ประดิษฐ์”สะนู”ติดว่าว ประเพณีเสี่ยงทายที่ใกล้สูญ

http://www.thaipost.net/node/53800

11 March 2555 – 00:00

ภูมิปัญญากับความเชื่อการทำแอกหรือสะนูที่ใช้เล่นกับตัวว่าวในช่วงฤดูร้อน เป็นเครื่องไม้หรือของเล่นที่ทำไว้ใช้ในช่วงเวลาว่างจากการทำงานของคนไทยในสมัยโบราณ โดยจะใช้ติดอยู่บนหัวของว่าวที่ทำให้ว่าวมีความสมดุลและติดลมได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งอัศจรรย์อย่างยิ่งที่สามารถทำให้เกิดเสียงดนตรีบรรเลงได้อย่างไพเราะจับใจ
คนไทยโดยเฉพาะทางภาคอีสานมีความเชื่อว่า ว่าวที่แอกหรือสะนูประกอบว่าว ถือเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการเสี่ยงทายเรื่องต่างๆ เช่น การเสี่ยงทำนายฟ้าฝนในแต่ละฤดูกาล ถ้าว่าวติดลมลอยอยู่บนท้องฟ้าตลอดทั้งคืน มีความเชื่อว่าปีนั้นฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล ไร่นาและการทำมาหากินจะอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าว่าวขาดหรือเชือกขาด เสียงแอกไม่ดังก็มีความเชื่อว่า ในปีนั้นน้ำจะแล้ง ส่วนการเสี่ยงเพื่อเลือกคู่ครอง ถ้าใครเก็บว่าวได้จะถือว่าเป็นคู่ครองอยู่กินกันอย่างมีความสุข นอกจากจะเป็นการละเล่นแล้วยังใช้ประกอบพิธีกรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อและวัฒนธรรม
ชาวตำบลชุมเห็ด จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นตัวอย่างชุมชนหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สืบทอดการทำแอกหรือสะนูจากบรรพบุรุษมานานหลายชั่วอายุคน มีความเชื่อ 3 ประการคือ 1.เพื่อบวงสรวงและขอขมาพระแม่ธรณี พระภูมิเจ้าที่และพระแม่โพสพ บวงสรวงโดยทำว่าวให้มีถุงหรือกระเป๋าใส่เครื่องเซ่นไหว้ เช่น หมากพลู ยาเส้น บุหรี่ เงิน ช่วงที่จะเอาว่าวขึ้นท้องฟ้าติดลมตลอดทั้งคืน โดยมีเสียงแอกเป็นเสมือนดนตรีขับกล่อมผู้คนและท้องทุ่ง ในช่วงเช้าก็จะนำว่าวลงมาเพราะถ้าไม่นำว่าวลง ว่าวจะตกลงเพราะกลางวันลมบกไม่ค่อยมี
2.เสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเชื่อว่าปีใดที่ว่าวขึ้นสูงและมีเสียงแอกติดลมอยู่ตลอดทั้งคืน ทายว่าฟ้าฝนจะดี ข้าวปลาอาหารจะบริบูรณ์
3.เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ หลังจากนำว่าวขึ้นท้องฟ้าทุกค่ำคืน แอกมีเสียงดังโหยหวน เชื่อว่าเป็นกรรม หลังจากนั้นก็จะนำสิ่งของไปเซ่นไหว้ แล้วตั้งจิตอธิษฐานขออย่าให้มีทุกข์โศกโรคภัย และเสนียดจัญไร แล้วนำขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ว่าวขึ้นสูงและแอกมีเสียงดัง เจ้าของว่าวจะตัดเชือกว่าวให้ขาดล่องลอยไปตามสายลม จึงถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์สิ่งเลวร้ายให้ลอยหายไปกับว่าว และมีสิ่งดีๆ กลับมาหาเจ้าของว่าว
การเล่นว่าวจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะมีลมพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บางครั้งเรียกว่า ลมว่าวพัดมาแล้ว ว่าวประเภทที่มีแอกหรือสะนูติดอยู่ส่วนหัวว่าวด้วยนี้จะเล่นเฉพาะผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก เพราะต้องใช้ความประณีตและความพยายามในการประดิษฐ์แอก เพื่อทำให้เกิดเสียงไพเราะติดลมบนท้องฟ้าได้
