ถึงเวลาปฏิรูปละครโทรทัศน์หรือยังครับ?

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140623/186954.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2557

ถึงเวลาปฏิรูปละครโทรทัศน์หรือยังครับ? : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

 

                ละครโทรทัศน์ได้ชื่อว่าเป็นความบันเทิงราคาถูก ที่ให้บริการถึงทุกบ้านช่องทุกค่ำคืน และเคยมีผู้ให้สมญาละครโทรทัศน์ว่าเป็นศาสดาองค์ใหม่ ที่ถ่ายทอดคำสอนผ่านการแสดงและคำพูดของตัวละคร สร้างความเชื่อและความศรัทธาผ่านทางฉากบ้านช่องใหญ่โตอันโอ่อ่าและโฉมหน้า เรือนร่าง และเครื่องแต่งกายอันงดงามวิจิตรพิสดารของผู้แสดง เฉกเช่นวิมานและเหล่าเทพบุตรเทพธิดาบนสรวงสวรรค์ โดยมีสินค้าผู้สนับสนุนรายการเป็นโยมอุปัฏฐาก

ละครโทรทัศน์ไทยส่วนใหญ่เป็นเสมือนเพลงลูกทุ่งสมัยก่อน คือ ร้อยเนื้อ หนึ่งทำนอง หลายๆ เรื่องมีเค้าโครงที่คล้ายคลึงกัน ปรับเปลี่ยนแค่รายละเอียดบางอย่าง และหลายเรื่องเป็นการตัดแปะ ด้วยการลักขโมยหรือฉกฉวยเรื่องของผู้อื่นมาต่อเติมเสริมแต่ง หรือนำนิยายหลายๆ เรื่อง มายำใหญ่ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา ทั้งผู้กระทำ และผู้สนับสนุนหรือสมรู้ร่วมคิด

ละครโทรทัศน์ไทยในปัจจุบัน มีส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ คือ “กรี๊ดกร๊าด เกรี้ยวกราด กรีดกราย ประกอบกาม และก่ออาชญากรรม” เรื่องไหนก็เรื่องนั้น จะมีตัวนางอิจฉาหรือแม่สามีที่ทำหูทำตาปะหลับปะเหลือก และส่งเสียงกรี๊ดๆ เหมือนคนบ้า ด้วยสาเหตุมาจากความไม่สมหวังในการล่อหลอกพระเอกหรือทำทารุณกรรมนางเอก จะต้องมีตัวโกงหน้าเหี้ยมที่วันๆ เอาแต่เกรี้ยวกราดกับลูกน้อง มีพระเอกที่กรีดกรายไปมา ไม่ทำงานทำการอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งๆ ที่ในบทบอกว่าเป็นนักเรียนนอกผู้สูงศักดิ์ เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง แต่ก็มักจะพลาดท่าเสียทีนางอิจฉาหน้าโง่อยู่เป็นประจำ และภาคบังคับที่ละครเรื่องหนึ่งเรื่องใดจะขาดไม่ได้ ก็คือการประกอบกาม-ในภาพยนตร์ไทยสมัยก่อนนั้น ฉากทำนองนี้มักจะเกิดขึ้นในยามที่พระเอกนางเอกต้องไปติดอยู่ในกระท่อมร้างในคืนที่ฝนตกหนัก แต่ในละครโทรทัศน์ทุกวันนี้ ไม่เลือกสถานที่และเวล่ำเวลา ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ แทนที่ผู้ชายจะเป็นฝ่ายปลุกปล้ำ ก็กลับกลายเป็น ฝ่ายหญิง นางร้ายทั้งหลาย ชิงลงมือเสียเอง และละครโทรทัศน์แทบทุกเรื่องจะมีฉากที่แสดงพฤติกรรมซึ่งรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดการกระทำที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง อาทิ ฉากข่มขืน ความรุนแรงทางเพศ การว่าจ้างหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด เช่น ฉุดคร่าอนาจาร ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย รวมถึงการเข่นฆ่ากันตามอำเภอใจ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อเด็กและเยาวชนให้เกิดความชาชินจนเห็นเป็นเรื่องปกติ และมีคตินิยมในการตัดสินปัญหาด้วยกำลัง และมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม

คำพูดประโยคหนึ่งซึ่งผู้สร้างใช้แก้ต่างละครโทรทัศน์ประเภทนี้ก็คือ เป็นละครสะท้อนสังคม ซึ่งแปลไทยเป็นไทยก็คือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่ก่อนแล้ว คณะละครเพียงแต่นำมาบอกเล่าต่อ แต่ตามความเป็นจริงนั้น วรรณกรรม บทเพลง หรือการแสดง สามารถทำหน้าที่ได้ทั้งเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพ และคบไฟที่นำส่องทาง – การอ้างตัวเป็นกระจกนั้นไม่ผิด แต่กระจกก็ควรจะต้องมีกรอบ และมีขนาดที่เหมาะสม ขณะเดียวกันถ้ามัวแต่สะท้อนภาพด้านมืดของสังคม โดยไม่ส่องคบไฟให้เห็นความสว่างไสว สังคมนั้นก็มีแต่มืดบอดลงไปเรื่อยๆ

ผมยังเชื่อในคำพูดที่ว่าละครโทรทัศน์เป็นศาสดาองค์ใหม่ แต่ควรเป็นศาสดาที่ชี้ทางสว่าง และนำพาสังคมไปสู่ภูมิปัญญา มโนธรรม และทัศนคติที่ดี ไม่ใช่เป็นศาสดาซาตาน ที่นำคนไปอบายภูมิ และพอใจกับการเสพเครื่องเซ่นไหว้จากเหล่าโยมอุปัฏฐาก โดยไม่ได้ทำคุณประโยชน์อันใด

นอกจากการปฏิรูปต่างๆ แล้ว คงต้องเรียนถาม คสช. ว่าถึงเวลาหรือยังครับที่จะปฏิรูปละครโทรทัศน์ของไทย ให้เป็นละครที่สร้างสรรค์สังคม ให้สาระและคุณค่าต่อชีวิต ปลูกฝังความคิดในทางที่ถูก เช่น การพึ่งพาตนเอง การมีชีวิตอย่างพอเพียง ความมานะบากบั่น ความเป็นสุภาพบุรุษ-สุภาพสตรี การประหยัดอดออม ความซื่อสัตย์สุจริตไม่ละโมบโลภมาก  – สังคมที่ดีนั้น มาจากคนที่ดี และคนที่ดีก็มาจากการซึมซับรับรู้สิ่งที่ดีงาม

ครับ ถ้าอยากให้คนไทยมีคุณภาพ คุณค่า และคุณธรรม ก็ต้องปฏิรูปละครโทรทัศน์ไทยเสียที

อิรักกับสงครามสายฟ้าแลบ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140623/186953.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2557

อิรักกับสงครามสายฟ้าแลบ : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น

 

