ทูตไทยประจำอียู มั่นใจไทยปลดล็อกใบเหลือง ใน 6 เดือน

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

http://www.thairath.co.th/content/494501

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 22 เม.ย. 2558 19:15

ทูตไทยประจำอียู ชี้ประมงไทยโดนใบเหลือง ไม่ส่งผลใดๆทางก.ม. หวังทุกภาคส่วนร่วมมือจริงจังแก้ไขปัญหา ตามมาตรฐานของอียู เชื่อภายใน 6 เดือนปลดล็อก ป้องกันไทยสูญเสียตลาดอียู มูลค่าปีละเกือบ 3 หมื่นล้าน…

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายบุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ประจำเบลเยียม รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายนพปฎล คุณวิบูลย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ได้ให้เชิญสื่อมวลชนไทยที่เดินทางมาทำข่าวงาน Seafood Expo Global/Seafood Processing Global จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2558 ณ บรัสเซลส์ เอ็กซ์โป กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารทะเลโลก ที่มีผู้ร่วมออกบูธจาก 77 ประเทศ ผู้ชมงานจาก 150 ประเทศทั่วโลก มาพบปะพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการที่อียูให้ใบเหลืองเกี่ยวกับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทย

นายนพปฎล กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐไทยได้ประสานงานใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายของไทย รวมไปถึงการหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และรับฟังประเด็นที่ฝ่ายสหภาพยุโรปให้ความสำคัญ ซึ่งฝ่ายไทยก็ได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรการต่างๆ ของไทยเพื่อให้เข้มงวดและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งการแก้ไขกฎระเบียบการทำประมง การจัดเตรียมแผนปฏิบัติการ การตรวจสอบเรือประมงและสัตว์น้ำที่จับได้

พร้อมย้ำว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับประเด็นสังคม เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม มากกว่าแต่ก่อน ในฐานะที่สหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้าสินค้าสินค้าประมงมากที่สุดในโลก จึงต้องการผลักดันการทำประมงแบบยั่งยืนและถูกกฎหมาย การที่สหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองต่อการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU fishing) แก่ไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมานั้น จะยังไม่ส่งผลใดๆ ทางกฎหมาย กล่าวคือ สหภาพยุโรปจะยังไม่ดำเนินมาตรการระงับการซื้อสินค้าประมงจากไทย และจะให้เวลา 6 เดือน ในการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีในแง่ของการเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างอียูกับไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงของไทย ให้สอดคล้องและเป็นไปตามเงื่อนไข IUU ของอียู

“ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐบาลไทยจะได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย และปัญหาการกดขี่แรงงาน หรือใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง รวมทั้งการออกกฎหมายประมงที่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติแล้ว เพียงแต่รอการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น แต่สิ่งที่ฝ่ายไทยได้ทำทั้งหมด ก็ยังไม่ครบตามมาตรฐานที่ทางอียูกำหนดไว้ จึงหวังว่าหากได้รับความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ประเทศไทยก็จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง และบรรลุตามมาตรฐานของสหภาพยุโรปได้ภายในหกเดือน อันจะช่วยให้สินค้าประมงไทยไม่ต้องสูญเสียตลาดอียู ที่มีมูลค่าปีละเกือบสามหมื่นล้านบาท ยิ่งกว่านั้นยังช่วยรักษาภาพพจน์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสินค้าไทยในตลาดอียูได้อีกด้วย”

นอกจากสินค้าประมงของไทยที่ได้รับการภาคทัณฑ์จากสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญการทำประมงผิดกฎหมาย ระบบสอดส่องตรวจตรา และการควบคุมการทำประมง หรือ IUU แล้ว ยังมีสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP จำนวน 6,200 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 อาทิ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และสินค้าประมงแปรรูป อาทิ ปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งแปรรูป อาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ อาทิ กุ้งแปรรูปเสียภาษี ในอัตราร้อยละ 20 จากเดิมร้อยละ 7 สำหรับกุ้งแช่แข็งเสียภาษีในอัตราร้อยละ 12 จากเดิมร้อยละ 4.2

ส่วนปัญหาการตัดสิทธิจีเอสพีของอียูนั้น ส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยอย่างแน่นอน สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป จะต้องประสบกับการแข่งขันที่สูงขึ้น เนื่องจากจะมีต้นทุนภาษีสูงขึ้น แต่ทั้งนี้สหภาพยุโรปได้แจ้งล่วงหน้าถึง 2 ปี เพื่อให้ภาคเอกชนไทยเตรียมการแล้ว ซึ่งเมื่อมองในอีกแง่หนึ่ง การที่ไทยต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับการสิ้นสุดสิทธิ GSP นั้น ส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกของไทยที่ยั่งยืน และทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา แต่การใช้สิทธิพิเศษ GSP ซึ่งไม่ใช่สิทธิที่ยั่งยืน ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพสินค้า การเพิ่มมูลค่าสินค้า การบริหารจัดการกระบวนการผลิตและขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ทางออกอีกทางหนึ่งคือ ผู้ผลิตไทยอาจขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ยังได้รับ GSP จากสหภาพยุโรป เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรืออาจขยายฐานการผลิตมายังประเทศในสหภาพยุโรป เพื่อประโยชน์ในด้านลดต้นทุนภาษีนำเข้า การขนส่ง logistics และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยของยุโรปอีกด้วย”

ทั้งนี้ ประเทศไทยและสหภาพยุโรปได้เจรจา FTA ไปแล้ว 4 ครั้ง ครอบคลุมเนื้อหาทางเทคนิค ครั้งสุดท้ายเดือนเมษายน 2557 ที่กรุงบรัสเซลส์ แต่ได้ยุติลงนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ทำให้ทางอียูระงับความสัมพันธ์ระดับรัฐมนตรีและหยุดการเจรจาในทุกระดับ เป็นสาเหตุให้การดำเนินการเรื่อง FTA ต้องชะงักไปด้วย ขณะที่ประเทศคู่แข่งของไทย เช่น ฟิลิปปินส์ได้บรรลุข้อตกลงเรื่องเอฟทีเอกับอียู ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งจากจีเอสพีและระดับภาษีที่เป็นศูนย์ ทำให้สินค้ามีราคาต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น

 

1 thoughts on “ทูตไทยประจำอียู มั่นใจไทยปลดล็อกใบเหลือง ใน 6 เดือน

  1. Pingback: เบื้องหลังใบเหลืองประมงไทย “ข้อชี้แจงเดิมๆปัญหาการขึ้นทะเบียนเรือ – หน่วยงานลับอียูตรวจ

ใส่ความเห็น