เก็บรักษาเงาะผลสดอย่างไร ให้ยาวนาน

imagesฉบับที่ 5   ประจำเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2551

ผ่านทางขอคุยด้วยคน.

ผลิใบ ขอคุยด้วยคน
กองบรรณาธิการ

เก็บรักษาเงาะผลสดอย่างไร ให้ยาวนาน

เงาะเป็นไม้ผลเมืองร้อนชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญและแพร่หลายแต่เฉพาะบริโภคสดภายในประเทศ เนื่องด้วยพื้นที่ปลูกที่มีค่อนข้างมากในภาคตะวันออก จึง
ทำให้มีปัญหาเรื่องราคาเงาะตกต่ำในฤดูกาลผลิตอยู่เสมอมา  การแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การลดปริมาณการผลิตลง  โดยการ
ลดพื้นที่ปลูกเพื่อจำกัดปริมาณเงาะที่จะออกสู่ตลาดให้น้อยลง พร้อมๆ กับขยายตลาดไปสู่ตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น แต่เนื่องจากเงาะผลสดจะมีระยะเวลาที่จะคง
ความสดอยู่ได้ไม่นานนัก จึงเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในการส่งออก

กรมวิชาการเกษตร  โดยนักวิชาการของสถาบันวิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี  ซึ่งประกอบด้วย นิลวรรณ ลีอังกูรเสถียร   ศิริขวัญ  ชำนาญนก
เสริมสุข  สลักเพ็ชร์ และอรวินทินี  ชูศรี  จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการผลิตเงาะให้มีคุณภาพ  เพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในการกระจายสินค้าการเกษตรของไทยออกสู่ตลาดโลกให้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศใกล้เคียงในแถบเอเชีย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์
เป็นต้น

อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว  ว่าด้วยข้อจำกัดของระยะเวลาการขนส่ง  ที่จะทำให้เงาะคงความสดเมื่อถึงตลาดปลายทางในต่างประเทศ ครั้นจะแก้ปัญหาด้วย
การใช้การขนส่งทางอากาศ  ซึ่งรวดเร็วแต่มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งค่อนข้างสูง ไม่คุ้มกับการลงทุน  จึงมีการผลักดันให้ใช้การขนส่งทางเรือเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
ลง แต่ข้อเสีย  คือต้องใช้ระยะเวลานานเกินกว่าที่เงาะจะคงความสดไว้ได้   ด้วยเหตุนี้คณะนักวิชาการที่เอ่ยนามมาแล้วข้างต้น  จึงพยายามศึกษาหาวิธีการยืดอายุ
การเก็บรักษาเงาะผลสดให้ยาวนาน สำหรับการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศโดยการขนส่งทางเรือ

เริ่มแรกได้ทดสอบการขนส่งเงาะผลสดทางเรือไปยังประเทศจีน   โดยใช้ตู้ขนส่งที่ควบคุมอุณหภูมิ  เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง   เงาะยังคงมีความสดและ
คุณภาพยังดี  แต่เมื่อนำเงาะออกจากตู้ขนส่ง เพื่อการการจำหน่ายสู่ตลาด  ปรากฏว่าผลเงาะจะเหี่ยวทั้งหมดภายใน 6 ชั่วโมง   จึงได้มีการค้นหาข้อมูลผลงานวิจัย
ที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านั้น พบว่าเมื่อปี พ.ศ. 2547 วรภัทร  ลัคนทินวงศ์ และคณะภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัยการ
ทดสอบการเก็บรักษาเงาะผลสดในสภาพดัดแปลง    บรรยากาศที่อุณหภูมิการเก็บรักษา 10 องศาเซลเซียส   โดยบรรจุเงาะผลสดในถุงพลาสติก DPE (density
polyethylene) ทำการเติมก๊าซผสมระหว่างออกซิเจน : คาร์บอนไดออกไซด์  ความเข้มข้นร้อยละ 5 : 5  คลุมด้วยถุงดำ ทำให้สามารถเก็บรักษา เงาะผลสดให้มี
คุณภาพดีเป็นที่ยอมรับทางการค้าได้นานที่สุด 26 วัน

ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2532 ณัฐยา เจริญผล นิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาอิทธิพลของสารกำจัดเชื้อรา แมนโคเซบ
อุณหภูมิ และภาชนะบรรจุที่มีต่อการเก็บรักษาผลเงาะพันธุ์โรงเรียน  พบว่า เก็บรักษาผลเงาะที่บรรจุในถาดโฟมหุ้มด้วยฟิล์มพลาสติกที่อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส
เก็บได้นานถึง 24 วัน คณะผู้วิจัยจึงได้ประมวลผลงานวิจัยที่ทำการศึกษาไว้ใช้ประโยชน์สำหรับการวางแผนการศึกษาวิจัยของโครงการนี้

การแก้ปัญหาสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี และการจัดการที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งเงาะผลสดทางเรือจึงเกิดขึ้น   โดยได้รับความร่วมมือ   จากภาค
เอกชน และภาครัฐ   ในการเอื้อเฟื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการจำลองสภาพการขนส่งทางเรือที่มีประสิทธิภาพ  ผู้ประกอบการผลิตถุง LDPE ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านการ
ควบคุมเครื่องทำความเย็น เพื่อให้คำแนะนำและปรึกษาแก่โครงการฯ จนสามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ด้วยดี

4 ปีกับการทดสอบ
ปี พ.ศ. 2548 ดำเนินการดังนี้
1)  ทำการทดสอบการเก็บรักษาเงาะผลสดพันธุ์โรงเรียน ในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งขนาด 20 ฟุต จำนวน 2 ตู้ เปรียบเทียบกันคือ ตู้ขนส่งที่ติดตั้งเครื่องทำ
ความเย็นแบบ AFAM+(Advanced Fresh Air Management) ที่สามารถควบคุมการถ่ายเทอากาศ โดยกำหนดปริมาณความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์ที่ระดับ
12% และควบคุมอุณหภูมิที่ระดับ 12 องศาเซลเซียส กับตู้ขนส่งที่ติดตั้ง เฉพาะเครื่องทำความเย็นที่ใช้ในการขนส่งทั่วไป

2)  เปรียบเทียบและทดสอบบรรจุภัณฑ์และการจัดการที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งทางเรือโดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่ต่างกัน 5 แบบ
2.1  ตะกร้าพลาสติกสี่เหลี่ยมที่ใช้บรรจุผลไม้ทั่วไปขนาด 20 กิโลกรัม
2.2  ถาดโพลีสไตลีน (polystylene) บรรจุเงาะ 12 ผล มีฝาล็อก
2.3   ถาดโพลีสไตลีน บรรจุเงาะ 12 ผล ฝากระดาษอาบมัน
2.4  ถาดกระดาษรีไซเคิลอัดบรรจุเงาะ 30 ผล ฝาโพลีสไตลีน
2.5  ตะกร้าพลาสติกสี่เหลี่ยมที่ใช้บรรจุผลไม้ทั่วไป  กรุโดยรอบด้วยกระดาษหนา 80 แกรม / นิ้ว เจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว  ห่างกัน 3 นิ้ว
โดยรอบ

ผลการทดสอบ พบว่าเก็บรักษาเงาะผลสดพันธุ์โรงเรียน  ในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งขนาดเปรียบเทียบกัน 2 ระบบ   คือ ระบบ AFAM+ และระบบควบคุม
ความเย็นทั่วไป เมื่อประเมินคุณภาพการยอมรับ จากลักษณะที่ประเมินด้วยสายตาคือสีผิวเงาะ  ตำหนิบนผิวเงาะ  สีปลายขนเงาะ การประเมินคุณลักษณะภายนอก
และภายในผลเงาะและการเกิดโรคในภาชนะบรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ กันนั้น  สภาพการเก็บรักษาแบบ AFAM+  สามารถยืดอายุการเก็บรักษาเงาะผลสดได้สูงสุด 19
วัน ในภาชนะบรรจุ 2 แบบ คือ ถาดโพลีสไตลีน บรรจุเงาะ 12 ผล มีฝาล็อก  และถาดโพลีสไตลีน ฝากระดาษอาบมัน 12 ผล ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์แบบสำเร็จรูปเพื่อ
การวางตลาดระดับกลางค่อนข้างสูงในซุเปอร์มาร์เก็ต (individual packaging) ในกรณีที่ตลาดปลายทางเป็นตลาดระดับล่าง ตลาดสดทั่วไป การขนส่งในปริมาณ
ที่สิ้นเปลือง พื้นที่ในตู้ขนส่งน้อยที่สุด  จะเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง  ในกรณีที่บรรจุภัณฑ์แบบตะกร้า  พลาสติกสี่เหลี่ยมที่ใช้กันทั่วไป    โดยกรุกระดาษที่เจาะรู
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ห่างกัน 3 นิ้ว โดยรอบจะทำให้คุณภาพโดยทั่วไปของผลเงาะสดมีสภาพที่ดีกว่าเมื่อสิ้นสุดการเก็บรักษาในวันที่ 19

