‘ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง’ ต้นแบบอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/192501

วันศุกร์ ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.
ป่าไม้..สิ่งชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ ทั้งต้นกำเนิดแหล่งน้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์นานาชนิด ทว่าในประเทศไทยป่าไม้ถูกทำลายไปมาก ดังข้อมูลที่ นายประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยเมื่อช่วงเดือนเม.ย. 2558 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าเพียง 102 ล้านไร่เศษๆ หรือร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศ ลดลงจากเมื่อปี 2551 ที่มีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ 108 ล้านไร่ หรือร้อยละ 33.8 ของพื้นที่ประเทศ

แค่ “7 ปี” ป่าเมืองไทยหายไปแล้วราว “6 ล้านไร่”!!!

12 พ.ย. 2558 “สกู๊ปหน้า 5” ติดตามคณะของ “สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา” ลงพื้นที่ บ้านหัวทุ่ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ อันเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการทำลายป่ากันมาก ซึ่ง ประจักษ์ บุญเรือง ประธานป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง และประธานส่งเสริมอาชีพเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เล่าว่า พื้นที่แห่งนี้หากย้อนไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน เป็นพื้นที่สัมปทานป่าไม้ บริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานสามารถตัดไม้ไปขายได้อย่างถูกกฎหมาย

และต่อมาแม้รัฐบาลไทยจะยกเลิกสัมปทานแล้ว แต่ชาวบ้านที่อาศัยใกล้กับแนวป่าก็ยังทำลายป่ากันต่อไป นั่นคือการ “ทำไร่เลื่อนลอย” ซึ่งบ่อยครั้งมีการ “จุดไฟเผาป่า” ทำให้เกิดไฟป่าลุกลาม จำนวนป่าไม้จึงมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ กระทั่งในปี 2540 ทั้งตัวของประจักษ์และชาวบ้านคนอื่นๆ เริ่มตระหนักว่าการ “ไม่มีป่า” ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่อย่างไร ทำให้เกิดแนวคิด “ฟื้นฟูป่า” ขึ้นในหมู่ผู้คนที่นี่

“เมื่อก่อนก็ทำไร่เลื่อนลอย ทำไปทำมาก็บอกว่าถ้าเรายังปล่อยกันแบบนี้ ต่อไปข้างหน้าลูกหลานเราจะไม่เห็นน้ำไหลตรงนี้อีก ทุกคนต้องหยุดทำไร่เลื่อนลอย หยุดถางป่า แล้วป้องกันไม่ให้ไฟไหม้ป่า ถ้าตอนนั้นเราไม่เริ่มต้น ปัจจุบันเราจะไม่เห็นน้ำไหลแบบนี้แล้ว เพราะอาชีพหลักคนในหมู่บ้านคือทำการเกษตร ตรงนี้มันก็เป็นป่าต้นน้ำ คือชาวบ้านก็ประสบปัญหาด้วยตัวเอง ก็ยอมรับว่าปัญหามีจริง”ประจักษ์ กล่าว

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ..ชายวัยหกสิบเศษรายนี้ เล่าว่า เขาได้ “ไอเดียบรรเจิด” ในการลดปัญหาไฟป่ามาจาก บ้านปางมะโอ ซึ่งอยู่ใน อ.เชียงดาว เช่นเดียวกัน ที่นั่นมี “ต้นเมี่ยง” เป็นพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านปางมะโอ “ดูแลต้นเมี่ยงเท่าชีวิต” ไม่ยอมให้มีอันตรายเด็ดขาด รวมถึงจากไฟป่าด้วย

คุณลุงประจักษ์ เลยไปขอ “กาแฟพันธุ์อะราบิกา” (Arabica) จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จ.เชียงใหม่ มาทดลองปลูก พบว่าได้ผลดี จึงชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันปลูกด้วยในพื้นที่ป่าชุมชน เมื่อมีการปลูกกาแฟในพื้นที่ป่า ป่าก็ย่อมจะได้รับการดูแลรักษาจากคนไปด้วย มีการทำแนวกันไฟช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี

นี่เป็น “กุศโลบาย” ใช้กาแฟป้องกันไฟป่าที่ “ได้ผล” เป็นอย่างยิ่ง!!!

เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา พื้นที่ป่าแถบนี้ “แทบไม่เกิดไฟไหม้” อีกเลย!!!

“พอเดือนมกรา เรามาทำแนวกันไฟทั้งบริเวณป่ากาแฟและป่าชุมชน เราจะพยายามลดไฟป่าและหมอกควันให้ได้มากที่สุด เพราะอำเภอเชียงดาวมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เราต้องช่วยกันดูแลรักษา” คุณลุงประจักษ์ ระบุ

ผลที่ได้..วันนี้ชุมชนบ้านหัวทุ่ง กลายเป็น “ชุมชนต้นแบบในการอนุรักษ์ป่า” ได้รับรางวัลมากมาย ทั้งหมู่บ้านปลอดการเผา หมู่บ้านดีเด่นด้านบริหารจัดการป่า ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้อีกไม่กี่ปีข้างหน้า กาแฟจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวบ้านหัวทุ่ง เช่นเดียวกับที่เมี่ยงเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวบ้านปางมะโอ

“อยากให้มาเห็นครับ วันนั้นมีแต่รอยยิ้ม สมัยผมทำถึงจะไม่ได้รับรางวัลอะไรแต่ก็ไม่เคยหวัง แค่หวังว่าชุมชนเราจะอยู่เย็นเป็นสุข มีป่าอุดมสมบูรณ์ แล้วมีเยาวชนมารับไม้ต่อ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” คุณลุงประจักษ์ ฝากทิ้งท้าย

เห็นได้ชัดว่าการอนุรักษ์ป่าไม้ไม่อาจใช้เพียงกฎหมายหรืออำนาจรัฐเข้าไปกวดขันจับกุมอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่านี้ด้วย ซึ่งการทำเช่นนั้นได้มิได้มาจากการสั่งการแบบบนลงล่างจากรัฐ หากแต่ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้คนในพื้นที่เข้าใจว่าป่าไม้ให้อะไรกับวิถีชีวิตกับพวกเขาบ้าง ดังตัวอย่าง “ชุมชนบ้านหัวทุ่ง” แห่งนี้

ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่าอย่าง “รู้คุณค่า” นำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่าง “ยั่งยืน”!!!
SCOOP@NAEWNA.COM

ส่องแผนปลูกพืชไร่สู้‘ภัยแล้ง’ ‘ทางรอด’ช่วงวิกฤตินํ้าน้อย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/192356

วันพฤหัสบดี ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.

“ภัยแล้ง”…

ยังเป็นปัญหาที่น่า “วิตก” ปีนี้ว่าหนักหนา แต่ปีหน้าหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะ “สาหัส” กว่า เพราะน้ำเก็บกักในเขื่อนหลักยังอยู่ในขั้น “วิกฤติ” ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ คงหนีไม่พ้น “ภาคเกษตรกรรม” ที่ต้องใช้น้ำมากอย่าง “นาข้าว” ที่ปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศให้เกษตรกร “งดทำนาปรัง” พร้อมคลอดมาตรการอื่นๆมาทดแทนโดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูก “พืชฤดูแล้ง” ที่ใช้น้ำน้อย เพื่อเป็นทางเลือก “ทางรอด” หวังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงวิกฤติ

มาตรการข้างต้นเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรง ซึ่ง “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน “สถานการณ์น้ำ” ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2558 เกิดปัญหา “ฝนทิ้งช่วง” ทำให้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก “เส้นเลือดใหญ่” ของประเทศอย่างเขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือน้ำใช้ได้ประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

ด้วยภาวะข้างต้น กระทรวงเกษตรฯ จึงออกมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชทดแทนการทำนาปรังช่วงหน้าแล้ง โดยสนับสนุนให้พื้นที่ที่เหมาะสมปลูก “พืชไร่” และพืชใช้น้ำน้อยได้ โดยพิจารณาจากปริมาณฝนที่ตกลงมา หรือน้ำตามคูคลอง ระบบชลประทาน และแหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และมีตลาดรองรับ เช่น ถั่ว ข้าวโพด อ้อย ซึ่งตลาดยังมีความต้องการอีกมาก และไทยต้องนำเข้าเพื่อผลิตอาหารสัตว์

“กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับภาวะที่ “สุ่มเสี่ยง” ดังกล่าว จึงได้ออกมาตรการดังกล่าวออกมา เพื่อให้การบริหารจัดการปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค, รักษาระบบนิเวศน์ให้ผ่านพ้นหน้าแล้ง และให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อฤดูเพาะปลูกถัดไปปี 2559 ซึ่งคาดว่าน้ำจะไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร” รมว.เกษตรฯ กล่าว

ด้าน “สมชาย ชาญณรงค์กุล” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในฐานะที่กรมมีหน้าที่ในการส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรตามมาตรการดังกล่าว กรมจึงได้เตรียมแผนร่วมเดินหน้าฝ่าวิกฤติภัยแล้งไว้แล้ว เบื้องต้นได้สำรอง “เมล็ดพันธุ์” พืชไร่ใช้น้ำน้อย และมีอายุเก็บเกี่ยวสั้นไว้รองรับความต้องการของเกษตรกรที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ดีไปปลูกในช่วงหน้าแล้ง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558-มกราคม 2559 เพื่อสร้างรายได้ทดแทนการทำนาปรังรวมกว่า 2,300 ตัน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง 800 ตัน, ถั่วเขียว 1,300 ตัน และถั่วลิสง 200 ตัน

“กรมคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการปลูกข้าว โดยเฉพาะพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเป็นแนวทางช่วยให้เกษตรกรสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ โดยจะเริ่มส่งมอบเมล็ดพันธุ์พืชให้เกษตรกรไปปลูกตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน-15 ธันวาคม 2558 นี้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ประเด็นที่เกษตรกรกังวล คือ “รายได้” จากการปลูกพืชทดแทน จะไม่พอ “ยาไส้” แต่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้ข้อมูล “เปรียบเทียบ” ว่า การปลูกข้าวนาปรัง ใช้น้ำ 1,920 ลบ.ม./ไร่ รายได้ต่อไร่ 5,000-7,000 บาท แต่การปลูก “ถั่วเขียว” ใช้น้ำ 320-400 ลบ.ม./ไร่ รายได้ต่อไร่ 2,100-3,000 บาท, “ถั่วเหลือง” ใช้น้ำ 480-560 ลบ.ม./ไร่ รายได้ต่อไร่ 3,600-8,400 บาท, “ถั่วลิสง” ใช้น้ำ 611 ลบ.ม./ไร่ รายได้สูงถึงไร่ละ 3,600-10,800 บาท, “ข้าวโพดหวาน” ใช้น้ำ 420 ลบ.ม./ไร่ รายได้ต่อไร่ 10,000-15,000 บาท และ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ใช้น้ำ 720-800 ลบ.ม./ไร่ รายได้ต่อไร่ 4,800-8,000 บาท

สำหรับ “ข้อระวัง” ในการเลือกปลูกพืชไร่ใช้น้ำน้อยนั้น เกษตรกรควรพิจารณาถึงพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น, ศึกษาความต้องการของตลาด, ราคาผลผลิต และมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน รวมถึงต้องคำนึงถึงความเหมาะกับสภาพแวดล้อม ซึ่งกรมมีศูนย์วิจัยพืชไร่, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 พร้อมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ สร้างความเข้าใจ ให้ความมั่นใจ และให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม เช่น เมล็ดพันธุ์ดี และเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหาด้านพืช นอกจากนั้นเกษตรกรยังสามารถเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์เรียนรู้, แปลงสาธิต หรือแปลงต้นแบบการปลูกพืชไร่ใช้น้ำน้อย เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในแปลงของตนเองได้จริง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวด้วยว่า หลังเก็บเกี่ยวข้าว เกษตรกรควรฉวยโอกาสช่วงที่สภาพดินยังมีความชื้นเพาะปลูกพืชไร่ใช้น้ำน้อย และอายุเก็บเกี่ยวสั้นเพื่อสร้างรายได้ทดแทนการทำนาปรัง โดยมีพืชไร่หลายชนิดที่มีศักยภาพและตลาดมีความต้องการสูง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และข้าวโพด ซึ่งกรมพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร เป็นช่องทางช่วย “ลดความเสี่ยง” ปัญหาขาดแคลนน้ำระหว่างเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้งนี้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกร “อยู่รอด” และผ่านช่วงวิกฤติภัยแล้งไปได้

“การปลูกพืชใช้น้ำน้อยช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับข้าว ลดความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำและภัยแล้ง พร้อมลดปัญหาการแย่งชิงน้ำเพื่อการเกษตรด้วย หากปลูกพืชไร่ใช้น้ำน้อยสลับกับการปลูกข้าวจะช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำดีกว่าการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ช่วยแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม ช่วยปรับปรุงบำรุงและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ เพราะเศษซากพืชตระกูลถั่วจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน และลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวได้ ขณะเดียวกันยังช่วยตัดวงจรการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว และรักษาระบบนิเวศน์ในนาข้าวให้สมดุลด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

“พืชไร่-พืชใช้น้ำน้อย” ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้เกษตรกร “รอด” จากภาวะวิกฤติภัยแล้งที่น่าจะลากยาวไปจนถึงปี 2559 เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้มีรายได้หมุนเวียนต่อจากการทำนา และในช่วงที่ “จำเป็น” ต้องงดทำนาปรัง

ที่สำคัญ…ยังช่วยให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่หลายพื้นที่กำลังประสบ “ภัยแล้ง” ซึ่งเป็น “ภัยพิบัติ” ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

SCOOP@NAEWNA.COM

เกาะติดภารกิจ‘นักรบสีน้ำเงิน’ มุ่งพัฒนา-ท้ารบ‘ความยากจน’

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/192158

วันพุธ ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.

ยามศึกเรารบ ยามสงบเราเตรียมพร้อม…

นี่คือปรัชญาการปฏิบัติของ “ทหาร” ทุกหมู่เหล่า ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ของโลก “เปลี่ยนไป” สงครามประเภททำลายล้างไม่ค่อยเกิดขึ้น ทำให้ “ภารกิจ” ของเหล่าทหารกล้าต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย หลายๆ หน่วย “เก็บอาวุธ” เข้าคลังแสงชั่วคราว แล้วมุ่งสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการ “พัฒนา” ประเทศ รวมถึงออกหน่วยช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกลแทน

“นักรบสีน้ำเงิน”!!!

หรือ “หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 32”(นพค.32) สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ถือเป็นอีกหนึ่ง “กำลังสำคัญ” ของการร่วมพัฒนาประเทศ

สำหรับ “นพค.32” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2515 ปัจจุบันมี “พ.อ.อภิรัชฎ์ รามนัฎ” เป็น ผบ.นพค.32 เป็นหน่วยที่ปฏิบัติการด้านยุทธศาสตร์ของกองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ หรือ “กรป.กลาง” ที่เน้นป้องกันแทรกซึม “บ่อนทำลาย” ความมั่นคงของชาติ ด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา รวมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชน ดูแลพื้นที่ติดต่อกับแนวชายแดน 5 อำเภอ 12 ตำบล ใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง

“พ.อ.อภิรัชฎ์” กล่าวว่า นพค.32 มีภารกิจเสริมสร้างความมั่นคง ช่วยเหลือประชาชน มี 8 แผนงานในการพัฒนา คือ 1.ก่อสร้างเส้นทางคมนาคม รวมถึงซ่อมแซมเส้นทางที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ 2.ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการประกอบอาชีพด้านเกษตร 3.จัดหาน้ำกินน้ำใช้ 4.พัฒนาชุมชนและสาธารณูปโภค 5.แผนงานสาธารณสุข 6.ส่งเสริมให้เยาวชนมีโอกาสทางการศึกษา โดย นพค.32 ได้ก่อตั้งโรงเรียนชาวไทยภูเขา นพค.32 ขึ้นในพื้นที่ 7.ปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์ และ 8.งานสังคมสงเคราะห์อื่นๆ

“พ.อ.อภิรัชฎ์” กล่าวอีกว่า ด้วยปัจจุบันหลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง นพค.32 จึงเน้นภารกิจด้านการจัดหาแหล่งน้ำเป็นภารกิจเร่งด่วน โดยน้อมนำตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “…หลักสำคัญต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก เพราะถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…” มาเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยล่าสุด นพค.32 ได้จัดทำ “โครงการหมู่บ้านตัวอย่างตามรอยเท้าพ่อ” ที่บ้านหลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็น “โมเดล” การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ ไม่ขาดแคลน

“พ.อ.อภิรัชฎ์” กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ “บ้านหลวง” เคยมีปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าทำให้ป่าต้นน้ำลำธารมีปัญหาแห้งขอด ส่งผลไปถึงชาวบ้านที่ต้องขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ โดยเฉพาะปี 2553 ที่ประสบปัญหา “ภัยแล้ง” รุนแรง นอกจากนี้ฤดูฝนยังมีปัญหา “น้ำท่วม” ด้วย ทางผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้ นพค.32 เข้ามาแก้ไขปัญหา โดยให้ใช้แนวทางพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำของในหลวงเป็นแนวทางปฏิบัติ

“นพค.32 ได้เข้ามาขุดแหล่งรวมน้ำ เพื่อประทังพืชผลทางการเกษตรให้อยู่รอดในช่วงฤดูแล้ง โดยเน้นฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำตามแนวพระราชดำริของในหลวง เราเข้ามาช่วยสร้างฝายใน ต.โหล่งขอด หลายแห่ง แบ่งเป็น ฝายแบบถาวร 14 แห่ง กึ่งถาวร 27 แห่ง และฝายผสมผสาน 203 แห่ง ทำให้พื้นที่แห่งนี้แทบไม่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำอีกเลย” พ.อ.อภิรัชฎ์ กล่าว

พ.อ.อภิรัชฎ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นพค.32 ยังเข้ามาขุดลอกแหล่งน้ำ ทำ “แก้มลิง” ดึงชาวบ้านมาร่วม “ปลูกป่า” เพิ่มเติม และสร้างฝายทดแทน หรือ “ทำนบกั้นน้ำ” ถือเป็น “นวัตกรรมใหม่” ภายใต้นโยบายของ พล.ท.ชัยพฤกษ์ อัยยะภาคย์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 3 ที่ต้องการให้ 6 หน่วย นพค. ในพื้นที่ภาคเหนือดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำทั้งหมดในภาคเหนือ ซึ่งทำนบกั้นน้ำ 1 แห่ง สามารเก็บน้ำได้ประมาณ 20,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ถ้าสร้างได้เป็น 100 แห่งจะไม่ต่างจากเขื่อนเก็บน้ำขนาดย่อมๆ

นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบนิเวศน์มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยจะพิจารณาจัดสร้างจากพื้นที่ราบ สร้างเป็นฝายสูง 4 เมตร กว้างประมาณ 40 เมตร เมื่อน้ำจากร่องเขาผ่านมาหากมีปริมาณความสูงเกิน 4 เมตร ก็จะไหลเข้าไปในลำน้ำแล้วผ่านไปยังพื้นที่การเกษตร จากเดิมที่ไหลทิ้งหมด แต่หากมีปริมาณน้ำสูงต่ำกว่า 4 เมตร ก็จะกักเก็บไว้ตามร่องเขายาวเป็นร้อยๆ เมตร ซึ่งชาวบ้านสามารถนำน้ำตรงนี้ไปใช้ได้ในฤดูแล้ง

“พ.อ.อภิรัชฎ์” กล่าวด้วยว่า การสร้างฝาย และการดำเนินการพัฒนาด้านอื่นๆ ในพื้นที่ “บ้านหลวง” ยึดถือหลักความร่วมมือ “บวร” คือ บ้าน วัด และราชการ ทุกภาคส่วนในชุมชนมาร่วมมือกัน ซึ่งแนวคิดนี้ยังนำมาซึ่ง “บัญญัติ 9 ประการ” ในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนที่ชาวบ้านยึดเป็นหลักปฏิบัติ คือ 1.อบรมความรู้การอนุรักษ์ทรัพยากร 2.สร้างฝายตามแนวพระราชดำริ 3.ปลูกป่าเพิ่มเติม 4.ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ 5.ขุดลอกแหล่งน้ำ 6.สร้างฝายทดน้ำ 7.ทำแก้มลิง 8.ขุดลอกคลอง และ 9.ป้องกันการบุกรุก

สำหรับผลลัพธ์การดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 พบว่า บ้านหลวงไม่ประสบปัญหาอุทกภัยอีกเลย แม้ปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยหนักทั่วประเทศ บ้านหลวงก็ไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นก็ไม่มีปัญหา “ภัยแล้ง” ไม่ขาดแคลนน้ำ “แก้มลิง” ไม่เคยแห้งแม้แต่ปีเดียว ชุมชนนี้มีน้ำใช้ตลอดปี โดยภายในปี 2561 ทาง นพค.32 มีแผนจะเข้าพัฒนาพื้นที่แห่งนี้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการสร้างถนน และส่งเสริมอาชีพ

“ชาวบ้านที่บ้านหลวง จะยึดหลักบัญญัติ 9 ประการเป็นกติกาชุมชน โดยจะไม่รุกผืนป่า ถ้าใครบุก 1 ไร่ เอาคืน 2 ไร่ เป็นต้น โดยมีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมตรวจตราการบุกรุกทำลายป่า บ้านหลวงถือเป็นหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จตามโครงการหมู่บ้านตามรอยเท้าพ่อในส่วนของการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” พ.อ.อภิรัชฎ์ กล่าว

พร้อมกับทิ้งท้ายว่า ตัวอย่างการทำงานข้างต้นของ นพค.32 ถือเป็น “กระจกเงา” ที่สะท้อนให้เห็นว่ายังมีชาวบ้านในหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต และ “ความยากจน” ดังนั้นแนวรบของเราจึงอาจไม่ใช่สงคราม” แต่เป็น “สมรภูมิความยากจน” ที่เหล่า “นักรบสีน้ำเงิน” ต้องกำจัดออกไป เพื่อให้ชาวบ้านกินดี อยู่ดี ซึ่งนั่นจะทำให้ประเทศชาติเกิด “ความมั่นคง” ต่อไป

SCOOP@NAEWNA.COM

สิทธิชัย สันหนู

ส่องปัญหา‘ผู้อพยพ’ (จบ) วอนภาครัฐช่วย‘แยกแยะ’

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/191996

วันอังคาร ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 06.00 น.
ในตอนที่แล้ว เป็นการบอกเล่าถึงความเดือดร้อนของชาวลาวอพยพที่เข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมายอันพึงมีพึงได้เนื่องจากเป็นผู้ตกสำรวจ ส่วนในตอนนี้ จะเป็นมุมมองของฝ่ายรัฐผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงนักวิชาการว่าควรจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร

เสียงสะท้อนจากอำเภอ

“ที่มีปัญหาแล้วปลัดอำเภอกลัว คือมันมีมาแล้ว หมอตำแยไปรับรองว่าคนนี้เกิด แต่ไม่ได้เกิดในเมืองไทย มันก็เลยเป็นคดีขึ้น เดี๋ยวนี้ก็อยู่ในชั้นศาล คนที่โกหกก็โดนหมด แต่ถ้าไม่โกหกก็ได้หมด มันก็เลยกลัวกัน ก็ต้องสอบกัน”

คำบอกเล่าจาก จันทร์ฉวีวรรณ สีมาฤทธิ์ ปลัดอำเภอโขงเจียม อธิบายถึงความจำเป็นในการตรวจสอบอย่างละเอียดสำหรับผู้ที่จะมาขอสัญชาติไทย เช่นตัวอย่างนี้เป็นกรณี พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 23 ที่ให้สิทธิกับบุตรของคนต่างด้าวไม่ว่าจะสถานะใดก็ตาม หากเกิดบนแผ่นดินไทยก่อนวันที่ 26 ก.พ. 2535 สามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้ ทว่าในความเป็นจริง มีบางรายไม่ได้เกิดในไทยแต่หาคนมาเป็น “พยานเท็จ” เพื่อขอใช้สิทธินี้ด้วย ซึ่งนอกจากตัวผู้กระทำจะมีความผิดตามกฎหมายแล้วเจ้าหน้าที่รัฐหากไม่รอบคอบเพียงพอก็อาจพลอยมีความผิดไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในด้านกฎหมาย ยกตัวอย่างพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 ทวิ ที่ผู้เป็นบิดาหรือมารดา อย่างน้อยๆ ต้องถือ “บัตรประจำตัวเลข 6” ที่ระบุสถานะว่าเป็นผู้อพยพต่างชาติกลุ่มต่างๆ บุตรจึงมีสิทธิในการขอสัญชาติไทยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง “การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย”

แต่บางรายเพราะทั้งบิดาและมารดามีเพียง “บัตรประจำตัวเลข 0” ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ไม่มีสัญชาติระบุว่ามาจากที่ใด ทำให้บุตรของคนกลุ่มนี้ไม่สามารถขอสัญชาติไทยได้ เนื่องจากประกาศดังกล่าวไม่รวมถึงผู้มีบัตรเลข 0 ด้วย

เช่นกรณีของ สมศักดิ์ อินทะโสม ที่บุตรคนโตได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 23 เพราะเกิดก่อนวันที่ 26 ก.พ. 2535 แต่บุตรอีก 2 คนไม่ได้สัญชาติไทยเพราะเกิดหลังวันดังกล่าว ซึ่งหากจะขอสัญชาติต้องมาใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 ทวิ แต่ก็ใช้ไม่ได้อีกเพราะเป็นบุคคลตกสำรวจไม่ได้รับการระบุว่าเป็นชาวลาวอพยพทั้งที่มีหลักฐานจากค่ายอพยพชัดเจน จุดนี้ต้องรอมติคณะรัฐมนตรีออกมาเป็นรายครั้งคราวไป

“ถ้าพ่อกับแม่ไม่มีบัตรเลข 6 กฎหมายนี้ก็ยังไม่ให้ ก็ต้องรอให้ออกกฎหมายมา คือเกิดในไทยก็ยังไม่ได้เพราะกฎหมายยังไม่ให้ เราก็ทำไปได้เท่าที่กฎหมายจะให้ในแต่ละช่วง อย่างมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 บิดาหรือมารดาต้องเป็นเลข 6 ในขณะนี้เราก็ต้องทำตามระเบียบที่มี” ปลัดอำเภอรายนี้ ระบุ

ถึงเวลาภาครัฐต้องแยกแยะ

แม้จะเข้าใจได้ว่าภาครัฐโดยเฉพาะ “ฝ่ายความมั่นคง” ค่อนข้างกังวลกับการให้สัญชาติไทยกับชาวต่างชาติ เพราะเป็นห่วงว่าจะจูงใจให้มีผู้อพยพกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มอีก รวมถึงปัญหาทุจริตนำคนลักลอบเข้าเมืองมาสวมสิทธิ์เป็นผู้อพยพ แต่ในมุมมองของ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการด้านผู้อพยพไร้สัญชาติ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เชื่อว่าหากรัฐจะทำจริงๆ ย่อมสามารถ “แยกแยะ” ระหว่างผู้อพยพหน้าเก่าตกสำรวจ กับคนลักลอบเข้าเมืองหน้าใหม่ที่แฝงตัวเข้ามาได้

“เมื่อเขาเป็นผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทย เขาก็ควรได้รับการดูแลในฐานะผู้อพยพ ต่อมารัฐก็มีนโยบายให้สิทธิอาศัยชั่วคราว ก็คือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติไทย ใช้คำว่าลาวอพยพ มีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 6 ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้สามารถขอถิ่นที่อยู่ถาวรได้แล้ว เหมือนคนจีนสมัยก่อน เข้ามาก็ได้ใบต่างด้าว ชื่อก็อยู่ใน ทร.14 (ทะเบียนบ้าน) แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย พอรุ่นลูกเกิดมาโดยพ่อแม่ได้ใบต่างด้าวแล้วก็ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดนเลย

บัตรเลข 0 นี่คือเก็บคนที่ตกหล่นแต่อยู่มานานแล้วเพื่อรอการพิสูจน์ แต่รัฐก็ไม่ยอมพิสูจน์โดยอ้างว่ามีการทุจริต เดี๋ยวมีคนปลอมเข้ามา แต่ตอนนี้เรื่องทุจริตทั้งหลายกรมการปกครองเขาจบไปส่วนใหญ่แล้ว ก็ให้ดีเอสไอ (DSI-กรมสอบสวนคดีพิเศษ) เข้ามาตรวจสอบ เอาขึ้นศาลไปมากแล้ว ฉะนั้นควรจะมาดูว่ากลุ่มนี้ควรจะพัฒนาอย่างไร ถ้าเป็นบัตรเลข 0 ที่เป็นคนตกหล่น ก็ต้องให้สิทธิ์เหมือนพี่น้องเขาที่ได้สิทธิ์ไปแล้ว” สุรพงษ์ กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของ ศิระศักดิ์ คชสวัสดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนรักน้ำของ เสนอแนะว่า สำหรับผู้มีบัตรเลข 0 หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้อพยพที่อยู่มานานจริง ก็ควรได้สิทธิเฉกเช่นผู้ถือบัตรเลข 6 ซึ่งได้สิทธิตั้งถิ่นฐานถาวรในไทยไปก่อนหน้าแล้ว เพื่อให้ได้สิทธิต่างๆ เช่น การทำงาน การเดินทาง การขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงลูกของคนกลุ่มนี้จะสามารถขอสัญชาติไทยได้

และทั้งนี้ปัจจุบันก็มีการแยกระหว่าง 2 กลุ่มดังกล่าวอยู่แล้ว โดยผู้อพยพจากปัญหาสงครามในอดีตที่อยู่มานานจะได้บัตรเลข 0 ที่ไม่ระบุว่าเป็นคนชาติใด ขณะที่คนต่างชาติ3 ประเทศ ซึ่งเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานยุคหลังๆ จะได้ “บัตรประจำตัวเลข 00” และระบุสัญชาติชัดเจนว่ามาจากเมียนมา ลาว หรือกัมพูชา จึงเชื่อว่าไม่ยากหากภาครัฐมีความตั้งใจในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

“ถ้าพิสูจน์ได้ว่าอพยพหนีภัยสงครามในอดีต แล้วก็อยู่มานานในประเทศไทยจนกลับประเทศต้นทางไม่ได้ ผมคิดว่าต้องทำให้เหมือนกัน คือเลข 6 เขามีสิทธิขอสถานะอยู่ถาวรในไทย คนกลุ่มเลข 0 ก็ควรจะได้เหมือนกันเพื่อที่จะแก้ปัญหาถึงรุ่นลูก ลูกจะได้ขอสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิได้

คือจริงๆ มันมีเงื่อนเวลากำหนดได้อยู่แล้ว อย่างบางคนเขาเข้ามาหลังปี 2542 พอสำรวจก็ไม่ได้บัตร แต่ถ้าเข้ามาก่อนนั้นก็จะได้ อะไรแบบนี้ คือไหนๆ คนกลุ่มนี้ไม่มีทางจะออกไปจากประเทศไทยได้แล้ว ประเทศไทยก็ต้องคิดว่าจะให้เขาอยู่ในฐานะไหน จะให้หลบๆ ซ่อนๆ เป็นภาระสังคมไปตลอด แล้วมันจะมีโอกาสไปเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เช่นเขาต้องลักลอบทำงาน ถูกกดค่าแรง หรือไปเจอเจ้าหน้าที่บางรายเรียกรับผลประโยชน์” ศิระศักดิ์ ฝากทิ้งท้าย

จากทั้งหมดนี้..ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของนักกฎหมายหรือภาคประชาสังคม เชื่อว่าภาครัฐสามารถแก้ปัญหาคนตกสำรวจเหล่านี้ได้ เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นย่อมรู้กันอยู่แล้วว่าใครอพยพมาเพราะการสู้รบเมื่อนานมาแล้ว และใครเป็นคนต่างด้าวเข้ามาภายหลังเพื่อหาช่องทางลักลอบทำงานในไทย การแยกแยะเพื่อใช้มาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะ “จริงจัง” กับปัญหานี้แค่ไหน?

SCOOP@NAEWNA.COM

ส่องปัญหา‘ผู้อพยพ’(1) ‘อยู่นาน’แต่‘ตกสำรวจ’

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/191850

วันจันทร์ ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.
“ผู้ใหญ่บ้านเขาบอกว่าฝ่ายความมั่นคงจะมาสำรวจลาวอพยพ ใครไปก็ไปใครไม่ไปก็ไม่ไป ผมก็ไปที่อำเภอโพธิ์ไทร  คือตอนนั้นมีการพูดกันว่าอย่าไป ถ้าไปจะโดนจับ แต่ผมกล้าไป เพราะผมไม่ได้ออกนอกพื้นที่ ก็ได้บัตรสีชมพูนี้มา ตอนนี้ผมมีความหวัง ผมได้บัตรนี้แล้ว ผมหวังว่าวันหนึ่งผมจะได้บัตรประชาชนไทย”

แปลง อินทรนงค์ หนุ่มใหญ่ชาวลาวอพยพที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ ณ ต.เหล่างาม อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี บอกเล่ากับ “สกู๊ปหน้า 5” เมื่อครั้งลงพื้นที่ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา 28-30 พ.ย. 2558 ถึงความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่ดีขึ้นหลังจากได้ “บัตรประจำตัวเลข 6” ซึ่งหมายถึง คนต่างด้าวผู้เข้าเมืองไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว ได้แก่ชนกลุ่มน้อยที่อพยพหนีภัยจากประเทศต้นทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตามแนวชายแดน หรือชาวต่างชาติที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย แต่เข้ามาแต่งงานกับคนไทย

ลุงแปลงเล่าว่า ในปี 2518 สงครามกลางเมืองในลาวระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง ครั้งนั้นฝ่ายสังคมนิยมเป็นผู้ชนะและสามารถสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ชาวลาวฝ่ายเสรีนิยมจำนวนมากรวมถึงตัวลุงแปลง ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเข้ามาพักพิงยังศูนย์อพยพในประเทศไทย ทั้งที่ จ.อุบลราชธานี และที่ จ.นครพนม

กระทั่งในยุครัฐบาลของ “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วงปี 2531-2534 มีการทยอยปิดศูนย์อพยพ ชาวลาวอพยพบางส่วนได้ลี้ภัยไปประเทศที่ 3 เช่น สหรัฐอเมริกา ขณะที่บางส่วนกลับไปอยู่ที่ สปป.ลาว ทว่าก็มีบางส่วนไม่สามารถไปได้ทั้ง 2 ทาง ทำให้ต้องอยู่ในประเทศไทยต่อไป ซึ่งในเวลานั้นรวมถึงยุคต่อๆ มา รัฐบาลไทยได้เปิดให้คนลาวอพยพลงทะเบียนเพื่อขอมีบัตรประจำตัวเลข 6 และลุงแปลงก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้บัตรดังกล่าว

หนุ่มใหญ่รายนี้จึงมีความหวังว่า สักวันหนึ่งจะได้รับสัญชาติไทยด้วยกระบวนการแปลงสัญชาติ ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 10 ซึ่งระบุหลักเกณฑ์สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการสัญชาติไทยดังนี้ 1.บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ 2.มีความประพฤติดี 3.มีอาชีพเป็นหลักฐาน 4.มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และ 5.มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกระทรวง

ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีแบบลุงแปลง เช่นที่ บ้านบะไห ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ที่นี่ สมศักดิ์ อินทะโสม หนุ่มใหญ่ชาวลาวอพยพอีกราย ทั้งที่มีหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวผู้อพยพชัดเจน แต่กลับเป็น “บุคคลตกสำรวจ” ไม่ได้รับบัตรเลข 6 เพราะช่วงที่เปิดให้ลงทะเบียนนั้นทำกันเพียงครึ่งวัน ทำให้หลายคนไปลงทะเบียนไม่ทัน

กระทั่งในปี 2549 มีการสำรวจสถานะบุคคลอีกครั้ง ชาวลาวอพยพตกสำรวจเหล่านี้ได้เพียง “บัตรประจำตัวเลข 0” ซึ่งหมายถึง บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ไม่มีสัญชาติระบุ ที่สิทธิ์ต่างๆ จะต่ำกว่าบัตรเลข 6 เช่น การเดินทางไปทำงานหรือเรียนต่อนอกอำเภอต้องได้รับหนังสือรับรองจากนายอำเภอทุกครั้ง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ราวกับเป็นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทั้งที่พวกเขาเป็นผู้อพยพอยู่อาศัยมานาน

โดยเฉพาะเรื่องของ “การศึกษา” ลุงสมศักดิ์ มีบุตร 3 คน ที่เกิดบนแผ่นดินไทย ซึ่ง ภาคินัย อินทะโสม บุตรชายคนโตของสมศักดิ์นั้นได้สัญชาติไทยเรียบร้อยแล้ว ตาม หนังสือสั่งการเลขที่ มท 0309.1/ว 1587 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2551 เรื่อง “การขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551” ที่ระบุว่า บุคคลที่เกิดในไทยก่อนวันที่ 26 ก.พ. 2535 แม้บิดามารดาจะเป็นชาวต่างชาติไม่ว่าสถานะใดก็ตามก็สามารถขอสัญชาติไทยได้ แต่บุตรอีก 2 คน ปัจจุบันยังไม่สามารถขอสัญชาติไทยเนื่องจากเกิดหลังกำหนดดังกล่าว

แม้ต่อมาจะมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง “การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย” เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2555 ให้สิทธิ์บุตรของบิดามารดาที่มิใช่คนไทยในหลายกลุ่มสามารถขอสัญชาติไทยได้ รวมถึงกลุ่มลาวอพยพด้วย แต่เพราะสมศักดิ์เป็นผู้ตกสำรวจ ได้เพียงบัตรเลข 0 ที่หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