                กลายเป็นข่าวที่น่าจับตาด้วยความตื่นตระหนกเป็นอย่างยิ่งที่จู่ๆ กองโจรกลุ่มที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงนัก แต่ดังแทบชั่วข้ามคืน บุกเข้ายึดเมืองต่างๆ ของอิรักจากเหนือจรดใต้ แทบจะทุกเมืองจนจะเข้าถึงเมืองหลวงแบกแดดได้รอมร่อ อิรักกลายเป็นประเทศที่แบ่งแยกไปแล้วโดยพฤตินัย มีฝ่ายรัฐบาลที่มีชนเชื้อสายชีอะต์เป็นแกน รบกับฝ่ายกบฏนักรบสุหนี่ขณะที่ชาวเคิร์ดยิ้มร่า ปลีกตัวออกจากการสู้รบ รอเป็นประเทศใหม่ดีกว่า

กองโจรกลุ่มไอเอสไอเอส หรือกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลอวองท์ เป็นกลุ่มติดอาวุธที่รุนแรงแบบสุดๆ ชนิดอัลไกดายังอายเพราะโหดไม่เท่า มีพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ในทางเลวอย่างเหลือเชื่อ ว่ากันว่านี่ทำให้กลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มคลั่งศาสนาที่ประสบความสำเร็จที่สุดนับตั้งแต่ตาลีบัน เคยยึดครองอัฟกานิสถานได้เมื่อสองทศวรรษก่อนทีเดียวเชียว กล่าวคือแรกเริ่มนักรบสุหนี่กลุ่มนี้ก็แฝงเป็นเนื้อเดียวกับพวกอัลไกดาและนักสู้สุนหนี่กลุ่มอื่นที่จับอาวุธรบกับรัฐบาลอิรัก หลังยุคซัดดัม แต่ความแตกต่างก็คือ พวกนี้เข้าไปอยู่ตามรอยต่อซีเรีย ใช้เป็นฐานรบกับรัฐบาลซีเรียด้วย สถานการณ์โลกาวินาศในซีเรียทำให้กลุ่มนี้มีแสนยานุภาพเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลบาร์ชา อัลอัสสาดปราบกบฏไม่ถนัด โดนขัดขวางจากนานาชาติ ขณะที่กลุ่มไอเอสไอเอสสรรหาอาวุธดี ๆ มาสู้ได้จากการรีดไถและค้าน้ำมันค้าไฟฟ้าเถื่อน บางทีอาวุธที่เห็นสวยๆ ใหม่ๆ นั้นก็อาจมาจากกลุ่มต่างประเทศที่ลงขันกันหวังโค่นรัฐบาลดามัสกัส

กองโจรนี้ไม่ได้หวังแค่นั้น ความฝันเขาก็คือ ตั้งรัฐศาสนาแบบของเขาในแผ่นดินควบกันทั้งซีเรีย อิรัก แถมเลบานอนด้วยตอนนี้เอาแค่นี้ก่อน วันหลังค่อยขยายไปทั่วทั้งแอฟริกาเหนืออย่างฝันบ้าของกลุ่มอื่น ความคิดนี้เป็นไปได้ทีเดียว ชาวสุหนี่จำนวนไม่น้อยสนับสนุนพวกเขา และยิ่งเมื่อหันเหเข้ามาไล่ยึดเมืองในอิรัก ยิ่งเป็นผลดีใหญ่ เพราะชาวสุหนี่อกตรมกับชีอะต์ชนกลุ่มน้อยที่ปกครองประเทศเพราะฝรั่งต้องการให้ชีอะต์มาคานอำนาจซัดดัมตั้งแต่ปี 2003 พวกเขาถ้าไม่เข้าช่วยก็ผละหนี กองทัพรัฐบาลอิรักที่มีทหารเป็นแสนจึงหนีทัพเป็นจำนวนมาก ปล่อยให้เมืองอันดับสองของประเทศคือ โมซูล ตกเป็นของโจรอย่างง่ายดาย กองโจรยังมีไอเดียน่ากลัวแบบหนังแมดแม็กซ์ภาคสองอีก ก็คือพยายามยึดบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ติดอันดับโลกของอิรักให้ได้ เพื่อเอาไว้เป็นทุนต่อยอดต่อไป งานนี้สำเร็จหรือไม่ต้องรอดู แต่ตลาดน้ำมันเริ่มปั่นป่วนแล้ว

งานนี้ชาวเคิร์ดอยู่เฉยๆ เดี๋ยวก็คงได้ตั้งแข็งเมือง เพราะสัญญาปกครองตนเอง 15 ปีกำลังจะหมดลง อเมริกากำลังเบื่อสงคราม ระดมกำลังทหารไม่ทันการณ์แน่ อย่างมากก็ใช้การถล่มทางอากาศช่วยแบกแดดและหลิ่วตาให้หน่วยรบพิเศษของอิหร่านมาช่วยอิรัก ชาวชีอะต์นั้นหากไม่ไหวจริงๆ แยกประเทศทางใต้โดยพฤตินัยโดยมีเมืองเอกคือบาสราก็ได้ ซาอุฯ นั้นก็ลำบากใจเพราะกลุ่มก่อการร้ายจอมโหดนี้ไกลเกินควบคุมเสียแล้ว ขณะที่ปรากฏการณ์ของไอเอสไอเอสจะส่งผลให้กลุ่มก่อการร้ายที่อื่นมีกำลังใจขึ้นอีก ไม่ใช่แค่ตะวันออกกลาง แต่เป็นทั้งโลกจะอยู่ยากขึ้น

นิทานสอนไทย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140620/186787.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2557

นิทานสอนไทย : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

 

                 ลองถามคนรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน ว่า นิทานเรื่องไหนที่เคยฟังมาในสมัยที่ยังเป็นเด็กและคิดว่ามีอิทธิพลต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก คำตอบที่ได้รับมากที่สุดก็คือ เรื่องปลาบู่ทอง เจ้าหญิงนิทรา และคนตัดไม้กับเทพารักษ์ ซึ่งเรื่องแรกเป็นนิทานพันธุ์ไทย เรื่องที่สองเป็นนิทานพันธุ์เทศ และเรื่องที่สามเป็นนิทานพันทาง

ปลาบู่ทอง เป็นนิทานไทยที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นเรื่องที่ครบรสชาติ ทั้งเจ้าหญิงเจ้าชาย เมียหลวงเมียน้อย อภินิหาร ความรัก ความกตัญญู โศกรันทด ความอิจฉาริษยา และความสะใจ ซึ่งแม้กระทั่งทุกวันนี้ ละครโทรทัศน์โดยทั่วไปของไทยก็ยังมีโครงเรื่องและเนื้อหาในทำนองของปลาบู่ทองอยู่ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนเหตุการณ์ในเรื่องให้เข้ากับยุคสมัยเท่านั้น

