ค้าปลีกใหม่ปีวอกชะลอ บิ๊กโปรเจกต์ทะลักปี’60

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

05 มกราคม 2559 เวลา 09:07 น…. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/economy/408299

ค้าปลีกใหม่ปีวอกชะลอ บิ๊กโปรเจกต์ทะลักปี'60

โดย…สุกัญญา สินถิรศักดิ์

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในเชิงซัพพลายใหม่ในปี 2558 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นปีที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดใหม่มากที่สุดในรอบหลายปี ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลอีสต์วิลล์ (รามอินทรา) สเปลล์ (ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต) เซียร์ รังสิต (ปรับโฉมใหม่) เดอะ สตรีท ยังไม่นับรวมพื้นที่ค้าปลีกในลักษณะคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ อีก รวมแล้วในปีที่ผ่านมามีซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่มากถึง 5.6 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) เพิ่มขึ้นจากปี 2557 มากถึง 40%

ขณะที่ซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่ปี 2559 จะลดความร้อนแรงลงจากปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากการสำรวจของฝ่ายวิจัยบริษัทซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) หรือซีบีอาร์อี ที่ระบุว่าปีนี้จะมีซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่ลดลงเหลือ 3 แสน ตร.ม. ซึ่งหากเทียบกับปีที่แล้วลดลงมากถึง 46% เนื่องจากปีนี้ไม่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดใหม่เลย จะมีเพียงศูนย์การค้าขนาดกลางและคอมมูนิตี้มอลล์ เช่น โชว์ ดีซี พระราม 9 ฮาบิโตะ สุขุมวิท 77 ฯลฯ

อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี กล่าวว่า หากวิเคราะห์จากตัวเลขพื้นที่ค้าปลีกใหม่จะเห็นว่าขยายตัวมากติดต่อกันมา 2 ปี (2557-2558) โดยเฉพาะในปีที่แล้วมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดให้บริการหลายแห่งมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ซัพพลายใหม่ปีนี้อาจจะลดลง แต่จะไปบูมรอบใหม่อีกทีในปี 2560 ที่จะมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เปิดให้บริการ ซึ่งล้วนเป็นศูนย์การค้าที่ต้องจับตามอง

ศูนย์การค้าใหม่ในปี 2560 จะเป็นฉากใหม่ของวงการค้าปลีก จากการเปิดหน้าดินใหม่ๆ ทั้งไอคอนสยามย่านเจริญนคร ซึ่งไม่เคยมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่มาก่อน และไอคอนสยามไม่ใช่เป็นเพียงศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นบิ๊กโปรเจกต์ที่มีแม่เหล็กใหม่ๆ และใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น “ทากาชิมายะ” สาขาแรกในประเทศไทย แบงค็อก มอลล์ ก็จะพลิกโฉมย่านบางนาให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของสุขุมวิทตอนปลาย ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ที่จะเติมจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายให้กับโครงการดิ เอ็มดิสทริค ของกลุ่มเดอะมอลล์ หรือศูนย์การค้าแพลทินัม ราชดำริ ซึ่งแม้จะเป็นทำเลหลักของธุรกิจค้าปลีก แต่จะมีผลให้ค้าปลีกย่านราชประสงค์-ราชดำริ กลับมาร้อนระอุรอบใหม่

สถานการณ์ที่กล่าวถึงเป็นเพียงซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่ที่เติบโต แต่ในเชิงกำลังซื้อภายในตัวห้าง อลิวัสสา กล่าวว่า ซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่เติบโตจริง แต่เวิร์กจริงหรือเปล่าคือสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะภาพรวมเศรษฐกิจเวลานี้ยังไม่ดีมาก กำลังซื้อคนลดลง หลายศูนย์การค้าเปิดใหม่ ขายพื้นที่เช่าได้เต็ม มีคนมาเดินเยอะในช่วงเปิดตัวใหม่ แต่จะประสบความสำเร็จระยะยาวหรือไม่ต้องดูอย่างน้อยอีก 1 ปี ว่าสามารถรักษากลุ่มลูกค้าได้หรือไม่ ถ้ารักษาได้ต่อเนื่องก็ดีไปเลย แต่ถ้ารักษาไม่ได้จะต้องทบทวนใหม่

“ศูนย์การค้าขนาดใหญ่บางแห่งที่เปิดบนทำเลใหม่ๆ ก็เข้าไปเติมเต็มสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อน แต่หลายแห่งที่เปิดตัวไปแล้วสักพักไม่เวิร์ก ก็ต้องทบทวน ปรับตัว ซึ่งเศรษฐกิจปีนี้ถ้าการจับจ่ายใช้สอยดี นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ ตลาดค้าปลีกก็จะดีไปด้วย” อลิวัสสา กล่าว

สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปี 2559 ยังเหนื่อยและแข่งขันสูง ถ้าไม่ใช่กลุ่มดั้งเดิมที่เคยทำระยะยาวอาจจะอยู่ลำบาก เพราะมองว่าการจับจ่ายใช้สอยปีนี้ก็ยังไม่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วมากนัก คึกคักต้นเดือนกับปลายเดือน แต่ซัพพลายพื้นที่ค้าปลีกใหม่ๆ ก็ยังเปิดต่อเนื่อง ส่วนคอมมูนตี้มอลล์น่าจะลดลง เพราะขยายตัวมาหลายปีแล้ว

ทั้งนี้ จากการสำรวจของคอลลิเออร์สฯ พบว่า พื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อันได้แก่ ศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์เปิดให้บริการใหม่หลายโครงการในปี 2558 รวมพื้นที่แล้วมากกว่า 491,925 ตร.ม. และอีกเกือบ 2.2 แสน ตร.ม. มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2559 โดยพื้นที่ค้าปลีกส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการในปีที่แล้ว จะเป็นพื้นที่ของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัลที่เปิดให้บริการ 2 โครงการในปีนี้ และมีคอมมูนิตี้มอลล์อีกหลายโครงการที่เปิดให้บริการ

ในขณะที่พื้นที่โครงการค้าปลีกส่วนใหญ่ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปีนี้ จะเป็นโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ เพราะว่าโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2560 หลายโครงการ อัตราการเช่าของพื้นที่ค้าปลีกก็ค่อนข้างสูงเช่นกันคือเกือบ 100% ตั้งแต่ก่อนเปิดให้บริการ อาจจะมีแต่โครงการคอมมูนิตี้มอลล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกเท่านั้นที่มีอัตราการเช่าไม่มากหรืออาจจะลดลง เนื่องจากเจ้าของโครงการขาดประสบการณ์ในการทำงานด้านค้าปลีกทำให้โครงการประสบความสำเร็จแค่ช่วงสั้นๆ จากนั้นก็ลดความนิยมลงไปทำให้ผู้เช่าทยอยปิดร้านไป

ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในประเทศไทยเป็นที่สนใจจากทั้งร้านค้า หรือแบรนด์ไทย และต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะผู้เช่ารายใหม่ๆ เหล่านี้ต้องการขยายตลาดให้ครอบคลุมกำลังซื้อทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว รวมทั้งมีผู้ประกอบการโครงการค้าปลีกต่างประเทศต้องการเปิดโครงการศูนย์การค้าในประเทศ แต่อาจจะกังวลเรื่องของการแข่งขันกับผู้เล่นหลักในตลาดของประเทศไทยที่มีความแข็งแกร่ง และขยายตลาดต่อเนื่องเช่นกัน

ใส่ความเห็น