ซึ่งประกาศฉบับนี้ไม่ได้ให้สิทธิ์กับกลุ่มคนดังกล่าวด้วย แทนที่จะเป็นบัตรเลข 6 ที่ยืนยันสถานะลาวอพยพของเขา ทำให้ไม่สามารถยื่นขอสัญชาติไทยให้บุตรทั้ง 2 ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 ทวิ ได้ ส่งผลให้การขอทุนการศึกษา หรือกู้เงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของบุตรทั้ง 2 ก็ไม่สามารถทำได้ด้วย

“เราอยากให้เปลี่ยนสถานะของคุณพ่อ คือทั้งคุณพ่อแกก็มาจากศูนย์อพยพ เอกสารในศูนย์อพยพแกก็มี น่าจะเปลี่ยนจาก 0 ให้เป็น 6 คือเหมือนคุณพ่อตกสำรวจทั้งที่ออกมาจากศูนย์อพยพ มีบัตรมีเอกสารยืนยันตัวเองเลยว่าออกมาจากศูนย์ คือถ้าคุณพ่อได้บัตรเลข 6 น้องทั้ง 2 คน ได้สัญชาติไทยแน่นอน” ภาคินัย ระบุ

ในตอนแรก เราสะท้อนปัญหาคนต่างด้าวที่อยู่เมืองไทยมานานในฐานะผู้อพยพ แต่ตกสำรวจเข้าไม่ถึงสิทธิ์ทางกฎหมายที่พึงมีพึงได้ไปแล้ว ในตอนหน้า จะเป็นมุมมองของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนักกฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และหลังจากนี้ควรจะมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

SCOOP@NAEWNA.COM

นวัตกรรม‘ชุมชนเรียนรู้’ ยกระดับการศึกษาของไทย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/191715

วันอาทิตย์ ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.
“เป้าหมายเดียวกันแต่การเดินทางอาจทำได้หลายวิธี”คำกล่าวนี้ใช้ได้กับหลายแง่มุมของชีวิต “การศึกษา” ก็เช่นกัน แม้เป้าหมายของการศึกษาคือพัฒนาคนให้ “เก่ง-ดี-มีความสุข” แต่การที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ต้องรู้เสียก่อนว่าจะไปด้วยวิธีใด เพราะสถาบันการศึกษาหรือชุมชนแต่ละแห่งล้วนตั้งอยู่ในบริบทสังคมที่แตกต่างกัน

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่พยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยรองรับการจัดการศึกษาของโรงเรียนประเภทต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ให้มีคุณภาพทัดเทียมกัน ซึ่งครั้งนี้ได้จัดทำ โครงการพัฒนาระบบกลไกและแนวทางการหนุนเสริมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน (Professional Learning Community-PLC)

นายทรงพล ฐานวิสัย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองมะค่า (ทองศรีสงเคราะห์) จ.นครราชสีมา กล่าวว่า แนวทางของ PLC ครูทุกคนจะช่วยกันวิเคราะห์ถึงปัญหาด้านการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในทุกมิติ เพื่อร่วมกันกำหนดวิธีแก้ปัญหา ซึ่งในส่วนของ รร.บ้านหนองมะค่า (ทองศรีสงเคราะห์) นำมาสู่การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ดังนี้

ชุมชนวัยใสใฝ่คุณธรรม ทำหน้าที่ปลูกฝังให้เด็กปฐมวัยให้มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม ชุมชนสอนซ้ำย้ำทวน แก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียน ชั้น ป.1-ป.3 เป็นหลัก และ ชุมชน O-NET หัวแหลม-PISA พาเพลิน ทำหน้าที่เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ชั้น ป.6 และ ม.3 ให้สูงขึ้น

“ครูทุกคนต้องร่วมกันวางแผนบทเรียนและการจัดกิจกรรมการสอนเพื่อแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนแล้วต้องร่วมกันสะท้อนผลที่เกิดจากกระบวนการเพื่อวัดผลการจัดกิจกรรมการสอน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขและปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น” นายทรงพล กล่าว

ด้าน น.ส.กัลยกร บุญนำ รองผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 (บ้านดอนเกลี้ยง)
จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รร.องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 (บ้านดอนเกลี้ยง) ที่นี่เคยประสบปัญหาเด็กนักเรียนน้อยเกินไปจนเกือบถูกปิด เพราะตั้งอยู่บริเวณรอบนอกของอำเภอเมือง จึงได้ทำการโอนย้ายเข้าไปอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุราษฎร์ธานี หลังจากนั้นเพียง 6 ปี มีเด็กนักเรียนมาเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 600 กว่าคน ทำให้พบปัญหาขาดแคลนครูผู้สอนที่มีประสบการณ์ เพราะส่วนใหญ่เป็นครูจบใหม่

อย่างไรก็ตาม “ในวิกฤติกลับมีโอกาส” เพราะบรรดาครูจบใหม่นั้นเป็นพวก “หนุ่มสาวไฟแรง” พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างกระตือรือร้น ทำให้เมื่อนำระบบ PLC มาใช้ บรรยากาศการเรียนการสอนจึงเป็นไปอย่าง “คึกคัก” โดยได้ร่วมกันแบ่งชุมชนย่อย ออกเป็น 3 วง โดย วงที่ 1 แก้ปัญหาระเบียบวินัยในกลุ่มเด็กปฐมวัย วงที่ 2 แก้ปัญหาการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี และ วงที่ 3 แก้ปัญหาการเรียนรู้ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์

“ปัญหาทั้งหมดที่ต้องแก้ไขในแต่ละวง ครูทุกคนในชุมชนต่างยอมรับถึงต้นเหตุของปัญหา และร่วมกันปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา ทุกคนเห็นตรงกันว่า PLC ช่วยพัฒนาทั้งผู้เรียนและผู้สอนไปพร้อมๆ กัน โดยผู้สอนได้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้เรียนก็มีความสุขกับการเรียนรู้มากขึ้น เกิดความเข้าใจบทเรียนมากขึ้น และเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน” น.ส.กัลยกร กล่าวทิ้งท้าย

จาก 2 ตัวอย่างข้างต้น ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหาร ครูผู้สอน นักการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนของตนและหาทางแก้ไข โดยทำงานร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน ทั้งด้านการเรียนรู้และด้านความประพฤติ-บุคลิกภาพ

บนเป้าหมายสูงสุดคือ “เพิ่มศักยภาพด้านการศึกษาของผู้เรียนให้สูงขึ้น” อย่างยั่งยืน!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

‘รากฟันเทียม’เฉลิมพระเกียรติ คืนรอยยิ้ม-อิ่มสุข…สู่ผู้สูงวัยแดนใต้

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/191514

วันศุกร์ ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.
“เวลาไม่มีฟัน ทำให้กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง”…

จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ไม่มี “ฟัน” เคี้ยวอาหาร โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นปัญหาต่อสุขภาพอย่างยิ่ง จึงทำให้เกิด “โครงการฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ” ขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

หลายหน่วยงานได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสข้างต้นไปปฏิบัติ และต่อยอดเป็นโครงการเกี่ยวเนื่องต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้น คือ “โครงการรากฟันเทียม”เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ซึ่ง “ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมชั้นสูง” (ADTEC) ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีส่วนร่วมในการดำเนินการ โดย “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นหนึ่งในเป้าหมาย เพราะประชาชนในพื้นที่เหล่านี้มีปัญหาด้านทันตกรรมจำนวนมาก และ “ยาก” ต่อการเข้าถึงการรักษา เพราะอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล และมีเหตุการณ์ความไม่สงบ

“น.ส.รัตนา วรปัสสุ” กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวระหว่างนำคณะทำงานโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการที่ จ.นราธิวาส และสงขลา ว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายให้บริการฝัง “ข้าวอร่อย” ซึ่งเป็นนามพระราชทานของ “รากฟันเทียม” ให้กับผู้สูงอายุที่มีฟันเทียมทั้งปากทั่วประเทศ “ฟรี” เพื่อฟื้นฟูสุขภาพช่องปากให้กลับมาเคี้ยวอาหารได้ดีดังเดิม โดยมีหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 320 แห่ง, คณะทันตแพทยศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาของรัฐ และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม ร่วมให้บริการ และ “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นหนึ่งในเป้าหมายการให้บริการ

“ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ทำให้มีผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านทันตกรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ เนื่องจากบางอำเภออยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล และมีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่บ่อยครั้ง ผู้ป่วยจึงเลือกรักษาตามอาการด้วยตนเอง กลายเป็นปัญหาสะสมจนยากต่อการรักษา” น.ส.รัตนา กล่าว

ด้าน “นพ.วิชัย วิเชียรวัฒนชัย” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อชาวนราธิวาส เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่สะดวกในการเดินทางไปรักษาที่ต่างจังหวัด ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบปัญหาในการสื่อสาร เพราะชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และปัญหาเรื่องความเชื่อทางศาสนาที่อาจทำให้ชาวบ้านไม่ต้องการทำรากฟันเทียม ซึ่งต้องทำความเข้าใจต่อไป

ส่วน “พ.อ.ธนกฤต นพคุณวิจัย” ทันตแพทย์ กองทันตแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก กล่าวว่า ในระยะหลังพบว่าชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องรับบริการทำทันตกรรมโดยการจัดทำ “ฟันปลอม” ทั้งปากมากขึ้น และถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าการดูแลสุขภาพช่องปากของชาวบ้านยังคงเป็นปัญหา ซึ่งสาเหตุหลักเพราะการเข้าถึงการรักษาพยาบาลทำได้ยาก เพราะบางแห่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และชาวบ้านยังขาดความรู้เกี่ยวกับทันตกรรม

“มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่อายุเพียง 30 ปี ก็มีปัญหาสูญเสียฟันหมดทั้งปาก เพราะเข้าไม่ถึงการรักษา อาจเป็นเพราะฐานะยากจน มีความยากลำบากในการเดินทาง ที่สำคัญคือไม่มั่นใจว่าเมื่อเดินทางออกจากบ้านแล้วจะมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ทางโครงการเล็งเห็นปัญหานี้จึงได้มีการประสานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ออกสำรวจชาวบ้านที่มีปัญหา แล้วรวบรวมข้อมูลส่งให้ทีมทันตแพทย์พระราชทาน ที่จะจัดส่งทีมงานเข้าไปรับตัวผู้ป่วยมารักษาตามสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องเผชิญความเสี่ยง และเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น” พ.อ.ธนกฤต กล่าว

ด้าน “นายวีระ ภู่พงษ์ไพบูลย์” อายุ 64 ปี หนึ่งในผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ เล่าให้ฟังว่า ป่วยเป็น “โรคปริทันต์”มานาน จนต้องถอนฟันหมดปาก หลายปีที่ผ่านมาประสบปัญหาในการเคี้ยวอาหาร จะไปรักษาที่โรงพยาบาลก็มีปัญหาเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ จึงไม่กล้าเดินทาง เมื่อทราบข่าวว่ามีโครงการที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จึงเข้าร่วมโครงการทันที

“ความรู้สึกมันต่างกันมาก ก่อนหน้านี้เวลาจะกินอะไรก็ต้องระมัดระวัง เพราะฟันโยกตลอด แต่พอได้ทำรากฟันเทียมแล้วรู้สึกดีขึ้น กินอะไรก็ไม่ต้องพะวงว่าฟันจะหลุดหรือไม่ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก” นายวีระ กล่าว

เช่นเดียวกับ “นางให้ เตชะศรี” วัย 82 ปี ซึ่งเข้ารับการฝังรากฟันเทียมจากทีมทันตแพทย์โรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่เล่าว่า ประสบปัญหาเรื่องฟันผุและรากฟันไม่แข็งแรง ทำให้ฟันหลุดจนเหลือเพียง 2 ซี่ เกิดความลำบากในการรับประทานอาหาร จนบางครั้งต้องกินอาหารเหลว และมีอาการปวดฟันบ่อยครั้ง จึงตัดสินเข้าร่วมโครงการ ทำให้ชีวิตดีขึ้น

“โครงการนี้ดีจริงๆ เพราะกินอะไรก็ได้เคี้ยวได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ฟันหลุดออกเกือบหมด จนเหลือแต่เหงือก ตอนแรกที่จะใส่รากฟันเทียมก็กลัวเจ็บ แต่พอทำไปแล้วไม่รู้สึกเจ็บเท่าไร แถมยังได้ฟันสวยๆไว้เคี้ยวอาหารอีกด้วย” นางให้ กล่าว

ขณะที่ “นางอากีย๊ะ สะอุ” ที่เข้ารับการรักษาฝังรากฟันเทียมเช่นกัน เล่าถึงความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณของ “ในหลวง” ทั้งน้ำตา ว่า ก่อนที่จะมีฟันปลอม เวลาทานอะไรก็ต้องเลือก แต่พอมีฟันปลอมแล้วเราก็สามารถทานอะไรได้เหมือนคนทั่วไป จึงอยากฝากไปถึงชาวบ้านที่มีปัญหาสุขภาพในช่องปากให้รีบเข้ามารับการรักษา เพราะคณะแพทย์บริการดีเยี่ยม และติดตามผลอยู่ตลอด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหน้า และที่สำคัญไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

นางอากีย๊ะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอเป็นตัวแทนของพี่น้องชายแดนใต้ ขอขอบพระคุณในน้ำพระทัยที่ส่งมายังพวกเรา เพราะถึงแม้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไม่ได้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์แล้ว แต่พระองค์ท่านยังห่วงใย และส่งโครงการดีๆ มาให้ น้ำพระทัยของ “พ่อหลวง” เปี่ยมล้นอย่างหาที่สุดมิได้…

พระองค์ไม่เคยทิ้งพี่น้องชาวใต้ และประชาชนของพระองค์เลย…

SCOOP@NAEWNA.COM

ปลูกข้าวแทน‘ฝิ่น’พลิกฟื้นผืนดิน ตามรอยพระราชดำริ‘บ้านนาเกียน’

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/191342

วันพฤหัสบดี ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มิเคยทรงทอดทิ้งประชาชน ทุกครั้งที่ทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ไม่ว่าแห่งหนตำบลใด มิได้ทรงคำนึงถึงเส้นทางที่จะเสด็จพระราชดำเนิน หรือภยันตรายใดๆ แม้พื้นที่ที่เสด็จฯจะต้องทรงพระราชดำเนินเป็นระยะทางหลายๆ กิโลเมตรตามเส้นทางที่ขรุขระ ขึ้นเขาลงห้วยบุกป่าฝ่าดง ด้วยไม่มีเส้นทางถนนที่จะเข้าถึง ก็มิได้ทรงย่อท้อ หรือเหนื่อยหน่าย พระราชหฤทัย ไม่ทรงถือเป็นอุปสรรคกีดขวางการเสด็จฯให้ถึงตัวราษฎรที่ทรงห่วงใย และทุกครั้งที่ทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ “ความเจริญ” ต่างๆ จะไปถึงพื้นที่ “ไกลปืนเที่ยง” ต่างๆ เหล่านั้น

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตร ที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียนต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย…เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง!!!

“หมู่บ้านชาวเขา” แห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ “ทุรกันดาร” อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เกือบ 250 กิโลเมตร การเข้าถึงพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจากเขต อ.อมก๋อย มุ่งสู่ “บ้านนาเกียน” ระยะทางกว่า 57 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ขรุขระ และแคบแนบชิดไหล่เขา แต่ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางหลายชั่วโมงมลายหายไปเมื่อเข้าสู่ตัวหมู่บ้าน เพราะ 2 ข้างทางเต็มไปด้วยนาข้าวที่กำลังออกรวง แต่ใครเลยจะทราบว่านาข้าวที่เห็นนั้น เดิมทีเป็น “ไร่ฝิ่น-ไร่เลื่อนลอย”

กระทั่งการมาถึงของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พื้นที่แห่งนี้จึงเปลี่ยนจาก “ไร่ฝิ่น” เป็นนาข้าวเหลืองอร่ามดั่ง “ทองคำ” บนผืนดิน

“โอวาท ยิ่งลาภ” ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการ พระราชดำริ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้านำคณะเดินทางไปติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียน ซึ่ง กรมการข้าว ได้เข้าไปส่งเสริมเรื่องการปลูกข้าวแบบขั้นบันไดบนพื้นที่ภูเขา เล่าถึงความเป็นมาของโครงการดังกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวเขาในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยส่งเสริมให้ความรู้ในการผลิตสินค้าทางการเกษตรอย่างถูกต้อง มีการบริหารจัดการสินค้าทางการเกษตรที่ดี เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่มีสินค้าทางการเกษตรเพียงพอต่อการบริโภค ตามแนวปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”

“สมัยก่อนชาวเขาบนพื้นที่บ้านนาเกียน จะบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นด้วย จึงเกิดปัญหาการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำลำธาร กลายเป็นสาเหตุของปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาสภาพดินเสื่อมคุณภาพ ทำให้ชาวบ้านในพื้นได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค และผลผลิตทางการเกษตรลดต่ำลง”โอวาท กล่าว

ด้วยปัญหาดังกล่าวสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพให้กับชาวเขา เพื่อให้มีพืชเศรษฐกิจ เช่น ผัก ผลไม้เมืองหนาว เมล็ดกาแฟ ที่สร้างรายได้ให้กับชาวเขาในพื้นที่ ทนแทนการ “ปลูกฝิ่น” เพื่อรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารให้คงอยู่ นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจากการปลูกฝิ่นของชาวเขาในพื้นที่อีกด้วย

“โอวาท” เล่าต่อว่า กรมการข้าวได้จัดตั้ง “กองประสานงานโครงการพระราชดำริ” เพื่อเป็นหน่วยงานกลางประสานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก โดยกรมการข้าวรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลและขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการวิจัยข้าว เมล็ดพันธุ์ข้าว และการส่งเสริมการปลูกข้าวในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งพื้นที่บ้านนาเกียนนั้น จากการดำเนินการที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบ “โมเดล” ของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

สำหรับบทบาทสำคัญของกรมการข้าว ในโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียน คือ การคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตดี เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในพื้นที่สูง ซึ่งพื้นที่บ้านนาเกียน สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 1,200-1,600 เมตร พันธุ์ข้าวที่นำมาใช้ปลูก คือ “พันธุ์บือชะสอ” ซึ่งนักวิจัยของกรมการข้าวได้ส่งเสริมให้ชาวเขาในพื้นที่ใช้เพาะปลูก นอกจากนี้ กรมการข้าวได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง “ธนาคารข้าว” เพื่อช่วยเหลือราษฎรในการจัดหาพันธุ์ข้าวเพื่อเพาะปลูก ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีข้าวบริโภคอย่างเพียงพอด้วย