นิทานเรื่องปลาบู่ทอง คงเป็นเช่นเดียวกับนิทานหลายๆ เรื่องของไทยในสมัยก่อน ที่มุ่งให้ความบันเทิงและสนุกสนานเร้าใจ แต่ก็สอดแทรกค่านิยมบางอย่างไว้ด้วย ซึ่งค่านิยมในนิทานเรื่องนี้ก็คือ ความกตัญญูที่นางเอื้อยมีต่อมารดา แต่ในขณะเดียวกันนิทานก็เต็มไปด้วยความรุนแรงและพฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวละคร ของสามีที่ทำร้ายภรรยาหลวงจนเสียชีวิต การอิจฉาริษยาและกลั่นแกล้งรังแกลูกเลี้ยง การคดโกง แม้กระทั่งผลลัพธ์ที่แม่เลี้ยงได้รับ ซึ่งออกจะเป็นเรื่องที่รุนแรงเกินไปสำหรับการรับรู้รับฟังของเด็กๆ และเป็นการเพาะนิสัยนิยมความรุนแรง และพฤติกรรมด้านลบแก่เด็กและเยาวชนในทางอ้อม

เจ้าหญิงนิทรา เป็นนิทานฝรั่งที่คนไทยรู้จักดี ทั้งที่เนื้อเรื่องไม่สู้จะสลับซับซ้อนเท่าปลาบู่ทอง แต่ก็เป็นเรื่องของแม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงเช่นเดียวกัน แฝงด้วยเวทมนตร์คาถา และแม่มดกับเจ้าชาย กับฉากสำคัญของเรื่องที่เจ้าหญิงฟื้นจากนิทรา เมื่อได้รับการจุมพิตจากเจ้าชายรูปงาม ซึ่งเป็นที่ประทับใจของสาวๆ ทั้งหลาย และเป็นความฝันเฟื่องของผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ฝากอนาคตไว้กับผู้ชายที่มั่งคั่งร่ำรวย เพื่อการมีชีวิตที่สะดวกสบาย และเลื่อนสถานะทางสังคมของตัวเอง มากกว่าการตั้งหน้าตั้งตาศึกษาเล่าเรียน และทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเอง

เรื่องที่สามคือ คนตัดไม้กับเทพารักษ์ เป็นนิทานพันทาง ที่นำเค้าเรื่องนิทานต่างประเทศมาดัดแปลงให้เป็นเรื่องแบบไทยๆ เจตนารมณ์ที่แท้จริงต้องการที่จะแสดงถึงความซื่อสัตย์ แต่ในทางกลับกันก็ให้ภาพของการงอมืองอเท้าไม่ดิ้นรนขวนขวายช่วยตัวเอง การรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ซึ่งหากมองดูสภาพของคนในสังคมไทยทุกวันนี้ ก็จะพบว่ามีลักษณะจากคนตัดไม้ในนิทานเรื่องนี้ ที่ส่วนใหญ่มักจะยอมจำนนต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองหรือสังคม และร่ำร้องโหยหาคนที่มีอำนาจวาสนาหรืออัศวินม้าขาวให้มาช่วยแก้ปัญหาให้ สังคมไทยจึงมีลักษณะเหมือนเด็กที่ไม่รู้จักโตหรือรู้จักการช่วยเหลือตัวเอง แต่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนอื่น

พื้นฐานส่วนหนึ่งของสังคมนั้น มาจากนิทาน เรื่องเล่าขาน และตำนานต่างๆ ซึ่งนำไปสู่คติชนนิยม ทัศนคติ และวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน การที่นิทานทั้งสามเรื่อง รวมทั้งนิทานเรื่องอื่นๆ เช่น ศรีธนญชัย หรือขุนช้าง-ขุนแผน ฯลฯ จะมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของคนไทย ย่อมไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร หากคำถามคงอยู่ที่ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้คนไทยออกจากโลกของนิทานเก่าๆ เหล่านั้น มาสู่โลกของความเป็นจริงในปัจจุบัน และมีค่านิยมที่ถูกต้อง นับถือความสามารถของตนเอง สร้างตัวด้วยลำแข้งของตนเอง ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่น และหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยสติปัญญาของตน

กฎหมายสื่อที่สื่อมองไม่เห็น

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140619/186744.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2557

กฎหมายสื่อที่สื่อมองไม่เห็น : กระดานความคิดโดยจอกอ

 

               หน้าที่ “ครูจำเป็น” สอนกฎหมายและจริยธรรมสื่อ ทั้งการสอนในระบบ กับการเทรนนิ่งเฉพาะบางห้วงเวลา ยังเป็นงานที่เข้ามาพัวพันกับชีวิตอยู่ตลอดเวลา ระหว่างกฎหมายและจริยธรรมนั้น ว่าไปแล้วคือเรื่องเดียวกัน เพราะเวลาที่เขากำหนดว่าการกระทำแบบใด ที่ผิดกฎหมายนั้น ก็หมายถึงการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นด้วย แต่ในเรื่องจริยธรรมมีความละเอียดอ่อนมากกว่า ตรงที่เป็นเรื่องของ ”ใจ” ที่ต้องคิดและรู้สึกเอง ไม่ใช่คิดเพราะกลัวถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ใส่ใจว่าข่าวและภาพที่นำเสนอออกไปมันจะทำร้ายคนอื่นหรือไม่ อย่างไร

อีกสองวัน จะครบกำหนดหนึ่งเดือนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจ ประกาศหลายฉบับส่งผลต่อการลิดรอนเสรีภาพสื่อในบรรยากาศย้อนยุคเผด็จการทหาร ไม่ว่าจะเป็นการสั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ทั้งระบบ การปิดวิทยุชุมชนทั้งระบบ ที่จะเปิดให้มีเสรีภาพบ้างก็คือ สื่อหนังสือพิมพ์ แต่ก็เป็นเสรีภาพที่ผู้บริหารสื่อหนังสือพิมพ์รู้ดีว่าจะต้องระมัดระวังอย่างไร เพราะถึงแม้จะไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะสั่งปิดหนังสือพิมพ์ได้ เช่น ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 แต่ภายใต้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ผู้นำทหารก็สามารถประกาศปิดหนังสือพิมพ์ได้ เป็นบทบัญญัติยกเว้นการใช้เสรีภาพทางหนึ่ง

ฉะนั้น การเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือ Self censorship จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารสื่อคิดได้โดยอัตโนมัติ ในบรรยากาศเช่นนี้

นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะป้องกันตัวเองให้พ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย แต่ประเด็นสำคัญที่ผมเห็นว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่มองข้ามไป นอกจากความรู้เรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท ละเมิด ที่สื่อมักตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว ยังมีกฎหมายชุดสำคัญเกี่ยวกับเด็ก และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสื่อละเมิดอยู่เนืองๆ

กฎหมายชุดนี้ ประกอบด้วย

1.พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553

2.พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

3.พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550

กฎหมายศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองเด็ก ที่เป็นจำเลย กฎหมายห้ามโฆษณาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ห้ามระบุชื่อ หรือแสดงข้อความ หรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันจะทำให้รู้จักตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นจำเลย และสำหรับเด็กและเยาวชน คืออายุไม่เกิน 18 ปี มีการขยายขอบเขตการคุ้มครองจากเดิมที่จำกัดเฉพาะที่ตกเป็นจำเลยในศาล ให้รวมถึงการตกเป็นผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการด้วย แปลว่า สื่อมวลชนไม่สามารถทำข่าวหรือถ่ายภาพ ที่จะทำให้รู้ตัวเด็กที่กระทำความผิดได้เลย

