แก่นจันทร์พรรณไม้ แหล่งไม้สวย ของ ราชบุรี

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05022150158&srcday=2015-01-15&search=no

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 591

ไม้ดอกไม้ประดับ

มนัส ช่วยบำรุง

แก่นจันทร์พรรณไม้ แหล่งไม้สวย ของ ราชบุรี

“หลักการของ แก่นจันทร์พรรณไม้ นั้นคือ การเพาะพันธุ์ไม้ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ เพราะผมทำในนามของนักวิชาการป่าไม้ ผมก็ไม่ได้หวังความร่ำรวยหรืออะไร แค่หวังเพียงรวบรวมพันธุ์ไม้ไว้ ให้ผู้ที่อยากได้ไม้ชนิดที่หาไม่ได้ในสวนป่าทั่วไปก็สามารถมาหาได้ที่นี่ โดยสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูก”

คุณบุญฤทธิ์ ภูริยากร เจ้าของสวนไม้ประดับ ในนาม แก่นจันทร์พรรณไม้ ซึ่งตั้งอยู่ เลขที่ 37/1 หมู่ที่ 9 ตำบลดอนตะโก ถนนเพชรเกษม อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี กล่าวถึงหลักในการประกอบอาชีพ

บนพื้นที่ 11 ไร่ ของแก่นจันทร์พรรณไม้ ในวันนี้มีทั้งไม้ไทย ไม้ต่างประเทศ รวมถึงปาล์มประดับมากกว่า 500 สายพันธุ์

ทั้งนี้ แก่นจันทร์พรรณไม้ เริ่มต้นก่อตั้งมาได้ประมาณ 20 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ คุณบุญฤทธิ์รับราชการอยู่ที่กรมป่าไม้ ในตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ จึงทำให้ได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจและศึกษาพันธุ์ไม้ในสถานที่ต่างๆ มากมาย และได้เห็นพันธุ์ไม้แปลกที่มีความสวยงามและน่าสนใจ

นั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการก้าวมาสู่อาชีพการเพาะพันธุ์ไม้จำหน่าย

ด้วยระยะเวลาที่ทำงานด้านการเพาะชำกล้าไม้นานกว่า 40 ปี คุณบุญฤทธิ์ และ คุณยุพา หรือ ป้าอ้อย ผู้เป็นภรรยา ได้สั่งสมความรู้จากการเพาะชำกล้าไม้ชนิดต่างๆ ไว้เป็นอย่างมาก

สนุกที่ได้ทำ

“ทุกวันที่ปลูกต้นไม้ เพราะความสนุก ที่ได้เพาะพันธุ์ไม้ดีออกมาแล้วมีผู้สนใจนำไปปลูกเลี้ยง ซึ่งเรานั้นไม่เคยคำนึงถึงเรื่องราคาต้นทุน แม้จะซื้อเมล็ดมาในราคาแพง แต่ขายด้วยความพอใจ ไม่คิดแพง เพราะอยากให้คนได้ปลูกต้นไม้กันมาก”

สำหรับพันธุ์ไม้ที่มีการเก็บรวบรวมเอาไว้ที่แก่นจันทร์พรรณไม้นั้น ส่วนใหญ่เป็นไม้ป่าหรือไม้ไทย รวมถึงไม้ต่างประเทศ คุณบุญฤทธิ์ ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะเพาะพันธุ์ไม้ไทย ให้ได้ 500-1,000 ชนิด โดยใช้วิธีการสะสมพันธุ์เอาไว้เอง เก็บเมล็ดจากป่าหรือขอจากผู้ที่ชื่นชอบปลูกไม้หายากด้วยกันนำมาเพาะพันธุ์ไว้ที่สวนแก่นจันทร์แห่งนี้

คุณบุญฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในขณะเดียวกันก็ได้มองหาพันธุ์ไม้แปลกจากต่างประเทศนำเข้ามาผลิตและจำหน่าย สำหรับไม้ต่างประเทศที่นำเข้ามานั้น จะต้องเลือกชนิดของต้นไม้ที่สามารถขึ้นได้ในประเทศไทยด้วย ไม่ใช่ว่ามีสีสันสวย แต่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโตได้ในสภาพอากาศของเมืองไทย

