เจาะต้นทุน 3 ยักษ์ใหญ่คมนาคม เช็กที่มาตั๋ว 1 ใบคิดจาก..?

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

http://www.thairath.co.th/content/527038

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 28 ก.ย. 2558 05:30

 

ระบบขนส่งมวลชน ถือเป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่มีความสำคัญต่อทุกคน ยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว อาทิ ปีใหม่ สงกรานต์ ประชาชนจำนวนมากจะเดินทางกลับภูมิลำเนามากกว่าปกติ ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว จึงต้องอาศัยรถไฟ รถทัวร์ รถตู้ หรือเครื่องบิน แล้วแต่ความสะดวกและทุนทรัพย์ของผู้โดยสาร แต่วิธีไหนจะคุ้มค่า คุ้มเวลาบ้าง วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะเจาะไปถึงต้นทุนของค่าโดยสารชนิดต่าง ๆ แบบละเอียดยิบ!

ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง เจาะต้นทุนรถไฟ ม้าเหล็กไทยทำไมขาดทุนยับ?

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลการกำหนดราคาค่าตั๋วโดยสารว่า การกำหนดราคาค่าตั๋วจะคิดจากต้นทุนค่าใช้จ่าย ราคาคู่แข่งขัน และนโยบายรัฐบาล สำหรับต้นทุนการเดินรถไฟในแต่ละเที่ยวนั้น จะประกอบไปด้วย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น, ค่าซ่อมบำรุงทาง อาณัติสัญญาณ , ค่าซ่อมบำรุงรถจักรและรถโดยสาร, ค่าใช้จ่ายพนักงานขบวนรถ, ค่าใช้สอยประจำสถานี, ค่าใช้สอยขบวนรถ เช่น ค่าทำความสะอาด ค่าชดใช้ค่าเสียหายและรถตกราง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีนโยบายให้การรถไฟฯ เป็นบริการสาธารณะ ทำให้ราคาค่าโดยสารในปัจจุบันต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และต้องไปคำนึงในเรื่องของราคายานพาหนะประเภทอื่นด้วย พร้อมทั้งเปรียบเทียบ เพื่อที่จะคำนวณราคาตั๋วรถไฟไม่ให้สูงมากนัก ไม่ให้เป็นภาระของผู้ใช้บริการ

รัฐบาลมีนโยบายให้รถไฟเป็นบริการสาธารณะ

หลักเกณฑ์การปรับค่าโดยสารรถไฟ ตั้งแต่ปี 2539

ระเบียบการบรรทุกส่งผู้โดยสารและสัมภาระ

การรถไฟฯ มีการจัดการเดินขบวนรถหลายประเภท เช่น ขบวนรถด่วนพิเศษ, ขบวนรถด่วน และขบวนรถเร็ว จะมีการพ่วงชนิดของรถโดยสารที่แตกต่างกัน เช่น รถนั่ง, รถนั่งปรับเอนนอน, รถนั่งและนอนชั้น 2, รถนั่งและนอนชั้น 1 และ 2 ปรับอากาศ ซึ่งเป็นเหตุให้ต้นทุนรถโดยสารแต่ละประเภทแตกต่างกัน จึงทำให้มีราคาที่นั่งแตกต่างกัน

เอกสารค่าธรรมเนียมของขบวนรถไฟประเภทต่างๆ

เอกสารค่าธรรมเนียมของขบวนรถไฟประเภทต่างๆ

การรถไฟฯ จึงจำเป็นต้องหาประโยชน์จากที่ดิน เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดทุน

นอกจากนี้ การกำหนดค่าตั๋วโดยสารยังมีเหตุผลอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่
1. ความสะดวกสบายในการโดยสาร
2. รูปแบบการให้บริการบนขบวนรถในแต่ละประเภทขบวนรถและชนิดรถ เช่น มีพนักงานให้บริการในรถนั่งและนอนปรับอากาศชั้น 2
3. จำนวนที่นั่งและความหนาแน่นของที่นั่งในแต่ละชนิดของรถโดยสาร เช่น รถนั่งธรรมดาชั้น 3 (บชส.) จะมีที่นั่ง 76 ที่ต่อตู้, รถนั่งและนอนปรับอากาศชั้น 2 (บนท.ป.) จะมีที่นั่ง 40 ที่ต่อตู้
4. ต้นทุนของขบวนรถธรรมดา รถเร็วรถด่วน รถด่วนพิเศษ แตกต่างกันตามตารางรายได้และต้นทุนของขบวนรถโดยสารประจำปี 2557

