ผ่านทางมติชนกรุ๊ป : หนังสือพิมพ์และนิตยสารในเครือมติชน.
วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 463 |
เก็บมาเล่า
พานิชย์ ยศปัญญา panit@matichon.co.th
โครงการเครือเบทาโกรพัฒนา ร่วมพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ที่ช่องสาริกา ลพบุรี
ไปตามถนนสายสระบุรี-หล่มสัก เลยสามแยกพุแคไปไม่มากนัก จะเป็นช่องเขาขาด ซึ่งเกิดจากการตัดถนนผ่านภูเขา เลยช่องเขาขาด ก็เป็นพื้นที่ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ณ ตำบลช่องสาริกานี่เอง เป็นที่ตั้งของบริษัทเครือเบทาโกรหลายบริษัทด้วยกัน รวมพนักงานมีมากกว่าหมื่นคน
ได้รับการบอกเล่าจาก คุณสิฐธิชัย อินทร์สุข ผู้จัดการแผนกชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ว่า มีโครงการเครือเบทาโกรพัฒนา นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านน่าจะไปนำเรื่องราวมาเสนอ ซึ่งโครงการเครือเบทาโกรพัฒนาเริ่มมา 2 ปีแล้ว ปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 3
โครงการดังกล่าวมีสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ของ คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้ดำเนินการ โดยบริษัทเครือเบทาโกรสนับสนุนงบประมาณ
คุณกิตติศักดิ์ จกัลยา เจ้าหน้าที่จากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ในฐานะหัวหน้างานโครงการ เล่าว่า บริษัทในเครือเบทาโกรเห็นความสำคัญของการดูแลสังคม โดยมองว่ามีแรงงานมาทำงานกับบริษัทแล้ว ทำอย่างไร ให้คนในหมู่บ้านในชุมชนได้รับการดูแลไปด้วย จึงให้สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนมาดำเนินงาน เป็นโครงการนำร่องในตำบลช่องสาริกา จำนวน 13 หมู่บ้าน
โครงการที่ทำอยู่มี 4 ด้าน ด้วยกันคือ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเกษตร
พัฒนาเศรษฐกิจ
เน้นการออม
คุณกิตติศักดิ์ เล่าถึงการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจว่า เน้นให้ชาวบ้านรู้จักการออม โดยมีการตั้งธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน ทางด้านอื่นสนับสนุนการพัฒนาอาชีพรายบุคคล กลุ่ม และเยาวชน โดยการทำธูป สบู่ น้ำยาล้างจาน และอื่นๆ
“ตำบลนี้มี 1,800 ครัวเรือน คนที่มีการออม ประมาณ 1,000 ครัวเรือน พยายามทำให้ครอบคลุม พยายามดึงเยาวชนเข้ามา แรกๆ เข้าไปประชุมชี้แจงผู้นำชุมชน แรกๆ เขาไม่เข้าใจ สุดท้ายชุมชนเห็นความจริงใจของบริษัท หลังๆ เข้าใจและบอกว่าชาวบ้านได้ประโยชน์ ธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน แต่ละแห่งมีการออมไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท สูงสุด 1.2 ล้านบาท มีการกู้ยืม ให้สมาชิกค้ำกันเอง ยืมได้ครั้งละ 10,000 บาท แต่ละหมู่บ้านบริหารกันเอง แรกสุดทางโครงการจะไม่เข้าไปถือหุ้น ต้องให้ชาวบ้านรวมหุ้นกันก่อน ให้ได้ 