“เพราะไม้ที่มีสีสันสวยนั้น ส่วนใหญ่จะขยายพันธุ์อยู่ในบริเวณพื้นที่สูง ชอบอากาศที่เย็น แต่เมื่อเปลี่ยนฤดูกาลแล้วไม่สามารถยืนต้นต่อไปได้ อีกทั้งต้องแน่ใจว่ามันสามารถเพาะขึ้นมาแล้วจะเจริญเติบโตอยู่ได้ตลอด ไม่ใช่ว่าเพาะขึ้นได้ในหน้าฝน แต่ตายในหน้าแล้ง อย่างนั้นเราไม่กระทำ เราต้องแน่ใจก่อนว่ามันขึ้นได้ดีจริงๆ”

ส่วนไม้ไทยนั้นเป็นไม้ทุกภาค ทั้งป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง นำเอามาเก็บรวบรวมไว้ทั้งหมดเท่าที่จะหาได้ มีการนำไม้ต่างประเทศเข้ามาอยู่เรื่อยๆ

ขยายพันธุ์ไม้ไทยด้วยเมล็ด

คุณบุญฤทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีไม้ไทยอยู่มากกว่าเกือบ 100 สกุล แต่ไม้ที่เป็นตัวเด่นนั้นไม่มี เนื่องจากที่แก่นจันทร์พรรณไม้จำหน่ายต้นไม้แล้วแต่ความพอใจของลูกค้าที่มาซื้อต้นไม้

สำหรับไม้ไทยที่ได้รับความนิยมมีผู้สนใจสั่งซื้ออยู่โดยตลอด อาทิ มหาพรหมราชินี ปาหนันร่องกล้า คีเปลเมืองไทย หรือหงำเงาะ เป็นต้น

“ไม้เหล่านี้ เราจะใช้วิธีการเพาะเองจากเมล็ดทั้งหมด อย่าง ปาหนันร่องกล้า เก็บเมล็ดมาจากป่าธรรมชาติ แล้วนำมาเพาะ ส่วนหงำเงาะก็เช่นเดียวกัน ได้เมล็ดมาจากป่าทางใต้ สำหรับมหาพรหมราชินีนั้น ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก ด้วยไม้ตัวนี้มีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีทางภาคเหนือแถวดอยแม่สะเรียง แต่ปัจจุบันโดนทำลายไปหมด” คุณบุญฤทธิ์ กล่าว

สำหรับเมล็ดไม้ของต้นมหาพรหมราชินีที่เก็บมาได้นั้น นำมาขยายพันธุ์ใหม่ได้ในปัจจุบันด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือเสียบยอด ทำให้ไม้ไทยสายพันธุ์นี้ยังคงอยู่

ที่สวนแก่นจันทร์พรรณไม้ ไม่นิยมไปขุดต้นไม้จากป่ามาเพาะ ไม้ที่เพาะส่วนใหญ่ใช้เมล็ดเพาะเกือบทั้งหมด เนื่องจากการไปขุดต้นไม้จากป่านั้นไม่ได้ช่วยเพิ่มจำนวนต้นไม้ แต่เป็นการทำลายระบบนิเวศด้วยซ้ำ

คุณบุญฤทธิ์ ยกตัวอย่างการเพาะเมล็ดไม้ไทยว่า สำหรับไม้วงศ์กระดังงาที่ต้องการเก็บเมล็ดไม้นั้น ต้องเก็บจากบนต้น สังเกตเมล็ดที่มีความเหลืองพอดี อย่าให้เมล็ดนั้นร่วงหล่นลงสู่พื้น เพราะถ้าเหลืองพอดีแล้ว เราก็สามารถรู้ได้ว่าเมล็ดนั้นจะเริ่มแก่สามารถนำไปเพาะพันธุ์ได้

