แนะสูตรสู้ดินเค็มอีสาน

http://www.naewna.com/local/24482

วันพุธ ที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2555, 06.00 น.

ดร.สุรชัย หมื่นสังข์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 3 นครราชสีมา กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการแก้ปัญหาดินเค็มซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีการต่างๆ ทั้งการปรับปรุงบำรุงดิน  การอนุรักษ์ดิน-น้ำ การจัดรูปแปลงนา ปรับพื้นที่ให้มีความสม่ำเสมอ  ทำให้มีการกระจายน้ำไปทั่วแปลงนา  ป้องกันการสะสมเกลือในแปลง ใช้วัสดุปรับปรุงบำรุงดิน เช่น แกลบ  ปุ๋ยคอก  และการใช้พืชปุ๋ยสด (โสนอัฟริกัน) ปลูกในนาข้าว สร้างคันคูระบายน้ำ เพื่อเบนทิศทางการไหลบ่าและควบคุมระดับน้ำ อีกทั้งยังสามารถนำน้ำมาใช้ล้างเกลือในแปลงนาได้

พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วบนคันนา ได้แก่ ยูคาลิปตัส เพื่อควบคุมระดับน้ำใต้ดิน ไม่ให้เกลือแพร่ขึ้นมาสู่ผิวดิน เมื่อปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวแล้วให้ไถพรวนดิน เพื่อแยกชั้นหน้าดินจากดินระดับล่างที่มีความเค็มค่อนข้างมาก เป็นการตัดหน้าดินไม่ให้ความเค็มขึ้นมาสู่ผิวดินได้ ควบคู่กับการนำเศษฟางข้าวมาคลุมดินไม่ให้เกิดความแห้งแล้งซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกลือขึ้นมาสู่ชั้นผิวดิน ที่สำคัญคือการแนะนำให้เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวทนเค็ม และอายุต้นกล้าที่ใช้ปักดำควรจะมีอายุอยู่ที่ระหว่าง 40-45 วัน เพราะถ้าใช้ต้นกล้าที่มีอายุน้อยจะมีความอ่อนแอซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายได้

ผลจากการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ดินเค็มได้รับการฟื้นฟูจนสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เกษตรกรปลูกข้าวได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30-40 ถังต่อไร่ นอกจากนี้ การปลูกยูคาลิปตัสที่คันนายังสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง โดยเมื่อปลูกได้ 3 ปี สามารถขายเป็นเยื่อกระดาษในราคาเฉลี่ย 200 บาทต่อต้น

ใส่ความเห็น