หากเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่จัดตั้งก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2559 และมีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นและลดภาษี

ทั้งนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 3 แสนบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 และ 2560 จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนเอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิ 3 แสนบาทขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นภาษีในปีบัญชี 2559 และเสียภาษี 10% ในปีบัญชี 2560

โดยธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวจะต้องยื่นคำขอจดแจ้งผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรที่ http://www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ถึงวันที่ 15 มี.ค. 2559
ว่าเป็นผู้ประกอบการตามพระราชกำหนดข้างต้น และต้องไม่ถูกเพิกถอนการได้รับการยกเว้นตามพระราชกำหนดฯ ดังกล่าวด้วย

ค้าปลีกใหม่ปีวอกชะลอ บิ๊กโปรเจกต์ทะลักปี’60

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

05 มกราคม 2559 เวลา 09:07 น…. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/economy/408299

ค้าปลีกใหม่ปีวอกชะลอ บิ๊กโปรเจกต์ทะลักปี'60

โดย…สุกัญญา สินถิรศักดิ์

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในเชิงซัพพลายใหม่ในปี 2558 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นปีที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดใหม่มากที่สุดในรอบหลายปี ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลอีสต์วิลล์ (รามอินทรา) สเปลล์ (ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต) เซียร์ รังสิต (ปรับโฉมใหม่) เดอะ สตรีท ยังไม่นับรวมพื้นที่ค้าปลีกในลักษณะคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ อีก รวมแล้วในปีที่ผ่านมามีซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่มากถึง 5.6 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) เพิ่มขึ้นจากปี 2557 มากถึง 40%

ขณะที่ซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่ปี 2559 จะลดความร้อนแรงลงจากปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากการสำรวจของฝ่ายวิจัยบริษัทซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) หรือซีบีอาร์อี ที่ระบุว่าปีนี้จะมีซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่ลดลงเหลือ 3 แสน ตร.ม. ซึ่งหากเทียบกับปีที่แล้วลดลงมากถึง 46% เนื่องจากปีนี้ไม่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดใหม่เลย จะมีเพียงศูนย์การค้าขนาดกลางและคอมมูนิตี้มอลล์ เช่น โชว์ ดีซี พระราม 9 ฮาบิโตะ สุขุมวิท 77 ฯลฯ

อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี กล่าวว่า หากวิเคราะห์จากตัวเลขพื้นที่ค้าปลีกใหม่จะเห็นว่าขยายตัวมากติดต่อกันมา 2 ปี (2557-2558) โดยเฉพาะในปีที่แล้วมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดให้บริการหลายแห่งมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ซัพพลายใหม่ปีนี้อาจจะลดลง แต่จะไปบูมรอบใหม่อีกทีในปี 2560 ที่จะมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดให้บริการ ซึ่งล้วนเป็นศูนย์การค้าที่ต้องจับตามอง

ศูนย์การค้าใหม่ในปี 2560 จะเป็นฉากใหม่ของวงการค้าปลีก จากการเปิดหน้าดินใหม่ๆ ทั้งไอคอนสยามย่านเจริญนคร ซึ่งไม่เคยมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่มาก่อน และไอคอนสยามไม่ใช่เป็นเพียงศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นบิ๊กโปรเจกต์ที่มีแม่เหล็กใหม่ๆ และใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น “ทากาชิมายะ” สาขาแรกในประเทศไทย แบงค็อก มอลล์ ก็จะพลิกโฉมย่านบางนาให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของสุขุมวิทตอนปลาย ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ที่จะเติมจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายให้กับโครงการดิ เอ็มดิสทริค ของกลุ่มเดอะมอลล์ หรือศูนย์การค้าแพลทินัม ราชดำริ ซึ่งแม้จะเป็นทำเลหลักของธุรกิจค้าปลีก แต่จะมีผลให้ค้าปลีกย่านราชประสงค์-ราชดำริ กลับมาร้อนระอุรอบใหม่

สถานการณ์ที่กล่าวถึงเป็นเพียงซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่ที่เติบโต แต่ในเชิงกำลังซื้อภายในตัวห้าง อลิวัสสา กล่าวว่า ซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่เติบโตจริง แต่เวิร์กจริงหรือเปล่าคือสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะภาพรวมเศรษฐกิจเวลานี้ยังไม่ดีมาก กำลังซื้อคนลดลง หลายศูนย์การค้าเปิดใหม่ ขายพื้นที่เช่าได้เต็ม มีคนมาเดินเยอะในช่วงเปิดตัวใหม่ แต่จะประสบความสำเร็จระยะยาวหรือไม่ต้องดูอย่างน้อยอีก 1 ปี ว่าสามารถรักษากลุ่มลูกค้าได้หรือไม่ ถ้ารักษาได้ต่อเนื่องก็ดีไปเลย แต่ถ้ารักษาไม่ได้จะต้องทบทวนใหม่

“ศูนย์การค้าขนาดใหญ่บางแห่งที่เปิดบนทำเลใหม่ๆ ก็เข้าไปเติมเต็มสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อน แต่หลายแห่งที่เปิดตัวไปแล้วสักพักไม่เวิร์ก ก็ต้องทบทวน ปรับตัว ซึ่งเศรษฐกิจปีนี้ถ้าการจับจ่ายใช้สอยดี นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ ตลาดค้าปลีกก็จะดีไปด้วย” อลิวัสสา กล่าว

สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปี 2559 ยังเหนื่อยและแข่งขันสูง ถ้าไม่ใช่กลุ่มดั้งเดิมที่เคยทำระยะยาวอาจจะอยู่ลำบาก เพราะมองว่าการจับจ่ายใช้สอยปีนี้ก็ยังไม่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วมากนัก คึกคักต้นเดือนกับปลายเดือน แต่ซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่ๆ ก็ยังเปิดต่อเนื่อง ส่วนคอมมูนตี้มอลล์น่าจะลดลง เพราะขยายตัวมาหลายปีแล้ว

ทั้งนี้ จากการสำรวจของคอลลิเออร์สฯ พบว่า พื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อันได้แก่ ศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์เปิดให้บริการใหม่หลายโครงการในปี 2558 รวมพื้นที่แล้วมากกว่า 491,925 ตร.ม. และอีกเกือบ 2.2 แสน ตร.ม. มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2559 โดยพื้นที่ค้าปลีกส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการในปีที่แล้ว จะเป็นพื้นที่ของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัลที่เปิดให้บริการ 2 โครงการในปีนี้ และมีคอมมูนิตี้มอลล์อีกหลายโครงการที่เปิดให้บริการ

ในขณะที่พื้นที่โครงการค้าปลีกส่วนใหญ่ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปีนี้ จะเป็นโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ เพราะว่าโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2560 หลายโครงการ อัตราการเช่าของพื้นที่ค้าปลีกก็ค่อนข้างสูงเช่นกันคือเกือบ 100% ตั้งแต่ก่อนเปิดให้บริการ อาจจะมีแต่โครงการคอมมูนิตี้มอลล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกเท่านั้นที่มีอัตราการเช่าไม่มากหรืออาจจะลดลง เนื่องจากเจ้าของโครงการขาดประสบการณ์ในการทำงานด้านค้าปลีกทำให้โครงการประสบความสำเร็จแค่ช่วงสั้นๆ จากนั้นก็ลดความนิยมลงไปทำให้ผู้เช่าทยอยปิดร้านไป

ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในประเทศไทยเป็นที่สนใจจากทั้งร้านค้า หรือแบรนด์ไทย และต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะผู้เช่ารายใหม่ๆ เหล่านี้ต้องการขยายตลาดให้ครอบคลุมกำลังซื้อทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว รวมทั้งมีผู้ประกอบการโครงการค้าปลีกต่างประเทศต้องการเปิดโครงการศูนย์การค้าในประเทศ แต่อาจจะกังวลเรื่องของการแข่งขันกับผู้เล่นหลักในตลาดของประเทศไทยที่มีความแข็งแกร่ง และขยายตลาดต่อเนื่องเช่นกัน

ธุรกิจเด่น-ธุรกิจดับ ปี’59 ‘4จี-สุขภาพ-ท่องเที่ยว’ มาแรง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

01 มกราคม 2559 เวลา 10:00 น…. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/economy/407740

ธุรกิจเด่น-ธุรกิจดับ ปี’59 ‘4จี-สุขภาพ-ท่องเที่ยว’ มาแรง

โดย…ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

เศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังคงไม่สดใสมากนัก หลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่างคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าโดยเฉลี่ย 3-3.5% ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน คือ เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่จะไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองเศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่วัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแตกต่างกันชัดเจนขึ้น กนง.มองว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีแรงสนับสนุนจากภาวะตลาดแรงงานและการบริโภคในประเทศ

ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาส 3 ตามการฟื้นตัวของการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก

สาหรับเศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ (ไม่รวมญี่ปุ่น) ชะลอตัวตาม โดยเฉพาะประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนสูงและยังส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วน 60-71% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หดตัวต่อเนื่องจากปี 2558 ที่คาดว่าส่งออกจะติดลบ 5% และ กนง.คาดว่าในปี 2559 การส่งออกจะขยายตัว 0% ซึ่งนั่นเป็นการประมาณการ แต่ตัวเลขจริงยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีหรือแย่กว่าที่คาดการณ์

การทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ง่าย ข้อมูลและข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ทำธุรกิจควรรู้เพื่อที่จะเตรียมรับมือ ปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นจริง

ในปี 2559 ธุรกิจที่ยังมีอัตราการขยายตัวสูง หรือธุรกิจดาวรุ่ง หรือธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง หรือธุรกิจดาวดับ จะเป็นประเภทธุรกิจใดบ้าง ก็ล้วนขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศทั้งสิ้น

ปัจจัยภายนอกประเทศที่ยังไม่ค่อยดีนักเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก แต่ปัจจัยในประเทศเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ง่ายกว่าโดยรัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะใช้การลงทุนในประเทศเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักดันการบริโภคในประเทศขึ้นมาทดแทนเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาภาคต่างประเทศ

ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาล และการกระตุ้นการบริโภค จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ในวิกฤตมักมีโอกาสเสมอ สำหรับผู้ที่มองเห็น

มนัส แจ่มเวหา ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีความผันผวนมาก และควรเตรียมรับมือด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพราะมีแนวโน้มค่าเงินบาทจะอ่อนลง จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ สินค้าและบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในปี 2559 ได้แก่ ข้าวและน้ำตาลทราย คาดว่าจะได้รับผลดีจากราคาในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับขึ้นจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนินโญ  กระดาษและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ปิโตรเลียม มีแนวโน้มขยายตัวจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของคู่ค้าหลักโดยเฉพาะอาเซียน และปิโตรเคมี ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ

ส่วนสินค้าที่มีสหรัฐเป็นตลาดหลักและมีโอกาสขยายตัวจากการนำเข้าของสหรัฐที่ฟื้นตัวขึ้น ได้แก่ ผัก-ผลไม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับแท้ นอกจากนี้สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามภาพรวมของตลาดโลก แม้ไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นตลาด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ยางยานพาหนะ ถุงมือยางและถุงยางคุมกำเนิด รถยนต์สำเร็จรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ และแผงวงจรไฟฟ้า สำหรับธุรกิจอื่นๆ ที่มีทิศทางดี ได้แก่ เอทานอลและไบโอดีเซล ได้รับผลดีจากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ พลังงานไฟฟ้า มีแนวโน้มดีจากการที่ไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน นับว่ามีโอกาสในการขยายตัวอีกมาก

สำหรับภาคบริการที่ยังขยายตัวดีในปี 2559 อาทิ โรงแรม จากภาคท่องเที่ยวที่ยังดีอยู่ บริการสุขภาพ มีปัจจัยเกื้อหนุนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร และจำนวนผู้สูงอายุ รวมถึงกระแสใส่ใจในสุขภาพที่มีมากขึ้น รับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พาณิชยนาวี โดยเฉพาะเรือน้ำมัน ได้ประโยชน์จากความต้องการขนส่งน้ำมันในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงอาเซียน และโทรคมนาคม ซึ่งเติบโตตามปริมาณการใช้บริการข้อมูล (Non-voice) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการขยายขอบเขตการให้บริการในระบบ 3จี และ 4จี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงลงทุนเพื่อพัฒนาระบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการ

วัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง เปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2559 ว่า จะขยายตัว 2.5-3% โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้หรือไม่เพียงใด สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่

ทริสเรทติ้ง มองอุตสาหกรรมกลุ่มที่มีแนวโน้มดีมี 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพ ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยบวก สัดส่วนประชาชนสูงวัยเพิ่มขึ้น และความนิยมของต่างชาติเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตที่ดี

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการทำธุรกิจในปี 2559 มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนโครงการเมกะโปรเจกต์ และยังได้รับผลดีจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น สถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพ และการพัฒนาโครงข่าย 4จี

ทางด้านธุรกิจที่มีแนวโน้มไม่สดใสในปีหน้า หนีไม่พ้นธุรกิจที่ ได้รับผลกระทบทางลบจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศทั้งสิ้น ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ปรับตัวยากกับภาวะเศรษฐกิจและสู้ทุนปลาใหญ่กินปลาเล็กไม่ได้

อย่างไรก็ดี แม้จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่เด่นดังในปีนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมดาวดับจะต้องปิดกิจการกันทุกราย หากผู้ประกอบการใดสามารถปรับตัว รับมือเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ ก็จะสามารถวิ่งสู้ฟัดยืนหยัดในสมรภูมิธุรกิจต่อไปได้

5 เสือ ฆ่าไม่ตาย สุดท้ายต้องหวยออนไลน์

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

29 ธันวาคม 2558 เวลา 09:50 น…. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/economy/407264

5 เสือ ฆ่าไม่ตาย สุดท้ายต้องหวยออนไลน์

โดย…กนกวรรณ บุญประเสริฐ

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศชูเรื่องการลดราคาสลากเหลือ 80 บาท เป็นภารกิจสำคัญในการคืนความสุขให้ประชาชน ทำให้ในห้วงปี 2558 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการแก้ปัญหาสลากเกินราคาเชิงรุก เป้าหมายคือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งโครงสร้างภายในและโครงการสร้างเรื่องการบริหารจัดการสลาก ที่นำมาสู่การทลายอาณาจักรสลากของ 5เสือและยี่ปั๊ว ซาปั๊วรายใหญ่ ที่เป็นต้นตอสำคัญผลักดันให้มีการขายสลากเกินราคาคิดเป็นวงเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้มากกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ ภาพรวมวิวัฒนาการแก้ปัญหาสลากเกินราคาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2557 มีลำดับการแก้ปัญหาสลากเกินราคาที่น่าสนใจ แต่งตั้งสมัยที่แต่งตั้งให้ สมชัย สัจจพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการสลากฯ ได้ออกมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสลากฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบพฤติกรรมของตัวแทนจำหน่ายที่มีการขายสลากเกินราคา การจัดทำบัตรประจำตัวของตัวแทนจำหน่ายสลาก การประทับตราสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินบนสลากที่จัดสรรให้ตัวแทนจำหน่ายรายย่อย การกระจายสลากออกไปยังภูมิภาคมากขึ้น การเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปและคนพิการ รวมทั้งนิติบุคคลที่ประสงค์จะรับสลากไปจำหน่ายขึ้นบัญชีสำรองไว้ และสั่งศึกษาเรื่องโควตา 5 เสือ พร้อมนำเรื่องแก้ร่าง พ.ร.บ. สำนักงานสลากฯ เสนอเข้า ครม.

ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดใหม่ โดยให้ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการสลากฯ และได้กำหนดการจัดสรรเงินรายได้ใหม่ แบ่งเป็นเงินรางวัล 60% ไม่น้อยกว่า 20% เป็นรายได้แผ่นดิน ไม่เกินกว่า 17% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน และที่เหลือ 3% นำสมทบตั้งกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม เพิ่มบทลงโทษผู้ค้าสลากเกินราคา จากเดิมปรับ 2,000 บาท เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และจะสอบภาษีย้อนหลังสำหรับผู้ค้ารายใหญ่

หลังการเข้ามาของคณะกรรมการชุดใหม่ ที่นำโดย พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้ออกมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาแบบเข้มข้น เริ่มจากมาตรการระยะที่ 1 สั่งจัดสรรเงินรายได้ใหม่ เพิ่มจากเดิมได้ 7-9% เป็น 12-14% แก้ปัญหาที่รายย่อยที่อ้างว่ารายได้ไม่พอ ต้องเอาสลากไปขายต่อยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และประกาศขอความร่วมมือผู้ค้าขายสลาก 80 บาท ทั้งประเทศ เริ่มงวดวันที่ 16 มิ.ย. 2558 มีการกระจายสลากโดยสั่งลดโควตาเหลือคนละ 5 เล่ม

มีการตั้งชุดเฉพาะกิจประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อตรวจสอบย้อนรอยว่าผู้ที่ขายเกินราคา มีการสั่งยกเลิกรางวัลที่ 1 พิเศษ (แจ็กพอต) รวม 52 ล้านบาท/งวด แบ่งเป็น รางวัลพิเศษ ชุดที่ 1 มูลค่า 30 ล้านบาท/งวด และรางวัลพิเศษ ชุดที่ 2 มูลค่า 22 ล้านบาท/งวด เริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค. 2558 หวังลดเรื่องการรวมชุดขายเกินราคา ปรับลดอายุสัญญาจำหน่ายสลากจาก 1 ปี เหลือ 6 เดือน และปรับเงื่อนไขสัญญาให้มีบทลงโทษที่ชัดเจนขึ้น มีการลงนามกับ ปตท. จัดพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมัน 400 แห่ง ให้เป็นจุดจำหน่ายสลาก 80 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่คิดค่าตอบแทนในการใช้พื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ปัญหาในเชิงเทคนิค ด้วยการประกาศออกรางวัลเลขหน้า 3 ตัว เป็นครั้งแรกในงวดวันที่ 1 ก.ย. 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาเลขไม่สวย ที่ผู้ค้ามักอ้างว่าขายไม่ออกจึงต้องขายยกเล่มให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่ม 11 ล้านฉบับ เพื่อทดแทนสลากการกุศลที่ยกเลิกไป เริ่มงวดวันที่ 1 ก.ย. 2558 เป็นต้นไป

ผลจากมาตรการระยะที่ 1 สามารถดัดหลังผู้ค้ารายใหญ่ได้ระดับหนึ่ง ทำให้ภาพรวมตลาดสลากมีการขายตามราคา 80 บาท มากกว่าครึ่ง แต่ยังมีผู้ค้าบางส่วนที่แอบลักลอบขายเกินราคา

จึงนำไปสู่การออกมาตรการระยะที่ 2 ได้แก่ การจับมือธนาคารกรุงไทย ทำโครงการซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล เริ่มในงวดเดือน ต.ค. 2558 และไม่ต่อสัญญาให้ผู้ค้าที่เป็นนิติบุคคล ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณะทั้งหมด แล้วจึงนำโควตาดังกล่าวมากระจายจัดสรรให้รายย่อยผ่านโครงการซื้อ-จองสลากล่วงหน้า

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ มีมติเห็นชอบไม่ต่ออายุสัญญาให้กับนิติบุคคลทั้งหมด รวมทั้งองค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้พิการ รวมทั้งสิ้นกว่า 2,495 แห่ง รวมทั้งสิ้น 15.8 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 7.9 ล้านคู่ โดยให้มีผลตั้งแต่งวดวันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งรวมถึงโควตาสลากของ 5 เสือ ถือเป็นการอวสานปิดตำนานโควตาสลาก 5 เสือลงทันที และได้ปรับลดโควตาสลากจาก 15 เล่ม เหลือ 5 เล่ม/ราย เพื่อกระจายสลากให้ถึงมือรายย่อยเพิ่มมากขึ้น

แต่ในมุมกลับกัน การกระจายโควตาสลากให้ผู้ค้ารายย่อยที่ลงทะเบียนกว่า 1.4 แสนราย ให้มีโอกาสได้เข้าจองสลากผ่านเคาน์เตอร์และตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย ส่วนนี้จะมีการเพิ่มโควตาเป็น 22 ล้านฉบับ เริ่มในงวดวันที่ 17 ม.ค. 2559 นี้ ทั้งนี้พบว่ามีผู้ค้าทั้งเก่าและใหม่บางส่วนที่กลัวขายสลากขาดทุน จึงขนสลากยกเล่มไปขายยี่ปั๊ว ซาปั๊วต่อ

นอกจากนี้ ยังมีโควตาสลากที่กระจายไปยังภูมิภาค และผู้ที่รับสลากผ่านการจัดสรรของผู้ว่าราชการจังหวัดและคลังจังหวัด กับโควตาของสมาคม มูลนิธิ ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ส่วนนี้จะมีโควตาทั้งหมดราว 28 ล้านฉบับ ถือเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาว่ามีกลุ่มทุนที่เข้าไปรับซื้อสลากเพื่อนำมารวมเล่มเป็นชุด ขายเกินราคาอยู่หรือไม่ เมื่อรวมกับกลุ่มรายย่อยที่ได้สลากไปขายแต่ไม่มีศักยภาพจริง ทำให้ขณะนี้ยังเห็นมีการขายสลากเลขชุดในราคาแพงกว่าที่กำหนดอยู่เกลื่อนเมือง

จะเห็นว่าการแก้ปัญหาสลากเกินราคาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าสอบผ่าน แต่คะแนนยังไม่เต็มร้อย แม้ภาพรวมคนส่วนใหญ่ สามารถเดินไปซื้อสลากในราคา 80 บาท ได้ไม่ยาก แต่ยังพบว่ากรณีที่สลากเลขสวย เลขดังในงวดนั้นๆ ยังถูกแม่ค้าจับขายพวงเลขไม่สวย หรือขายเกินราคาและอ้างว่ารับสลากมาแพง

ทำให้ในปี 2559 นี้ ยังเป็นปีที่ต้องจับตามาตรการระยะที่ 3 ที่สำนักงานสลากฯ จะต้องออกมาเพื่อจัดการกับพวกยี่ปั๊ว ซาปั๊ว พวก 5 เสือ และเครือญาติรายที่ไม่ยอมวางมือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังทำให้เกิดการขายสลากเกินราคา และหนึ่งในแนวทางที่ถูกจับตาคือ การออกสลากแบบออนไลน์ แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะกล้าโละโควตาสลากทั้งหมดแล้วเปิดขายสลากแบบออนไลน์ให้คนได้เลือกเลขเองได้หรือไม่

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้ปกป้องเกษตรอินทรีย์

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

03 มกราคม 2559 เวลา 11:14 น….. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/interview/408023

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้ปกป้องเกษตรอินทรีย์

โดย…ธเนศน์ นุ่นมัน

เมื่อกล่าวถึงเอ็นจีโอที่ออกโรงคัดค้านเรื่อง “จีเอ็มโอ” หรือการตัดแต่งพันธุกรรมพืช เพื่อให้ทนต่อโรคพืชแมลงและสภาพอากาศ และยืนเคียงข้างปกป้องภาคเกษตรอินทรีย์ จนกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในแถวหน้าที่คร่ำหวอดเรื่องนี้มากว่า 20 ปี ย่อมปรากฏชื่อของ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย

จุดเริ่มอุดมการณ์

วิฑูรย์ เล่าถึงเส้นทางที่เขาเดิน เริ่มต้นจากประวัติการศึกษาที่เรียนจบมาจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในสาขาที่สามารถทำงานด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช เรียนตั้งแต่ทฤษฎีพื้นฐานเรื่องการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยเฉพาะข้าวโพดไปจนถึงภาคปฏิบัติ ต้องไปฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมการเกษตรหรือเกษตรกรจริงๆ 300 ชั่วโมง

การเรียนจบสายนี้คือใบเบิกทางให้เข้าไปทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมได้ไม่ยาก แต่ วิฑูรย์ กลับไม่เลือกเส้นทางนั้น

ช่วงประมาณปี 2528 เขาเลือกที่จะเข้าไปทำงานด้านอาสาสมัครเพื่อสังคม ต้องลงไปทำงานในพื้นที่ จ.สุรินทร์ เพื่อเก็บข้อมูลเกษตรกร ปีนั้นเป็นปีที่ราคาข้าวตกต่ำมาก อาชีพชาวนาซึ่งลำบากยากจนอยู่แล้ว ยิ่งเผชิญหน้ากับความลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรเป็นปัญหาที่ความรู้ด้านการเกษตรที่ร่ำเรียนมาจากรั้วมหาวิทยาลัยไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาได้เลย

แต่ในปีเดียวกันนี้เอง เขาได้รู้จักกับ“พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย” ปราชญ์ชาวบ้านผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเกษตรกรต้นแบบของการเกษตรผสมผสาน แนวทางของปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้ทำให้ วิฑูรย์ ได้เห็นการนำการเกษตรแบบยกร่องในภาคกลางเข้ามาปรับใช้ มีการจัดการแหล่งน้ำที่ชาญฉลาด ผสมผสานกิจกรรมการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้หลากหลายบนที่ดิน

ระบบเกษตรที่มีการปลูกพืชและมีการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด แต่ละกิจกรรมเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อม ใกล้เคียงกับระบบนิเวศตามธรรมชาติ

นั่นทำให้ วิฑูรย์ เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียนมาจากรั้วมหาวิทยาลัย ว่ามีอะไรที่นำมาใช้ประโยชน์กับชีวิตจริงได้บ้าง

“ตอนนั้นมีคนที่จบจาก มก.ไปประกอบอาชีพทำนาก็ยังเอาตัวรอดไม่ได้ เมื่อได้เห็นเกษตรกรอย่างพ่อมหาอยู่ ที่สรุปบทเรียนการทำการเกษตรบนฐานความรู้ท้องถิ่นจริงๆ ขึ้นมาแล้วอยู่รอดอย่างมั่นคง ผมก็เห็นข้อจำกัดของสิ่งที่เรียนมา การเกษตรตามแนวทาง ‘ปฏิวัติเขียว’ ที่เริ่มเข้ามากำหนดทิศทางการเกษตรในประเทศไทย เริ่มแสดงให้เห็นว่า นั่นอาจจะไม่ใช่คำตอบของภาคการเกษตร”

ยุคปฏิวัติเขียว

ยุคปฏิวัติเขียวตามที่ วิฑูรย์ ระบุ คือจุดเริ่มต้นการใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เกษตรและเทคโนโลยี มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ให้ผลผลิตสูงขึ้นในการลงทุนที่เท่าเดิม ในระยะเวลาเดิม สร้างวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและเป็นการประหยัดแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และนับเป็นเกษตรแผนปัจจุบันที่ยังพบเห็นได้ทั่วไป

“เราลงไปทำการเกษตรตามที่เรียนมาทุกอย่าง เพื่อหวังช่วยเกษตรกรให้ได้ผลผลิตสูงสุด แมลงศัตรูพืชทุกตัว สารเคมีและยาปราบศัตรูพืชทั้งหมดที่เราท่องและมีกระบวนการจัดการในตำรา ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่ายังมีทางเลือกอื่นๆ ในการทำการเกษตรหรือไม่ และสิ่งที่เรียนมาบอกเรื่องการลงทุนเรื่องผลกำไรและการเอาตัวรอดจริงๆ จากอาชีพนี้น้อยมาก ขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงเมื่อประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาผลิตพืชผลทางการเกษตรราคาถูกออกมาตีตลาดโลกจนราคาตกต่ำ ปลูกมาขายก็ขาดทุน เรื่องนี้ไม่เคยมีการบอกไว้ในตำราว่าต้องไปบอกเกษตรกรอย่างไร แก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไร สิ่งที่เห็นจึงท้าทายผมมาก”

วิฑูรย์ สรุปบทเรียนว่า ปฏิวัติเขียวอาจไม่ตอบโจทย์ภาคการเกษตร พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ารูปแบบการผลิตแบบดั้งเดิมของการผลิตทางการเกษตรที่เรียกว่า “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่เริ่มมีการนำกลับมาใช้ในหลายประเทศ เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า แต่เหตุใดเกษตรอินทรีย์กลับถูกแทนที่ด้วยการใช้สารเคมีทางการเกษตรและเครื่องจักรกล จนโครงสร้างดินเสื่อมโทรม พืชอ่อนแอ ต้องพึ่งพาการใช้สารเคมี จนบ่อนทำลายความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง

เดินหน้าหาคำตอบ

“ผมพบว่ามีเบื้องหลังยุทธศาสตร์การเกษตรของอุตสาหกรรมอาหารที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอยู่เบื้องหลังนั้น มีแง่มุมที่น่าสนใจมากมาย ต้องใช้เวลาหลายปีรวบรวมข้อมูลจึงพบว่านโยบายด้านการเกษตรของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกานั้นผูกโยงกับสงครามเย็น ใช้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านลัทธิสังคมนิยม เมื่อสิ้นสุดยุคสงครามเย็น บรรษัทหลายแห่งก็ได้ประโยชน์จากนโยบายที่ได้วางไว้” เขาระบุ

