ดินขาวเคโอลินช่วยเพิ่มผลผลิต วช.ต่อยอดผลวิจัยพัฒนาเป็นสารเคลือบใบและผลมะม่วง-แก้วมังกร

http://www.naewna.com/local/7028

วันศุกร์ ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555, 06.00 น.

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนการวิจัยกับ รศ.ดร.คณพล จุฑามณี และคณะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อขยายผลต่อยอดงานวิจัย การพัฒนาดินขาวเคโอลินเป็นสารเคลือบผล เพื่อเพิ่มผลผลิต ควบคุมเพลี้ยไฟ และโรคแอนแทรคโนสในไม้ผลเศรษฐกิจผลการวิจัยพบว่าดินขาวเคโอลินในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ในหลายพื้นที่ เช่นอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี รวมทั้งคุณสมบัติในการเป็นวัสดุเคลือบ ใบ กิ่ง และผล เพื่อลดอาการใบไหม้ และเพิ่มคุณภาพผลผลิตในไม้ผลต่างกัน

ทั้งนี้โดยพบว่าดินขาวเคโอลิน ทั้ง 3 แหล่ง สามารถนำมาพัฒนาเป็นสารเคลือบใบและผลในมะม่วงและแก้วมังกรได้ดี เมื่อพ่นสารเคโอลิน จะสามารถป้องกันการทำลายของศัตรูพืชได้ และยังป้องกันไม่ให้ผิวผลไม้สัมผัสกับแดดโดยตรง เนื่องจากมีลักษณะเป็นฟิล์มบางๆ จึงทำให้ผลไม้มีผิวสวยงาม โดยเฉพาะดินขาวเคโอลิน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เหมาะสำหรับใช้เคลือบผลมะม่วงในฤดูร้อน เพื่อป้องกันกระบวนการสังเคราะห์แสงของมะม่วง ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ผิวมะม่วงในระยะสุกมีสีเหลืองสวยงาม และยังช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคแอนแทรคโนส บนผิวมะม่วงน้ำดอกไม้ระยะผลสุกได้ และยังช่วยลดการเกิดโรคใบจุดสีน้ำตาลบนกิ่งแก้วมังกรด้วย

สำหรับดินขาวเคโอลิน พบได้ในประเทศจีน เม็กซิโก บราซิล ในประเทศไทยพบเหมืองแร่ที่ผลิตดินขาวเคโอลิน ที่จังหวัดลำปาง ระนอง อุตรดิตถ์ และปราจีนบุรี ดินขาวเคโอลินเป็นสารที่ให้สีขาวและใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก เครื่องสำอาง และยาสีฟัน ส่วนแนวคิดที่นำดินขาวเคโอลินมาใช้ทางการเกษตร คือดินขาวเคโอลินเมื่อถูกผลิตให้อยู่ในรูปสารละลายและนำมาพ่นให้กับพืช จะมีลักษณะเป็นฟิล์มเคลือบลำต้น ใบ และผลไม้ ฟิล์มนี้จะมีคุณสมบัติป้องกันการเข้าทำลายของแมลงและการวางไข่ของเพลี้ยได้ เคโอลิน มีผลต่อกระบวนการสังเคราะห์แสง โดยสารสีขาวช่วยสะท้อนแสงช่วยลดความร้อนที่พืชได้รับ โดยใช้สารละลายดินขาวเคโอลิน ความเข้มข้น 60 กรัม/ลิตร ฉีดพ่น ตั้งแต่มะม่วงมีอายุใบ 45 วัน จนถึงระยะผลโตเต็มที่ 12 สัปดาห์ก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งได้ผลดีในระดับที่จะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

ใช้ดินขาวเคโอลินเคลือบใบ-ผล

ใช้ดินขาวเคโอลินเคลือบใบ-ผล

ใช้ดินขาวเคโอลินเคลือบใบ-ผลป้องกันโรคและแมลงทำลาย’มะม่วง’

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาของชาวสวนมะม่วงที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ ก็คือในช่วงระหว่างที่มะม่วงออกดอกและเริ่มติดผล มักจะพบเพลี้ยจั๊กจั่นมาดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกและช่อดอกมะม่วงและถ่ายมูล ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำหวานออกมาติดตามช่อดอกและใบ ซึ่งน้ำหวานเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารเพื่อการเติบโตของราดำ จึงมักพบราดำบนช่อดอก ใบและผิวผลของมะม่วง นอกจากนี้ยังพบว่าในระหว่างที่ผลมะม่วงเจริญเติบโตจนถึงผลสุก จะพบการระบาดของโรคแอนแทรคโนสบนผิวผล โดยเฉพาะในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้

ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.คณพล จุฑามณี อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้พัฒนาดินขาวเคโอลินเพื่อเป็นวัสดุเคลือบใบและผล เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ป้องกันอาการใบไหม้ และควบคุมโรคและแมลงบางชนิดในไม้ผลเศรษฐกิจโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และส่วนต่อยอดงานประดิษฐ์และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มา ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน

รศ.ดร.คณพล กล่าวถึงคุณสมบัติของดินขาวเคโอลินมักถูกนำมาใช้เป็นสารให้สีขาวในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยาสีฟัน และเซรามิก แต่สำหรับด้านการเกษตร เมื่อเตรียมดินขาวเคโอลินให้อยู่ในรูปสารละลายและนำไปพ่นให้กับพืช สารละลายดินขาวเคโอลินจะเคลือบลำต้น ใบและผลมีลักษณะเป็นฟิล์มได้ เนื่องจากสารเคโอลินเป็นสารโพลีเมอร์ที่มีคุณสมบัติกันน้ำ ทำให้สปอร์ของเชื้อราที่มากับน้ำไม่สามารถสัมผัสกับผิวของใบหรือผลไม้ได้โดยตรง ดังนั้นดินขาวเคโอลิน จึงสามารถใช้ป้องกันโรคพืชโดยเฉพาะโรคพืชที่อาศัยน้ำเป็นตัวพาหนะ เช่น โรคแอนแทรคโนส

นอกจากนี้ดินขาวเคโอลินมีสีขาว จึงมีคุณสมบัติไล่แมลง ป้องกันการเข้าทำลายของแมลงและการวางไข่ของแมลง สีขาวของเคโอลินยังสามารถสะท้อนแสงที่ส่องกระทบบนใบพืช สามารถลดความเข้มแสงที่ใบหรือผลพืชได้รับโดยตรง ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้ในการเคลือบผิวใบและผลของพืช เพื่อป้องกันการเกิดอาการใบและผลไหม้ เพิ่มคุณภาพผลผลิต และควบคุมการเข้าทำลายของแมลงและโรคพืชได้

นักวิจัยคนเดิมระบุอีกว่า จากการทดลองใช้ดินขาวเคโอลินเป็นวัสดุเคลือบมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ที่ติดผลนอกฤดูในฤดูฝน พบว่า การพ่นสารเคโอลินทำให้เก็บเกี่ยวผลมะม่วงได้มากขึ้น และสามารถลดการเกิดโรคแอนแทรคโนส ทั้งในระยะก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวได้ สำหรับการใช้ดินขาวเคโอลินกับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองที่ออกดอกตามฤดูกาลปกติ พบว่าดินขาวเคโอลินสามารถลดการเกิดราดำบนผิวใบได้ เนื่องมาจากการพ่นดินขาวเคโอลินมีผลลดจำนวนของเพลี้ยจั๊กจั่นที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกและช่อดอกมะม่วงได้ และสามารถเก็บเกี่ยวผลมะม่วงได้มากขึ้น และสามารถลดการเกิดโรคแอนแทรคโนส ทั้งในระยะก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวได้

“จากการคำนวณค่าใช้จ่ายของราคาดินขาวเคโอลินในการพ่นให้กับมะม่วงตั้งแต่เริ่มติดผลจนการเก็บเกี่ยว รวม 11 ครั้ง เท่ากับ 3.30 บาทต่อต้น ดังนั้นจึงมีราคาถูกกว่าการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและโรคพืช รวมทั้งทำให้ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัยต่อสารตกค้างจากสารเคมีกำจัดแมลงและโรคพืช”

อย่างไรก็ตามหลังทีมนักวิจัยได้มีการนำดินขาวเคโอลินเป็นวัสดุเคลือบมะม่วงแล้ว ล่าสุดยังนำไปทดลองไปใช้กับพืชอื่น เช่น สับปะรด ด้วย ดังนั้นเกษตรกรที่สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ รศ.ดร. คณพล จุฑามณี นักวิจัยเจ้าของผลงานดังกล่าว โทร.0-2562-5444 ในวันและเวลาราชการ

วิจัยดินเคโอลินใช้แทนเคมี ลดความเข้มแสง คุมโรคแมลง

http://www.thairath.co.th/content/edu/249966

2 เมษายน 2555, 05:00 น.

