ชี้ ‘เมล็ดมะขาม’ ยับยั้งเซลล์มะเร็ง กินเป็นอาหารได้

http://www.thairath.co.th/content/edu/289578

8 กันยายน 2555, 11:37 น.
Pic_289578

 

อาจารย์ด้านสมุนไพร ม.มหิดล พบ ‘เมล็ดมะขาม’ ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง เพราะมีโพลีแซคคาไรด์เพิ่มภูมิคุ้มกัน ชี้งานวิจัยต่างประเทศรองรับ ระบุสามารถกินเป็นอาหารได้…

จากงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 9 “การนวดไทย มรดกไทยสู่มรดกโลก” ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการแถลงข่าว เรื่อง “รวมพลคนต้านมะเร็งจากสหวิชาชีพ” โดย น.ส.พร้อมจิต ศรลัมน์ อาจารย์ประจำสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปี 2555 มีงานวิจัยของต่างประเทศเกี่ยวกับเมล็ดมะขามจำนวนมาก โดยพบว่า ในเนื้อเมล็ดมะขามมีไขมันและโพลีแซคคาไรด์ ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวไม่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานเหมือนน้ำตาลโมเลกุลคู่อย่างกลูโคสและละลายได้ดีในน้ำ

ทั้งนี้ ยังพบว่า โพลีแซคคาไรท์จากเมล็ดมะขาม มีฤทธิ์เสริมประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยหากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง หรือน้อยกว่าปกติ โพลีแซคคาไรท์จากเมล็ดมะขามจะกระตุ้นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่ผ่านเข้าในร่างกาย โดยเฉพาะเชื้อไวรัส โดยยังพบว่าสามารถยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งได้

น.ส.พร้อมจิต กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน งานวิจัยในต่างประเทศเมื่อปี 2550 ยังพบอีกว่าสารสกัดเมล็ดมะขามที่ไม่คั่ว สามารถต้านทานความเป็นพิษต่อตับ กระตุ้นการสร้างเซลล์ตับขึ้นทดแทนส่วนที่เสียไปและมีฤทธิ์ปกป้องไตของหนูทดลองจากสารเคมีที่ก่อมะเร็งต่อไตด้วย โดยในงานวิจัยระบุว่า ได้มีการทำการทดลองในหนูทดลองด้วยการให้พาราเซตามอล ซึ่งเป็นพิษต่อตับขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวหนูทดลอง ติดต่อกัน 7 วัน เพื่อทำลายเซลล์ตับหนู หลังจากนั้นวันที่ 3 เริ่มป้อนสารสกัดน้ำของเนื้อในเมล็ดมะขาม ขนาด 700 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวหนู เป็นเวลาเป็นเวลา 9 วัน แล้วตรวจหาค่าเอนไซม์ที่ส่อถึงการอักเสบและการทำลายเซลล์ตับ วัดน้ำหนักตับที่เหลือและตัดชิ้นเนื้อตับไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็พบว่าสารสกัดน้ำของเนื้อในเมล็ดมะขาม ไปกระตุ้นการสร้างเซลล์ตับขึ้นทดแทนส่วนที่เสียไปได้

น.ส.พร้อมจิต กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องความเป็นพิษของเมล็ดมะขามต่อร่างกาย ทั้งพิษแบบเฉียบพลันและพิษระยะยาว 3-4 เดือน พบว่าไม่ปรากฏความเป็นพิษในร่างกายแต่อย่างใด ดังนั้น สามารถกินเมล็ดมะขามเป็นเหมือนอาหารอย่างหนึ่งได้โดยการคั่ว หรือนำไปบดแล้วผสมน้ำกินได้ แต่ต้องมีการกินอาหารประเภทอื่นที่มีประโยชน์ร่วมด้วย.

 

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
  • 8 กันยายน 2555, 11:37 น.

คนไทยไม่ทันแก่ ก็มีโอกาสสังเวยชีวิตเพราะมะเร็งตับได้

http://www.thairath.co.th/content/life/273902 

6 กรกฎาคม 2555, 15:30 น.

Pic_273902

“มะเร็งตับ” ฟังผิวเผินอาจเป็นโรคที่ดูไกลตัว แต่ในช่วง 5 – 6 ปีมานี้ สังเกตไหมว่าเราต้องสูญเสียบุคคลที่สำคัญไปด้วยโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นในปี 2549 ดีเจ โจ้ ดีเจชื่อดังจากค่ายเอไทม์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับด้วยวัยเพียง 35 ปี หลังต่อสู้กับโรคร้ายนี้มานานกว่า 3 เดือน และในปี 2551 ยอดรัก สลักใจ ขุนพลเพลงลูกทุ่งไทย ก็ลาโลกไปด้วยโรคมะเร็งตับอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในวัยไม้ใกล้ฝั่งเท่านั้น ถึงจะมีโอกาสเสี่ยงเผชิญกับโรคนี้ คนอายุน้อยที่อยู่ในวัยทำงาน ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

นายแพทย์สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี เผยว่า โรคมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งที่เกิดขึ้นที่ตับ (มะเร็งชนิดอื่นของตับ เช่น มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งแพร่กระจายมาที่ตับ) สถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย จากข้อมูลล่าสุดของผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยปี 2553 พบว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ในผู้ชาย และเป็นอันดับที่ 7 ในผู้หญิง และผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับนี้เมื่อตรวจพบก็มักจะเสียชีวิตใน 3 ถึง 6 เดือน หากไม่ได้รับการรักษา

โดยทั่วไปมักตรวจพบมะเร็งตับครั้งแรกในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี แต่ในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งตับที่ตรวจพบตั้งแต่อายุ 30-35 ปีได้อยู่เสมอ เนื่องจากในประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความชุกของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูง ซึ่งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งตับ มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับมากกว่าคนปกติ 100-200 เท่า

