ให้ห่วง’ชาติ’มากกว่า’ห่วงตัวเอง’

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140711/187997.html

การเมือง : ข่าวทั่วไป
วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2557

ให้ห่วง’ชาติ’มากกว่า’ห่วงตัวเอง’ : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์

                ไม่อยากให้บรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ต้องได้รับผลกระทบ แต่เมื่อได้พบกับบรรยากาศของการแย่งชิงในการปกป้องตนเองของหลายองค์กร ของบุคคลหลายๆ ฝ่าย ที่ดาหน้าออกมาเสนอตัวแบบ ความเห็นต่างๆ ให้แก่ คสช. ต้องเรียนว่า ส่วนที่ดีมีอยู่มาก แต่ที่ปะปนกันมา คือ ส่วนที่ คสช. ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด

หลายองค์กรเห็นได้ชัดเจนว่า ข้อเสนอที่แฝงมาในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงปรับปรุงโน่นนี่ กลายเป็นเรื่องของการเพิ่มอำนาจอิทธิพลให้แก่องค์กรของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระหลายองค์กรที่วัตถุประสงค์ของการก่อกำเนิดในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 มีจุดมุ่งเน้นสำคัญในการทำหน้าที่ตรวจสอบ และคานอำนาจฝ่ายบริหารไม่ให้ดำเนินการใดๆ ตามอำเภอใจของตน แต่ปรากฏว่าระยะเวลาหลังจากนั้น หลายองค์กรอิสระ ไปสร้างองคาพยพของตนขยายกว้างขวางออกไปอย่างมากมาย เรียกได้ว่ามีตัวแทนของตนเองประจำอยู่ในทุกจังหวัดหรือบางอำเภอขนาดใหญ่ แต่งานคั่งค้างก็มีอยู่มาก ที่ทำแล้วถูกติฉินนินทาเพราะความไม่โปร่งใสก็ไม่น้อยเลย

ทำให้ “ข้อเสนอส่วนมากในเวลานี้” หาก คสช. รับเอามาพิจารณาอย่างหลงเชื่อไปตามข้อคิดเห็นที่ผ่านสื่อต่างๆ จะเป็น “อันตรายอย่างยิ่ง” เพราะองค์กรหรือบุคคลบางคนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสื่อบางสื่อมากเป็นพิเศษ ถึงขนาดทำการนำเสนอออกมาได้เป็นชุดความคิดต่อเนื่อง แบบหนังซีรีส์ ทั้งที่เวลาที่ผ่านมา “จุดยืนความคิดอ่านในด้านการปฏิรูปใดๆ ไม่มีความชัดเจน” แต่พอใกล้ระยะเวลาการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญตามกรอบเวลาของ คสช. ใกล้เข้ามา บุคคลเหล่านี้ก็ดาหน้าออกมาจัดแถลงข่าวบ้าง จัดประชุมต่างๆ มากมายเพื่อแสดงศักยภาพให้สังคมได้จดจำและเผื่อว่า คสช. อาจจะหยิบจับเรียกใช้บริการกับเขาบ้าง

จึงมีข้อเสนอทั้งที่ “ผิดเพี้ยนจากรูปแบบการปกครองที่เราต้องการ ไปกระทั่งถึงความเพ้อฝันที่เอาตัวแบบต่างประเทศต่างๆ มาผสมผสาน ไม่ต่างกับการร่างรัฐธรรมนูญในอดีตที่เอาของคนอื่นมาผสมปนเป กระทั่งวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยของเราหรือความเชื่อพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเสมอหน้าถูกละเลย เนื่องด้วยมีคนหยิบมือเดียว คว้าเอาเสียงชี้ขาดไปร่างรัฐธรรมนูญให้คนทั้งประเทศลงประชามติ”

ที่น่าห่วงและ คสช. จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คือ การเชิญบุคคลหลายต่อหลายฝ่ายเข้าไปให้ความเห็นในระยะหลัง แม้จะมีการคัดกรองได้ผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย จากสถาบันต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวแทนทางการเมือง สถาบันการศึกษา แต่ไล่เรียงกันแล้วยังเห็นความจำกัดจำเขี่ย อยู่กับ “กลุ่มบุคคลหน้าเดิมๆ” ซึ่ง คสช. ต้องใช้ความกล้าหาญ ในการ “กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง” เพราะเสียงเรียกร้องของประชาชนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ต้องการเห็นบ้านเมืองได้รับการพัฒนาไปในทางสร้างสรรค์ แต่บุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งอาจพอคาดเดาได้ที่ไปผสมผสานให้ความเห็นนั้น เป็นสิ่งที่ คสช. สามารถรับฟังได้ แต่พึงให้โอกาส “คนรุ่นใหม่ หรือบุคคลที่มีความตั้งใจจริงในการเข้าแก้ไขปัญหาของชาติมากกว่าคาดหวังผลพลอยได้จากการได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในอนาคต”

เพราะข้อเสนอหลายเรื่องที่กินความไปถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการได้มาซึ่งผู้นำรัฐบาลก็ดี การแก้กฎหมายหลายต่อหลายอย่างที่อาจกระทบต่อรูปแบบระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันนั้น ต้องเรียนว่า ได้มีการศึกษาและวิจัยกันมามากมายและพบว่า “ตัวแบบ” ที่ใช้กันอยู่แน่นอนว่ามีปัญหานำไปสู่สิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายเรื่อง แต่ข้อเสนอใดก็ตามที่แอบแฝงเพื่อให้องค์กรของตนเอง “รอดพ้นจากการถูกยุบรวมหรือลดทอนอำนาจ” ถือเป็น “ความเห็นแก่ตัวของบุคคล” ที่การรับไปพิจารณาจะต้องให้แน่ใจว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ทราบกันดีว่า ปัญหาต่างๆ ในประเทศของเราทุกวันนี้เป็นเรื่องของ “ระบบ โครงสร้าง” พูดง่ายๆ คือ เป็นปัญหาใหญ่ขนาดต้องยกเครื่องรื้อแก้กันทั้งองค์กรในแง่ระเบียบ กฎเกณฑ์ วัฒนธรรมองค์กร และการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลดังที่มีการเสนอโยกย้ายแต่งตั้งกันอยู่ถือว่าเดินมาในเส้นทางที่ถูกต้อง แต่อย่าไปหลงเชื่อถึงขนาดมอบหมายอำนาจหน้าที่หรือเพิ่มความรับผิดชอบให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งในเวลาอันใกล้นี้เป็นอันขาด เพราะ “ความพยายามดิ้นรนกระเสือกกระสนเอาตัวรอด” ของหลายองค์กรสะท้อนออกมาในข้อเสนอที่ได้เห็นประสบพบเจอในข้อเสนอผ่านสื่ออย่างชัดเจน เพราะยิ่งมอบหมายอะไรมากเท่าใด ก็เท่ากับเพิ่มพูนอำนาจ

