ดินเค็มอีสานเหลือ 11.5 ล้านไร่ แก้ได้เร็วถ้าไม่เจียดงบกินเปอร์เซ็นต์

http://www.thairath.co.th/content/edu/356542

  • 12 กรกฎาคม 2556, 05:00 น.

Pic_356542

สภาพเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

“นา 8 ไร่ ปลูกข้าวนาปี อย่างเก่งได้แค่ 3 ตัน แต่พอได้ไปเรียนวิธีแก้ปัญหาดินเค็มที่ ต.เมืองเพีย จ.ขอนแก่น แล้วนำมาใช้ ขุดสระเก็บน้ำฝนไว้เลี้ยงปลา ปลูกหญ้าแฝก หญ้าดิกซี่ กระถินณรงค์ และยูคาลิปตัส รอบแปลงนา ผ่านไปแค่ปีเดียว ได้ข้าวเพิ่มมาเป็น 5 ตัน มันช่วยให้ดินจืดลงได้จริง ปีหน้าน่าจะได้ข้าวเพิ่มอีก”

นายบรรทม จันขุนทด หมอดินอาสาประจำ ต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พูดถึงการนำวิธีการแก้ปัญหาดินเค็มของกรมพัฒนาที่ดิน จับมือกับบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ในเครือเอสซีจี เปเปอร์ ดำเนินโครงการลงพื้นที่ดินเค็มภาคอีสาน โดยการแจกต้นยูคาลิปตัส สายพันธุ์ H4 พัฒนาโดยศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ให้ทนดินเค็มได้ระดับหนึ่ง มาทดลองปลูกบนคันนารอบพื้นที่นา…ดินเค็มได้เจือจางลง

เป็นตัวอย่างเล็กๆของความสำเร็จในการแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่เกษตรกรรมของภาคอีสาน 107 ล้านไร่ แต่มีดินเค็ม 18 ล้านไร่ เลยเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้คนอีสานมีรายได้น้อยและยากจน

สภาพปัจจุบันสภาพปัจจุบัน

นายอนุสรณ์ จันทรโรจน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน บอกว่า จากการลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้หลายๆด้าน ทั้งวิธีการวิศวกรรม ขุดบ่อ ขุดสระ สร้างคูคลองรอบพื้นที่ เพื่อให้น้ำไปละลายเกลือบนผิวดินและกดทับเกลือใต้ดินไม่ให้ขึ้นมากระจายตัวบนพื้นดิน วิธีทางชีววิทยา ปลูกป่า ปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วที่ทนเค็ม เพื่อหยุดการแพร่กระจายของดินเค็ม เนื่องจากพืชเหล่านี้มีรากลึกสามารถดูดความเค็มให้เจือจางจนสามารถปลูกพืชได้

“10 ปีที่ผ่านมา เราได้ช่วยลดพื้นที่ดินเค็มในอีสานจาก 18 ล้านไร่ เหลือ 11.5 ล้านไร่ และจากการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่ดินเค็มในลุ่มน้ำโขง ชี มูล มาตั้งแต่ปี 2543 ผ่านมาถึงวันนี้ 13 ปี ความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่งช่วยให้เกษตรกรปลูกพืชได้มากขึ้น แต่การทำนาเรื่องน้ำเป็นสิ่งสำคัญ ภาคอีสานยังขาดแคลนน้ำต้องอาศัยฝน จะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องใช้เทค-โนโลยีการผันน้ำจากแม่น้ำต่างๆมาแก้ปัญหา ดินเค็มถึงจะหมดไปอย่างยั่งยืน”

นายพิสุทธิ์ ศาลากิจ ผอ.สำนักพัฒนาที่ดินเขต 5 บอกว่า จากประสบการณ์ 20 ปี ที่ได้แก้ปัญหาความแห้งแล้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ในพื้นที่ 5 จังหวัด จนประสบความสำเร็จให้มีความอุดมสมบูรณ์ในปัจจุบัน หมดงบประมาณไปร่วมหมื่นล้านบาท และหากนำแผนเดียวกันนี้มาแก้ปัญหาดินเค็มอีก 11.5 ล้านไร่ เชื่อว่าจะแก้ได้ในเวลาและงบประมาณที่เท่ากัน

วันนี้เกษตรกรอีสานได้แต่หวังว่า กรมพัฒนาที่ดินจะยังคงเดินหน้าแก้ดินเค็มให้หมดไปในเร็ววัน

และถ้าระดับนโยบายไม่ต้องเจียดงบไปให้บริษัทจัดงาน “อีเวนต์” หัก 30% เข้ากระเป๋าไปอย่างไร้ประโยชน์…สิ่งที่พี่น้องอีสานฝัน จะเป็นจริงได้เร็วขึ้น.
ไชยรัตน์ ส้มฉุน

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ไชยรัตน์ ส้มฉุน
  • 12 กรกฎาคม 2556, 05:00 น.

ใส่ความเห็น