แสตมป์ร้อยปี รพ.จุฬาฯ รำลึกผู้พระราชทานกำเนิด

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย-ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaipost.net/x-cite/140514/90416

ศิลปวัฒนธรรม
Wednesday, 14 May, 2014 – 00:00
.
เมื่อ 100 ปีก่อน โรงพยาบาลที่มุ่งให้บริการรักษาพยาบาลทั้งผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ ทั้งในยามสงครามและยามปกติ ยึดมั่นให้ความช่วยเหลือโดยไม่เลือกชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง เกิดขึ้นโดยพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลเป็นปฐมฤกษ์ สร้างความปลื้มปีติให้กับประชาชนและแพทย์-พยาบาลอย่างใหญ่หลวง
ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยมากมายมีชีวิตรอดไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า โดยบรรเทาความเจ็บปวดถูกต้องตามวิทยาศาสตร์ด้วยการพึ่งพาโรงพยาบาลแห่งนี้ จนปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็ยังสืบสานพระราชปณิธานผู้พระราชทานกำเนิด
ปีนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีอายุครบ 100 ปีแห่งการก่อตั้ง ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ การหันมาทบทวนความทรงจำเมื่อ 100 ปีก่อนจึงเกิดขึ้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รำลึกวันสถาปนาจัดสร้างตราไปรษณียากร “๑๐๐ ปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” ประชาชนทั้งในและต่างประเทศร่วมจดจำถึงโรงพยาบาลและสะสมกันได้ จำนวนพิมพ์ 500,000 ดวง ชนิดพิเศษมีจำนวน 5,000 ชุด ขณะนี้มีผู้สนใจยอดจองทะลุ 2,000 ชุดแล้ว
รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงสมัยพระมหาธีรราชเจ้าทรงมีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่นั้นมีพระราชดำริจัดตั้งสภากาชาด ขณะนั้นเรียกว่า “สภาอุณาโลมแดง” สำหรับรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่การก่อตั้งไม่แล้วเสร็จ พระมหาธีรราชเจ้า พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคทรัพย์ร่วมกันสมทบทุนของสภากาชาดจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น พระกรุณาพระราชทานนามตามพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมชนกนาถว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เสด็จฯ ทรงเปิดโรงพยาบาลวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2457 ให้บริการรักษาผู้ป่วยไข้จนถึงวันนี้ที่โรงพยาบาลมีความก้าวหน้าอย่างมากด้านการแพทย์ ทั้งยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมนิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน นับได้ว่าเป็นศูนย์ความดีเด่นทางวิทยาการ
“วาระครบ 100 ปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมพิเศษตลอดปี อัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระปิยมหาราช ผู้พระราชทานกำเนิดสภากาชาดไทย และพระมหาธีรราชเจ้า ผู้พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดทำเป็นตราไปรษณียากร รวมทั้งเตรียมจัดงาน “ศตวรรษ อัศจรรย์ 100 ปี โรงพยาบาลจุฬาฯ ในวันที่ 29-31 พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ พร้อมนิทรรศการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตลอด 100ปี ก่อนหน้านี้จัดทำเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรำลึกวันสถาปนาด้วย” ผอ.รพ.จุฬาฯ ชวนสะสมแสตมป์และร่วมงานวันสถาปนาโรงพยาบาล
ด้าน วิบูลย์ เสรีชัยพร ผู้จัดการฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผยถึงคุณค่าตราไปรษณียากรว่า เปรียบเสมือนการบันทึกเรื่องราวของชาติไว้บนตราไปรษณียากร เพื่อเล่าขานให้ประชาชนรับรู้ ทุกครั้งของการจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึกของหน่วยงาน สถาบันนั้นต้องสร้างคุณูปการให้กับชาติต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 50 ปี ครั้งนี้ไปรษณีย์ไทยมีส่วนรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขชาวไทย สร้างโรงพยาบาลขึ้น
“ภาพบนตราไปรษณียากร พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 5 เคียงคู่รัชกาลที่ 6 สถิตเหนือภาพลายเส้นตึกอำนวยการ ที่บรรจงถอดแบบจากอาคารที่ทำการหลังแรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประกอบตราสัญลักษณ์ 100 ปี พิมพ์แบบลิโธกราฟฟี มีหลายสี ออกแบบโดยธเนศ พลไชยวงศ์ ทุกวันนี้ตึกอำนวยการก็บูรณะซ่อมแซมและอนุรักษ์เอาไว้ มีเรื่องราวน่าสนใจมาก” วิบูลย์เล่าให้ฟัง
และแน่นอน ตราไปรษณียากรจะออกวางจำหน่ายวันแรกในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ โดยมีเครือข่ายไปรษณีย์ไทยกว่า 1,300 แห่งทั่งประเทศช่วยอำนวยความสะดวกในการจำหน่ายทั่วไทย ส่วนภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสภากาชาดไทย นอกจากสแตมป์แล้ว ที่ผ่านมายังจัดส่งถุงบรรจุโลหิตและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ส่วนประกอบโลหิต อุปกรณ์ตรวจหมู่โลหิต หลอดบรรจุโลหิตให้กับสภากาชาดไทยอีกด้วย.

ใส่ความเห็น