‘TDRI’อัดยับจำนำข้าวเอื้อคนรวย ทำรัฐขาดทุน 1.12 แสนล้าน

http://www.thairath.co.th/content/eco/299725

19 ตุลาคม 2555, 09:00 น.
Pic_299725

ทีดีอาร์ไอ เผยแพร่งานวิจัย อัดยับผลกระทบจำนำข้าว ไม่ได้ช่วยชาวนายากจนที่มีอยู่ 7.7 ล้านคนจริงแค่ข้ออ้างหาเสียง แต่ตกอยู่กับชาวนาฐานะปานกลาง-ร่ำรวยและโรงสี ทำรัฐขาดทุนเอาเงินภาษีประชาชนไปถลุง 1.12 แสนล้าน หนำซ้ำสูญเสียแชมป์ส่งออกและข้าวที่เก็บในโกดังจะยิ่งมีคุณภาพต่ำหมดความหอม จนทำลายความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย…

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง “ข้าว เงิน ชาวนา – ผลกระทบของนโยบายจํานําข้าว” โดยสรุปว่า เป็นนโยบายเอาคนจนเป็นข้ออ้างในการหาเสียง ที่ไม่ได้ช่วยชาวนายากจน ที่มีอยู่ 7.7 ล้านคน แต่กลับช่วยชาวนาฐานะปานกลาง และร่ำรวย ที่มีอยู่ถึง 9.9 ล้านคน ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์แท้จริง คือ ชาวนารายใหญ่ที่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง หรือผู้รับซื้อข้าวจากชาวนารายย่อยมาจำนำ เพราะรัฐบาลรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ดังนั้น ประโยชน์จึงไม่ตกถึงมือชาวนายากจนอย่างที่รัฐบาลอ้าง โดยเงินกว่า 3 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะตกไปอยู่กับชาวนาฐานะปานกลาง ร่ำรวย โรงสีและกลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ในตลาดข้าวไทยต่อมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาที่เข้าโครงการ ซึ่งได้รับประโยชน์จากส่วนต่างราคาจำนำที่รัฐบาลตั้งไว้สูงกว่าราคาตลาดโลกกว่า 30% และราคาตลาด ทำให้เพิ่มรายได้แก่ชาวนาเป็นจำนวนเงิน 72,712 ล้านบาท แต่กว่า 80% ของเงินเหล่านี้ก็ตกไปอยู่กับชาวนาฐานะปานกลางและยากจน ทำให้รัฐขาดทุนกว่า 112,521 ล้านบาท และหากราคาข้าวลดลง รัฐบาลจะขาดทุนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 31.7 – 38.2% ของงบลงทุนประเทศในปี 2554/2555 เป็นการสูญเสียเงินภาษีประชาชนที่รัฐนำไปใช้เฉพาะชาวนาฐานะดี โรงสี และกลุ่มธุรกิจ ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบและการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าโรงสีบางแห่งลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ข้าวไทย

นอกจากนี้ เป็นนโยบายที่จะส่งผลต่อคุณภาพข้าวไทยในระยะยาว ซึ่งการที่รัฐบาลรับจำนำข้าวทุกเมล็ด โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ จะส่งผลกระทบให้ชาวนาเร่งเพิ่มปริมาณของข้าวเปลือก โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของข้าวเป็นหลัก เพราะรัฐบาลสนเพียงความชื้นและสิ่งเจือปนในข้าวเท่านั้น

ทั้งนี้ จะส่งผลให้ไทยสูญเสียตลาดส่งออกข้าวนึ่งที่ไทยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง เพราะการจำนำจะกำหนดให้โรงสีแปรสภาพข้าวเปลือกภายใน 7 วัน ทำให้โรงสีและผู้ส่งออกไม่สามารถซื้อข้าวเปลือกมาทำข้าวนึ่ง ขณะเดียวกันรัฐไม่มีความสามารถในการขายข้าวเท่าพ่อค้าส่งออก ข้าวจะถูกเก็บไว้ในโกดังเป็นเวลานาน เพื่อรอราคาให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ข้าวหมดความหอม กลายเป็นข้าวแข็งคุณภาพต่ำ ไม่สามารถแข่งขันกับข้าวคุณภาพสูงจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ทั้งเวียดนาม และอินเดีย ในตลาดโลกได้ โดยสรุปแล้ว รัฐบาลกำลังทำลายระบบเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมข้าว และทำลายความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก

ขณะที่ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง นโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายด้านการสร้างราคาหรือพยุงราคาสินค้าเกษตรเพื่อให้รายได้ของผู้ผลิตสูงขึ้น อาจมีความจำเป็นดำเนินการในระยะสั้น และหากรัฐต้องเข้าแทรกแซงราคาก็ควรทำเท่าที่จำเป็น หากทำมากเกินพอดีจะเป็นภาระทางการคลังอย่างมาก นอกจากนี้ยังสร้างปัญหาต่อกลไกตลาดการค้าสินค้าเกษตรในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งมากขึ้นทางด้านการผลิต เพื่ออำนาจการต่อรองมากขึ้นผ่านกลไกสหกรณ์และการใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงและตลาดสินค้าล่วงหน้า และรัฐบาลควรถอนนโยบายด้านการแทรกแซงราคาออกและสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกเมื่อถึงคราวจำเป็นเวลาสินค้าเกษตรตกต่ำ

นอกจากนี้ การรับจำนำในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากกว่า 40% และรับจำนำทุกเมล็ด ไม่จำกัดวงเงินรับจำนำต่อครัวเรือน จะทำให้สต็อกข้าวของรัฐบาลจะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนอาจจะเกิดปัญหาในการหาที่เก็บ ซึ่งการมีสต๊อกจำนวนมากขึ้นจะทำให้การระบายข้าวบริหารยากขึ้น เมื่อปล่อยข้าวออกมาในตลาดจะกดราคาในตลาดให้ปรับตัวลดลง รัฐบาลจะขาดทุนเพิ่มเติมอีก ส่วนการเก็บข้าวไว้รอให้ราคาตลาดโลกสูงขึ้นค่อยทยอยขาย รัฐต้องมีระบบการจัดเก็บสต๊อกข้าวที่ได้มาตรฐาน โดยเวลานี้ที่รัฐบาลทำอยู่คือการจ้างโรงสีเอกชนดำเนินการ

ดังนั้นรายละเอียดของนโยบายรับจำนำบางส่วน ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อปิดจุดที่จะสร้างปัญหาและลดการรั่วไหล ซึ่งการทุจริตนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลอมใบประทวน การนำข้าวมาเวียนเทียน สะต๊อกลม การสวมสิทธิ ตลอดจน การใช้บริษัทในเครือข่ายรับซื้อข้าวจากรัฐบาล ที่สำคัญ รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรับจำนำเสียใหม่โดยไม่ต้องยกเลิก เพื่อไม่ให้กลายเป็นการผูกขาดการค้าข้าวโดยรัฐบาล หรือ ตั้งราคาจำนำสูงเกินกว่าราคาตลาด ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณราคาที่บิดเบือน ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวเกินพอดีเกินศักยภาพและเบียดบังพื้นที่เพาะปลูกพืชผลประเภทอื่น เนื่องจากสามารถขายข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมากกว่า 40% ทำให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรกรรม และการรับจำนำแบบคละเกรดอาจทำให้คุณภาพข้าวย่ำแย่ลงในอนาคต

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
  • 19 ตุลาคม 2555, 09:00 น.

ใส่ความเห็น