ส่วนกฎหมายคุ้มครองเด็ก เป็นการคุ้มครองเด็กทั่วไป ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้โฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ ตัวอย่างเช่น กรณีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนหนึ่ง นำเด็กสาวที่มีข่าวว่าทดลองเสพยา กับผู้ปกครอง มาแสดงต่อสื่อมวลชน กรณีเช่นนี้เป็นความผิดตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก ถึงจะยังไม่มีคดีความ

กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สื่อมวลชนไม่รู้ว่ามีอยู่ แต่มักจะอ้างกฎหมายเด็ก เช่น กรณีข่าวหลานอายุ 23 ปี ข่มขืนยาย สื่อโทรทัศน์ดิจิทัลหลายช่องนำเสนอข่าวนี้เต็มที่ มีการรายงานข่าวครบถ้วนทั้งชื่อจริง นามสกุลจริง ของทั้งยายและหลาน โดยอ้างว่า หลานไม่ได้เป็นเด็กที่อยู่ในความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว ซึ่งความจริงกรณีการเสนอภาพและข่าวเช่นนั้น ยังเป็นความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากปัญหาในครอบครัวมีความละเอียดอ่อน ลึกซึ้งมากกว่าการทำร้าย ในคดีอาญาทั่วไป

กฎหมายห้ามสื่อมวลชนในทำนองเดียวกับกฎหมายเด็ก หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในบรรยากาศที่กฎหมายปกติถูกนำมาใช้อย่างเคร่งครัด ผู้ที่ถูกละเมิดจากกฎหมายคุ้มครองเด็ก และกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว น่าจะได้ใช้สิทธินี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อไป

ภาพเก่าเล่าเรื่อง’เขมรแตก 2014′

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140619/186743.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2557

ภาพเก่าเล่าเรื่อง’เขมรแตก 2014′ : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

 

                ภาพแรงงานชาวกัมพูชากว่า 2 แสนคน เดินทางกลับประเทศอย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งทางรถโดยสารปรับอากาศ รถตู้ รถบรรทุก รถกระบะ และรถไฟสายภาคตะวันออก (หัวลำโพง-อรัญประเทศ) เรียกว่า ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่ชายแดน ด่านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

ในสื่อโซเชียลของชาวกัมพูชา ได้นำคลิปเพื่อนร่วมชาติยื้อแย่งกันขึ้นรถไฟ เพราะเป็นการเดินทางที่สะดวกและไม่ต้องผ่านด่านทหาร รถไฟสายบูรพา จึงกลายเป็น “รถไฟสายแรงงานเขมร” ไปในบัดดล และมีคนขายแรงเฝ้ารออยู่ทุกสถานี จากต้นทางกรุงเทพฯ, ลาดกระบัง, ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี

ชาวแรงงานกัมพูชาจะตอบคำถามเป็นเสียงเดียวกันว่า สาเหตุที่ต้องกลับบ้าน เพราะเกรงกลัวว่าทหารจะจับกุม หรือถูกกวาดล้างโดยเฉพาะแรงงานเถื่อน

แฟนเพจสม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา ได้นำภาพ “เขมรอพยพ” ปี 2014 มาเปรียบเทียบกับภาพ “เขมรอพยพ” ปี 1975 โดยสม รังสี บอกว่า ไม่เคยมีการ “ย้ายถิ่น” ของประชากรจำนวนมากแบบนี้ปรากฏมาก่อน นับแต่ปีที่มีการอพยพครั้งใหญ่สมัยกองทัพเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ

คนชายแดนอรัญฯ คงจดจำภาพ “เขมรอพยพ” เมื่อ 40 ปีที่แล้วได้ไม่มีวันลืม

เวลานั้น มันเป็นสงครามกลางเมืองกัมพูชา ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ กับรัฐบาลสาธารณรัฐเขมร ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

หลังจากการสู้รบผ่านไป 5 ปี รัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐเขมรพ่ายแพ้เมื่อ 17 เมษายน 2518 และเขมรแดง ได้ประกาศตั้งประเทศ “กัมพูชาประชาธิปไตย”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของชาวกัมพูชาเรือนแสน ที่อพยพหลบหนีภัยคอมมิวนิสต์ “เขมรแดง” ข้ามพรมแดนเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย

ต่อเนื่องด้วยการอพยพหนีสภาวะอดอยาก และการถูกกองทัพเวียดนามกรีธาทัพยึดพนมเปญ จัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติที่นำโดย เฮง สัมริน ปี 2522

จากนั้นระหว่างปี 2527-2528 เกิดการอพยพเข้ามาอีกระลอกเมื่อทหารเวียดนามเข้าโจมตีตามแนวชายแดนไทย

พ.ศ.โน้น ชายแดนไทยด้าน อ.อรัญประเทศ และ อ.ตาพระยา จึงเต็มไปด้วย “ค่ายผู้อพยพชั่วคราว” ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตไทย แถวบ้านโนนหมากมุ่น บ้านหนองจาน บ้านโนนสูง บ้านอ่างศิลา ฯลฯ

ค่ายเหล่านี้ดูแลความปลอดภัยโดยทหารไทย ขณะที่การช่วยเหลือด้านอาหารเวชภัณฑ์ขึ้นกับหน่วยงานอย่าง UNBRO, UNHCR, ICRC ส่วนการบริหารจัดการภายในค่ายขึ้นกับแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร หรือ “เขมรเสรี” นำโดยซอน ซาน

จากข้อมูลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรบรรเทาทุกข์อื่น การหนีภัยสงครามของชาวกัมพูชาตั้งแต่ปี 2518-2527 มีค่ายผู้อพยพหลัก และค่ายย่อยไม่น้อยกว่า 60 แห่งตลอดแนวชายแดนที่อยู่ในดินแดนกัมพูชา และลึกเข้ามาในประเทศไทย

ค่ายที่ถูกกล่าวถึงมากสุดคือ เขาอีด่าง ต.ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นที่พักพิงชั่วคราวของชาวกัมพูชา กว่า 8 แสนคน ที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในไทย และเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสนาม ที่องค์การระหว่างประเทศรวมทั้งกาชาดสากล เข้ามาให้การรักษาพยาบาลชาวกัมพูชาที่เจ็บป่วยภายในค่าย

อีกจุดหนึ่งคือ “ไซต์ 2” บ้านทัพไทย ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งเรื่องราวของ “เขมรอพยพ” ถูกนำมาเล่าขานกันอีก เมื่อเกิดเหตุพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น และสงครามเขมร 4 ฝ่าย รัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย “แปรสนามรบเป็นสนามการค้า” จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เขมรอพยพ” ในบริบทใหม่