โดย คสช. จะต้องทบทวน “ภารกิจ ผลงานในอดีต ข้อติฉินนินทา สภาพแวดล้อมแห่งปัญหาทั้งปวงให้รอบคอบถี่ถ้วน” ก็จะเห็นถึงสิ่งที่ควรแก้ไขหรือปรับปรุงได้อย่างเป็นรูปธรรม หลายองค์กรเรียกร้องเพิ่มกิจกรรมเพื่อผลในแง่งบประมาณ หลายองค์กรเอาหน้าที่ของเอกชนหรือสิ่งที่ควรให้คนอื่นทำมาทำเอง เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอาศัย “ประชาชนเป็นตัวประกัน” ลักษณะขององค์กรอิสระเหล่านี้ ปรากฏให้เห็นอยู่หลายองค์กร และอาจกำลัง “ตบตา” และพยายามใช้โอกาสที่ คสช. มีอำนาจเต็มในขณะนี้ เป็นเครื่องมือในการแก้วิกฤติให้พวกของเขาโดยที่ คสช. อาจมองโลกในแง่ดีกับคนหลายๆ คน หรือหลายๆ องค์กร จึงขอให้เชื่อกันสักครั้งว่า เวลานี้ท่านฟังได้ แต่ขอให้ท่านใจเย็นและพิจารณาทั้งในแง่องค์ประกอบของตัวบุคคล การใช้งบประมาณและผลงานในอดีตของหลายองค์กรที่ดาหน้าเข้าหาตลอดเวลา ซึ่งเชื่อว่า “คสช. จะได้เห็นอะไรดีๆ และไม่ผิดเพี้ยนไปจากที่ให้คำแนะนำนี้เลย”

วันนี้ต้องดีกว่า’เมื่อวาน’

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140704/187578.html

การเมือง : ข่าวทั่วไป
วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2557

วันนี้ต้องดีกว่า’เมื่อวาน’ : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์

 

                ความพยายามของ คสช. ในการแก้ปัญหาหลายๆ เรื่อง พร้อมกันในเวลานี้ ถือเป็นสิ่งท้าทายและอยู่ในความคาดหวังอย่างสูงยิ่งของประชาชนพลเมืองในทุกภาคส่วน แต่ความสำเร็จในการแก้ไขสิ่งที่มีความหมักหมมเป็นปัญหาสืบเนื่องมานานนับแรมปี จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติอย่างพร้อมเพรียงกันเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายของการแก้ปัญหาต่างๆ สำเร็จได้อย่างสัมฤทธิผลและมีประสิทธิภาพ

เมื่อไม่นานมานี้มีผลสำรวจจากมูลนิธิ “คนไทยดอทคอม” ต่อลักษณะความเป็นคนไทย ได้ปรากฏผลชัดเจนในหลายเรื่องที่สะท้อนตัวตนความเป็นคนไทยทั้งที่เป็นข้อสนับสนุนและข้อน่ากังวลต่อการแก้ไขฟื้นฟูสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต บนพื้นฐานความโอบอ้อมอารีให้อภัยให้กันและกันของคนไทยเป็นสิ่งที่ดีและมีคุณค่าเฉพาะตัวซึ่งมักไม่ปรากฏอยู่ในสังคมอื่นๆ ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้แม้จะมีความขัดแย้งรุนแรงแต่คนไทยก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้ และสามารถผสมกลมกลืนทางความเชื่อวัฒนธรรมและยังไม่ร้าวลึกถึงขั้นเป็นปัญหาลุกลามบานปลายเหมือนในหลายสังคม ประการหนึ่งอาจเป็นเพราะการเข้ามาแก้ไขปัญหาของหลายๆ ฝ่าย เช่น คสช. และกลุ่มผู้มีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองหลายๆ กลุ่มได้มีส่วนทำให้ปัญหาที่เหมือนจะหนักกลายเป็นเบาและสามารถก้าวผ่านความยากและอุปสรรคสำคัญที่ทดสอบกำลังใจคนไทยอยู่หลายครั้งในหลายเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ในที่สุดสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเกือบทุกครั้งไป

แต่สิ่งที่ผลสำรวจระบุว่าเป็นปัญหาอยู่เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามและคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก คือ การที่คนของเราส่วนใหญ่ยังขาดความริเริ่มมุ่งรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐมากว่าให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์หรือเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน เรียกว่า “โยนภาระทุกเรื่องให้กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ” เกือบจะเป็นธรรมชาติของคนส่วนใหญ่ในสังคม

พฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว ทำให้สอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่า คนไทยนับหน้าถือตากันที่เปลือกนอกและยังคงให้ความสำคัญกับ  งง”วัฒนธรรมเชิงอำนาจ” ที่ส่งผลให้คนไทยขาดความเป็นตัวของตัวเอง จึงถูกนักการเมืองหรือผู้ไม่หวังดีสามารถใช้กลอุบายชักนำให้หลงเชื่อหรือบางครั้งกลายเป็น “เหยื่อ หรือ เครื่องมือ” ของผู้ไม่หวังดีเหล่านั้น

การได้เห็นความพยายามของ คสช. ในการเร่งรัดจัดระเบียบสังคม และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมาเป็นเรื่องต้นๆ ทำให้น่ายินดีว่า คสช. เดินมาถูกทาง เพราะทุกผลสำรวจรวมทั้งผลสำรวจโดยมูลนิธิดังกล่าวก็ล้วนแต่สนับสนุนให้สังคมเกิดความตระหนักต่อปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงมาเป็นเรื่องแรกๆ ที่ทุกคนเกือบจะเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ปัญหาอื่นๆ ตามมาดังปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทยทุกวันนี้

แต่เรื่องที่น่าห่วงจากนี้ไป คือ ภายหลังการถ่ายโอนอำนาจเข้าสู่กระบวนการปกติตามกรอบเวลาของ คสช. ซึ่ง “กฎเหล็ก” ต่างๆ อาจมีการผ่อนคลาย ทำให้เกิดความห่วงใยว่า สิ่งที่ผู้ไม่หวังดีและรอคอยเวลาดังกล่าวอาจรอจังหวะเวลาเพื่อฟื้นคืนชีพกลับมาสร้างปัญหาอีกครั้ง ดังเช่นการแก้ปัญหาที่ผ่านๆ มาของหลายรัฐบาล ที่พบกับสภาพปัญหาคล้ายๆ กัน

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องฝากให้ทาง คสช. อาจต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในช่วงของการส่งผ่านหรือ “รอยต่อ” ในระหว่างที่กฎเหล็กต่างๆ ยังมีผลบังคับใช้ ไปกระทั่งถึงวันที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ มากขึ้น จะต้องมิให้มีช่องว่างที่ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้าแทรกแซงแนวทางการทำงานต่างๆ ได้ ทำให้มองว่า “กรอบเวลา” ที่ทาง คสช. กำหนดขึ้นแม้จะด้วยความกดดันจากด้านต่างๆ แต่สำคัญที่สุด คสช. จะต้องมั่นใจและแน่ใจให้ได้ว่า เมื่อ “ส่งไม้ต่อให้แล้ว” จะต้องช่วยกันประคับประคอง และต้องมีมาตรการเสริมด้านอื่นๆ สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรัดกุม ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อให้ความมุ่งมั่นตั้งใจของ คสช. สามารถบรรลุเป้าหมายในการ “คืนความสุขอย่างสมบูรณ์ให้กับประชาชนทุกๆ คน” ได้ดังที่ต้องการ

ถึงวันนี้แล้ว’คสช’ต้องเดินหน้าตรงอย่าวอกแวก

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140620/186788.html

การเมือง : ข่าวทั่วไป
วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2557

ถึงวันนี้แล้ว’คสช’ต้องเดินหน้าตรงอย่าวอกแวก : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์

 

             การวางเส้นทางการดำเนินงานของ คสช. ที่ตั้งใจจะเดินหน้าสู่การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่แทบไม่มีขวากหนามใดๆ มาสร้างปัญหาในการทำงานของ คสช. จะมีบ้างประปรายเป็นสีสันในช่วงเวลาต้นๆ ของการเปลี่ยนแปลง นี่ คือ นิมิตหมายที่ดีที่น่าจะเป็นแรงสนับสนุนส่งเสริมให้การปฏิรูปสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคง รวมทั้งความสามารถของ คสช. ในการใช้ข้าราชการให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบแผนงานโครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมจะมีส่วนผลักดันให้สิ่งที่ คสช. และประชาชนมีความคาดหวังร่วมกันสามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน

ผลจากความคาดหวังดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ “ความคาดหมาย” ในหลายเรื่อง ตั้งแต่องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูป รวมทั้งคณะกรรมการยกร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปฏิรูปการเมืองและเตรียมความพร้อมสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเสมือนพี่เลี้ยงให้ทั้งสองสภาที่คาดกันว่าจะมีการจัดตั้งขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้

ทั้งความคาดหมายและคาดหวังจึงเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เพราะหาก คสช.มุ่งมั่นจะให้มีองคาพยพในการบริหารจัดการประเทศในลักษณะของ คณะบุคคลเช่นเดียวกับรัฐบาลในอดีตและยังต้องการให้มีองค์ประกอบของรัฐสภาที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เคยดำเนินการต่อเนื่องกันมาก็จะต้องไม่กระทำการที่รัฐบาลก่อนๆ เคยเดินผิดร่องน้ำมาแล้วทำให้เฉไฉออกทะเลไปก็มากหรือบางเรื่องกลายเป็นหนามยอกอกรัฐบาลทั้งในยามปกติและรัฐบาล คมช. เมื่อปี 2549 ก็คงเคยทราบๆ กัน หากถามถึงเหตุและผลว่าทำไมต้องยึดตัวแบบที่เคยกระทำมา ก็อาจคาดเดาได้ว่า น่าจะเกิดจากความจำเป็นในการคงวัฒนธรรมประเพณีทางการเมืองการปกครองเอาไว้เพื่อให้สังคมภายในและภายนอกเชื่อมั่นว่า ประเทศของเราจะยังคงเดินหน้าในรูปแบบการปกครองแนวทางก่อนหน้าการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองโดย คสช. และสถานการณ์ในขณะนี้ถือเป็นการ “ควบคุมชั่วคราว” เพื่อแก้ไขปัญหาและจะดำเนินการผลักดันให้เข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดิมในวาระโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

อีกประการหนึ่งอาจเกิดขึ้น ด้วยความเชื่อของทีมยกร่างกฎหมายของ คสช. ที่อาจยึดถือ “ตัวแบบ” ของการรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 เป็นเกณฑ์ เพราะบุคคลหลายต่อหลายท่านที่เข้ามาเกี่ยวข้องดำเนินการในหลายภาคส่วนของ คสช. ในปัจจุบัน อาจเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะทีมงานโฆษกของ คสช. อย่างคุณหมอยงยุทธ มัยลาภ รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการก่อนหน้านี้ ทำให้เชื่อได้ว่าโครงสร้างการบริหารจัดการในรูปลักษณะที่เคยได้รับการประกาศเป็นแผนผังการทำงานโดย หัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในบางส่วนอาจได้รับการเสนอแนะหรือการให้คำปรึกษาโดยทีมงานที่เคยมีประสบการณ์ในอดีตอยู่ไม่น้อยทีเดียว ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวผู้เขียนได้เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้ว่าได้ เคยสร้างปัญหาในการบริหารจัดการอย่างมาก โดยในส่วนของคณะรัฐมนตรีจะมีปัญหาค่อนข้างน้อยเพราะเป็นสิทธิขาดของ คสช. ในการพิจารณาตัวบุคคลโดยตรง

แต่ในส่วนของที่มาของสมาชิกในส่วนอื่นๆ เคยเกิดปัญหาขึ้นนั้น เพราะจำได้ดีว่าในยุคของ คมช. เมื่อปี พ.ศ.2549 มีความพยายามจะตะแกรงร่อนบุคคลที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามแต่ในที่สุด ส่วนสัมผัสของบุคคลในประเทศที่มีประชากรรวมกันราวๆ 65 ล้านคน ที่เป็นคนไทยด้วยกันแท้ๆ ยากที่จะบอกได้ว่า นั่น “เขา” นั่น “เรา” เพราะทัศนคติในเชิง us and them attitude ที่ฝรั่งให้คำจำกัดความไว้นั้น คือ ที่มาของความขัดแย้งต่างๆ ในห้วงเวลาที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด หากการคัดเลือกบุคคลทาง คสช. ยังคงรับฟังข้อมูลด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ถูกต้องหรือถูกเจือสีตีไข่ของบุคคลบางส่วนที่ คสช. ให้ความไว้วางใจ ก็อาจได้ข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ เนื่องด้วย ทราบจากหลายแหล่งข่าวค่อนข้างชัดเจนว่า มีความเคลื่อนไหวของผู้ที่อยากเข้าไปมีตำแหน่งหน้าที่จำนวนมาก มีทั้งเข้าไปด้วยความปรารถนาดีและมีทั้งนำข้อมูลต่างๆ มากมาย ซึ่งยังไม่ถูกคัดกรองไปมอบให้ คสช. ผ่านช่องทางต่างๆ จึงอยากให้ คสช.มีความหนักแน่นในการวิเคราะห์พิจารณาเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ที่สำคัญขอให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานจริงๆ จังๆ เราไม่ต้องการใครที่ขอเข้ามามีตำแหน่งแห่งหนเพื่อเกียรติยศและด้วยระบบอุปถัมภ์ที่รังแต่จะสร้างปัญหาให้เป็นที่ติฉินนินทาและไม่สามารถผลักดันอะไรให้เป็นมรรคผลได้อย่างที่แล้วๆ มาอีกต่อไป

กระบวนการยุติธรรมกับการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140613/186398.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2557

กระบวนการยุติธรรมกับการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์

 

               กฎหมายอาญาของประเทศไทยมีอายุยาวนานกว่าห้าทศวรรษ มีการใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นฐานในการพิจารณาโทษานุโทษของผู้กระทำความผิดทางอาญามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 แต่ที่เก่ายิ่งกว่าคือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่มีมาก่อนร่วมๆ ยี่สิบปีเต็ม (ฉบับต้นทาง คือ พ.ศ.2477) แน่นอนว่าการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเหล่านี้ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเรามีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายหรือคณะทำงานชุดต่างๆ ของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาและอื่นๆ ต่างได้นำเสนอการแก้ไขชำระข้อกฎหมายให้ทันสมัย ก็ยังคงมีจุดอ่อนข้อบกพร่องอยู่หลายเรื่อง บางครั้งได้กลายเป็นปัญหาสร้างความเหลื่อมล้ำในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอยู่เนืองๆ ทำให้บางคนมองว่ากฎหมายมีช่องโหว่และผู้ซึ่งสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งด้วยความรู้ความสามารถและทรัพยากรต่างๆ จะได้เปรียบมากกว่า

ทำให้ต้องมาคิดตรองดูว่า ในท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการยกเครื่องปฏิรูปประเทศอย่างขนานใหญ่โดยประชาชนทุกหมู่เหล่า ในวันที่โอกาสสำคัญอยู่ในมือของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นควรจะต้องพิจารณาให้ชัดเจนเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้ได้ว่า จะทำอย่างไรกับกฎเกณฑ์กติกาหลายๆ อย่าง ตั้งแต่บทลงโทษ ทั้งที่เป็นค่าปรับ การลงทัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึง กระบวนกรรมวิธีทางการดำเนินคดีอาญาซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนทุกเพศวัย ให้ได้เห็นร่องรอยของข้อกฎหมายที่ชำรุดบกพร่องก่อเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันในทางยุติธรรม เพื่อหาทางกำจัดจุดอ่อนเหล่านั้นให้จงได้

