“ไผ่สีสุก” ความเชื่อ ดีกินได้ประโยชน์เยอะ

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

http://www.thairath.co.th/column/edu/paperagriculturist/347384

  • 28 พฤษภาคม 2556, 05:01 น.

Pic_347384

ไผ่ชนิดนี้ เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในแถบ เกาะสุมาตรา ชวา และ บอร์เนียว แล้วกระจายปลูกทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยนิยมปลูก “ไผ่สีสุก” มาแต่โบราณแล้ว ส่วนใหญ่จะปลูกเป็นแนวรั้วบ้าน ทางด้านทิศตะวันออกหรือทิศบูรพา เพราะมีความเชื่อว่า เป็นไม้มงคลเมื่อปลูกแล้วจะทำให้เจ้าของและคนในครอบครัวมีความสุขความเจริญตามชื่อที่ถูกเรียกขาน

นอกจาก ความเชื่อดังกล่าวแล้ว หน่อของ “ไผ่สีสุก” ยังกินได้ทั้งสดและดองเปรี้ยวปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง รสชาติกรอบอร่อยมาก ลำไผ่ใช้ก่อสร้าง จักสาน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำไม้คานหามมีความทนทานสูง โดยเฉพาะ ลำไผ่ ใช้ทำข้าวหลามเผาแล้วข้าวหลามจะสุกเสมอกันทั้งกระบอก ข้าวไม่แฉะนิ่มเหนียวรับประทานอร่อยมาก

ในส่วนของสรรพคุณทางสมุนไพร แพทย์ตามชนบทนิยมใช้ใบไผ่ปรุงเป็นยาขับฟอกล้างโลหิตระดูที่เสียในสตรี ตาของลำไผ่สุมไฟเป็นถ่านกินแก้ร้อนในกระหายน้ำ ราก มีรสกร่อยเฟื่อนเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ และใช้รวมกับยาขับโลหิตระดูสตรีและยาแก้หนองในได้
ไผ่สีสุก หรือ BAMBUSA BLUMEANA  J.H.SCHULTES ชื่อสามัญ SPINY BAMBOO, THOMY BAMBOO, THORNY BRANCH BAMBOO. ลักษณะทั่วไปคล้ายไผ่ป่า ขึ้นเป็นกอแน่น เส้นผ่าศูนย์กลางของลำไผ่ 5-15 ซม. ปล้องยาว 15-50 ซม. เนื้อลำไผ่หนา 1-3.5 ซม. ลำแก่เป็นสีเขียวอมเหลือง โคนกอมีกิ่งเรียวยาวอัดกันแน่น มีหนามแข็ง กาบหุ้มเป็นสีเหลือง หน่อสีน้ำตาล น้ำหนักของหน่อประมาณ 2–5 กิโลกรัมต่อหน่อ ซึ่งหน่อรับประทานเป็นอาหารได้ตามที่กล่าวข้างต้น ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ มีหน่อขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผง “คุณก็อต–คุณหลง” ตรงกันข้ามโครงการ 15 ราคาสอบถามกันเองครับ.

“นายเกษตร”

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย นายเกษตร
  • 28 พฤษภาคม 2556, 05:01 น.

ไผ่สีสุกมีประโยชน์ทางยา – เรื่องน่ารู้

ข่าวเกษตร

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2555 เวลา 00:00 น.

ไผ่สีสุกเป็นหนึ่งในไม้มงคลจำนวน 9 ชนิดที่จะต้องหาไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลในการก่อสร้างอาคาร ประดิษฐานถาวรวัตถุและใช้ในพิธีก่อฤกษ์ หรือวางศิลาฤกษ์ ซึ่งมักเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อชาติและบ้านเมือง เช่น โบสถ์ วิหาร กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เป็นไม้ยืนต้นเป็นกอหนาแน่น มีลำสูงใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-25 ซม. เนื้อหนาประมาณ 7 มม. (บางกว่าไผ่ป่า) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำ 7-10 ซม. ปล้องยาวประมาณ 30 ซม. จำนวนปล้องประมาณ 50 ปล้อง บริเวณข้อมีกิ่งคล้ายหนาม กิ่งและแขนงมีหนามแหลมคม ลักษณะลำต้นกลวง ส่วนโคนจะมีความหนา 1.5 ซม. ลำต้นมีสีเขียวสด ผิวเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อ (ซึ่งส่วนมาก ไผ่อายุราว 30 ปี จึงจะมีดอกสักหนหนึ่ง) หน่อมีขนาดใหญ่ มีกาบสีเหลืองห่อหุ้ม ขนที่หน่อเป็นสีน้ำตาลมีน้ำหนักประมาณ 2-5 กก.

