http://www.thairath.co.th/content/edu/277934
กุ้งกุลาดำในศูนย์เพาะพันธุ์ฯ.
ปัจจุบัน “ประชากรกุ้งกุลาดำ” จากแหล่งธรรมชาติ เริ่มมีไม่เพียงพอกับความต้องการของกลุ่มผู้เลี้ยง ส่งผลให้พ่อค้าบางราย “นำกุ้งกุลาดำปลอมปนกับกุ้งกุลาลาย” ส่งขายเกษตรกร ซึ่งเมื่อเลี้ยงไประยะเวลานานทำให้เกิดปัญหาอัตราการเจริญเติบโตน้อย และมีขนาดที่เล็ก
ฉะนี้…เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อีกทั้งให้ไทยเป็นผู้นำด้านการเพาะเลี้ยงกุ้ง เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกด้านคุณภาพการผลิต ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง นักวิจัยจากศูนย์เพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ได้ วิจัย “เพิ่มปริมาณพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และพัฒนาพันธุ์กุ้งกุลาดำให้มีความแข็งแรงต้านทานโรค” ขึ้น โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยี ชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนทุน
ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ และ ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง
ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า เริ่มแรกทางศูนย์กักกันสัตว์น้ำที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตรวจโรคกับกุ้งทุกตัว จากนั้นส่งต่อมายังศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์กุ้งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยสงขลา–นครินทร์เป็นผู้ทำวิจัย และเมื่อคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีความเหมาะสมคุณภาพดี จะส่งต่อมายังมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นจุดสุดท้าย
ดร.บัลลังก์ บอกถึงแนวทางการวิจัยว่า เริ่มจากนำกุ้งในระยะพีแอล 15 หรือลูกกุ้งเล็กที่ได้รับ มาทำการอนุบาลและเลี้ยงในบ่อดิน จากนั้นเลี้ยง มาระยะแรกประมาณ 4-6 เดือน จะเริ่ม คัด เลือกกุ้งที่มีลักษณะที่ดี โตเร็ว ต้านทานโรค เพื่อเลี้ยงต่ออีกประมาณ 8-10 เดือน จากนั้นทำการชั่งน้ำ– หนัก วัดความยาว เพื่อตรวจสอบการเจริญเติบโตของกุ้งทั้งเพศผู้และเพศเมีย
และ…ในระหว่างการเลี้ยงจะตรวจสอบดูความสมบูรณ์เพศของกุ้งก่อนจะส่งเข้าสู่ระบบ “การเลี้ยงแบบปลอดเชื้อ” (ระบบไบโอซีเคียวริตี้) เลี้ยงต่อไปจนกระทั่งกุ้งอายุประมาณ 14 เดือน จึงเริ่มคัดพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่มีขนาด 8-12 ตัว/กก. ที่มีความพร้อมของลักษณะและความสมบูรณ์พันธุ์ แล้วส่งต่อไปโรงเพาะฟักเพื่อทดลองเพาะพันธุ์ และผลิตลูกกุ้งจากพ่อแม่ที่เลี้ยงในบ่อดิน
บ่อดินเลี้ยงกุ้ง.
…พร้อมทั้งนำลูกกุ้งส่วนหนึ่งไปให้เกษตรกรในเขต จ.ระยอง และจันทบุรีทดลองเลี้ยง ผลที่ได้พบว่า พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ได้มีอัตราการให้ลูกกุ้งใกล้เคียงกับพ่อแม่พันธุ์ในธรรมชาติ แม้ว่าเปรียบเทียบขนาดของพ่อแม่พันธุ์แล้วจะดูเล็กกว่ากุ้งในธรรมชาติเล็กน้อย แต่มีอัตราการรอดสูง และสามารถเจริญเติบโตได้ดีตามเกณฑ์มาตรฐาน…
ทั้งนี้ ทีมงานยังได้ทำวิจัยพัฒนาอาหารที่ใช้เลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เป็นการลดต้นทุนการผลิต และเพื่อให้กุ้งแม่พันธุ์มีพัฒนาการของรังไข่ เป็นการหลีกเลี่ยงวิธีการ “ตัดตา” ซึ่งเป็นวิธีการที่หลายคนมองว่าเป็นการทรมานสัตว์ และอาจกลายเป็นประเด็นกีดกันทางการค้าของธุรกิจการส่งออกกุ้งในอนาคตได้
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละ-เอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0–3931–0000 ต่อ 3011 ในวันและเวลาราชการ.
เพ็ญพิชญา เตียว
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย เพ็ญพิชญา เตียว
- 23 กรกฎาคม 2555, 05:00 น.