เที่ยวไปในยาสูบโมเดล

เที่ยวไปในยาสูบโมเดล

  • 21 เมษายน 2555 เวลา 12:26 น.

โดย…จำลอง บุญสอง

พ่อผมสูบบุหรี่เหมือนกับคนอื่นๆ ในยุคเดียวกัน แม้ผมต้องช่วยพ่อมวนหรือต้องจุดบุหรี่ใส่ปาก หลังจากขึ้นจากการงมปลาในน้ำ ก็ไม่ได้ทำให้ผมรำคาญเพราะผมรักพ่อ

ผมมีปฏิสัมพันธ์กับบุหรี่ไม่เพียงแต่คอยทำหน้าที่จุดบุหรี่ใส่ปากเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ขี่จักรยานไปซื้อบุหรี่ให้พ่อและเพื่อนของพ่อที่มาสังสรรค์กันที่บ้านทุกๆ เย็นอีกด้วย

แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่ได้ทำให้ผมติดบุหรี่ แม้จะเคยสูบบุหรี่เลียนแบบผู้ใหญ่ตอนวัยรุ่นก็ตาม ที่ไม่ติดบุหรี่ก็เพราะผมมีพ่อเป็น “ครู” ด้านกลับ คือนอกจากจะเหม็นควันบุหรี่แล้ว ยังเห็นว่าการสูบบุหรี่คือการเผาเงินทิ้งไปเฉยๆ นั่นเอง

สองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมและเพื่อนนักข่าวหลายคนที่ไม่สูบบุหรี่ ถูกเชิญไปเที่ยวไร่ยาสูบของโรงงานยาสูบที่เพชรบูรณ์ เมืองทะเลภูเขา ที่มี “ไร่ยาสูบ” เป็นตราประจำจังหวัด

ถูกชวนทีแรกผมนึกในใจว่า พีอาร์บ้าอะไรวะ มาชวนคนเกลียดบุหรี่ไปเที่ยวไร่ยาสูบ แต่ผมก็ไปเพราะพีอาร์ไม่ว่าใครหรืออยู่ที่ไหนก็คือพี่น้องของนักข่าว เราจะเขียนอะไรก็เรื่องของเรา พีอาร์ไม่เกี่ยว อีกอย่างผมถือว่าการเดินทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ที่ไหน มันก็คือความรู้ มันก็คือความสัมพันธ์ มันก็คือความเข้าใจ ไม่เดินทางก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่มีความสัมพันธ์ สัมพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนสัมมาทิฐิในสมองคนให้เต็มแผ่นดิน

ผมเคยสัมผัสกับโรงงานยาสูบมาก่อนเมื่อครั้งไปถ่ายภาพ ทำข่าวการนัดหยุดงานของกรรมกรโรงงานยาสูบที่นำโดยสหภาพ สหภาพแรงงานโรงงานยาสูบสมัยโน้นเข้มแข็งพอๆ กับกรรมกรรถไฟและกรรมกรไฟฟ้า ต่างที่กรรมกรรถไฟกับกรรมกรไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นชาย ส่วนคนงานโรงงานยาสูบส่วนใหญ่เป็นหญิง หญิงที่วัยรุ่นอย่างผม “ไม่กล้าจีบ”

ที่ไม่กล้าจีบก็เพราะเธอๆ เหล่านั้นเป็น “รุ่นป้า” ป้าที่มี “ปากคล้ายตะไกร”

พวกป้าๆ เหล่านั้นมีความสัมพันธ์ทางตรง โดยไม่ต้อง “นับญาติ” เพราะทุกคนเป็นญาติกันโดยการทำงาน ทำงานด้วยกันจากรุ่นสู่รุ่น และก็ด้วยความสัมพันธ์แบบไม่ต้องเกรงใจใครที่เป็น Norm ของพวกเธอนั่นเอง ที่ทำให้ช่างภาพ นักข่าวหนุ่มที่ไปทำข่าวกลายเป็น “ลูกเขย” ไปด้วยปาก ปากของแม่ยายที่ลูกเขยที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา “ลูกสาว” แม่เลย

แม้การปกครองสมัยโน้นจะเป็นการปกครองแบบเผด็จการ แต่ความเป็นเผด็จการในอดีตก็ร้ายไม่เท่าเผด็จการในปัจจุบัน กรรมกรนอกจากจะมีสิทธิในการชุมนุมเพื่อการต่อรอง (เพื่อปรับดุล) ที่มากกว่าแล้ว โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนยังมีมากกว่าอีกด้วย ผิดกับปัจจุบันที่เผด็จการออกกฎหมายเอื้อต่อนายจ้างอย่างเห็นได้ชัด ลูกจ้างแทบจะเรียกได้ว่าเป็นทาสในโรงงานไปโดยเฉพาะในโรงงานเอกชนขนาดย่อม

ผมสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมคนโรงงานยาสูบจึงมีอายุมากผิดกับโรงงานของเอกชนที่มีแต่สาวๆ ศึกษาไปลึกๆ จึงพบว่า เพราะความเป็นรัฐวิสาหกิจนั่นเองที่ทำให้คนเหล่านั้นอยู่ได้ รัฐวิสาหกิจนั่นเองที่หล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรที่ “ให้ค่า” แก่มนุษย์ “ผู้ลงแรง” เสมอกับมนุษย์ “ผู้ลงทุน”

ผมไปยืนยัน “วัฒนธรรมองค์กร” ของยาสูบอีกครั้งกับชาวไร่ยาสูบและเอเยนต์ที่เพชรบูรณ์ ลูกไร่และเอเยนต์เหล่านี้เป็นหนึ่งใน “ห่วงโซ่” ของโรงงานยาสูบมา “หลายเจเนอเรชัน” แล้ว

“ปฏิสัมพันธ์” ที่ยาวนานของ “ห่วงโซ่การผลิต” นี่เองที่ทำให้ผมทึ่ง ไม่คิดว่าบนโลกแห่งการ “แสวงหากำไรสูงสุด” ของระบบทุนนิยมที่โหดร้ายนั้น ยังจะมีองค์กรที่ไม่แสวงหา “กำไรสูงสุด” หลงเหลืออยู่ได้อีกหรือ? นักการเมืองหน้าเลือดยังไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจไปอยู่ในมือของเอกชนที่พวกเขาคอยช้อนซื้อหุ้นเอาไปครองแบบ ปตท.ได้อยู่อีกหรือ?

ไม่น่าเชื่อว่า ในขณะที่ “ลูกไร่” ในโรงงานการเกษตรของ “เอกชน” ต่างล้วนถูก “ขูดรีดแรงงานส่วนเกิน” ตั้งแต่กล้าพันธุ์ ปุ๋ย (หรืออาหารสัตว์) ไปจนถึงการกดราคาผลผลิตกันหมดสิ้นแล้ว (ไม่ต้องบอกว่ารายใด) แต่ “ลูกไร่” ของโรงงานยาสูบ ไม่เพียงแต่จะได้รับกล้าพันธุ์คุณภาพฟรีเท่านั้น พวกเขายังได้รับความช่วยเหลือในเรื่องปุ๋ย ยากำจัดหนอนเพลี้ย (ชนิดควบคุมในระยะแรก) อีกต่างหาก

ใช่แต่เพียงเท่านั้น นอกจากการได้รับการประกันราคาก่อนการปลูกแล้ว ถ้าปีใดฟ้าฝนไม่ดี พวกเขายังจะได้เพิ่มราคาต่อกิโลกรัม เพื่อให้ลูกไร่เหล่านั้นได้รับผลตอบแทนสมกับการลงแรงให้โรงงานยาสูบอีกด้วย มีที่ไหนที่มีหมอไปตรวจเลือด วัดความดันให้ลูกไร่ฟรีๆ และสามารถ “กู้เงิน” ลงทุนจากโรงงานยาสูบในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าท้องตลาดในโอกาสต่อไปอีกด้วย

เอกชนอาจจะบอกว่า ใช่สิ พวกคุณเอาเงินราษฎรผู้เสียภาษีมาลงทุนนี่ พวกคุณจึงไม่ต้องมาเอารัดเอาเปรียบคนงานเพื่อ “สะสมกำไรสูงสุด” เอาไว้ลงทุน

ขอโทษ…โรงงานยาสูบไม่ได้เอาเงินรัฐมาเลี้ยงดูคนงานเลย เลี้ยงดูตัวเองมาตลอด แถมวันดีคืนดีรัฐไม่มีเงิน โรงงานยาสูบยังต้อง “ซื้อแสตมป์” ล่วงหน้า เพื่อเอาเงินส่วนนั้นให้รัฐไปใช้สอยยาม “หมดตูด” อีกต่างหาก

“โรงงานยาสูบอยู่ได้ก็เพราะชาวไร่” รองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ผู้มีชีวิตคลุกคลีอยู่กับชาวไร่มาตลอดชีวิตของการทำงาน บอกผม เขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่ “สืบสาน”

“วัฒนธรรมยาสูบ”

“ยาสูบโมเดล” ที่เจอ ทำให้ผมนึกถึง “ภูฏานโมเดล” ที่เอาความสุขของประชากรมาเป็นดรรชนีชี้วัดความเจริญ แทนที่จะใช้รายได้ประชาชาติมาวัด โมเดลเหล่านี้ทำให้ผมนึกไปถึงการ “ทำไร่บนหลังคนโมเดล” จนทำให้ประธานบริษัทกลายเป็น “ผู้ร่ำรวยยิ่ง” ร่ำรวยจากการขูดรีดแรงงาน การปิดตลาด และการ “ตกเขียว” นักการเมืองเอาไว้ในมือ “ทุกสี”