ขบวนรถไฟแต่ละประเภทมีความสะดวกสบายไม่เท่ากัน ราคาตั๋วจึงต่างกัน

ตารางแสดงรายได้และต้นทุนของขบวนรถโดยสาร ประจำปี 2557

5. ที่นั่งแต่ละที่นั่งจะได้กำไรที่นั่งละกี่บาท ทั้งประเภทรถธรรมดา รถด่วน รถด่วนพิเศษ รถนอน จากตารางแสดงรายได้และต้นทุนของขบวนรถโดยสาร ประจำปี 2557 จะเห็นได้ว่า ขบวนรถแต่ละประเภทโดยส่วนใหญ่ขาดทุน เนื่องจากสภาพรถจักรไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้การพ่วงรถโดยสารไม่เป็นไปตามแผนทำให้รายได้เฉลี่ยต่ำกว่าจุดคุ้มทุน เช่น ขบวนรถด่วน ควรพ่วงรถโดยสารจำนวน 18 คันต่อขบวน แต่พ่วงได้จริงจำนวน 11 คันต่อขบวน

“สมมติต้นทุนทุกอย่าง 100 บาท จะต้องบวกเพิ่มเพื่อเป็นกำไรอย่างน้อยๆ 10 บาท แต่ว่ารถไฟไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อคิดไปแล้ว 100 บาท อาจจะต้องคิดค่าตั๋วได้แค่ 50 บาท เพราะต้องไปเทียบเคียงกับค่าพาหนะประเภทอื่นๆ ด้วย”

การรถไฟฯ นำเงินจากส่วนไหนมาใช้จ่ายในส่วนที่ขาดทุน ผู้ว่าการฯ รฟท. กล่าวว่า “ต้องดูเรื่องของการจัดประโยชน์เรื่องที่ดินที่มีอยู่เอามาชดเชยส่วนต่างที่ขาดทุน เพราะว่ารัฐบาลมีนโยบายให้เป็นบริการสาธารณะ ก็คงไปคำนึงถึงตัวเลขกำไรมากไม่ได้”

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟฯ

ค่าโดยสารรถไฟต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง
เหินฟ้า โปรแรง รวดเร็ว เจาะต้นทุนสายการบินโลว์คอร์ส เหตุไฉนทำไมตั๋วถูก?

ทางด้าน นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยถึงการคำนวณค่าตั๋วเครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชียว่า ขึ้นอยู่กับต้นทุนและความต้องการเดินทางในแต่ละเส้นทาง ต้นทุนเป็นตัวกำหนดรายได้ขั้นต่ำในแต่ละเที่ยวบินที่จะต้องทำให้ได้ เพื่อทำให้เกิดผลกำไรในแง่ของธุรกิจ ส่วนความต้องการในการเดินทางนั้น จะเป็นตัวกำหนดระดับราคาต่ำสูงหรือปริมาณของที่นั่งในแต่ละระดับราคาต่างๆ ที่จะจำหน่ายในเที่ยวบินนั้นๆ ซึ่งในแต่ละเส้นทางบิน แต่ละเที่ยวบินในแต่ละวันเดินทาง ย่อมมีความต้องการในการเดินทางไม่เท่ากัน เช่น เที่ยวบินในวันหยุดเส้นทางที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ย่อมมีความต้องการสูงกว่าวันธรรมดา หรือเที่ยวบินรุ่งเช้ากับเที่ยวบินช่วงค่ำในวันทำงานในเส้นทางที่เป็นจุดหมายเชิงธุรกิจ เมืองการค้า ย่อมมีความต้องการสูงกว่าในเที่ยวบินช่วงกลางวัน