ไผ่สีสุกมีขึ้นเองตามป่าราบและบนเขาสูง ๆ แพร่พันธุ์ด้วยหน่อซึ่งจะแทงออกมาจากโคนต้นมีประโยชน์ทางยาสมุนไพรไทยใช้ ตา ราก หน่อไม้ตาเต่า (เป็นหน่อไม้ที่เกิดจากตาไม้ไผ่) ใบ รสขื่น เฝื่อน ขับและฟอกล้างโลหิตระดูที่เสีย ขับระดูขาว แก้มดลูกอักเสบ ขับปัสสาวะ ตา รสเฝื่อนเข้ายาที่ใช้แก้ฝีหนองภายในต่าง ๆ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ราก รสกร่อยเอียนเล็กน้อย ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ ขับนิ่ว ใช้เข้ายาขับระดูแก้หนองใน และฝีหนองที่เกิดในร่างกาย  หน่อไม้ตาเต่า รสขื่นขม ติดจะร้อน แก้ตับหย่อน ตับทรุด ม้ามย้อย แก้กระษัย เลือดเป็นก้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ใช้ตาไม้นำมาสุมไฟให้เป็นถ่านรับประทาน ขับปัสสาวะ ใช้ยอดอ่อนซึ่งมีใบม้วนอยู่ 3 ยอด หรือใช้รากต้มน้ำดื่ม

หน่อไม้มีโปรตีนไม่มากนักคือประมาณ 2.4 กรัมต่อ 100 กรัม มีคาร์โบไฮเดรต 4.4 กรัม แต่มีแคลเซียมสูงถึง 58 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 48 มิลลิกรัม และวิตามินซี 13 มิลลิกรัม ลำต้นใช้ในการจักสาน ทำกระบอกใส่น้ำ รองน้ำตาลสด ทำตอหม้อ เผาข้าวหลาม.

แนะนำพันธุ์ไผ่ ตอนที่ 11 ไผ่สีสุก : ไผ่มงคลประจำบ้าน สุขใจเมื่อปลูก

มติชนกรุ๊ป : หนังสือพิมพ์และนิตยสารในเครือมติชน.

วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 469

คนรักไผ่

ภัทรพล จังสถิตย์กุล

แนะนำพันธุ์ไผ่ ตอนที่ 11 ไผ่สีสุก : ไผ่มงคลประจำบ้าน สุขใจเมื่อปลูก 

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่น่ารักทุกท่าน ฉบับนี้ก็คงเข้าใกล้ปีใหม่พอดี สิ่งที่ไม่ดีในปีนี้ก็ปล่อยมันไป เริ่มต้นปีใหม่ที่สดใสกันดีกว่า ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านมีความสุขมากๆ และสมหวังตามที่ปรารถนาทุกประการ ส่วนเรื่องราวของไม้ไผ่ก็ยังมีอีกมากครับ ยังงัยแล้วก็อย่าพึ่งเบื่อกันไปก่อนครับ เพราะว่าผู้เขียนจะพยายามหาข้อมูลใหม่ๆ ในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับไผ่ ไม่ใช่เรื่องของพันธุ์ไผ่อย่างเดียวเท่านั้น แต่จะเป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ด้วย ทั้งการใช้ประโยชน์จากหน่อและลำ การแปรรูปและการเพิ่มมูลค่า และประโยชน์ที่คาดไม่ถึงว่าไผ่จะทำได้ เช่น การนำไม้ไผ่ไปทำน้ำมัน เป็นต้น เพื่อมาอธิบายให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นภาพและเข้าใจได้มากขึ้น ว่าไผ่นั้นมีประโยชน์มากมายหลายประการ ซึ่งในต่างประเทศได้ใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่กันมานักต่อนักแล้ว ผู้เขียนก็ขอโอกาสและเวลาในการสืบค้นข้อมูลใหม่ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านทุกท่านและนำไปทดลองใช้กันได้จริง โดยในปีหน้าผู้เขียนรับรองครับว่า เรื่องราวของไผ่ที่จะนำเสนอต่อๆ ไปนั้น จะเข้มข้นมากกว่าเดิม ผู้เขียนขอเข้าเรื่องไผ่สีสุกก่อนครับ

