ย้อนตำนานเขาพระวิหาร(1) เขมรถือแผนที่2ฉบับเหนือกว่าไทย

วันที่ 24/6/2008

ผ่านทางแนวหน้า มั่นคง ตรงไป ตรงมา.

“ปราสาทเขาพระวิหาร” กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อประเทศกัมพูชาขอเสนอให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และมีหลายประเทศประกาศสนับสนุนให้รัฐบาลกัมพูชา จดทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ฝ่ายประเทศไทยคัดค้านการยื่นฝ่ายเดียวของกัมพูชามาตลอด โดยอ้างเรื่องความสมบูรณ์ทางวิชาการด้านโบราณคดี และการที่ทั้ง 2 ประเทศ ยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับเขตแดน

“อุณหภูมิร้อนทางการเมืองไทยระอุ”..!!

เมื่อนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ทำข้อตกลงยอมรับที่จะให้ประเทศกัมพูชา จดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกกับยูเนสโก ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับที่หลายฝ่ายที่ออกมาคัดค้านการที่ประเทศกัมพูชาจะนำเอาปราสาทเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากประเทศไทยอาจจะต้องเสียพื้นที่บางส่วนที่ติดกับปราสาทเขาพระวิหารไป

หากย้อนประวัติศาสตร์ก่อนสงครามอินโดจีน เดิมพื้นที่ประเทศกัมพูชาบางส่วน รวมถึงปราสาทนครวัดนครธม เคยเป็นของประเทศไทย แต่ต้องเสียดินแดนอันกว้างขวางไปถึง 2 ครั้ง เมื่อเกิดสงครามอินโดจีน ประเทศไทยต้องเสีย จ.พระวิหาร แลกกับ จ.จันทบุรี ที่ฝรั่งเศสยึดไว้ และต้องยกพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส คือ บริเวณทิวเขาหลวงพระบาง ทิวเขาพนมดงรัก และทำสนธิสัญญา วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 (พ.ศ.2447) จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนกันขึ้น โดยฝ่ายไทยมีพลตรีหม่อมชาติเดชอุดม เป็นข้าหลวงปักปัน ฝ่ายฝรั่งเศส มีพลตรี เอฟ แบร์นารด์ (Colonel F.Bemerd) เป็นข้าหลวงปักปัน แต่ข้อเท็จจริงการสำรวจทำแผนที่นั้นฝรั่งเศสเป็นผู้ทำแต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าไทยจะเรียนการทำแผนที่จากอังกฤษ แต่ก็รู้จักการแสดงสัญลักษณ์แผนที่ของภูเขาด้วยลายขวางสับ ซึ่งมีสัญลักษณ์คล้ายกับตัวหนอน ส่วนฝรั่งเศสทำแผนที่ในลักษณะเขียนสัญลักษณ์แทนภูเขาด้วยเส้นชั้นความสูง

การปักปันเขตแดนในครั้งนั้นจะทำเฉพาะส่วนที่ไม่ใช่แม่น้ำโขง แผนที่จึงมี 2 ตอน คือ ทิวเขาหลวงพระบาง และแม่น้ำเหือง มีอยู่ 5 ระวาง คือ Mg.khop Mg.XienG Lom,Huat Mc.Nam,Mg.Nan, Pak Layc และNam Heung ส่วนทางทิวเขาพนมดงรัก และเขตในกัมพูชา มีอยู่ 6 ระวาง คือ Bassac,Khong,Dangrek,Phnom Coulen,Grand Lac และMg.krad สำหรับในส่วนของกัมพูชา จะเป็นเขตแดนครึ่งระวางของระวาง Khong ส่วนระวาง Dangrek นั้นเส้นแดนมาตามสันปันน้ำของทิวเขาพนมดงรักเพียงครึ่งระวางเช่นเดียวกัน เมื่อถึงจุดแบ่งเขต จ.ศรีสะเกษ กับ จ.สุรินทร์ ตรงช่องสะงำ เส้นเขตแดนจะหักลงทางทิศใต้ตัดไปที่ทะเลสาบเขมร แล้วลากไปตามเขตแดนของ จ.อุดรมีชัย เสียมราฐ และพระตะบอง กับจ.พระวิหาร ก้มปงทม โพธิสัต และเส้นเขตแดน จะกัน จ.ตราด ไว้ในกัมพูชา แผนที่ทั้ง 11 ระวาง ชื่อว่าแผนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับสยามมาตราส่วน1:200,000 จากนั้นฝรั่งเศสก็ถอนกำลังจาก จ.จันทบุรี ไปยัง จ.ตราด

