12 พฤศจิกายน 2553, 05:15 น.
http://www.thairath.co.th/content/eco/126297.

จีนเล็งเพิ่มสัดส่วนการส่งออกยานยนต์ อานิสงส์ผู้ประกอบการชิ้นส่วนไทย ส.อ.ท.ชี้อะไหล่ไทยแพงกว่า แต่ได้เปรียบเรื่องการออกแบบ-ฝีมือ …
นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร กงสุลฝ่ายการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวในการสัมมนาทิศทาง Detroit of Asia ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย : จีน คู่ค้าหรือคู่แข่ง? ว่า ปี 52 จีนผลิตรถยนต์ได้ 64 ล้านคัน และจีนตั้งเป้าหมายปี 58 จะผลิตรถยนต์ได้ 140 ล้านคัน และปี 63 ผลิตรถยนต์ได้ 217 ล้านคัน ซึ่งผลผลิตรถยนต์ที่สูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนไทยมีโอกาส เพราะความต้องการชิ้นส่วนและอะไหล่มากขึ้น ปัจจุบันจีนมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 5,000 ราย เป็นผู้ผลิตจากต่างประเทศ 1,000 ราย แต่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจทำให้มีการควบรวมกิจการ และมีบริษัทนอกอุตสาหกรรมยานยนต์เข้ามาผลิตด้วย เพราะเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาอยู่ในยานยนต์มากขึ้น เช่น ไมโครซอฟต์ โมโตโรล่า
ทั้งนี้ จีนมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ปีละ 20% และในปี 58 จะมีมูลค่าการส่งออก 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการที่ไทยจะรักษาตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยถือเป็นเรื่องยาก เพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายอุตสาหกรรมจีนอย่างจริงจังและรวดเร็ว จะทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องหาโอกาสที่จะขยายตลาดไปจีน ซึ่งขณะนี้การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปจีนไม่มีภาษี ไม่มีโควตาและไม่กำหนดแหล่งกำเนิดสินค้า และการหาตลาดจีนต้องไปอย่างเป็นระบบ เช่น การลงทุนแฟรนไชส์ศูนย์ซ่อมรถยนต์ในจีน รวมทั้งอาจไปสร้างฐานการผลิตในจีนเหมือนกลุ่มสามมิตรมอเตอร์และกลุ่มไทยซัมมิต
ด้านนายศุภรัตน์ ศิริวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ชิ้นส่วนยานยนต์ของจีนถูกกว่าไทย 10-15% เพราะใช้วัตถุดิบและเครื่องจักรของจีนเอง เช่น เหล็ก ทองแดง กระจก ยาง ส่วนชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยได้เปรียบเรื่องการออกแบบและแรงงานที่มีฝีมือ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีจุดแข่งที่มีฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้มแข็งและเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพรายใหญ่ของโลก ส่วนจุดอ่อน เพราะไม่มีเทคโนโลยีของตัวเอง และไม่มีวัตถุดิบหรือเครื่องจักรของตัวเอง.
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
- 12 พฤศจิกายน 2553, 05:15 น.
13.874246
100.669851
Like this:
ถูกใจ กำลังโหลด...
20 กรกฎาคม 2554, 05:00 น.
โตโยต้าสะกิดรัฐต้องรอบคอบ ขึ้นค่าแรง 300 บาท ไล่ทุบอุตสาหกรรมชิ้นส่วน.

โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่อาจจะได้รับผลกระทบหนัก เพราะทำให้ต้นทุนชิ้นส่วนสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทรถยนต์หันไปซื้อชิ้นส่วนจากต่างประเทศที่ถูกกว่า
นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาท ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลใหม่ก็ต้องระวังว่าหากขึ้นค่าแรงทันทีอาจทำให้เกิดปัญหาค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากกว่าค่าแรง จนอาจจะมีผลกระทบทางลบที่มากกว่า ที่สำคัญการขึ้นค่าแรงทันทียังจะก่อปัญหาต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่อาจจะได้รับผลกระทบหนัก เพราะทำให้ต้นทุนชิ้นส่วนสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทรถยนต์หันไปซื้อชิ้นส่วนจากต่างประเทศที่ถูกกว่า เช่น อินโดนีเซีย ส่วนนโยบายลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถคันแรกก็เป็นเรื่องดี ช่วยให้รถขายดีมากขึ้น
นายทานาดะยังได้กล่าวในฐานะผู้นำตลาดรถยนต์เมืองไทย ถึงยอดขายรถยนต์รวมทุกยี่ห้อและทุกประเภทในช่วงครึ่งปีแรกนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) ว่ามีปริมาณการขาย 432,012 คัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 21.1% ประกอบด้วย ตลาดรถยนต์นั่ง 193,510 คัน เพิ่ม 26.3% และตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ 238,502 คัน เพิ่ม 17.2% สำหรับตลาดรถกระบะ 1 ตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ มียอดขาย 204,837 คัน เพิ่ม 18.1% แม้ว่าช่วงต้นปีนี้นับเป็นช่วงที่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมาซึ่งได้ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนตามมา แต่ด้วยความร่วมมือและความสนับสนุนทุกด้าน ทำให้การผลิตฟื้นเร็วกว่าคาด
“จากความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้เติบโต และการที่บริษัทรถยนต์ต่างๆได้มีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ ที่สำคัญปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีได้หมดสิ้นลง ได้ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มความคึกคัก ทำให้มั่นใจว่ายอดขายรถยนต์รวมทุกประเภทและทุกยี่ห้อในปีนี้จะสูงกว่า 900,000 คัน เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 12.4% แบ่งเป็นตลาดรถยนต์นั่ง 410,000 คัน เพิ่มขึ้น 18.3% และตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ 490,000 คัน เพิ่มขึ้น 8.0% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นตลาดรถกระบะ 1 ตัน มียอดขาย 408,500 คัน เพิ่ม 5.3% ซึ่งจากการที่ตลาดรถยนต์ในประเทศขายดี และการส่งออกที่คึกคัก จะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมีการผลิตรถยนต์ในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคัน”.
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
- 20 กรกฎาคม 2554, 05:00 น.
13.874246
100.669851
Like this:
ถูกใจ กำลังโหลด...
20 มิถุนายน 2554, 05:00 น.
ค่ายรถยนต์-ชิ้นส่วนลุยเต็มสูบ – ข่าวไทยรัฐออนไลน์.

ค่ายรถยนต์และชิ้นส่วน เร่งเพิ่มกำลังการผลิตอีก 4 แสนคัน รองรับความต้องการรถที่มีแนวโน้มสูงในประเทศและอาเซียนในปี 2558…
นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานผลิตรถยนต์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ระหว่างเร่งขยายโรงงานหรือสร้างโรงงานใหม่จำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการรถยนต์ในอนาคตที่มีแนวโน้มสูงทั้งตลาดในประเทศและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ส่งผลให้ในปี 2555 กำลังการผลิตรถยนต์ในไทยจะมีเพิ่มขึ้นอีก 400,000 คัน เช่น ค่ายฟอร์ด ผลิตรถยนต์นั่งและปิกอัพ ค่ายซูซูกิ และมิตซูบิชิ ผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) เมื่อรวมกับกำลังการผลิตเดิมก็จะเป็น 2.7 ล้านคันต่อปี
ทั้งนี้ หากไม่มีปัญหาที่คาดไม่ถึง เช่น ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง, วิกฤติเศรษฐกิจโลก และภัยธรรมชาติที่มากระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เชื่อว่าในปี 2555 ค่ายรถยนต์จะสามารถผลิตรถยนต์ได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคันแน่นอน โดยแต่ละค่ายจะใช้กำลังการผลิตรถยนต์เฉลี่ยที่ 80% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ส่วนการผลิตที่จะเพิ่มใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์อีโคคาร์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภค เพราะสามารถประหยัดน้ำมัน
“หลังจากที่ไปสำรวจการก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์และโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ พบว่าโรงงานผลิตรถยนต์ใหม่มีความคืบหน้าไปมาก มั่นใจว่าภายในปี 2556 ไทยจะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคัน”.