วิฑูรย์ เล่าว่า อุตสาหกรรมการเกษตรคือกลไกสำคัญที่สหรัฐอเมริกาใช้ในการขยายพรมแดนผลประโยชน์ โดยผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยเกษตรระหว่างชาติ (International Agricultural Research Institute : IARCs) มีเป้าหมายปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ผลผลิตสูง ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืชและระบบการชลประทานที่ดี ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรพันธุกรรมเพื่อนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ในประเทศอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างเป็นระบบและดูชอบธรรมยิ่งขึ้น

สถาบันวิจัยเกษตรระหว่างชาติแห่งแรก คือ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรืออีรี่(International Rice Research Institute หรือชื่อย่อ IRRI) ที่ตั้งอยู่ที่ลอสบันยอส ประเทศฟิลิปปินส์ อีรี่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 โดยได้รับทุนสนับสนุนในการก่อตั้งครั้งแรกจากมูลนิธิฟอร์ดและร็อคกี้เฟลเลอร์ของอเมริกา ส่วนในปีต่อๆ มาอีรี่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มเติม เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี แคนาดา อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น รวมทั้งธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย

เงามืดเบื้องหลัง

วิฑูรย์ ระบุว่า องค์กรดังกล่าวอยู่ใต้เงาของอเมริกาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินและบุคลากร ผู้อำนวยการหรือนักปรับปรุงพันธุ์ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอเมริกันทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อให้การควบคุมนโยบายต่างๆ สามารถทำได้โดยเร็ว ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายข้าวนานาชาติซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน แสดงให้เห็นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา ชาวนาสหรัฐนำพันธุกรรมข้าวจากอีรี่ไปใช้คิดเป็นมูลค่านับพันล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินสนับสนุนไม่กี่สิบล้านบาท ยังไม่รวมสิทธิบัตรในข้าว

ภายใต้ความสำเร็จในการผสมพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ทำให้บทบาทศูนย์วิจัยเกี่ยวกับการเกษตรนานาชาติแพร่ขยายไปครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ แต่อีกด้านส่งผลให้พันธุ์พืชพื้นเมืองสูญหายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการนำพันธุ์พืชใหม่เข้ามาปลูกทดแทน แต่หากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่การปรับปรุงพันธุ์พืชจะพบกับวิกฤต เพราะไม่อาจหาพันธุกรรมมาเป็นฐานในการปรับปรุงพันธุ์ได้ต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งองค์กรที่เข้ามามีบทบาทในการควบคุมทรัพยากรพันธุกรรมไว้อย่างสิ้นเชิง ขณะนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์มีบริษัทอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ต่อมาการผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ก็เริ่มขยายไปสู่การมอบทุนเพื่อการวิจัยสารพัดปูพื้นฐานการก้าวเข้าไปวิจัยเรื่องจีเอ็มโอที่ทอดไปสู่การผูกขาดอุตสาหกรรมอาหารมาถึงปัจจุบัน

“เราพบว่าอุตสาหกรรมอาหารอยู่ในมือบริษัทใหญ่เพียงหยิบมือเดียว ซึ่งบริษัทเหล่านี้กำลังเชื่อมโยงกัน มีอิทธิพลเหนือวิทยาศาสตร์อย่างยาวนาน และค่อยๆ สร้างกระบวนการเปลี่ยนการวิจัยด้านการเกษตรที่อยู่ในมือรัฐไปเป็นของเอกชน รัฐบาลอย่างของประเทศเราที่สุดก็ทำได้แค่สนับสนุนรับรองพืชพันธุ์ ที่เอกชนนำมาปลูกให้ดำเนินการได้”วิฑูรย์ ระบุ

สมการอำนาจใหม่ กุญแจสู่ความปรองดองยั่งยืน

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

03 มกราคม 2559 เวลา 10:01 น…. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/interview/407996

สมการอำนาจใหม่  กุญแจสู่ความปรองดองยั่งยืน

โดย…ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม / ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ประเทศไทยเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างเป็นทางการ แม้ปีเก่าจะผ่านไป แต่ปัญหาทางการเมืองที่คาราคาซังในปี 2558 ยังคงถูกส่งข้ามปีมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การสร้างความปรองดอง การปฏิรูปประเทศ ไปจนถึงสถานะทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โพสต์ทูเดย์สัมภาษณ์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อฉายภาพประเทศที่ต้องเผชิญในปีนี้ รวมไปถึงสิ่งจำเป็นที่แต่ละฝ่ายต้องดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศก่อนการเลือกตั้งในปี 2560

เอนกเริ่มจากการชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังมีทางสองแพร่งในสองเรื่องด้วยกันคือ การร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการสร้างความปรองดอง

“การเมืองไทยเดินมาถึงทางสองแพร่งที่ต้องเลือกเดินให้ชัดว่าจะไปทางไหน เช่น ทางหนึ่งรับรัฐธรรมนูญ โรดแมปก็เดินต่อไป ถ้าส่วนใหญ่ไม่เอารัฐธรรมนูญ โรดแมปเดิมที่วางไว้ก็ไปต่อไม่ได้ ต้องมาทำโรดแมปใหม่เช่นเดียวกับการสร้างความปรองดองก็เป็นเรื่องทางสองแยกอีก แยกหนึ่ง คือ เงียบๆ ไว้ไม่ให้พูดอะไร รอให้คดีต่างๆ มันเสร็จ ทุกฝ่ายมีความชัดเจนว่าต้องรับโทษอะไร แล้วค่อยมาคิดเรื่องการนิรโทษกรรม อีกแบบหนึ่งคือจะต้องมีการบอกว่าจะเดินหน้านิรโทษกรรมอย่างไร จะนิรโทษกรรมเมื่อไหร่ และจะดำเนินการแบบไหน”

“ผมว่าปี 2559 อย่างมากที่สุดที่เราคาดหวังได้คือความชัดเจนว่าเราจะไปทางไหน ผิดกับปี 2558 ที่หนักไปในทางคัดค้านและการจัดการและปราบปราม มาในปี 2559 ผมคิดว่าควรต้องตกผลึกเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญ”

3 ฝ่ายกินกันไม่ลง ต้องออกแบบ รธน.ให้อยู่ร่วมกัน

อาจารย์เอนก ย้ำว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ออกแบบให้อำนาจสามฝ่าย คือ ทหาร ฝ่ายการเมือง กลุ่มสีเสื้อ มีความสมดุล เพราะการสร้างความปรองดองไม่มีทางสำเร็จได้ หากยังใช้รูปแบบการเมืองเหมือนในอดีต

“ต้องพิจารณาถกเถียงและมีฉันทามติพอสมควรว่าเราจะไปทางไหน เราจะกลับไปเป็นแบบเดิม คือ มีการเลือกตั้ง จัดการกับทหารที่ยึดอำนาจ หรือจะกลับไปเป็นแบบเดิมในแง่ที่ว่า พวกสีหนึ่งจะกลับมา เกิดการทะเลาะกัน เดินขบวนอีก ดังนั้น ต้องออกแบบที่จะทำอย่างไรเพื่อให้สามฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างปรองดองกัน”

“การปรองดองกันต้องเริ่มจากการแบ่งอำนาจให้ได้ เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาสีใดสีหนึ่งออกไปจากสมการอำนาจ หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาทหารออกไปจากสมการอำนาจเพื่อให้เหลือแค่สองสี ดังนั้นต้องออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไรให้สามฝ่ายอยู่ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ทหาร+พรรคการเมืองอื่นๆ 2.สีแดง พรรคเพื่อไทย 3.กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่ฝ่ายที่จะบริหารจัดการจะเป็นฝ่ายที่ไม่ใช่สองสีที่จะเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างความปรองดอง”

ขณะเดียวกัน ในมุมของเอนกยังคิดต่อไปอีกว่า ทหารต้องเป็นฝ่ายสื่อสารออกมาให้ชัดว่าอยากจะสร้างความปรองดองอย่างไรด้วย ถึงจะช่วยให้ทุกอย่างมีความชัดเจน

“ถ้าเราจะให้ปี 2559 เป็นปีที่ทำให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้นได้จริงๆ ทหารต้องสื่อกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้รู้เรื่องว่าจะเอารัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่ใช่ปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญกันมา และพอถึงเวลาก็ไม่เอาอีก ต้องทำให้เรื่องนี้ให้ตกผลึก

“…ปี 2559 ต้องออกแบบเรื่องการสร้างความปรองดองให้เสร็จ การปรองดองจะเกิดขึ้นจะต้องมีเรื่องที่ต้องเอาผิดและมีเรื่องที่จะต้องนิรโทษกรรมและอภัยโทษ อะไรที่ทำได้ก็ต้องทำไปก่อน จะให้ปรองดองแบบมีความยั่งยืนได้นั้นจะต้องมีสามฝ่ายเข้ามาร่วมปรองดอง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้ฝ่ายหนึ่งเป็นคนดำเนินการปรองดอง ขณะที่อีกฝ่ายเป็นฝ่ายที่ถูกบริหารจัดการในการปรองดอง

“…บางเรื่องไม่ต้องเอาคนมากมายมาพูดหรอก เอาคนที่สำคัญมาก็พอ เพราะคนไทยมีปฏิภาณและไหวพริบที่จะอยู่อย่างสงบและสันติ ทุกคนต้องความสงบทั้งนั้น ถ้าคุณจัดการให้โดยที่ทุกคนรู้สึกว่ามันไม่มากเกินไป และมีสัดส่วนที่พอดีพอเหมาะ ผมว่าก็ยอมกันได้ สิ่งที่คณะรัฏฐาธิปัตย์ต้องพยายามหลีกเลี่ยง คือ อย่าทำให้เห็นว่าตนเองทำอะไรแล้วมันไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสม เท่านั้นมันก็โอเค มันไม่มีใครอยากอยู่แบบนี้ไปอีกนานหรอก เพราะมันไม่สนุก”

เมื่อถามถึงทิศทางการปฏิรูปประเทศในช่วงปี 2559 อาจารย์เอนกกลับมองว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเกิดได้เท่าไหร่นักด้วยสภาพที่แตกแยกอยู่เช่นนี้ ถ้าต้องการปฏิรูปประเทศจริงๆ ก็ต้องดึงสามฝ่ายเข้ามาร่วมกันให้ได้

“ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเมืองไทยจะปฏิรูปได้หรือเปล่า การปฏิรูปประเทศถ้าจะเกิดขึ้นได้ในสภาพอย่างทุกวันนี้ก็ต้องปฏิรูปโดยสามฝ่ายร่วมกันอยู่ดี ปี 2559 ในความเห็นของผม คือ ต้องทำให้เห็นว่าโรดแมปใหญ่ของประเทศจะต้องเป็นสามฝ่าย คุณจะทำอะไรได้ถ้าคุณไม่ทำแบบนี้

“…คุณจะให้สีแดงหรือพรรคเพื่อไทยเจ๊งไป ถามว่าแล้วเจ๊งหรือเปล่า คุณก็เห็นอยู่ว่าก็ไม่เจ๊งนะ คุณจะให้พรรคประชาธิปัตย์ กปปส.เจ๊งไป แล้วเจ๊งหรือเปล่า มันก็ไม่เจ๊งนะ คุณให้ทหารหายไปโดยอัตโนมัติ โดยฉับพลันและไล่ให้ไป ก็ไม่ไปหรอก”

…ในสังคมไทยได้ทดลองทำกันมา 80 ปีแล้ว จะเห็นว่าชนชั้นนำของเรา ทหารของเรา ไม่ใช่อะไรที่คุณจะไปยึดอำนาจมาได้ง่ายๆนะ เขาเก่ง เขาสู้ เขาปรับตัว ส่วนชนชั้นล่างของเรา ชนชั้นกลางของเรา ก็ไม่ใช่พวกที่จะยอมสยบอยู่ในอำนาจใครโดยไม่หือไม่อือ เมื่อเอาอีกฝ่ายลงไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็กดเขาไม่ได้ ก็ต้องมา
ร่วมกัน

คนเบื่อความขัดแย้งแบบเดิม ทหารยุคใหม่ บู๊บุ๋นครบเครื่อง

อย่างไรก็ตาม อนาคตของการร่างรัฐธรรมนูญ ถูกผูกไว้กับการทำประชามติด้วย โดยมีการประเมินว่าน่าจะมีขึ้นในช่วงกลางปี 2559 ซึ่งในทัศนะของอาจารย์คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ขึ้นอยู่กับการออกแรงของรัฐบาลและทหารด้วย

“ถ้ามันไม่มีใครเข้าไปจัดการหรือจัดตั้งเลย และรัฐบาลก็ช่วยรณรงค์ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ก็อาจจะผ่านได้ แต่ถ้ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายที่กำลังขัดแย้งอยู่นี้กลับไปรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะขลุกขลัก แต่ในอารมณ์ของคนทั่วๆ ไป ผมคิดว่าไม่ได้คิดเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเท่าไหร่หรอกตอนนี้”

“ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับทหาร ถ้าทหารคิดว่าเวลาที่ทหารต้องการในปี 2559 ยังไม่พอ ผมคิดว่าเขาก็อยู่เฉยๆ รัฐธรรมนูญก็ตกได้ แต่ถ้าเขาคิดว่าเขาพร้อมแล้ว เขาก็ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐธรรมนูญผ่านได้ ผมก็คิดว่ารัฐธรรมนูญก็ผ่านได้ แต่มาถึงตอนนี้ ทหารเขาเอาสถานการณ์อยู่ อีกอย่างปี 2559 เศรษฐกิจก็อาจจะดีขึ้นด้วย”

ช่วงท้ายอาจารย์เอนกวิเคราะห์ถึงอารมณ์ของประชาชนที่มีต่อการเมือง รวมถึงเปรียบเทียบการจัดระเบียบของกองทัพในเรื่องการเมืองในอดีตกับปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“อารมณ์คนก็คงไม่ชอบให้เกิดความขัดแย้งแบบเก่าๆ อีก แต่จะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วก็ไม่ได้อยากเท่าไหร่ ถ้าเป็นสังคมไทยแบบปกติก็คงต้องเลือกตั้งแล้ว แต่ว่าสังคมไทยตอนนี้อยู่ในภาวะที่มีเรื่องอื่นๆ สำคัญกว่า คือ ฝ่ายหนึ่งก็ไม่ชอบเลือกตั้งแล้ว เพราะถ้าเลือกตั้งก็รู้ว่าอีกพวกหนึ่งกลับมาแน่ เลยคิดว่าอยู่เฉยๆ อยู่แบบนี้ไปก่อนก็ได้”