ขั้นตอนสำคัญอยู่ที่การเก็บเมล็ด เนื่องจากไม้วงศ์กระดังงาทุกชนิดเมื่อแก่แล้วพวกนกหรือกระรอกจะกินเป็นอาหารเกือบทุกชนิด เมื่อมันเหลืองพอดีหรือเขียวอมเหลือง เราก็รีบเก็บแล้วนำมารวมไว้

เมล็ดไม้ที่เก็บมานั้น ต้องใช้ระยะเวลา 5-6 เดือน จึงจะแก่ บางชนิดต้องใช้ระยะเวลา 7-8 เดือน เมื่อเนื้อนอกแก่จนย่อยสลายแล้ว เราจึงนำเมล็ดไม้มาล้างแช่น้ำไว้ 2-3 วัน ก่อนจะนำมาเพาะ โดยใช้ทรายกับแกลบผสมกัน ในอัตราส่วน 1:1 เป็นดินปลูก แต่สำหรับเกษตรกรบางรายใช้พีทมอสส์เป็นวัสดุปลูกแทนดิน

หลังจากนั้นก็ปล่อยให้เมล็ดงอกได้ซักระยะหนึ่ง สูงประมาณ 10 เซนติเมตร ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งต้องเว้นระยะให้ต้นไม้สร้างลำต้นของมันให้ใหญ่ก่อน เราจึงย้ายออกมาจากแปลงเพาะมาลงถุงดำ

ซึ่งไม้แต่ละชนิดจะมีระยะเวลาการงอกที่ไม่เท่ากัน บอกได้ยาก ยกตัวอย่าง เช่น ปาหนันร่องกล้า ใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน ถึงจะงอก ส่วนมหาพรหมราชินีนั้น ใช้ระยะเวลา ประมาณ 4-5 เดือน

เมื่อนำต้นกล้ามาเพาะในถุงดำแล้วไม่ต้องดูแลเป็นพิเศษมากนัก แต่ไม่ควรนำมาวางไว้กลางแจ้ง เนื่องจากธรรมชาติของไม้ทั้ง 2 สายพันธุ์นี้นั้น เป็นไม้ชั้นล่าง ไม่ใช่ไม้ยืนต้นเด่น จึงไม่ควรวางไว้กลางแดดแบบ 100% หากนำมาวางไว้กลางแจ้งแล้ว การเจริญเติบโตจะไม่ค่อยดีนัก หรือให้มีแสงประมาณ 60%

คุณบุญฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อต้นกล้าอยู่ในถุงดำแล้ว รอระยะหนึ่งต้นไม้เริ่มแข็งแรงก็นำมาเปลี่ยนลงกระถางได้ แต่ยังจำหน่ายไม่ได้ ต้องรออีกประมาณปีกว่าๆ จึงจะขายได้

หากต้องการเพาะพันธุ์ไม้ไทยด้วยวิธีการเสียบตอ ตอที่ใช้นั้นควรเป็นตอมะป่วนหรือนมหนู ซึ่งเป็นไม้ไทยเหมือนกันแล้วนำมาเสียบยอดขยายพันธุ์ หรือนำมาใส่ในกระโจมรอจนกว่าตอจะติดกับยอดพันธุ์

แต่การเสียบตอนั้น ไม้ที่ได้จะไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อมีลมพัดแรงบางครั้งอาจฉีกขาดได้ สำหรับตอมะป่วนนั้นไม่ชอบน้ำมาก หากไม่รดน้ำติดต่อกันหลายวันก็สามารถอยู่ได้ ส่วนตอจำปานั้นไม่ชอบน้ำมาก หากรดน้ำบ่อยจะยืนต้นเน่าตาย

คุณบุญฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนไม้ต่างประเทศที่แก่นจันทร์พรรณไม้สั่งนำเข้ามานั้น บางชนิดมีราคาร่วม 20 เหรียญ แต่มีความท้าทายหากสั่งเข้ามาแล้วไม่งอกก็จบ

