รู้เขา รู้เรา เรื่องแรงงาน

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเส้นทางเศรษฐี

http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=07049150558&srcday=2015-05-15&search=no

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 21 ฉบับที่ 373

คิดอย่างนักบริหาร

สาโรจน์ มณีรัตน์-เรื่อง

รู้เขา รู้เรา เรื่องแรงงาน

พยายามนั่งอ่านหนังสือ “Insight วางกลยุทธ์ฝ่าวิกฤติแรงงานไทย” ฉบับเดือนมีนาคม 2015 ที่จัดทำโดย Economic Intelligence Center (EIC) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดพิมพ์

เพื่อจะดูข้อมูลเรื่องของวิกฤตแรงงานไทยว่ามีเรื่องไหนบ้างที่ยังเป็นปัญหา? และมีส่วนไหนบ้างที่จะช่วยผู้ประกอบการบ้านเราบ้าง?

เพราะตั้งแต่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในปี 2554 เป็นต้นมา รู้สึกว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะบ่นมากกว่าชื่นชม

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นเศรษฐกิจยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา ไม่ค่อยจะดีขึ้นอย่างที่เราๆ ท่านๆ ต้องการ จึงทำให้ผู้ประกอบการหลายรายปิดกิจการกันไป

โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ

เมื่ออ่านข้อมูล ผมมานั่งพิจารณาทีละหัวข้อๆ จนพบว่า สาเหตุของการขาดแคลนแรงงานที่ EIC สรุปมีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ คือ

หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

สอง การลงทุนเพื่อช่วยในการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา

สาม ทักษะแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ

โดยเฉพาะประเด็นที่สาม เนื่องจากทาง EIC ทำการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจหลายราย จนพบว่า เหตุที่ทักษะแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ เนื่องจากแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปเข้าสู่การทำงานนอกระบบมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ราวประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นถึง 27 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของแรงงานนอกระบบ (แรงงานที่ทำงานของตัวเอง, แรงงานที่ทำงานในครอบครัว และไม่ได้รับค่าจ้าง, แรงงานในกิจการขนาดเล็กที่ไม่เกิน 5 คน) อยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวกับการค้าขาย และร้านอาหาร

ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง ภาคธุรกิจของไทยใช้เวลาค่อนข้างมากกว่าประเทศอื่นๆ ในการคัดเลือกผู้สมัครระดับชำนาญการ ผลตรงนี้ เมื่อดูข้อมูลการสำรวจของธนาคารโลก จึงพบว่า นายจ้างไทยใช้เวลาในการคัดเลือกผู้สมัครระดับชำนาญการถึง 7 สัปดาห์ นานกว่ามาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ใช้เวลาเพียง 5-6 สัปดาห์เท่านั้น

ตรงนี้ไม่เพียงทำให้เสียโอกาสในการคัดเลือกคนมาทำงาน ยังทำให้เสียโอกาสในการรับคนเข้ามาทำงานในตำแหน่งต่างๆ ด้วย

เพราะบางตำแหน่งต้องใช้เวลาฝึกฝนกว่าพนักงานใหม่จะเกิดความชำนาญ

นอกจากนั้น ผลสำรวจของ EIC ยังระบุถึงคุณภาพของแรงงานที่ต่ำกว่าความคาดหวังของนายจ้าง เนื่องจากคุณภาพของบัณฑิตที่จบระดับอุดมศึกษาของไทยลดลงอย่างมาก เห็นได้จากการลดลงของผลตอบแทนสำหรับแรงงานกลุ่มนี้

โดยส่วนต่างระหว่างค่าจ้างของแรงงานปริญญาตรี กับระดับการศึกษาอื่นๆ ลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุน่าจะอ้างอิงจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน โดย World Economic Forum ที่ชี้ชัดว่าคุณภาพการศึกษาของไทยในระดับมหาวิทยาลัยด้อยกว่าคู่แข่งอย่างมาก

โดยปี 2014 มีการพิจารณาด้านคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยโดยรวม พบว่าไทยอยู่อันดับที่ 87 ด้อยกว่ามาเลเซีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นอกจากนั้น คุณภาพการสอนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ

ผลเช่นนี้ เมื่อดูข้อมูลของธนาคารโลกที่ทำการสำรวจปี 2007 พบว่า แรงงานผู้ชำนาญการของไทยมีทักษะต่ำกว่าความคาดหวังของนายจ้าง ทั้งในเรื่องความคิดสร้างสรรค์, การคิดค้นนวัตกรรม, ไอที, ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ยิ่งเฉพาะทางด้านภาษาอังกฤษ, ไอที จากข้อมูลระบุชัดว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ประเทศคู่แข่งในอาเซียน เช่น มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ กลับเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปีนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าแรงงานของไทยจะถูกแรงงานฟิลิปปินส์ที่ใช้ภาษาอังกฤษดีกว่าแย่งงานไป

โดยเฉพาะงานในภาคธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยว

สิ่งสำคัญอีกอย่างของการสำรวจ EIC คือปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจต่างๆ โดยพบว่า ปัจจุบันภาคก่อสร้างมีแนวโน้มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานเชิงปริมาณมากที่สุด ขณะที่ภาคยานยนต์จะประสบปัญหาเชิงคุณภาพมากกว่า

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีโอกาสประสบปัญหาทั้งในเรื่องแรงงานเชิงปริมาณ และแรงงานเชิงคุณภาพ

นอกจากนั้น EIC ยังระบุว่า การสำรวจครั้งนี้พิจารณาจาก 6 ภาคธุรกิจสำคัญ ได้แก่ ยานยนต์, ก่อสร้าง, อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหารและเครื่องดื่ม, ท่องเที่ยว และการค้าส่งค้าปลีก

โดยภาคธุรกิจเหล่านี้มีการจ้างงาน 56 เปอร์เซ็นต์ ของแรงงานทั้งหมดที่อยู่นอกภาคเกษตร เพราะมีการจ้างงานรวมถึง 13.5 ล้านคน ในปี 2013

ดังนั้น ในแง่ความสำคัญทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจเหล่านี้ จึงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมกันถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ทั้งยังสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของการเติบโตในช่วงปี 2008-2012

เพราะฉะนั้น ทางแก้ของการวางกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตแรงงานไทย จึงต้องใช้ 3 แนวทางประกอบกันคือ

หนึ่ง ปรับปรุงวิธีการสรรหา-เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ผู้ประกอบการต้องพยายามดูแลให้ถ้วนถี่ว่าบริษัทมีจำนวนพนักงานใหม่เพียงพอหรือไม่ และควรปรับปรุงวิธีการสรรหา รวมทั้งนำมาตรการต่างๆ มาใช้ เพื่อดึงดูดใจผู้สมัคร และว่าจ้างให้สำเร็จ

สอง เพิ่มผลิตภาพแรงงาน-ในสภาวการณ์ปัจจุบัน หากผู้ประกอบการไม่สามารถสรรหาพนักงานได้เพียงพอ หรือใช้เวลาสรรหานานกว่าที่วางแผนไว้ การทำให้พนักงานที่มีอยู่ มีผลิตภาพสูงสุดเท่าที่จะทำได้ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

สาม เพิ่มอัตราการคงอยู่ในงาน-การดูแลให้พนักงานมีความสุข และทำงานอย่างมุ่งมั่นให้แก่บริษัท เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการลดผลกระทบของการขาดแคลนแรงงาน

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ประกอบการทำทั้งหมดนี้ได้ เชื่อแน่ว่า กลยุทธ์ในการฝ่าวิกฤตแรงงานไทยครั้งนี้ น่าจะประสบความสำเร็จในที่สุด

เพราะจากข้อมูลทั้งหมด ทำให้เรารู้เขา แต่เราจะปิดช่องโหว่เพื่อไม่ให้เขารู้เรา ก็เชื่อแน่ว่าน่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการตัดสินใจของผู้ประกอบการโดยไม่ยาก

โดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจขณะนี้?

ใส่ความเห็น