“ส่วนฝ่ายที่ต้องการการเลือกตั้ง เวลาขยับปุ๊บก็โดนรวบ ทหารก็ขยันทำงานเป็นระบบมาก ไม่ใช่ทหารที่ขยับอยู่คนเดียว แต่เป็นทหารที่ขยับทั้งกองทัพ ทั้งกองทัพเปลี่ยนสภาพเป็นพรรคการเมืองหมด แต่เป็นพรรคการเมืองที่มีอาวุธอยู่ในมือครบและมีอำนาจพิเศษ เพราะฉะนั้นฝ่ายที่คิดจะต่อต้านรัฏฐาธิปัตย์ก็ต้องคิดหลายตลบ ซึ่งคนไทยเราก็ไม่อยากคิดอยู่แล้ว พอคิดๆ ไปแล้ว รอดีกว่า”

“อย่าไปคิดว่าทหารตอนนี้เป็นทหารเมื่อปี 2535 หรือ 2549 ทหารปี 2535 เผชิญกับสังคมที่ไม่มีความแตกแยก เพราะเป็นพลเรือนสู้กับทหาร เป็นคนชั้นกลางสู้กับทหาร ปี 2549 พอยึดอำนาจเสร็จ ก็รู้สึกว่าต้องรีบคืน รีบให้มีการเลือกตั้ง เอานายกฯ สุรยุทธ์ มาทำหน้าที่ นายกฯ สุรยุทธ์ ก็พยายามจะเป็นนายกฯ ประชาธิปไตย ในขณะที่ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว คนก็กลับมาสู่ประชาธิปไตยได้เร็ว และสิ่งที่คนไม่คาดถึงคือ คนกลับมาเลือกพรรคของคุณทักษิณมาเป็นรัฐบาล พอมาปี 2558 ทหารได้เข้ามายึดอำนาจ ก็อยู่กับอำนาจเต็มที่ เป็นระบอบที่คิดแล้วว่าไม่ใช่จะเข้ามาอยู่แค่ไม่กี่เดือน หรือ อยู่ปีเดียวแล้วจะออกไป เข้ามาเพื่อให้ประเทศไทยไม่กลับไปเป็นแบบเดิมด้วย” เอนกสรุป

นายกฯบิ๊กตู่ ส่วนผสมระหว่าง ‘สมัคร-ป๋า’

ผ่านมาปีกว่า คะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่มีตก อาจารย์เอนกวิเคราะห์ถึงท่าทีและความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “ผมว่าเขาเป็นคนที่รู้เยอะ รู้ลึก รู้หลายเรื่อง และเรียนรู้เร็ว ผมก็ไม่เคยคิดนะว่าเขาจะพูดได้ทุกเรื่องในเวลาอันรวดเร็ว และรู้เรื่องทุกเรื่อง มีความรู้ในขนาดที่พอทำอะไรได้ บางอย่างเขาคล้ายคุณสมัคร สุนทรเวช เป็นอย่างมาก ไม่น่าเชื่อนะ คนคนหนึ่งเป็นทหารมาทั้งชีวิต ทำไมถึงรู้อะไรเยอะขนาดนี้ เขาเรียนรู้เร็ว และมีสัญชาตญาณของการเป็นผู้นำอยู่ไม่น้อย กล้าตัดสินใจเร็ว ใช้ลูกน้อง และลูกน้องก็โอเคกับเขา”

“ถามว่าคนไทยทั้งหมดชอบเขาหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็มีคนที่ชอบเขามากกว่าที่เราคิดก็แล้วกัน คุณจะไปทำอะไรเขาได้ตอนนี้ เขาก็กล้าจับจริงๆ ที่เขามีอะไรที่แตกต่างกว่าผู้นำ

คนอื่นๆ มีอยู่ไม่กี่เรื่อง หนึ่ง เขาไม่ยอมให้ประเทศไทยอยู่เฉยๆ แล้ว เขาใช้กำลังและใช้น้ำหนักใช้ทุกอย่างกระแทก เข็น และลากให้ไปข้างหน้า”

…คุณจะชอบหรือไม่ชอบอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลานี้คุณจะอยู่กับที่วนไปวนมาไม่ได้ ต้องเดินหน้า สอง เขากล้าที่จะขัดใจใครก็ได้ เขากล้าหมดดูสิ ขัดใจนักข่าวก็กล้า ขัดใจนักวิชาการก็กล้า ขัดใจประชาธิปัตย์ก็กล้า ขัดเพื่อไทยก็กล้า แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่รับรู้นะว่าขัดใจ คนอื่นอยู่ เขาก็พูดเสมอนะว่าเขาเสี่ยง เขาอันตราย

“…ผมว่าอาจเป็นสองเรื่องที่คนไทยมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว ไม่ไปไหนกันสักที ชักเย่อกันอยู่ตรงนี้ จะไปไหนก็ไม่ไป อันนี้แหละที่จะอธิบายว่าทำไมคนจำนวนหนึ่งถึงรับเขาได้”

แม้อาจารย์เอนกจะเคยอยู่ในแม่น้ำ 5 สายทั้งในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติ แต่ก็ไม่เคยได้สนทนากับ พล.อ.ประยุทธ์ ในทางตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ กลับรู้จักอาจารย์เอนก ซึ่งอาจารย์เอนกบอกว่าตรงนี้เป็นความพิเศษส่วนหนึ่งของนายกฯ

“ผมไม่เคยคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ เลย แต่เขามารู้จักชื่อผม และชื่อพี่ชายผมด้วย มีคนเล่าให้ผมฟังว่า เขาทบทวนความจำว่า ‘เจริญค้าข้าว เอนกปรองดอง’ อะไรแบบนี้ แสดงว่าเขาเป็นคนอื่นหนังสือพิมพ์ อ่านรายงานอยู่ไม่น้อย ซึ่งนายกฯ คนอื่นๆ ไม่ถึงขนาดนี้เลย”

“อีกอย่างท่านก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ ได้เข้าใกล้เลย คนที่เป็น นายกฯ ส่วนหนึ่งเสียคนเพราะพอได้เป็นก็จะมีคนรุมให้วุ่นไปหมด จนไม่มีเวลาทำอะไร เว้นแต่จะเป็นนักลงทุนและเป็นคนที่เกี่ยวกับงาน พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะให้พบ ตรงส่วนนี้มีความคล้ายกับ ป๋า (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ป๋าคุยกับคนโดยอิงตามสถาบัน เช่น ป๋าคุยกับนักธุรกิจคนนี้เพราะคนนี้เป็นประธานหอการค้า ไม่ได้คุยเรื่อยเปื่อย”

กระนั้นทุกอย่างมีสองด้าน โดยในสายตาของอาจารย์เอนกมองว่า นายกฯ มีข้อดีอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีข้อเสียที่ต้องปรับเช่นกัน

“ข้อดีก็มี ข้ออ่อนก็มีอยู่ เช่น ใจร้อน และผมว่าต้องฟังคนให้มากขึ้น ต้องฟังความเห็นต่างๆ ให้หลากหลาย ต้องรู้ว่าตัวเองกำลังทำงานที่ใหญ่มากและสำคัญมาก และต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ถ้าความเด็ดขาดและความเหนียวแน่นและความอึดของเขาทำให้ประเทศไทยคลี่คลายได้ ผมว่าจะอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์แน่นอน ที่ผ่านมาก็ไม่เคยคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะทำอะไรได้ขนาดนี้”

แบงก์กระตุกรัฐรับมือ แรงกระแทกเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

02 มกราคม 2559 เวลา 08:49 น…. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/interview/407878

แบงก์กระตุกรัฐรับมือ แรงกระแทกเฟดขึ้นดอกเบี้ย

โดย…เสาวรส รณเกียรติ

ปี 2559 เป็นปีเริ่มต้นที่ระบบการเงินโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มพ้นจากวิกฤตปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือวิกฤตซับไพรม์ ที่ดำรงมานานถึง 10 ปีนับแต่ปี 2548

ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2558 จากระดับ 0-0.25% เป็น 0.25-0.50% รวมทั้งประกาศว่าอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายอาจจะอยู่ที่ 1.325% ในปี 2559 บ่งชี้ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% เป็นจำนวน 4 ครั้งในปี 2559

การปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น หลังจากที่เฟดปล่อยสภาพคล่องท่วมโลกด้วยการทำคิวอี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินของโลกครั้งใหญ่ และส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

แต่ผลกระทบดังกล่าวจะมากหรือน้อย หรือในรูปแบบใดนั้น ลองมาฟังความเห็นจาก กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

กอบศักดิ์ ระบุว่า เฟดประกาศว่าจะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 4 ครั้ง เพื่อไปยังเป้าหมาย 1.325% ถือว่าเป็นความท้าทายของเฟดมาก ในการสื่อสารกับตลาดการเงินให้รับรู้ว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยังเป้าหมายอย่างไร ไม่มีการสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด จะส่งผลดี ทำให้ตลาดการเงินปรับตัวได้

เหมือนตอนที่เฟดทำคิวอีครั้งแรก 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ คนคิดว่าเขาจะหยุด พอเขาทำครั้งที่สอง ครั้งที่สาม มันสื่อสารว่า ทุกการประชุมของเฟด เขาจะทำคิวอีมากขึ้น 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมสักสองสามครั้ง ตลาดก็จะรับรู้ว่า เฟดจะไปลักษณะนี้จนกระทั่งถึงจุดจบของเขา แต่ถ้าการขึ้นของเขาทำครั้ง และหยุด ตลาดจะงง

นั่นหมายถึงธนาคารกลางต้องรู้จักสื่อสารกับตลาด ไม่ไช่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด แต่ต้องทำให้ตลาดเข้าใจ และยิ่งตลาดเข้าใจเรามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ตลาดปรับตัวรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้าได้เร็วขึ้น

แต่ถ้าเฟดบอกจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งเว้นครั้ง ประชุมครั้งที่หนึ่งขึ้นดอกเบี้ย แต่พอประชุมครั้งที่สองหยุดขึ้นดอกเบี้ย ตลาดจะคิดว่าเฟดไม่เอาจริงนั่นคือปัญหา คือความท้าทายของเฟด เหมือนที่รัฐบาลไทยประกาศว่า จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแต่ในทางปฏิบัติ ทำบ้างไม่ทำบ้าง นักลงทุนก็หยุดก็ชะลอไป

นอกจากนี้ ตลาดการเงินโลกกำลังปรับตัว จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น และส่งผลมาหลายปีแล้ว เห็นได้จากดัชนีค่าเงินดอลลาร์ หรือ Dollar Index ปรับตัวแข็งขึ้นจาก 80 เป็น 100 หรือปรับขึ้นเกือบ 25% โดยที่ค่าเงินดอลลาร์ไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน

เพราะฉะนั้น ในปี 2559 ตลาดการเงินจะเป็นอย่างไร จะปรับตัวได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับความสามารถในการสื่อสารการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ในด้านดูดซับสภาพคล่องของเฟดเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยนั้น กอบศักดิ์ เห็นว่า เฟดมีกระบวนการที่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจ เพราะเฟดยืนยันว่าจะไม่ขายพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่อง เพราะตอนที่เฟดไล่ซื้อพันธบัตรนั้น ใช้เวลาถึง 7 ปี จนทำให้มีพันธบัตรอยู่ในมือถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งที่ ปกติสภาพคล่องในระบบควรอยู่ที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับมีสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

เฟดจะทำอย่างไรกับสภาพคล่องส่วนเกินนี้ เพราะดอกเบี้ยทุกระดับจะมีสภาพคล่องที่เหมาะสมกับตัวเอง ปรากฏว่า เฟดใช้วิธีเปิดหน้าต่างอีกหน้าต่างหนึ่ง เพื่อให้คนมาฝากเงินกับเฟดได้ ที่เรียกว่า รีเวิร์สรีโป ซึ่งต้องเป็นหน้าต่างที่ดูดสภาพคล่องที่ใหญ่พอสมควร ฉะนั้น เฟดจึงเปิดหน้าต่างรับฝากเงินจากธนาคารทุกแห่งทั่วโลก ด้วยอัตราดอกเบี้ยปีนี้ 1% ปีหน้า 2% ปีถัดไป 3%

ซึ่งหากเทียบกับธนาคารในยุโรปที่ผู้ฝากจะต้องจ่ายเงินค่าฝาก และปล่อยสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นปล่อยสภาพคล่องเพิ่ม จีนเองก็ปล่อยสภาพคล่องเพิ่ม ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า เงินจะวิ่งไปไหน

การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐครั้งนี้จึงไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดา แต่เป็นเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบมูลค่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาทองคำ ทุกอย่าง

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย กอบศักดิ์ เห็นว่า ความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐไม่ได้เกิดจากผลกระทบในระลอกแรก หรือการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ เพราะอย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ระบุ คือ ไม่เป็นไร ไทยมีเงินลงทุนของต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไม่มาก นอกจากนี้ยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดี มีการเกินดุลมาโดยตลอด

แต่ความเสี่ยงของประเทศไทยอยู่ในผลกระทบในระลอกที่สองมากกว่า คือการที่เงินไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ (อีเมิร์จจิ้ง มาร์เก็ต) ทำให้ค่าเงินของแต่ละประเทศอ่อนค่าลงเรื่อยๆ สภาพอย่างนี้ประเทศไทยจะยืนหยัดได้อยู่หรือไม่ ประเทศไทยจะยืนหยัดไปได้อย่างไร ค่าเงินบาทของไทยจะยืนอยู่ที่ 36 บาท/เหรียญสหรัฐได้หรือเปล่า

คือตอนนี้ปัญหาไม่ใช่ของประเทศไทยแล้ว แต่เป็นปัญหาจากประเทศอื่นที่มากระทบต่อไทย ซึ่งในโลกจะมีประเทศที่ถูกกระทบจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยหลักๆ คือ บราซิล แอฟริกาใต้ รัสเซีย ตุรกี อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ ขณะที่ไทยแม้จะมีข้อดี คือการเปิดเสรีทางการค้ากลุ่มประเทศอาเซียน หรือเออีซี และมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐมาช่วย แต่คำถามคือ มันจะมากเพียงพอที่จะรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในโลกนี้ได้หรือไม่

