ดูงานโครงการตามพระราชดำริ ป่าดงนาทาม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (ตอนจบ)

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05032010455&srcday=2012-04-01&search=no

วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 24 ฉบับที่ 524

เศรษฐกิจพอเพียง

วสันต์ สุขสุวรรณ

ดูงาน โครงการตามพระราชดำริ ป่าดงนาทาม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (ตอนจบ)

สถาบันเกษตราธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับกลาง รุ่นที่ 53 ขึ้น เมื่อวันที่ 23 มกราคม ถึง วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จำนวน 111 คน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้บริหารระดับต้น ให้เข้าใจบทบาทตนเอง มีภาวะผู้นำที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในด้านการบริหารอย่างถูกต้อง เหมาะสมและสอดคลองกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีความเชี่ยวชาญในงานทั้งในทางกว้างและลึก สำหรับการก้าวสู่การเป็นผู้บริหารในระดับนโยบาย สามารถขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ สร้างและนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในหน่วยงานได้อย่างจริงจัง สามารถยกระดับองค์กรให้มีขีดสมรรถนะด้านการจัดการสูง มีความเชี่ยวชาญทั้งศาสตร์และศิลป์ทางการบริหารจัดการ โดยมีแนวคิดพื้นฐานเรื่องการบริการที่เป็นเลิศ และการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การบริหารราชการมีความยืดหยุ่นมีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ สามารถนำประเทศให้ก้าวสู่การแข่งขันระดับสากล ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ การฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าว ยังมุ่งเน้นการเพิ่มพูนทักษะในการสร้างแรงจูงใจและพัฒนาประสิทธิภาพทีมงานและองค์กรได้ อีกทั้งสร้างเครือข่ายและพันธมิตร เพื่อเพิ่มพลังในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การฝึกอบรม แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงแรก ปฐมนิเทศ ณ สวนนงนุช จังหวัดชลบุรี ช่วงที่สอง การบรรยายและฝึกปฏิบัติ ณ โรงแรมเอบีนา เฮาส์ กรุงเทพฯ ช่วงที่สาม ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และ สปป. ลาว และช่วงที่สี่ เป็นการปัจฉิมนิเทศ นำเสนอผลงานและประเมินผลการฝึกอบรม

ผู้เขียนเป็น 1 ใน 111 คน ที่เข้ารับการฝึกอบรม จากการศึกษาดูงาน ในช่วง วันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2555 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และ สปป. ลาว เห็นว่าการศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการป่าดงนาทาม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีสาระที่ควรค่าที่พี่น้องเกษตรกรจะได้รับทราบในวงกว้าง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรเอง จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

โครงการ ป่าดงนาทาม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

โครงการป่าดงนาทาม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มี พันเอกธเนศ วงศ์ชอุ่ม เป็นหัวหน้าโครงการ มีหน้าที่วางแผนอำนวยการ ประสานกับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาอาชีพ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการรักษาความมั่นคงปลอดภัย

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จัดตั้งโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กรมทหารราบที่ 6 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานของเกษตรกรและผู้ที่สนใจ แบ่งการเรียนรู้ เป็นฐานด้านต่างๆ ดังนี้ น้ำส้มควันไม้จากเตาเศรษฐกิจ ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์อย่างง่าย การเพาะเห็ดด้วยขอนไม้ น้ำยาอเนกประสงค์ ฮอร์โมนผลไม้ อิฐบล็อกดินประสาน บ้านตัวอย่าง

ฉบับที่แล้ว นำเสนอการทำน้ำส้มควันไม้ ส่วนฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่องการทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ การเพาะถั่วงอก และการทำน้ำยาล้างจาน รายละเอียดมีดังนี้

การทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์

วัสดุ

1. มูลสัตว์ (ทุกชนิด) 1 ส่วน

2. แกลบดิบ 1 ส่วน

3. รำละเอียด 1 ส่วน

4. อีเอ็ม 1-2 ช้อนโต๊ะ

5. กากน้ำตาล 1-2 ช้อนโต๊ะ

6. น้ำสะอาด 10 ลิตร หรือ 1 ถัง

วิธีทำ 

ขั้นที่ 1 เตรียม อีเอ็ม/กากน้ำตาล/น้ำสะอาด ผสมไว้ในถัง อัตราส่วน 1/1/1,000 คือ น้ำ 10 ลิตร เติม อีเอ็ม ลง 1 ช้อนโต๊ะ และกากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ

ขั้นที่ 2 นำมูลสัตว์-รำละเอียด ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน

ขั้นที่ 3 เอาแกลบดิบทั้งหมดลงในน้ำที่ขยาย อีเอ็ม ในขั้นที่ 1 จุ่มให้เปียก แล้วเอาแกลบออก สลัดน้ำที่หยดในแกลบออกพอประมาณ นำมาคลุกใส่ในส่วนผสมระหว่างมูลสัตว์และแกลบดิบ คลุกส่วนผสมทั้ง 3 ส่วน ให้เข้ากัน จะได้ความชื้น 50% พอดี

ขั้นที่ 4 เอาส่วนผสมบรรจุลงในกระสอบปุ๋ย โดยบรรจุลงไป 3/4 ของกระสอบปุ๋ย ไม่ต้องกดให้แน่น และเลือกใช้กระสอบปุ๋ยชนิดที่มีการระบายอากาศได้ดีรอบด้าน และนำไปวางลงในที่มีฟางรองเพื่อการระบายอากาศในส่วนล่าง พลิกกลับกระสอบในวันที่ 2, 3, 4 เพื่อเอาด้านบนและด้านข้างลงล่างอยู่ 3 วัน ในวันที่ 4 และ 5 อุณหภูมิก็จะปกติ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ขั้นที่ 5 ให้เก็บรักษาปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ที่แห้งแล้วในที่ไม่โดนแดด โดนฝน ไม่เก็บในที่มีความชื้น สามารถเก็บไว้ใช้ประโยชน์ได้นานประมาณ 1 ปี ถ้าไม่โดนความชื้น

การนำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ไปใช้

1. การใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์กับการปลูกพืชผัก

1.1 ใช้รองพื้นกับแปลงปลูก โดยการผสมกับหญ้า ฟาง ซากอินทรียวัตถุทุกชนิด ใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ทับในปริมาณ 1-2 กำมือ ต่อ 1 ตารางเมตร รดด้วยน้ำที่ขยาย อีเอ็ม (อีเอ็ม/กากน้ำตาล/น้ำสะอาด ในอัตราส่วน 1/1/1,000) ใช้จอบสับให้ส่วนผสมเข้ากันกับดิน ทิ้งให้ อีเอ็ม ขยายปรับความสมดุลของดิน 7 วัน จึงนำพืชมาปลูก

1.2 โรยปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ที่แปลงปลูกพืชผัก (อย่าโรยชิดโคนต้น) ในปริมาณ 1-2 กำมือ/1 ตารางเมตร หรือโรยรอบทรงพุ่มของต้นพืชที่ปลูก คลุมทับด้วยเศษฟางแห้ง หญ้าแห้ง เพื่อเป็นการขยายเชื้อของ อีเอ็ม

1.3 การปลูกพืชที่เก็บผลในระยะสั้น ประมาณ 60 วัน ไม่ควรใช้ปุ๋ยหมักฯ ฟาง ควรใช้ปุ๋ยหมักฯ มูลสัตว์ หรือปุ๋ยคอกหมัก จะให้ผลรวดเร็วทันความต้องการมากกว่า การใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์แต่ละครั้ง ควรใช้ทีละน้อย และควรใช้บ่อยๆ (รดด้วยน้ำจุลินทรีย์ขยาย 1/1/1,000 ทุกๆ วัน) พืชจะงามทันใจตามความต้องการ

2. การใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์กับการปลูกไม้ผล

2.1 ใช้รองก้นหลุมไม้ยืนต้น ขุดหลุม ขนาด 60x60x60 เซนติเมตร ใช้เศษฟาง หญ้าแห้ง กิ่งไม้ มูลสัตว์ ซากวัตถุอินทรีย์อื่นๆ รองก้นหลุม โดยปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ 1-2 กำมือ ผสมกับดินเป็นชั้นๆ ชั้นละประมาณ 10-15 เซนติเมตร รดด้วยน้ำที่ขยาย อีเอ็ม (อีเอ็ม/กากน้ำตาล/น้ำสะอาด ในอัตราส่วน 1/1/1,000) ใช้จอบสับให้ส่วนผสมเข้ากันกับดิน กลางหลุมใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ผสมกับหน้ากองดินให้สูงขึ้น ประมาณ 30 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางแห้งและหญ้าแห้ง รดด้วยน้ำที่ขยาย อีเอ็ม ทิ้งให้ อีเอ็ม ที่ขยายปรับความสมดุลของดิน 15 วัน จึงนำต้นไม้มาปลูก

2.2 ใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์กับไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้แล้ว หลังจากการเก็บเกี่ยวการผลิตหรือต้นฤดูฝน เริ่มใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์โดยหว่านรอบๆ ทรงพุ่มของไม้ผล ในอัตราส่วน 1-2 กำมือ/ตารางเมตร ห้ามโรยปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชิดติดกับโคนต้นไม้ จะทำให้ต้นไม้ตายได้ถ้าต้นยังเล็ก และควรใช้หญ้าแห้งหรือฟางแห้งคลุมไว้อีกชั้นหนึ่ง แล้วรดด้วยน้ำที่ขยาย อีเอ็ม การใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์กับไม้ผล ให้ใช้ปีละ 2-3 ครั้ง เช่น หลังการเก็บเกี่ยวของไม้ผลแต่ละประเภท

3. การใช้ อีเอ็ม ในนาข้าว-พืชไร่ : หว่านปุ๋ยหมักจุลินทรีย์หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว หรือก่อนปักดำ อย่างน้อย 1-2 เดือน ในอัตราส่วน 100 กิโลกรัม/1 ไร่ ขยาย อีเอ็ม ฉีดพ่นน้ำ 200 ลิตร/อีเอ็ม 1 แก้ว/กากน้ำตาล 1 แก้ว ให้ อีเอ็ม ขยายสู่เส้นฟาง-หญ้า เพื่อปรับค่าความเป็นกรด เป็นด่าง ต่อไปคือการรีไซเคิลของธรรมชาตินั่นเอง

หมายเหตุ การใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ทุกครั้ง จะได้รับผลดี 100% ก็ต่อเมื่อรดด้วยน้ำที่ขยาย อีเอ็ม (อีเอ็ม/กากน้ำตาล/น้ำสะอาด ในอัตราส่วน 1/1/1,000) รดทันทีหลังที่ใส่ปุ๋ยหมักฯ ทุกครั้ง และให้ฉีดพ่นที่ใบ จุลินทรีย์สามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศเข้าทางใบของพืชได้ แต่ห้ามใช้ในระยะที่ไม้ผลดอกกำลังบาน (ดอกยังไม่บานฉีดพ่นได้) อีเอ็ม ที่ใช้ขยาย รด-ฉีดพ่นพืช ห้ามหมักเกิน 24 ชั่วโมง และควรฉีดพ่นก่อนพืชออกดอกอย่างน้อย 3-8 เดือน อย่างต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง

วิธีเพาะถั่วงอก

อุปกรณ์

1. ถังพลาสติกมีฝาปิด ขนาด 30 ลิตร เจาะรูเพื่อระบายน้ำและอากาศ ที่ก้นถังให้ทั่ว 1 ใบ