หลังจากที่กรมการข้าวได้จัดตั้งธนาคารข้าวขึ้น ปัจจุบันมีข้าวเก็บในธนาคารข้าวประมาณ 5,000 กิโลกรัม และเกษตรกรได้องค์ความรู้ด้านการผลิตข้าวที่ถูกต้องและเหมาะสมทำให้ผลผลิตในพื้นที่รวมของโครงการประมาณ 1 พันกว่าไร่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการใช้พันธุ์ข้าวที่ดีและเหมาะสม โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณกว่า 20,000 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 12 ของเกษตรกรที่มีข้าวบริโภคอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ผลผลิตบางส่วนได้นำมาแปรรูป และส่งขายในเขตเมืองด้วย สร้างรายได้ให้กับชาวเขาอีกทางหนึ่ง ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ จนในพื้นที่ไม่มี “ไร่ฝิ่น-ไร่เลื่อนลอย” เหลืออยู่อีกแล้ว

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านนาเกียน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่ช่วย “ปรับทัศนคติ” ของชาวเขา จากที่ในอดีตพวกเขามองว่าฝิ่นเป็นพืชทำเงินเพียงอย่างเดียวที่รู้จัก พืชอื่นๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด ฯลฯ ปลูกเพื่อใช้รับประทานและเลี้ยงสัตว์ แต่เมื่อโครงการนำพืชพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะข้าวเข้ามาทดลองปลูกบนที่สูง และมีอัตราความสำเร็จสูงขึ้น ผลการทดลองถูกถ่ายทอดไปสู่ชาวเขา จนเกิดความเชื่อมั่นที่จะปลูกข้าวและพืชอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้แทนฝิ่น

เหนือสิ่งอื่นใด…พื้นที่สูงกลับกลายเป็น “พื้นที่พิเศษ” ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างที่แม้แต่ตัว “ชาวเขา” เองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

นี่คือน้ำพระทัยจาก “พ่อหลวง” และ “แม่ของแผ่นดิน”…

นี่คือพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานให้กับหน่วยงานราชการรับไปดำเนินการและปฏิบัติ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ราษฎรของพระองค์ “ให้กินดีอยู่ดี มีความสุข”…

ทรงพระเจริญ!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

‘โครงการหลวง’สู่เมียนมา แก้ปัญหา‘ยาเสพติด’ยั่งยืน

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/191167

วันพุธ ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 02.00 น.
ฝูงควายที่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์เลี้ยงไว้ช่วยทำนา

“ยาเสพติด” ภัยร้ายทำลายสังคม และเมื่อพูดถึงปัญหานี้ หลายประเทศต้อง “ปวดหัว” กับการมีพรมแดนติดกับเพื่อนบ้านที่เป็น “ต้นทาง” เช่นประเทศไทยที่บ่อยครั้งทหารตำรวจต้องปะทะกับคาราวานขนยาบ้า-ยาไอซ์ (เมทแอมเฟตามีน) และเฮโรอีน ของกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ตามแนวชายแดนที่ติดกับเมียนมา (พม่า)

แน่นอนว่าทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองอย่าง “เหมารวม”ว่าเป็น “คนไม่ดี” ไปด้วย!!!

“พวกเราอยากให้คนข้างนอกเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพวกเราชาวว้า เพราะไม่ว่าจะเป็นว้าแดง ว้าดำว้าเหลือง มีบางคนเท่านั้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดพวกเราก็มีหัวใจรู้สึกไม่ดีและไม่ชอบที่ใครเหมารวมว่าเป็นชาวว้าแล้วต้องเป็นคนค้ายาเสพติด ขนยาเสพติด ยืนยันว่ามีแค่บางคนเท่านั้น”

นางนากอ อายุ 33 ปี หญิงชาวว้ารายหนึ่ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวและคณะของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในการลงพื้นที่“หย่องข่า-นายาว” ดินแดนปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศเมียนมา ที่นี่แบ่งออกเป็น 4 โซน คือ 1.พื้นที่ต.ลอยต่อคำเป็นเขตของชนเผ่าอาข่า 2.พื้นที่ ต.ทะลาง เป็นเขตของชนเผ่าว้า 3.พื้นที่ต.ซาโทน เป็นเขตของชนเผ่าลาหู่ และ 4.พื้นที่เมืองตูม เป็นเขตของชนเผ่าไทยใหญ่

ด้วยความที่หลายสิบปีมานี้ แผ่นดินเมียนมาอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง มีการสู้รบระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับกองทัพรัฐบาลพม่าเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ประชากรไม่ว่าจะเป็นชาวพม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่จึงมีฐานะ “ยากจน” ต้องออกไปขายแรงงานในต่างแดน และจำนวนไม่น้อยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยเป็นอันมาก

ทำให้หน่วยงานภาครัฐของไทย เกิดแนวคิดที่จะนำ “โครงการหลวง” หรือโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหันมาประกอบอาชีพอื่นๆ แทนการผลิตและค้ายาเสพติด ซึ่งเคยได้ผลมาแล้วกับการสนับสนุนให้ชาวเขาในพื้นที่ภาคเหนือของไทยหันมาปลูกพืชเมืองหนาวอื่นๆ แทนการปลูกฝิ่น ข้ามฝั่งไปแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา

“โครงการหลวงเข้ามาสอนให้ชาวบ้านมีความรู้ทำการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ได้ ปัจจุบันชาวบ้านมีรายได้ที่ดีขึ้นมากไม่ต้องไปทำงานนอกพื้นที่ ลูกๆ เราก็มีกิน มีการศึกษา ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุข พวกเราชาวว้าซาบซึ้งและขอขอบคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย” นางนากอ กล่าว

ที่มาของแนวทางนี้ นายณรงค์ รัตนานุกุล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สืบเนื่องมาจาก ป.ป.ส. ไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำ “ศาสตร์ของพระราชา” แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้าสู่เวทีประชาคมโลกผ่านคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ ล่าสุดเมื่อ 19-24 พ.ย. 2558 มีคณะตัวแทน 43 ประเทศ ไปดูงานที่รัฐบาลไทยสนับสนุนโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนไทย-เมียนมา ณ พื้นที่บ้านหย่องข่า ในจังหวัดเมืองสาด รัฐฉานตะวันออก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ด้าน นายธนะทัต อนิวรรตน์ เจ้าหน้าที่โครงการหลวง กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อ 3 ปีก่อน เดิมที่นี่ชาวบ้านจะปลูกบ้านแบบชั่วคราวพร้อมย้ายไปอยู่ที่ใหม่ แต่ปัจจุบันปลูกเป็นบ้านซีเมนต์ถาวร แต่ก่อนนี้ชาวบ้านไม่มีที่นาและข้าว ซึ่งหลังมีโครงการเข้ามา ชาวบ้านปลูกข้าวได้ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่เหลือมากเกินบริโภคจึงนำไปขายเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว กระทั่งทางการเมียนมาได้ออกฎห้ามไม่ให้ปลูกข้าวเกินปีละ1 ครั้ง มาเป็นปีที่ 2 แล้ว

ทางโครงการจึงให้ความรู้ถึงวิธีการปลูกพืชผสมหลังเก็บเกี่ยวข้าวกับชาวบ้าน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ได้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ปลูกแมคคาเดเมีย ที่แต่ละต้นใช้เวลา 7-8 ปีก็จะเก็บลูกได้ หากกะเทาะเปลือกแล้วจะมีพ่อค้ารับซื้อกิโลกรัมละ 1,600 บาท ตอนนี้เป็นที่ต้องการมากในหลายประเทศทั่วโลก

“ตอนแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่โครงการเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านก็จะกลัวว่าเราไม่ไว้ใจว่าจะมาทำอะไรเขา แต่พอใครเจ็บป่วยทางโครงการก็จัดเจ้าหน้าที่และแพทย์ลงไปให้ยาและรักษาจนหาย ต่อมาเขาก็ไว้ใจและยอมรับ หลังจากนั้นเราก็ค่อยเริ่มให้ความรู้โดยใช้วิธีครูเป็นผู้นำ ลูก (เด็กนักเรียน) เป็นผู้ช่วย และแม่ (ครอบครัว) รับไม้ต่อ ในการทำงานร่วมกันสร้างชุมชนชนให้เข้มแข็ง จนกระทั่งคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ดีขึ้น อย่างที่เห็นผลในวันนี้” นายธนะทัต ระบุ

ขณะที่ นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าแนวทางแก้ปัญหาความยากจนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแก้ไขแบบ “ยั่งยืน” โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 58 ทำให้มีทุนธรรมชาติคือน้ำ ส่วนทางโครงการเข้ามาช่วยชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร 40-50 คน เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงควาย ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวและพืชอื่นๆ ทั้งระยะยาวและระยะสั้น เช่น ถั่วเหลือง กาแฟ แมคคาเดเมีย ฯลฯ

“เมื่อช่วงปี 2002 (พ.ศ.2545) หรือกว่า 10 ปีที่แล้ว ชาวบ้านมีรายได้จากการปลูกฝิ่นประมาณ 350 เหรียญสหรัฐ (ราว 10,500 บาท) ต่อปี หรือเฉลี่ย 1.25 เหรียญสหรัฐ (ราว 37.50 บาท) ต่อคนต่อวัน ดังนั้นทางโครงการเห็นโอกาสที่จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านเลิกยุ่งเกี่ยวยาเสพติด โดยตั้งโจทย์ไว้ว่าเราจะต้องทำให้ชาวบ้านมีรายได้เกิน 350 เหรียญสหรัฐให้ได้ ซึ่งเมื่อคนเราท้องอิ่มแล้ว ที่เหลือก็เป็นเรื่องสันดานของแต่ละคนว่าจะเป็นคนดีหรือคนไม่ดี เรายึด 3 หลัก คือทางเลือก (Alternative) การพัฒนา (Development) และยั่งยืน (Sustainable)” นายณรงค์ กล่าว