ฉะนั้น เกมที่่รัฐบาลและเราต้องอ่าน คือ มีใครหรือประเทศใดบ้างที่จะป่วย และอาการป่วยจะลามมาถึงประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน ประเทศไทยแข็งแรงพอที่จะรับมือหรือเปล่า

และรัฐบาลจะเตรียมการอย่างไรให้ไทยมีความเข้มแข็งในการรองรับเวลาประเทศอื่นเริ่มป่วย ประเทศไทยจะได้มีภูมิคุ้มกันภัย

เลือกตั้งใบเดียว แก้ปัญหาการเมืองทั้งระบบ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

31 ธันวาคม 2558 เวลา 19:58 น….. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/interview/407717

เลือกตั้งใบเดียว แก้ปัญหาการเมืองทั้งระบบ

โดย….ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ใกล้คลอดเต็มทีแล้ว โดยร่างแรก ที่จะเป็นตัวบทจริง จะได้เห็นหน้าค่าตากัน ประมาณวันที่ 29 ม.ค.2559 แต่กระนั้น ก็ตามหลักใหญ่ใจความ สาระของรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ได้แถลงออกมาเป็นระยะๆ

และก่อนที่กรธ.จะไปปักหลังเขียนตัวบทกัน ระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค.2559 ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธุ์ ทาง โพสต์ทูเดย์ ได้สัมภาษณ์ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ซึ่งมีสาระน่าสนใจดังนี้

อาจารย์มีชัย ได้สรุปภาพรวมของเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ 4 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย ‘สิทธิและหน้าที่ของประชาชน’ ‘โครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ’‘การปราบปรามทุจริต’ และ ‘โครงสร้างฝ่ายบริหาร’ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“สิทธิและหน้าที่ของประชาชน เราเปลี่ยนโครงสร้างของการบัญญั ติรับรองสิทธิของประชาชนใหม่ แทนที่จะบัญญัติว่าสิทธิมี อะไรบ้าง แต่เราบัญญัติตรงกันข้าม คือ อะไรที่จะไปจำกัดในเรื่องใดจะต้ องมีการบัญญัติลงไปในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมาย ส่วนอะไรที่ไม่ได้ห้าม ถือว่าประชาชนจะมีสิทธิหมด การออกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิ ของประชาชนนั้นจะไม่ดำเนิ นการเกินพอสมควรและต้องไม่ขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จะเป็นการเปิดช่องให้ไม่ ต้องเจียระไนอะไรกันมากในรัฐธรรมนูญ แต่เจียระไนเฉพาะเรื่องสำคัญเท่านั้น”

“นอกจากนี้ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญจะเขียนสิทธิบางอย่างไว้ลอยๆ เราจึงมาเขียนสิทธิบางอย่างใหม่ โดยให้เป็น หน้าที่ของรัฐ คือ รัฐมีหน้าที่ต้องทำ แปลว่าไม่ว่าพรรคการเมืองจะเข้ามามีสิ่งที่ต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ ของรัฐ เช่น การศึกษา หรือ การปราบปรามการทุจริต เป็นต้น ส่วนแนวนโยบายแห่งรัฐที่จะมีอยู่รัฐธรรมนูญนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะดำเนินการหรือไม่ก็ได้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดก้าวก่ายในการทำหน้าที่ของรัฐบาลมากเกินไป”

“เดิมทีเวลาเขียนรัฐธรรมนูที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีก็จะบอกแค่ว่าคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่เกิดปัญหาว่าเรื่องไหนเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เนื่องจากมีการตั้งองค์กรอิสระที่ได้พ่วงอำนาจบางอย่างไปด้วย เช่น เมื่อมีป.ป.ช.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แล้ว รัฐบาลก็จะบอกว่าการปราบปรามทุจริตไม่ใช่เรื่องของรัฐ แต่เป็นเรื่องของป.ป.ช. เป็นต้น ทำให้เกิดความสงสัยว่าแล้วรัฐบาลจะเหลือความรับผิดชอบอะไร”

“เราจึงมาคิดว่าควรมีหน้าที่บางประการที่รัฐต้องทำโดยไม่สามารถปฏิเสธได้นอกเหนือไปจากการบริหารราชการแผ่นดินทั่วไป ตรงนี้เราทำเพื่อเตือนรัฐบาลว่าคุณจะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไม่ได้นะ คุณจะต้องรับผิดชอบ”

ด้านโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ อาจารย์มีชัยได้โฟกัสมาที่การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งสส.ระบบเขตเลือกตั้งและสส.ระบบบัญชีรายชื่อจากการเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้งสองใบมาเป็นใบเดียวและเรียกระบบการเลือกตั้งนั้นว่า “การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม”

“ที่มาของสส.เราคิดว่าที่ผ่านมาเวลาเราไปเลือกสส. เราจะรู้สึกได้ด้วยตัวเราเองว่าเวลาเราไปเลือกแล้วคะแนนเราจะมีผลหรือไม่มีผล เพราะถ้าเราไปอยู่เขตที่ทุกคนฮือกันไปอีกข้าง เราไปเลือกตั้งก็ซังกะตายไป พอดีพอร้ายก็ไม่อยากไป เพราะเลือกไปคนนั้นก็แพ้แน่ๆ แต่คะแนนระหว่างคนที่ได้รับเลือกตั้งและไม่ได้รับเลือกตั้งมี ความสูสีกันเลยพอสมควร ประมาณ 40%ต่อ50%ทีเดียว แสดงว่าคะแนนถูกทิ้งน้ำไปมากกว่าครึ่ง แล้วบางพื้นที่คะแนนของคนที่ไม่ได้รับเลือกตั้งรวมกันกลับมากกว่าคนที่ได้รับเลือกตั้ง แต่คะแนนพวกเขากลับถูกทิ้งน้ำไปเลย”

“เรามาคิดว่าทางที่ดีที่สุด คือ การให้ลงคะแนนเลือกตั้งด้วยบัตรเพียงใบเดียว และเอาคะแนนมาแยกว่าพรรคการเมืองได้คะแนนนิยมกี่เปอร์เซ็นต์ สมมติเขาได้คะแนนนิยม 60% ก็จะได้สส.คิดเป็น 60% แต่หากเกิดได้จำนวนที่นั่งสส.ไม่ถึงคะแนนนิยมก็จะต้องมีการชดเชยจำนวนสส.ให้ครบตามคะแนนความนิยม”

“ถามว่าเราทำอย่างนี้เพื่อหวังอะไร เราไม่ได้หวังให้พรรคการเมืองใดได้เปรียบใครเลย เราดูแต่ว่า 1.ประชาชนไปลงคะแนนแล้วคะแนนของเขาได้รับการยอมรับนับถือ 2.เวลาไปลงคะแนนแล้ว ประชาชนจะต้องคิดมากขึ้น คุณจะต้องดูทั้งพรรคและทั้งคน เพราะคนดีไปอยู่พรรคไม่ดีก็ทำอะไรไม่ได้ หรือ คนไม่ดีไปอยู่พรรคดี ก็ทำให้พรรคนั้นปั่นป่วน ดังนั้น ประชาชนต้องขยับขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง และต้องคิดว่าเลือกพรรคถูกไหม ต้องดูทั้งพรรคทั้งคนแล้วไปเลือกตั้ง”

“ส่วนการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทางเราคงไปยุ่งอะไรมากไม่ได้ มีเรื่องเดียวที่เราเป็นกังวล คือ การตั้งงบประมาณสำหรับ สส. ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้กำหนดการห้ามจัดงบประมาณให้กับสส. แต่เรากลับพบความจริงที่ขมขืนว่าในที่สุดส.ส. และส.ว. สำนักงบประมาณ และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ กระทรวง ทบวง กรม ร่วมกันละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างหน้าตาเฉย เพราะไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่างบท สส.นั้นไม่มี ทุกคนก็รู้”

“เราก็เขียนในรัฐธรรมนูญว่าคุณทำได้ทำไป แต่เมื่อไหรจับได้ เมื่อมีเครื่องมือยืนยันได้ว่ามันเป็นอย่างนั้น สส.ไปทั้งสภา สว.ไปทั้งสภา คณะรัฐมนตรีไปทั้งชุด กระทรวง ทบวง กรม สำนักงบประมาณต้องรับผิดชอบ นี่ยาแรงที่สุดเท่าที่เราจะคิ ดออก เพราะเรารู้กันทุกคนว่างบประมาณเหล่านั้นจะไปที่ไหน มันก็ไปเร่ขายกันใช่หรือไม่ กี่เปอร์เซ็นต์  30-40% เห็นกันชัดทั้งเมือง สื่อมวลชนก็รู้”

“ทำได้ทำไป และนี่จะไม่มีอายุความ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนไหนรู้เห็นเป็นใจ เกษียณอายุราชการไปแล้ว10ปี ก็ยังสามารถถูกดำเนินคดีได้”

สำหรับการออกแบบการปราบปรามการทุจริตในร่างรัฐธรรมนูญ นับว่าเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญที่ ประธานกรธ.ยอมรับว่าได้ให้ ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยให้ทัศนะว่าการทุจริตซึ่งรวมไปถึงปัญหาจริยธรรมทางการเมืองได้นำมาซึ่งความขัดแย้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องแก้ต้นเหตุของปัญหานี้ให้ได้ด้วยการให้มีกลไกพิเศษที่ชี้ถูกชี้ผิดแบบเด็ดขาดเพื่อจะได้ไม่ให้ เกิดข้อโต้เถียงที่บานปลาย

“ปัญหาที่ถกเถียงกัน คือ การกระทำแบบใดถึงเรียกว่าการทุจริต บางคนบอกว่าการทำแบบนี้ไม่ทุจริตบางคนบบอกว่าการทำแบบนี้เป็นการทุจริต เถียงกันแบบไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น เราต้องหาจุดที่มันจะสามารถหยุดปัญหา โดยให้มีคนชี้ขาดที่ชัดเจนแน่นอนเวลาเกิดปัญหาว่ามันทุจริ ตหรือสุจริต ก็ให้มีองค์กรมาชี้ และเมื่อชี้แล้วกลไกทางการเมื องก็ควรเดินต่อไป”

“เมื่อกลไกทางการเมืองจะเดินต่อไป เราก็ย้อนกลับไปดูว่าของเดิมทำกันอย่างไร ของเดิมใช้วิธีการถอดถอน แต่การถอดถอนได้กลายเป็นเรื่องทางการเมืองที่สุดแต่ว่าพรรคการเมืองจะกำกับสมาชิกได้มากน้อยแค่ไหน และในที่สุดเราก็จะพบว่าในยามปกติไม่เคยมีการถอดถอนได้เลย และลักษณะอย่างนั้นมันเลยเป็นการฟอกให้คนอ้างว่าเห็นไหมว่าผมไม่ได้ผิด จึงไม่ถูกถอดถอน ทั้งๆที่จริงๆแล้วการถอดถอนหรือไม่ถอดถอนมันเป็นผลจากการประสานทางการเมืองมากกว่าจะดูว่าคนนนั้นทำผิดจริงหรือเปล่า”

“เราก็คิดว่ากระบวนการในการถอดถอนที่ฝรั่งเคยใช้ได้ มันใช้ไม่ได้สำหรับคนไทย เราจึงเปลี่ยนสภาพมันเสียว่า ถ้าคนนั้นทำผิดก็ต้องหาคนมาชี้ หากชี้แล้วว่าเขาผิดก็ต้องมี บทลงโทษเหมือนกับเวลาที่ถูกกล่าวหาไปฉ้อโกงมาหรือไม่ก็จะมีคนมาชี้ว่าเราฉ้อโกงหรือเปล่า คือ ศาล เมื่อศาลชี้ว่าเราฉ้อโกงปั๊บกลไกในการลงโทษก็จะตามมา ไม่ต้องไปนั่งถอดถอนหรือโหวตกันว่าจะลงโทษหรือไม่ เราเลยมาคิดว่าเมื่อกลไกการถอดถอนมันไม่ทำงานก็ต้องเปลี่ยนใหม่ คือ เมื่อคุณทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งจะถูกนำไปสู่องค์กรบางองค์กรทำการชี้ว่าผิดหรือไม่ ถ้าชี้ว่าผิดคุณก็ต้องไป”

อีกเรื่องที่สมควรมีกลไกที่เข้มแข็งในสายตาของอาจารย์มีชัยและต้องทำให้เป็นรูปธรรม คือ จริยธรรมทางการเมือง

“เรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ จริยธรรมทางการเมือง บางเรื่องอาจไม่ได้เป็นเรื่องผิดในทางกฎหมายแต่การผิดจริยธรรมว่าควรหรือไม่ควรทำ ซึ่งมักจะเรียกร้องว่าควรมีสปิริต คำว่าสปิริตในบ้านเรามันใช้ไม่ค่อยได้ เราเลยไปกำหนดไว้ว่าในระหว่างทีคุณดำรงตำแหน่งใดก็ตาม คุณจะต้องไม่ประพฤติผิดหรือไม่ ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

“ถามว่าจริยธรรมเหล่านี้ ใครจะเป็นคนทำ แต่ก่อนหน้านี้เป็นรูปแบบต่างคนต่างทำ พอทำแล้วก็ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น เราคิดว่าองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐที่เป็นองค์กรอิสระประมาณ 4-5 องค์กร ถ้าเราจับเขามานั่งรวมกลุ่มกันและไปคิดว่าจริยธรรมทางการเมืองทั้งหมดควรเป็นอย่างไร พอร่วมกันทำกันเสร็จก็มาบังคับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด ถ้าใครผิดจริยธรรมขั้นธรรมดาก็ให้ภายในองค์กรไปว่ากันเอง แต่ถ้าเป็นขั้นทำผิดร้ายแรงก็ อาจเข้าข่ายคุณสมบัติ การดำรงตำแหน่งทันที ไม่ต้องไปสู่กระบวนการถอดถอนอีก”

“ด้วยกระบวนการเหล่านี้เราคิดว่าการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจะมีผลที่สมบูรณ์มากขึ้น ไม่ต้องรอการพึ่งพาในการประสานทางการเมือง ซึ่งมันอันตราย และทำให้คนท้อใจเกินไป” ประธานกรธ.กล่าวโดยสรุป

พรรคการเมืองกำหนดนายกฯคนนอก

ขณะที่ โครงสร้างของฝ่ายบริหาร คณะกรธ.ได้ถูกเพ่งเล็งเป็นอย่างมากถึงการกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่เป็นสส.หรือไม่ได้เป็นสส.ก็ได้ จนเป็นเป้าให้มีการโจมตีว่าคณะกรธ.เปิดประตูให้เกิดการสืบทอดอำนาจผ่านมีนายกฯคนนอกหรือไม่

