ใช้อินฟราเรดสกัดน้ำมันปาล์ม มวลพลังสะอาดปราศจากมลพิษ

1 สิงหาคม 2554, 05:00 น.

http://www.thairath.co.th/content/edu/190493.

Pic_190493

 

ขั้นตอนการอบด้วยไมโครเวฟร่วมกับอินฟราเรด.

ประเทศไทย…ได้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันปาล์มอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จากเหตุการณ์นี้มีผู้เดือดร้อนในทุกระดับภาคชั้นทุกสาขาอาชีพ…ย่อมแสดงให้เห็นว่าน้ำมันปาล์มมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขนาดไหน

 

การสกัดน้ำมันปาล์ม มีกรรมวิธีที่ซับซ้อนและน่าสนใจ เพราะกว่าจะได้น้ำมันปาล์มมาใช้ประโยชน์นั้น…ขั้นตอนหนึ่งที่เป็นปัจจัย สำคัญในกระบวนการที่มองข้ามไม่ได้คือ การทำให้เนื้อปาล์มสุกด้วยความร้อน และ การแยกเนื้อปาล์มออกจากกะลา เพื่อทำลาย เอนไซม์ไลเปส รวมทั้งลดการเกิด ไฮโดรไลซีส รวมทั้งป้องกันการแยกตัวของน้ำมันเป็น กรดไขมันกลีเซอรีน และ ลดปฏิกิริยาออกซิเดช่ัน ที่จะทำให้ น้ำมันปาล์มเกิดเหม็นหืน…!!

นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้เห็นถึงความสำคัญ จึงคิดค้นวิธีลดความชื้นผลปาล์มด้วย เครื่องอบไมโครเวฟ ร่วมกับ อินฟราเรด ขึ้น โดย ผศ.ดร.กลอยใจ เชยกลิ่นเทศ จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า สำหรับ เทคโนโลยี เดิมเป็นการใช้ความร้อนจากไอน้ำเพื่อทำให้ผลปาล์มสุก แต่หลังจากสกัดน้ำมันจากเนื้อปาล์มแล้ว จะต้องไล่ความชื้นออกจากน้ำมันที่สกัดได้ อีกขั้นตอนหนึ่ง ทำให้ สูญเสียผลผลิต เสียเวลา เพิ่มค่าใช้จ่าย ใช้พลังงานสูง อีกทั้งยังทำให้มีน้ำเสียประมาณ 35–40 เปอร์เซ็นต์

ผศ.ดร.กลอยใจ เชยกลิ่นเทศผศ.ดร.กลอยใจ เชยกลิ่นเทศ

ปัจจุบันได้พัฒนาการสกัดจากผลปาล์มแบบแห้ง เรียกว่า ระบบแห้งหีบรวม ซึ่งมีขั้นตอนในการอบผลปาล์มก่อนการสกัดน้ำมันเพื่อไล่ความชื้น ทำให้เนื้อปาล์มหลุดออกจากกะลาง่ายขึ้น และช่วยยับยั้ง เอนไซม์ไลเปส  วิธีการคือ  ใช้ความร้อนจาก แหล่งความร้อนต่างๆที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที วิธีนี้ช่วยให้ได้น้ำมันปาล์มคุณภาพเกรดเอ มีความชื้น กรดไขมันต่ำ ไม่ต้องไล่ความชื้น ไม่มีน้ำเสีย และช่วยประหยัดพลังงาน

…ในการศึกษาวิจัย การนำเอาแหล่งพลังงาน อย่างไมโครเวฟและอินฟราเรด มาใช้เป็นแหล่งพลังงานความร้อน จึงมีจุดประสงค์ เพื่อ ประหยัดเวลาและพลังงานให้มากที่สุด อีกทั้งยังได้เนื้อปาล์มที่สุกพอดี  ทำให้สกัดน้ำมันคุณภาพเกรดเอ ได้ปริมาณมาก รวมทั้งสามารถ ลดมล ภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษ ได้อีกด้วย…

ผลปาล์มที่ผ่านการอบ.ผลปาล์มที่ผ่านการอบ.

ผศ.ดร.กลอยใจ บอกอีกว่า  ในการศึกษาและ ทดลองครั้งนี้ได้รับความร่วมมือและอนุเคราะห์จากหลายๆส่วน ไม่ว่าจะเป็นผลปาล์มที่ได้จาก สวน ปาล์มจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือเครื่องอบผลผลิตทางการเกษตรด้วยไมโครเวฟร่วมกับอินฟราเรด จากบริษัทพรีม่าเอเชีย จำกัด ประเทศไทย จากผลการทดสอบวิเคราะห์พบว่า ระบบนี้ใช้เวลาในการลดความชื้นน้อย ทำให้เนื้อปาล์มล่อนจากกะลาได้ง่าย อัตราการลดความชื้นก็คงที่ สม่ำเสมอตลอดเวลา 21 นาทีที่ผ่านเข้าระบบ ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายพบว่า สามารถประหยัดพลังงานได้ 4–5 เท่าเมื่อเทียบกับการลดความชื้นโดยวิธีใช้ลมร้อน หรือจากฮีตเตอร์

นับว่าเป็นการค้นพบที่จะนำไปสู่การพัฒนา การผลิตน้ำมันปาล์มที่มีประสิทธิภาพ ออกมาใช้ในโอกาสต่อไปได้ดีและยอดเยี่ยมทีเดียว ทั้งนี้หากผู้ใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีลดความชื้นของผลปาล์ม สามารถกริ๊ง กร๊างถาม ผศ.ดร.กลอยใจ ที่ 08-1491-3894 ส่วนเทคโนโลยีการอบพืชและผลผลิตทางการเกษตรด้วย ไมโครเวฟร่วมกับอินฟราเรด คลิกไปที่ E–mail: chaiwat_chok@yahoo.com

 
ไชยรัตน์   ส้มฉุน

 

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ไชยรัตน์ ส้มฉุน
  • 1 สิงหาคม 2554, 05:00 น.

ใส่ความเห็น