บัญญัติ 10 ประการ ติดวงจร..กุ้งตายด่วน

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

http://www.thairath.co.th/content/edu/340962

โดย ไชยรัตน์ ส้มฉุน 26 เม.ย. 2556 05:00

จากสถานการณ์การแพร่กระจายของกลุ่มอาการ EMS หรือโรคตายด่วนในกุ้งจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด

และช่วงนี้เป็นช่วงลงกุ้งรอบใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการตายด่วนแพร่ขยายไปในวงกว้าง สถา บันวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมง มีข้อบัญญัติ 10 ประการ ปฏิบัติดังนี้…

1. การเตรียมบ่อที่ดี กำจัดสารอินทรีย์ก้นบ่อและตากบ่อให้แห้ง ทำความสะอาดคลองส่งน้ำ บ่อพักน้ำไม่ให้หมักหมมสารอินทรีย์ และเชื้อโรค รวมทั้งดูแลอุปกรณ์การเลี้ยงให้อยู่ในสภาพสะอาดและพร้อมใช้งาน

2. ปรับปรุงระบบป้องกันโรค (Bio secure) ให้มีประสิทธิภาพ กรณีที่มีความเสี่ยงอยู่ในเขตโรค ระบาด ควรบำบัดน้ำด้วยคลอรีนหรือไอโอดีน และใช้ระบบบ่อพักน้ำเพิ่มขึ้น

3. เน้นการกรองน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนเพื่อลดพาหะของโรคและศัตรูกุ้งเข้าสู่บ่อ

4. คัดเลือกลูกกุ้งที่มีคุณภาพดี มีสุขภาพแข็งแรงและปลอดโรค ซื้อจากโรงเพาะฟักที่มีการจัดการที่ดี ทั้งด้านสุขอนามัยฟาร์มต้องให้ความสำคัญกับผลการตรวจเช็กคุณภาพลูกกุ้ง ตามแนวทางที่กรมประมงกำหนดไว้

5. ไม่ปล่อยกุ้งหนาแน่น ให้ปล่อยประมาณ 50,000-100,000 ตัว/ไร่ หรือตามความเหมาะสมและความสามารถในการจัดการเลี้ยงกุ้งระบบปิด โดยไม่ทำให้กุ้งเครียด อ่อนแอ และเกิดโรคต่างๆได้ง่าย

6. อาหารควรให้พอดีอย่าให้จนเหลือและเกิดของเสียหมักหมมในบ่อเลี้ยง

7. ควรรักษาปริมาณออกซิเจนในน้ำในช่วงเวลาเช้าตรู่ ประมาณ 5.0 มก./ล. ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของน้ำระหว่าง 7.8-8.2 ในกรณีที่สภาวะอากาศแปรปรวน ให้เน้นการใช้เครื่องเพิ่มออกซิเจน

8. ในแหล่งที่มีความเสี่ยงต่อการตายด่วน EMS ควรหยุดหรือลดการทิ้งน้ำออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเป็นเวลา 1-2 เดือน เพื่อลดปริมาณเชื้อ และใช้วิธีการเลี้ยงระบบปิดมากขึ้น

9. เฝ้าสังเกตอาการของกุ้งในบ่ออย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เช่น ดูการว่ายน้ำ, ความแรงของการดีดตัวบนยอเช็กอาหาร การกินอาหาร, สีและลักษณะของตัวที่เป็นปกติ ความใสของกล้ามเนื้อ หากสงสัยว่ากุ้งจะป่วยควรลดการให้อาหาร และส่งตัวอย่างกุ้งป่วยที่มีชีวิตและน้ำในบ่อไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการโดยเร็วที่สุด

10. หากพบอาการตายด่วน EMS หรือกุ้งเป็นโรคไวรัส ควรหยุดเลี้ยงกุ้ง ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนเข้มข้น และทิ้งไว้ 14 วัน ในกรณีที่เกิดกุ้งป่วยหลายบ่อทั้งฟาร์ม ควรหยุดพักการเลี้ยงทั้งฟาร์ม 2-3 เดือน.

 

 

ไชยรัตน์ ส้มฉุน

ใส่ความเห็น