หุ้นพ่นพิษเขี่ย รมต.พ้น ส.ส.รอ “พิสูจน์” ภาวะผู้นำ
ในสภาวะที่ประเทศเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่
แต่วิถีการเมืองก็ยังต้องดำเนินต่อไป ไม่หยุดนิ่ง
แม้อยู่ในห้วงที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเผชิญกับวิบากกรรมว่าด้วยเรื่องคลิปฉาวที่โยงใยไปถึงคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และประเด็นเรื่องการทุจริตข้อสอบในการสอบเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ที่พุ่งเป้าโจมตี ดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ และกระบวนการยุติธรรม
แต่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ยังต้องขึ้นนั่งบัลลังก์ ทำหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยตัดสินคดีไปตามวาระ
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการตัดสินคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้มูลความผิด และมีการร้องขอให้ศาลฯชี้ขาดสมาชิกภาพ ส.ส. 28 คน และ ส.ว. 16 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119 (5) และมาตรา 106 (6)
เพราะกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 (2) และ (4) ที่ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อและบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 เห็นว่าการถือครองหุ้นในบริษัทต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 จะต้องเป็นการถือหุ้นภายหลังการมีสมาชิก-ภาพเป็น ส.ส. และ ส.ว.แล้ว
จากกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยให้ ส.ส. จำนวน 6 คน พ้นจากสมาชิกภาพทันที ได้แก่
1. นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ 2. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย 3. นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน
4. ม.ร.ว.กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน 5. นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช. คมนาคม ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนา 6. นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย
โดนกันไปทั่วหน้าทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ในขณะที่ ส.ว. 16 คนที่ถูกร้อง รอดหมด
และถ้ายังจำกันได้ ในจำนวน ส.ส.ที่ถูก กกต.ชี้มูลความผิดเรื่องการถือหุ้นในบริษัทที่มีสัมปทานกับรัฐ
ที่ผ่านมาได้มีผู้ที่แสดงความรับผิดชอบลาออกจาก ส.ส.ไปก่อนหน้านี้แล้ว 1 คน โดยไม่รอการตัดสินชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
โดยเป็นการลาออกจาก ส.ส. เพื่อตัดปัญหายุ่งยากในการเตรียมข้อมูลหลักฐานสู้คดี
เพราะขณะนั้นต้องทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ดูแลปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆที่เกิดขึ้น
ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อไปลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สุราษฎร์ธานี และชนะการเลือกตั้งได้กลับเข้ามาเป็น ส.ส.
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการปรับ ครม.เข้ามาอยู่ในวงจรอำนาจอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากการตัดสินชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ
ที่มีผลให้ ส.ส. 6 คน ที่ถือหุ้นในบริษัทที่มีสัมปทานกับรัฐ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที
ปรากฏว่าในจำนวน 6 คนที่หลุดจากเก้าอี้ มีทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และรัฐมนตรี รวมอยู่ด้วย
ดังนั้น หากมองในแง่ผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ก็คงไม่มีปัญหา เพราะเสียงสนับสนุนของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ขาดหายไปฟากละ 3 เสียงเท่ากัน
แต่สิ่งที่จะต้องตามมาแน่ๆจากการตัดสินของศาลรัฐ-ธรรมนูญครั้งนี้ ก็คือ
1. ต้องมีการเลื่อนลำดับ ส.ส.ระบบสัดส่วน ในบัญชีของพรรคเพื่อแผ่นดิน ขึ้นมาแทน ม.ร.ว.กิติวัฒนา ที่พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.
กรณีนี้ไม่มีปัญหาอะไรมากมาย เพราะมีบัญชีรายชื่อกำหนดไว้ ชัดเจนอยู่แล้ว โดยผู้ที่จะได้ เลื่อนลำดับขึ้นมาเป็น ส.ส. แทนแบบส้มหล่น ก็คือ นายถิรชัย วุฒิธรรม
2. ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง ในพื้นที่ 5 เขต 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนคร-ศรีอยุธยา นครราชสีมา ขอน-แก่น และสุรินทร์
โดย กกต.ได้กำหนดในเบื้องต้นที่จะให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ทั้ง 5 เขต 5 จังหวัดพร้อมกัน ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้
การเลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ จึงถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ใกล้หมดวาระของรัฐบาล ตามคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งในปี 2554
แม้ตามกติการัฐธรรมนูญ ตามเทอม 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลยังสามารถที่จะอยู่ต่อไปได้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2554 และไปเลือกตั้งกันต้นปี 2555 โน่นก็ตาม
และแน่นอน หากเป็นสถานการณ์ปกติ ตามธรรมชาติของการเมือง การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ในห้วงที่รัฐบาลใกล้หมดวาระ
การต่อสู้ห้ำหั่นในสนามเลือกตั้งซ่อม แบบเอาเป็นเอาตาย คงไม่เกิดขึ้น
