เปิดผลวิจัย”ป่าพรุควนเคร็ง” ชี้ทางออกการแก้ปัญหายั่งยืนต้องจัดการเป็นระบบ/ชุมชนมีส่วนร่วม

http://www.naewna.com/local/20851

วันอังคาร ที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2555, 06.00 น.

ดร.สุมาลี เลี่ยมทอง ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2554 เพื่อดำเนินการศึกษาป่าพรุในบริเวณพื้นที่ ต.เคร็ง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของป่าพรุควนเคร็ง เพื่อศึกษาถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในป่าพรุ ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในป่าพรุ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้แผนงานวิจัย 9 โครงการ ประกอบด้วย

1.การศึกษาสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่พรุควรเคร็ง 2.พลวัตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง 3.การมีส่วนร่วมของชุมชนในการศึกษาความหลากหลายของยุงในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง 4.การมีส่วนร่วมของชุมชนในการศึกษาสังคมพืชและปลาในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง 5.ผลกระทบของไฟป่าต่อความหลากหลายของเชื้อราและสาหร่ายในพื้นที่ป่าพรุควรเคร็ง 6.ผลกระทบของการใช้ประโยชน์ที่ดินต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำและดินในพื้นที่ป่าพรุควรเคร็ง 7.การคัดเลือกราเอนโดไฟท์ที่ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากพื้นที่ป่าพรุควรเคร็ง 8.ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณน้ำมันหอมระเหยในพื้นที่ป่าพรุควรเคร็ง และ 9.ระบบสารสนเทศและตัวแบบเชิงภูมิศาสตร์สำหรับการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าพรุควรเคร็ง

สำหรับการดำเนินงานได้ประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โรงเรียน และองค์กรชุมชนต่างๆ พร้อมกับเปิดเวทีชุมชนตั้งแต่เยาวชนในพื้นที่ได้เข้าร่วมศึกษาวิจัยและเรียนรู้ท้องถิ่นของตนเอง จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการจัดการป่าพรุอย่างยั่งยืน ได้มีการอบรมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้แผนงานวิจัยการจัดการและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าพรุควนเคร็งอย่างยั่งยืน เป็นต้นแบบในการเรียนรู้ ให้คณะครูและนักเรียนชะอวดวิทยาคาร และโรงเรียนชะอวดเคร่งธรรมวิทยา ซึ่งพบว่า ภายหลังจากการฝึกอบรม คณะครูได้นำความรู้จากงานวิจัยดังกล่าว ไปใช้เป็นแนวทางให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดจิตสำนึกในการหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม จากองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้จากการวิจัย นอกจากจะนำไปเผยแพร่ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์งานประชุมทางวิชาการต่างๆ และใช้ประกอบการสอนนักศึกษาแล้ว การนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดกลับให้กับท้องถิ่นผ่านทางการจัดเวทีนำเสนอผลงานวิจัย เพื่อให้หน่วยงานราชการ และองค์กรชุมชุนต่างๆ สามารถใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการบริหารจัดการป่าพรุ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และเกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าพรุควนเคร็งอย่างยั่งยืนต่อไป

ใส่ความเห็น