นับจากปีนั้นเป็นต้นมา แรงงานนับแสนๆ จากกัมพูชา ก็หลั่งไหลข้ามพรมแดนเข้ามาขายแรงงานในสยามประเทศ

ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด การเคลื่อนย้ายแรงงานกลับมาตุภูมิ ก็เกิดขึ้นใน พ.ศ.นี้ และภาพ “เขมรแตก” ก็ย้อนมาหลอกหลอนคนชายแดนอีกหน

โล้เรือรั่ว

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140618/186674.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันพุธที่ 18 มิถุนายน 2557

โล้เรือรั่ว : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์กับ ประภัสสร เสวิกุล

 

               ประเทศไทยของเราในวันนี้ มีสภาพเหมือนเรือเก่าที่ถูกสนิมกัดกร่อนจนมีรูรั่วเต็มลำ หากปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่สามารถที่จะแล่นต่อไปได้ดี หรือมิเช่นนั้นก็อาจจะจมลงได้ ดังนั้น จึงต้องนำมาเข้าอู่เพื่อรับการซ่อมแซม อุดรูรั่ว กำจัดสนิม ทาสีใหม่ และปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทรุดโทรมหรือเสื่อมสภาพ

การซ่อมเรือหรือซ่อมประเทศที่ชำรุดขนาดหนัก เป็นงานใหญ่และงานที่ยาก เพราะไม่ว่าจะแตะไปตรงไหนก็เจอแต่ปัญหาที่ต้องแก้ทั้งนั้น สำหรับประเทศไทยนั้น ปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ที่เห็นได้ชัดเจน มีอยู่ 10 ประการ คือ ปัญหาการศึกษา, ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น, ปัญหาเศรษฐกิจ, ปัญหายาเสพติด, ปัญหาของเกษตรกร, ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ, ปัญหาเรื่องศีลธรรมจรรยา, ปัญหาทางสังคม, ปัญหาความปลอดภัย และความขัดแย้งของคนในชาติ

ปัญหาที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ ปัญหาเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นหัวใจของชาติ ประเทศชาติจะเข้มแข็งหรืออ่อนแอขึ้นอยู่กับการศึกษา และการศึกษานั้นส่งผลอย่างรวดเร็วชั่วเวลาเพียงไม่ถึง 20 ปี การศึกษาที่เรียนกันอย่างฉาบฉวยเพียงให้สอบผ่าน ไม่ได้ก่อประโยชน์แก่ผู้เรียนและประเทศชาติอย่างแท้จริง แต่เป็นการสูญเปล่าของชาติ ซึ่งควรจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กไทยมีพื้นความรู้ที่แน่น สอดคล้องกับวิทยาการของโลกปัจจุบัน และคิดเป็น ทำเป็น รวมทั้งสามารถต่อยอดความรู้ ความคิด และการทำงานของตนต่อไปได้

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง เปรียบได้กับสนิมที่ฝังลึกและแผ่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ และคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาร้ายแรงที่บ่อนทำลายประเทศชาติ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นจึงจำเป็นจะต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาดและรุนแรงเพื่อให้เกิดความหลาบจำ และผู้มีอำนาจก็ต้องตั้งมั่นอยู่ในความสุจริตเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี

ผมจะไม่พูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่เราท่านทราบกันดี แต่ขอพูดถึงปัญหาของเกษตรกรซึ่งเป็นรากฐานของประเทศ แต่กลับไม่ได้รับการดูแลที่ดีเพียงพอ หนำซ้ำยังถูกคดโกงเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าและหน่วยงานของรัฐมาโดยตลอด จนถึงกรณีจำนำข้าว ซึ่งต่อไปนี้น่าที่จะต้องมีการปฏิรูปเกษตรกรขนานใหญ่ ทั้งการพัฒนาที่ดิน แหล่งน้ำ การเพาะปลูก การตลาด ฯลฯ เพื่อให้พวกเขามีหลักประกันที่มั่นคง มีชีวิตที่มีความผาสุก และมีอนาคตที่สดใส

ผมขอข้ามมาถึงปัญหาเรื่องศีลธรรมจรรยา ซึ่งคนไทยทุกวันนี้มีความย่อหย่อนเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่ศีลธรรมจรรยาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ และยกจิตใจของมนุษย์ให้สูงกว่าสัตว์โลกประเภทอื่น การขาดศีลธรรมจรรยาทำให้คนเราขาดจิตสำนึกในสิ่งถูกควร ขาดความละอายต่อบาป และแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ

ผมให้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติไว้ลำดับสุดท้าย เพราะเห็นว่าความขัดแย้งเป็นปัจจัยที่ถูกสร้างขึ้น จากการขาดการศึกษา การทุจริตคอร์รัปชั่น และการขาดศีลธรรมจรรยา ถ้าเมื่อใดเราสามารถคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ลงได้ ย่อมสามารถสร้างความเข้าใจให้คนในชาติได้ในที่สุด

ครับ แค่ 10 ปัญหานี้ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เรือลำไหนก็ไปไม่รอดหรอกครับ

เสรีภาพปีกหัก

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140617/186613.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันอังคารที่ 17 มิถุนายน 2557

เสรีภาพปีกหัก : กระดานความคิด โดยจอกอ-จักร์กฤษ เพิ่มพูล

 

                มีหลายคนถามผมอยู่เสมอในยามที่องค์กรสื่อแสดงจุดยืนเรื่องเสรีภาพผ่านแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้า คสช. ว่า สื่อเองยังเป็นปัญหาของสังคม สร้างความแตกแยกร้าวฉานให้เกิดกับคนในชาติ บางคนทึกทักเอาว่า เพราะสื่อเป็นเช่นนี้เอง สังคมไทยจึงเดินมาถึงวันที่คนถือปืนเข้ามาคุมกฎของบ้านเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ปรารถนาและพยายามแสดงการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ

ทัศนคติและความคิดเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะก็มีความจริงอยู่หลายส่วน แต่เรื่องการยืนยันหลักการเสรีภาพนั้น เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับข้อโต้แย้งทั้งหลาย

คำว่า เสรีภาพสื่อ ไม่ได้แปลว่า เป็นเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ แต่หมายถึงเสรีภาพของประชาชนทั่วไป ที่สะท้อนผ่านสื่อ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยที่สำคัญ

ผู้ยึดอำนาจในยุคหลัง พยายามลดทอนถ้อยคำ ไม่ให้สังคมรู้สึกว่าถูกลิดรอนความเป็นประชาธิปไตย จึงยังคงน้ำเสียงของคำว่าประชาธิปไตยไว้ ทั้งที่โดยเนื้อหาไม่ใช่ประชาธิปไตย เช่น การยึดอำนาจของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในนามของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งก็เป็นบทเรียนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุคนี้ด้วย ที่ต้องการสื่ออย่างตรงไปตรงมา ว่าเข้ามารักษาความสงบด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องห่อหุ้มไว้ด้วยประชาธิปไตย และไม่ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงคงเหลือเพียงคำว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ดังนั้น การพูดถึงเสรีภาพ ภายใต้กฎอัยการศึก และสภาพที่รัฐธรรมนูญอันเคยบัญญัติรับรองในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนถูกยกเลิกไป จึงเป็นการพูดถึงในเชิงหลักการว่า เมื่อสถานการณ์ความจำเป็นในการจัดการปัญหาของบ้านเมืองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ ผ่านพ้นไป เรื่องของเสรีภาพ ที่เคยเป็นข้อบัญญัติเด็ดขาดในรัฐธรรมนูญ เช่น การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้ การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมด หรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้ จะต้องกลับคืนมา และหากมีสื่อใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ใช้เสรีภาพจนเกินขอบเขต ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานปกติ กฎหมายปกติที่จะจัดการต่อไป