Pic_249966

ดินขาวเคโอลินซึ่งเก็บมาจากพื้นที่ต่างๆ

ปัจจุบันกระแสการผลิตพืชผักปลอดสารนั้น ได้รับความสนใจทั้งผู้ผลิต ตลาดรับซื้อและกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นทางเลือก รศ.ดร.คณพล จุฑามณี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยการใช้ “ดินขาวเคโอลินทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อควบคุมโรคแมลงและเพิ่มคุณภาพผลผลิตมะม่วง” ขึ้น

รศ.ดร.คณพล เปิด เผยว่า จากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ความเข้มของแสงแดด เป็นผลทำให้พืชเกิดการสังเคราะห์แสงจะลดลง เกิดการทั้งใบและผลไหม้ เป็นสาเหตุทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพปริมาณลดลง จากสภาวะดังกล่าวเบื้องต้นจึงศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของพืช อากาศที่มีความร้อน โดยการทำ “โรงเรือนหลังคาพลาสติก” ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ แต่หากนำไปใช้จะส่งผลทำให้ต้นทุนเกษตรกรสูงขึ้น

และจากการศึกษา พบว่า ในต่างประเทศมีการนำ “ดินขาวเคโอลิน” มาใช้ด้านการเกษตร ซึ่งดินฯดังกล่าว มีคุณสมบัติด้านความเหนียวยึดเกาะใบพืช จากข้อมูลดังกล่าวจึงเริ่มเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในจังหวัดลำปาง เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และระยอง มาวิจัยถึงความเป็นไปได้ในการใช้ “ลดความเข้มของแสง” ทั้งทางใบ และผล

รศ.ดร.คณพล จุฑามณีรศ.ดร.คณพล จุฑามณี

สำหรับแนวทางการวิจัย เริ่มจากนำดินขาวฯปริมาณ 50 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร นำไปฉีดในพืชกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ มะม่วง ทั้งนี้เพื่อช่วยลดการตกตะกอน อีกทั้งช่วยให้คุณสมบัติเกาะติดได้นานขึ้น จึงใช้ สารโซเดียมซีลีเกต มาเป็นส่วน ผสม แล้วนำไปทดลองที่สวนมะม่วง อ.บางเลน จังหวัดนครปฐม ในช่วงที่แดดไม่แรง 1-2 ครั้ง/สัปดาห์หลังการศึกษาพบว่า นอกจากช่วยลดการไหม้ของใบและผลได้แล้ว ยังช่วยลดการระบาดของโรคแอนแทร็กซ์โนส และที่สำคัญช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 130 ลูก/ต้น เพิ่มขึ้นมาที่ 173 ลูก/ต้น ดังนั้นต่อมาจึงมุ่งศึกษาในแก้วมังกร ที่ในฤดูร้อนจะเกิดอาการใบไหม้ ผลเน่า ซึ่งพบว่าให้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน และตอนนี้ได้ทำการขยายผลไปยังสับปะรด ซึ่งหากผลผลิตออกในช่วงเดือนเมษายนเกษตรกรจะต้องทำการห่อผลเพื่อป้องกันโรคผลไหม้ จึงใช้ดินขาวฯฉีดพ่นที่ผล โดยขณะนี้อยู่ในช่วงเก็บข้อมูล

การค้นพบว่า ดินขาวเคโอลิน มีคุณสมบัติสามารถนำไปใช้ในด้านการเกษตรครั้งนี้นอกจากลดการพึ่งพาสารเคมีได้ แล้วยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยปริมาณผลผลิตให้มีคุณภาพได้อีกทางหนึ่ง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร.0—2562—5444.
เพ็ญพิชญา เตียว

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย เพ็ญพิชญา เตียว
  • 2 เมษายน 2555, 05:00 น.

วิจัยสรรพคุณ ‘ดินขาวเคโอลิน’ ใช้เคลือบผลไม้คุมโรคแอนแทรกฯ

21 กุมภาพันธ์ 2554, 05:00 น.

ผ่านทางวิจัยสรรพคุณ \’ดินขาวเคโอลิน\’ ใช้เคลือบผลไม้คุมโรคแอนแทรกฯ – ข่าวไทยรัฐออนไลน์.

Pic_150422

 

ภาวะโลกร้อน…ความแปรปรวน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อ ระบบนิเวศน์ การเจริญเติบโต การออกดอก และ ติดผลของพืช ช่วงฤดูร้อนพืชได้รับปริมาณแสงที่มีความเข้มสูงเกินไป… ทำให้เกิดอาการใบไหม้ และ ผลไม้มีสีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ในช่วงหน้าแล้งมักจะขาดแคลนน้ำและความเข้มแสงสูง แนวทางการผลิตผลไม้ให้มีคุณภาพ ต้องควบคุมด้วยการใช้ สารกำจัดแมลง และ โรคพืช ในอัตราและปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะระยะเก็บเกี่ยวให้ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมของอียู หรือหน่วยงานของประเทศนั้นๆ และต้องมีสีผิวตรงตามสายพันธุ์ จึงจะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้

นักวิจัย ได้ทดลองนำ ดินขาวเคโอลินมาใช้ เคลือบผลไม้ขณะที่ยังอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มคุณภาพ ทั้งยังสามารถควบคุมแมลงและโรคพืชได้อีกด้วย