 

ใครบ้างที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับ

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทั้งกรณีเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี มีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง หรือตับแข็ง

ผู้ป่วยโรคตับแข็งจากสาเหตุอื่นทุกชนิด เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ผู้ป่วยตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยตับแข็งจากไขมันพอกตับ เป็นต้น

สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งพบปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ก็เป็นสารก่อมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ

อาการและอาการแสดงของโรคมะเร็งตับ

ผู้ป่วยมะเร็งตับระยะแรกมักไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง แพทย์มักวินิจฉัยได้จากการตรวจคัดกรองในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น การทำอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบก้อนมะเร็ง โดยส่วนใหญ่ถ้าผู้ป่วยมีอาการแล้ว โรคมะเร็งตับมักจะเป็นมากและลุกลาม อาการแสดงต่างๆ จะคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง เช่น ปวดท้อง เสียดท้อง น้ำหนักลด ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวมเนื่องจากมีน้ำในช่องท้อง ขาบวม อ่อนเพลีย ทานอาหารไม่ได้ อาเจียนเป็นเลือด

นายแพทย์สุขประเสริฐ กล่าวว่า ในประเทศไทยผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักจะมาพบแพทย์ในระยะที่โรคมีการลุกลามมากแล้ว ไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งตับให้หายขาดได้ สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะผู้ป่วยมักไม่ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งตับ จึงไม่มีการตรวจคัดกรองเพื่อสามารถตรวจพบโรคมะเร็งตับได้ในระยะเริ่มต้น ปัจจุบันผู้ป่วยโรคมะเร็งตับสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกของโรค

การตรวจหามะเร็งตับทำได้อย่างไร 

เนื่องจากมะเร็งตับเปรียบเหมือนมฤตยูเงียบ การเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ คือ ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปในผู้ชาย และอายุเกิน 50 ปีในผู้หญิง ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งจากทุกสาเหตุ ควรจะต้องตรวจอัลตราซาวด์ดูเนื้อตับอย่างน้อยทุก 6-12 เดือน

วิธีการรักษาโรคมะเร็งตับ

มีวิธีการรักษาต่างๆ ได้แก่ ใช้การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออก การฉีดยาเคมีบำบัด  การฉีดแอลกอฮอล์ไปที่ก้อนมะเร็ง การใช้คลื่นเสียง RFA (Radiofrequency Ablation) ปลูกถ่ายตับให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งการพิจารณาวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ขนาดก้อนมะเร็ง สมรรถภาพการทำงานของตับ และความแข็งแรงของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะมีการพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

วิธีการป้องกันการเป็นมะเร็งตับ

ปัจจุบัน การป้องกันไม่ให้กลายเป็นมะเร็งตับ เป็นการรักษาที่ดีที่สุด  ซึ่งวิธีการรักษาในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงมีดังนี้

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ให้การรักษาด้วยยาฉีดหรือยารับประทาน

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ให้การรักษาด้วยยาฉีดและยารับประทาน

ผู้ป่วยตับแข็งจากแอลกอฮอล์ ให้งดแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด

ผู้ป่วยโรคตับแข็งจากสาเหตุอื่น ให้การรักษาตามสาเหตุ

หลีกเลี่ยงอาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟลาท๊อกซิน เช่น ถั่วลิสง โดยเฉพาะถั่วลิสงป่นที่ค้างนานๆ ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว และเต้าหู้ยี้

กล่าวโดยสรุป มะเร็งตับเป็นภัยเงียบที่พบได้บ่อยในประเทศไทย หากท่านหรือบุคคลใกล้ชิดเป็นผู้หนึ่งซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ หรือยังไม่ทราบว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ท่านควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อให้ห่างไกลจากภัยร้าย “มะเร็งตับ” ตลอดไป
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย โรงพยาบาลเวชธานี
  • 6 กรกฎาคม 2555, 15:30 น.

สธ.เปิดตัว ‘ตั๊ก มยุรา’ พรีเซ็นเตอร์ป้องกันมะเร็งเต้านม

http://www.thairath.co.th/content/edu/273026

3 กรกฎาคม 2555, 16:14 น.

Pic_273026

สธ. เปิดตัว “ตั๊ก มยุรา” พรีเซ็นเตอร์ โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ หลังพบหญิงไทยตายจากมะเร็งเต้านมเฉลี่ย 1 คนทุก 2 ชั่วโมง…

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข แถลงข่าวความร่วมมือการดำเนินงานโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammography) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 ณ ลานดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ กรุงเทพมหานคร ว่า หลังจากที่ได้เปิดตัวโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ฯ ด้วยการจัดสร้างวัตถุมงคลพระพุทธโสธร รุ่นเบญจนวมงคล เพื่อเชิญชวนคนไทยสบทบทุนเข้าร่วมโครงการฯ ในการจัดทำหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ เพื่อรณรงค์ ให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม ให้กับสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งด้อยโอกาส และอยู่ในพื้นที่ห่างไกลไปแล้ว ล่าสุดได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ และเปิดตัว Presenter “มยุรา เศวตศิลา” เพื่อเชิญชวนให้คนไทยร่วมสมทบทุนโครงการฯ และรณรงค์ให้สตรีไทยใส่ใจการป้องกันและตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง

“สำหรับสถานการณ์การเกิดโรคมะเร็งเต้านมพบมากที่สุดในสตรีไทย โดยในปี 2553 พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านม รายใหม่ 13,154 ราย และเสียชีวิตประมาณ 4,665 ราย หรือทุก 2 ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม 1 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสตรีไทยจำนวนมาก ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดและการป้องกันมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะวิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และที่สำคัญ เครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammography) ที่สามารถค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีไม่เพียงพอในการให้บริการ โดยเฉพาะสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล และการเอกซเรย์มะเร็งเต้านมไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารถที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจที่อยู่ในอัตรา 2,000 – 5,000 บาทได้ จึงทำให้สตรีเหล่านี้ขาดโอกาส ในการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก ซึ่งหากมาพบแพทย์ก็อยู่ในระยะที่ลุกลามและแพร่กระจาย ทำให้ยากต่อการรักษา และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง” นายวิทยา กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยง มีรายได้น้อย และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้พ้นภัยมะเร็งเต้านม กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี ซึ่งได้รับพระราชานุญาต จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะทรงเป็นประธาน “โครงการกาญจนบารมีเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ปีพุทธศักราช 2539” ให้จัดตั้งขึ้นในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติปีที่ 50 เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการป้องกันมะเร็ง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่ยากไร้ให้ได้รับการดูแลจัดทำ “โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammography) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555” ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน ตื่นตัวในการป้องกันมะเร็งเต้านม ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และสอนการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงอายุ 35–40 ปี ควรจะตรวจเต้านมค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammography) แต่การตรวจไม่ได้อยู่ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นโครงการฯ จะให้บริการเฉพาะสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยง ยากจน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการตรวจโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ด้าน นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า การเกิดมะเร็งเต้านมในสตรีไทยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง คือกลุ่มสตรีที่มีรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ไม่รับประทานผัก ขาดการออกกำลังกาย มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน กลุ่มคนที่มีฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาเมื่ออายุน้อย หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ที่หมดประจำเดือน หรือสตรีที่มีญาติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งหลายๆ ชนิด แต่ในสตรีอายุ 20–30 ปี ก็พบได้บ่อยเช่นกัน ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการมีก้อน และแผลที่เต้านม หรือมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลจากหัวนม

นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันมะเร็งเต้านม คือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 5 วันๆ ละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารประเภทไขมัน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การตรวจพบให้เร็วที่สุด ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยเฉพาะสตรีที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งในการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง จะสามารถคลำพบก้อนที่โตประมาณ 1 ซม. ขึ้นไปได้ หากตรวจพบในระยะ 2-5 ซม. อัตราการรอดชีวิตมีถึงร้อยละ 70-90 หากคลำพบก้อนขนาด 5 ซม. ขึ้นไป อัตราการอยู่รอดมีเพียงร้อยละ 15-30 เท่านั้น ส่วนสตรีที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีความชำนาญทุกปี และสตรีที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammography) ที่สามารถพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาด 2-3 มม.ขึ้นไป ซึ่งหากพบในระยะนี้ จะสามารถรักษาให้หายได้ เพราะมะเร็งขนาดเล็กมากและยังไม่แพร่ไปที่อื่น.

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ทีมข่าวการศึกษา
  • 3 กรกฎาคม 2555, 16:14 น.

ภัยมะเร็งปากมดลูก”ท่วม-ไม่ท่วม”ก็เสี่ยง หมอสูติฯชี้อัตราตายสูงต้องเร่งป้องกัน

http://www.thaipost.net/node/48609

24 November 2554

ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ เปิดเผยในงานเสวนา “มะเร็งปากมดลูก รู้ทันป้องกันได้” ซึ่งโครงการผู้หญิงปกป้องผู้หญิงจากภัยมะเร็งปากมดลูก ได้จัดขึ้นเพื่อรณรงค์และให้ความรู้ถึงอันตรายของมะเร็งปากมดลูก แก่นักศึกษาพยาบาล ณ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในขณะที่ปัญหาน้ำท่วมยังวิกฤติสำหรับคนกรุงเทพฯ และมีโรคร้ายมากมายที่มากับน้ำท่วม แต่ยังมีอีกหลายโรคที่ไม่ได้มากับน้ำท่วมและไม่ควรมองข้าม หนึ่งในนั้นคือ โรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่ทำให้หญิงไทยเสียชีวิตมากที่สุด โดยจากสถิติพบว่า ทุกๆ วันจะมีหญิงไทยเสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึง 14 คน หรือในขณะที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ 30 วัน ก็จะมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 420 คน ดังนั้นจึงอยากให้ผู้หญิงทุกคน ลุกมาขึ้นป้องกันตัวเองจากมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่วันนี้
ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก 99% มาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีซึ่งติดต่อได้ง่ายมากทางเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากเชื้อชนิดนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสผิวหนังภายนอกด้วย ดังนั้นผู้หญิงทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงผู้ที่มีสามีเดียว ซึ่งเป็นที่น่าวิตกว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทยเราเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุต่ำกว่าชาวตะวันตก โดยในอดีตผู้หญิงไทยจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุ 16 ปี เด็กฝรั่งเริ่มมีตอนอายุ 13 ปี แต่ปัจจุบันสลับกับวัยรุ่นฝรั่ง คือ หญิงไทยเริ่มมีตั้งแต่ 13 ปี ขณะที่เด็กฝรั่งเริ่มมีตอน 16 ปี อีกทั้งผู้หญิงส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า “เมื่อรักกันได้ มีเพศสัมพันธ์ได้ ก็เลิกกันได้ และหารักใหม่ได้เช่นกัน” ทำให้ผู้หญิงไทยมีความเสี่ยง และเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้นเรื่อยๆ
“จะเห็นได้ว่า การมีเพศสัมพันธ์แม้เพียงครั้งเดียวก็มีความเสี่ยงในการรับเชื้อเอชพีวีแล้ว ฉะนั้นการเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูก หรือลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชพีวีเป็นเรื่องสำคัญของผู้หญิง” คุณหมอกล่าว และแนะว่า การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์, การมีคู่นอนหลายคน, การมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ได้ ผู้หญิงก็ต้องรู้จักป้องกันตัวเอง ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดควรทำ 2 วิธีร่วมกัน คือ 1.การตรวจคัดกรอง (แป็ปสเมียร์) เป็นการตรวจดูผลที่เกิดจากอดีต นั่นคือ ดูเซลล์ปากมดลูกซึ่งอาจมีความผิดปกติจากการติดเชื้อเอชพีวีมาจากในอดีต หากตรวจพบก็ต้องรีบรักษา เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนที่เซลล์ที่ผิดปกตินั้นจะเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง และ 2.การฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเอชพีวีเข้าสู่เซลล์ปากมดลูก เป็นการป้องกันเพื่ออนาคต เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็งสายพันธุ์หลัก 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุ 70% ของเชื้อเอชพีวีที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
“มะเร็งปากมดลูกนั้นจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงระยะลุกลาม และผู้หญิงไม่สามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยตัวเองเหมือนมะเร็งเต้านม เพราะปากมดลูกอยู่ข้างในไม่สามารถมองเห็นได้ เมื่อไม่มีอาการหรือสัญญาณอันตรายใดๆ ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่มักชะล่าใจ ละเลยการตรวจโรค รวมถึงอายที่จะไปตรวจ ส่งผลให้มะเร็งปากมดลูกมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดของมะเร็งในสตรี มากกว่ามะเร็งเต้านมที่แม้จะพบผู้ป่วยมาก แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่ามะเร็งปากมดลูก การตรวจแป็ปสเมียร์อย่างสม่ำเสมอร่วมกับฉีดวัคซีน จึงมีความจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคน ถึงแม้ว่าจะมีสุขภาพที่แข็งแรงก็ตาม เริ่มป้องกันเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อตัวคุณและคนที่คุณรัก จะได้ไม่ต้องกลายเป็นหนึ่งในสถิติของผู้ป่วย หรือผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก” ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์กล่าว.