เมื่อเที่ยวบินมีความต้องการเดินทางสูง ย่อมทำให้มีโอกาสที่จะทำราคาได้สูง อาจมีที่นั่งในระดับราคาต่ำๆ จำนวนน้อยกว่าแล้วไล่ระดับราคาให้สูงขึ้น ในปริมาณที่นั่งที่มากขึ้น ตามกลไกตลาด ส่วนในเที่ยวบินที่มีความต้องการต่ำก็ต้องมีการกำหนดที่นั่งที่มีราคาต่ำหรือราคาโปรโมชั่นต่างๆ ในจำนวนที่มากกว่า เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนมาเลือกเดินทาง รีบสำรองที่นั่งล่วงหน้า เพื่อเติมที่นั่งที่ว่างเพื่อสร้าง load factor และเมื่อใกล้วันเดินทางที่นั่งมีการสำรองมานานแล้ว มีความต้องการเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาก็จะขยับไปในระดับที่สูงขึ้น

ค่าตั๋วเครื่องบิน คำนึงจากต้นทุนและความต้องการในการเดินทาง

สำหรับการคำนวณค่าตั๋วของสายการบินราคาประหยัดชั้นนำทั่วโลก จะมีวิธีการกำหนดราคาแบบขั้นราคา เช่น ราคา A เป็นราคาที่ถูกที่สุด จะมีอยู่ 20% ของที่นั่งทั้งหมดในเที่ยวบินนั้น เมื่อมีการสำรองที่นั่งเข้ามาซื้อล่วงหน้า ราคาก็จะถูกขายไป และขยับขึ้นมาในอีกขั้นราคา เป็นการคำนวณของแต่ละเส้นทาง นั่นทำให้การวางแผนสำรองที่นั่งล่วงหน้านานๆ มีโอกาสที่ได้ราคาที่ถูกกว่ามากๆ เพราะหากสำรองที่นั่งในวันเดินทางหรือในช่วงที่ใกล้เต็มก็มีโอกาสสูงที่ราคาจะขยับขึ้นมา

ตอบข้อสงสัย โลว์คอร์สจัดโปรแรง เอากำไรจากไหน?

หลายคนสงสัยทำไมโปรโมชั่นสายการบินโลว์คอร์สถึงถูกขนาดนี้ ซีอีโอแอร์เอเชีย ให้คำตอบว่า สำหรับไทยแอร์เอเชีย มีฝูงบินแบบเดียวคือแอร์บัส เอ320 การบริหารจัดการ ฝึกอบรมพนักงานบริการ และดูแลรักษาเครื่องบินก็จะง่ายและเฉพาะเจาะจง ต้นทุนการซื้อเครื่องบินใหม่ก็สั่งซื้อพร้อมกลุ่มสายการบินเเอร์เอเชีย ในประเทศต่างๆ เป็นลอตใหญ่มาก ทำให้ได้ราคาที่ดี การมีเวลา Turnaround Time ที่สนามบินก็ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 25 นาที ก่อนให้บริการเที่ยวบินถัดไป ทำให้ไม่ต้องเสียค่าลานจอดแพง สิ่งเหล่านี้คือการคิดเเบบ Low cost ที่ทำให้เรามีต้นทุนที่ถูกกว่าคู่แข่งรายอื่น และสามารถใช้เป็นจุดเด่นในการนำเสนอตั๋วราคาประหยัด กับผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง

เที่ยวบินที่มีความต้องการต่ำก็ต้องมีการกำหนดที่นั่งที่มีราคาต่ำ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนมาเลือกเดินทาง

ตั๋วเครื่องบินในแต่ละเที่ยวบิน เมื่อเฉลี่ยจากทุกที่นั่ง สายการบินยังมีกำไรที่ครอบคลุมต้นทุนเสมอ สำหรับราคาโปรโมชั่นตั๋วถูกที่นำมาเสนอขาย เช่น Big Sale 0 บาท โปรโมชั่นเริ่มต้น 399 หรือ 599 บาทต่างๆ เป็นแนวคิดที่แบ่งจากที่นั่งที่ประเมินแล้วว่าสามารถนำมาจัดโปรโมชั่นได้ เช่น ในจำนวน 1 เที่ยวบิน ย่อมมีที่นั่งว่าง จึงคิดว่านำที่นั่งว่างนั้นมาจัดโปรโมชั่นจะเกิดประโยชน์กว่า ให้คนได้ลองใช้บริการในราคาที่ถูกมากๆ สร้างโอกาสในการเดินทางใหม่ๆ สำหรับคนทุกกลุ่ม เมื่อเขาถูกใจก็มีโอกาสสูงที่เขาจะกลับมาหรือแนะนำคนอื่นมาใช้บริการอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละเที่ยวบินที่จัดโปรโมชั่นราคาถูกจะมีที่นั่งจำนวนจำกัด โดยจะแจ้งจำนวนที่นั่งโปรโมชั่นไว้ก่อน และจะจัดสรรวางแผนจำนวนโควตาตั๋วโปรโมชั่นให้สอดคล้องกับเส้นทาง ยอดสำรองที่นั่งล่วงหน้า วันและเวลา เช่น บินวันธรรมดาก็มีโอกาสได้ที่นั่งโปรโมชั่นมากกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้การจัดโปรโมชั่นราคาถูกจะไม่ทำให้สายการบินขาดทุน นอกจากนี้ สายการบินยังสามารถทำราคาได้จากที่นั่งอื่นๆ ในเที่ยวบินที่ไม่ได้เป็นโปรโมชั่น จึงมั่นใจได้ว่าทั้งลูกค้าและสายการบินจะได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย
ขายตั๋วถูก ยอมกำไรน้อย แต่ได้ผู้โดยสารเยอะ!

นายธรรศพลฐ์ อธิบายต่อว่า ต้นทุนและกำไรในแต่ละเที่ยวบินหรือเส้นทางมีความแตกต่างกัน เช่น แต่ละสนามบินก็มีค่าให้บริการกับสายการบินที่แตกต่างกัน ระยะเวลาการบินในแต่ละเส้นทางก็แตกต่างกันทำให้ต้นทุนไม่เท่ากัน รวมทั้งสอดคล้องกับการแข่งขันในตลาด และความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละเที่ยว ทำให้คำนวณราคาและมีกำไรแตกต่างกัน

สำหรับการคิดกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์มีความแตกต่างกันในข้อจำกัดของแต่ละเส้นทาง แต่จะมีวิธีการคำนวณต้นทุนและราคาขายที่เป็นมาตรฐานและให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ อาจไม่ได้กำไรแต่ละที่นั่งมาก แต่มีจำนวนผู้โดยสารและมีความถี่ในการบินที่สูง ทำให้ยังมีกำไรที่ดีและเหมาะสม

เที่ยวบินที่จัดโปรโมชั่นราคาถูกจะมีที่นั่งจำนวนจำกัด
น้ำมันแพง ผู้โดยสารหาย..เจาะต้นทุนรถทัวร์ คำนวณอย่างไรทำไมราคาเท่าเครื่องบิน?

ขณะที่ นางสุจินดา เชิดชัย หรือ ‘เจ๊เกียว’ เจ้าแม่รถทัวร์แห่งอาณาจักรเชิดชัย ให้ข้อมูลถึงปัจจัยที่นำมาคำนวณเป็นราคาตั๋วโดยสารว่า ต้นทุนในการคิดราคาตั๋วรถทัวร์ จะประกอบไปด้วย ค่าน้ำมัน ถัวเฉลี่ยไปโคราชใช้ 170 ลิตร, ค่าบริการบนรถ เช่น น้ำ ขนม คนละ 40 บาท, ค่าพนักงาน 3 คน ต่อรถทัวร์ 1 คัน (พนักงานขับรถ ไม่มีเงินเดือน แต่ได้เป็นเปอร์เซ็นต์จากคนขึ้นลง อย่างน้อยๆ 500 บาทต่อวัน เด็กรถและพนักงานต้อนรับ ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท), ค่าพนักงานในท่ารถ พนักงานยกกระเป๋า จัดที่นั่ง ต้อนรับ อีกประมาณ 8 คน ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท หากจบปริญญาตรีได้เงินเดือน 15,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่ได้คิดลงไปในราคาตั๋ว จะประกอบไปด้วย ค่าซื้อรถทัวร์ 8 ล้อ ราคา 6 ล้านกว่าบาท/คัน รถทัวร์ 6 ล้อ 4 ล้านกว่าบาท/คัน และรถบางประเภท 3 ล้านกว่าบาท/คัน แล้วแต่ยี่ห้อ และยังมีค่าสัมปทานรถ มีตั้งแต่ผู้ประกอบการหนึ่งคนมีรถทัวร์ 1 คัน ถึงผู้ประกอบการหนึ่งคนมีรถทัวร์ 700 คัน รวมทั้งยังมีค่าซ่อมบำรุงรถที่ไม่ได้คิดรวมกับค่าตั๋วด้วย

