http://www.thairath.co.th/column/edu/back2sky/309132
28 พฤศจิกายน 2555, 05:00 น.
ช่วงคาบเพียงศตวรรษจากยางต้นแรก ที่ปลูกบนแผ่นดินสยาม สร้างความมั่นคงให้ ไทยกลายเป็นพี่เอื้อย 1 ใน 3 ประเทศที่ผลิตยางพารารายใหญ่ ของโลก จึงจำเป็นมากในการพัฒนาคุณภาพของสินค้า ตามความต้องการของประเทศผู้นำเข้าหรือลูกค้า…เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการค้าให้ยั่งยืน
คุณณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร บอกถึงเรื่องนี้ว่า…สถาบันวิจัยยางส่งเสริมและผลักดันให้สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารานำโรงอัดก้อนยางเข้าสู่มาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพแก่ผู้ใช้ยางทั่วโลก
“…ปัจจุบันมีโรงอัดก้อนยางได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จากสถาบันวิจัยยางแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงอัดก้อนยางสหกรณ์กองทุนสวนยางจันดี จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช รหัส RB1 กับ โรงอัดก้อนยางของชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด จังหวัดตรัง รหัส RB2…”
อีกทั้ง…ยังมีโรงอัดก้อนยางของสถาบันเกษตรกร 3 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี ตราด และ กระบี่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจประเมินตามมาตรฐาน GMP เพื่อให้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ภายใน 2 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีโรงอัดก้อนยางได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP เพิ่มมากขึ้น โดยไทยเราจะสามารถผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มการใช้ยางชนิดนี้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“…ใบรับรองมาตรฐาน GMP โรงอัดก้อนยาง มีอายุ 1 ปี การันตี ได้ว่ายางอัดก้อนหรือยางลูกขุนที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ สามารถส่งขายให้กับโครงการ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางของรัฐบาลและทั้งยังส่งออกได้ เป็นการสร้างจุดขายและเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับสินค้ายางพาราไทยในตลาดโลก…”
นอกจากเร่งพัฒนาโรงอัดก้อนยางเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP เพิ่มขึ้นแล้ว ในปีหน้า (2556) สถาบันวิจัยยางยังมีแผนจัดทำต้นแบบโรงงานผลิตยางเครพมาตรฐาน GMP เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ศูนย์วิจัยยางหนองคาย จังหวัดหนองคาย
“…การผลิตยางเครพแบบบางภายใต้ระบบมาตรฐาน GMP จะช่วยลดปัญหาเรื่องความชื้น ทำให้เกษตรกรไม่ถูกกดราคารับซื้อและมีรายได้เพิ่มขึ้น หากเกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง สามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่การผลิตยางอัดก้อนเพื่อเพิ่มมูลค่าได้โดยไม่ต้องใช้เตาอบ ทั้งยังได้ยางอัดก้อนที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันยังช่วยลดต้นทุนการผลิตต่ำลง และช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมด้วย…”
โดย…ปีแรกมีเป้าหมายผลักดันผู้ผลิตยางเครพให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP นำร่องอย่างน้อย 2 ราย/กลุ่ม…ผอ.กลุ่มอุตสาหกรรมยาง วางเป้าหมายอย่างนั้น…!!
ดอกสะแบง