ตัวอย่างล่าสุด ซึ่งเป็นอุทาหรณ์สำคัญ คือ กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งตามข่าวในสื่อต่างๆ อ้างว่า “เป็นลมชัก” ขับรถเกิดอุบัติเหตุทำให้เด็กนักเรียนบาดเจ็บล้มตายนับสิบคน ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ในวันนี้ยังไม่ชัดเจนนักว่า นอกจากการเยี่ยมปลอบขวัญผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว ไม่แน่ใจนักว่ากระบวนการรับผิดทางสังคมที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใดๆ เขียนไว้ ได้มีใครตระหนักคิดถึงบ้างไหม เช่น เคยเห็นการแสดงความรับผิดชอบของบุคคลสาธารณะต่างๆ ขอลาออกจากตำแหน่ง บางคนที่มีฐานะและสถานภาพทางสังคมสูงบางรายในต่างประเทศ หาทางเยียวยาด้วยการตั้งกองทุนหรือหาช่องทางส่งเสริมให้ความรู้ เตือนสติผู้คนทั่วๆ ไป ขณะเดียวกันก็ควรพิจารณาว่าเราจะดำเนินการประการใดกับ “ข้อบัญญัติในกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาในกรณีกระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” คล้ายๆ กันนี้บ้างหรือไม่อย่างไร เนื่องด้วยเคยมีเหตุการณ์กระทำการด้วยประมาทก็ดี หรือ การมีข้ออ้างเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางกายทางใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาค่อนข้างบ่อยครั้งมากขึ้น สังเกตได้จากข่าวสารทางสื่อสารมวลชนในระยะหลัง

โดยที่หลักกฎหมายของบ้านเราถือเอา “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” เพราะระบบกฎหมายอยู่ในลักษณะของการกล่าวหากัน ซึ่งใครเป็นผู้กล่าวหา บุคคลนั้นจะต้องรับภาระในการพิสูจน์การกระทำความผิดของบุคคลที่ตนกล่าวหา ทำให้มีเรื่องที่น่าจะยากยิ่งสำหรับผู้ซึ่งไม่สามารถมีทุนรอนหรือทรัพยากรมาก

อย่างในประเด็น “ผู้กระทำความผิดอ้างความเจ็บป่วย” ถือเป็นเรื่องน่าเห็นอกเห็นใจ  หากข้ออ้างนั้นๆ มีมูลความจริง เพราะกระบวนการในการพิสูจน์ทางการแพทย์และการสาธารณสุขสามารถศึกษาวิเคราะห์ ทั้งเจตนา (intent) รวมไปถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด (motive) ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และวิชาชีพเฉพาะทางอื่นๆ แต่ ภาระการพิสูจน์เป็นสิ่งที่ทางฝ่ายผู้กล่าวหา (หรือฝ่ายโจทก์) จะต้องดำเนินการให้ศาลเห็นพ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริง” ซึ่งในส่วนของ “เจตนาในการกระทำความผิด” ยังไม่ยากเท่ากับการหามูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด (motive) ที่อาจต้องมีกระบวนการสืบค้นพิสูจน์ทราบทั้งใช้เวลาและถึงท้ายสุดกระบวนการยุติธรรมอาจไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าจำเลยมีมูลเหตุจูงใจใดๆ อยู่เบื้องหลังการกระทำความผิดหรือไม่ แต่ที่ได้เห็นกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลได้นำเอาวิธีการ “คุมประพฤติ (probation)” มาใช้ และให้มีการสืบเสาะหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินวินิจฉัยของศาล ถือเป็นความก้าวหน้าแต่อาจยังมีข้อจำกัดอยู่ในคดีที่โทษค่อนข้างไม่รุนแรงอยู่ในขอบอำนาจที่ศาลจะสามารถสั่งคุมประพฤติได้ ทั้งนี้ อาจด้วยขาดปัจจัยงบประมาณ บุคลากร และกระบวนการทางเทคนิคสมัยใหม่ ทำให้มาตรการในการ “สืบเสาะหาข้อมูลในเชิงลึกเพื่อให้ได้รับทราบและเข้าถึงแรงจูงใจของจำเลย” ในคดีสำคัญต่างๆ หรือคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่านี้ ยังไม่ค่อยได้รับการดำเนินการในทางปฏิบัติเด่นชัดเท่ากับในบางคดีที่มูลฐานความผิดและอัตราโทษที่ได้รับอยู่ในข่ายที่สามารถวางมาตรการ “คุมประพฤติผู้กระทำความผิด” ได้

ในเมื่อการปฏิรูปกฎหมายเป็นเรื่องเร่งด่วนเรื่องหนึ่งของ คสช. ผมก็ใคร่ฝากข้อคิดความเห็นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีรายละเอียดอีกมาก แต่ได้ยกตัวอย่างมานี้พ่วงไปกับขบวนการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ด้วย

‘คสช.’โปรดฟังอีกครั้ง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140606/185995.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2557

‘คสช.’โปรดฟังอีกครั้ง : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วานิชวิวัฒน์

 

               “คสช.” กลายเป็นความหวังของคนจำนวนมากในประเทศในท่ามกลางวิกฤติการณ์ที่รุมล้อมและท้าทายความสามารถของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการแก้ไขเยียวยาสิ่งผิดพลาดในอดีตให้ฟื้นกลับคืนสู่สภาวะปกติดังเดิม ทำให้สิ่งที่ คสช. เลือกเดินหรือมุ่งมั่นจะดำเนินการ จะต้องใช้ความระมัดระวังแต่ไม่ควรจะต้องอยู่ในอาการ “เกร็ง” หรือมีความกังวลในสิ่งต่างๆ มากเหมือนกับรัฐบาลในอดีต เพราะอำนาจการตัดสินใจและความรับผิดชอบเกือบจะทุกด้านอยู่ในการควบคุมดูแลของหัวหน้า คสช. ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลักใหญ่

มีคนจำนวนมากเริ่มแสดงความห่วงใยจากความพยายาม “วิ่งเต้น” และหาทางให้ตนเองได้ตำแหน่งหรือความมีหน้ามีตาในองค์กรหรือองคาพยพต่างๆ ที่อาจมีการจัดตั้งขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะพิมพ์เขียว “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” รวมถึงสภาปฏิรูปการเมือง และคณะรัฐมนตรีที่มีการคาดเดาโยนหินถามทาง หรือมีความพยายามของหลายฝ่ายที่จะนำเสนอคนของตนเองผ่านสื่อทั้งสาธารณะและโซเชียลมีเดียต่างๆ เพราะเกรงว่า “คสช.” จะไม่รู้จักคนเหล่านั้น เราจึงได้เห็นชื่อเสียงของคนชั้นนำในสังคมมากหน้าหลายตาแสดงออกแตกต่างกันไป บางส่วนนำเสนอ “ตัวแบบของการปฏิรูป” หลากหลายรูปแบบแนวคิด หรือขันอาสารับหน้าที่ในการเข้ามาปฏิบัติงานในหน้าที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง

โดยเท่าที่ได้หารือกันในหมู่นักวิชาการและผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองหลายต่อหลายท่าน เห็นตรงกันว่า หาก คสช. ใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวนอกรูปแบบได้ หนทางข้างหน้าดูจะสดใส และมองว่า การจัดตั้ง “องคาพยพทั้งหลาย น่าจะไม่มีความจำเป็น ด้วยทุกวันนี้หัวหน้า คสช. ได้จัดแบ่งหน้าที่การบริหารงานส่วนราชการและมีสถานะของคณะบุคคลไม่แตกต่างไปจากองค์กรที่เรียกกันว่า “คณะรัฐมนตรี” ในอดีต หากต้องการธรรมนูญการปกครองฉบับใหม่ก็น่าจะสามารถกระทำได้โดยผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ของประเทศ ที่สามารถใช้จำนวนคนไม่ต้องเป็นจำนวนร้อย แต่ให้ได้คนในลักษณะเช่นเดียวกันนี้เหมือนเป็น “Think tank” ขยายปีกของ คสช.ให้ครอบคลุมลักษณะงานการปฎิรูปแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ความสำเร็จที่ คสช. จะต้องบรรลุให้ได้และน่าจะอยู่ในหัวจิตหัวใจของคนไทยหลายคน ได้แก่การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งการโยกย้ายแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในข่ายเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าวตั้งแต่ก่อนที่ คสช. จะเข้ามาควบคุมบริหารสั่งการเช่นในปัจจุบัน

