ดินขาวเคโอลินช่วยเพิ่มผลผลิต วช.ต่อยอดผลวิจัยพัฒนาเป็นสารเคลือบใบและผลมะม่วง-แก้วมังกร

http://www.naewna.com/local/7028

วันศุกร์ ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555, 06.00 น.

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนการวิจัยกับ รศ.ดร.คณพล จุฑามณี และคณะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อขยายผลต่อยอดงานวิจัย การพัฒนาดินขาวเคโอลินเป็นสารเคลือบผล เพื่อเพิ่มผลผลิต ควบคุมเพลี้ยไฟ และโรคแอนแทรคโนสในไม้ผลเศรษฐกิจผลการวิจัยพบว่าดินขาวเคโอลินในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ในหลายพื้นที่ เช่นอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี รวมทั้งคุณสมบัติในการเป็นวัสดุเคลือบ ใบ กิ่ง และผล เพื่อลดอาการใบไหม้ และเพิ่มคุณภาพผลผลิตในไม้ผลต่างกัน

ทั้งนี้โดยพบว่าดินขาวเคโอลิน ทั้ง 3 แหล่ง สามารถนำมาพัฒนาเป็นสารเคลือบใบและผลในมะม่วงและแก้วมังกรได้ดี เมื่อพ่นสารเคโอลิน จะสามารถป้องกันการทำลายของศัตรูพืชได้ และยังป้องกันไม่ให้ผิวผลไม้สัมผัสกับแดดโดยตรง เนื่องจากมีลักษณะเป็นฟิล์มบางๆ จึงทำให้ผลไม้มีผิวสวยงาม โดยเฉพาะดินขาวเคโอลิน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เหมาะสำหรับใช้เคลือบผลมะม่วงในฤดูร้อน เพื่อป้องกันกระบวนการสังเคราะห์แสงของมะม่วง ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ผิวมะม่วงในระยะสุกมีสีเหลืองสวยงาม และยังช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคแอนแทรคโนส บนผิวมะม่วงน้ำดอกไม้ระยะผลสุกได้ และยังช่วยลดการเกิดโรคใบจุดสีน้ำตาลบนกิ่งแก้วมังกรด้วย

สำหรับดินขาวเคโอลิน พบได้ในประเทศจีน เม็กซิโก บราซิล ในประเทศไทยพบเหมืองแร่ที่ผลิตดินขาวเคโอลิน ที่จังหวัดลำปาง ระนอง อุตรดิตถ์ และปราจีนบุรี ดินขาวเคโอลินเป็นสารที่ให้สีขาวและใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก เครื่องสำอาง และยาสีฟัน ส่วนแนวคิดที่นำดินขาวเคโอลินมาใช้ทางการเกษตร คือดินขาวเคโอลินเมื่อถูกผลิตให้อยู่ในรูปสารละลายและนำมาพ่นให้กับพืช จะมีลักษณะเป็นฟิล์มเคลือบลำต้น ใบ และผลไม้ ฟิล์มนี้จะมีคุณสมบัติป้องกันการเข้าทำลายของแมลงและการวางไข่ของเพลี้ยได้ เคโอลิน มีผลต่อกระบวนการสังเคราะห์แสง โดยสารสีขาวช่วยสะท้อนแสงช่วยลดความร้อนที่พืชได้รับ โดยใช้สารละลายดินขาวเคโอลิน ความเข้มข้น 60 กรัม/ลิตร ฉีดพ่น ตั้งแต่มะม่วงมีอายุใบ 45 วัน จนถึงระยะผลโตเต็มที่ 12 สัปดาห์ก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งได้ผลดีในระดับที่จะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

พัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ อัตราการงอกดี..เก็บไว้ได้นาน

18 เมษายน 2554, 05:00 น.
พัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ อัตราการงอกดี..เก็บไว้ได้นาน – ข่าวไทยรัฐออนไลน์.

Pic_164610

ปัจจุบันวงการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศในบ้านเราเหมาะแก่การผลิต เกษตรกรหลายรายต่างหันมาเก็บเมล็ดพันธุ์ขยาย เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมุ่งที่จะส่งออกด้วยเช่นกัน

ฉะนี้…เพื่อยกระดับสินค้า เมล็ดพันธุ์ให้มีความทัดเทียมเทียบกับบริษัทต่างประเทศ รศ.ดร.บุญมี ศิริ และ น.ส.ธิดารัตน์ แก้วคำ นักศึกษา คปก.สังกัดภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ร่วมกันพัฒนา สูตรสารเคลือบและวิธีการเคลือบที่ใช้กับพืชตระกูลแตง เพื่อใช้ในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งศึกษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลแตงหลังจากการเคลือบเมล็ด และอายุการเก็บรักษาในภาชนะบรรจุและสภาพแวดล้อมขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

