พริกปลอดภัยที่ชัยภูมิ

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2553

ผ่านทางพริกปลอดภัยที่ชัยภูมิ คมชัดลึก : เกษตร : เกษตรยุคใหม่.

คมชัดลึก : เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมแปลงปลูกพริกของเกษตรกรที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ร่วมในโครงการการขยายและการพัฒนาเครือข่ายการจัดการห่วง โซ่อุปทานพริกสดปลอดภัย ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนอยู่ โดยมี อาจารย์วีระ ภาคอุทัย

จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหัวหน้าโครงการ เบื้องต้นมีการวิเคราะห์หารูปแบบการจัดการผลผลิต สร้างเครือข่าย และกำหนดช่องทางตลาดที่เหมาะสม แล้วถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพริกปลอดภัยภายใต้ระบบปลอดภัย หรือจีเอพี เพื่อยกระดับผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพจนถึงขั้นสามารถส่งออก

ที่สำคัญคือ ลงมือร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่โดยการปฏิบัติจริง ผลก็คือ ช่วงแรกๆ ที่เริ่มโครงการมีเกษตรกรเข้าร่วมไม่กี่ราย แต่ว่าวันนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะว่าเมื่อเห็นผลที่ได้จากการปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ดีกว่าเดิมอย่างมาก
การ ปลูกพริกของที่นี่เป็นการปลูกหลังนา จึงมีเวลาพักนาช่วงสั้นๆ ซึ่งเพียงพอที่จะปลูกและเก็บเกี่ยวพริกได้ทัน ที่สำคัญคือ สร้างรายได้ได้มากกว่าการทำนาเสียอีก คำแนะนำของนักวิจัยคือ ควรปลูกคนละไม่เกิน 1.5 ไร่ เพราะหากมากกว่านี้จะมีปัญหาเรื่องการดูแลและการเก็บเกี่ยว จากที่ได้ไปเยี่ยมชมมาปรากฏว่าในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถเก็บพริกได้ประมาณ 2 ตัน ถ้าราคาขายกิโลกรัมละ 30 บาท ก็จะได้ไร่ละ 6 หมื่นบาท ภายในเวลา 4-5 เดือน

แต่ว่าวันนี้ราคาพริกเพิ่มขึ้นไปบางครั้งถึง 40 บาท ซึ่งก็จะได้เงินมากถึง 8 หมื่นบาท จึงไม่แปลกใจเลยว่า ตอนที่ไปพบเกษตรกรแต่ละคนนั้น ทำไมถึงได้หน้าตายิ้มแย้มสบายใจกันทุกคน คราวนี้บางคนปลูกมากกว่า 1.5 ไร่ ตามคำแนะนำที่นักวิจัยบอกไว้ ก็จะพบปัญหาเรื่องขาดแรงงานในการเก็บเกี่ยว จึงต้องเกิดการจ้างงาน โดยค่าเก็บพริกจะตกกิโลกรัมละ 5 บาท และถ้าจะส่งไปขายตลาดสูงหรือตลาดส่งออก ก็จะมีการเด็ดก้านพริกออกก่อน ซึ่งค่าจ้างเด็ดก้านพริกก็จะตกอยู่ที่ 15 บาทต่อ 10 กิโลกรัม ดังนั้นเด็กนักเรียนก็สามารถหารายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการเด็ดก้านพริกเป็นค่าขนมได้

ผลของการวิจัยเรื่องนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่การสร้างอาชีพหลังนาให้แก่เกษตรกรเท่านั้น แต่ว่าผลกระทบต่อเนื่องจากเรื่องนี้มีมากมายหลายอย่าง ข้อแรกคือ เรื่องความปลอดภัยทั้งของตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภค เนื่องจากมีการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดีโดยลดการใช้สารเคมี ทำให้ได้พริกที่ปลอดภัยจากสารเคมีจนกระทั่งได้รับการ รับรองและสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าพริกทั่วไป รวมทั้งมีตลาดส่งออกรองรับซึ่งความต้องการของตลาดเหล่านี้สูงมาก

อย่างที่สองคือ การทำให้คนอยู่ติดพื้นที่ เพราะว่าการปลูกพริกต้องมีการเก็บเกี่ยวทุกวัน เหมือนกับการเลี้ยงโคนม ที่ต้องรีดนมทุกวัน ดังนั้นผลที่ตามมาคือ คนทำต้องอยู่กับบ้าน ไม่สามารถทิ้งบ้านไปทำงานต่างถิ่นหรือละทิ้งพื้นที่ไปได้ ผลก็คือครอบครัวอบอุ่น ปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมลดลง สิ่งนี้แม้จะไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ แต่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญมากและเป็นพื้นฐานของการสร้างสังคมที่มีความสุข

การเลือกทำพริกเช่นนี้นับว่าเป็นความฉลาดของนักวิจัย อย่างมาก ที่สามารถทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินหลังการทำนาให้เป็นประโยชน์ ทำให้เกษตรกรได้ใช้เวลาว่างหลังนาในการประกอบอาชีพแทนที่จะไปใช้เวลาในทาง ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ทำให้คนต้องอยู่ติดพื้นที่ ไม่ออกไปหางานทำในเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อสังคมและครอบครัว รวมทั้งทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำในช่วงเวลาไม่นานโดยอาศัยแรงงานและการ พึ่งพาตนเองเป็นหลัก

เรียกได้ว่ากระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัวครับ

รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

ใส่ความเห็น