ไผ่สีสุก เชื่อกันว่าเป็นไม้ดั้งเดิมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ในประเทศไทยมักขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มริมห้วย แม่น้ำ และมักปลูกรอบๆ บ้านตามแถบชนบท โดยไผ่สีสุกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bambusa blumeana เป็นไผ่ประเภทมีหนาม กอมีขนาดใหญ่และหนาแน่นกว่าไผ่ป่า ลำต้นมีความสูงประมาณ 10-20 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ประมาณ 8-12 เซนติเมตร (3-5 นิ้ว) เนื้อไม้หนา ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ส่วนโคนจะมีเนื้อหนา ประมาณ 1.5 เซนติเมตร (ประมาณ 0.7 นิ้ว) ลำต้นมีสีเขียวสด ผิวเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา (ไม่ค่อยโปน) ปล้องยาวประมาณ 25-60 เซนติเมตร บริเวณข้อ จะมีกิ่งแขนงแตกออกมาตั้งฉากกับลำโดยที่จะแตกออกมาหนาแน่นมากบริเวณโคน และบริเวณข้อของกิ่งแขนงมีหนาม โดยมีกลุ่มละ 3 หนาม โดยหนามตรงกลางจะยาวที่สุดเป็นหนามหลัก และมีหนามข้างๆ 2 หนาม และมีลักษณะโค้งงอ สีของกิ่งไผ่สีสุกจางกว่าสีลำหรือมีสีปนเหลือง เนื่องจากไผ่สีสุกกับไผ่ป่าหากดูผิวเผินจะคล้ายกันมาก แต่สามารถสังเกตได้จากลักษณะของกอ โดยไผ่สีสุกกอจะแน่นกว่า กิ่งแขนงสีออกเหลือง และหนามที่โค้งงอโดยที่หนามของไผ่ป่าจะตรง กาบหุ้มลำหนาลักษณะเหมือนหนัง ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลเข้ม ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 7-10 เซนติเมตร มีแถบสีน้ำตาลม่วงและเหลืองเมื่อยังอ่อน ตามขอบมีขนยาว กระจังกาบแคบมาก หยักลึกประมาณ 0.2 มิลลิเมตร ใบมีขนาดเล็ก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ใบยาว 10-20 เซนติเมตร กว้าง 0.8-2 เซนติเมตร ใต้ใบมีสีเขียวอมเหลือง เมื่อมองทรงพุ่มรวมๆ แล้วกอจะออกเป็นสีเหลืองๆ จึงเป็นที่มาของคำว่า สีสุก เส้นลายใบมี 5-9 คู่ ขอบใบคายและสาก ก้านใบสั้น หน่อมีขนาดใหญ่ หนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม มีกาบหุ้มสีเหลือง ขนที่หน่อมีสีน้ำตาล ส่วนการใช้ประโยชน์นั้นในสมัยก่อนมักปลูกไว้รอบบ้านเป็นรั้วกันขโมย กันลม และยังเชื่อกันว่าสามารถกันผีได้อีกด้วย โดยเฉพาะผีกระสือ เพราะหากเข้าใกล้อาจถูกหนามเกี่ยวไส้ได้ (ผู้เขียนได้ยินมาแบบนั้นนะครับ)