มีกระแสข่าวถึงการรื้อบรรดาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและลุกลามไปถึงการพิจารณาทบทวนภารกิจของหลายหน่วยงานร่วมทั้งองค์กรอิสระต่างๆ ที่อาจไม่สนองตอบต่อแนวนโยบายการแก้ไขสิ่งผิดพลาดในอดีตของ คสช. ซึ่งต้องจับตามองว่าทาง คสช. จะได้หยิบยกเรื่องเหล่านี้มาดำเนินการอย่างไรบ้าง เพราะบอร์ดหรือคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแห่งหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะเห็นได้ว่า บอร์ดบางคนหมุนเวียนเปลี่ยนมือนั่งในรัฐวิสาหกิจเหล่านี้มาแรมปีบางคนต่อเนื่องมากว่าสิบปีทั้งนักวิชาการอิสระ ทั้งข้าราชการประจำ หรือนักธุรกิจที่อาจไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปและรู้จักดียิ่งในหมู่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่สนิทชิดเชื้อกันมาช้านาน

หวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่คนจำนวนมากพูดกันหนาหูว่า “เกรงจะเสียของเหมือนการรัฐประหารในอดีต” จะเป็นบทเรียนให้คณะผู้บริหารประเทศในนาม “คสช.” ต้องนำมาพิจารณาใคร่ครวญ เพราะอย่างข่าวเรื่องการจัดตั้ง “สภาปฏิรูปการเมือง” ก็ดี หรือการจัดตั้ง “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ดังกระหึ่มขึ้นมา ก็ได้ข่าวแว่วมาว่า มีใบสมัครวิ่งเข้าสู่ผู้บริหารชั้นแนวหน้าของ คสช. กันจ้าละหวั่น เชื่อว่าหากจะมีการจัดตั้งองค์กรทั้งหลายขึ้นมารองรับการปฏิรูปแก้ไขกฎหมายต่างๆ ถึงเวลาจริงอาจไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบเดิมๆ ในลักษณะเดียวกับการรัฐประหารเมื่อปี 2549 แต่น่าจะใช้หลักคัดเลือกบุคคลที่ คสช. เห็นสมควร และไม่เอาหลัก “พวกพ้องหรือระบบอุปถัมภ์” ซึ่งมักจะเป็นสาเหตุหลักของความแตกแยกที่ผ่านๆ มา เพราะคนจำนวนมากที่อยากได้อยากเป็น มักทำงานไม่เป็นแต่คนที่ทำงานเป็นก็มักถูกมองข้ามหรือเข้าไม่ถึงตัว คสช. ทำให้จะต้องเลือกและพิจารณาให้รอบคอบ เพราะแม้ไม่มีองค์กรเหล่านี้ คสช. ก็สามารถใช้อำนาจของตนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ แก้ไขกฎหมายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยจำนวนคนที่มีความช่ำชองหรือเป็นผู้รู้จริง ไม่น่าจะไปข้องแวะกับอะไรที่จะสร้างปัญหาความวุ่นวายอย่างไม่จำเป็น เชื่อเถิดครับในเมื่อมีอำนาจอยู่ในมือแล้ว ท่านต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่ากริ่งเกรงหรือกังวลว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะนั่นคือเรื่องในอดีตวันนี้คือสิ่งที่เห็น เป็น อยู่ ในวันนี้ในโลกแห่งความเป็นจริงครับ

จงอยู่กับปัจจุบัน

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140530/185249.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม 2557

จงอยู่กับปัจจุบัน : ต่อปากต่อคำ โดบดร.อมร วานิชวิวัฒน์ a.wanichwiwatana@gmail.com/ twitter@DoctorAmorn

 

               ผมเป็นคนมีเพื่อนมาก แต่จะถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นกัลยาณมิตรนั้น คงคล้ายๆ กับท่านอื่นๆ  คือ น่าจะนับคนได้ แต่นั่นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ที่มักจะนึกถึงตัวเองและคนใกล้ชิดคนอื่นๆ ทำให้นำมาซึ่งความวุ่นวายในสังคมของเราเป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน

หลายวันที่ผ่านมามีคำถามมาถึงผมมากมาย ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่อาจไม่ค่อยสบายใจหรือยังคงหวาดระแวงต่อผลแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถึงลู่ทางการพัฒนาปฏิรูปทำสิ่งเก่าๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมให้แข็งแกร่งใสสะอาดยิ่งขึ้น

ผมจึงต้องให้แนวคิดแก่ทุกฝ่ายไปตามบทบาทหน้าที่ ว่า ขอให้ทุกคนยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ อย่าให้เกินงาม เหมือนแนวคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เตือนสติพวกเราอยู่เป็นนิตย์ และขอให้ทุกคนยึดแนวทางที่นักจิตวิทยาทั่วโลกมองเห็นว่าดีว่าใช้ได้ผลกับการต้องเผชิญภาวะวิกฤติต่างๆ นั่นคือ การอยู่กับปัจจุบัน

หลายท่านอาจสงสัยว่า การอยู่กับปัจจุบันนั้นทำอย่างไร สิ่งที่ทุกคนพึงตระหนัก คือ การอย่าไปใส่ใจกับอดีตหรือสิ่งที่ผ่านมาแล้ว เพราะนอกจากไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อสุขภาพจิตยังมีส่วนบั่นทอนสุขภาพโดยไม่จำเป็น คนเราทุกข์หรือสุขอยู่ที่ใจ จำเป็นที่ทุกคนต้องปรับตัว

การเดินทางในระยะนี้อาจไม่สะดวกสบายดังเช่นก่อนการเปลี่ยนแปลง แต่เห็นว่าคนไทยจำนวนมากสามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตได้เป็นปกติสุขเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับทิศทางความเปลี่ยนแปลงในอนาคต คงต้องให้โอกาสคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำหน้าที่พิสูจน์ผลงานสักระยะเวลาหนึ่ง เพราะมาถึงตรงนี้แล้ว การหวนหาอาลัยอาวรณ์กับสิ่งที่ตัวเองอยากให้ได้ให้มีย่อมไม่สามารถย้อนกลับวันเวลาได้ ส่วนใครที่สนับสนุนชื่นชมก็ต้องทำหน้าที่พลเมืองที่สมควรกระทำ คือ การปฏิบัติให้ความเคารพเชื่อฟังกฎกติกาและกฎหมายของบ้านเมืองอย่าให้บกพร่อง

ผมเชื่อลึกๆ ว่า ทุกฝ่ายมีเจตคติหรือความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง ใครทำผิดก็ต้องได้รับโทษไปตามตัวบทกฎหมาย และต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องภัยใกล้ตัวและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ส่วนรวมอย่างแข็งขัน เมื่อพิจารณาจากประกาศและแนวทางต่างๆ ที่ คสช.ประกาศออกมาเป็นระยะๆ ทำให้รู้สึกได้ว่าไม่มีความอาฆาตพยาบาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่มุ่งหวังคืนความสงบมาสู่สังคมประเทศชาติเป็นหลักใหญ่