เพราะรู้กันอยู่ว่าเหลือเวลาอีกไม่นานก็ต้องกลับไปลงสนามเลือกตั้งใหญ่กันใหม่อีกรอบ ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทสรรพ-กำลังอะไรกันมากมาย
เอาแค่ประคองตัว สู้กันแค่หอมปากหอมคอ ก็เพียงพอแล้ว
แต่บังเอิญว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันอยู่ในสภาวะที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันอย่างรุนแรง
จึงส่งผลให้การทำศึกเลือกตั้ง ซ่อมมีแนวโน้มดุเดือดเข้มข้นตามไปด้วย
เพราะเป็นการต่อสู้ในพื้นที่ที่จะต้องมีการทำศึกเลือกตั้งใหญ่กันในอนาคต
ที่สำคัญ พื้นที่ 5 จังหวัดที่จะมีการเลือกตั้งซ่อม ทั้ง กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ขอนแก่น และสุรินทร์
เหมือนกับการย่อส่วนพื้นที่เมืองหลวง ภาคกลาง และภาคอีสาน อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ทุกพรรคการเมืองต่างก็ต้องการยึดครองและเบียดแทรก
อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เป็นฐานใหญ่ของมวลชนที่มีการแบ่งขั้วแบ่งสีทางการเมืองกันอย่างชัดเจนและหนาแน่น
ฉะนั้น ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่จะออกมาในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็นคำตอบเบื้องต้นของการเลือกตั้งใหญ่
เป็นสนามประลองกำลัง วัดเรตติ้ง วัดกระแสความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมือง
ด้วยเหตุนี้จึงฟันธงได้ว่า การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ทั้ง 5 เขต 5 จังหวัด จะเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้นดุเดือดเลือดพล่าน
ต่างฝ่ายต่างก็ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทุกอย่าง เพื่อให้ได้ชัยชนะ
เหนืออื่นใด จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดให้ ส.ส. 6 คน ที่ถือหุ้นในบริษัทที่มีสัมปทานกับรัฐ พ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ในครั้งนี้
ได้ส่งผลให้รัฐมนตรี 2 คน คือ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย และนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม จากพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องพ้น จากการเป็น ส.ส.
แต่ผลจากคำตัดสินไม่ได้กระทบไปถึงสถานะการเป็นรัฐมนตรีโดยทางกฎหมาย
เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดคุณสมบัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. นั่นก็หมายความว่า คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็เป็นรัฐมนตรีได้
แต่กรณีที่เกิดปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลกระทบต่อกระแส ความรู้สึกของสังคม
เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ศีลปฏิบัติของคนที่เป็นรัฐมนตรีนั้นเข้มข้นกว่า ส.ส.
ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสปิริตของตัวบุคคลและพรรคการ เมืองต้นสังกัด ที่จะต้องพิจารณาถึงบทบาทและความรับ ผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ไม่ว่ารัฐมนตรีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส. เพราะถือหุ้นต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จะตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หรือไม่
การนั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ย่อมขาดความสง่างาม มัวหมอง ไม่ผ่องใส
ที่สำคัญ นายกฯอภิสิทธิ์ ได้ประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อ เอาไว้ตั้งแต่การประชุม ครม. นัดแรก หลังจากรัฐบาลชุดนี้เข้ารับหน้าที่ อาทิ
ให้รัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด
ให้รัฐมนตรีทุกคนปฏิบัติตนโดยคำนึงถึงความ รู้สึกของประชาชน พฤติกรรมใดๆที่นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นขอให้ระวังเป็นพิเศษ
รัฐบาลชุดนี้ต้องพร้อมรับการตรวจสอบทั้งเชิงนโยบายและเรื่องอื่นๆ
รัฐมนตรีทุกคนไม่มีสิทธิเหนือประชาชนคนอื่นในแง่การปฏิบัติตามกฎหมาย
ฟังแล้วเข้มขลัง แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจนออกมาให้เห็น
ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางการบริหารราชการของรัฐบาล ชุดนี้ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการทุจริตคอรัปชันในโครงการ ต่างๆ ปัญหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหลายกระทรวง ผุดออกมาหลายเรื่องหลายราว
ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความรู้สึกเอือมระอาไปตามๆกัน
แน่นอน ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ ยิ่งทำให้กระแสสังคมโหยหา อยากเห็นการยกระดับจริยธรรมและคุณธรรมของนักการเมือง
เพราะทุกวันนี้ จริยธรรมของบรรดานักการเมืองและ ส.ส. อยู่ในสภาพที่เสื่อมทรามลงมาก
สมัยก่อน ส.ส.ที่มีพฤติกรรมไม่ดี สังคมรังเกียจ ก็แค่ยี้กันเป็นรายๆ
แต่เดี๋ยวนี้ ยี้กันเป็นกลุ่ม ยี้กันเป็นก๊วน ยี้กันเป็นพรรค
ถ้าภาพพจน์ของนักการเมือง และ ส.ส.ยี้มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นยี้กันไปทั้งสภาฯ ก็อาจกระทบไปถึงระบอบประชา-ธิปไตยในระบบตัวแทน
ฉะนั้น ปัญหาเรื่องการนั่งเป็นรัฐมนตรีต่อไปของคนที่โดนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.
จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายภาวะผู้นำของนายกฯอภิสิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง
กล้าใช้กฎเหล็ก ผ่าตัดปรับ ครม.หรือไม่ ต้องรอพิสูจน์กัน.
“ทีมการเมือง”