หน่อ ใช้ประกอบอาหารในรูปของหน่อไม้สด และรูปหน่อไม้ดอง โดยหน่อเมื่ออยู่ใต้ดินทำอาหารได้ มีรสดี หวานอร่อย เมื่อโผล่พ้นดินประมาณ 20-30 เซนติเมตร มักเอาไปทำหน่อไม้ดอง จะให้รสเปรี้ยว สีขาว และเก็บได้นาน โดยไม่เปื่อยเหมือนหน่อไม้ชนิดอื่นๆ เนื้อไม้หนาแข็งแรง ใช้สร้างบ้านได้ทนทาน ทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้ในการประมง ใช้ในการทำนั่งร้านก่อสร้าง ส่วนโคนนิยมใช้ทำไม้คานหาบหาม เพราะมีแรงสปริงตัวที่ดี นอกจากนี้ เนื้อไม้สีสุกให้เนื้อเยื่อสูง สามารถใช้ทำกระดาษได้ และยังใช้ทำเป็นสมุนไพรได้อีกด้วย เช่น ยอดอ่อน ที่มีใบม้วนอยู่ 3 ยอด หรือใช้ราก (rhizome) ต้มน้ำดื่ม จะช่วยขับปัสสาวะ หน่อไม้ตาเต่า (เป็นหน่อที่เกิดจากตาไม้ไผ่หรือที่แขนง) รสขื่นขมแก้ตับหย่อน แก้กระษัย เป็นต้น นอกจากนี้ ไผ่สีสุกยังเป็นชนิดไผ่นิยมใช้ในการจักสาน โดยเฉพาะบริเวณแถวอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของเครื่องจักสานที่มีลวดลายสวยงามเฉพาะตัว และสืบทอดทั้งลวดลายและฝีมือต่อๆ กันมา ซึ่งผู้เขียนยังไม่มีข้อมูลครับว่าแถวนั้นต้องการมากน้อยและเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอแล้วนำมาจากไหน ซึ่งจะสืบหาข้อมูลมาให้อีกทีครับ

เนื่องจากชื่อที่เป็นมงคลนั้นเอง คนโบราณจึงนิยมปลูกไผ่สีสุกไว้ทางตะวันออกหรือทิศบูรพา เพราะชื่อ สีสุก อันเป็นมงคลนาม ถือเป็นเคล็ดจากชื่อเรียกเอาเป็นสิริมงคล เพื่อให้เกิดความสุข ความเจริญ อยู่เย็นเป็นสุขนั้นเอง นอกจากไผ่สีสุกจะเป็นต้นไม้ตามทิศแล้ว ยังเป็น 1 ในไม้มงคล 9 ชนิด ที่จะต้องหาไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลในการก่อสร้างอาคาร โดยก่อนก่อสร้างนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยใช้ไม้มงคล 9 ชนิด ปักหรือปลูกลงพื้นดินเสียก่อน ไม้มงคล 9 ชนิด ที่ว่าไปนั้น ได้แก่ ไม้กันเกรา (ป้องกันอันตราย) ไม้พะยูง (พยุงฐานะให้ดีขึ้น) ไม้สัก (ศักดิ์ศรี มีเกียรติ อำนาจบารมี) ไม้ทรงบาดาล (ความมั่นคง) ไผ่สีสุก (สุขกาย สบายใจ) ไม้ทองหลาง (มีทรัพย์สินเงินทอง) ไม้ชัยพฤกษ์ (การมีโชคชัย) ไม้ขนุน (หนุนให้ดีขึ้น ร่ำรวยขึ้น) ไม้ราชพฤกษ์ (ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา)