เนื้อหาสำคัญนี้ จำเป็นต้องปรากฏในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว และรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะประกาศต่อไป

แน่นอนว่า หากจะพูดถึงความผิดพลาด ล้มเหลวในการจัดการสื่อนอกแถว โดยเฉพาะสถานีวิทยุชุมชนที่ถูกปิดตายไม่มีกำหนดเวลานี้  จำเลยสำคัญคงเป็น กสทช. ที่ถึงวันนี้ กำลังหันรีหันขวาง จัดการอะไรไม่ได้ ตัดสินใจอะไรไม่ได้ นอกจากรอฟังคำสั่งของ คสช.

ประเทศที่มีอารยะในฝั่งยุโรป เขามีความเชื่อมั่นในเสรีภาพมาก เช่น ฝรั่งเศส คำขึ้นต้นของรัฐธรรมนูญฉบับแรก เมื่อปี ค.ศ.1791 บัญญัติชัดเจนว่า “เสรีภาพในการสื่อสารความคิด และความคิดเห็น เป็นสิทธิที่มีคุณค่าของมนุษย์ พลเมืองทุกคน จึงพูด เขียน พิมพ์ได้โดยอิสรเสรี”

ประเทศเยอรมนี รัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ.1949  “ทุกคนมีสิทธิ์แสดงออก และเผยแพร่ออกไปอย่างอิสรเสรี ซึ่งความคิดเห็นของเขา โดยทางวาจา ทางขีดเขียน และทางรูปภาพ…”

ประเทศเดนมาร์ก รัฐธรรมนูญปี ค.ศ.1915 “ทุกคนมีสิทธิที่จะโฆษณาความคิดของเขาทางหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้ โดยจะต้องรับผิดชอบต่อการถูกฟ้องร้องต่อศาล การบังคับให้ส่งเรื่องเพื่อตรวจสอบก่อน หรือใช้มาตรการที่เป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า ไม่อาจกระทำได้”

ประเทศฟินแลนด์ รัฐธรรมนูญปี ค.ศ.1919 “พลเมืองมีเสรีภาพในการพูด การพิมพ์ และในการโฆษณาข้อเขียน รูปและเรื่อง โดยไม่ต้องมีอุปสรรค ขัดขวาง หรือส่งเรื่องไปให้ตรวจสอบก่อน”

สำหรับประเทศฟินแลนด์ มีผู้อ่านหนังสือพิมพ์และใช้สื่อออนไลน์อยู่ในกลุ่มสูงสุดในโลก นอกจากบทบัญญัติรับรองเสรีภาพในรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติเสรีภาพสื่อ เช่นเดียวกับที่ตัวแทนองค์กรสื่อไทย เคยยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน สำเร็จ เตรียมเสนอสภาพิจารณา แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน

มีอีกหลายประเทศทั้งฝั่งยุโรปและเอเชีย ที่ถือว่าเสรีภาพคือหัวใจสำคัญ แม้วันนี้เราจะถูกยึดเสรีภาพไปชั่วคราว แต่ในที่สุดเสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบนั่นเอง จะเป็นหลักประกันความผาสุกของสังคมอย่างยั่งยืน

สงครามข่าวสารกับการประชุมสุดยอด

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140617/186612.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันอังคารที่ 17 มิถุนายน 2557

สงครามข่าวสารกับการประชุมสุดยอด : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร

 

                คงจำกันได้ธันวาคม ปี 1995 รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกของผู้นำยุโรปและเอเชีย เรียกว่ากรุงเทพเกือบถูกล็อกดาวน์ ทั้งเมืองหลวงมีผู้นำโลกมาเกือบ 20 กว่าคน ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่ยิ่งใหญ่มาก 20 ปีผ่านมา ขณะนี้สมาชิกของการประชุมเอเชีย-ยุโรป หรือ Asia-Europe Meeting (ASEM) เพิ่มขึ้นเป็น 52 ประเทศ ถือได้ว่าเป็นองค์การสหประชาชาติแบบเล็กๆ

ในวันที่ 16-17 ตุลาคม ผู้ยุโรปและเอเชียจะพบกันที่เมืองมิลาน อิตาลี เพื่อเฉลิมฉลอง 20 ปีของการจัดตั้งอาเซม ที่น่าสนใจคือ มันเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงในเวทีโลกอย่างมาก บทบาทของยุโรปและเอเชียรวมกันจะเป็นอย่างไร ที่ผ่านมา 20 ปีความร่วมมือระหว่างสองทวีปยังไม่ค่อยเต็มร้อย ทำให้ศักยภาพไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำเป็นต้องวางแผนให้ดีว่าเมื่อถึงวันนั้น ศสช.จะเปิดตัวเองอย่างไรบ้าง ตอนนั้นอาจจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วก็ได้ สาเหตุที่ต้องให้ความสำคัญการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากมีผู้นำจากสมาชิก 52 ประเทศ เป็นโอกาสดีสำหรับเราจะเปิดอกพูดคุยถึงสถานการณ์ในไทย ที่ผ่านมาผู้นำของเราไม่มีโอกาส

มีประเด็นสำคัญที่ ศสช.ต้องให้ความสนใจ ประเด็นแรกคือเรื่องของสงครามข่าวสาร และสื่อมวลชน ความจำเป็นต้องควบคุมสื่อต้องดูเป็นเรื่องๆ ห้ามเหมาเข่งเด็ดขาด ถึงแม้จะเป็นมาตรการชั่วคราวก็ตาม สื่อมวลไทยมีความหลากหลาย มีความคิดแตกต่างกัน ตามจริงแล้ว สื่อมวลชนไม่ต้องคุมในลักษณะที่ทำกันอยู่ มีผลลบต่อภาพลักษณ์ไทย รายงานสื่อมีทั้งที่เราชอบกับที่เราไม่ชอบ มันจะถัวเฉลี่ยกันในที่สุด ยิ่งปิดยิ่งยุ่ง สื่อบางฉบับ นักข่าวบางคนต้องการให้ทางการเข้ามาปิดจะได้สร้างชื่อเสียง