50,000 บาท จึงสมทบเข้าไปอีก 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สมาชิกกู้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท ต่อเดือน แต่ฝากไม่มีดอกเบี้ย สิ้นปีมีเงินปันผล หลังเกิดธนาคารหมู่บ้าน แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ส่วนหนึ่ง การกู้เงินนอกระบบ กู้ 10,000 บาท จากแม่ค้า ได้เงินสด 8,000 บาท หักไว้ 2,000 บาท เสียดอกเบี้ยอีกวันละ 200 บาท ปัจจุบัน แม่ค้าเหล่านั้นมากู้จากหมู่บ้าน คงไม่นำไปให้กู้ต่อ เพราะวงเงินไม่มาก ชาวบ้านทุกวันนี้เริ่มเข้าใจ เยาวชนที่เป็นนักเรียนก็เริ่มออม วันละ 1 บาท ธนาคารเขาเปิดเดือนละครั้ง สิ้นปีมีปันผล เงินส่วนหนึ่งยังใช้ในสาธารณประโยชน์ ชาวบ้านมีความภูมิใจ ที่ได้เป็นเจ้าของธนาคาร” คุณกิตติศักดิ์ พูดถึงธนาคารพัฒนาหมู่บ้าน
สำหรับการส่งเสริมอาชีพ มีการผลิตธูป สบู่จากน้ำมันทานตะวัน น้ำส้มควันไม้ ผลิตภัณฑ์บางอย่างนอกจากจำหน่ายได้เงินแล้ว ชาวบ้านยังทำใช้เอง สามารถลดค่าใช้จ่ายประจำวันได้อย่างดี ผลิตภัณฑ์บางอย่างชาวบ้านทำอยู่แล้ว เมื่อโครงการนี้เข้าร่วมดำเนินงาน ช่วยให้มีเครือข่ายจำหน่ายได้มากขึ้น
คุณกิตติศักดิ์ บอกว่า งานทางด้านสังคม มีกิจกรรมในโรงเรียน ในกลุ่มผู้สูงอายุ มีการนำภูมิปัญญาในท้องถิ่นออกมาฟื้นฟู อย่างสมุนไพร
งานทางด้านสิ่งแวดล้อม มีการส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะไผ่นวลราชินี ปี 2551 ส่งเสริมให้ปลูกราว 2,000 ต้น ปี 2552 ก็ส่งเสริมให้ปลูกจำนวนใกล้เคียงกัน การปลูกต้นไผ่ นอกจากได้ความชุ่มชื้นแล้ว ยังได้ผลผลิตจากหน่อ ลำยังมาใช้ในงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้เสียบลูกชิ้น รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ เกษตรกรที่ปลูก มีตั้งแต่รายละ 2-3 ต้น ปลูกตามสวนหลังบ้าน มีบางคนปลูก 1 งาน ถึง 1 ไร่
งานทางด้านการเกษตร
ชาวบ้านมีความพึงพอใจ
คุณกิตติศักดิ์ บอกว่า งานทางด้านการเกษตร ชาวบ้านทำกันอยู่แล้ว ทางโครงการเพียงแต่เสริมให้ดียิ่งขึ้น เช่น ปกติชาวบ้านปลูกข้าวพันธุ์ทั่วไป จำหน่ายได้เกวียนละ 8,000 บาท ก็สนับสนุนให้ผลิตข้าวหอมนิลอินทรีย์ จะมีรายได้จากการขายเกวียนละ 13,000 บาท
แนวทางการสนับสนุนเรื่องการเกษตร ทางโครงการเน้นเรื่องการผลิตแบบปลอดภัย เกษตรกรส่วนหนึ่ง ผสมผสานงานผลิตที่หลากหลายขึ้น เช่น เดิมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างเดียว ก็หันมาเลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เลี้ยงโคเนื้อ อย่างนี้เป็นต้น
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
ผลิตแบบผสมผสาน
คุณสุนทร สุขสว่าง สมาชิก อบต. ช่องสาริกา เขาเป็นเกษตรกรที่ผลิตหลายๆ อย่าง อาทิ ไม้ประดับจันทน์ผา เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงไก่พื้นเมือง โคเนื้อ ปลูกไผ่
