ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20140616/186541.html
จับตาคาซัคสถานในฐานะตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์มหาอำนาจ : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น
ประเทศที่มิได้เป็นมหาอำนาจหรืออยากแสดงศักย์แห่งอำนาจนั้น มีหลายประเทศทีเดียวครับ ที่อยากเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ระดับภูมิภาค ในอาเซียนเราก็มีหลายชาติ ยิ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศยักษ์ใหญ่ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ยิ่งอยากเข้าไปมีบทบาท แต่การที่จะได้แสดงฝีมือหรือจะเป็นแค่เบี้ยตัวลีบระหว่างช้างขนาบนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกึ๋นของผู้นำประเทศ ในกรณีนี้ไทยเคยมีศักยภาพประสานได้ทั่วสิบทิศ แต่ในวันนี้ลองดูคาซัคสถานที่กำลังก้าวขึ้นมาครับ
จริงอยู่ คาซัคสถานปักหลักในภูมิภาคเอเชียกลางที่คนให้ความสนใจน้อยมากกว่าภูมิภาคอื่น มีประธานาธิบดีที่คงปกครองประเทศไปจนตลอดชีวิตเหมือนที่เคยปกครองมาตั้งแต่แยกจากโซเวียตปี 2534 ทุกวันนี้ก็ยังเหนียวแน่นกับรัสเซียอยู่ และเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ความที่ประเทศนี้มีขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างรัสเซียกับจีนและคุมเส้นทางน้ำมันส่วนหนึ่งในทะเลสาบแคสเปียนได้ รัฐบาลอัสตานาก็อาจเป็นกุญแจไขปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการเป็นสะพานให้ทั้งจีน รัสเซีย ยุโรป และสหรัฐ จะรวมตะวันออกกลางกับอินเดียไปด้วยก็ได้
ชาวคาซัคเป็นมุสลิมสายกลางเหมือนกับมุสลิมในยุโรปตะวันออก ทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่นเป็นวิสัย พวกเขาไม่รอให้โลกบีบลัทธิเผด็จการแบบที่อื่น แต่ค่อยๆ ปรับพัฒนาประชาธิปไตยด้วยตนเอง จนถึงวันนี้คาซัคสถานมีความเท่าเทียมทางสังคมมากขึ้น ดัชนีทุกอย่างดีขึ้นหมด การมุ่งหน้าเศรษฐกิจแบบระบบตลาดและทรัพยากรมหาศาลทำให้ประเทศนี้น่าลงทุนและเกิดความเจริญในเมืองต่างๆ ที่กระจายตัวออกไป อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพที่ยังไม่แน่นอนของภูมิภาคทำให้พวกเขาต้องรักษาอำนาจทหารเอาไว้ น่าจะคล้ายกับพม่าเวลานี้ ขณะที่ต้องแสวงหาความสัมพันธ์อันดีกับชาติเพื่อนบ้านรอบพรมแดนที่มีมากเป็นอันดับสองของโลกคือ กว่า 8,000 กม.ด้วย
การทูตที่ดีเยี่ยมเป็นตัวลดปัญหาด้านความมั่นคงได้ ปัญหาใหญ่สุดคือ ภัยก่อการร้ายทางใต้ คือในอัฟกานิสถานนั่นเอง ในการนี้คาซัคสถานและเพื่อนบ้านในเอเชียกลางร่วมจับมือกับรัสเซียและจีนตั้งกลุ่มองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2539 ได้ผลดี ไม่เพียงแต่ด้านการสกัดกั้นภัยคุกคาม ได้นำรัสเซียกับจีนมาใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น กับรัสเซียนั้น การที่คาซัคสถานเข้าร่วมกับเบลารุสจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียขึ้นมาในปีนี้นั้น นับเป็นการนำประเทศเข้าใกล้ชิดกับเครมลินมากขึ้นในเวลาเดียวกับที่รัสเซียปีนเกลียวกับยุโรปเรื่องยูเครน แต่คาซัคสถานก็อาจช่วยให้ยุโรปและรัสเซียดีกัน ด้วยการสนับสนุนแนวทางการคุยกันสี่ฝ่ายระหว่างยูเครน รัสเซีย สหรัฐ และอียู สำหรับความร่วมมือกับจีนนั้น ถือว่าดีเยี่ยม โดยเฉพาะด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
ที่หนักใจรัฐบาลอัสตานา นอกจากเรื่องการก่อการร้าย ก็คือปัญหาทะเลสาบแคสเปียน ที่มีไฮโดรคาร์บอนมาก จนทำให้หลายชาติมีปัญหากัน ทั้งเรื่องการนำขึ้นมาใช้และลำเลียงผ่านแดน คาซัคสถานก็มักใช้รัสเซียเป็นแบ็กหนุนหลังเจรจากับอาเซอร์ไบจาน อิหร่าน หรือเติร์กเมนิสถาน เป็นไปได้ว่า ถ้าประเด็นนี้สำเร็จ คาซัคสถานจะยิ่งรวยและมีอิทธิพลในภูมิภาคมากขึ้นอีก และอาจขยายอิทธิพลในเอเชียด้วยการขอเข้าเป็นสมาชิกองค์กรมหาสมุทรอินเดียและคู่เจรจากับอาเซียนต่อไป