ดังเช่นแอกหรือสะนูของนายณรงค์และนางเฉลียว อุไรแข ชาวบุรีรัมย์ ผู้ใช้ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าสืบทอดการประดิษฐ์แอกให้คงอยู่และเป็นมรดกอันล้ำค่าแก่ชุมชนท้องถิ่น รักษาไว้มิให้สูญหายและถ่ายทอดให้ลูกหลานหรือผู้ที่สนใจได้รู้จักวิธีการทำแอกหรือสะนูเพื่อเป็นการศึกษาและอนุรักษ์ภูมิปัญญางานช่างฝีมือพื้นบ้าน
วิธีการทำแอกหรือสะนูเริ่มจากการเลือกต้นไผ่ที่สมบูรณ์และแข็งแรง ไม่มีแผลเน่า ลำต้นยาวตรงและมีหน่อไผ่กำลังขึ้นมาแทนที่ ไม่ควรเลือกต้นไผ่ที่มีความแก่มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดแตกหรือหักในขณะประดิษฐ์แอกว่าวได้ ตัดไม้ไผ่ให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ ผ่าให้ได้รูปทรงใกล้เคียงกับขนาดว่าว
นำไม้ไผ่ที่ผ่าแล้วมาวัดแบ่งครึ่งหรือระหว่างกึ่งกลางโดยใช้สายวัด สมัยก่อนไม่มีสายวัด ผู้ประดิษฐ์จะใช้นิ้วเป็นจุดคาดคะเนระดับกึ่งกลางจากการถ่วงน้ำหนัก เหลาไม้ไผ่ให้ได้ขนาดและรูปทรง การจัดรูปทรงไม้ไผ่ช่างจะใช้วิธีลนไฟแล้วดัดไม้ไผ่ให้ได้รูปทรง
หลังจากเหลาไม้ไผ่ได้ตามขนาดแล้วจะใช้กระดาษทรายขัดผิวให้เรียบ ลบรอยเสี้ยน นำไม้ไผ่ไปผึ่งแดดประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อทำให้ไม้ไผ่ดัดทรงง่ายและไม่คืนตัว จากนั้นนำไม้ไผ่ที่ผึ่งแดดมาถักลวดลายแอกหรือสะนูด้วยเส้นหวายเพื่อความสวยงาม เช่น ลายจูงนาง ซึ่งยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้ให้ได้เห็น
ต่อจากนั้นเหลาใบสะนู ซึ่งทำมาจากหวาย มีความยาวใกล้เคียงกับไม้ไผ่ที่เตรียมสำหรับทำแอกหรือสะนู เทคนิคการเหลาใบแอกหรือสะนูจะให้เหลือปมที่ปลายหวายทั้งสองข้างเพื่อเป็นหัวของใบสะนูมีลักษณะกลม ใบแอกหรือสะนูมีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร และกว้าง 1 เซนติเมตร เจาะใบแอกหรือสะนูทั้งสองข้างด้วยสว่านให้เป็นรูสำหรับผูกเส้นไหมหรือเอ็น
นำเอ็นมาผูกใบสะนูทั้งสองข้างและติดชันโรงที่บริเวณปลายสุดของใบสะนู แล้วนำใบสะนูมาผูกติดกับไม้ไผ่ที่เหลาไว้โดยดึงให้ตึงพอสมควร โดยมีการถักลวดลายอย่างสวยงาม นำไม้ไผ่มาเหลาให้มีขนาดใกล้เคียงกับแอกหรือสะนู แล้วนำมาประกบกับตัวแอกอีกชั้นหนึ่งโดยไม้ไผ่ที่นำมาประกบทีหลังนี้ให้เจาะรู แล้วมัดหลายๆ เปลาะให้แน่นติดกับสะนู
เริ่มทดสอบเสียงของสะนูให้ไพเราะโดยการนำชันโรงมาติดกับใบสะนูเป็นจุดๆ เพื่อปรับแต่งเสียงให้ไพเราะ เมื่อได้เสียงที่ต้องการแล้วจึงนำมาผูกติดกับว่าว ซึ่งแอกหรือสะนูอาจจะมีการตกแต่งให้สวยงามด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้เส้นไหมผูกหรือทาน้ำมันเคลือบเงาให้สวยงามเป็นอันเสร็จสมบูรณ์
การทำแอกหรือสะนูจึงนับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นที่หาดูได้ยาก จึงควรที่จะมีการเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดก่อนที่จะสูญหายไปกับสายลมแห่งกาลเวลา.

1 thoughts on “ประดิษฐ์”สะนู”ติดว่าว ประเพณีเสี่ยงทายที่ใกล้สูญ

  1. Pingback: ลมว่าวพัดมาแล้ว มาแล่นเล่นว่าวสะนูกัน | Esan Information @Ubon Ratchathani

ใส่ความเห็น