คุณสุนทร อยู่บ้านเลขที่ 17/5 หมู่ที่ 9 ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
สมาชิก อบต. เล่าว่า ตนเองทำอาชีพหลักโดยการปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ส่วนอาชีพเสริมปลูกจันทน์ผา ต่อมาได้เข้าไปอบรมอาชีพเกษตร ตามโครงการเครือเบทาโกรพัฒนา จึงมีกิจกรรมที่หลากหลาย
งานปลูกจันทน์ผา เดิมได้ต้นมาจากบนเขา ปัจจุบัน ไม่สามารถไปเก็บมาได้แล้ว แต่อาศัยต้นเดิมที่อายุ 12 ปี เมื่อออกดอกติดเมล็ดก็เพาะขยายพันธุ์ จนต้นอายุ 3 ปี จึงขายได้ต้นละ 500-700 บาท
“ต้นจันทน์ผาที่ใหญ่สุดตอนนี้ 12 ปี เหลือไว้ไม่ขาย เอาไว้เป็นแม่พันธุ์ เมื่อเมล็ดแก่ รีบนำมาล้างน้ำแล้วเพาะ อย่านำไปตากแดด เพราะเปอร์เซ็นต์ความงอกจะน้อย หลังเพาะเดือนหนึ่งเมล็ดที่เพาะจะงอก เพาะในถุง 1 ปี จึงนำลงปลูก ปลูกไปอีก 2-3 ปี จึงเริ่มขายได้ ขายช่วงเล็กๆ ราคาไม่ดี ทุกวันนี้ผมมีอยู่ 2,000 ต้น หากรวมทั้งตำบลมีมากกว่าหมื่นต้น ส่วนใหญ่นิยมซื้อไปจัดสวนกัน” คุณสุนทร บอก
งานอย่างอื่น คุณสุนทรเลี้ยงกบ พอไปได้ ปลาดุกก็เลี้ยงในโอ่งขนาดใหญ่ นานๆ จึงเปลี่ยนน้ำทีหนึ่ง
ไผ่…คุณสุนทร ปลูกไว้ราว 3 ไร่ เป็นไผ่นวลราชินี ไผ่รวก และไผ่เลี้ยง
งานเกษตรที่ทำอยู่ ไม่ค่อยได้ผลเต็มที่นัก คุณสุนทร บอกว่า มีปัญหาเรื่องน้ำ ครั้นจะใช้น้ำประปาก็เกรงว่าจะกระทบต่อผู้ใช้น้ำโดยทั่วไป
สมาชิก อบต. บอกว่า ได้ประโยชน์จากโครงการเครือเบทาโกรเป็นอย่างมาก เพราะได้ความรู้ ได้หลายสิ่งหลายอย่างไปปฏิบัติ
เศรษฐกิจพอเพียง
และปุ๋ยอินทรีย์
คุณวิรัตน์ คีรีรัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 45 หมู่ที่ 3 ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ปัจจุบัน เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรหมู่ที่ 3 กิจกรรมที่เกษตรกรรายนี้ทำอยู่คือเศรษฐกิจพอเพียง โดยปลูกผักหวานป่า ที่ต้นอายุกว่า 10 ปี จำนวน 10 ต้น ปีหนึ่งจำหน่ายผลผลิตได้ต้นละ 1,000 บาท นอกจากนี้ ยังปลูกใหม่อีก 600 ต้น อายุราว 1 ปี โอกาสต่อไป คุณวิรัตน์จะเป็นผู้ปลูกผักหวานป่ารายใหญ่อย่างแน่นอน
สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ คุณวิรัตน์ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นผลิต เช่น มูลโค ของเหลือใช้จากโรงงานน้ำตาล ซีโอไลต์ และหัวเชื้อจุลินทรีย์
“ที่นี่รับทำโต๊ะจีน นอกจากนี้ ผมยังปลูกพืชล้มลุก จำพวกขิง ข่า ตะไคร้ มีโครงการเครือเบทาโกรพัฒนาได้ประโยชน์มาก ไปดูงานก่อน กลับมาทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง” คุณวิรัตน์ บอก
นิสา ศรีดาจันทร์
กับพืชผักพอเพียง
เจ้าหน้าที่ของเครือเบทาโกรและสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ได้พาตระเวนดูงานตั้งแต่เช้า จนบ่ายคล้อย