ปี พ.ศ. 2549 ดำเนินการดังนี้
ทดสอบการขนส่งเงาะผลสดพันธุ์โรงเรียน    ไปจำหน่ายยังสาธารณรัฐประชาชนจีน   โดยใช้ตู้ขนส่ง AFAM+  ขนาด 20 ฟุต คาร์บอนไดออกไซด์ 12%
อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส  โดยดำเนินการร่วมกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี  และเกษตรกรชาวสวนเงาะ อ.เขาสมิง จ.ตราด   โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก
กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์

ผลการทดสอบ พบว่าคุณภาพของผลเงาะสดที่ทำการขนส่งในระบบ AFAM+ ใช้เวลาขนส่งทางเรือ 8 วัน (31 พฤษภาคม 2548 –7 มิถุนายน 2549) ไปยังตลาดเจียงหนัน  เมืองกวางเจา สาธารณรัฐประชาชนจีน     ความสมบูรณ์ใกล้เคียงกับเงาะที่ขนส่งทางอากาศที่ใช้เวลาในการขนส่งไม่เกิน 1 วัน  อายุการ
วางตลาดหลังเปิดตู้อยู่ได้ประมาณ 2 วัน เช่นเดียวกับเงาะสดในประเทศไทยและใกล้เคียงกับเงาะที่ขนส่งทางอากาศ

เมื่อเปรียบเทียบกัน ในระหว่างการขนส่งทางอากาศกับทางเรือด้วยระบบ AFAM+  พบว่าการขนส่งทางเรือด้วยระบบ  จะมีต้นทุนต่ำกว่าทางอากาศจาก
อัตราค่าขนส่งจากกิโลกรัมละ 26-40 บาท มาเป็น 6-8 บาท ทางเรือ

การขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ ระบบ AFAM+ นี้ เหมาะสมกับการเข้าตลาดในลักษณะของการเปิดตู้แล้ว จำหน่ายหมดในคราวเดียวกัน เพราะหลังจากเปิด
ตู้แล้วผลเงาะจะมีสภาพเหมือนเงาะสดที่มีอายุการวางตลาดประมาณ 2 วัน

ในการปฏิบัติงานจริงในเชิงการค้า  จำเป็นต้องมีการพัฒนาการเกษตรและผู้ประกอบการให้เข้าใจ  กรรมวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้คุณภาพ ณ
ตลาดปลายทางดีที่สุด

ปีพ.ศ. 2550 ดำเนินการดังนี้
ทดสอบการขนส่งเงาะผลสดพันธุ์โรงเรียน ไปจำหน่ายยังสาธารณรัฐประชาชนจีน  โดยใช้ตู้ขนส่ง  AFAM+  ขนาด 20 ฟุต    คาร์บอนไดออกไซด์ 12%
อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส โดยดำเนินการร่วมกับสหกรณ์การเกษตร อ.ขลุง จ.จันทบุรี และสหกรณ์การเกษตร อ.เขาสมิง จ.ตราด โดยการสนับสนุนงบประมาณ
จากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์

ผลการทดสอบ พบว่าการขนส่งเงาะผลสดทางเรือโดยระบบ AFAM+ ไปยังตลาดหลงอู๋ เพื่อจำหน่าย ณ โลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์ นครเซียงไฮ้ สาธารณ-
รัฐประชาชนจีน เมื่อ 24 เมษายน 2550   สีผิวเงาะผลสดมีสีแดงเป็นส่วนใหญ่ ปลายขนสีเขียว   โดยขนสีแดงพบตำหนิผลกระจายอยู่ทั่วไป  แต่ยังคงอยู่ในระดับ
คุณภาพที่น่าพอใจ ปลายขนของผลเงาะสดในภาชนะบรรจุได้รับความเสียหาย จากการกดทับเป็นบางส่วน คุณภาพภายในผลเงาะสดสีเนื้อมีสีขาวขุ่นตามปกติ เนื้อ
แห้งเปลือกเงาะสดกรอบ รสชาติหวาน แต่เริ่มมีกลิ่นเล็กน้อย