ผมจึงอยากเห็นวันดีๆ เช่นว่านี้กลับคืนมาในเร็ววัน ซึ่งจะเป็นจริงได้ ต้องอาศัยความยินยอมพร้อมใจและความร่มมือเสียสละของทุกฝ่าย และที่สำคัญ ความอดทนและการคิดบวกต่อสิ่งรอบตัว จะช่วยทำให้วิกฤติกลายเป็นโอกาสได้ในไม่ช้านี้ เพราะแม้การตรวจสอบด้านต่างๆ อาจไม่เต็มประสิทธิภาพในเวลานี้ แต่ด้วยความคาดหวังของคนส่วนใหญ่ที่อยากเห็นความวัฒนาถาวรของชาติ ย่อมมีส่วนกดดันต่อ คสช. ที่จะต้องมุ่งมั่นสานฝันของทุกคนให้เป็นจริงมากกว่าการกลับไปซ้ำรอยความผิดพลาดเดิมๆ

กระแสรัฐบาลแห่งชาติกลับมาอีกครั้ง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140516/184729.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2557

กระแสรัฐบาลแห่งชาติกลับมาอีกครั้ง : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ a.wanichwiwatana@gmail.com/twitter@DoctorAmorn

                การเขียนถึงเรื่องการเมืองในช่วงเวลานี้ เป็นสิ่งท้าทายอยู่หลายประการ เพราะผมเองมักถูกถามเสมอว่า ทางออกของความขัดแย้งจะไปสู่จุดใด อะไรคือธงคำตอบที่ดีที่สุดในสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะมีทางเลือกที่สวนทางกันตลอดเวลา ระหว่าง กปปส. และรัฐบาลรักษาการ สิ่งที่ยากมากคือ ความแหลมคมของข้อเสนอต่างๆ ทั้งส่วนตัวที่ได้เขียนถึง หรือดังที่มีหลายฝ่ายร่วมกันนำเสนอออกมาจำนวนมากนั้น ยังไม่แหลมคมมากเพียงพอที่จะโดนใจผู้ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศในเร็ววัน และอาจขาดความเป็นรูปธรรมในการแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

สิ่งเหล่านี้จึงทำให้กระแสความต้องการว่าด้วยรัฐบาลแห่งชาติดังกึกก้องกลับมาอีกครั้ง เพราะทั้งฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง หรือฝ่ายที่มองว่าจะต้องทำการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ยังคงเชื่อมั่นว่า ถึงที่สุดแล้วตัวแสดงสำคัญบนเวทีการเมืองยังคงติดกับดักอยู่กับนิยามของคำว่า “นักการเมืองอาชีพ”

จึงมีผู้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการนำเสนอทางเลือก รัฐบาลที่มีที่มาของหลากหลายฝ่าย ทั้งคู่ขัดแย้งและส่วนผสมของ “เทคโนแครต” ซึ่งเน้นหนักไปที่บรรดาเหล่าข้าราชการและผู้ชำนาญการในหลากสาขาวิชาชีพเข้ามาทำหน้าที่บูรณาการความคิดอ่านและข้อเสนอแนะของทุกๆ ฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้แนวคิดว่าด้วย “รัฐบาลแห่งชาติด้วยนิยามแนวใหม่ได้ก่อตัวชัดเจนขึ้น” ต่อเนื่องจากแนวคิดของผู้เขียนที่เคยกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวมาระยะเวลาหนึ่ง

ปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ตรง “ที่มา” ขององค์ประกอบในตัวรัฐบาลแห่งชาติ โดยเราอาจต้องยึดหลักแห่งอุเบกขาถึงที่มาของรัฐบาลชุดใหม่นี้ว่า อาจได้ทั้งในรูปแบบการเลือกตั้งปกติ หรือ การสรรหาในสูตรที่ผ่านการทำประชามติอย่างเร่งรีบ ดังที่มีผู้นำเสนอขึ้นมาเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าที่มาของรัฐบาลที่ว่านี้จะมาจากทางใดจะต้องตอบคำถามให้ได้ถึง “ตัวบุคคล” และ “อำนาจหน้าที่” ที่จะต้องมีความชัดเจน ไม่ทำให้สังคมรู้สึกได้ว่า คนเหล่านี้เข้ามาในฐานะกระบอกเสียง หรือมาเพื่อใช้อำนาจหน้าที่ในการเข้ามาดำเนินการเล่นแร่แปรธาตุเพื่อรอมชอมผลประโยชน์ของกลุ่มพวกมากกว่าส่วนรวม

เราอาจได้ยินมาบ้างถึงการเสนอชื่อบุคคล หรือการสรรหา “คนกลาง” แต่คนกลางที่ว่าไม่ควรจะเข้ามาเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พึงเป็นคนกลางที่เข้ามาเพื่อสร้างการยอมรับ จะมาในนามคณะบุคคลของประเทศที่อาจเป็นผู้แทนขององค์กรหลักทางฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ก็สามารถกระทำได้ แต่ต้องเข้ามาเพื่อร่างกฎกติกา และจะต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งในเวลาการจัดตั้งรัฐบาล หรือภายหลังการทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว

หัวใจสำคัญที่สุด คือ การเปิดกว้างให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเลือกสรรบุคคลในคณะรัฐบาล ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม จะต้องดำเนินไปอย่างเปิดกว้าง และสะท้อนให้ผู้เข้ามามีส่วนร่วมได้เห็นถึงผลได้หรือผลกระทบที่เพิ่มเติมจากการลิดรอนสิทธิทางการเมืองมาสู่การให้สวัสดิการทางสังคม หรือพ่วงเข้ากับมาตรการในแง่ผลประโยชน์จากการได้สิทธิพิเศษทางภาษี หรือการได้รางวัลทางสังคมอื่นๆ น่าจะมีส่วนกระตุ้น สร้างจิตสำนึกให้ผู้คนเกิดการตื่นรู้ และเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองให้ได้ “ตัวแทนปวงชน” ที่แท้จริง เพื่อผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เห็นผลในเร็ววัน และเมื่อได้องค์ประกอบของ “รัฐบาลในฝันของทุกฝ่ายแล้ว” ย่อมขึ้นอยู่กับแผนที่เดินทางของคณะบุคคลดังกล่าวว่าจะสามารถสานฝันของคนส่วนใหญ่ในชาติได้จริงหรือไม่ และด้วยวิธีการอย่างไร

สังคมไทยจะเดินไปอย่างไรในวันที่คนไม่เคารพเกรงกลัวกฎหมาย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140502/183896.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม 2557

สังคมไทยจะเดินไปอย่างไรในวันที่คนไม่เคารพเกรงกลัวกฎหมาย

ต่อปากต่อคำ : สังคมไทยจะเดินไปอย่างไรในวันที่คนไม่เคารพเกรงกลัวกฎหมาย : โดย … ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ a.wanichwiwatana@gmail.com twitter@DoctorAmorn

