“ปิยะพันธ์” ยืนยันทำตามหลักการ บอร์ด ทอท. อนุมัติ 6 มาตรการช่วยผู้ประกอบการสนามบิน ได้รับผลกระทบเหตุการณ์จลาจล ภูเขาไฟระเบิด กรณีขยายสัญญา “คิงเพาเวอร์” เป็นมาตรฐานเดียวกับรายอื่น ไม่มีเอื้อประโยชน์พิเศษ เดินหน้าขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงิน 6.25 หมื่นล้านบาท…
นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงมติการอนุมัติ 6 มาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์จลาจลทางการเมืองในประเทศ และเหตุการณ์ ภูเขาไฟระเบิดในไอซ์แลนด์ ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. อนุมัติ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 53 ที่ผ่านมา และ 1 ใน 6 มาตรการดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทอท. เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ กรุ๊ป ที่ประกอบการในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งร้านค้าปลอดภาษี และร้านค้าเชิงพาณิชย์ ด้วยการขยายระยะเวลาอายุสัมปทานออกไปอีก 2 ปีว่า ตนขอยืนยันว่า บอร์ด ทอท. ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
ทั้ง นี้ เนื่องจากมาตรการต่างๆที่ออกมา ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกรายที่ประกอบการในสนามบิน เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว จำนวนและปริมาณ ทั้งปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออก ที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ลดลงอย่างมาก จากเดิมที่เคยมีผู้โดยสารใช้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิเฉลี่ย 150,000-160,000 คนต่อวัน ลดลงเหลือเพียง 70,000-90,000 คนต่อวันเท่านั้น
“ฝ่าย บริหาร ทอท. จึงต้องหากลยุทธ์ และ มาตรการต่างๆที่จะดึงดูดให้มีสายการบินมาขึ้น-ลงมากขึ้น และในทางกลับกัน ทอท. ก็ต้องมีมาตรการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ประกอบการในสนามบินให้สามารถ ดำเนินการต่อไปได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่การขยายอายุสัมปทานให้นั้น จะขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ประกอบการว่า มีอายุสัญญาสัมปทานกับทอท.มากหรือน้อย ถ้าน้อยก็ได้ขยายเวลาอายุสัมปทานน้อย แต่ถ้ามากก็ได้ขยายอายุสัญญาสัมปทานมากซึ่งก็ไม่เกิน 2 ปี”
ทั้งนี้ 6 มาตรการที่บอร์ด ทอท.ได้อนุมัติช่วยเหลือประกอบด้วย 1. ปรับลดค่าธรรมเนียมขึ้น-ลงของอากาศยาน (LANDING FEE) อัตรา 15% และลดค่าธรรมเนียมเก็บอากาศยาน (PARKING FEE) อัตรา 50% ทุกเที่ยวบิน เป็นเวลา 9 เดือน (เม.ย.-ธ.ค. 2553) 2. ปรับลดค่าเช่าพื้นที่และค่าธรรมเนียมใช้บริการอาคาร ในอัตรา 10% ให้แก่ ผู้เช่าทุกราย เป็นเวลา 9 เดือน (เม.ย.-ธ.ค. 2553) 3. ปรับลดค่าตอบแทนเฉพาะสัญญาที่ได้รับอนุญาต ให้ประกอบกิจการของ ทอท. หรือสัญญาที่ลงนามภายในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา
4. ขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมขึ้น-ลงของอากาศยาน ค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน ค่าเช่าพื้นที่ และค่าตอบแทนจากวันครบกำหนดชำระเดิมของเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2553 ออกไปอีก 4 เดือน 5. ขยายอายุสัญญาให้ผู้ประกอบการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ตามสัญญาอนุญาตทุกราย
ที่ สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ไปอีก 6 เดือนจนถึง 2 ปี ตามสัดส่วนอายุสัญญา และ 6. หากผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และกรณีอื่นๆที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา โดยผู้ประกอบการต้องยกเว้นค่าบริการให้กับสายการบินหรือผู้ใช้บริการในอัตรา ที่ไม่น้อยกว่าที่ได้รับความช่วย เหลือจาก ทอท.
นายปิยะพันธ์กล่าว ต่อว่า สำหรับกรณีของกลุ่มคิงเพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษี และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมินั้น ก็ถือเป็น 1 ในกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับการขยายอายุสัญญาสัมปทาน
ต่อไปอีก 2 ปี จากเดิมที่ได้รับอนุญาตให้ประ-กอบการเป็นเวลา 10 ปี ไม่มีอะไรแตกต่างจากรายอื่นๆประธานคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการในโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะ ที่ 2 ที่ใช้งบประมาณลงทุนกว่า 62,500 ล้านบาท ด้วยว่า ฝ่ายบริหาร ทอท. จะยังคงยืนยันเดินหน้าโครงการต่อไป เพราะเป็นโครงการที่มีผลต่อการสร้างรายได้ให้กับ ทอท. โดยล่าสุด โครงการดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ
“ในช่วงที่รอการพิจารณาจาก ครม. ทาง ทอท. ก็จะเสนอโครงการดังกล่าวต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขอว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้มาศึกษาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมในโครงการดัง กล่าวควบคู่กันไป เพราะหากมีการอนุมัติจาก ครม. แล้วก็จะได้ดำเนินการก่อสร้างทันที”
ส่วนข้อถามที่ว่า หากโครงการขยายขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 แล้วเสร็จ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์จะยังคงได้เข้ามารับสัมปทานต่ออีกหรือไม่นั้น นายปิยะพันธ์กล่าวว่า ในเรื่องนี้ยืนยันว่า การดำเนินการคงต้องทำตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมาย ที่จะเปิดประกวดประกาศราคาให้เอกชนที่สนใจเข้ามาประมูล ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้นก็อีกยาวไกล