รศ.ดร.บุญมี เปิดเผยว่า…ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาไทยเราส่งเมล็ดพันธุ์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ เมล็ดพันธุ์พืชไร่ รองลงมาเป็นเมล็ดพันธุ์ผักมากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นอันดับที่ 12 ของโลก คิดเป็นมูลค่าโดยรวมเฉลี่ยที่ 7,000 ล้านบาท/ปี เพื่อยกระดับสินค้าให้มีความทัดเทียมเทียบกับบริษัทต่างประเทศ จึงนำวิทยาการใหม่ๆ อย่างการเคลือบเมล็ดพันธุ์ (seed coating) ที่พัฒนามาจากการเคลือบยา โดยใช้พอลิเมอร์ที่มีความเหนียวและมีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ชนิดต่างๆ ประกอบด้วยธาตุอาหาร สารป้องกันกำจัดแมลงและเชื้อโรค จากนั้นจึงเคลือบชั้นนอกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้การเคลือบเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งวิธีดังกล่าวช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีในช่วงระยะต้นกล้า เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและแมลงให้กับเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกได้

น.ส.ธิดารัตน์ กล่าวถึงขั้นตอนการพัฒนาสูตรสารเคลือบและวิธีการเคลือบที่ใช้กับพืชตระกูลแตงว่าเริ่มแรกนั้นศึกษาตัวพอลิเมอร์ที่มีความเหมาะสมที่สุดในการเคลือบ พร้อมทั้งทำการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์แตงกวา และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ศึกษาถึงคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการเคลือบหลังจากการเก็บรักษา แล้วเตรียมสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ประกอบด้วย โพลีเอทิลีน ไกลคอล 600 (Polyethylene glycol 600) สารก่อฟิล์ม ทัลคัม (Talcum) ไททาเนียมไดออกไซด์ (TiO2) และ สี
…แล้วนำมาประเมินผลในลักษณะต่างๆ เช่น ค่า pH ความหนืดของสารเคลือบ เป็นต้น ก่อนนำไปเคลือบเมล็ดพันธุ์แตงลูกผสมด้วยเครื่องเคลือบ SKK08 จากนั้นนำเมล็ดเคลือบสารไปลดความชื้นด้วยเครื่องลดความชื้นแบบลมแห้ง แล้วจึงนำไปตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ ความงอกของเมล็ดพันธุ์ที่เพาะในห้องปฏิบัติการ ความงอกของเมล็ดพันธุ์ที่เพาะในสภาพโรงเรือน ดัชนีการงอก ความชื้นของเมล็ดพันธุ์หลังจากการเคลือบ…

นอกจากนี้ยังต้องมีการทดลองเคลือบกับสารป้องกันโรคและศึกษาประสิทธิภาพของการป้องกันโรคของเมล็ดพันธุ์ที่เคลือบสารทั้งในสภาพห้องปฏิบัติการและในโรงเรือน พบว่าเมล็ดพันธุ์ที่เคลือบด้วยพอลิเมอร์ชนิดละลายน้ำมีเปอร์เซ็นต์ความงอกที่เพาะในสภาพห้องปฏิบัติการและในสภาพโรงเรือนไม่มีความแตกต่างกันกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เคลือบสาร ส่วนอายุการเก็บรักษาอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ความงอก 80-90 เปอร์เซ็นต์

…งานวิจัยดังกล่าวนอกจากเป็นการสร้างเอก-ลักษณ์ของพันธุ์พืช ยังทำให้เกษตรกรทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความสนใจ…

เพ็ญพิชญา เตียว

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย เพ็ญพิชญา เตียว
  • 18 เมษายน 2554, 05:00 น.

วิจัยสารเคลือบสตาร์ชข้าวเจ้า รักษาคุณภาพความสด”ไข่ไก่”

8 พฤศจิกายน 2553, 05:00 น.

ผ่านทางวิจัยสารเคลือบสตาร์ชข้าวเจ้า รักษาคุณภาพความสด\”ไข่ไก่\” – ข่าวไทยรัฐออนไลน์.

Pic_125076

 

ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ สรรพกุล

“เคยู โอวาการ์ด : สารเคลือบไข่สดจากสตาร์ชข้าวเจ้า” (KU OvaGuard: Fresh Egg Coating from Rice Starch) เป็นนวัตกรรมสารเคลือบไข่ไก่ โดยการนำแป้งข้าวเจ้ามาแปรรูปให้เป็นสารละลายคล้ายเจล เพิ่มความคงตัวด้วยอนุพันธ์ของเซลลูโลสและเติมพลาสติไซเซอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลือบ เพื่อใช้สำหรับเคลือบไข่ไก่ให้สดได้ถึง 28 วัน

งานวิจัยนี้เป็นผลงานของ ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ สรรพกุล จากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยผลงานดังกล่าวคว้ารางวัลที่ 3 จากการประกวด นวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2553

เคยู โอวาการ์ด : สารเคลือบไข่สดจากสตาร์ช ข้าวเจ้า.เคยู โอวาการ์ด : สารเคลือบไข่สดจากสตาร์ช ข้าวเจ้า.

ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ เปิดเผยว่า…ในบ้านเรานั้นการตั้งราคาไข่ไก่จะแบ่งเกรดตามขนาด น้ำหนัก โดยคุณภาพความสดนั้นอยู่ในดุลพินิจท้ายสุด ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับผลเสียโดยตรง หากผลผลิตมีการสูญเสียน้ำหนัก และเสื่อมคุณภาพจากภายใน โดย เฉพาะเวลาที่จุลินทรีย์บางชนิดซึมผ่านเข้าไป ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนได้

ส่วนใน ตลาดต่างประเทศ การตั้งราคาซื้อ–ขายไข่ จะขึ้นอยู่กับคุณภาพ ความสดใหม่ ไข่ที่มีการวางขายนานเกิน 2 สัปดาห์ จะมีการปรับราคาลงประมาณ 40–60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ผลิต ดังนั้น หากกระบวนการเก็บรักษาให้คงความสดมีคุณภาพในระยะเวลายาวนาน จึงนับเป็นการเพิ่มมูลค่า อีกทั้งเอื้อประโยชน์ ต่อการส่งผลิตผลไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน

หลังเก็บไว้นาน 28 วัน ทดสอบแล้วพบว่า คุณภาพความสดคงเกรดเอ.หลังเก็บไว้นาน 28 วัน ทดสอบแล้วพบว่า คุณภาพความสดคงเกรดเอ.

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว…ทีมงานจึงพัฒนาสารใช้เคลือบผิวเปลือกไข่ จากวัสดุต่างๆ เช่น น้ำมัน พอลิเมอร์สังเคราะห์ และพอลิเมอร์ย่อยสลายทางชีวภาพ  ซึ่งสารเหล่านี้จะทำหน้าที่ช่วยเพิ่มการปกป้อง กันการซึมผ่านต่อการเคลื่อนย้ายความชื้นผ่านเปลือกไข่  ยืดอายุการเก็บคุณภาพในเชิงค่า  “ฮอก”  ที่ เกี่ยวข้องกับเกรดไข่ การลดลงของการสูญเสียน้ำหนักโดยขั้นตอนการวิจัย เริ่มจากหลังนำไข่สดมาผ่านขบวนการ  ด้วยการนำแป้งข้าวเจ้ามาแปรรูปให้เป็นสารละลายคล้ายเจล แล้วทำการหาสูตรสารเคลือบไข่ที่เหมาะสม (สตาร์ชข้าวเจ้า) เพิ่มความคงตัวด้วยอนุพันธ์ ของเซลลูโลส ทำหน้าที่ป้องกันการแยกเฟส และใช้ “พลาสติไซเซอร์” ช่วยเพิ่มความอ่อนตัวของผลิตภัณฑ์ สุดท้ายที่เคลือบบนพื้นผิวเปลือกไข่ เพื่อทำให้ไม่เกิดรอยแตก กรรมวิธีนี้กล่าวให้เข้าใจง่ายๆก็คือ การทำ “ฟิล์ม” ที่สามารถบริโภคได้โดยไม่ก่ออันตราย

 

จากนั้นใช้ “กรดไขมัน” ซึ่งมีคุณสมบัติ “ไฮโดรฟิลิค” เพื่อป้องกันการซึมผ่านไอน้ำจากภายในสู่ภายนอก ร่วมกับ “สารต้านจุลินทรีย์” เสริมเป็นอันดับสุดท้าย นำไปเก็บในอุณหภูมิห้องเป็นระยะเวลานาน 4 สัปดาห์ ให้ผลว่า กรรมวิธีดังกล่าวสามารถรักษาคุณภาพของไข่คงไว้ที่เกรดเอ (59–75 Haugh Unit) ตลอดอายุการเก็บรักษา อีกทั้งยังรักษาโปรตีนในไข่ขาวข้น (โอวิโอมิวซิน) ไม่ให้เสื่อมสภาพ

…ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเก็บความแข็งแรงเปลือกไข่ และลดโอกาสการปนเปื้อนจุลินทรีย์จากภายนอกได้เป็นอย่างดี โดยที่สูตรดังกล่าวสามารถนำมาปรับสารเคลือบไข่สดต้านจุลินทรีย์ได้ หากผู้ผลิตต้องการตอบสนองตลาดพรีเมียม โดยมีต้นทุนเพียง 2.5 สตางค์/ฟอง…

นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความได้เปรียบด้านการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรของไทย.

 

เพ็ญพิชญา เตียว

 

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย เพ็ญพิชญา เตียว
  • 8 พฤศจิกายน 2553, 05:00 น.