เร่งปลดล็อก…ข้าวโพดฝักอ่อน

http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/307191

20 พฤศจิกายน 2555, 05:00 น.

โลกยุคการสื่อสารยิ่งยวด เมื่อเกิดเหตุในอีกมุมโลก ก็สามารถกระจายผลการรับรู้ไปยังโลกอีกซีกหนึ่งอย่างรวดเร็ว…

เมื่อปี 2550…ประเทศเดนมาร์กตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อ Shigella ไปกับข้าวโพดฝักอ่อน โดยผู้ประกอบการรายหนึ่ง (รายเดียว) ของไทย ผลทำให้ญี่ปุ่นสั่งงดนำเข้าข้าวโพดฝักอ่อนจากรายเดียวกันด้วย (แต่รายอื่นที่ไม่มีแบล็กลิสต์ก็ยังนำเข้าได้)

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร (สวป.) กรมวิชาการเกษตร บอกว่า…หน่วยงานพยายามแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายนี้ตลอดระยะเวลา หลังถูกระงับเบื้องต้นได้เร่งสอบหาสาเหตุของการปนเปื้อนเชื้อ Shigella พบว่าเกิดจากจุดรวบรวมผลผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ

“…สวป.จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการพัฒนาจุดรวบรวมผลผลิตทั้ง 9 จุดให้สะอาดและถูกสุขลักษณะตามระบบจีเอชพี (GHP : Good Hygiene Practice) เพื่อป้องกันการปนเปื้อน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามระเบียบของประเทศคู่ค้า…

…และ จากสถิติการส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนของผู้ประกอบการรายนี้ไปยังไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และ สหภาพยุโรป (EU) ก็ไม่พบและไม่มีการแจ้งการปนเปื้อนเชื้อ Shigella ในสินค้าข้าวโพดอ่อนเลย…ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี

….ล่าสุดเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น (MHLW) เดินทางมาตรวจประเมินระบบการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนที่มีปัญหาตั้งแต่ระดับแปลงเกษตรกรเครือข่ายที่ได้รับการรับรอง มาตรฐานจีเอพี (GAP) จุดรวบรวม (GHP) และโรงคัดบรรจุ (GMP) ตลอดจนระบบการตรวจรับรองมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร…เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาการอนุญาตนำเข้า

“…ผลการตรวจประเมินปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นมีความพึงพอใจในการแก้ปัญหาของไทย คาดว่าสามารถสร้างความ เชื่อมั่นในศักยภาพการรักษาระดับมาตรฐานสินค้าของหน่วยงานที่รับผิดชอบในภาครัฐฯของไทย และคุณภาพสินค้าของผู้ค้า ซึ่งไทยน่าจะได้รับข่าวเป็นที่น่าพอใจในเร็วๆนี้…”

แล้ว…ผอ.สวป.กล่าวต่อว่า “…ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร ได้ผลักดันให้จุดรวบรวมผลผลิตของผู้ประกอบการทุกรายเข้าสู่ระบบ GHP ทั้งหมดด้วย ซึ่งเป็นแนวทางป้องกันการปนเปื้อนจุลินทรีย์ได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศคู่ค้าเชื่อมั่นในระบบการผลิตสินค้าพืช ผัก ผลไม้ของไทยเพิ่มมากขึ้น…”

ที่สำคัญคือช่วย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก…ซึ่งจะส่ง ผลดีต่อการส่งออกในระยะยาว และยั่งยืน…!!

ดอกสะแบง

ใส่ความเห็น