cobas HPV Test เครื่องถอดรหัส… ‘มะเร็งปากมดลูก’

http://www.thairath.co.th/column/life/smartlife/252922

14 เมษายน 2555, 05:00 น.

Pic_252922

ปี 2554 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ประกาศรับรอง วิธีการทดสอบ cobas HPV Test 4800 ซึ่งเป็นวิธีตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มีเครื่องมือ 2 ชนิดในการทดสอบ คือ cobas x 480 หรือเครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ และเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ ที่สามารถเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมและตรวจจับสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เรียกว่า cobas z 480

การทดสอบด้วยเครื่องมือ 2 ชนิดนี้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่ใช้เทคนิคขั้นสูง แบบ Real-time PCR ความพิเศษของระบบทดสอบนี้ก็คือ สามารถตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus Virus) กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 14 สายพันธุ์สำคัญที่สุด คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบมากถึง 74% ในผู้หญิงไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกและ 70% ในผู้หญิงทั่วโลก!

“ทุกๆวันจะมีผู้หญิงไทยตายด้วยมะเร็งปากมดลูก 14 คน ขณะที่ทุกๆปี ผู้หญิงเกือบ 500,000 คน ถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเสียชีวิต” นพ.วิสิทธ์ สุภัคร-พงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และหัวหน้าแผนกมะเร็งนรีเวช รพ.บำรุงราษฎร์ บอกถึงสถานการณ์มะเร็งปากมดลูก

หลายครั้งที่การทำ “แพปเสมียร์” ไม่เพียงพอต่อการที่จะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก การทำแพปเสมียร์เป็นเพียงการสังเกตความผิดปกติของเซลล์ในปากมดลูก แต่ไม่สามารถที่จะตรวจพบเชื้อ HPV สายพันธุ์กลุ่มเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้

“สตรีที่โด่งดังหลายคน จบชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกในวัยเพียง 40 ต้นๆ ไม่เว้นแม้แต่ เอวิต้า เปรอง อดีตสตรี หมายเลข 1 ของอาร์เจนตินา ที่เป็นถึงผู้นำประเทศ เหมย เยี่ยน ฟาง นักร้อง นักแสดงชื่อดังของจีน หรือดาราสาวของไทย กุ้งนาง ปัทมสูต ที่แม้จะเคยรักษามะเร็งปากมดลูกจนหาย แต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นอีก และเสียชีวิตในที่สุด”

มะเร็งปากมดลูกไม่ต่างอะไรกับฆาตกรเงียบ ที่บ่อยครั้งคนไข้ไม่มีอาการอะไรเลย จนกระทั่งผู้ป่วยมีอาการหนัก เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด มีประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ มีเลือดออกทั้งที่หมดประจำเดือนไปแล้ว มีตกขาวเพิ่มมากขึ้น มีเลือดออกระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ ก็หมายความว่า มะเร็งได้เข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว

การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV กลุ่มเสี่ยงพร้อมกับการตรวจแพปเสมียร์ จะทำให้แพทย์สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ขั้นตอนรอยโรคก่อนมะเร็ง ซึ่งสำคัญมาก เพราะมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะรักษาให้หายขาดได้ถึง 98%

มีคำถามว่า ทำไมการตรวจหาสายพันธุ์ HPV ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจึงมีความจำเป็น คุณหมอวิสิทธ์ บอกว่า เชื้อไวรัส HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มีแค่ 14 สายพันธุ์เท่านั้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก และในจำนวนนี้ มีเพียง 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18 ที่อันตรายที่สุด