การจัดการหลังเก็บเกี่ยว การบรรจุ การขนส่งเงาะ จนถึงตลาดปาลายทางที่นครเซียงไฮ้ ใช้เวลาทั้งสิ้น 18 วัน ดังนี้

6  เมษายน  2550 เก็บเกี่ยวเงาะจากสวนสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ
7  เมษายน  2550 ขนส่งเงาะที่เก็บเกี่ยวมายังสหกรณ์ขลุงทำการคัดเลือกและบรรจุเงาะลงตะกร้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์
8  เมษายน  2550 จากตู้คอนเทนเนอร์ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง
9  เมษายน  2550 เรือออกจากแหลมฉบังไปยังประเทศสิงคโปร์
12-14 เมษายน 2550 ตู้คอนเทนเนอร์ถึงท่าเรือสิงคโปร์
14  เมษายน  2550 เรือออกจากสิงคโปร์ไปยังนครเซียงไฮ้
24  เมษายน  2550 ตู้คอนเทนเนอร์ถึงนครเซียงไฮ้

เส้นทางการเดินเรือจากท่าเรือแหลมฉบัง ถึงนครเซียงไฮ้  ใช้เวลาเดินทางนานเกินกว่าที่ควรจะเป็น  ด้วยเส้นทางการเดินเรือที่ใช้บริการ จำเป็นต้องเข้า
เทียบท่าเรือที่สิงคโปร์  เพื่อพักรอตามตาราง (9 เมษายน -14 เมษายน 2551)  ทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น   อย่างไรก็ตามสภาพการขนส่งด้วยระบบ AFAM+
สามารถรักษาคุณภาพผลเงาะสด  ให้มีคุณภาพสดเป็นที่ยอมรับทางการค้าได้  แต่เมื่อเปิดตู้คอนเทนเนอร์แล้ว   ผลเงาะจะมีสภาพเหมือนเงาะสด     มีอายุการวาง
จำหน่ายไม่เกิน 2 วัน    ปี

พ.ศ. 2551 ดำเนินการดังนี้
ทดสอบการยืดอายุการเก็บรักษาเงาะผลสด โดยใช้ถุง LDPE (low density polyethylene)    ที่มีค่า OTR (oxygen transmission rate) 10,000 –
12,000 มิลลิลิตร/ตารางเมตร/วัน  เก็บรักษาในตู้ขนส่งที่ควบคุมอุณหภูมิ +14 องศาเซลเซียส   ร่วมกับมังคุดขนส่งทางเรือไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ขนาด
ถุงที่ใช้คือ 33×25.5 นิ้ว   บรรจุผลเงาะสดที่มีขน 3 สี  คือ ปลายขนสีเขียว โคนขนสีแดง  และผิวเปลือกเงาะสีเหลืองปนแดง ขนาด 28-31 ผลต่อกิโลกรัม  โดย
เก็บเกี่ยวอย่างระมัดระวังมิให้ปลายขนหัก

ทำการคัดแต่งผลเงาะให้ก้านขั้วยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร    เพื่อป้องกันมิให้เกี่ยวถุงบรรจุ LDPE ขาด   และทำความสะอาด้วยสารละลายคลอรีนความ
เข้มข้น 200 ppm เพื่อฆ่าเชื้อที่ติดมากับผิว เป็นการป้องกันการเน่าเสียหายระหว่างการเดินทาง 6-11 วัน ในการขนส่งทางเรือไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน

ผลเงาะที่ทำความสะอาดด้วยสารคลอรีน ต้องผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ก่อนทำการบรรจุลงถุง LDPE แล้วปิดปากถุงให้สนิท เพราะถ้าหากมีความชื้นในถุงเกินไป
ในขณะเริ่มบรรจุลงถุง จะทำให้ผลเงาะเน่าได้ในระหว่างการขนส่ง จะต้องจำกัดความชื้นที่ติดไปกับผิวเงาะให้น้อยที่สุด

จัดส่งผลเงาะสดในถุง ไปจำหน่ายยังสาธารณรัฐประชาชนจีนในฤดูกาลผลิตปี 2551 รวม 4 ครั้ง คือวันที่ 22, 24, 25 และ 28 เมษายน ครั้งละ 85-143
ตะกร้า ดำเนินการโดยเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการผลิตเงาะเพื่อการส่งออกมาแล้วร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกบริษัทเอกชน

ผลการทดสอบ พบว่าการเก็บเกี่ยวเงาะผลสดมีผลต่อคุณภาพการเก็บรักษาในถุง LDPE  กล่าวคือ ควรเก็บเกี่ยวผลเงาะสดที่ปลายขนเริ่มมีสีแดงมากขึ้น
สีผิวเปลือกเงาะเริ่มมีสีแดง  เป็นเงาะที่รอการเก็บเกี่ยวอยู่บนต้น  ซึ่งจะสามารถคัดเลือกคุณภาพที่ไม่มีตำหนิที่ผิวเปลือกได้  ทำความสะอาดด้วยสารละลายคลอรีน
ร่วมกับสารป้องกัน และกำจัดโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยวที่เกิดจากเชื้อราที่เหมาะสม จะสามารถช่วยยืดอายุการเก็บเกี่ยวที่เกิดจากเชื้อราที่เหมาะสมจะสามารถช่วย
ยืดอายุการเก็บรักษา ผลเงาะสดที่สุกงอม มีปลายขนสีแดงในถุง LDPE จะสามารถอยู่ได้นานประมาณ 14-18 วัน ในตู้ควบคุมอุณหภูมิ +14 องศาเซลเซียส

ในกรณีที่การขนส่งทางเรือ ที่ใช้ระยะเวลานานกว่า 6-11 วัน   จำเป็นต้องใช้สารป้องกัน และกำจัดโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยวที่เกิดจากเชื้อราร่วมด้วย เพื่อ
ป้องกันการเน่าจากเชื้อราในเงาะผลสดที่เก็บรักษาในถุง LDPE  ที่อุณหภูมิ +14 องศาเซลเซียส    สำหรับจุดหมายปลายทางที่ต้องเดินทางไกลกว่าสาธารณรัฐ
ประชาชนจีน จะทำให้ยืดอายุการเก็บรักษาได้ยาวนานขึ้น

ผลตอบรับ
จากผลการดำเนินงานดังกล่าวที่ใช้เวลาทดสอบเพื่อความมั่นใจถึง 3 ปี ทำให้เกษตรกรในจังหวัดตราด และจันทบุรี เกิดความตื่นตัว มีกำลังใจและเตรียม
พร้อมจะผลิตเงาะที่มีคุณภาพดีเหมาะสมสำหรับการส่งออกทางเรือ  ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกที่เข้าร่วมโครงการ  ก็เกิดความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีที่ได้รับ
ถ่ายทอดครั้งนี้ว่าสามารถใช้ได้จริงในเชิงการค้า  รวมไปถึงผู้ประกอบการผลิตถุง LDPE  มีความตื่นตัวในการผลิตถุง LDPE  ที่มีคุณภาพสม่ำเสมอและพยายามลด
ต้นทุนการผลิตให้ถุง LDPE ที่ผลิตภายในประเทศ  ที่ใช้ในโครงการนี้มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการขนส่งผลไม้สดทางเรือของ
ประเทศไทยอย่างยิ่ง

ที่สำคัญคือ    การพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาผลเงาะสดให้ยาวนานขึ้น      เพื่อการส่งออกทางเรือ      โดยใช้การบรรจุลงถุง LDPE  (low density
polyethylene)  ที่มีค่า OTR (oxygen transmissionrate) 10,000-12,000 มิลลิลิตร/ตารางเมตร/วัน    สามารถขนส่งร่วมกับตู้ขนส่งมังคุดทางเรือ ที่ควบคุม
อุณหภูมิ  +14 องศาเซลเซียส ใช้เวลาเดินทางทางเรือ 6-11 วัน ถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน  โดยคุณภาพผลเงาะสดที่ปลายทางยังคงสดเหมือนขณะที่บรรจุลง
ถุงและสามารถจำหน่ายได้หมดทุกตะกร้า และจากผลการทดสอบนี้คงจะขยายผลต่อไปยังประเทศอื่นๆ  ในภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน   อยู่ที่ว่าเกษตรกรสามารถจะผลิต
เงาะคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้เพียงไร

กรมวิชาการเกษตร ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : 0-2561-2525, 0-2940-6864
โทรสาร : 0-2579-4406

ใส่ความเห็น