จุดสุดท้ายที่แวะกัน เป็นบ้านของ คุณนิสา ศรีดาจันทร์ อยู่บ้านเลขที่ 32 หมู่ที่ 3 ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม คุณนิสา เดิมทำไร่ข้าวโพด ต่อมาได้ปลูกผักจำหน่าย มีรายได้เฉลี่ยวันละ 500 บาท คุณนิสา มีลูกสาวชื่อ พิมพ์พิชชา ศรีดาจันทร์ เป็นเจ้าหน้าที่บริษัท บี ฟูดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือเบทาโกรนั่นเอง คุณพิมพ์พิชชา ได้ทำงานร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ทั้งนี้เพื่อที่จะนำสิ่งที่มีอยู่ ไปปรับใช้กับพนักงาน
คุณพิมพ์พิชชาและคุณนิสา ผู้เป็นแม่ ร่วมให้ข้อมูลว่า เดิมทีทางครอบครัวทำไร่ข้าวโพด ในพื้นที่ 25 ไร่ และเลี้ยงโคนม ต่อมาทราบเรื่องราวเศรษฐกิจพอเพียง ทางเครือเบทาโกรก็นำไปศึกษาดูงาน จึงได้แบ่งพื้นที่มาปลูกผัก ราว 1 ไร่เศษๆ โดยปลูกหมุนเวียน มีต้นหอม กะเพรา โหระพา สะระแหน่ ถั่วฝักยาว มะกรูด กล้วยน้ำว้า ทางด้านสัตว์ ยังมีเลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงกบคอนโดฯ ปลาดุก
“เมื่อก่อนเราปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ต้องไปเอาปัจจัยเขามาก่อน หลังๆ ทำหลายอย่างขึ้น มีรายได้เพิ่มทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ ข้าวโพดยังปลูกอยู่ แต่มีรายได้รายปี ปลายฝนก็ปลูกทานตะวัน” คุณพิมพ์พิชชา บอก
คุณนิสา อธิบายการปลูกพืชผักให้ฟังว่า อย่างต้นหอม ปลูกในพื้นที่ 1 งาน เป็นหอมแบ่ง พันธุ์นำมาจากทางอีสาน ปลูก 2 เดือน ก็เป็นผลผลิตจำหน่ายได้ ในราคากิโลกรัมละ 40 บาท
สะระแหน่ ลงทุนครั้งแรก 20 บาท ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นาน ขายกำละ 3 บาท
กะเพรา ปลูกในพื้นที่ 1 งาน เป็นพันธุ์พื้นเมืองสีขาว จ้างเขาเพาะต้นกล้าแล้วนำมาลงปลูก ราวครึ่งเดือนก็เก็บผลผลิตได้ เก็บไป 6 เดือน จึงโละแล้วปลูกใหม่ กะเพราขายกิโลกรัมละ 20 บาท
คุณนิสา บอกว่า แรงงานที่ตนเองทำอยู่มีน้อย จึงไม่ได้ขยายพื้นที่ปลูกมากนัก หากมีแรงงานมาก ผลิตผักเพื่อให้คนมาซื้อส่งไปที่ตลาดไท จะมีรายได้วันละ 1,300 บาท แต่ทุกวันนี้ ผลิตไม่มากนัก เนื่องจากลูกสาวไปทำงานกับบริษัทในเครือเบทาโกร ส่วนรายได้จากการขายผัก ตกวันละ 500 บาท มีแม่ค้ามารับซื้อไปส่งที่หน้าบริษัท
ถามแทนผู้อยากปลูกผัก ว่า เริ่มสร้างตลาดอย่างไร คุณนิสา บอกว่า ต้องไปดูที่ตลาดท้องถิ่น ว่าเขาขาดอะไร ถามแม่ค้าก็ได้ จากนั้นจึงเริ่มผลิตให้เขาทีละน้อย แต่อย่าให้ขาด จากนั้นจึงค่อยขยายเพิ่มขึ้น คุณนิสา บอกว่า ได้รับประโยชน์มาก ในการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่บ้านยังเป็นที่ตั้งของธนาคารพัฒนาหมู่บ้านอีกด้วย โดยเปิดดำเนินกิจกรรมเดือนละครั้ง
ปลูกผักในโรงงาน
จุดหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของเครือเบทาโกรพาไปดูงาน คือการปลูกผักในโรงงาน