การศึกษาของ ศ.วอร์เนอร์ เค ฮา ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์ สาขามะเร็งนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยอะลาบามา สหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า ATHENA ด้วยวิธีทดสอบหาสายพันธุ์ HPV ในสตรี 47,000 คน พบว่า 1 ใน 10 ของสตรีที่ตรวจพบเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 เสี่ยงต่อการเป็นรอยโรคก่อนมะเร็ง ทั้งๆที่ผลการตรวจแพปเสมียร์เป็นปกติ นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า สตรีที่ตรวจพบการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่ากลุ่มที่ตรวจไม่พบ HPV สายพันธุ์เดียวกันถึง 35 เท่า

ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับสองของโลก ส่วนประเทศไทยเราอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกสูงสุด

อาการของมะเร็งปากมดลูกที่สังเกตได้ง่าย คือตกขาวเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว หรืออาจปนเลือด มีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น เลือดออกกะปริดกะปรอย น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อ่อนเพลีย

สำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก คือ ผู้หญิงที่แต่งงานเมื่ออายุน้อย คลอดบุตรหลายคน มีคู่นอนหลายคน เป็นกามโรคบ่อยๆ สามีเป็นมะเร็งที่องคชาตหรือเคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก มีประวัติในครอบครัว เช่น มีญาติผู้หญิงเป็นมะเร็งปากมดลูก

ถ้ามีความเสี่ยงและอาการอย่างที่ว่า อย่ารอช้า รีบไปพบแพทย์ทันที

มะเร็งทุกชนิด…รู้เร็วรักษาได้ แต่ถ้ารู้ช้า… “ตาย” ทุกราย!

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
  • 14 เมษายน 2555, 05:00 น.

ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลมะเร็งเต้านม

http://www.thaipost.net/node/46368

11 October 2554

ทุกเดือนตุลาคม เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ป้องกันผู้หญิงไทยให้ห่างไกลมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะ Lingerie Salon เดอะมอลล์กรุ๊ป ได้จัดโครงการ Lingerie Salon Pink Ribbon Charity ปีนี้เป็นครั้งที่ 7 เพื่อรวมพลังครั้งยิ่งใหญ่รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้
สำหรับปีนี้ มาลินี ทรัพย์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสบริหารสินค้า บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า โครงการ Lingerie Salon Pink Ribbon Charity ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการเพื่อผู้หญิงของเดอะมอลล์กรุ๊ป ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วถึง 7 ปีตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ด้วยการจำหน่ายเข็มกลัด Pink Ribbon ราคาชิ้นละ 10 บาท ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความห่วงใยระหว่างผู้หญิงด้วยกัน และให้กำลังใจผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายเสื้อยืดการกุศล Think Pink Have a good day ผลงานการออกแบบของดีไซเนอร์ชื่อดังของเมืองไทย หมู-พลพัฒน์ อัศวประภา แห่งแบรนด์ ASAVA ราคาตัวละ 200 บาท เพื่อนำรายได้มอบให้สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทยในพระราชินูปถัมภ์ โดยสามารถซื้อเข็มกลัด Pink Ribbon และเสื้อยืดการกุศล Think Pink Have a good day ได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนตุลาคมศกนี้
ในโอกาสของการเปิดโครงการ น้ำหวาน-สุพจี เหตระกูล ได้แนะนำการดูแลสุขภาพเพื่อให้ห่างไกลมะเร็งเต้านมว่า “ในเรื่องของการดูแลสุขภาพนั้น ส่วนตัวจะเริ่มจากการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานผักและผลไม้ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากเกิดความเครียดก็ต้องรีบหาทางออกโดยการเล่นดนตรี เพราะความเครียดจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ รวมถึงสภาพอากาศ มลพิษ สารเคมี ทำให้ในปัจจุบันมีอัตราผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็ง เพราะหากมารู้ทีหลังว่าตัวเราเองเป็นโรคนี้ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว น้ำหวานจึงอยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันเถอะค่ะ”
ด้านพอลลี่-พรพรรณ สิทธินววิธ พูดถึงการดูแลสุขภาพไว้ว่า “ส่วนใหญ่พอลลี่จะออกกำลังกายเป็นประจำ ทานวิตามิน แต่จะเน้นในเรื่องการดื่มน้ำ เพราะการดื่มน้ำจะช่วยในเรื่องของการขับถ่ายของเสีย และช่วยในเรื่องของการปรับสมดุลภายในร่างกาย อีกทั้งยังทำให้มีผิวพรรณที่ดี ซึ่งก็อยากให้ผู้หญิงไทยในปัจจุบันหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น หมั่นออกกำลังกาย ทานผักและผลไม้ รวมถึงใส่ใจในเรื่องอาหารการกินที่มีความสะอาด และที่สำคัญควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง”.

