จากทุเรียนเมืองนนท์ถึงส้มโอนครปฐม…สู้กับภัยน้ำท่วม

ฉบับที่ 10 ประจำเดือน พฤศจิกายน  พ.ศ. 2554

http://it.doa.go.th/pibai/pibai/n14/v_10-nov/korkui.html

ผลิใบ ขอคุยด้วยคน
ประภาส  ทรงหงษา

จากทุเรียนเมืองนนท์ถึงส้มโอนครปฐม…สู้กับภัยน้ำท่วม

          ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2554  ที่ผ่านมา      ประชาชนคนไทยในหลายพื้นที่ต่างประสบกับปัญหามหาอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์
ผู้คนได้รับความเดือดร้อน  บางส่วนไม่ทันเตรียมความพร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าทำให้ทรัพย์สินเสียหาย        และขณะนี้เหตุการณ์ใน
หลายพื้นที่กลับสู่ภาวะปกติและกำลังอยู่ในเรื่องของการฟื้นฟูทั้งสภาพความเป็นอยู่  บ้านเรือนที่อยู่อาศัยและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือสภาพจิตใจให้กลับ
มาเหมือนเดิมสำหรับกรมวิชาการเกษตรทั้งตึกกสิกรรม   ซึ่งเป็นตึกหลักของกรมวิชาการเกษตร รวมถึงหน่วยงานในสังกัดที่อยู่ภายในบริเวณเกษตร
กลางบางเขน  ทุกพื้นที่เต็มไปด้วยมวลน้ำจำนวนมากการสัญจรไปมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก   ในช่วงที่เกิดวิกฤตน้ำท่วม    กรมวิชาการเกษตร
ได้มีการจัดรถบรรทุกที่มีความสูงเหนือระดับน้ำที่ท่วม                      เพื่อบริการรับและส่งเจ้าหน้าที่ให้ได้รับความสะดวกในการเข้ามาปฏิบัติงานใน
กรมวิชาการเกษตร

  

          สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้    คงจะเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับคนกรุงเทพที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมกับเหตุการณ์
ที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต ซึ่งเราไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นซ้ำอีกหรือไม่  ทางที่ดีเราคงต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ดีกว่า ก่อนที่สิ่งต่างๆ
มันจะสายเกินแก้วิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้ได้พัดพาเอาความเสียหายในหลายๆ ด้าน  ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สินเงินทอง ของมีค่า บ้านเรือน ฯลฯ และคงจะ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรในหลายพื้นที่ตามข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ  เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก พื้นที่
การเกษตรได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง     ซึ่งขณะนี้มีหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังดำเนินการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่ได้รับ
ความเดือดร้อน

          ผลิใบฯ ฉบับนี้จะนำแง่มุมหนึ่งในอีกหลายๆ แง่มุม    สำหรับการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรที่กำลังได้รับผลกระทบกับปัญหา
การขาดแคลนกิ่งพันธุ์ทุเรียน และกิ่งพันธุ์ส้มโอที่จะนำไปปลูกเพื่อทดแทนกับต้นทุเรียน และส้มโอที่เสียหายไปกับภัยน้ำท่วม        หากจะกล่าวถึง
ทุเรียนเมืองนนท์ หลายๆ   ท่านที่ชื่นชอบในการบริโภคทุเรียนอาจจะมีคำถามในใจว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา  พื้นที่ปลูกทุเรียนอาจจะได้รับ
ผลกระทบตามไปด้วย  และอาจจะกังวลว่าในฤดูกาลที่จะถึงนี้จะยังคงมีทุเรียนเมืองนนท์ให้ได้บริโภคกันอีกหรือไม่

  

          เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา                      กรมวิชาการเกษตรเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ขณะนี้กำลังให้การฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกร    โดย
นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
   บอกว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นนั้น    ส่งผลกระทบต่อแหล่งปลูกไม้ผลที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หลายชนิด   ทั้งสวนทุเรียนก้านยาวเมืองนนท์    สวนส้มโอทองดีและส้มโอขาวน้ำผึ้งจังหวัดนครปฐม  รวมทั้งสวนส้มโอ
ขาวแตงกวาของจังหวัดชัยนาท จากการสำรวจในส่วนของสวนทุเรียนจังหวัดนนทบุรี พบว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนเสียหายจากน้ำท่วมจำนวน 2,898.75 ไร่
เกษตรกร 913 ราย  จากทั้งหมด 2,941.75 ไร่   เกษตรกร 935 ราย   ซึ่งขณะนี้เหลือเพียง 43 ไร่เท่านั้น อยู่ในพื้นที่ตำบลบางรักน้อย  อำเภอเมือง
จำนวน 15 ไร่ และตำบลราษฏร์นิยม อำเภอไทรน้อย 28 ไร่

