ดอกข่า! ข้าวไร่พันธุ์ดี ของจังหวัดพังงา ควรค่าแก่การอนุรักษ์

ผ่านทางมติชนกรุ๊ป : หนังสือพิมพ์และนิตยสารในเครือมติชน.

วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 23 ฉบับที่ 492

ผลิตผลน่าชิม

อุษณี เจียมรา

ดอกข่า! ข้าวไร่พันธุ์ดี ของจังหวัดพังงา ควรค่าแก่การอนุรักษ์ 

ข้าว เป็นพืชอาหารหลักของคนไทย แต่พื้นที่ปลูกข้าวนับวันจะลดน้อยถอยลงไปทุกปี เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของชุมชนเมือง การเปลี่ยนพื้นที่ไปทำสถานที่ท่องเที่ยว การเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคใต้

แต่สำหรับจังหวัดพังงายังมีพี่น้องเกษตรกรกลุ่มหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการปลูกข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวไร่ เนื่องจากสภาพพื้นที่เหมาะสม โดยการปลูกระหว่างแถวยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ – 3 ปี พันธุ์ข้าวที่ปลูก ได้แก่ พันธุ์ดอกข่า พันธุ์อ่อนยายยอ ข้าวเหลือง และข้าวเข็มเงิน

ในที่นี้จะขอกล่าวถึง ข้าวดอกข่า ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง คุณภาพดี ของจังหวัดพังงา ที่พี่น้องเกษตรกรนิยมปลูกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากจะปลูกไว้บริโภคภายในครัวเรือนแล้ว ยังจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัว ในราคาตันละ 20,000-25,000 บาท

ลักษณะประจำพันธุ์

ระยะแตกกอเต็มที่

– มีขนบนแผ่นใบ

– สีของแผ่นใบมีสีเขียว

– สีของกาบใบมีสีเขียว

– มุมของยอดแผ่นใบตั้งตรง

– สีของลิ้นใบมีสีขาว

– รูปร่างของลิ้นใบมีลักษณะแหลม

– หูใบมีสีเขียวอ่อน

– ข้อต่อใบมีสีเขียวอ่อน

ระยะออกรวง

– เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น 2.6 มิลลิเมตร

– ปล้องมีสีเขียว

– ทรงกอตั้ง

– ยอดเกสรตัวเมียมีสีขาว

– กลีบรองดอกสีฟาง

– ไม่มีหางข้าว

ลักษณะเด่น 

ข้าวดอกข่า เป็นข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองที่มีความต้านทานต่อโรค เมล็ดยาว สีของเมล็ดข้าวสารมีสีน้ำตาลแดงอมม่วง เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม คล้ายกลิ่นใบเตย รสชาติอร่อย ข้าวไม่แข็ง หุงขึ้นหม้อ

วิธีการปลูก 

ใช้วิธีการหยอดหลุม วิธีนี้ใช้กันทั่วไป เหมาะกับทุกสภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ลาด โดยการทำไม้สำหรับเจาะหลุม เรียกว่า ไม้สัก ยาวประมาณ 2 เมตร เป็นลักษณะกลมพอเหมาะกับมือ เจาะหลุมให้ลึก ประมาณ 3 เซนติเมตร ขนาดหลุมกว้าง 1 นิ้ว ระยะห่างของหลุม ประมาณ 25×25 เซนติเมตร หลังจากนั้น หยอดเมล็ดข้าวลงในหลุมทันที ซึ่งเกษตรกรใช้กระบอกไม้ไผ่หรือกระบอกที่ทำจากท่อ พีวีซี นำเมล็ดข้าวใส่แล้วหยอด หลุมละ 5-8 เมล็ด กลบดินปากหลุมด้วยกระบอกที่ใส่ข้าวปลูก เมื่อฝนโปรยลงมาหรือเมล็ดได้รับความชื้นจากดินก็จะเจริญเติบโตเป็นต้นข้าวให้ผลผลิตต่อไป การปลูกข้าวไร่ เกษตรกรจะต้องหมั่นดูแลกำจัดวัชพืช เพราะในที่ดอนจะมีวัชพืชมากกว่าในที่ลุ่ม

ระยะเวลาปลูก 

เริ่มปลูกเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

พื้นที่ปลูก ประมาณ 1,200 ไร่ อยู่ในพื้นที่ตำบลบางทอง อำเภอท้ายเหมือง และตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 400 กิโลกรัม/ไร่

การเก็บเกี่ยว 

ใช้วิธีการ “ลงแขก” ซึ่งเป็นประเพณีและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไป สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวข้าวไร่ เรียกว่า “แกระ” โดยจะเกี่ยวทีละรวง แล้วมัดเป็นกำๆ ตากแดด 3-5 วัน

