หอยราก สัตว์ทะเลโบราณ สร้างนิเวศน์ คืนสมดุลสู่ผืนน้ำ

http://www.thairath.co.th/content/edu/248331

27 มีนาคม 2555, 05:00 น.

Pic_248331

หอยราก หรือบางท้องที่เรียกว่า หอยปากเป็ด.

จากสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศ ไทย โดยเฉพาะในแถบชายฝั่งทะเลทั้งอันดามัน และแถบไทย ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ดำรงอยู่มาช้านาน บางชนิดยังมีให้เห็นอยู่บ้าง และบางอย่างเริ่มหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ลงทุกขณะ และ “หอยราก” เป็นหนึ่งในจำนวนนี้

“หอยราก” (Lingula unguis) หรือ หอยปากเป็ด เป็นสัตว์ทะเลโบราณ คาดว่าเกิดขึ้นประมาณ 600 ล้านปี มีลักษณะคล้ายคลึงกับหอย 2 ฝามาก อาศัยอยู่ในทรายเลน มีลักษณะโดย ใช้ราก ที่มีลักษณะเป็น ดุ้นเอ็นยาวดูคล้ายหาง หยั่งลงในทราย เมื่อถูกรบกวนจะหดตัวมุดลงไปในทรายเลนอย่างรวดเร็ว หายใจผ่านผิวบาง ขยายพันธุ์ด้วยการปล่อยไข่และสเปิร์มออกมาผสมกันในทะเล ตัวอ่อนกลายเป็นแพลงก์ตอนลอยในทะเล ก่อนลงพื้นเจริญเป็นตัวเต็มวัย

เมื่อโตเต็มที่ เปลือกจะมีสีเขียวคล้ายหอยแมลงภู่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชิ้นประกบกันตอนท้ายเรียวแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยมยึดติดกับราก ซึ่งเป็นมัดกล้ามเนื้อหยั่งลงไปในดิน ขนาดความยาวของเปลือกประมาณ 3-5 ซม. มีรากยาวประมาณ 6 ซม. บริเวณขอบเปลือกเรียงตัวกันเป็นแถว อาศัยอยู่ตามธรรมชาติจะฝังตัวอยู่ในแนวดิ่ง ทำให้กาบทั้งสองตั้งขึ้นอยู่ในโคลนดิน

…กาบ ทำหน้าที่เสมือนเกราะห่อหุ้มอวัยวะ ภายในจะอ้าออกเล็กน้อยเพื่อให้น้ำไหลผ่านเข้าไป แล้วกรองเอาแพลงก์ตอนและอินทรียวัตถุกินเป็นอาหาร  หากได้รับการรบกวนจากศัตรูมันจะหดรากฝังตัวจมลึกลงไป  กินอาหารโดยการกรองเอาแพลงก์ตอนและตะกอนที่ละลายในน้ำ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยคืนความสมดุลลดปริมาณแพลงก์ตอน ช่วยให้น้ำไม่เน่าเสียง่าย…

ปัจจุบัน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งนิยมนำเรือเล็กออกไปงมหอยดังกล่าวตามชายฝั่งซึ่งต้องใช้ความไว  เนื่อง จากพวกมันเคลื่อนที่ค่อนข้างเร็ว รวมทั้งพื้นที่ลุ่มชายเลน เพื่อส่งตามร้านค้าสำหรับนำมาทำเมนูต่างๆ ทั้ง “เปิบ” สด และดอง ไว้กินกันตลอดทั้งปี ซึ่งสนนราคาขายกันอยู่ที่กิโลฯละ 150-170 บาท

และ…จากราคาค่าตัวที่ค่อนข้างสูงนี้เอง ส่งผลให้ปัจจุบันประชากรหอยรากเริ่มหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ไปจากชายทะเลไทย.
เพ็ญพิชญา เตียว

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย เพ็ญพิชญา เตียว
  • 27 มีนาคม 2555, 05:00 น.

ใส่ความเห็น