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
- 20 มิถุนายน 2554, 05:00 น.
13.874246
100.669851
Like this:
ถูกใจ กำลังโหลด...
25 เมษายน 2554, 05:45 น.
พ่อค้าญี่ปุ่นยกทัพบุกไทย ลงทุนชิ้นส่วนยานยนต์ – ข่าวไทยรัฐออนไลน์.

นักลงทุนจาก 3 เมืองใหญ่ของญี่ปุ่น ร่วมงานซับคอนไทยแลนด์ 2011 หวังเจรจาซื้อชิ้นส่วนในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรของไทยื คาดซื้อขายกว่า 5,000 ล้านบาท…
นายชนินทร์ ขาวจันทร์ ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือหน่วย BUILD สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การจัดงานซับคอนไทยแลนด์ 2011 ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ค. นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งเป็นงานใหญ่กว่า 4 ครั้งที่ผ่านมา เพราะจะมีบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศจำนวนมาก มาร่วมเจรจาซื้อชิ้นส่วนของผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจาก 3 เมืองใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น จากโตเกียว โอซากา และนาโกยา 100 ราย ได้ตอบรับเข้าร่วมงานแล้ว โดยบริษัทจากญี่ปุ่นมีความตั้งใจจะมาเจรจาซื้อชิ้นส่วนในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร
“การจับคู่เจรจาธุรกิจภายในงานจึงน่าจะสูงเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3,000 คู่ และคาดว่าจะมีการซื้อขายชิ้นส่วนเป็นมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท และการจัดงานในครั้งนี้ ยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา คาดว่าในครั้งนี้จะมีการเจรจาจับคู่ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 50 คู่”.
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
- 25 เมษายน 2554, 05:45 น.
13.874246
100.669851
Like this:
ถูกใจ กำลังโหลด...
18 มีนาคม 2554, 05:45 น.
ผ่านทางฮอนด้าลุ้นญี่ปุ่นเร่งกอบกู้วิกฤติ – ข่าวไทยรัฐออนไลน์.

ฮอนด้าลุ้นญี่ปุ่นเร่งกอบกู้วิกฤติ หวั่นชิ้นส่วนนำเข้าสะดุด เร่งกระจายแหล่งผลิต ยันยังไม่มีผลต่อไทยช่วงนี้ แจงสต๊อกชิ้นส่วนมีพอที่จะผลิตได้ถึงช่วงสงกรานต์ …
นายอาซึชิ ฟูจิโมโตะ ประธาน บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในงานเปิดตัวรถยนต์ฮอนด้า บริโอ้ (Hond Brio) อีโคคาร์คันแรกของโลกของฮอนด้า ว่าสำหรับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่มใส่ญี่ปุ่นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะระบุได้ โดยขณะนี้โรงงานฮอนด้าบนเกาะฮอนชูได้ปิดลงชั่วคราว เพราะยังไม่รู้สถานะของบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วน หรือซัพพลายเออร์มีความเสียหายมากน้อยเพียงไร ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ และมีความเป็นห่วงความปลอดภัยของพนักงานและความลำบากในการเดินทาง ส่วนสัปดาห์หน้ายังไม่อาจจะตอบได้ว่าจะเริ่มผลิตได้ ต้องมีการพิจารณาสถานการณ์ในขณะนั้นก่อน แต่ทั้งหมดนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงานเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน ยังต้องดูซัพพลายเออร์ว่ามีความพร้อม รวมทั้งการขนส่งและกำลังการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ขณะนี้ที่ญี่ปุ่นยังมีความพยายามที่จะเร่งฟื้นสภาพให้กลับมาโดยเร็ว
“สำหรับผลกระทบกับการประกอบรถยนต์ฮอนด้าในไทยช่วงนี้ยังไม่มีผล เพราะยังมีสต๊อกชิ้นส่วนพอที่จะผลิตได้ถึงช่วงสงกรานต์ โดยขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะหาชิ้นส่วนจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้มากน้อยเพียงไร แต่ยังมีปัญหาที่บางชิ้นส่วนมีเฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น”
นายฟูจิโมโต กล่าวว่า สำหรับรถยนต์ฮอนด้า บริโอ้ จะเริ่มเปิดตัวเป็นทางการต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 32 ระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-5 เม.ย.นี้ ณ เมืองทองธานี ติดตั้งเครื่องยนต์ i-VTEC 1.2 ลิตร สนนราคา รุ่น S MT เกียร์ธรรมดา 399,900 บาท, รุ่น V MT เกียร์ธรรมดา ราคา 469,500 บาท และรุ่น V AT เกียร์อัตโนมัติ CVT 508,500 บาท ทุกรุ่นมาพร้อมถุงลมหน้าและระบบเบรกเอบีเอส เพิ่มความมั่นใจในการขับขี่ ตั้งเป้าขายในประเทศในปีแรกที่ 40,000 คัน ช่วงแรกยังไม่มีแผนจะส่งออก แต่ระยะต่อไปจะใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้.