                          ผมได้รับข้อความที่ส่งต่อมาทางไลน์จากเพื่อนในกลุ่มที่มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ ในครั้งนี้มีเรื่องราวที่ส่งมาให้อ่านพิจารณาเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความสำเร็จของชาวเยอรมันในการสร้างบ้านแปลงเมืองจากประเทศที่ถูกพันธมิตรทิ้งระเบิดยับเยินในช่วงสงครามโลก สามารถฟื้นฟูพัฒนาตัวเองมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ แถมด้วยระบอบการเมืองการปกครองที่สามารถเอาเป็นแม่แบบได้ดีอีกประเทศหนึ่งในโลก” ก็ว่าได้
                          โดยส่วนตัวให้ความรักและชื่นชมกับ “ความเป็นไทยและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยอย่างเหนียวแน่น” ยังจำได้ว่า ในสมัยเรียนหนังสือในต่างประเทศ จะทำตัวเหมือน “กระบอกเสียง” คอยชี้แจงแก้ต่างในสิ่งที่คนต่างชาติเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนไทยสังคมไทยอยู่เสมอๆ ทั้งผ่านข้อเขียน และการสนทนาให้ความรู้ซึ่งกันและกัน แต่การหยิบยกทั้งประเด็น “ความมีวินัยของคนอื่น และความที่คนของเราจำนวนมากไม่เคารพยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองมาเปรียบเทียบกัน เพราะเรื่องดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาที่อาจนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงของการบริหารปกครองบ้านเมืองในอนาคต”
                          เราจะเห็นได้จาก “ความประมาทเลินเล่อกระทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายถึงแก่ชีวิตของคนขับขี่ยวดยานทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะ” เกิดขึ้นถี่ยิบ ล่าสุดรถเมล์สาย 1 วิ่งไล่ชนรถยนต์ตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่ง แม้ว่ารัฐมนตรีชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดูเหมือนจะเข้มงวดกวดขันดูแลกับกิจการงานขนส่งสาธารณะอย่างขะมักเขม้นแล้ว ก็ยังได้เห็นบทเรียนเดิมๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
                          เรื่องอุบัติเหตุจากความประมาทบนท้องถนนนั้นเรื่องหนึ่ง แต่การไม่เคารพกฎหมายเพราะสังคมนี้เชื่อกันว่า วิตามิน “ซี” ที่เหน็บแนมมาในไลน์ของคนคนเดียวกันที่ส่งมาให้อ่านก็บอกชัดเจนว่า C ว่าด้วย ความรู้ความสามารถ (Capability) น่าจะคิดคำนวณได้ราวๆ สามสิบเปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จของคนเรา โดย C ต่อมา คือ Confident หรือ ความเชื่อมั่นของแต่ละคนอยู่ที่ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ตัว C ที่สำคัญที่สุดทุกคนน่าจะรู้จักดี นั่นคือ Connection เขาเชื่อกันว่า อยู่ที่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จของคนทุกคนในสังคมไทย
                          จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้คนวิ่งเข้าหาทำความรู้จักแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เป็นกลุ่มเป็นก้อน คล้ายๆ กับระบบ “พรรคการเมือง” ที่ใครถูกต้อนเข้าพรรคการเมืองใด ก็ดูเหมือนจะต้องถูก “กลืนกิน” กลายพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหรือแนวนโยบายของพรรคทั้งที่ชอบและไม่ชอบธรรมอย่างเคร่งครัด การเมืองจึงมักถูกมองว่าเป็นเรื่องว่าด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์และเป็นเรื่องสกปรกในสายตาของคนหลายคน เพราะเมื่อพูดถึงผลประโยชน์ เรื่องเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมจะกลายเป็นเรื่องไกลตัวผู้คนทั้งหลายเหล่านี้ออกไป เพราะคำว่า “พวก เพื่อน พ้อง น้องพี่” ย่อมถูกยกให้ความสำคัญยิ่งกว่าเรื่องอื่นใด
                          การได้อ่านแนวทางการดำเนินชีวิตของ “คนเยอรมัน” ดังได้กล่าวมาในช่วงแรก จึงเป็นการสะท้อนมุมมองความคิดของคนที่อยากเห็นบ้านเมืองของเราสามารถพัฒนาก้าวหน้าออกไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะหากนำข้อมูลเชิงประจักษ์จากการพัฒนาชาติบ้านเมืองของหลายประเทศที่ก้าวล้ำนำหน้าไปไกล ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์และมี “ตัวร่วมปัจจัยแห่งความสำเร็จคล้ายๆ กัน” นั่นคือ “ความมีวินัยและความมุ่งมั่นมองผลประโยชน์ของชาติมาก่อนเรื่องส่วนตัวเป็นสำคัญ” เพราะตัวอย่าง ทั้งของ “เยอรมัน” “เกาหลีใต้” “ญี่ปุ่น” “จีน” “สิงคโปร์” กระทั่ง “เยอรมนี” ที่ได้ยกมาเป็นอุทาหรณ์ล้วนแล้วแต่ใช้ “วิตามิน D” คือ Discipline หาใช่วิตามิน C หรือ Connection เป็นเครื่องมือสำคัญแบบในสังคมของพวกเรา
                          เราคงไม่ปฏิเสธว่า Connection คือสิ่งจำเป็น หรือ มองเรื่องการมีพรรคพวกเครือข่ายทั้งหลายเป็นเรื่องเสียหายไปในทุกกรณี เพราะความเป็นจริงที่มนุษย์เป็น “สัตว์สังคม” (social animal) อย่างนักปราชญ์ชาวกรีก เช่น อริสโตเติล ชี้ชัดมายังคงได้รับการยอมรับและเชื่อถือกัน สิ่งที่น่ากังวล คือ การใช้ connection ในทางที่ผิด ด้วยอาจมีความเชื่อที่ผิด หรือ มุ่งแต่จะแสวงทำมาหาได้จาก connection กระทั่งละทิ้งคุณงามความดี ซึ่งคือที่มาของการไม่เคารพยำเกรงกฎหมายของผู้คนในสังคมนี้ ที่คนจำนวนมากเริ่มไม่เชื่อระบบคุณธรรม (merit system) แต่เชื่อระบบแห่ง “อำนาจ คือ ธรรม” (might is right) ทุกคนจึงพยายามแสวงหาอำนาจและเกาะเกี่ยวผลประโยชน์ให้กันและกันอย่างเหนียวแน่น
————————
(ต่อปากต่อคำ : สังคมไทยจะเดินไปอย่างไรในวันที่คนไม่เคารพเกรงกลัวกฎหมาย : โดย … ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ a.wanichwiwatana@gmail.com twitter@DoctorAmorn)

ความรุนแรงที่อาจหลีกเลี่ยงได้

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140425/183467.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2557

ความรุนแรงที่อาจหลีกเลี่ยงได้

ความรุนแรงที่อาจหลีกเลี่ยงได้ : ต่อปากต่อคำ โดยดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ a.wanichwiwatana@gmail.com/twitter@DoctorAmorn

            มีหลายคนอยากรู้มากว่า อะไรจะเกิดขึ้นภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้กรณีสถานภาพของนายกรัฐมนตรี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่งในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนชนิดไม่คลาดเคลื่อน หรือตรงใจกับสิ่งที่ผู้ถามอยากรู้อยากได้ยินเพราะมีการประเมินจากหลายฝ่าย ทั้งสื่อมวลชนบางกลุ่มและฝ่ายความมั่นคงว่า มีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่สถานการณ์อาจนำไปสู่ความรุนแรงเช่นเดียวกับเหตุการณ์ในอดีต

มูลเหตุของการประเมินเช่นนี้เกิดจากท่าทีของฝ่ายรัฐบาลเอง ทั้งข้อความที่มีการโพสต์อยู่ในโซเชียลมีเดีย ทั้งในเฟซบุ๊กของบุคคลสำคัญบางท่านในรัฐบาลสะท้อนความชัดเจนว่า หากผลการพิจารณาของศาลไม่เป็นผลดีต่อตัวนายกรัฐมนตรีอาจมีการปฏิเสธอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและอาจมีขบวนการต่อต้านกลุ่มหรืออำนาจฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลดำเนินการบางอย่างที่อาจท้าทายอำนาจในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ยิ่งกว่านั้นการถูกลอบสังหารของแกนนำคนเสื้อแดง ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับข่าวลือเรื่องการมีกองกำลังไล่ล่ากลุ่มบุคคลบางฝ่าย และสอดคล้องกับการข่าวของบางฝ่ายที่เชื่อว่า จะมีการสร้างความรุนแรง กระทั่งอาจนำไปสู่การสังหารบุคคลสำคัญของพรรคการเมืองบางพรรคที่เดิมมองว่า เป็นการสร้างสถานการณ์แต่มีทีท่าว่าจะกลายเป็นข่าวจริงขึ้นมาได้เช่นกัน