2. กระสอบป่าน ตัดเป็นรูปวงกลมแล้ว ขนาดเท่ากับก้นถัง จำนวน 6 แผ่น

3. ตะแกรงพลาสติก ความห่าง ขนาด 2-3 มิลลิเมตร ตัดเป็นรูปวงกลมเท่ากระสอบป่าน จำนวน 6 แผ่น

4. เมล็ดถั่วเขียว จำนวน 3 ขีด (แช่ด้วยน้ำสะอาด 1 ลิตร เติมจุลินทรีย์ 1 ช้อนโต๊ะ ไว้ประมาณ 8-12 ชั่วโมง หรือ 1 คืน)

5. ใช้วิธีแช่ด้วยน้ำอุ่นๆ ประมาณ 15-30 นาที

วิธีการเพาะ 

1. วางกระสอบป่าน 1 แผ่น รองก้นถัง

2. วางตะแกรงพลาสติก 1 แผ่น ลงทับบนกระสอบป่าน

3. โรยเมล็ดถั่วเขียวที่แช่ไว้แล้วให้เต็มแผ่นตะแกรงพลาสติก ในลักษณะให้เรียงเม็ดอย่าให้ทับซ้อน ทำเป็นชั้นๆ จำนวน 5 ชั้น (ใน 1 ถัง ไม่ควรให้เกิน 5 ชั้น เพราะเวลาถั่วงอกงอกขึ้น จะงอกขึ้นด้านบน จะทำให้อัดกันแน่น ทำให้ถั่วงอกช้ำ ไม่สวยงาม และเน่าเปื่อยได้)

4. นำกระสอบป่านแผ่นที่ 6 ปิดทับด้านบนแล้วปิดทับด้วยตะแกรงพลาสติกแผ่นสุดท้าย เพื่อเก็บความชื้นด้านบนและป้องกันเวลารดน้ำไม่ให้เกิดความบอบช้ำต่อถั่วงอกที่กำลังงอกขึ้นมา

5. รดน้ำให้ชุ่ม ปิดฝา แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม ไม่ให้ถูกแสงแดด

วิธีการรดน้ำ

1. ใช้บัวรดน้ำ รดน้ำวันละ 3-4 ครั้ง เป็นอย่างน้อย (หากมีเวลา สามารถรดน้ำได้ทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือเวลาเช้า เที่ยง เย็น และก่อนเข้านอน)

2. ใช้ระบบน้ำหยด (วิธีนี้ไม่ใช้ฝาถังพลาสติกปิด จะใช้กระสอบป่านขนาดกว้างกว่าปากถังปิดด้านบนของถังแทน โดยเมื่อทำขั้นตอนสุดท้ายรดน้ำให้ชุ่มแล้วนำถุงน้ำเกลือเก่าที่ใช้แล้ว ล้างทำความสะอาด นำมาบรรจุน้ำแขวนไว้เหนือถังสูงพอประมาณเพื่อทำเป็นระบบน้ำหยด 1-2 หยด ต่อนาที หยดใส่ตรงกลางกระสอบป่านที่ปิดทับปากถัง (1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง ใช้น้ำ 1,000 ซีซี) และคอยสังเกตอย่าให้แฉะเกินไป จะทำให้ชั้นล่างเน่าเปื่อยได้)

การเก็บ

หลังจากเพาะแล้วครบ 4 วัน สามารถนำมารับประทานหรือปรุงเป็นอาหารได้

วิธีการเก็บ 

1. เก็บแบบไม่มีรากถั่วงอกติด โดยยกขึ้นมาทีละชั้น ใช้มีดตัดเอาเฉพาะส่วนบนติดกับตะแกรง