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
- 18 มีนาคม 2554, 05:45 น.
13.874246
100.669851
Like this:
ถูกใจ กำลังโหลด...
5 มกราคม 2554, 04:44 น.
ผ่านทางครม.ไฟเขียวลดภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ – ข่าวไทยรัฐออนไลน์.

ครม.อนุมัติตามที่นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ได้เสนอร่างกฎกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ ให้ยกเว้นและลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในประเทศและส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซ ธรรมชาติ…
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามที่นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ได้เสนอร่างกฎกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ ให้ยกเว้นและลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในประเทศและส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) เป็นเชื้อเพลิง โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลทันที เมื่อกระทรวงการคลังออกประกาศให้มีผลบังคับใช้
สำหรับร่างกฎกระทรวงการคลังฉบับแรกมีสาระสำคัญที่จะลดภาษีถังแก๊สซีเอ็นจีหรือเอ็นจีวี ที่ทำจากเหล็กกล้า จากอัตราที่เก็บอยู่ 17% ลงมาเหลือ 0% จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2554 จากนั้นในวันที่ 1 ม.ค. 2555 จะจัดเก็บที่อัตรา 10% พร้อมกันนี้ ได้
เห็นชอบให้ลดภาษีอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซซีเอ็นจี จากที่เก็บอยู่ 35% ลงมาเหลือ 0% จากนั้นในวันที่ 1 ม.ค. 2555 จะจัดเก็บที่อัตรา 10% และลดภาษีนำเข้าเบรก กระปุกเกียร์และชิ้นส่วนกระปุกเกียร์ รวม 12 ประเภท จากเดิมจัดเก็บในอัตรา 30% เหลือ 10% ขณะที่รถเครน และปั้นจั่น จากที่จัดเก็บอยู่ที่ 40% ให้ลดลงมาเหลือ 10%
ส่วนร่างกฎกระทรวงฉบับที่สองมีสาระสำคัญที่จะยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่นำเข้ามาผลิตรถขนส่งขนาดใหญ่ รถบรรทุก รถโดยสารที่มีผู้โดยสารเกิน 10 คนขึ้นไป เป็นเวลา 2 ปี โดยชิ้นส่วนและอุปกรณ์ดังกล่าวต้องเป็นชิ้นส่วนที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศเท่านั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการชิ้นส่วนในประเทศ ส่วนรถแวนและรถปิกอัพจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการภาษีนี้
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศที่สามารถผลิตชิ้นส่วนบางรายการในประเทศได้ จะไม่มีการยกเว้นภาษีให้แต่อย่างใด เช่น หม้อน้ำ ท่อไอเสีย แบตเตอรี่ สายไฟ สีรถยนต์ แหนบ ยาง ดรัมเบรก สตาร์ตเตอร์ กระจกมองหลังภายในรถยนต์ แผงบังแดด และกระจกนิรภัย อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยืนยันว่าแม้จะทำให้สูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีบ้างแต่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้วถือว่าคุ้มค่ากว่า และยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วย.
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
- 5 มกราคม 2554, 04:44 น.
13.874246
100.669851
Like this:
ถูกใจ กำลังโหลด...