ต่อมาเพื่อแลกกับเปลี่ยนกับอำนาจศาล อ.ด่านซ้าย และ จ.ตราด จึงมีการทำหนังสือสัญญาลงวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) ฝ่ายไทยยกพื้นที่ จ.อุดรมีชัย จ.เสียมราฐ และจ.พระตะบอง ให้กับฝรั่งเศส และได้มีการปักปันเขตแดนเพิ่มเติมจากส่วนที่ทำไปแล้ว การปักปันเขตแดนจะเริ่มจากทิวเขาพนมดงรัก ตรงช่องสะงำ หรือตรงจุดแบ่งเขตระหว่าง จ.ศรีสะเกษ กับ จ.สุรินทร์ ไปตาม”สันปันน้ำ”ของทิวเขาพนมดงรัก ทำให้เส้นแดนบนแผนที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีน-สยาม ชุดแรก Dangrek ต้องถูกยกเลิกไปครึ่งหนึ่ง และตั้งแต่ระวาง Phnom Coulen,Grand Lac และMg.krad ถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ

คณะกรรมการปักปันเขตแดนใหม่ทำการปักปันเขตแดนตาม”สันปันน้ำ”ของทิวเขาพนมดงรัก จากช่องสะงำ โดยการปักปันเขตแดนด้วยไม้ และทำแผนแดนไว้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่แผนที่ชุดนี้แสดงเฉพาะเส้นเขตแดน แต่ไม่ได้แสดงตำแหน่งหลักเขตแดนไว้ และไม่มีการแสดงเส้นละติจูต และลองจิจูตไม่ได้ตีกรอบระวาง ส่วนชื่อระวางนั้นใช้หมายเลขแทน คือ หมายเลขที่1 จากชายฝั่งทะเลขึ้นไป สำหรับลำดับหมายเลขหลักเขตที่ปักไว้สวนทางกับลำดับหมายเลขระวางแผนที่ คือ ปักหลักเขตที่ 1 ตรงช่องสะงำ ปักไปตามสันปันน้ำทิวเขาพนมดงรัก จนถึงหลักที่ 28 จึงวกลงพื้นที่ราบใน อ.ตาพระยา อรัญประเทศ คลองหาด จ.สระแก้ว อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบรี จนถึงหลักเขตที่ 68 เส้นเขตแดน จึงไปตามสันปันน้ำทิวเขาบรรทัด ในเขต อ.บ่อไร่ อ.เมือง อ.คลองใหญ่ จ.ตราด จนสุดปรายทิวเขาบรรทัดเป็นหลักที่72 จึงหักไปทางตะวันตก ตัดชายฝั่ง เป็นหลักเขตที่ 73 ตรงบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

ขณะเดียวกันคณะกรรมการปักปันก็ได้เขียนเส้นเขตแดนใหม่บนแผนที่ 8 ฉบับ ส่วนอีก 3 ฉบับยังปล่อยไว้เช่นเดิม แผนที่ทั้ง11 ฉบับ พิมพ์เสร็จใน ค.ศ.1908 (พ.ศ.2451 ) และได้ส่งมาให้ไทย50 ชุด ซึ่งฝ่ายไทยได้ตอบรับขอบคุณไป

แต่สนธิสัญญาปี ค.ศ. 1907 ระบุไว้ว่า เส้นเขตแดนไปตามสันปันน้ำทิวเขาพนมดงรัก แต่ตรงบริเวณที่ตั้งปราสาทเขาพระวิหาร เส้นเขตแดนบนระวาง Dangrek กลับเขียนผิดสภาพความจริงตัดเอาส่วนที่เป็นปราสาทไว้ในเขตของฝรั่งเศส ถ้าเขียนตามสันปันน้ำแล้วปราสาทเขาพระวิหารต้องอยู่ในเขตไทย ฝ่ายไทยไม่เคยสังเกตแผนที่ที่ฝรั่งเศสเขียนอย่างไร แต่ประเทศไทยก็เข้าใจไปครอบครองเขาพระวิหารตลอดมา