รศ.ดร.คณพล จุฑามณีรศ.ดร.คณพล จุฑามณี

รศ.ดร.คณพล จุฑามณี ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ดินขาวเคโอลิน (Kaolin) หินที่มีแร่ Kaolinite พบได้ในหลายที่  ส่วนบ้านเราพบมากที่  จังหวัดลำปาง ระนอง สุราษฎร์ธานี ปราจีนบุรี และ อุตรดิตถ์

ดินขาวเคโอลิน…ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก เช่น ถ้วยชาม เครื่องสุขภัณฑ์ เครื่องประดับ เป็นส่วนประกอบในยาสีฟัน…ด้านการเกษตร สหรัฐอเมริกาได้พัฒนาให้อยู่ในรูปสารการค้าชื่อ  Surround WPTM นำมาพ่นให้กับพืช จะมีลักษณะเป็นฟิล์มสีขาวเคลือบลำต้น ใบ และ ผลได้ ฟิล์มนี้ คุณสมบัติป้องกันการเข้าทำลายของแมลง และ การวางไข่ของแมลงจำพวกเพลี้ย  สามารถสะท้อนแสงได้  ทำให้ลดความ ร้อนที่พืชได้รับจึงมี อัตราการสังเคราะห์แสงที่สูงขึ้น และ สามารถเพิ่มผลผลิตได้ เช่น แอปเปิ้ล เกรฟฟรุต วอลนัท และ อัลมอนด์…

คณะผู้วิจัยได้ ทดลองนำดินขาวเคโอลินจากแหล่งต่างๆมาพัฒนาเป็นสารเคลือบใบ และ ผลไม้ โดยพบว่า ดินขาวเคโอลินแม่ทะ จังหวัดลำปาง และดินขาวเคโอลิน จากจังหวัดอุตรดิตถ์ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นสารเคลือบใบและผลไม้ได้

การใช้ดินขาวเคโอลินเคลือบผลไม้.การใช้ดินขาวเคโอลินเคลือบผลไม้.

รศ.ดร.คณพล บอกอีกว่า จากการศึกษาในแปลงปลูกส้ม พันธุ์วาเลนเซีย ของ  มูลนิธิโครงการหลวง  ได้ทำการ  ฉีดพ่นสารเคโอลิน  1-2  ครั้งต่อสัปดาห์ ในช่วงผลส้มมีอายุ 7 เดือนจนถึงเก็บเกี่ยว พบว่า สารเคโอลินทำให้คุณภาพผลส้มดีขึ้น ทั้ง ปริมาณน้ำตาล ปริมาณกรดวิตามินซี ในน้ำคั้นมีปริมาณมากกว่าการห่อผล  และ  สามารถลดจำนวนเพลี้ยแป้งบนเปลือกได้

ส่วนการทดลองใน มะม่วงพันธุ์มหาชนก พบว่า การพ่นดินขาวเคโอลินตั้งแต่เริ่มติดผล จนถึงระยะ ก่อนการเก็บเกี่ยว 1 สัปดาห์ พบว่า ต้นมะม่วงที่ได้รับสารเคโอลินมีอัตราการสังเคราะห์ แสงที่สูงขึ้น จึงทำให้สามารถเก็บผลผลิตได้จำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ การ พ่นดินขาวเคโอลินไปเคลือบผลมะม่วง ทำให้ไม่ถูกแสงแดดโดยตรง จึงมีสีแดงตรงตามลักษณะประจำพันธุ์ของมะม่วงมหาชนก  และไม่พบการเกิดโรคแอนแทรกโนส

 

…ในการทดลองกับ ผลไม้ แก้วมังกร พบว่า สามารถ ลดอาการใบไหม้ในฤดูร้อน ทำให้ผลผลิตมีขนาดใหญ่ขึ้น มีความหวานเพิ่มขึ้น และ ลดการระบาดของโรค Brown spot ที่เกิดจากเชื้อรา Dothiorella sp. ซึ่งเกิดจากบาดแผลเนื่องจากการเข้าทำลายของแมลง สามารถควบคุมเพลี้ยอ่อน และ มดดำ ได้อีกด้วย

การวิจัยทั้งหมดได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และส่วนต่อยอดงานประดิษฐ์และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกริ๊งกร๊างหา รศ.ดร.คณพล จุฑามณี ที่ 0-2562-5444 ต่อ 1321 หรือคลิกที่ E-mail : Kanapol.j@ku.ac.th 
“ไชยรัตน์ ส้มฉุน”

 

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ไชยรัตน์ ส้มฉุน
  • 21 กุมภาพันธ์ 2554, 05:00 น.