ประพันธ์
ขณะที่รัฐบาลระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาอุทกภัยมาหลายเดือน มีแผนงานประดังออกมามากมาย แต่ผลในทางปฏิบัติยังไปไม่ถึงไหน ไม่มีรูปธรรมอะไรชัดเจนออกมา
แผนงานและมาตรการต่างๆ ของรัฐยังไม่อาจเพรียกหาความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ทั้ง 100% ประชาชนคนไทยก็ต้องเผชิญกับ “วิกฤติภัยแล้ง” ซ้ำร้ายเข้าให้อีก ล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งว่าลุกลามกินพื้นที่ไปกว่า 48 จังหวัดทั่วประเทศไปแล้ว โดยที่ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลงง่ายๆ
เมื่อย้อนกลับไปพิจารณารากเหง้าของปัญหา ยิ่งตกใจเพราะดูเหมือนวิกฤติ “น้ำท่วม-ภัยแล้งซ้ำซาก” ของประเทศไทยกลายเป็นวัฏจักรปัญหาที่รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า “แก้ไม่ตก” น้ำในเขื่อนที่ถูกพร่องออกไปมากก่อนหน้าเพื่อรับปริมาณน้ำฝนระลอกใหม่ ทำท่าจะเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งที่อาจทอดยาวแทน
เข้าตำรา “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” สางวิกฤติอุทกภัยยังไม่ทันสะเด็ดน้ำ ก็กลับต้องมาเผชิญวิกฤติภัยแล้งซ้ำรอยเข้าให้อีก จนทำให้การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐขณะนี้ ดูจะยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่า จะแสวงหาความ “สมดุล” ที่สามารถจะ “รับมือ” กับสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้งไปพร้อมกันแบบเบ็ดเสร็จได้อย่างไร
เพื่อร่วมแสวงหาคำตอบ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงนำเสนอมุมมองจากผู้บริหารภาคเอกชนองค์กรใหญ่ที่ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ แก้ไขวิกฤติน้ำเพื่อลดความเสี่ยงขององค์กรมาโดยตลอด เพื่อร่วมกันสะท้อนข้อคิด ข้อเสนอแนะให้ทุกฝ่ายได้ตระหนัก และหาหนทางรับมือกับปัญหา ในรูปแบบของการบริหารจัดการน้ำ “ครบวงจร” ดังนี้ :
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
ไพรินทร์
“ผมรู้สึกเสียดายว่า หลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลายไปแล้ว 6 เดือน แต่การบริหารจัดการน้ำเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ยังไม่ไปถึงไหน ที่สำคัญ ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้กับปีก่อนนั้น มีสภาพเหมือนกันคือ เกิดภาวะแห้งแล้ง แต่ในเขื่อนไม่มีน้ำ เพราะถูกเร่งระบายออกเพื่อเตรียมพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่ถ้าฝนไม่ตกลงมา ก็จะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ถึงตอนนั้น ประเทศไทยจะทำอย่างไร เพราะนโยบายบริหารจัดการน้ำ ยังจับต้องไม่ได้”
นายไพรินทร์ กล่าวด้วยว่า เดิมทีมีผู้ประเมินความเสียหายจากมหาอุทกภัยครั้งที่แล้วว่าสูง 700,000 ล้านบาท แต่หลังจากคำนวณรวมความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ที่ถูกน้ำท่วมเข้าไปด้วย มูลค่าความเสียหายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านล้านบาท นี่แปลว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ได้มีเฉพาะภาคเกษตรกรรมเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่มีความเสียหายของภาคอุตสาหกรรมการส่งออกผนวกรวมอยู่ด้วย
เพราะฉะนั้น เวลาจะต้องคิดถึงการบริหารจัดการน้ำ จึงต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมทั้งในส่วนของภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมไปพร้อมๆกัน และคิดมาตรการเผื่อไว้สำหรับแก้ปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งไปด้วย หมายความว่าต้องมีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ครบวงจร และปลอดจากการเมืองเข้าแทรกแซง