          สำหรับแนวทางในการฟื้นฟูการปลูกทุเรียนของเกษตรกรจังหวัดนนทบุรีนั้น           กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งประสานความร่วมมือกับ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน                เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นเมือง อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)     สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี   กรมส่งเสริมการเกษตร   กรมพัฒนาที่ดิน   กรมชลประทาน    องค์การบริหาร-
ส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)   เพื่อร่วมบูรณาการปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ปลูกเดิมที่ได้รับความเสียหายให้มีความ
เหมาะสมในการปลูกทุเรียนใหม่อีกครั้ง  ในขณะเดียวกันยังจะเร่งส่งเสริมให้นำพันธุ์ทุเรียนดั้งเดิมของจังหวัดนนทบุรี     พันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองโบราณ
และพันธุ์ทุเรียนเศรษฐกิจมาปลูกทดแทนสวนเดิม พร้อมสนับสนุนการปลูกสร้างสวนใหม่      และยังมีแผนกำหนดมาตรการและวางแนวทางป้องกัน
น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคตด้วย

          ในส่วนของทุเรียน  ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีแปลงอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียน         อันเนื่องมาจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรม ในสมเด็จ
พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  โดยได้รวบรวมพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองโบราณไว้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ไม่น้อยกว่า 100 พันธุ์    ทั้งยัง
รวบรวมพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมจากจังหวัดนนทบุรีอีกประมาณ 60 พันธุ์ ไว้ที่ศูนย์พัฒนาไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรีด้วย ซึ่งขณะนี้
กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งผลิตกิ่งพันธุ์ทุเรียนเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจังหวัดนนทบุรี ที่จะนำไปปลูก
ใหม่หลังน้ำลด และหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเข้าสู่ภาวะปกติ


ฝอยทอง

          สำหรับทุเรียนพันธุ์ดังเดิมจากจังหวัดนนทบุรีที่กรมวิชาการเกษตรได้รวบรวมพันธุ์ไว้ 60 พันธุ์นั้น    มีทั้งพันธุ์หายากและพันธุ์ปลูกที่น่าสนใจ
เช่น  พันธุ์ทองย้อยฉัตร  ทองย้อยเดิม  ทับทิม  กำปั่นตาแพ  ชมพูศรี  ย่ำมะหวาด  ชายมะไฟ  พันธุ์ก้านยาวพวง  หมอนทอง  ลวงทอง  กบแม่เฒ่า
กบตาขำ และกบชายน้ำ เป็นต้น

          นายทวีศักดิ์  แสงอุดม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ  สถาบันวิจัยพืชสวนกรมวิชาการเกษตร  บอกถึงเรื่องนี้ว่าสายพันธุ์ทุเรียน
นนท์ที่นิยมปลูกคือ พันธุ์ก้านยาว ซึ่งมีเนื้อละเอียด เหนียว รสชาติอร่อย หวานมัน ราคาแพง และพันธุ์หมอนทอง  ซึ่งมีรสชาติอร่อยหวานมันเช่นกัน
และมีเนื้อค่อนข้างหนา นอกจากนั้นยังมีพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ เช่น กบแม่เฒ่า ที่มีผลขนาดปานกลาง เนื้อละเอียด รสหวาน มีสีเนื้อเหลืองเข้ม พันธุ์ลวง
แม้จะมีผลคดและบิดเบี้ยว แต่รสชาติดี อร่อย รวมทั้งพันธุ์กบชายน้ำ ที่มีเนื้อละเอียด รสชาติหวานมันอร่อย

          ทุเรียนจังหวัดนนทบุรีส่วนใหญ่จะให้ผลผลิตประมาณ 5 – 20 ผล/ต้น  ซึ่งน้อยกว่าทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ให้ผลผลิตสูงถึง 50 – 200
ผล/ต้น  เนื่องจากชาวสวนปล่อยให้ต้นทุเรียนออกดอกและติดผลตามธรรมชาติ   โดยไม่มีการจัดการเพื่อเพิ่มการออกดอกและติดผล  ประกอบกับ
โครงสร้างของต้นที่สูงและมีกิ่งก้านสาขาน้อยด้วย การที่ผลผลิตทุเรียนนนทบุรีมีน้อยจึงทำให้ราคาขยับตัวสูงขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูแหล่ง
ปลูกทุเรียนของนนทบุรีให้กลับมาโดยเร็วทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีจะขยายพันธุ์โดยการเสียบยอดกับต้นตอ   ซึ่งต้นตอนั้นอาจจะเป็นต้นทุเรียนพันธุ์
พื้นเมือง โดยจะปลูกแบบยกร่องสวนเพื่อให้มีการระบายน้ำได้ดี เมื่อขุดหลุมหลบจะทำเป็นหลังเต่าไม่ให้น้ำขัง  และการถ่ายเทอากาศดีขึ้นเพราะดิน
ส่วนใหญ่จะเป็นดินเหนียว  การดูแลต้องระวังในเรื่องของรากเน่า  โคนเน่า  ที่มาจากการระบายน้ำไม่ดี  โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน รวมทั้งในช่วงใบอ่อน
จะต้องระวังโรคใบติด เกิดจากเชื้อรา ใบจะเป็นรอยคล้ายๆ ถูกน้ำร้อนลวก สำหรับการให้ผลผลิตทุเรียนในภาคตะวันออกโดยทั่วไปจะเริ่มให้ผลผลิต
เมื่ออายุ 4 ปี  และจะให้ผลผลิตสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป

          สำหรับแนวทางในการแก้ไข และป้องกันการสูญพันธุ์ทุเรียนเมืองนนท์เมื่อประสบกับปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา           กรมวิชาการเกษตรโดย
นายจิรากร  โกสัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยพืชสวนจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประสานงานกับจังหวัดนนทบุรี  หน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องและเกษตรกร     เพื่อดำเนินการเข้าไปเก็บยอดพันธุ์ทุเรียนดีๆ   จากต้นก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบริเวณสวนทุเรียนในจังหวัด
นนทบุรี      เพื่อเป็นยอดพันธุ์และนำไปเสียบไว้กับต้นในแปลงแม่พันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี  โดยหลังจากนี้ กรมวิชาการเกษตรจะผลิตกิ่งพันธุ์
ทุเรียนเพื่อนำกลับไปให้ชาวสวนทุเรียนจังหวัดนนทบุรีปลูกใหม่อีกครั้งหลังน้ำลด      รวมทั้งมีการปรับปรุงและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ปลูกทุเรียนในจังหวัด
นนทบุรี ให้มีความเหมาะสมในการปลูกทุเรียนใหม่อีกครั้ง   ตลอดจนหาแนวทางป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตอย่างยั่งยืน


นกหยิบ

          ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรู้จักทุเรียนอยู่ไม่กี่พันธุ์  แต่ในความเป็นจริงแล้วสายพันธุ์ทุเรียนในเมืองไทยมีสายพันธุ์อยู่เป็นจำนวนมากหากจะพูดถึง
ความหลากหลายของกลุ่มพันธุ์ทุเรียนในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม      กลุ่มกบ ได้แก่ พันธุ์กบสุวรรณ  กบตาท้วม  กบสีนาก  กบการะเกด
กบรัศมี  กบหน้าศาล  กบดำ  กบเจ้าคุณ  กบวัดกล้วย  กบตาขำ  กบแม่เฒ่า  และกบมังกร          กลุ่มลวง ได้แก่ พันธุ์ย่ำมะวาด ลวงทอง ชมพูศรี
กลุ่มทองย้อยได้แก่ พันธุ์ทองย้อย ฉัตรสีทอง นมสวรรค์ ทับทิม และธรณีไหว กลุ่มก้านยาว ได้แก่ ก้านยาว ก้านยาวสีนาก ต้นใหญ่  กลุ่มกำปั่น
ได้แก่ พันธุ์ปิ่นทอง  ชายมะไฟ  กำปั่นตาเพชร  กำปั่นดำ  และกำปั่นตาแพ         และกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ พันธุ์ทองเพ็ง ไอ้เม่น จอกลอย ดาวกระจาย
เมล็ดเผียนตะพาบน้ำ  หมอนข้าง  เนื้อเหลือง  ไอ้งวงยาว สีทอง ยินดี นกหยิบ ชายมังคุด สาวชมเห็ด ลำเจียก ไอ้ใหม่ ทองก้อน ฝอยทอง ทองแดง
ก้านสั้น และพันธุ์สาวใหญ่ เป็นต้น     หากมองย้อนกลับมาในเรื่องของส้มโอทองดีและส้มโอขาวน้ำผึ้งของจังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่ง
ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม  โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญในอำเภอสามพราน รวมพื้นที่ปลูกกว่า 5,000 ไร่      คิดเป็นพื้นที่ปลูกส้มโอร้อยละ 80 ของ
จังหวัดนครปฐม