ในระยะยาว ประเด็นที่เราควรเอาใจใส่คือการให้ข้อมูลและความคิดเห็นสะท้อนสภาพสังคมไทยอย่างแท้จริง ผ่านทางการรณรรงค์ที่มีแบบแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นวาระเฉพาะกิจอย่างที่หน่วยงานราชการต่างๆ ชอบทำกัน มีตัวอย่างจากประเทศ เช่นในกรุงวอชิงตัน การประชาสัมพันธ์และการรณรงค์เรื่องข้อมูลเป็นสิ่งที่ทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมีการเปิดเผยชัดเจนว่าประเทศไหนเป็นผู้ว่าจ้างใคร ให้ป้อนข้อมูล จึงไม่แปลกที่ประเทศต่างๆ จะจ้างล็อบบี้ยิสต์แพงๆ เพื่อโปรโมทประเทศตัวเองและผู้นำของประเทศตัวเอง ในอาเซียนมีมาเลเซีย สิงคโปร์ที่ทุ่มสุดตัว

ส่วนประเทศไทยในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยและเพื่อไทยมีการใช้เงินส่งเสริมบารมีผู้นำไทยระบอบการประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น

ในเมื่อไทยถูกทหารยึดอำนาจแล้ว ยิ่งเป็นการยากที่จะขายประเทศไทยในเวทีการเมือง มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยอมรับและดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นไทยเรามีความจำเป็นต้องส่งเสริมความเข้าใจของสภาพสังคมและการเมืองไทยให้เพื่อนต่างประเทศรู้และเข้าใจ

ประเด็นที่สองผู้นำไทยต้องได้รับการฝึกฝนในการพบปะกับนักข่าว หรือแถลงข่าวที่เห็นๆ กันนั้น ไม่ค่อยสวยงามหรือเป็นมือโปรเท่าไร แปลกที่ทหารไทยและนักการเมืองไทยไม่ค่อยฝึกในการพูดหรือให้สัมภาษณ์ ในโลกตะวันตกผู้นำทุกคนต้องผ่านการฝึกฝนการพูดในที่สาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นคนพูดอะไรตรงไปตรงมา เวลาให้สัมภาษณ์นักข่าวไทย ผู้นำไทยคนนี้จะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ถ้าถูกรุมถามหรือมีการถามซ้ำๆ ในโลกสื่อที่ไร้พรมแดนและเวลา แถมยังมีโซเชียลมีเดีย การห้ามปรามจึงไม่ได้ผล ฉะนั้นคนให้ข่าวสารหรือข้อมูลเป็นฝ่ายปรับมากกว่า

ที่ผ่านมาสงครามข่าวสาร ไทยเรามักจะแพ้ เนื่องจากไม่มีใครรับผิดชอบหรือเข้าใจพลวัตของสื่อสมัยใหม่ ความคิดจะปิดล้อมสื่อมวลชนแบบทหารที่มีอยู่ในคสช.ไม่ได้ผลในระยะยาว พูดง่ายๆ เกมสงครามสื่อมวลชน คสช.ต้องกระโดดเข้าไปร่วมก่อสร้างและริเริ่มวาทกรรมในประเด็นที่ต้องการสื่อออกไป ไม่ใช่ปฏิเสธเกมตั้งแต่ต้น

ตามหาความสุข

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140616/186540.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2557

ตามหาความสุข : วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล

 

                คนเรานั้นมีความทุกข์กับความสุขเป็นของคู่กัน แม้ว่าความทุกข์จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการเลยก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครที่จะสามารถหลีกเลี่ยงความทุกข์ได้ และบางคนถึงจะมั่งมีศรีสุขก็ยังต้องตกอยู่ในความทุกข์ เพราะเงินหมื่นล้านแสนล้านที่มีอยู่ไม่อาจที่จะซื้อหาความสุขแม้เพียงกระผีกริ้นได้ ผิดกับบางคนที่แม้จะยากจนทรัพย์สินเงินทอง แต่กลับร่ำรวยความสุขอย่างน่าอิจฉา

มีผู้รู้กล่าวไว้ว่า แท้จริงทุกข์หรือสุขเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในจิตใจของตัวเราเอง ไม่ใช่วัตถุภายนอก หรือบุคคลอื่น แต่ใจของเราก็เป็นเหมือนท้องน้ำในมหาสมุทร ที่นอกจากจะลึกเกินกว่าจะหยั่งถึงได้แล้ว ยังกระเพื่อมไปตามแรงของคลื่นลม หรือความรู้สึกพอใจและไม่พอใจต่างๆ บางครั้งแรงกระเพื่อมนั้นก็รุนแรงจนกลายเป็นมรสุมหรือคลื่นยักษ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง

การเดินเรือในมหาสมุทรที่ลมฟ้าอากาศปรวนแปรอยู่ตลอดเวลา ผู้เป็นกัปตันซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเรือจะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่วอกแวกและมีความสงบนิ่งอย่างที่สุด จึงจะสามารถนำเรือผ่านพ้นห้วงเวลาอันวิกฤติได้ และการเดินทางในชีวิตของคนเรา ที่เต็มไปด้วยแรงกระเพื่อมของอารมณ์ ก็ต้องอาศัยความเข้มแข็งของจิตใจ และความมีสติ เช่นเดียวกัน

ความทุกข์ของคนเราในทุกวันนี้ เกิดจากการที่ไม่ได้รักษาจิตใจไว้กับตัวเอง แต่เที่ยวเอาไปฝากไว้กับสิ่งอื่นหรือคนอื่น เช่น ฝากไว้กับหุ้นกับหวย ฝากไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อภินิหาร หรือฝากไว้กับคนที่มีอำนาจวาสนา คนที่น่าเลื่อมใส หรือคนที่คิดว่าเขาจะช่วยให้เราพ้นทุกข์พ้นร้อนได้

หนทางที่จะบำบัดทุกข์อย่างแท้จริงก็คือ การย้อนกลับไปดูที่มาของทุกข์นั้น เมื่อพบว่าความทุกข์ของเราเกิดจากสิ่งใดเราก็กำจัดต้นเหตุให้หมดสิ้นไป เช่นทุกข์เพราะเกิดจากความไม่รู้ในเรื่องบางเรื่อง เราก็พยายามเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ทุกข์เพราะเชื่อคนง่าย เราก็ทำใจให้หนักแน่นและไตร่ตรองอย่างรอบคอบขึ้น ทุกข์เพราะความอยากได้ใคร่ดี เราก็ต้องตัดใจจากความทะยานอยาก และพอใจในสิ่งที่ตนมี ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เป็นต้น

ความทุกข์นั้นอยู่ในใจของเราเองเป็นสำคัญ และเราเองเท่านั้นที่จะแก้ทุกข์ในใจของตนเองได้ ด้วยการทำจิตใจให้สงบ ให้บริสุทธิ์ ประกอบด้วยสติ และปัญญา แล้วเราก็จะพบวิธีที่จะเอาชนะความทุกข์ได้โดยไม่ยากเย็น และการไม่มีทุกข์ย่อมจะทำให้จิตใจมีความสุข ไม่เคร่งเครียด ไม่เป็นกังวล ไม่ฟุ้งซ่าน หรือขึ้งเคียด ซึ่งความสุขทางใจนั้นมีความสำคัญกว่าความสุขทางกายหลายเท่า แต่โดยทั่วไปคนเรามักจะแสวงหาความสุขทางกายมากกว่าความสุขทางใจ ดังนั้น หากรู้ความจริงข้อนี้ และหันมาหาความสุขทางใจให้มากขึ้น เราก็จะพบความสุขที่แท้จริงมากขึ้นตามไปด้วย

