ปัตตานีปูพรมเปิดจุดรับซื้อมะพร้าว 15จุด7อำเภอแก้ปัญหาราคาร่วง คชก.จัดสรร3.7ล.ดีเดย์ถึงสิ้นพย.

http://www.naewna.com/local/28304

วันพฤหัสบดี ที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555, 06.00 น.

นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 (สศข. 9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคามะพร้าว ปี 2555 จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สศข.9 พบว่า ทางจังหวัดได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม 3.74 ล้านบาท จากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เพื่อรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้ง จำนวน 500 ตัน ที่ความชื้น 5% ณ จุดรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 15 บาท และลดหลั่นตามความชื้น โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ได้กำหนดจุดรับซื้อ 15 จุดครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปัตตานี อ.ยะหริ่ง อ.กะพ้อ อ.โคกโพธิ์ อ.หนองจิก อ.สายบุรี และอ.ปะนาเระ  ซึ่งได้เริ่มดำเนินการรับซื้อมาตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 โดยส่วนใหญ่จะเปิดจุดรับซื้อวันอังคารและวันพฤหัสบดี และมีโรงงานหีบมะพร้าวที่เข้าร่วมโครงการ 1 แห่ง คือ ห้างหุ้นส่วน จำกัดปัตตานีซุ่นเฮง

นายธรณิศร กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการฯ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร ณ จุดรับซื้อ 2 จุด คือ จุดรับซื้อ หมู่ที่ 3 ต. คลองมานิง อ.เมืองปัตตานี และที่จุดรับซื้อหมู่ที่ 5 ต.กะมิยอ อ.เมืองปัตตานี ซึ่งเริ่มเปิดจุดรับซื้อวันแรก พบว่า ราคาเนื้อมะพร้าวแห้งกิโลกรัมละ 8.30 บาท ที่ระดับความชื้น 15 -18 % โดยราคาที่รับซื้อในโครงการและนอกโครงการเป็นราคาเดียวกัน ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินสดทันที  อย่างไรก็ตาม เงินชดเชยส่วนต่างราคา 6 บาทต่อกิโลกรัมนั้น เกษตรกรจะได้รับเมื่อ คพจ.อนุมัติ โดยจะโอนเงินเข้าบัญชี ธ.ก.ส. ของเกษตรกรโดยตรง

ด้านความพึงพอใจต่อราคา ณ จุดรับซื้อและการได้รับเงินชดเชย 6 บาท นั้น พบว่า เกษตรกรทุกคนมีความพึงพอใจมาก โดยเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหามะพร้าวผลล้นตลาดในช่วงดำเนินโครงการและช่วยลดภาระค่าขนส่งของผู้รวบรวมที่ 1 บาทต่อกิโลกรัมด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในช่วงที่เกษตรกรกำลังเร่งผลิตเนื้อมะพร้าวแห้งที่กองรวมไว้กว่า 3 เดือน จึงทำให้ปริมาณมะพร้าวผลที่จะออกสู่ตลาดเริ่มลดลง จึงขอให้เกษตรกรคำนึงถึงคุณภาพด้วย

ใส่ความเห็น