แพทย์เตือน “จิตตก” เสี่ยงมะเร็งถามหา

http://www.thaipost.net/node/45391

22 September 2554

ความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายคนเรานั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ร่างกายจะมีกระบวนการจัดการความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันใดเกิดจิตตก เครียด วิตกกังวล ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้กลไกทางภูมิคุ้มกันลดลง เซลล์ที่ผิดปกติก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีการสำรวจอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคนี้ไว้ชัดเจน แต่ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราชชี้ให้เห็นว่า มีคนไข้ใหม่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ราว 200-300 รายต่อปี ประมาณการว่าทั้งประเทศน่าจะมีประมาณ 1000-1500 รายต่อปี
สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์สันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น Epstein-Barr virus ซึ่งได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คุณหมอบอกว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีกำเนิดมาจากเซลล์ในต่อมน้ำเหลือง โรคนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามลักษณะของชิ้นเนื้อ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin lymphoma (NHL) และชนิด Hodgkin disease (HD) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งสองชนิดจะมีอาการคล้ายกัน คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นหลัก แต่ NHL อาจมีก้อนโตที่อวัยวะอื่นๆ พบได้บ่อยกว่า เช่น ที่ลำไส้ ปอด สมอง เป็นต้น
“มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (High Grade) ที่มีอาการปรากฏชัดเจน ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตเร็วร่วมกับมีอาการอื่น เช่น มีไข้ น้ำหนักลด และมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ในขณะที่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Low Grade) อาการของต่อมน้ำเหลืองจะโตขึ้นอย่างช้าๆ และอาจไม่มีอาการอื่นเลย
สำหรับในประเทศไทย มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบส่วนใหญ่จะเป็นชนิด NHL ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นชนิดย่อยๆ อีกหลายชนิด แต่ละชนิดจะใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันบ้าง จึงมีความจำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อและตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบถึงชนิดที่แท้จริงของมะเร็ง อันจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ อาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ อาการที่เกิดขึ้นจากต่อมน้ำเหลืองโต สามารถเห็นและคลำได้ชัดเจน โดยตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบ ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นกับต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ภายในร่างกาย เช่น ช่องทรวงอก ช่องท้อง ความรุนแรงของโรคมีความแตกต่างกัน โดยต่อมน้ำเหลืองที่เป็นมะเร็งจะโตเร็วมาก อาจแตกเป็นแผลและมีเลือดออกได้ และหากไม่ได้รับการรักษาแต่ต้น มะเร็งอาจแพร่กระจายไปสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย และมีผลทำให้การทำงานของร่างกายล้มเหลวถึงแก่ชีวิต
คุณหมอย้ำว่า คนเรามีเซลล์ผิดปกติที่พร้อมจะกลายเป็นมะเร็งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยร่างกายมีกระบวนการในการจัดการเซลล์ที่ผิดปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดมีจิตตก อาการเครียด กลไกทางภูมิคุ้มกันที่มีอยู่จะลดลง จนทำให้เซลล์ที่ผิดปกติเพิ่มจำนวนมากขึ้นและกลายเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันโรคมะเร็ง คือ พยายามปรับอารมณ์ไม่ให้เครียด วิตกกังวลจนเกินไป และหมั่นตรวจร่างกายสม่ำเสมอเป็นประจำ เพราะหากพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ การรักษาจะทำได้ดี แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ การรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
สำหรับเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดก็คือ การรักษาให้หายขาด แต่ถ้ารักษาให้หายขาดไม่ได้ก็พยายามรักษาไม่ให้โรคลุกลามต่อไป ความเข้าใจผิดที่ว่าคนที่เป็นโรคมะเร็งควรงดอาหารประเภทโปรตีน เนื่องจากโปรตีนมีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งให้โตนั้น คุณหมอยืนยันว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะร่างกายมีความจำเป็นต้องได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ อีกทั้งร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีนในการซ่อมแซมความสึกหรอต่างๆ ของร่างกาย คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าเซลล์ปกติจะต้องขาดโปรตีนไปด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีความซับซ้อนและแบ่งเป็นหลายชนิด รวมทั้งมีอาการหลายลักษณะ ซึ่งต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องแม่นยำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที.

แพทย์แนะ หลัก 5 อ. ป้องกันโรคมะเร็ง

http://www.thaipost.net/node/45289

20 September 2554

เพื่อต้องการรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ ในการป้องกันตนเองให้ไกลจากมะเร็งที่มีสถิติคร่าชีวิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2554 มีแนวโน้มว่าผู้ป่วยมะเร็งจะเพิ่มขึ้นอีก 23% ล่าสุด “บริษัท เฮลท์ รีเลชั่นส์ จำกัด” ผู้จำหน่ายเทคโนโลยีปรับโมเลกุลน้ำ “เอ็มเร็ท” (MRET) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ยึดหลัก 5 อ. ป้องกันมะเร็งได้อย่างไร” โดยเชิญ รศ.พญ.สุพัตรา แสงรุจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลศิริราช มาร่วมให้ความรู้กับผู้รักสุขภาพ
รศ.พญ.สุพัตรา ผู้บุกเบิกและให้ความรู้ในเชิงป้องกันมะเร็ง กล่าวว่า โรคมะเร็งส่วนใหญ่เป็นโรคของผู้ป่วยที่มีภูมิต้านมะเร็งบกพร่อง ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น เครียด พักผ่อนน้อย อายุมาก ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ขาดสารอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานมะเร็ง และรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งสารก่อกลายพันธุ์นั้นก็ได้แก่ สารเคมีบางชนิดจากบุหรี่ และเหล้า เชื้อไวรัส แบคทีเรีย ปรสิต รวมถึงรังสี เช่น ยูวีบี รังสีเอ็กซ์และรังสีแกรมมา สำหรับผู้ที่โชคร้ายเป็นมะเร็ง นอกจากจะสูญเสียเงินทองและทุกข์ทรมานจากการรักษาแล้ว ผลของการรักษาก็ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยและญาติสบายใจได้ 100% เพราะแม้ว่าจะรักษาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่หาย แพทย์ทำได้เพียงบรรเทาอาการเพื่อคงการมีชีวิตอยู่ ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วแต่เมื่อติดตามผลต่อไป อาจจะพบว่าโรคหายขาดเพียงชั่วคราวและกลับมาเกิดใหม่ได้
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกัน โดยเฉพาะหลัก “5 อ.” ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อการป้องกันก่อนเป็นแล้ว ยังเป็นเคล็ดลับสำหรับผู้ป่วยหลังเป็นมะเร็ง เพื่อป้องกันโรคกระจายไกลและป้องกันการเกิดซ้ำที่เดิม รวมทั้งป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดใหม่ในตำแหน่งใหม่ด้วย
สำหรับ อ.ที่ 1 คือ อาหาร ต้องทานให้ครบ 5 หมู่ เลือกอาหารที่สะอาด ปลอดสารเคมี และสารก่อกลายพันธุ์ โดยในส่วนของโปรตีน ไขมัน แป้งและน้ำตาล นับเป็นอาหารพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต แต่หากทานมากเกินไปจะไปรบกวนระบบภูมิต้านมะเร็ง ปริมาณโปรตีนที่พอเหมาะในแต่ละวัน คือ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก. และต้องทานผักผลไม้ เห็ดและถั่วเพิ่ม โดยผักผลไม้จะช่วยยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันเซลล์กลายพันธุ์ ส่วนเห็ดช่วยเพิ่มภูมิต้านทานป้องกันมะเร็ง หากเป็นมะเร็งจะทำให้หายเร็วขึ้น และช่วยลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดหรือรังสี สำหรับถั่วซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จะจับกับอนุมูลอิสระและป้องกันสารก่อกลายพันธุ์
อ.ที่ 2 คือ ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายวันละ 10-30 นาที การออกกำลังกายช้าๆ เบาๆ ผสมผสานกับการหายใจเข้า-ออกที่ถูกวิธี เช่น โยคะ เส้าหลิน บู๊ตึ๊ง ชี่กง ชี่ไดนามิก ไทชิ เต้าเต๋อ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง ภูมิคุ้มกันสมบูรณ์ อ.ที่ 3 คือ อากาศ ต้องอยู่ในที่ที่อากาศบริสุทธิ์ หลีกเลี่ยงที่อับชื้น ฝุ่น ควัน สารเคมีระเหย และฝุ่นเคมี อ.ที่ 4 คือ อารมณ์ ต้องฝึกจิตให้สงบ ใจสบาย ไม่เครียด และนอนหลับให้สนิท และ อ.ที่ 5 อุจจาระ ขับถ่ายระบายของเสียให้สม่ำเสมอ ทำให้สารก่อกลายพันธุ์ไม่คั่งค้างอยู่ในร่างกายนาน นอกจากการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับน้ำดื่มด้วย เพราะน้ำจะช่วยชะล้างและนำพาของเสียออกจากเซลล์ ทำให้เซลล์สะอาดสดชื่นและทำให้เซลล์ภูมิต้านทานแข็งแรง.

