จราจรหรือจลาจล

จราจรหรือจลาจล

จราจรหรือจลาจล

จราจรหรือจลาจล : วิถียุติธรรม โดยชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ

                ชีวิตคนไทยยุคนี้ต้องใช้รถใช้ถนนกันแทบทุกวันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โดยเฉพาะช่วงนี้มักมีข่าวคราวปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรหนาหูมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจจราจรถูกตำหนิว่าใช้วาจาไม่สุภาพ หรือแม้กระทั่งขับรถปาดหน้ากันจนถึงขั้นต้องฆ่ากันตาย ทำให้คิดว่าการใช้รถใช้ถนนก็ต้องมีวิถียุติธรรมเหมือนกับเรื่องอื่นๆ เช่นกัน

ไม่ว่าที่ไหนในโลกนี้ วิถียุติธรรมในการใช้รถใช้ถนนจะต้องมีกฎหมายเป็นกติกา ซึ่งสำหรับบ้านเราก็มีกฎหมายกับเขาเหมือนกัน และกฎหมายฉบับนี้ก็มีมานานแล้วคือพระราชบัญญัติจราจรทางบก อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้กฎหมายฉบับนี้ยังคงขาดๆ เกินๆ อาจจะด้วยหลายสาเหตุ เช่นทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ยังคงไม่เข้าใจและไม่มีความรู้ว่ากฎหมายมีรายละเอียดอะไรบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของบ้านเราที่กฎหมายยังไม่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอยู่มากมายหลายฝ่ายอาจจะเข้าใจและตีความแนวปฏิบัติตามกฎหมายแตกต่างกันไปได้

การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับจราจรจึงเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาในชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไปทุกกลุ่ม จนส่งผลกระทบไปหลายเรื่องหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจรติดขัด การเกิดอุบัติเหตุทั้งที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง หรือเกิดความขัดแย้งไม่เข้าใจเกิดการทะเลาะเบาะแว้งจนกระทั่งใช้ความรุนแรงต่อกัน ส่งผลให้การจัดระเบียบจราจรในสังคมไทยกลายเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ

การจราจรเป็นวิถีชีวิตของคนไทยและเป็นวิถีที่ต้องมีความยุติธรรมเพราะเป็นทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่ต้องมีโอกาสได้ใช้รถใช้ถนนอย่างเท่าเทียมกัน การมีและบังคับใช้กฎหมายจราจรที่ดีจึงเป็นกติกาที่จัดระเบียบให้ทุกคนได้ใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัย ส่วนเจ้าหน้าที่และประชาชนนั้นโดยหลักการแล้วจะต้องร่วมมือกันรักษากติกาที่มีอยู่ให้เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

หลักการที่ว่านี้ฟังดูสวยหรูและดูดีหากทุกอย่างเป็นไปเช่นที่ควรจะเป็น แต่ทุกวันนี้เมื่อมีผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้นหลายเท่าตัว กลับเป็นว่าคนส่วนใหญ่ขาดความใส่ใจในการบังคับใช้กฎหมายจราจรให้เป็นกติกาแสดงวิถียุติธรรมกันบนท้องถนน ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่ออ่านกฎหมายดูแล้วพบว่ามีรายละเอียดมากจริงตั้งแต่เรื่องลักษณะของรถที่ใช้ การใช้ไฟหรือเสียงสัญญาณของรถ การบรรทุก สัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร การขับรถ การขับแซงและผ่านขึ้นหน้า การหยุดรถและจอดรถ หรือแม้กระทั่งกติกาสำหรับคนเดินเท้าจะต้องทำอย่างไร

ส่วนเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานจราจรและพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีเขียนไว้อย่างละเอียด รวมทั้งเรื่องยอดฮิตคือการออกใบสั่งและการบังคับโทษจราจรซึ่งมักจะเป็นปัญหาอย่างมาก โดยรวมแล้วจะเห็นว่ากฎหมายมีเนื้อหาครบถ้วนแต่ขาดการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่กฎหมายฉบับนี้

วิถียุติธรรมบนท้องถนนจะเกิดขึ้นได้ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง การมองว่าบทบังคับโทษจะเป็นมาตรการในการทำให้ทุกคนเกิดความกลัวเกรงแล้วจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้นไม่ได้เป็นจริงเสมอไป ความจริงแล้วทัศนคติที่ถูกต้องต่อกฎหมายจราจรจะสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า หากมองว่ากฎหมายคือกติกาที่ใช้ร่วมกันในการใช้รถใช้ถนนและเป็นการรักษาสิทธิในการใช้รถใช้ถนนของแต่ละคน เชื่อว่าทุกคนจะมีความเคร่งครัดต่อกฎหมายจราจร รวมทั้งจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้แก่เจ้าหน้าที่เสียด้วยซ้ำไป

เมื่อชาวบ้านปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตัวเองและผู้อื่นแล้ว ส่วนของเจ้าหน้าที่หากมองเป็นเรื่องของการทำหน้าที่จัดระเบียบการใช้รถใช้ถนนไม่มองเป็นเรื่องเชิงอำนาจและพิธีการมากไปนัก  ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ของกฎหมายก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางการจัดระเบียบการใช้รถใช้ถนนเท่านั้น โดยมีเรื่องการบังคับโทษเป็นมาตรการข้างเคียงในการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น

กฎหมายจราจรเป็นเบสิกของการจัดระเบียบสังคมไทย เริ่มต้นที่นี่เสียดีกว่าจะต้องเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น

ใส่ความเห็น