ซึ่งสอดคล้องกับคำยืนยันของ พ.ต.อ.ซอลิน ทุน รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เมียนมา (Central Committee for Drug Abuse Control-CCDAC) ที่กล่าวว่า เมื่อมีโครงการหลวงของไทยเข้ามาช่วย ชาวบ้านก็หันมาทำการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์กันมากขึ้น อีกทั้งมีโรงเรียนสอนหนังสือกับเด็กและเยาวชน จำนวนผู้ที่เข้าไปพัวพันกับธุรกิจยาเสพติดในพื้นที่ก็ค่อยๆ ลดลง สะท้อนถึงบทพิสูจน์ที่ว่า “ปัญหาคนเลือกเดินทางผิด” ไม่อาจแก้ได้ด้วยการใช้กำลังปราบปรามเพียงอย่างเดียว แต่ต้อง“สร้างทางเลือกที่ดีกว่า” ให้พวกเขาด้วย

เพราะเมื่อ “กินอิ่ม-นอนอุ่น” มีชีวิตที่สุขสบายแล้ว..หากไม่ใช่คนที่ “เลวร้ายโดยสันดาน” จริงๆ คงไม่คิดทำผิดให้ “เสี่ยงคุกตะราง” อย่างแน่นอน!!!

สิริพร พานทองถาวร
SCOOP@NAEWNA.COM

‘พฤติกรรมเสี่ยง’ยังน่าห่วง ส่องวิกฤติ‘โรคเอดส์’ในไทย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/191010

วันอังคาร ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558, 08.23 น.
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ “วันที่ 1 ธันวาคม” ของทุกปีเป็น “วันเอดส์โลก” (World AIDS Day) เพื่อย้ำเตือนให้มนุษยชาติตระหนักถึงอันตรายจากโรคร้ายชนิดนี้ที่ในปัจจุบัน ยังไม่มียาใดรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยทำได้เพียงรับประทานยาต้านไวรัสตลอดชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพดีดังคนปกติเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อไวรัส “เอชไอวี” (HIV) ที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์เป็นครั้งแรกในปี 2527 แม้ด้านหนึ่งจะมีแนวโน้มดีขึ้นในบางเรื่อง เช่นหญิงบริการทางเพศที่เคยเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักในอดีต วันนี้ตระหนักในการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น ดังรายงาน “ภาพรวมสถานการณ์การระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย พ.ศ.2556” โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ระบุว่า ในปี 2536 หญิงบริการทางเพศถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดในการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ โดยพบความชุกของการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 28 ทว่านโยบายของภาครัฐทั้งการรณรงค์ให้ความรู้ในการใช้ถุงยางอนามัย และการทำงานเชิงรุกเข้าหากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทำให้ความชุกของการติดเชื้อลดลงตามลำดับ เช่น สถิติทั่วประเทศในปี 2556 หญิงขายบริการทางเพศแบบเปิดเผย มีความชุกของการติดเชื้อร้อยละ 2.5 และหญิงขายบริการทางเพศแบบแอบแฝง มีความชุกของการติดเชื้อร้อยละ 1.96

โปสเตอร์รณรงค์สวมถุงยางอนามัยป้องกันโรคเอดส์ของ กทม.

แต่อีกด้านหนึ่ง หากจำแนกหญิงบริการเป็นกลุ่มย่อยต่างๆ พบว่า กลุ่มที่ทำงานนอกสถานบริการ (เช่น ขายบริการอยู่ริมถนนหรือผ่านสื่อออนไลน์) มีความเสี่ยงมากที่สุดในกลุ่มหญิงบริการทั้งหมด เช่น การสำรวจในเขต กทม. ปี 2550 พบว่าหญิงบริการประเภททำงานนอกสถานบริการ มีความชุกของการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 20 มากกว่าหญิงบริการประเภททำงานในสถานบริการ ทั้งแบบเปิดเผยและแบบแอบแฝง ซึ่งมีความชุกของการติดเชื้อเพียงร้อยละ 4.6 และ 1.6 ตามลำดับ

รวมถึง กลุ่มชายรักชาย กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดในยุคหลังๆ รายงานฉบับเดียวกัน อ้างอิงการสำรวจใน 3 เมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่าง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ตในปี 2555 พบว่า กทม. มีความชุกของการติดเชื้อในกลุ่มชายรักชายสูงถึงร้อยละ 24 เชียงใหม่ มีความชุกของการติดเชื้อร้อยละ 23 และภูเก็ต มีความชุกของการติดเชื้อร้อยละ 14

สอดคล้องกับการเปิดเผยของ นายโกวิท ยงวานิชกิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือน เม.ย. 2558 ว่าในพื้นที่ กทม. ช่วงต้นปี 2558 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,771 คน ซึ่งเป็นกลุ่มชายรักชายมากที่สุดถึงร้อยละ 60 หรือจำนวน 1,066 คน รวมถึงเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคในขณะนั้น กล่าวว่า ในปี 2557 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,324 คน เป็นกลุ่มชายรักชายถึงร้อยละ 46.7 หรือเกือบครึ่งหนึ่ง

เช่นเดียวกับเมื่อเดือน พ.ค. 2558 รศ.เดวิด พี. วิลสัน นักวิชาการจากสถาบันเคอร์บี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (Kirby Institute, University of New South Wales, Australia) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการเอดส์โลก ธนาคารโลก (World Bank) กล่าวในงานแถลงข่าว “การขยายบริการตรวจและรักษาเอชไอวีในกลุ่มชายรักชายในกรุงเทพมหานคร” ว่า กทม. เป็นเมืองที่มีอัตราการติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มชายรักชายสูงที่สุดในเอเชีย

โดยหากย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน กทม. มีชายรักชายติดเชื้อเอดส์เพียงร้อยละ 5 แต่ช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 40 และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็นร้อยละ 59 ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ รศ.เดวิด ระบุว่า ปัจจุบัน กทม.มีกลุ่มเสี่ยงอยู่ราว 62,000 คน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย

อีกประเด็นหนึ่งที่มีความเข้าใจกันว่า “ออรัลเซ็กซ์” (Oral Sex) หรือการใช้ปากกับอวัยวะเพศ ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอดส์ ต้องบอกว่า “เป็นความเชื่อที่ผิด” โดย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 เขียนบทความ “Oral sex กับ Dental gum” ลงในบล็อกส่วนตัว เมื่อ 14 ธ.ค. 2553 อ้างอิงงานวิจัยจากต่างประเทศ หัวข้อ Oral transmission of HIV. AIDS 1998 : 12(16); 2095-2105

ที่ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อเอดส์จากการใช้ปากกับอวัยวะเพศเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีเพศสัมพันธ์แบบอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งแม้การติดเชื้อเอดส์ทางนี้จะเป็นไปได้ยากและน้อยกว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบปกติก็ตาม ดังข้อมูลจาก เว็บไซต์ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (www.trcarc.org) ที่ระบุว่า หากผู้ทำไม่มีแผลในปากหรือในลำคอก็ไม่ติด แต่ก็ “ไม่ควรประมาท” ต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งด้วยเช่นกัน

ด้าน นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ฝากเชิญชวนประชาชนผ่าน “สกู๊ปหน้า 5” ให้มาตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอดส์กันอย่างน้อย “สักครั้งหนึ่งในชีวิต” แม้จะไม่ใช่กลุ่มที่มีความเสี่ยงก็ตาม เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าคนที่มาเป็นภรรยาหรือสามีนั้นติดเชื้อจากที่อื่นมาก่อนหน้าหรือไม่

ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย หรือ “คลินิกนิรนาม” สามารถตรวจหาเชื้อเอดส์ได้หลังมีพฤติกรรมเสี่ยงครั้งล่าสุดตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป นอกจากนี้คนไทยยังมีสิทธิในการ “ตรวจเอดส์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายปีละ2 ครั้ง” และหากพบเชื้อก็สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันทีแม้จะยังไม่มีอาการ

“ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นชายรักชายหรือชายหญิงทั่วไป ถ้ามีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่สามีภรรยาของตัว ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ก็สมควรจะไปตรวจดูว่าติดเชื้อหรือไม่ เพราะถ้าตรวจเจอก็จะเข้าสู่ระบบการรักษาได้ฟรี ทำให้ไม่ป่วยและมีอายุยืนยาวแบบคนอื่นทั่วๆ ไป หรือคนที่ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สามีภรรยาคู่เดียวอยู่กันมาสิบปียี่สิบปี ก็ไม่แน่ใจว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะติดเชื้อมาก่อนเป็นสามีหรือภรรยาของเราหรือไม่

ดังนั้นถึงเป็นสามีภรรยากันก็แนะนำว่าควรไปตรวจหาการติดเชื้ออย่างน้อยๆ สักครั้งในชีวิตพร้อมๆ กัน ถ้าไม่ติดก็ไม่ต้องไปตรวจอีกเลยจนกว่าจะมีพฤติกรรมเสี่ยงอีก เพราะถ้าบอกว่าเป็นเรื่องของกลุ่มเสี่ยง แต่ละคนก็จะคิดว่าตัวเองไม่เสี่ยง ก็ไม่คิดสนใจที่จะไปตรวจเลือด เวลานี้รัฐบาลเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้ตรวจเลือดฟรีถึงปีละ 2 ครั้งครับ” ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ฯ ฝากทิ้งท้าย

SCOOP@NAEWNA.COM