“มะเร็งปากมดลูก”รู้เท่าทันสู่นโยบาย

http://www.thaipost.net/node/44504

6 September 2554

โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลก เพราะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของสตรีรองจากโรคมะเร็งเต้านม และถึงแม้ว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ แต่การดำเนินการป้องกันยังไม่สามารถทำให้อัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มลดลงได้ ดังนั้นคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดงานเสวนา “มะเร็งปากมดลูก : รู้เท่าทัน ผลักดันสู่นโยบาย” เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายที่เหมาะสม ในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐบาลต่อไป
ศาสตราจารย์นายแพทย์จตุพล ศรีสมบูรณ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมของมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในแต่ละปีนั้นมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 10,000 คน หรือคิดเป็นผู้เสียชีวิตวันละประมาณ 27 คน และหากคิดรวมจำนวนผู้เสียชีวิตต่อปีจะมีประมาณปีละ 5,000 คน หรือคิดเป็นผู้เสียชีวิตวันละ 15 คน และในปี 2515 คาดว่าจะมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกวันละ 32 คน และเสียชีวิตวันละ 17 คน ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดที่พบผู้ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกอันดับหนึ่งได้แก่ จังหวัดระยอง อันดับสองคือจังหวัดชลบุรี อับดับสามคือจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับอายุของผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 80% มีอายุต่ำกว่า 60 ปี สำหรับผลกระทบที่เกิดจากโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น 1.เมื่อผู้หญิงป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก จะทำให้ครอบครัวขาดรายได้ รวมถึงขาดผู้นำในครอบครัวหรือองค์กร 2.ทำให้รัฐบาลเสียงบประมาณในการรักษา 3.แพทย์ผู้รักษาเสียเวลาในการรักษา 5 ปี 4.โรคมะเร็งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจ 5.ขาดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพราะฝ่ายชายอาจนอกใจภรรยาได้
ศาสตราจารย์นายแพทย์จตุพลกล่าวอีกว่า หากต้องการผลักดันโรคมะเร็งปากมดลูกไปสู่นโยบายนั้น อันดับแรกควรมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงไทย ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองในรูปแบบของ Pap smear (การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกไปตรวจ) หรือการตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวปากมดลูก โดยการใช้น้ำส้มสายชู หรือวิธี VIA ตลอดจนการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งทั้งสองวิธีที่กล่าวมานี้ เชื่อว่าจะสามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ หากได้รับการสนับสนุนและร่วมมืออย่างจริงจังจากกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 30-60 ปี รวมถึงการรณรงค์จากภาครัฐ
ดร.ภญ.นัยนา ประดิษฐ์สิทธิกร ตัวแทนจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า สำหรับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ส่วนที่ 2 นั้นเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค พูดง่ายๆ ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ประมาณ 3-10 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเน้นที่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอนั้น ต้นทุนในการป้องกันรักษาจะอยู่ที่คนละประมาณ 500 บาท และสามารถไปตรวจคัดกรองได้ 7-10 ครั้ง รวมถึงยังช่วยป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก และลดอัตราการเสียชีวิตในผู้หญิง อีกทั้งลดค่ารักษาจำนวนสูงลงได้ ดร.ภญ.นัยนากล่าวว่ามีความคุ้มค่ามาก อย่างไรก็ตาม ดร.ภญ.นัยนาได้เสนอแนะว่า การตรวจคัดกรองนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรที่จะต้องทำ ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ขณะเดียวกัน เรื่องราคาของวัคซีนดังกล่าวก็ควรอยู่ในราคาที่ประชาชนยอมรับได้ คือ ไม่เกินเข็มละ 190 บาท พูดง่ายๆ ว่าราคาต่อ 1 ครอส (3 เข็ม) นั้นไม่ควรเกิน 600 บาทนั่นเอง ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. รวมทั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย อีกทั้งต้องมีการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ได้ 80% หลังการฉีดวัคซีนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยลดอัตราผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งลงได้มาก
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้หญิงที่อยู่ในเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงนั้น ให้ความสนใจและหันมาตระหนักเรื่องของมะเร็งปากมดลูกมาก แต่ไม่ค่อยไปตรวจเนื่องจากยังไม่เกิดอาการอะไรขึ้นจึงยังไม่ไปตรวจ ซึ่งการปล่อยอาการของโรคเอาไว้ จะทำให้อาการลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ขณะเดียวกันเรื่องของช่วงว่างในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะความต้องการในเรื่องของสถานบริการในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น ควรที่จะเพิ่มจำนวนให้มากกว่านี้ และเข้าถึงได้ง่ายกว่าในปัจจุบัน เช่น มีรถให้บริการตรวจคัดกรองถึงที่โดยไม่ต้องลางานไปตรวจ ขณะเดียวกันการลงไปให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกในชนบทก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะผู้หญิงในชนบทยังขาดความรู้ในเรื่องนี้อยู่มาก
น.ส.ณัฐยายังเสนอแนะถึงการผลักดันเรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกไปสู่นโยบายที่เป็นรูปธรรมว่า นอกจากนโยบายด้านสาธารณสุขที่กล่าวมาแล้วนั้น ควรทำควบคู่ไปกับ 1.การฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อย (10-12 ปี) 2.ในกลุ่มของผู้ที่มีอายุมากขึ้น เช่น 30 ขึ้นไปควรตรวจด้วยวิธี Pap smear หรือวิธี VIA 3.ต้องมีการรณรงค์ให้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอทุก 3 ปี หรือ 5 ปี 4.นโยบายของการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีน HPV ควรทำควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วย จึงจะทำให้สถานการณ์ของโรคมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยลดลงได้.