ครับ จริงๆ แล้ว ทุกข์หรือสุขของคนเราก็ไม่ได้ใหญ่โตไปกว่าหัวใจ ซึ่งมีขนาดเท่ากำปั้นของเราเองเลย

ท้ายคอลัมน์วันนี้ มีหนังสือน่าอ่าน 2-3 เล่ม เล่มแรกคือ “ริมฝั่งแม่น้ำหัวใจสลาย” รวมเรื่องสั้นและสารคดี ของ พิบูลศักดิ์ ละครพล เป็นงานที่งดงามทั้งภาษา และความคิด สมฉายา “เจ้าชายโรแมนติก” ของผู้ประพันธ์ (สนพ.พเนจร/220 บาท) “ละครที่ไม่จำกัดเวทีแสดง” ของ ประชาคม ลุนาชัย เป็นผลงานที่น่าสนใจของประชาคม ที่ฉีกแนวไปจากเดิม (สนพ.วรรณกรรมใบขวาน/220 บาท) และ “ชายผู้อ้างตนเป็น เซ็ง ท่าน้ำ” รวมเรื่องสั้นของ รัตนชัย มานะบุตร ที่สะท้อนภาพความขัดแย้งในภาคใต้ได้อย่างชัดเจนและสะเทือนอารมณ์ (สนพ.ผจญภัย/255 บาท)

จับตาคาซัคสถานในฐานะตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์มหาอำนาจ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140616/186541.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2557

จับตาคาซัคสถานในฐานะตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์มหาอำนาจ : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น

 

                ประเทศที่มิได้เป็นมหาอำนาจหรืออยากแสดงศักย์แห่งอำนาจนั้น มีหลายประเทศทีเดียวครับ ที่อยากเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ระดับภูมิภาค ในอาเซียนเราก็มีหลายชาติ ยิ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศยักษ์ใหญ่ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ยิ่งอยากเข้าไปมีบทบาท แต่การที่จะได้แสดงฝีมือหรือจะเป็นแค่เบี้ยตัวลีบระหว่างช้างขนาบนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกึ๋นของผู้นำประเทศ ในกรณีนี้ไทยเคยมีศักยภาพประสานได้ทั่วสิบทิศ แต่ในวันนี้ลองดูคาซัคสถานที่กำลังก้าวขึ้นมาครับ

จริงอยู่ คาซัคสถานปักหลักในภูมิภาคเอเชียกลางที่คนให้ความสนใจน้อยมากกว่าภูมิภาคอื่น มีประธานาธิบดีที่คงปกครองประเทศไปจนตลอดชีวิตเหมือนที่เคยปกครองมาตั้งแต่แยกจากโซเวียตปี 2534 ทุกวันนี้ก็ยังเหนียวแน่นกับรัสเซียอยู่ และเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ความที่ประเทศนี้มีขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างรัสเซียกับจีนและคุมเส้นทางน้ำมันส่วนหนึ่งในทะเลสาบแคสเปียนได้ รัฐบาลอัสตานาก็อาจเป็นกุญแจไขปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการเป็นสะพานให้ทั้งจีน รัสเซีย ยุโรป และสหรัฐ จะรวมตะวันออกกลางกับอินเดียไปด้วยก็ได้

ชาวคาซัคเป็นมุสลิมสายกลางเหมือนกับมุสลิมในยุโรปตะวันออก ทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่นเป็นวิสัย พวกเขาไม่รอให้โลกบีบลัทธิเผด็จการแบบที่อื่น แต่ค่อยๆ ปรับพัฒนาประชาธิปไตยด้วยตนเอง จนถึงวันนี้คาซัคสถานมีความเท่าเทียมทางสังคมมากขึ้น ดัชนีทุกอย่างดีขึ้นหมด การมุ่งหน้าเศรษฐกิจแบบระบบตลาดและทรัพยากรมหาศาลทำให้ประเทศนี้น่าลงทุนและเกิดความเจริญในเมืองต่างๆ ที่กระจายตัวออกไป อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพที่ยังไม่แน่นอนของภูมิภาคทำให้พวกเขาต้องรักษาอำนาจทหารเอาไว้ น่าจะคล้ายกับพม่าเวลานี้ ขณะที่ต้องแสวงหาความสัมพันธ์อันดีกับชาติเพื่อนบ้านรอบพรมแดนที่มีมากเป็นอันดับสองของโลกคือ กว่า 8,000 กม.ด้วย

การทูตที่ดีเยี่ยมเป็นตัวลดปัญหาด้านความมั่นคงได้ ปัญหาใหญ่สุดคือ ภัยก่อการร้ายทางใต้ คือในอัฟกานิสถานนั่นเอง ในการนี้คาซัคสถานและเพื่อนบ้านในเอเชียกลางร่วมจับมือกับรัสเซียและจีนตั้งกลุ่มองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2539 ได้ผลดี ไม่เพียงแต่ด้านการสกัดกั้นภัยคุกคาม ได้นำรัสเซียกับจีนมาใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น กับรัสเซียนั้น การที่คาซัคสถานเข้าร่วมกับเบลารุสจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียขึ้นมาในปีนี้นั้น นับเป็นการนำประเทศเข้าใกล้ชิดกับเครมลินมากขึ้นในเวลาเดียวกับที่รัสเซียปีนเกลียวกับยุโรปเรื่องยูเครน แต่คาซัคสถานก็อาจช่วยให้ยุโรปและรัสเซียดีกัน ด้วยการสนับสนุนแนวทางการคุยกันสี่ฝ่ายระหว่างยูเครน รัสเซีย สหรัฐ และอียู สำหรับความร่วมมือกับจีนนั้น ถือว่าดีเยี่ยม โดยเฉพาะด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ที่หนักใจรัฐบาลอัสตานา นอกจากเรื่องการก่อการร้าย ก็คือปัญหาทะเลสาบแคสเปียน ที่มีไฮโดรคาร์บอนมาก จนทำให้หลายชาติมีปัญหากัน ทั้งเรื่องการนำขึ้นมาใช้และลำเลียงผ่านแดน คาซัคสถานก็มักใช้รัสเซียเป็นแบ็กหนุนหลังเจรจากับอาเซอร์ไบจาน อิหร่าน หรือเติร์กเมนิสถาน เป็นไปได้ว่า ถ้าประเด็นนี้สำเร็จ คาซัคสถานจะยิ่งรวยและมีอิทธิพลในภูมิภาคมากขึ้นอีก และอาจขยายอิทธิพลในเอเชียด้วยการขอเข้าเป็นสมาชิกองค์กรมหาสมุทรอินเดียและคู่เจรจากับอาเซียนต่อไป