          การดูแลส้มโอจะต้องระมัดระวังเรื่องของโรคแคงเกอร์    โดยจะมีลักษณะคล้ายสะเก็ดสีน้ำตาล    โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และสามารถ
เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของต้นส้มโอ  ทั้งกิ่ง ใบ ผล และเกษตรกรยังสามารถตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคออกแล้วนำไปเผาทิ้ง    ไม่ทิ้งไว้ในแปลง เพราะเชื้อ
โรคสามารถแพร่กระจายได้  ก็จะสามารถลดการเกิดโรคแคงเกอร์ได้อีกวิธีหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีโรครากเน่า โคนเน่า เช่นเดียวกับทุเรียนด้วยการให้
ผลผลิตของส้มโอจะให้ผลผลิตในช่วง 4 ปี   ประมาณ 10 – 20 ผล/ต้น ถ้าส้มโอมีอายุ 7 – 8 ปี  จะให้ผลผลิต 60 – 80 ผล/ต้น ถ้ามีอายุ 9 – 10 ปี
จะให้ผลผลิตมากถึง 90 – 100 ผล/ต้น   โดยเฉลี่ยแล้วส้มโอในภาคกลางจะให้ผลผลิตลดลงเมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป   สำหรับส้มโอนครชัยศรีจะเป็นที่
ต้องการของตลาด    แต่ในขณะเดียวกันสวนส้มโอในจังหวัดนครปฐมก็มีจำนวนน้อยลงไป     เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้
ผลผลิตเร็ว  หรือใช้พื้นที่ทางด้านการเกษตรไปดำเนินการเป็นบ้านจัดสรร ที่อยู่อาศัยมากขึ้น  ทำให้พื้นที่ปลูกส้มโอลดลงเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ
อย่างยิ่งในปีนี้ซึ่งประสบกับปัญหาน้ำท่วม จึงทำให้ผลผลิตส้มโอออกสู่ตลาดลงตามไปด้วย

  

          แนวทางแก้ไขปัญหาและป้องกันการสูญพันธุ์ส้มโอนั้นจะดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกับทุเรียนเมืองนนท์ คือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เข้าไปนำยอดหรือตาจากพันธุ์ดีของเกษตรกรไปติดตา หรือเสียบกิ่งต้นตอ หรือต้นพันธุ์    ในแปลงรวบรวมพันธุ์ของศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย พิจิตร
และศรีสะเกษ   เพื่อจะได้ขยายพันธุ์ให้กับเกษตรกรต่อไปหลังจากน้ำท่วมลดเข้าสู่ภาวะปกติ  ในส่วนที่สำคัญที่สุด   กรมวิชาการเกษตรมีการจัดทำ
แปลงต้นแบบในการฟื้นฟู และการทำสวนใหม่แบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีการจัดการผลิตด้านต่างๆ    เช่น การวิเคราะห์ดินและปรับปรุงดินก่อน
ปลูก    ตลอดจนการให้ธาตุอาหารตามความต้องการของพืช การใช้ปุ๋ยชีวภาพ การเตรียมต้นพันธุ์ดี  การควบคุมทรงพุ่ม  การควบคุมโรคและแมลง
การควบคุมการออกดอกติดผล การให้ผลผลิตและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติในการจัดการ
สวนของตนเอง

          สำหรับผลไม้ทั้ง 2 ชนิด ทั้งทุเรียนเมืองนนท์ และส้มโอนครปฐม จะยังคงมีให้ได้บริโภคกันอย่างแน่นอน สำหรับในฤดูกาลต่อไปอาจจะมีผล
ผลิตที่ออกมาค่อนข้างน้อย    เนื่องจากว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม      แต่ก็ยังสบายใจได้ว่าผลไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้จะยังคงมีกิ่งพันธุ์ที่
สมบูรณ์ที่กรมวิชาการเกษตร ได้เก็บรักษาเอาไว้รวมทั้งไม้ผลพื้นเมืองอีกหลายชนิด   มิให้สูญพันธุ์ไปรวมถึงรสชาติก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคงความ
เป็นเอกลักษณ์   และมั่นใจได้ว่าหลังน้ำลดแล้วกรมวิชาการเกษตรจะมีกิ่งพันธุ์ของผลไม้ทั้ง 2 ชนิดให้เกษตรกรได้นำไปปลูกกันอย่างแน่นอน ทั้งนี้
ทั้งนั้น  ก็ขึ้นอยู่กับเกษตรกรด้วยเช่นเดียวกันว่าจะเลือกเส้นทางของภาคเกษตรกรรม   ที่ต้องใช้ทั้งความอดทนกับระยะเวลาในการปลูก  ซึ่งต้องใช้
เวลาค่อนข้างนานกว่าจะเก็บผลผลิตได้  รวมทั้งการดูแลรักษาเอาใจใส่ไม่ให้เกิดโรคที่จะตามมาอีกมากมาย  แต่ผู้เขียนเชื่อว่า  หากเกษตรกรได้รับ
ความรู้จากเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรที่มีการค้นคว้า วิจัยมาเป็นอย่างดีแล้วและสามารถนำมาถ่ายทอดสู่เกษตรกรรวมทั้งปรึกษานักวิชาการ
อย่างใกล้ชิด เชื่อว่าเวลาที่เสียไปจะคุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับตอบแทนกลับคืนมาอย่างแน่นอน

กรมวิชาการเกษตร ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : 0-2561-2825, 0-2940-6864
โทรสาร : 0-2579-4406

ใส่ความเห็น