2. เก็บแบบมีรากถั่วงอกติด โดยยกขึ้นมาทีละชั้น แล้วจับแผ่นกระสอบป่านและตะแกรงพลาสติก ฉีกออกจากกัน ซึ่งส่วนรากที่ไม่ต้องการรับประทานจะติดอยู่กับกระสอบป่าน ส่วนที่ต้องการรับประทานจะติดอยู่กับตะแกรงพลาสติก ให้ใช้มือถอนออกจากตะแกรง นำมาล้างให้สะอาดปรุงเป็นอาหารได้

หมายเหตุ

1. อุปกรณ์เมื่อใช้แล้ว ล้างทำความสะอาด ตากแดดให้แห้ง สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

2. ทำ 1 ถัง 5 ชั้น จะได้ถั่วงอก ประมาณ 1.5-2 กิโลเมตร โดยใช้เมล็ดถั่วเขียว ประมาณ 3 ขีด

วิธีการทำน้ำยาล้างจาน

ส่วนประกอบ

1. สารทำให้เกิดฟอง (เอ็น 70) จำนวน 1 กิโลกรัม

2. สารทำให้สะอาด (เอฟ 24) จำนวน 1 กิโลกรัม

3. น้ำสะอาด (18 ขวดน้ำอัดลม ขนาดขวดลิตร) จำนวน 18 ลิตร

4. เกลือ จำนวน 1 กิโลกรัม

5. สารกันเสีย จำนวน 5 ซีซี

6. หัวเชื้อน้ำหอม จำนวน 5 ซีซี

7. สีผสมอาหาร (สีเหลืองอ่อน) จำนวน 1 ซอง

อุปกรณ์

ถังสีก้นเรียบ ขนาด 20 ลิตร จำนวน 1 ใบ

ไม้พาย จำนวน 1 ด้าม

วิธีทำ

1. นำน้ำสะอาด 2 ลิตร มาต้มให้เดือด ใส่เกลือลงไป 1 กิโลกรัม เสร็จแล้วตั้งพักไว้ให้เย็น

2. นำสารทำให้เกิดฟอง (เอ็น 70) มาคนให้เข้ากัน ขณะคนให้คนไปทิศทางเดียวกัน ประมาณ 15-20 นาที ส่วนผสมที่ได้จะมีลักษณะเป็นครีมสีขาวนวล

3. เติมสารทำให้สะอาด (เอฟ 24) ลงไปทีละน้อย คนให้เข้ากัน ประมาณ 5-10 นาที

4. ค่อยๆ เติมน้ำทีละ 1 ลิตร ลงไปในถัง จำนวน 18 ลิตร คนให้เข้ากัน

5. ใส่น้ำเกลือที่เหลือ (1 ลิตร) ลงไปเพื่อปรับความเข้มข้น

6. ใส่สารกันเสียและหัวเชื้อน้ำหอมลงไปในขั้นตอนสุดท้าย

7. ใส่สีผสมอาหารที่เตรียมไว้ลงไปคนให้เข้ากันเพื่อมีสีสันที่สวยงาม ทิ้งไว้ประมาณ 7-8 ชั่วโมง รอให้ฟองยุบ เสร็จแล้วบรรจุใส่ขวดที่เตรียมไว้ แล้วจึงนำไปใช้

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณ ผู้ให้ข้อมูลเพื่อนำมาบอกกล่าวพี่น้องเกษตรกรอีกครั้งหนึ่ง พันเอกธเนศ วงศ์ชอุ่ม หัวหน้าโครงการ และ จ่าสิบเอกจิระศักดิ์ มาลี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ โครงการป่าดงนาทาม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โทร. (045) 323-417

?????????????????????????..

ภาพประกอบ อยู่ในกล่อง นาทาม

1. เกษตรกรชมการเพาะถั่วงอก

2. ดินประสานสร้างบ้านดิน

3. นักบริหารพัฒนาการเกษตรระดับกลาง ฟังการบรรยาย

4. วิทยากรสาธิตการทำปุ๋ยหมัก

5. สาธิตการเพาะเห็ดจากขอนไม้

6. อธิบายการทำน้ำยาล้างจาน

ใส่ความเห็น