“ผมคิดว่า มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายเรื่องน้ำใหม่ทั้งหมด การบริหารจัดการน้ำก็เหมือนกับการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ และที่จะเป็นปัญหาในอนาคตก็คือ ต้องทำให้ทุกภาคส่วนยอมรับว่า “น้ำ” ก็มีต้นทุนการผลิต และมีแหล่งที่มาเหมือนกับ “พลังงาน”…
น้ำ จึงมีราคาเสมือนสิ่งของที่มีคุณค่า เมื่อมีราคา น้ำ ก็จะไม่ถูกนำไปใช้อย่างสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นเช่นเดียวกันกับ “พลังงาน”
ยกตัวอย่างเช่นน้ำในปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หากอยู่ในประเทศไทยอาจมีต้นทุนการผลิต และจัดหาเพียง 9-10 บาท แต่หากน้ำในปริมาณดังกล่าวไปอยู่ในตะวันออกกลาง หรือประเทศอิสราเอล ราคาของน้ำ 1 ลบ.ม.ก็คงจะมีมูลค่าสูงมาก เพราะเป็นของหายาก
ที่นั่น น้ำทุกหยดจะถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า เช่น เมื่อระบายลงท่อน้ำทิ้ง ก็ถูกนำไปรดต้นไม้ หรือที่ญี่ปุ่น ก็นำมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ แต่ของประเทศไทย น้ำ ในปริมาณดังกล่าว ก่อนจะถูกส่งผ่านท่อประปามายังผู้ใช้ ก็เกิดการรั่วไหลไปแล้วกว่า 40% เพราะไม่เห็นคุณค่าเหมือนประเทศที่ขาดแคลนน้ำ
“เราต้องยอมรับว่า แนวคิดดั้งเดิมจากอดีตถึงปัจจุบัน เรามักจะมองว่า น้ำ เป็นของเกษตรกรที่ต้องใช้เพื่อการเพาะปลูก ไม่ว่าน้ำจากเขื่อน หรือจากอ่างเก็บน้ำ ทำให้ต้องจัดลำดับความสำคัญแก่การเพาะปลูกเป็นอันดับแรกก่อน ชาวนาก็คิดว่า น้ำเป็นของเขา ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะยืนกำกับว่า น้ำทุกหยดต้องกันไว้ให้ชาวนาปลูกข้าว
เพราะข้าว คือ หัวใจสำคัญของการส่งออก และการสร้างรายได้ให้กับประเทศ…
แต่นโยบายต่างๆที่ออกมากลับสวนทางกัน เช่น ต้องการให้ส่งออกข้าวจำนวนมากๆ แต่กลับใช้นโยบายประกันราคาข้าวสูง ทำให้ผู้ส่งออกไม่ซื้อข้าวไปส่งออก เพราะสู้กับราคาข้าวเวียดนามในตลาดโลกไม่ได้ ปัญหาก็วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบ ที่สำคัญ ยังทำให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศ เกิดความยากลำบากไปด้วย”
นายไพรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ ต้องมีวิธีการจัดการน้ำ เพื่อบริหารน้ำจากทุกแหล่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องเลือกระหว่างการจัดการน้ำเพื่อภาคเกษตรกรรม หรือภาคอุตสาหกรรม เพราะ “น้ำ” ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหมือนปัจจุบัน
การจะดำเนินการในเรื่องนี้ให้เกิดความสำเร็จ รัฐบาลต้องรวบรวมองค์กรที่ทำเรื่องเกี่ยวกับน้ำให้มาอยู่รวมกัน เพื่อให้มีข้อมูลครบทุกด้าน มีทีมงานที่เป็นเอกภาพ ปลอดจากการเมือง และมีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ให้หลุดพ้นจากกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งมีเข็มทิศที่จะนำพาการแก้ปัญหาน้ำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
เหมือนกับเป้าหมาย “กองทุนอุทกพัฒน์” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทราบว่า ขณะนี้มีหลายองค์กรแล้วที่ไปร่วมให้การสนับสนุน
นายไพรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ จะต้องทำในขณะที่กำลังเกิดวิกฤติ และใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสให้ได้ อย่ารอให้วิกฤติคลี่คลายไปแล้ว จึงลงมือทำ เพราะถึงเวลานั้น ก็อาจสายเกินกว่าจะแก้ไขเยียวยา จนกลายเป็นความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนไป
นายประพันธ์ อัศวอารี
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) “อีสท์วอเตอร์”
“เท่าที่ทีมงานของอีสท์วอเตอร์ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก
ในขณะนี้ ที่ จ.ระยอง น่ากังวลมาก เพราะฝนตกน้อย น้ำไม่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน เพราะแหล่งกักเก็บน้ำหลักของภาคตะวันออกกว่า 70% อยู่ที่ จ.ระยอง ประเมินแล้วสถานการณ์เข้าข่ายจะซ้ำรอยวิกฤติภัยแล้งปี 2548 ซึ่งต้องขอดน้ำที่ติดอยู่ก้นอ่างมาใช้กันทีเดียว”
จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดปริมาณน้ำที่อีสท์วอเตอร์สามารถนำมาใช้ได้นานที่สุดจากนี้ไปจะได้ประมาณ 6 เดือน หรือมีน้ำใช้ไปได้ถึงเดือน ต.ค.นี้ ถ้าถึงเดือน ก.ย.แล้วฝนยังไม่ตกมีปัญหาหนักแน่ ซึ่งจากสถิติในอดีตสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจะเกิดภัยแล้งยาวนานถึง 8 เดือน จึงนิ่งนอนใจไม่ได้
“อีสท์วอเตอร์” ตั้งทีมงานมาติดตามประเมินสถานการณ์ตลอดระยะเวลาดูว่าในระยะ 15, 20, 30 วันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเกิดแล้วต้องปฏิบัติอย่างไร ทำกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้
“ทุกอย่างต้องติดตามตรวจเช็กในรายละเอียด ระบบสูบ-ส่ง น้ำต้องเตรียมให้พร้อมทั้งหมด ทดสอบระบบว่าสามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่มานั่งรอให้เกิดปัญหาแล้วพอจะใช้งานเพิ่งรู้ว่า เครื่องสูบน้ำเสีย ใช้การไม่ได้ เหมือนช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้ว เพิ่งมาพูดกันว่าคูคลองไม่ได้ขุดลอก ปั๊มสูบน้ำเสีย ระบบการทำงานแบบนั้นเอกชนรับไม่ได้”
นายประพันธ์ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ขณะที่ปัญหาภัยแล้งก่อตัวทำท่าว่าจะรุนแรงในภาคตะวันออก ด้านปริมาณความต้องการใช้น้ำของภาคตะวันออกกลับเติบโตรวดเร็วมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เคยอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง หนีปัญหาน้ำท่วม ย้ายฐานการผลิตมา
ขณะที่แรงงานก็ย้ายตามมาด้วย รวมถึงพ่อค้า แม่ค้า ชุมชนขยายตัวขึ้น ห้องพัก ห้องเช่ามากขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น สูงกว่าแผนของอีสท์วอเตอร์ที่เคยคาดการณ์ไว้ประมาณ 8%
“ทางอีสท์วอเตอร์ต้องทบทวนตัวเลขคาดการณ์ใช้น้ำในภาคตะวันออกใหม่ทั้งหมด เพราะวันนี้ปัจจัยที่มีผลกระทบเปลี่ยนไปมาก ในขณะที่แหล่งน้ำต้นทุนที่จะนำมาใช้มีอยู่เท่าเดิม ตามไม่ทันความต้องการใช้น้ำ อีก 3 ปีข้างหน้าต้องลุ้นอย่างเดียวให้ฝนตกและมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างเพียงพอ”
สำหรับแผนรองรับในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ได้เตรียมแนวทางที่จะสร้างแหล่งน้ำเป็นแก้มลิงที่ อ.แกลง จ.ระยอง เพื่อกักเก็บน้ำที่จะปล่อยลงทะเล ซึ่งแต่ละปีมีน้ำไหลลงทะเลผ่านพื้นที่บริเวณที่จะสร้างแก้มลิง หลายร้อย ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษามาจัดทำรายละเอียดประเมินโครงการ อีก 3-4 เดือนข้างหน้าจะมีข้อสรุป เบื้องต้นจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000-6,000 ล้านบาท การลงทุนส่วนนี้จะทำให้ต้นทุนค่าน้ำเพิ่มขึ้นจาก ลบ.ม.ละ 7 บาท เป็น ลบ.ม.ละ 10 บาท
นายประพันธ์ ยังได้ให้ความเห็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่า การบริหารจัดการน้ำมี 2 มิติ ที่จะต้องดูว่าจะสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นได้อย่างไร คือระหว่างน้ำท่วม กับน้ำขาดแคลน อยากฝากให้ภาครัฐอย่าดูแต่เรื่องน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว ต้องดูน้ำส่วนที่ขาดแคลน ซึ่งต้องมีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ด้วย โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ที่มีการลงทุนหลายแสนล้านบาท หากขาดแคลนน้ำจะกระทบทั้งระบบ รวมไปถึงความมั่นใจของนักลงทุน
“เมื่อปีที่แล้วผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม มาปีนี้หนีจากน้ำท่วมย้ายมาภาคตะวันออก ถ้ายังมาเจอปัญหาน้ำขาดแคลนอีก จะตอบคำถามกับต่างประเทศถึงการบริหารจัดการน้ำของเราอย่างไร น้ำท่วมยังพออพยพหนีได้ แต่น้ำขาดนี้ตายอย่างเดียว”
การจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศมองว่า การทำแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งในอนาคตจะยิ่งทำยากขึ้น เช่น เขื่อนแม่วงก์ จะสร้างหรือไม่สร้าง ตกลงสมดุลอยู่ตรงไหน ข้อมูลที่แท้จริงเป็นอย่างไร ฝ่ายที่ต้องการสร้างก็มีเหตุผล ขณะที่คนที่ต่อต้านก็มีน้ำหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม
ถ้าฝ่ายที่ต่อต้านในอนาคตพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลผิดพลาด จะรับผิดชอบต่ออนาคตลูกหลานได้หรือไม่ เรื่องนี้อาจจะต้องใช้วิธีการโหวตกันหรือไม่เพื่อให้มีทางออก เพราะการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำต้องใช้เวลา เริ่มสร้างวันนี้อีก 5 ปีก็ยังไม่เสร็จ
นายปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ไทย
ปราโมทย์
ปัญหาเรื่องน้ำมีอยู่ 3 ด้านคือ น้ำเกิน น้ำขาด และน้ำเสีย ในฐานะที่อยู่ในภาคธุรกิจเข้าใจดีว่าปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดจากภัยธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้ แต่โจทย์สำคัญของภาครัฐที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจคือ มาตรการในการบริหารจัดการไม่ว่าปริมาณน้ำจะมีมากหรือน้อยก็ตาม
“แต่ปัจจุบัน แม้แต่ในเรื่องสำคัญๆ เช่นการเกิดภัยพิบัติ ประเทศไทยยังต้องคอยฟังประกาศเตือนจากสหรัฐอเมริกา ทั้งที่อยู่ไกลกันคนละซีกโลก อย่างเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆนี้ หน่วยงานราชการไทยระบุว่าหากเกิดแผ่นดินไหวระดับต่ำกว่า 4.5 ริกเตอร์ จะไม่สามารถตรวจสอบพบ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญมากทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ”
ดังนั้น มาตรการแรกที่ประเทศไทยควรจะทำ คือ การลงทุนให้ระบบการพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำมากขึ้น เทียบเท่ากับประเทศใหญ่ๆในโลกที่มีศักยภาพในด้านนี้สูงมาก เช่น ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
เพราะถ้ารู้ล่วงหน้าว่าในแต่ละปีจะต้องเจอกับพายุกี่ลูก แต่ละลูกจะมีปริมาณเท่าไหร่ จะช่วยให้สามารถคำนวณปริมาณการพร่องน้ำในเขื่อนได้เหมาะสม แต่ในทางกลับกันเมื่อไม่รู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังเกิดน้ำท่วมก็พร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำออกไปมาก สุดท้ายต้องมาตกอยู่ในภาวะเสี่ยงกับปัญหาภัยแล้งแทน
ที่สำคัญในปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมเจอปัญหาน้ำท่วม จึงโยกย้ายโรงงานหรือขยายที่ตั้งของโรงงานแห่งใหม่ออกจากพื้นที่ใกล้น้ำ แต่ปีนี้ที่กำลังเกิดปัญหาภัยแล้งและหากมีผลกระทบมาถึงภาคอุตสาหกรรม จนไม่มีน้ำใช้ในการผลิต เช่นเดียวกับปี 2548 ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเกือบต้องหยุดดำเนินการทั้งหมด ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้อีก ความเชื่อมั่น การลงทุนในประเทศก็จะแย่มาก
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่โรงงานปิโตรเคมีของเอสซีจี ที่ จ.ระยอง เคยเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนน้ำของภาคตะวันออกในปี 2548 จนทำให้แต่ละอุตสาหกรรมต้องมาตกลงกันว่าใครจะลดกำลังการผลิตลงเท่าไหร่ เพราะชาวบ้านก็ต้องการใช้น้ำเหมือนกัน ซึ่งสำหรับเอสซีจี น้ำมีความจำเป็นมากในการผลิต ดังนั้น เอสซีจีจึงขุดบ่อขนาดใหญ่ไว้ในโรงงานที่ จ.ระยอง กักเก็บน้ำได้ประมาณ 300,000-400,000 ลบ.ม. สำรองไว้ใช้
จากการเข้าไปทำโครงการจัดการน้ำร่วมกับชุมชนของเอสซีจีที่ผ่านมา ได้เรียนรู้ว่า การจัดการปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง อาจไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งเขื่อนขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวก็ได้
หากต้องการจัดสรรน้ำให้ไปถึงทุกพื้นที่ในประเทศ ควรมีการพัฒนาแก้มลิง หรือบ่อน้ำชุมชนกระจายไปทุกชุมชนในประเทศ เพื่อรองรับน้ำในปีที่มีน้ำเกิน เมื่อถึงช่วงแล้ง ก็จะกลายเป็นแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรได้.
ทีมเศรษฐกิจ