คุณบุญฤทธิ์ คงเรือง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า จังหวัดพังงาได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระหว่างแถวของยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยังเล็ก โดยการปลูกข้าวไร่ ซึ่งปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวกระบี่ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ข้าวดอกข่า และคัดเลือกพันธุ์เพื่อจะได้พันธุ์ที่บริสุทธิ์ไว้ส่งเสริม และจะได้แจกจ่ายให้กับพี่น้องเกษตรกรเพื่อไว้ทำพันธุ์ต่อไป

คุณไมตรี เจียมรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ประจำตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการส่งเสริมการปลูกข้าวไร่ ตำบลตากแดด ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2552-2553 โดยได้ดำเนินการจัดงานคืนพันธุ์ข้าวสู่ชาวตากแดด และจัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวไร่ โดยดำเนินการในกลุ่มสายใยรักแห่งครอบครัว ได้ผลตอบแทนเป็นอย่างดี ไม่มีศัตรูรบกวน ควรที่จะส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรปลูกไว้บริโภคภายในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัว

สอบถามเพิ่มเติม หรือซื้อผลผลิตได้ที่ คุณไมตรี เจียมรา โทร. (089) 973-2275

6 thoughts on “ดอกข่า! ข้าวไร่พันธุ์ดี ของจังหวัดพังงา ควรค่าแก่การอนุรักษ์

  1. ข้าวดอกข่า กับ ข้าวแดง เป็นข้าวชนิดเดียวกัน หรือคนละชนิดกัน เพราะแถว ๆ บางทอง ก็ข้อมูลไม่ตรงกัน บางคนบอกว่าชนิดเดียวกัน แต่บางคนบอกว่าคนละชนิด สับสนมาก ๆ

    ถูกใจ

  2. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือซื้อผลผลิตได้ที่ คุณไมตรี เจียมรา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ประจำตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา โทร. (089) 973-2275 ครับ ผมเองก็ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมครับ

    ถูกใจ

    • ดอกข่า : ข้าวไร่พื้นเมืองพันธุ์ดีในภาคใต้ PDF พิมพ์ อีเมล
      ดอกข่า : ข้าวไร่พื้นเมืองพันธุ์ดีในภาคใต้
      Dokkha : Outstanding Local Upland Rice in Southern Region

      บุญสุข ซุ่นเลี่ยง 1) ชูชาติ สวนกูล 1) มาริษา สงไกรรัตน์ 1) รชนิศ พานิชกิจ 1)
      อวยชัย บุญญานุพงศ์ 2) ชนสิริน กลิ่นมณี 2) รุจิรา ปรีชา 2)
      ————————————
      บทคัดย่อ

      ศูนย์วิจัยข้าวกระบี่ได้ดำเนินกิจกรรมปรับปรุงข้าวไร่ภาคใต้ภายใต้โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมือง เพื่อปลูกแซมยางพาราและปาล์มน้ำมันในภาคใต้ โดยการรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรนิยมปลูกในภาคใต้ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 120 พันธุ์ นำมาปลูกเพื่อบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ จัดหมวดหมู่ ศึกษาพันธุ์ คัดเลือกให้เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ เปรียบเทียบ ผลผลิต ศึกษาการตอบสนองต่อสนองปุ๋ยไนโตรเจน การทดสอบพันธุ์ข้าวไร่ดีเด่นในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม ทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคไหม้ ศึกษาคุณภาพเมล็ดทางกายภาพ เคมี และการหุงต้มจากการศึกษาครั้งนี้ได้ข้าวไร่ลักษณะดีเด่น จำนวน 1 พันธุ์ คือ พันธุ์ดอกข่า เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 332 กิโลกรัมต่อไร่ทรงกอตั้ง ต้นสูงประมาณ 150 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 145 – 150 วัน ใบมีสีเขียว จำนวนรวง 8 รวงต่อกอ ระแง้ถี่ ข้าวเปลือกสีฟาง ก้นจุด ข้าวกล้องมีสีแดง ปริมาณอมิโลส 20.74 เปอร์เซ็นต์ อ่อนแอต่อโรคไหม้ ปลูกเป็นพันธุ์ดักและคัดเลือกไว้จำนวน 3,000 รวง

      คำสำคัญ : ดอกข่า, ข้าวไร่

      1) ศูนย์วิจัยข้าวกระบี่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ 81132 โทรศัพท์ 0-75691-1120
      Krabi Rice Research Center, Nuea Khlong, Krabi 81132, Tel 0-75691-1120
      2) ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง อ.เมือง จ.พัทลุง 93000 โทรศัพท์ 0-7484-0111
      PHatthalung Rice Research Center, Mueang Phtthalung, Phatthalung, 93000, Tel 0-7484-0111

      แหล่งข้อมูล
      http://www.brrd.in.th/main/index.php?option=com_content&view=article&id=968:-m—m-s&catid=82:19-20-2556&Itemid=37

      ดาวน์โหลดเอกสาร

      Click to access 4.boonsuk_nithit_final_edited%20jib%201-10.pdf

      ถูกใจ

ใส่ความเห็น