การช่วยเหลือเต่าเบื้องต้น

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/lady/180914

วันอาทิตย์ ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2558, 06.00 น.

สวัสดีครับ หลายท่านคงเคยเห็นปัญหาที่แพร่หลายกันในสังคมโซเชียล ในเรื่องของเต่าที่ถูกรถทับจนกระดองแตกเต่าหลายตัวเสียชีวิตคาถนน แต่มีหลายตัวที่มีอาการรุนแรงกระดองเสียหาย แม้ไม่ถึงตายแต่ก็อาการปางตาย

หลายคนอยากให้การช่วยเหลือในการพาไปพบสัตวแพทย์ แต่ก็กังวลว่าจะทำอย่างไรจึงจะถูกวิธี ควรขนส่งอย่างไร ควรแก้ไขเบื้องต้นอย่างไร วันนี้ ผมมีข้อพึงปฏิบัติเมื่อพบเต่าที่โดนรถทับ และการนำส่งจนถึงมือสัตวแพทย์ จากรศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ จากศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากครับ

สิ่งที่ต้องคำนึง เมื่อพบเต่าถูกรถทับ มีดังนี้ครับ

– ก่อนที่จะยกเต่าขึ้นมาเพื่อเคลื่อนย้าย ให้หาแผ่นไม้หรือพลาสติกแข็งๆ มารอง (คล้ายเวลาขนย้ายคน) เพราะกระดองที่แตกนั้น หากยกไม่ดี อาจไปทิ่มตัวเต่า ทำให้เต่าเจ็บมาก โดยเฉพาะถ้าหักด้านล่างด้วยจะยิ่งเจ็บมากครับ (เต่าหลายตัวฝากบอกมา)

– ถ้าเต่ามีเลือดออก ให้ทำการห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาด หรือผ้าก๊อซ พันหรือกดแปะไว้ที่แผล โดยกดทิ้งไว้เลย อย่าดึงออกหรือเช็ดเอาก้อนเลือดออก เพราะจะทำให้เลือดออกมาอีกได้ครับ

แต่… ถ้ากระดองหลังแตกมาก จนยุบลงหรือเห็นเนื้อแดงๆ ทะลักออกมามาก เราต้องระวังนะครับ!!! อย่าให้ผ้าที่ห้ามเลือดกดทับแรงไป จะทำให้เต่าหายใจไม่ได้เพราะปอดของเต่าอยู่ด้านหลัง

– ถ้ากระดองแตกมาก ให้ใช้ผ้ารองแล้วใช้เทปพัน เพื่อไม่ให้ขยับเขยื่อนขณะหายใจหรือขณะขนส่งมาก

– ควรให้เต่าป่วย อยู่แห้งๆ ไม่ต้องแช่น้ำ เพราะจะทำให้น้ำเข้าไปในช่องอก ช่องท้อง และติดเชื้อโรค จนทำให้เต่าตายไดั

– ควรให้เต่าป่วยได้รับความอบอุ่นพอสมควร ไม่เอาไว้ในที่เย็นเช่น ห้องแอร์ เพราะเต่าเป็นสัตว์เลือดเย็น ระบบภูมิคุ้มกันจะดีขึ้นในอุณหภูมิที่สูงคือที่อุ่นๆ

– อย่าเสียงดังและรบกวนเต่าป่วยมาก เต่าจะเครียด และทำให้อาการแย่ลง

– ควรหาอะไรป้องกันแสง ไม่ให้ได้รับแสงสว่างมากเกินไป อาจใช้ผ้าคลุมให้ค่อนข้างมืดบางส่วน แต่ต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้เขาพัก และผ่อนคลาย

– อย่าพยายามให้เต่ากินน้ำหรืออาหาร ขอเรียนว่า เต่าสามารถอดอาหารได้เป็นเวลาหลายวัน ดังนั้นจึงไม่ต้องบังคับเต่า เพราะการป้อนที่ผิด จะทำให้เต่าตายได้

– รีบพาไปให้ถึงมือสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด การทิ้งไว้เพื่อลุ้นว่าจะดีขึ้นหรือหายเองนั้น อาจทำให้แมลงมาไข่ที่แผล ทำให้มีหนอนขึ้น ติดเชื้อ เลือดออกไม่หยุด และตายอย่างทรมานได้

– หากพาไปพบสัตวแพทย์เฉพาะ (ทางด้านเต่า) ไม่ได้ให้พาไปหาสัตวแพทย์ที่รักษาสุนัข-แมวก็ได้ แล้วค่อยโทรศัพท์หาหมอเต่าของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-2518887 หรือหมอเต่าที่รู้จัก เพื่อให้หมอกับหมอ ได้คุยสื่อสารกัน และแนะนำวิธีการรักษาได้ เพื่อช่วยในเบื้องต้น ในการรักษาชีวิตเต่าให้รอดก่อนครับ

อาจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ใส่ความเห็น