อบรมเกษตรกรผลิตเชื้อรา’ไตรโคเดอร์มา’ป้องกันโรคพืช

http://www.thairath.co.th/content/edu/263735

27 พฤษภาคม 2555, 14:17 น.

Pic_263735

ศูนย์บริหารศัตรูพืช จ.สงขลา เปิดคอร์สผลิตเชื้อรา “ไตรโคเดอร์” แก่เกษตรกร ควบคุมและยับยั้งการเกิดโรคพืชหลายสิบชนิด ลดภาวะต้นทุนและความเสียหายที่เกิดจากโรคพืช โดยเฉพาะโรครากขาวในต้นยางพารา…

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2555 นายประพัฒน์ คันธไพโรจน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการฯ ศูนย์บริหารศัตรูพืช จ.สงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ฝึกอบรมสอนการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อควบคุมโรคให้แก่เกษตรกรที่สนใจในพื้นที่หมู่ 2 ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง โดยเชื้อราดังกล่าวเป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดินโดยอาศัยเศษซากพืชซากสัตว์ และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร สามารถทำลายการเจริญเติบโตของโรคพืชได้หลายชนิด เช่นโรครากเน่า และโคนเน่า โรครากขาว โรคกุ้งแห้ง โรคผลเน่าของสละ โรคไหม้ โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคเมล็ดด่างของข้าว

นายประพัฒน์ กล่าวว่า เชื้อราไตรโคเดอร์ยังช่วยเพิ่มความต้านทานโรคของพืชให้มีระบบรากดี เจริญเติบโตดี แข็งแรงและทนทานต่อโรคพืชตามฤดูกาลต่างๆ โดยนำหัวเชื้อราฯ ใส่ในถุงข้าวที่หุงพอสุกทิ้งไว้ 7 วันจะกลายเป็นสีเขียวเข้ม นำไปผสมน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 ใช้รดโคนต้นไม้ทุกประเภททั้งไม้ผล ไม้ดอกและไม้ประดับ ส่วนกากที่เหลือยังใช้ทำปุ๋ยใส่โคนต้นได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยสามารถนำเชื้อราที่ได้ไปคลุกกับเมล็ดพืช หรือผสมน้ำฉีดพ่นหรือรองก้นหลุมก่อนปลูกก็มีประสิทธิภาพ ซึ่งการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาใช้เอง จะสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมี ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างและสามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องด้วยต้นทุนที่ประหยัดกว่า สามารถเก็บไว้ได้ในนานปี ซึ่งวิธีการทำทุกขั้นตอนไม่ยุ่งยากเหมาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องดูแลพืชสวนไร่ นาและผลผลิตในช่วงเก็บเกี่ยว ลดความสูญเสียของต้นพืชทุกชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายประพัฒน์ คันธไพโรจน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการฯ ศูนย์บริหารศัตรูพืช จ.สงขลา กล่าวว่า ศูนย์บริหารศัตรูพืช ได้สนับสนุนหัวเชื้อราให้แก่เกษตรกรเพื่อผลิตใช้เองโดยไม่ต้องซื้อ เป็นการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ส่วนประโยชน์ใช้ในทางควบคุมโรคพืชได้หลายชนิด โดยเฉพาะโรครากขาวของต้นยางพาราซึ่งชาวสวนยางพบมากที่สุด โดยทำให้ต้นยางพาราล้มตายแล้วเป็นจำนวนมาก หากใช้เชื้อราฯ ชนิดดังกล่าวทาและรดโคนต้น โรคพืชต่างๆ จะหายไปในเวลาไม่ถึง 7 วัน.

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ทีมข่าวภูมิภาค
  • 27 พฤษภาคม 2555, 14:17 น.