จากคุณประโยชน์และการใช้เป็นปริมาณมากดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ย่อมถือได้ว่าไผ่สีสุกนั้นก็สามารถนับได้ว่าเป็นไผ่เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง แต่ในการปลูกเพื่อทำเป็นธุรกิจนั้น ก็ต้องมีการจัดการที่ดี ซึ่งในเรื่องของดินและน้ำนั้น ผู้เขียนคงจะไม่ลงรายละเอียดมาก เพียงมีหลักการอยู่ว่า ไผ่ส่วนมากชอบดินร่วนปนทราย ไม่ชอบดินเหนียว ชอบอากาศชื้น มีน้ำเพียงพอ ยิ่งถ้าเป็นไผ่สีสุกแล้วจะมีความทนทานต่อน้ำท่วมได้มากกว่าไผ่ชนิดอื่นๆ ซึ่งสังเกตได้จากถิ่นกำเนิด และพบมากตามที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำ แต่การจัดการอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญเลยก็คือเรื่องของหนาม สามารถทำได้โดยตัดกิ่งแขนงที่แตกออกมา ซึ่งต้องตัดในช่วงที่กิ่งยังอ่อนอยู่ และต้องตัดให้ชิดกับลำต้น ไม่ควรปล่อยให้เลยเวลาที่ควรตัด เนื่องจากมีการแตกกิ่งแขนงหนาแน่นของไผ่ชนิดนี้ และเมื่อกิ่งแก่จะแข็ง ทำให้ยากต่อการเข้าไปตัด ส่วนการขยายพันธุ์ไผ่สีสุกนั้น วิธีที่นิยมใช้คือ ใช้ปล้องกิ่งตัด การขยายพันธุ์วิธีนี้นิยมใช้กับไม้ไผ่ชนิดที่ไม่ค่อยออกเมล็ด หรือไม้ไผ่ที่มีลำต้นค่อนข้างใหญ่ ทำได้ง่ายและให้จำนวนมาก โดยนำลำไผ่อายุประมาณ 1-3 ปี (ยิ่งอ่อนยิ่งดี แต่ไม่ควรต่ำกว่า 1 ปี) ตัดทอนเป็นท่อนๆ แต่ละท่อนให้มีข้อติดอยู่ (อาจมี 1 หรือ 2 ข้อ ก็ได้ เพราะตรงข้อจะเป็นตัวออกรากแตกกิ่ง) นำไปวางหรือชำไว้ในแปลงชำหรือในถุง ที่เป็นดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี เอาดินกลบตรงข้อให้มิด ระวังอย่าให้ตาตรงข้อเป็นอันตรายได้ หมั่นดูน้ำในปล้องให้เต็มอยู่เสมอ ประมาณ 10-15 วัน ตาที่ข้อของปล้องก็จะเริ่มแทงหน่ออ่อนเจริญเติบโตขึ้นมา ระยะนี้ต้องคอยระวังแมลงหรือเพลี้ยจะทำอันตรายหน่ออ่อนนี้ ต้องคอยจำกัดด้วยยาฆ่าเชื้อราและแมลงบ้าง หลังจากหน่อเจริญเติบโตแข็งแรงแล้วก็จะเริ่มแตกรากลงในดินต่อไป และจะสามารถนำไปปลูกได้เมื่อชำไว้ได้ 6-12 เดือน ซึ่งหน่อและรากจะแข็งแกร่งเต็มที่แล้ว (สังเกตได้จากใบที่แตกและกางออกมาเต็มที่และดึงออกจากวัสดุเพาะยาก เพราะมีรากติดอยู่) จึงนำไปย้ายปลูกลงแปลงต่อไป

สุดท้ายนี้ ทางชมรมคนรักไผ่ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝากมาประชาสัมพันธ์ว่า งานสัมมนาจะจัดขึ้นใน วันที่ 29 พฤษภาคม 2553 หากท่านใดสนใจ สามารถโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ ชมรมคนรักไผ่ครับ โทร. (02) 564-4440-79 ต่อ 2350-1 โดยเรื่องที่จะนำเสนอนั้นเป็นเรื่องใหม่ๆ แปลกๆ เกี่ยวกับไผ่ครับ ที่ท่านไม่เคยได้ฟังที่ไหนมาก่อน อย่างไรแล้ว ผู้เขียนจะบอกความคืบหน้ามาให้ท่านผู้อ่านเรื่อยๆ สำหรับเรื่องของไผ่สีสุกก็ขอจบเพียงเท่านี้ ไผ่ดีที่น่าสนใจยังมีอีกเยอะ พบกันฉบับหน้า สวัสดีครับ