ใช้ค่าน้ำมันเป็นเกณฑ์ในการปรับเพิ่ม-ลด ราคาตั๋วรถทัวร์

ค่าซื้อรถทัวร์และค่าซ่อมบำรุง ไม่รวมในการคิดราคาค่าตั๋ว

เจ๊เกียว อธิบายว่า การปรับขึ้นหรือลดราคาตั๋วรถทัวร์นั้น ทางบริษัทจะใช้ค่าน้ำมันเป็นเกณฑ์ในการปรับเพิ่ม-ลด ราคาตั๋ว แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ค่าน้ำมันเป็นเกณฑ์แล้ว เนื่องจากว่าผู้โดยสารน้อยลง โดยหันไปเลือกใช้บริการรถตู้หรือเครื่องบินโลว์คอร์ส ที่รวดเร็วและมีราคาแทบจะเท่ากับราคารถทัวร์หรือถูกกว่าด้วยซ้ำ เมื่อไม่มีผู้โดยสาร ผู้ประกอบการก็ต้องอยู่ไปแบบเรื่อยๆ รอขายธุรกิจ

เมื่อถามว่าตั๋ว 1 ใบ เมื่อหักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรประมาณเท่าไหร่ เจ้าแม่รถทัวร์ เผยว่า ไม่มีกำไร มีแต่ขาดทุน เพราะรถวิ่งเที่ยวหนึ่งประมาณ 5-20 คนเท่านั้น ส่วนจะต้องกำหนดราคาค่าตั๋วบวกไปอีกกี่บาทเพื่อเป็นกำไรของกิจการนั้น ตอบไม่ได้ เพราะแล้วแต่คน ตัวปัจจัยแท้ๆ คือน้ำมัน ที่วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดใดๆ ก็แล้วแต่ ผู้โดยสารมากหรือน้อยน้ำมันต้องใช้เท่าเดิม ฉะนั้น ราคาตั๋วจึงเป็นสิ่งที่ลดไม่ได้

ผู้โดยสารลดลง เพราะไปเลือกใช้บริการอื่น

สุจินดา เชิดชัย หรือ ‘เจ๊เกียว’ เจ้าแม่รถทัวร์แห่งอาณาจักรเชิดชัย

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนผู้โดยสารเยอะ รถวิ่งหลายเที่ยว หลังจากหักค่าต้นทุนต่างๆ แล้วจะเหลือกำไรเท่าไหร่ไม่เคยคิด คิดแต่ว่าทำไปเรื่อยๆ ใช้ไปเรื่อยๆ คำนวณตามต้นทุนไม่ได้มองถึงกำไรว่าตั๋วใบหนึ่งได้กำไรเท่าไหร่มันคิดยาก คิดต้นทุนไม่ได้เลย เพราะคนขึ้นไม่แน่นอน รถหนึ่งคันกำหนดเที่ยวออกไว้ 40 คน แต่มีผู้โดยสารไปแค่ 8 คน ก็ขาดทุน จะเพิ่มราคาตั๋วก็ไม่ได้ ราคาขนาดนี้ยังแพงกว่าโลว์คอร์ส ราคาของการเดินรถโดยสารกระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำหนดมาให้เป็นราคาบังคับ คิดเพิ่มเองไม่ได้”

ปัจจุบัน ระบบขนส่งมวลชนไทยมีการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่สิ่งที่ควรคำนึงที่สุด คือ ความปลอดภัยของผู้โดยสาร เนื่องด้วยระยะทางในการเดินทางหลายร้อยกิโลเมตร หัวใจหลักของระบบขนส่งมวลชน จึงเป็นเรื่องความปลอดภัยเหนือสิ่งอื่นใด.

 

ใส่ความเห็น