พอนำประเด็นนี้มาสนทนากับอาจารย์มีชัยก็ได้คำตอบที่แฝงนัยว่า “คนนอกจะเข้ามาได้ก็ เพราะพรรคการเมือง” จากนั้นได้อธิบายถึงเหตุผลของการกำหนดกระบวนการในการได้มาซึ่งนายกฯแบบใหม่

“ทุกวันนี้เวลาเราไปเลือกตั้งแล้วบอกว่าให้สส.มาลงคะแนนเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ถามว่ามันขึ้นอยู่กับอะไร ก็ขึ้นอยู่กับพรรคที่เป็นตัวตั้งในการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะไปเอาใครมา ถามว่าประชาชนรู้กระบวนการนี้หรือไม่ ก็คงไม่รู้ไม่รู้ว่าเขาจะไปเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจเดาๆแค่ว่าเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่”

“เราจึงมาคิดว่าถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง ถ้าพรรคการเมืองจะบอกให้ ประชาชนรู้ก่อนได้หรือไม่ว่าถ้าพรรคตัวเองได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลโดยลำพัง หรือ ต้องมีพรรคร่วมรัฐบาล จะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องประกาศชื่อนั้นในวันสมัครรับเลือกตั้งสส.ให้ประชาชนได้ทราบด้วย ซึ่งสามารถประกาศรายชื่อได้ไม่ เกิน 5 คน แบบนี้ทำให้เวลาประชาชนไปเลื อกตั้งจะต้องดู 3 อย่าง 1.คน 2.พรรคการเมือง 3.นายกรัฐมนตรี”

“พรรคการเมืองบอกว่านี่เป็นการเปิดโอกาสให้มี นายกรัฐมนตรี คนนอก แต่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นการเปิดโอกาสเลย เพราะจริงๆแล้วคนที่จะประกาศให้ประชาชนทราบว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีจำนวน 5 คน คือ พรรคการเมือง และถามว่าตอนนั้นมีใครรู้หรือยังว่าใครจะเป็นสส. ก็ต้องตอบว่ายัง เพราะเป็นการประกาศชื่อตอนไปสมัครเลือกตั้งสส.”

“เวลาประกาศชื่อไปแล้ว ชาวบ้านจะได้รู้ว่าเวลาเลือกพรรคการเมืองนั้นแล้วก็จะได้คุณเป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็จะได้ไปคิด ดังนั้น ที่บอกว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไปเปิดช่องให้คนนอก จึงไม่ใช่ คนนอกจะเข้ามาได้ก็ เพราะพรรคการเมืองนั้นเอง เพราะเรากำหนดไว้ว่าการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นมติพรรค”

ประธานกรธ.ระบุอีกว่า “แล้วถามว่าทำไมไม่บังคับให้ นายกฯเป็น สส.ไปเลย ก็ต้องตอบว่าหากทั้ง 5 คนที่คุณเสนอขึ้นมาเกิดไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสส. คุณจะทำอย่างไร ไม่โกลาหลเหรอ ยิ่งพรรคการเมืองใหญ่ยิ่งอันตรายถูกไหม สมมติคุณเสนอให้ผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ถึง 5 เป็นนายกรัฐมนตรี ถามว่าคุณจะรู้ได้ไงว่าผู้สมัครของคุณจะได้รับเลือกตั้งเป็นสส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพราะด้วยระบบเลือกตั้งแบบใหม่ โอกาสที่คุณจะไม่ได้รับเลือกให้ เป็นสส.บัญชีรายชื่อก็มีอยู่”

“เช่น พรรคคุณได้คะแนนนิยม 50% แต่คุณสส.ระบบเขตมาแล้ว 60% เท่ากับว่าจะไม่ได้สส.บัญชีรายชื่ออีก ถือว่าตกเลย คุณจะไปเอาสส.ที่ไหนมาเป็นนายกรัฐมนตรี เราไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำขนาดนั้น เราก็บอกแค่ว่าโอเค คุณก็เลือกของคุณเอาเอง ถ้าคนนั้นได้รับเลือกตั้งหรือไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสส.ก็ยังมีสิทธิได้เป็นนายกรัฐมนตรี”อาจารย์มีชัยแจกแจง

นิรโทษกรรม ไม่สร้างปรองดอง

การสร้างความปรองดอง เป็นอีกโจทย์สำคัญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งนับตั้งแต่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” มาทำหน้าที่ประธาน กรธ.ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างความปรองดอง โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาประเด็นปัญหาการสร้างความปรองดองขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ประธาน กรธ.บอกว่า กลไกต่างๆ ที่ กรธ.ได้นำมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญจะช่วยให้การปรองดองเกิดขึ้นได้ในตัวเอง

“เราเชื่อว่าแนวทางและกลไกต่างๆ ที่เราใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกที่นำไปสู่ความปรองดองไปในตัวด้วย ได้แก่ ปรองดองระหว่างราษฎรด้วยกัน โดยแต่ก่อนเวลาคุณไปเลือกตั้ง เวลาคุณแพ้คุณจะแพ้หมดตัว ก็ได้แต่นั่งเคียดแค้นอยู่ในใจ รออีกที 4 ปี ป่วนได้ก็ป่วน แต่ต่อไปนี้คะแนนของคุณมันถูกยอมรับนับถือ เพราะนำไปคิดจำนวน สส. ถ้าคุณไปลงคะแนนให้พรรคไหน พรรคการเมืองก็จะได้ คุณก็มีโอกาส ไม่ได้รัฐบาลแต่ก็จะได้ สส.ไปดูแลแทน มันไม่ใช่เป็นการชนะแบบเด็ดขาด แต่เป็นการเฉลี่ยกันไป มันก็จะทำให้พออยู่กันไปได้ ไม่ใช่สูญสิ้นหมด”

“ขณะเดียวกัน เราก็สร้างกลไกอื่นๆ เพิ่ม เพื่อให้เกิดการปรองดอง เช่น เมื่อก่อนนี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พอเป็นแล้วก็ไม่มีอะไร แต่เมื่อตั้งแล้วก็ควรให้มีบทบาท อย่างยามวิกฤตต่างๆ ก็ให้ผู้นำฝ่ายค้านมีสิทธิยื่นข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นไปให้รัฐบาลไปดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่การเปิดอภิปรายทั่วไปที่มามะรุมมะตุ้มกัน”

“แต่เราให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็นคนเสนอ และเมื่อรัฐบาลรับข้อเสนอแล้วจะต้องกลับมารายงานว่าทำได้หรือไม่ได้อย่างไร เรียกว่าเป็นการพูดคุยกันในทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง มันจะได้มีช่องทาง ตรงนี้ก็เป็นอีกวิธีการปรองดอง เพื่อไม่ให้เกิดการหักโค่นไปเสียทีเดียว”

“เช่นเดียวกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเดิมถ้าจะอภิปรายเรื่องทุจริตจะต้องแจ้งกับ ป.ป.ช.ก่อน และต้องระบุว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งส่วนนี้ทำให้กระบวนการเปิดอภิปรายมันเป็นการเอาเป็นเอาตายกันเกินไป แล้วในที่สุดมันก็ไม่ได้อย่างที่ต้องการหรอก ดังนั้น คุณจะไปกำหนดเงื่อนไขนั้นทำไม เพราะปกติแล้วถ้ามีหลักฐานที่กล่าวหาว่ามีการทุจริตเพียงพอ ก็มีการเสนอไปยัง ป.ป.ช.อยู่แล้ว”

“บางทีกลไกทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเอากันให้ตาย เพียงแต่เป็นการบอกให้รู้ว่าเรารู้ทันคุณนะ อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลก็จะระมัดระวังมากขึ้น ความเสียหายก็จะได้ไม่เกิด”

เมื่อขอให้ประธาน กรธ.ชี้ลงไปว่า สาเหตุของการไม่ปรองดองมาจากจุดใด ปรากฏได้คำตอบว่า “มันเป็นเรื่องของการมองต่างมุมในแง่ของการบริหารบ้านเมือง และจุดใหญ่ใจความมันอยู่ที่การทุจริต คนที่บริหารอยู่ก็อยากทำอะไรเยอะแยะ และคิดว่านั่นไม่ใช่การทุจริต ฝ่ายหนึ่งบอกว่าที่ทำกันอยู่เป็นการทุจริต เกิดการเถียงกันไปเถียงกันมาจนหาคนชี้ขาดไม่ได้”

“ถ้าเราสร้างกลไกว่า เมื่อไหร่เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นมา ต้องไปหาคนมาชี้ขาด พอชี้แล้วต้องหยุด เรื่องมันจะไม่บานปลายและไม่ไปทะเลาะกันริมถนน ให้ทุกอย่างมีทางออกและมีจุดที่สิ้นสุด มันก็จะสามารถหยุดการแตกแยกเอาไว้ได้ และเป็นกลไกทางการเมืองโดยเฉพาะที่ช่วยให้บ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้าได้”

การนิรโทษกรรมมีความจำเป็นต่อการสร้างความปรองดอง? ประธาน กรธ.ตอบว่า “การนิรโทษกรรมไม่น่าจะเป็นเรื่องของการปรองดอง การนิรโทษเป็นเรื่องของการให้อภัยไม่ใช่ปรองดอง เพราะมันมีที่ไหนบอกว่า ถ้านิรโทษกรรมให้คุณแล้ว คุณจะดีกับผม มันไม่มี”

“มันไม่มีหลักคิดที่ว่าถ้านิรโทษกรรมแล้วทุกคนจะลืมทุกอย่างหมด ถามในทัศนะของคุณคิดว่าถ้านิรโทษกรรมแล้วทุกคนจะกลับมายิ้มแย้มแจ่มใสกันหรือเปล่า ถ้ามันใช่ ก็โอเค ก็ทำไป แต่ผมไม่คิดว่ามันจะใช่ (หัวเราะ)”

ในช่วงท้ายการสัมภาษณ์ได้ถามถึงความคาดหวังของประธาน กรธ.ในการให้บ้านเมืองได้รับการแก้ไขผ่านกลไกของร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะกับประเทศไทย”

“ผมก็คิดว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน เป็นมนุษย์ ก็พยายามเค้นสติปัญญาออกมา ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น มันคงยืนยันไม่ได้หรอกว่าที่เราเขียนออกมาทั้งหมด มันจะแก้ไขได้หมดทุกปัญหา แต่อะไรที่มีใครบอกมา เราก็จะพยายามไปคิดสูตรและหาทางแก้ไขปัญหาออกมาให้ได้”

“อีกอันหนึ่งที่เราคิดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้บ้านเมืองไม่กลับไปสู่กลียุคได้ง่ายนัก คือ 1.การมีวินัยของคน 2.การบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเข้มงวดและเคร่งครัด ถ้าไม่มีการทำสองเรื่องนี้ ไม่ว่าเขียนรัฐธรรมนูญกี่หนมันก็ล้ม”

“ถามว่าความมีวินัยของคนจะทำอย่างไร มันทำได้ด้วยทางเดียว คือ การศึกษา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียน สอนเด็กให้มีวินัย ปัญหาบ้านเมืองของเราที่เกิดขึ้น เพราะขาดความมีวินัย เมื่อคนไม่มีวินัย ก็ทำผิดอะไรได้เรื่อย ทำในทุกอย่างที่อยากได้สุดแต่ว่าอะไรที่ได้ประโยชน์ เมื่อกลไกบังคับใช้กฎหมายมันไม่ทำงาน ก็ทำให้ปัญหาไปกันใหญ่ กลไกบังคับใช้กฎหมายอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ตำรวจ ถ้าคุณปฏิรูปตำรวจให้ตำรวจสามารถทำงานได้ตามความรู้ความสามารถ ไม่ใช่ทำงานตามที่ใครสั่ง เมื่อนั้นคุณก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้”

ต่อมา อาจารย์มีชัยมีข้อความฝากถึงฝ่ายที่แสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้านการร่างรัฐธรรมนูญว่า “คือว่าถ้าเวลาเขาค้านเนี่ย ค้านมาจากประโยชน์ที่ตนมองเห็น มันก็ต้องละวางกันบ้าง เพราะว่าบ้านเมืองเราบอบช้ำมาเยอะแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องคิดถึงประเทศเป็นหลัก ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินไปได้ราบเรียบ”

“คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้คิดถึงพรรคหนึ่งพรรคใดเลยเวลาที่ทำในเรื่องต่างๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำอย่างนี้แล้วพรรคไหนจะได้เปรียบเสียเปรียบหรือได้คะแนนมาอย่างไร เราก็บอกว่าอย่าไปสนใจ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของการเมือง”

“สิ่งที่เราต้องป้องกันให้ดีที่สุด คือ การทุจริตที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้น และผมเชื่อว่าถ้าเราป้องกันตัวนั้นได้ผล การเมืองถึงเราจะชอบใครหรือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับใคร ก็คงพอรับกันได้ รอไปจนกว่าจะมีเสียงข้างมาก แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดการทุจริตระหว่างทาง จนกระทั่งบ้านเมืองจะหายนะ ในที่สุดคนก็จะรับไม่ได้ ดังนั้น เราต้องสกัดตรงนี้ให้มากที่สุด เราเน้นตรงนี้มากที่สุด”

กับคำถามสุดท้ายที่ถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ? ประธาน กรธ.ตอบแบบไม่ฟันธงว่า “ผมคิดว่าเราก็ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราไปอธิบายได้กว้างขวางแค่ไหน ถ้าเราอธิบายได้กว้างขวางเพียงพอ ผมก็เชื่อว่าประชาชนเขาเอาด้วย แต่ละเรื่องที่เราทำ เราก็ทำโพลมาก่อน”

จากเด็กเลี้ยงควาย …สู่นักธุรกิจอสังหาฯเงินล้าน

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

28 ธันวาคม 2558 เวลา 18:29 น…. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/interview/407233

จากเด็กเลี้ยงควาย ...สู่นักธุรกิจอสังหาฯเงินล้าน

โดย…สุภชาติ เล็บนาค

ชีวิตของ ถนอม ดีสร้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ-คอน เรียลเอสเตทและบริษัท เอกธุรกิจสินทรัพย์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงเป็น “นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ” นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อเขาชวนนั่งจับเข่าคุยเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์โชกโชนที่ผ่านมา