โดยขณะนี้ สั่งเมล็ดเข้ามาหลากหลายสายพันธุ์ เช่น จันทร์แดงของอินเดีย ซึ่งมีเนื้อไม้ที่แพงมาก เป็นไม้สกุลเดียวกับประดู่ ปัจจุบันมีคนอยากปลูกมาก อัตราการรอดนั้นไม่แน่นอน

“หากเมล็ดไม้ที่สั่งซื้อเข้ามานั้นงอกได้เพียงต้นเดียว เราก็ดีใจแล้ว เนื่องจากเพาะกล้าได้ยากมาก รวมถึงเมล็ดที่มีการส่งเข้ามานั้นในบางครั้งเป็นเมล็ดเก่า ซึ่งมีอัตราการงอกที่น้อย เมื่อเรานำมาเพาะชำแล้วไม่งอก”

นอกจากไม้ต่างประเทศที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ยังมี ต้นเบาบับ ที่สั่งซื้อเข้ามาใหม่ จำนวน 3 สายพันธุ์ เช่น Adansonia Digitata, Adansonia Fony, Adansonia Perrieri เป็นต้น

แต่ไม้ในเมืองไทยหากเก็บรวบรวมได้ มีความน่าสนใจมากกว่า โดยคุณบุญฤทธิ์มีเป้าหมายว่า จะรวบรวมไม้ไทยให้ได้กว่า 1,000 ชนิด แล้วจึงเลิกรวบรวมไม้ชนิดต่างๆ ก่อนจะส่งกล้าไม้ให้กับวัดใดวัดหนึ่งที่ต้องการปลูก ได้ปลูกไม้ไทยที่หาได้ยากชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ภายในแก่นจันทร์พรรณไม้แห่งนี้

ตลาดไม้ไทยในปัจจุบัน

คุณบุญฤทธิ์ กล่าวว่า ตามปกติแล้วไม้ไทยที่เพาะเลี้ยงอยู่ในสวนแก่นจันทร์แห่งนี้จะส่งไปให้กับลูกค้าในจตุจักรแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนถ้าใครสนใจสั่งซื้อจากที่อื่นก็จะโทร.มาถามก่อน เนื่องจากไม้ที่เพาะเลี้ยงไว้นั้นไม่มีไม้ตัวไหนที่เป็นตัวเด่น ลูกค้าอยากได้ไม้ชนิดใด ก็จะโทร.มาสอบถามว่ามีหรือไม่

ส่วนไม้ต่างประเทศนั้น หากผู้สนใจสั่งซื้อไปปลูกต้องรู้นิสัยของไม้ชนิดที่ปลูก ว่าต้องการสภาพแวดล้อมอย่างไร แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไม้ต่างประเทศต้องปลูกในบริเวณที่โล่งแจ้ง จะนำมาปลูกในบริเวณที่ร่มเหมือนไม้ไทยไม่ได้ ด้วยความต้องการทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน เมื่อซื้อไปเลี้ยงปลูกไว้ในพื้นที่ร่มแล้ว ไม่นานก็ยืนต้นตาย

คุณบุญฤทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า ตลาดค้าไม้ไทยในปัจจุบันมีการต้มตุ๋นกันมาก เช่น เถากันภัยมหิดล กับ เถากันภัยธรรมดา เถากันภัยธรรมดามีดอกที่สวยกว่ามาก จึงมีการนำมาติดป้ายขายว่า เป็นต้นเถากันภัยมหิดล ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อหรือต้นมหาพรหมธรรมดาก็มีดอกสวยกว่ามหาพรหมราชินี แต่บุคคลทั่วไปมักคิดว่าชื่อที่ตั้งใหม่ย่อมมีความสวยกว่าจึงมองข้ามจุดนี้ไป จึงถูกหลอกขายได้ง่าย

สำหรับผู้สนใจ ติดต่อสอบถามวิธีการเพาะพันธุ์ไม้ไทยและไม้ต่างประเทศ หรือปาล์มประดับ ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณบุญฤทธิ์ ภูริยากร โทร. (081) 442-7027, (081) 987-9497

ใส่ความเห็น