โรงงานที่ดำเนินกิจการเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเกษตรนั้น จะแตกต่างจากอุตสาหกรรมด้านอื่น บริษัทในเครือเบทาโกร ที่ตำบลช่องสาริกา จะผลิตไส้กรอก แปรรูปเนื้อหมู และอื่นๆ ที่ตั้งของโรงงานกว้างขวาง พื้นที่แต่ละแปลงเป็น 100 ไร่ ภูมิทัศน์สวยงามมาก มองผิวเผินเหมือนเป็นสถาบันทางการศึกษา
บริษัทในเครือเบทาโกร มีอยู่หลายบริษัท
บริษัท เบทาโกรแลนด์ จำกัด ไม่ใช่บริษัทมีหน้าที่ผลิต แต่มีหน้าที่ดูแลกิจการต่างๆ ของบริษัทในเครือ หน้าที่หนึ่งที่ดูแลคือกิจการหอพัก
คุณปราณี บุญปาน หัวหน้าส่วนธุรการ บริษัท เบทาโกรแลนด์ จำกัด บอกว่า พนักงานของบริษัทในเครือมีกว่าหมื่นคน ส่วนใหญ่มีบ้านพักอยู่ข้างนอก แต่มีส่วนหนึ่งที่มีสวัสดิการหอพักให้ ราว 1,000 คน หลังจากทำงานแล้ว พนักงานส่วนหนึ่งออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬา แต่ส่วนหนึ่งไม่มีอะไรทำ ทางบริษัทจึงจัดให้มีการปลูกผักสวนครัวขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2552
คุณเกรียงลักษณ์ นฤเทพ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายบริหาร สวนอุตสาหกรรมอาหารเครือเบทาโกร แห่งที่ 2 พูดถึงการปลูกผักว่า งานปลูกผักนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เรื่องน้ำ มีน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมีค่าไนโตรเจนค่อนข้างสูง น่าจะปลูกพืชผักได้
“ทางผู้ใหญ่ในบริษัทอยากให้มีการนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในบริษัท จึงมีการหารือกันในเรื่องของการปลูกผัก หลายคนมีความตั้งใจอยากปลูก แรกๆ ก็สงสัยว่า มีผลผลิตแล้วจะนำไปทำอะไร เมื่อมีข้อสรุปจึงลงมือปลูก มีพนักงานเข้าร่วมกว่า 10 คน ผักที่ปลูกมีกว่า 10 ชนิด อย่างคะน้า กวางตุ้ง มะเขือ พริก เริ่มต้นปลูกผักบุ้ง ตอนนี้มีมะละกอ กล้วย ตะไคร้ เมื่อมีผลผลิต ผู้ปลูกก็ได้เก็บไปทำอาหาร ส่วนหนึ่งจำหน่ายได้บ้าง” คุณเกรียงลักษณ์ บอก
พื้นที่ปลูกผักในยุคเริ่มต้นมีราว 60 ตารางเมตร เนื่องจากมีผู้สนใจมากขึ้น พื้นที่ปัจจุบันมีราว 600 ตารางเมตร
แนวทางการส่งเสริมให้พนักงานในบริษัทปลูกผัก นับว่าเกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะมีการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เมื่อมีผลผลิตก็นำไปเป็นอาหารได้ โดยแนวทางการผลิตเขาเน้นการผลิตแบบปลอดสารพิษ มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ
คุณสิฐธิชัย อินทร์สุข ผู้จัดการแผนกชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากบริษัทจะสนับสนุนให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงมีอาชีพ ทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ในบริษัทก็มีการเผยแพร่ว่า ทำอย่างไร จะทำให้พนักงานอยู่อย่างพอเพียง จึงมีการปลูกผักในโรงงาน สร้างระบบการออม มีกลุ่มออมทรัพย์ เมื่อมีการเรียนรู้ อาจจะนำไปปรับใช้ในครอบครัวได้
ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเกษตรกรในโครงการ ถามได้ที่ โครงการเครือเบทาโกรพัฒนา 1 หมู่ที่ 12 ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โทร. (036) 436-532
สนใจจันทน์ผา ถามที่ คุณสุนทร สุขสว่าง โทร. (081) 852-9268 ผักหวาน ปุ๋ยอินทรีย์ และโต๊ะจีน คุณวิรัตน์ คีรีรัตน์ (089) 801-4682 พืชผักสวนครัว คุณพิมพ์พิชชา ศรีดาจันทร์ โทร. (089) 920-9218
ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ในโครงการเครือเบทาโกรพัฒนา
1 กิจกรรม/ขนมทองม้วน/ ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 1 คุณรุ่งทิวา ตอมพุทรา /ราคา 10-20 บาท
2 กิจกรรม/ขนมโดนัทจิ๋ว/ ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 1 คุณแฉล้ม ศรีทองสุข /ราคา10 บาท
3 กิจกรรม/ขนมเบเกอรี่/ ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 3 คุณสุภาพ คีรีรัตน์ /ราคา10 บาท ขึ้นไป
4 กิจกรรม/ถั่วทอดสมุนไพร /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 4 คุณจุฑามาศ เหมือนแย้ม /ราคา 5 บาท ขึ้นไป
5 กิจกรรม/ ธูปหอม /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 4 คุณพยงค์ เหมือนแย้ม /ราคา 10 บาท ขึ้นไป
6 กิจกรรม/ ผักปลอดสาร /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 4 คุณพยงค์ เหมือนแย้ม /ราคาตามตลาด ณ ปัจจุบัน
7 กิจกรรม/ ขนมเบเกอรี่ (เค้ก) /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 7 คุณกมลวัลย์ แสงขำ /ราคาปอนด์ละ 100 บาท
8 กิจกรรม/ แหนมโบราณ /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 8 คุณทองพูล มุ่งหมาย /ราคา10 บาท ขึ้นไป
9 กิจกรรม/ สิ่งประดิษฐ์จากขอนไม้ /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่12 คุณศิริรัตน์ ศรีสุธีวงศ์ /ราคา60 บาท ขึ้นไป
10 กิจกรรม/ กลุ่มไข่เค็ม /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 3 คุณสุภาพ คีรีรัตน์ /ราคาฟองละ 7-8 บาท
11 กิจกรรม/ กลุ่มเลี้ยงกบคอนโดฯ /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 1-13 คุณสมศักดิ์ วงษาก้อ /ราคากิโลกรัมละ 70 บาท
12 กิจกรรม/ กลุ่มผลิตปุ๋ย /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 3, 6, 9 คุณวิรัตน์ คีรีรัตน์ หมู่ที่ 3 คุณเนตร อยู่ประจำ หมู่ที่ 6 คุณสุนทร สุขสว่าง หมู่ที่ 9 /ราคากระสอบ 50 กิโลกรัม ราคา 350 บาท
13 กิจกรรม/ กลุ่มกล้วยกรอบแก้ว /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 8 คุณเล็ก สังข์สว่าง /ราคา10-20 บาท
14 กิจกรรม/ กลุ่มน้ำยาอเนกประสงค์ /ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -หมู่ที่ 10 คุณสมพิธ ศรีเดือน /ราคาขวดละ 10-25 บาท/ชุดละ 135 บาท
15 กิจกรรม/ กลุ่มผลิตของที่ระลึก / ผู้รับผิดชอบ/ผู้ดำเนินกิจกรรม -กลุ่มเยาวชน คุณสิรภพ สุขสว่าง /ราคา10 บาท ขึ้นไป