แม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับการสูบบุหรี่ แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่ใครจะทำลาย “โรงงานยาสูบไทย” เพราะรู้ดีว่าถึงแม้จะไม่มีโรงงานยาสูบ แต่คนติดบุหรี่ก็หาทางสูบมันจนได้ เมื่อขจัดคนสูบบุหรี่ไม่ได้แล้ว เราจะไปขจัดโรงงานยาสูบไทย เพื่อให้ต่างชาติเอาเงินก้อนนี้ไปกินฟรีทำไม

ใครอยากเป็นแนวร่วมต่างชาติ ด้วยการมัดโรงงานยาสูบไทยก็ทำ ผมไม่เอาด้วย และจะเล่นงานแนวร่วมวิสาหกิจต่างชาติพวกนั้นด้วย ไม่ต้องบอกว่าแนวร่วมต่างชาติเหล่านั้นเป็นใคร เข้ามาบังคับสภาพทางการเมืองไทยในรูปใด

ผมยืนยันอีกครั้งก่อนจบเรื่องนี้ว่าผมไม่ใช่คนสูบบุหรี่ และไม่ต้องการให้ใครสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน เพราะเชื่อว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และนำไปสู่การสูญเสียไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทองหรืออื่นใด แต่แม้ว่าผมจะไม่ชอบบุหรี่และรำคาญคนสูบบุหรี่ที่มาบังคับให้ผมสูดควันที่ระบายออกจากปอดและปากของพวกเขาอย่างไม่ยุติธรรมเพียงใด แต่ผมก็รักคนโรงงานยาสูบเหมือนที่รักและห่วงใยคนสูบบุหรี่

ชื่นชมในความสัมพันธ์ที่ไม่เอารัดเอาเปรียบของ “ผู้ลงทุน” ที่มีต่อ “ผู้ลงแรง” ให้เกียรติกันและกันในฐานะ “หุ้นส่วน” ไม่ใช่ “นาย” กับ “ลูกน้อง” ถึงแม้ว่าลูกไร่บางคนอาจจะเรียกพนักงานโรงงานยาสูบที่ไปให้การแนะนำว่า “นาย” ก็ตาม

ยุคทุนนิยมกำลังล่มสลายลงเพราะทุนนิยม “กินหาง” ตัวเองเพื่อยังชีพ “สร้างเพื่อทำลาย” ซึ่งท้ายที่สุดก็ทำให้ทุนนิยม “ตายลง” และเมื่อนั้น “ยาสูบโมเดล” จะกลายเป็นทางออก ทางออกที่อาจจะไม่มีโรงงานยาสูบอีกต่อไป ถ้าโลกทั้งโลกเลิกสูบบุหรี่

ยาสูบที่ปลูกในไทยเวลานี้มี 3 พันธุ์หลัก คือ เวอร์จิเนีย เบอร์เล และเตอร์กิส ภาคเหนือนิยมปลูกเวอร์จิเนีย ภาคเหนือตอนกลางเบอร์เล และอีสานที่มีน้ำน้อย “เตอร์กิส” ที่ “หอม” กว่า

ยาสูบที่ดีจะอยู่ในเขตพื้นที่ที่แกนโลกเอียงได้แดดนานกว่าส่วนอื่นของโลก เช่น รัฐเวอร์จิเนีย นอร์ทแคโรไลนา สิบสองปันนา และอื่นๆ เพราะแสงแดดที่ส่องนานจะไปทำให้ต้นยาสามารถสังเคราะห์แสงมาแปรเป็นคุณภาพได้แบบเดียวกับ “กาแฟ”

คนทำงานไร่ยาสูบต่างจากชาวนาก็คือต้องขยันกว่า แต่การขยันกว่าไม่ใช่เรื่องของการขยันให้น้ำ เพราะการให้น้ำมากจะไปทำให้ยาสูบใบโตและมีนิโคตินมาก ผู้ปลูกยาสูบจึงต้องให้น้ำแบบพอดีๆ

ความพอดีนั่นแหละที่จะทำให้ลูกไร่ยาสูบมีรายได้ที่มากกว่าชาวนาที่ทำนาในพื้นที่ขนาดเดียวกัน

ปล. ผลของการค้าเสรีอาเซียนจะทำให้โรงงานยาสูบ “ถูกชก” แบบเดียวกับวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมของไทยที่ถูกทุนใหญ่จากต่างชาติทำลาย เพราะประเทศไทยเป็นระบอบเผด็จการที่การปกครองเอื้อต่อทุนใหญ่ ดังนั้น การค้าเสรีอาเชียนจึงให้ประโยชน์ต่อทุนผูกขาดไทยและต่างชาติเท่านั้น กรรมกรและวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมไทยมีแต่เจ๊งกับเจ๊งครับ!

ใส่ความเห็น