กินบิสกิตบ่อยเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมดลูก

http://www.thaipost.net/node/44439

5 September 2554

งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า การทานบิสกิต เค้ก หรือขนมปังนิ่ม ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งมดลูกมากขึ้น 33% หากทานขนมหวานเหล่านี้อย่างต่ำ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และหากทานมากกว่านั้นก็มีโอกาสล้มป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับเนื้องอกมากขึ้น 42%
ข้อค้นพบนี้มาจากการวิจัยนาน 10 ปีของมหาวิทยาลัยในสวีเดน โดยศึกษาพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้หญิง 6 หมื่นคน เพื่อศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างการรับประทานน้ำตาล กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเนื้องอกในมดลูก
ในแต่ละปีมีผู้หญิงอังกฤษเป็นโรคมะเร็งมดลูก 6,400 คน และเสียชีวิตเพราะโรคนี้ปีละ 1 พันคน
โดยปกติโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมดลูก มีความเชื่อมโยงกับน้ำหนักตัวของแต่ละคน แต่นักวิจัยจากสถาบันคาโรลินสกาในกรุงสตอกโฮลม์ต้องการศึกษาเพิ่มว่า ปริมาณการรับประทานน้ำตาลมีความเชื่อมโยงกับมะเร็งมดลูกหรือไม่
นักวิจัยศึกษาข้อมูลจากผู้หญิงหลายพันคนในปี 2530 พร้อมทั้งสอบถามวิธีการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร ตรวจสอบน้ำหนักและสุขภาพ และทำเช่นเดียวกันในเวลา 10 ปีหลัง
ผู้หญิงทุกคนจะถูกสอบถามว่า เติมน้ำตาลในเครื่องดื่มร้อนทั้งชาและกาแฟมากน้อยเพียงใด รวมทั้งรับประทานน้ำตาลผ่านอาหารอื่นๆ หรือไม่
เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการสอบถามมาเปรียบเทียบกับข้อมูลสุขภาพ นักวิจัยพบว่า อาสาสมัครหญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งในระหว่างการศึกษานาน 18 ปีถึง 729 คน
แม้งานวิจัยจะพบว่า การทานอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลักบางประเภท เช่น ลูกอม น้ำหวาน น้ำอัดลม แยม เป็นต้น ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งมดลูก แต่การทานขนมหวานประเภทเค้ก ขนมปังนุ่ม และบิสกิต มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งถึง 42%
งานวิจัยระบุถึงความบ่อยครั้งในการรับประทานขนมหวาน แต่ไม่ได้ระบุถึงจำนวนครั้งแต่อย่างใด ทว่างานวิจัยชี้ว่า การทานน้ำตาลเกินกว่า 35 กรัมต่อวัน (เทียบเท่ากับ 7 ช้อนชา) มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกี่ยวกับเนื้องอกเพิ่มขึ้น 36%
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อาหารที่มีน้ำตาลสูงสร้างความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง เนื่องจากเมื่อร่างกายมนุษย์มีน้ำตาลสูงเกิน ร่างกายจะผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้นเพื่อจำกัดน้ำตาลส่วนเกิน ซึ่งส่งผลให้การเจริญเติบโตของเซลล์ในช่องคลอดผิดปกติ และนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งในที่สุด ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่า น้ำตาลจะกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีผลทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติ
ยินกา เอโบ ผู้จัดการอาวุโสแผนกข้อมูลสุขภาพจากสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งอังกฤษ แนะนำว่า การออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักสม่ำเสมอ เป็นวิธีการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่ดีที่สุด เธอชี้ว่า แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะบ่งชี้ว่า การทานน้ำตาลสูงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งก็ตาม เรายังจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มประชากรที่หลากหลาย เพื่อยืนยันข้อสรุปที่ชัดเจนได้.