ไม่ว่าความรุนแรงจะมีโอกาสพัฒนาตัวเองไปสู่การเผชิญหน้าหรือเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองประการใดก็ตาม ต้องขอเรียนว่า ประชาชนที่อาจเป็นเหยื่อหลงเชื่อการชักจูงของแกนนำไม่ว่าฝ่ายใดว่า การใช้ความรุนแรงจะเป็นทางออกของวิกฤติการเมืองในปัจจุบันได้ จะต้องทบทวนดูถึงเหตุการณ์ในอดีตว่าท้ายที่สุดเมื่ออำนาจอยู่ในมือผู้ชนะ ผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายล้วนมีสภาพไม่แตกต่างเหมือนเบี้ยบนกระดานหมากรุกที่เขาใช้แลกกับการได้มาซึ่งอำนาจ ทั้งชอบธรรมและไม่ชอบธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย

แม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงขั้นอุกฤษฏ์ดังที่หลายฝ่ายกังวลกันยังไม่สุกงอม แต่เพื่อความไม่ประมาทเราได้เห็นทางกองทัพมีการประชุมหารือ หาแนวทางป้องกันปัญหากันอย่างเอาจริงเอาจัง แนวป้องกัน การวางกำลังในสถานที่สำคัญและการตั้งด่านความมั่นคงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นทั้งการป้องปรามและเป็นฐานข้อมูลที่ช่วยอนุมานได้ในขั้นหนึ่งว่า การข่าวของฝ่ายความมั่นคงก็เชื่อว่าอาจมีแนวโน้มการสร้างความรุนแรงเกิดขึ้น

            นอกจากภาวนาให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็วแล้ว หวังอย่างยิ่งว่า หากทุกฝ่ายมองประโยชน์ของชาติให้ไกลปัญหาของตนเองและมีความเสียสละกันอยู่บ้าง เราจะไม่มีคนต้องบาดเจ็บล้มตาย แต่นั่นเป็นเพราะมนุษย์ยังไม่ก้าวข้าม 3 สิ่ง คือ ความกลัว ความโลภ และความรู้สึกไม่มั่นคงที่ต้องเผชิญกับเรื่องต่างๆ ทำให้ต้องดิ้นรนให้ตนไม่ต้องอยู่ในสถานะดังกล่าว ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาทั้งปวงในขณะนี้

สถานภาพนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/detail/20140411/182690.html

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557

สถานภาพนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล

สถานภาพนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล : ต่อปากต่อคำ : โดย … ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ a.wanichwiwatana@gmail.com twitter@DoctorAmorn

                          มีข้อถกเถียงซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติว่า สถานภาพของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเป็นเช่นไร หากศาลรัฐธรรมนูญลงมติในเรื่องที่มีผู้ยื่นคำร้องให้มีการวินิจฉัย อันเนื่องมาจากการโยกย้ายข้าราชการในช่วงที่ตนเองมีอำนาจกระทำได้ แต่วันนี้ คุณถวิล เปลี่ยนศรี ได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม ในฐานะเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทางกลุ่มสี่สิบส.ว. นำโดย คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ได้มองว่า สถานภาพความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีได้พ้นไป นับแต่ได้มีการกระทำการออกคำสั่งโยกย้าย คุณถวิล เปลี่ยนศรี
                          ในเรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่นักกฎหมายมีมุมมองความคิดแตกต่างกัน ทางนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวเรียกร้องความเป็นธรรม และได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่มีเจตนาที่จะไม่ยอมรับคำวินิจฉัยใดๆ แต่ต้องการให้กระบวนการต่างๆ ดำเนินไปด้วยความเที่ยงธรรม ขณะที่ผู้ซึ่งมองว่า การโยกย้าย คุณถวิล เปลี่ยนศรี โดยนัยที่ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรมและส่อไปในทางช่วยเหลือเอื้อประโยชน์บุคคลใกล้ชิดของรัฐบาล คือ “ความผิดสำเร็จ”
                          เมื่อเป็น “ความผิดสำเร็จ” ทำให้มีผู้มองว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีนี้มิใช่ความผิดเฉพาะตัวแต่จะมีผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นตำแหน่งไปพร้อมกัน ทำให้ภายหลังข่าวของ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เข้าพบปลัดกระทรวงยุติธรรม ดร.กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ทางฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลได้มีการวิพากษ์วิจารณ์และนำเอากรณีเดิมเกี่ยวกับ “บุคคลที่เป็นกลาง” ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกหลายชื่อเพิ่มเติมจากความพยายามเผยแพร่รายชื่อบุคคลหลายฝ่ายมาก่อนหน้านี้
                          แน่นอนว่ามีการพูดกันไปไกลถึงขนาดว่า หากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะจะต้องหมดสถานะในทางการบริหาร ไม่ว่าจะอ้างการรักษาการหรืออ้างความชอบธรรมใดๆ ขึ้นมาต่อสู้ เมื่อนั้นจะมีบุคคลหรือ “คณะบุคคล” ดังที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลในโซเชียลมีเดียเชื่อว่าจะเแก้ปัญหาสุญญากาศทางการเมืองในภาวะวิกฤตินี้ได้ จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการแทนรัฐบาลที่เชื่อว่าอาจต้องมีปัญหาภายหลังมีคำตัดสินชี้ขาดใดๆ ออกมา
                          ทั้งนี้สิ่งที่มีการเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตหรือโลกเสมือนจริง ส่วนมากเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้น ผสมผสานระหว่าง ความรัก โลภ โกรธหลง และจินตนาการส่วนบุคคลของแต่ละฝักฝ่าย ทำให้ความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูลสามารถประเมินให้อยู่ในขั้นของการเป็นฐานข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ถึงทิศทางของยุทธวิธีในการต่อสู้ทางความคิดของแต่ละฝ่ายเป็นหลักใหญ่ มากกว่าจะยึดเป็นข้อสมมุติฐานที่จะสามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้างในโลกแห่งความเป็นจริง
                          อย่างไรก็ดี เชื่อว่าความเคลื่อนไหวทางมวลชนของแต่ละฝ่ายเมื่อ “สถานภาพทางกฎหมายในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” ของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความชัดเจน การต่อสู้เพื่อเอาชนะในเกมการเมืองจะยังคงดำเนินต่อไป แต่ไม่คาดหวังจะเห็นวิธีการช่วงชิงความได้เปรียบด้วยการดึงเอาบุคคลภายนอกเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ ดังที่มีกระแสข่าวเล็ดลอดให้ได้ยินเป็นระยะๆ เพราะแนวโน้มการดึงบุคคลภายนอกเข้ามาพัวพันจะยิ่งซ้ำเติมความแตกแยกทางความคิดอุดมการณ์ของคนในชาติมากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยมิตรประเทศใดๆ ที่มักอ้างถึงล้วนแล้วแต่มุ่งเน้นพิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอง มากกว่าจะใส่ใจในการแก้ไขเยียวยาความขัดแย้งที่มีแนวโน้มลุกลามบานปลาย ดังตัวอย่างของหลายประเทศในตะวันออกกลางหรือแม้แต่ในยุโรปเองก็ตาม จึงไม่ต้องการให้สังคมของเรา หลงทางไปกับมายาภาพ หรือ มุ่งแต่การช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองเป็นสำคัญ
———————–
(สถานภาพนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล : ต่อปากต่อคำ : โดย … ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ a.wanichwiwatana@gmail.com twitter@DoctorAmorn)