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1925 (พ.ศ.2468) จ.ศรีสะเกษ ประกาศขึ้นเป็นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และนำกำลังทหารประจำอยู่ตามจุดต่างในปราสาทเขาพระวิหาร ใน พ.ศ.2501 รับรัฐบาลได้รายงานจากสถานฑูตไทยประจำกรุงพนมเปญว่าฝ่ายกัมพูชากำลังรวบรวมหลักฐานที่จะฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าไทยยึดปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชาไป

ในที่สุดวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2502 รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสำนักทะเบียนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อนำข้อพิพาทระหว่างกัมพูชากับไทยขึ้นสู่ศาล โดยขอให้ศาลพิพากษาและแถลงไม่ว่าราชอาณาจักรไทยจะปรากฏตัวหรือไม่ คือ1.ว่าเป็นราชอาณาจักรไทยอยู่ภายใต้พันธกรณีที่จะถอนกำลังทหารที่ได้ส่งไปประจำการในปราสาทเขาพระวิหาร 2.ว่าอธิปไตยแห่งดินแดนเหนือปราสาทเขาพระวิหารเป็นขอราชอาณาจักรกัมพูชา ส่วนคำร้องกัมพูชาได้ยื่นต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2503

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2505 โดยการฟ้องร้องของรัฐบาลกัมพูชา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือที่เรียกว่า ศาลโลก ได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 รัฐบาลไทย จึงได้ประกาศกำหมดเส้นเขตแดนบริเวณนี้ว่า แนวเขตแดนตรงบันไดสิงห์มาทางเหนือ 20 เมตร ลากเส้นตั้งฉากจากแนวกึ่งกลางบันไดสิงห์ไปทางตะวันตก 100 เมตร แล้วลากเส้นตรงไปทางทิศใต้ ไปจนตัดขอบของหน้าผาใกล้เป้ยยาดี ส่วนด้านเหนือที่ห่างจากบันไดสิงห์ 20 เมตร ให้ลากเส้นโค้งไปจดกันกับหน้าผาตรงบันไดหัก ต่อมากรมแผนที่ทหารบก ได้ไปรังวัดแนวเขตตามที่คณะรัฐมนตรีกำหมด แล้วกั้นลวดหนามไว้ ซึ่งแนวเขตแดนรั้วหนามนี้ ประเทศกัมพูชา ไม่เคยทักท้วงมาจนทุกวันนี้

ปัญหาก็คือฝ่ายไทยถือแผนที่ L7017 ระหว่างบ้านโป่งสะลอน มาตราส่วน1:50000 ส่วนฝ่ายกัมพูชา ถือแผ่นที่อยู่ 2 ฉบับ คือ แผ่นที่ 1:200000 ตามอนุสัญญา ปี ค.ศ.1904 โดยปักปันเขตแดนสยาม-อินโดจีน ซึ่งฝรั่งเศสเป็นฝ่ายกระทำเพียงผู้เดียว โดยใช้สันปันน้ำ เป็นตัวแบ่งเขตแดน และฉบับที่2 คือ 1:50000 L7016 ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้กับกัมพูชา แต่ทั้ง 2 ฉบับ หากแผ่นที่ฉบับไหนที่กัมพูชา คิดว่าได้เปรียบจะถือฉบับนั้น และจะนำมาต่อรองกับไทยตลอด

การขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลก ยืนต่อคณะกรรมการยูเนสโก ซึ่งยังมีความขัดแย้งในแนวเขตกันอยู่ ทางคณะกรรมการยูเนสโก จึงให้ไทย-กัมพูชา ที่จะบริหารร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ แต่ฝ่ายกัมพูชา ได้กระทำเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เคยปรึกษาฝ่ายไทย แต่รัฐบาลก็ไม่เคยทักท้วง หรือดำเนินการอะไร ปล่อยให้เรื่องบานปลายจึงถึงปัจจุบัน

SCOOP@NAWNA.COM

ใส่ความเห็น