ถนอมเป็นลูกคนที่ 5 จากพี่น้องทั้งหมด 7 คน ซึ่งทั้งหมดไม่มีใครเรียนหนังสือเกินชั้นประถม รวมถึงไม่มีต้นแบบอะไรจากครอบครัวมากไปกว่าการเลี้ยงควายและทำนา ที่ จ.พะเยา เท่านั้น

“เรามีอย่างเดียว คือ ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ไม่ได้คิดไปไกลว่าจะได้เรียนต่อ พอเรามีโอกาสเรียน กศน. ก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว แต่เราก็ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

หลังเรียนจบ ถนอมตัดสินใจมาเป็นดีเจที่ จ.อุดรธานี กินเงินเดือนจากการจัดรายการวิทยุและนักข่าว เดือนละ 2 หมื่นบาท ก่อนจะค้นพบว่าต้องไปไกลกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือน

“เพราะเรามาจากชีวิตที่ยากจน มันก็ผลักดันเรามากขึ้นว่าวันหนึ่งเราต้องรวย ต้องมีชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งหากจะรวย เราก็อยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว” ถนอมเล่าให้ฟัง

หลังจับพลัดจับผลูไปขายประกันชีวิตอยู่ 1 ปี ถนอมก็ค้นพบว่าคงไปไม่ได้ไกลกว่านี้เท่าไร กระทั่งตัดสินใจหิ้วกระเป๋าเข้ากรุงเทพฯ ไปพบญาติภรรยาที่ขายส่ง “ยกทรง” จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพเป็นเซลส์ขายยกทรง

“ผมผ่านการขายประกันมา ตอนทำวิทยุก็เคยขายสปอนเซอร์ ก็พบแล้วว่าการขายไม่ได้ยาก ด้วยความที่เรามนุษยสัมพันธ์ดี บางทีได้ยอดเป็น 100 โหล เดือนหนึ่งบางทีได้ถึง 3-4 หมื่นบาท แต่มันก็เป็นลูกจ้างเขาอยู่ดี  ไปทำธุรกิจเองดีกว่า” ถนอมเล่าให้ฟัง

ในที่สุดเขาก็เซ้งแผงเสื้อผ้าที่ตลาดโบ๊เบ๊ ซึ่งเขาฝันไว้ว่าขายส่งเสื้อผ้าจะต้องสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ หลังจากลงทุนสั่งจักรมาลงเป็น 10 ตัว นำผ้ามาตัดเอง ก็เกิดวิกฤตเมื่อค่าใช้จ่ายสูงกว่ายอดขายไปมาก จนหมุนเงินไม่ทัน พอรู้ตัวอีกทีก็เป็นหนี้เป็นสินมหาศาลแล้ว

“ผมหนีเจ้าหนี้อยู่ปีกว่า โทรศัพท์มาก็ไม่กล้ารับ แต่ก็ยังมีกำลังใจว่า เอาวะอย่างน้อยจบปริญญาตรี น่าจะมีอะไรสักอย่างที่เราทำได้บ้าง”

ในที่สุดถนอมก็ค้นพบว่ามีพี่ชายคนหนึ่งเป็นกรรมกรรับเหมาก่อสร้างหลังคา เมื่อเขาไปนั่งคุยด้วยก็ลองหยิบแบบขึ้นมาดูว่าวิธีดูเหล็กดูอย่างไร ตัวเลขหมายถึงอะไรบ้าง เขาก็ชวนพี่ชายมาทำรับเหมาก่อสร้าง ทั้งที่ไม่มีความรู้อะไรมาก่อน

“ผมมีทักษะการขาย ก็เอารถกระบะเก่าๆ ขับตระเวน ตอนแรกก็เชื่อมหลังคาอย่างเดียว จนไปได้งานหลังคาทาวน์เฮาส์ แล้วก็เขยิบไปทำเป็นโครงจั่วหลังคาโรงงานให้พออยู่ได้ แต่ยังห่างไกลจากคำว่ารวย”

จากเด็กเลี้ยงควาย ...สู่นักธุรกิจอสังหาฯเงินล้าน

ในช่วงวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ที่ผู้รับเหมาหลายคนเริ่มร่อแร่ ถนอมกลับได้โอกาสให้รับเหมาสร้างอาคารโกดังโรงงาน ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์อื่นเลย นอกจากการทำหลังคา เนื่องจากผู้รับเหมาเดิมทิ้งงาน

“ผมสารภาพว่าทำไม่เป็นสักอย่างแต่จะลองดู ปรากฏว่าก่ออิฐเบี้ยวหมดเลย (หัวเราะ) แต่เขาก็ให้โอกาส พอสร้างงานนี้ได้ เราก็เริ่มเขยิบไปงานใหญ่ขึ้น ไปรับเหมาสร้างบ้านจัดสรรบ้าง บ้านเดี่ยวบ้าง”

ในที่สุดถนอมก็เปิดบริษัทของตัวเองแต่กำไรจากงานก่อสร้างก็ไม่ได้งอกงามขนาดนั้น

“จุดแข็งของเราคือเรารู้เรื่องก่อสร้าง ซึ่งหมายความว่าเราก่อสร้างได้ประหยัดกว่าคนอื่น พอเก็บเงินได้สักพัก ก็สร้างโกดัง-บ้านพักให้ลูกน้อง วางแผนทำเป็นโรงงานเล็กๆ แต่ก็ไปไม่ถึงไหน เลยประกาศขายดีกว่ากลายเป็นว่าจากที่ลงทุน 2 ล้านบาท แต่เมื่อเขาตั้งราคา 4.9 ล้านบาท กลับขายได้ทันที”

“แต่ปัญหาคือคนที่มาซื้อติดแบล็กลิสต์ ผ่อนแบงก์ไม่ได้ สุดท้ายเราก็เป็นแบงก์เอง คือให้เขามาผ่อนกับผมแทน แต่ดอกเบี้ยเท่าแบงก์นะ ในที่สุดเราก็ได้ดอกเบี้ยทบต้นทบดอก นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้”

หลังจากได้กำไรในระดับที่พออยู่ได้ ถนอมก็ทำธุรกิจทั้งรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เต็มรูปแบบ รวมถึงเริ่มลงทุนในธุรกิจที่เขาคิดว่าจะมีรายรับมั่นคง อย่างการสร้างอพาร์ตเมนต์

“ผมไปซื้อที่ดินแถวดอนเมือง ออกแบบเอง-สร้างเอง ตั้งใจไว้ว่าเป็นรายรับประจำของเรา ปรากฏว่าพอสร้างเสร็จใช้เงิน 5 ล้านบาท มีคนมาขอซื้อทันทีที่ 11 ล้านบาท เราก็ขายทันที เพราะเราคิดว่าโอกาสมาถึงแล้ว”

หลังจากนั้น ถนอมก็ยึดอาชีพนักธุรกิจรวมถึงทำรับเหมาก่อสร้างเต็มรูปแบบ และยังเป็นเจ้าของ “แพรววิดี อพาร์ทเมนท์” ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิอีกด้วย

ปีที่แล้วเขาเพิ่งเริ่มงานใหม่ด้วยการเขียนหนังสือ “ชวนคุณรวยด้วยอสังหาฯ โดยใช้เงินคนอื่น” และเปิดคอร์ส “ชวนคุณรวยฯ” ที่จัดขึ้นทั่วประเทศเป็นรุ่นที่ 9 แล้ว

ถามว่าทำไมต้องชวนรวย “ด้วยเงินคนอื่น” ถนอมบอกว่า คนรวยทุกคน ที่ไม่ได้รวยจากมรดก ล้วนเริ่มต้นจากความคิด ก่อนจะไประดมทุนจากคนที่มีเงินมาลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างสินทรัพย์

“ถ้าไม่มีเงินคนอื่น เราจะมีคนที่มีบ้านน้อยมาก เพราะการลงทุนมันต้องใช้เงินคนอื่นทั้งนั้น ประเทศไทยจะสร้างรถไฟฟ้า ก็ไปกู้เงินญี่ปุ่น บ้านขายออกคนก็ต้องไปกู้แบงก์ ซึ่งก็คือเงินคนอื่น เงินคนอื่นนี่ล่ะที่ทำให้คนก้าวหน้า ไม่งั้นบ้านก็ยังมุงจากกันหมด” ถนอมเล่าให้ฟัง

ในมุมมองของถนอม เขาพูดถึงนิยามคำว่า “แรงบันดาลใจ” ว่าคืออำนาจพิเศษที่อยู่ในตัวมนุษย์ มีไว้สำหรับขับเคลื่อนความคิด-การทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

ถนอมยึดหลัก 3 ข้อ ในการสร้างแรงบันดาลใจ คือ DBA มาจาก Dream ต้องมีความฝัน และความทะเยอทะยานที่จะบรรลุเป้าหมาย Believe ความเชื่อมั่นในตัวเอง และ Action การตัดสินใจลงมือทำตาม
เป้าหมายที่วางไว้

“แรงบันดาลใจของเราคือต้องการ เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คน เพราะสิ่งที่ทำให้ยืนหยัดได้ในช่วงที่เราลำบาก คือ การเรียนรู้ และจากการเรียนรู้ก็พบว่ายิ่งเราล้มเหลว คือเรายิ่งใกล้ประสบความสำเร็จขึ้น ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทรงคุณค่าและน่าจะบอกต่อให้คนอื่นได้รับรู้ต่อ”

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าอยู่ขนาดนี้ จนหลายคนกลัวไม่กล้าลงทุนอะไร แต่ถนอมกลับย้ำว่าในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีเช่นนี้ มีเศรษฐีที่เกิดขึ้นมากมาย และในช่วงที่เศรษฐกิจดีมากๆ นั้น ก็มีคนเจ๊ง-คนล้มเหลว มากมายเช่นเดียวกัน

“เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือตัวคุณเป็นอย่างไรและเป้าหมายคืออะไรมากกว่า ถ้ายังไม่พอใจก็ลองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ขึ้น เพราะทุกวันนี้มีช่องทางให้คนประสบความสำเร็จเยอะมาก ขอเพียงแต่หาความรู้อย่างต่อเนื่องเท่านั้น” ถนอมทิ้งท้าย

“น.ท.ปิยะ” ปันฝันปั้นกัปตัน ผ่านบางกอกเอวิเอชั่นฯ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

25 ธันวาคม 2558 เวลา 21:01 น….. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/interview/406862

"น.ท.ปิยะ" ปันฝันปั้นกัปตัน ผ่านบางกอกเอวิเอชั่นฯ

โดย…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ในวัยเด็กของใครหลายคนคงจะมีความฝันอยากเป็นนักบิน แต่เอาเข้าจริงแล้ว จะมีสักกี่คนที่ทำฝันนี้เป็นจริงได้ เพราะการเป็นนักบินไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะฝ่าฟันบททดสอบนานัปการจนเป็นนักบิน แต่สำหรับ น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ นอกจากจะทำฝันสำเร็จได้เป็นนักบินสมใจ เขายังมีความฝันใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม คือ อยากเป็นนักปั้นนักบิน จึงเปิดโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย เพื่อสานฝันนี้จนสำเร็จ

น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ หรือ บีเอซี ผู้ดำเนินธุรกิจโรงเรียนการบินกรุงเทพ โรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย ในวัย 49 ปี เล่าความหลังให้ฟังว่า เมื่อครั้งยังเด็กก็เหมือนกับเด็กผู้ชายหลายๆ คนที่มีความฝันอยากเป็นนักบิน มักจะหยิบหมอน ผ้าห่มในห้องนอนมาสร้างจินตนาการขับเครื่องบินเป็นประจำ เมื่อโตขึ้นจึงได้สานฝันนี้ด้วยการเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 27 เข้าฝึกบินในโรงเรียนการบินของกองทัพอากาศ เริ่มรับราชการกองทัพอากาศตั้งแต่ปี 2526

การผจญภัยบนท้องฟ้าเริ่มต้นขึ้นด้วยการฝึกบินจากเครื่องลำเล็กไปสู่ลำใหญ่ขึ้น โดยเริ่มฝึกเป็นผู้ช่วยนักบิน สำหรับเครื่องบินเล็กแบบ 2 ใบพัด และเครื่องบินเล็กแบบ 4 ใบพัดก่อน จากนั้นก็ก้าวขึ้นมาเป็นกัปตันบินเครื่องบินเล็ก 4 ใบพัด แล้วเลื่อนไปเป็นครูผู้ฝึกสอนการบินเครื่องบินเล็ก

หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ทำภารกิจที่นำความภาคภูมิใจมาสู่ น.ท.ปิยะ นั่นคือ การได้เป็นนักบินเครื่องบินพระที่นั่ง รุ่นโบอิ้ง 737-400 เพื่อถวายงานรับใช้พระราชวงศ์ ระหว่างนั้นทางกองทัพอากาศก็ได้ส่ง น.ท.ปิยะ ไปหาประสบการณ์การบินเครื่องบินโบอิ้ง 737 กับการบินไทย ในฐานะนักบินยืมตัวควบคู่ไปด้วย รวมเวลา 8 ปี เพื่อให้มีทักษะในการนำเครื่องบินขึ้น-ลงสูงขึ้นสำหรับมาใช้ขับเครื่องบินพระที่นั่ง โดยตำแหน่งสูงสุดที่ น.ท.ปิยะ ได้รับในการเป็นนักบินเครื่องบินพระที่นั่ง คือนักบินที่หนึ่งพระราชพาหนะ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือกัปตันนั่นเอง

“ในช่วงที่เป็นนักบินเครื่องบินพระที่นั่ง ถือเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตอย่างมาก จำได้ว่าครั้งหนึ่งที่ได้รับภารกิจ ก่อนที่จะขับเครื่องบินได้ก้มลงไปกราบพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นเมื่อเงยหน้าขึ้นมา ก็พบว่าพระองค์ยังทรงประทับยืนอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน พร้อมกับมีพระราชดำรัส สวัสดี กลับมา”

ทั้งนี้ หลังจาก น.ท.ปิยะ ได้เป็นนักบินเครื่องบินพระที่นั่งแล้ว ก็ได้เลื่อนมาเป็นครูฝึกนักบินเครื่องบินพระที่นั่ง และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนักบินตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตข้าราชการกองทัพอากาศ โดยระหว่างเป็นนักบินตรวจสอบของกองทัพอากาศ วันหนึ่งก็เกิดคำถามขึ้นมากับตัวเองว่า เรามาถึงจุดนี้แล้ว หากจะเติบโตในหน้าที่การงานต่อจากนี้ไป ก็ต้องไปนั่งโต๊ะทำงาน อยู่ในตำแหน่งที่ใหญ่เกินกว่าจะได้ขับเครื่องบินแล้ว ปลายทางของเราหากโชคช่วยก็คงได้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจตัวเองแล้ว ก็คิดว่าคงจะก้าวไปไม่ถึงปลายทางเช่นนั้น จึงเกิดความคิดว่าอยากนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ไปทำงานที่ยังได้คลุกคลีอยู่กับเครื่องบิน ซึ่งก็ได้คำตอบเป็นการเปิดโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย เพื่อช่วยเด็กรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากเป็นนักบินได้สานฝันให้เป็นจริงเหมือนกับที่ น.ท.ปิยะ ทำความฝันสำเร็จมาแล้วด้วย

“ผมเกิดวันที่ 27 มี.ค. เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 27 ได้เข้าเรียนโรงเรียนนายเรืออากาศวันแรกก็วันที่ 27 มี.ค. แล้วก็จบโรงเรียนนายเรืออากาศ ได้รับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 27 มี.ค. จึงคิดว่าทำไมต้องรอถึงวันที่ 1 เม.ย. ค่อยลาออกจากราชการ แม้จะทราบดีว่าหากรอถึง 1 เม.ย. จะได้สิทธิประโยชน์มากกว่า แต่ก็ตัดสินใจลาออกในวันที่ 27 มี.ค. เพราะอยากจดจำวันที่มีค่านี้ไว้”

เมื่อ น.ท.ปิยะ ลาออกจากราชการ ก็เริ่มก่อตั้งโรงเรียนการบินกรุงเทพ ในปี 2545 โดยระหว่างที่ยังวางระบบและดำเนินการเรื่องต่างๆ ไม่เสร็จ สายการบินไทยแอร์เอเชียเปิดให้บริการพอดี จึงเข้าไปทำงานเป็นนักบินคนไทยทีมแรกของไทยแอร์เอเชีย มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงของไทยแอร์เอเชียอยู่ 1 ปีครึ่ง

กระทั่งวางระบบโรงเรียนเสร็จ ก็ลาออกมาทำธุรกิจโรงเรียนอย่างเต็มตัว โดยมีเพื่อนรัก 2 คน คือ น.อ.สุรัตน์ สุขเจริญไกรศรี ประธานกรรมการฝ่ายการเงิน บีเอซี และ พัฒน์ วินมูน ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บีเอซี เป็นคนสำคัญที่ช่วยกันก่อร่างสร้างโรงเรียนจนมีวันนี้ได้

น.ท.ปิยะ กล่าวว่า เขาเป็นดั่งคนที่มีแผนที่ในใจในการสร้างโรงเรียนการบินกรุงเทพ เปรียบได้กับการอยากจะขุดอุโมงค์เจาะทะลุภูเขา แต่ไม่มีอุปกรณ์ หมายถึง เงิน รวมทั้งผู้ดูแลอุปกรณ์ด้วย ซึ่ง น.อ.สุรัตน์ เข้ามาช่วยเติมเต็มส่วนนี้ได้ และเมื่อขุดอุโมงค์แล้ว หากไม่มีคนขนดินออกจากอุโมงค์ก็ไม่สามารถขุดต่อไปได้ และพัฒน์ก็เปรียบเสมือนผู้ช่วยสำคัญในการขนดินออกจากอุโมงค์ มีหน้าที่หลักในการช่วยงานที่หลงเหลืออยู่ ขณะที่หน้าที่หลักของ น.ท.ปิยะ ก็คือ การหาทางออกเพื่อขุดหาทางใหม่ๆ โดยมี น.อ.สุรัตน์ และพัฒน์ คอยตามเก็บรายละเอียด ซึ่ง 12 ปีที่ผ่านมาในการทำงานร่วมกันก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร ร่วมฝ่าฟันกันด้วยดีโดยตลอด

น.ท.ปิยะ กล่าวว่า ในช่วงเปิดโรงเรียนใหม่ๆ ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา เพราะเป็นโรงเรียนการบินแห่งแรกในไทยที่เจ้าของเป็นเอกชน ดังนั้นก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อเปิดทางใหม่ให้กับธุรกิจนี้ เปรียบเสมือนกับทางข้างหน้าเป็นป่ารกก็ต้องคอยถางทางใหม่ทั้งหมด เช่น การทำให้กรมการบินพลเรือนยอมรับว่าโรงเรียนมีมาตรฐาน ข้อนี้ถือว่ายากมาก และข้อต่อไปที่ยากยิ่งกว่าคือ การทำให้สายการบินยอมรับและส่งคนมาเรียนการบินด้วย

อย่างไรก็ดี น.ท.ปิยะ มองว่า มีความโชคดีในชีวิตอยู่ จากการที่ได้ทำงานกับไทยแอร์เอเชียช่วงสั้นๆ จึงเดินเข้าไปขอโอกาสกับไทยแอร์เอเชียในการส่งคนฝึกเป็นนักบินกับบีเอซี และไทยแอร์เอเชียก็ให้โอกาสนั้น ส่วนหลังจากนั้นการบินไทยก็มาขอตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานของโรงเรียนและส่งคนมาฝึกบินกับโรงเรียนเช่นกัน

จากวันแรกที่ก่อตั้งโรงเรียนจนถึงวันนี้ ก็เป็นเวลามากกว่า 12 ปีแล้ว สามารถผลิตนักบินออกมาได้ประมาณ 1,500 คน ในจำนวนนี้ได้งานทำ 100% ที่กล้าพูดเช่นนี้ เพราะนักเรียนที่มาเรียนกับบีเอซี 80% เป็นนักเรียนที่สายการบินต่างๆ เป็นผู้คัดเลือกคน และให้ทุนมาเรียน อีก 20% ใช้ทุนตัวเองในการเรียน ซึ่งกลุ่มนี้ 18% ได้งานนักบินทำ อีก 2% บริษัทรับไว้เป็นครูฝึกนักบินรุ่นต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ 2% นี้เมื่อทำงานกับบีเอซีได้ไม่เกิน 3 ปี ก็จะได้งานเป็นนักบินของสายการบินต่างๆ เช่นกัน

“เราไม่ใช่แค่เรือจ้างที่พาเด็กจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่ง แต่เราทำให้เด็กคนหนึ่งที่เป็นเพียงคนเดินดินแล้วบินเป็น”

น.ท.ปิยะ เชื่อว่า ทุกวันนี้โรงเรียนการบินกรุงเทพจัดเป็นโรงเรียนการบินติด 1 ใน 10 ของโลก ในแง่จำนวนนักบินที่ผลิตป้อนสู่ตลาดได้ และเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ซึ่งไม่มีโรงเรียนไหนในเอเชียที่ผลิตนักบินป้อนสู่ตลาดได้เกินปีละ 120 คน ขณะที่โรงเรียนการบินกรุงเทพ ปีนี้มีกำลังการผลิตนักบินสูงถึง 212 คน

แม้ว่าฝันในการปั้นนักบินของ น.ท.ปิยะ จะเป็นจริงแล้ว แต่ น.ท.ปิยะ ไม่ขอหยุดแค่นี้ เพราะยังมีฝันสูงสุดต่อไปรออยู่ นั่นคือต้องการให้โรงเรียนการบินกรุงเทพเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของการผลิตนักบินไทย เพื่อส่งออกไปทำงานกับสายการบินทั้งในและต่างประเทศ นำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ

น.ท.ปิยะ เชื่อว่า หากรัฐเข้าใจและสายการบินเห็นประโยชน์ที่มีต่อประเทศชาติ สนับสนุนการส่งออกนักบินอย่างจริงจัง ส่งออกได้ 6,000 คน ใน 10 ปี หลังจากนั้นนักบินที่ส่งออกไปก็จะสร้างรายได้จากต่างประเทศส่งกลับคืนสู่ไทยได้ถึงปีละ 3.6 หมื่นล้านบาท หากเทียบกับรายได้การส่งออกสินค้าประเภทอื่น ต้องบอกว่ารายได้จากการส่งออกนักบินไม่มีต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องเสียไปเลย เพราะเป็นการสร้างรายได้จากการบริการล้วนๆ ซึ่งเชื่อว่าสักวันฝันนี้จะเป็นจริงได้

จะเห็นได้ว่าหากมีเป้าหมายอะไรแล้วตั้งใจทำ ในที่สุดก็จะไปถึงเป้าหมายได้เหมือนอย่างที่ น.ท.ปิยะสามารถสร้างฝันให้เป็นความจริง

นักบินสู่นักธุรกิจ

หลายคนอาจรู้จัก น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ ในมุมของการเป็นนักบินกองทัพอากาศ และสงสัยว่าเหตุใดเมื่อออกจากราชการ ตัดสินใจมาทำธุรกิจจึงวางแผนธุรกิจได้คล่องแคล่ว

ทั้งนี้ เพราะระหว่างที่ น.ท.ปิยะ เป็นนักบินก็ได้ช่วยเหลืองานที่บ้าน ซึ่งคุณแม่และน้าของ น.ท.ปิยะเป็นเจ้าของโรงงานทำตุ๊กตา ในอดีตผลิตตุ๊กตาส่งออกขายต่างประเทศ แม้ได้กำไรตัวละแค่ 1 บาท ก็ยังทำ จึงทำให้ น.ท.ปิยะเกิดคำถามว่า เหตุใดกำไรน้อยแล้วยังทำ และได้คำตอบกลับมาว่าแม้ได้กำไรตัวละ 1 บาท แต่ทำตุ๊กตาครั้งละเป็นแสนเป็นล้านตัว

เมื่อ น.ท.ปิยะได้คำตอบ จึงเกิดความคิดว่าดีกว่าหรือไม่ถ้าทำกำไรตุ๊กตาได้ตัวละ 300-400 บาท แล้วทำเพียงหลักหมื่นตัว แต่จะทำแบบนี้ไม่ง่าย เพราะหัวใจที่จะทำให้สำเร็จ คือการสร้างยี่ห้อหรือแบรนด์

“ตุ๊กตาหมีที่ไหนก็มี ถ้าจะทำให้ตุ๊กตาหมีตัวละ 100 บาท ขายได้ตัวละ 1,000 บาท ต้องมีแบรนด์ จึงได้ตั้งบริษัท เท็ดดี้เฮ้าส์ ผลิตตุ๊กตาหมี เท็ดดี้ แบร์ ปัจจุบันประสบความสำเร็จ มีแฟรนไชส์เท็ดดี้เฮ้าส์มากกว่า 50 สาขาทั่วโลก ขณะที่ผมไม่ได้ทำแล้ว แต่ถือหุ้นอยู่ ขณะนี้ลูกของคุณน้าเข้ามาดูแลแทน”

จากการทำเท็ดดี้เฮ้าส์ ทำให้ น.ท.ปิยะสั่งสมประสบการณ์ทำธุรกิจไว้มาก จนมองว่าการขายตุ๊กตาหมีให้คนทั่วโลกเป็นเรื่องยากกว่าการทำธุรกิจโรงเรียนการบินมาก เพราะตุ๊กตาหมีเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อมาทำธุรกิจโรงเรียนการบินจึงไม่กังวลนัก โดยหัวใจของการทำโรงเรียนการบินไม่ได้อยู่ที่การทำตลาดเหมือนกับการขายตุ๊กตาหมี

โรงเรียนจะดีหรือไม่ดีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับโต๊ะ เก้าอี้ สถานที่ ไม่มีโรงเรียนไหนทำการตลาดโฆษณาที่สิ่งปลูกสร้าง แต่หัวใจสำคัญที่สุดของโรงเรียนก็คือทีมงาน ครูผู้ให้ความรู้และหลักสูตรที่มีคุณภาพ มีดัชนีชี้วัดความสำเร็จเป็นจำนวนนักเรียนที่ประสบความสำเร็จ

“จำนวนนักเรียนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรียน แต่โรงเรียนที่ดีต้องดูเปอร์เซ็นต์นักเรียนที่ได้งาน”

น.ท.ปิยะ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นนายเรืออากาศคนหนึ่ง รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ขณะนี้คุ้มค่าแล้วกับการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนพระคุณกองทัพอากาศ ทุกวันนี้ศิษย์การบินของบีเอซีทุกคนเมื่อก้าวเข้าสู่โรงเรียน กิจกรรมของวันแรกที่ต้องทำ คือ ไปกราบสักการะบุพการีกองทัพอากาศ ได้แก่ พล.อ.ท.พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) น.อ.พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ (หลง สิน-ศุข) และ น.อ.พระยาทะยานพิฆาต (ทิพย์ เกตุทัต) ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ เพราะเชื่อว่า ไม่ว่า น.ท.ปิยะ หรือศิษย์การบินของ น.ท.ปิยะ ล้วนเริ่มต้นการบินได้จากบุพการีท่านเดียวกัน ถือเป็นกุศโลบายที่จะทำให้นักบินของกองทัพและนักบินพลเรือนมีศูนย์รวมจิตใจเดียวกัน

สำหรับอนาคตบีเอซี น.ท.ปิยะ กล่าวว่า ปี 2559 จะเริ่มให้บริษัท ไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส มาเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้เป็นไปตามระเบียบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เนื่องจากวางแผนว่าในปี 2560 บีเอซีต้องมีคุณสมบัติพร้อมเข้าจดทะเบียน ตลท. ส่วนถึงเวลานั้นจะเข้าจดทะเบียนใน ตลท.หรือไม่เป็นเรื่องอนาคต ทั้งนี้เหตุผลที่สนใจจดทะเบียนใน ตลท. เพราะความต้องการนักบินของตลาดการบินในประเทศและต่างประเทศมีอีกมาก หากไทยผ่านเรื่องแก้ปัญหามาตรฐานการบินได้จะถือว่าวิกฤตนี้กลายเป็นโอกาส เบื้องต้นคาดว่าการแก้ปัญหามาตรฐานการบินคงใช้เวลา 1 ปี หลังหมดปัญหาการบินของไทยจะโตได้ก้าวกระโดด

น.ท.ปิยะ กล่าวว่า บีเอซียังมีแผนเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับกรมการบินพลเรือนของเมียนมา เปิดโรงเรียนการบินแห่งแรกในเมียนมา บีเอซีลงทุนด้านบุคลากรและบริหารจัดการ กรมการบินพลเรือนเมียนมาลงทุนสถานที่และเครื่องบินน่าจะเห็นความคืบหน้าปี 2559

หากการลงทุนเปิดโรงเรียนการบินในเมียนมาสำเร็จ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะได้ประกาศว่า โรงเรียนการบินของไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก