84 สายพันธุ์ข้าว สู่ “ข้าวของพ่อ วิถีพอเพียง”

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05030150255&srcday=2012-02-15&search=no

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 24 ฉบับที่ 521

เกษตรมหัศจรรย์

กองบรรณาธิการ

84 สายพันธุ์ข้าว สู่ “ข้าวของพ่อ วิถีพอเพียง”

การตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงาน “เกษตรมหัศจรรย์ วันเทคโนโลยีชาวบ้าน” ในปี 2552 และปี 2553 ทั้ง 2 ครั้ง เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ต้องจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดงานครั้งต่อไปให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เพื่อตอบสนองความต้องการให้ครบทุกด้าน ซึ่งปีนี้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้อง เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ บางแค ภายใต้ชื่อ “งานเกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี-เทคโนโลยีชาวบ้าน 2012”

ซึ่งนอกเหนือจากการรวบรวมความมหัศจรรย์จากพืชแปลกและทรงคุณค่า มานำเสนอด้วยการจัดรูปแบบและเนื้อหาให้ผู้ชมที่สนใจได้สัมผัสและเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว ไฮไลต์งานยังชูโรงด้วยการนำข้าว 84 สายพันธุ์ มาจัดแสดง ทั้งยังนำตัวอย่างข้าวพันธุ์พื้นเมืองและหายาก มาให้ชมพร้อมชิม ตลอดการจัดงาน

รายละเอียดของข้าวทั้ง 84 สายพันธุ์ มีดังนี้

1.พญาลืมแกง

พญาลืมแกง เป็นข้าวไร่พื้นเมือง รวบรวมได้จากอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เป็นข้าวที่ขึ้นชื่อในเรื่องความอ่อนนุ่ม รสชาติอร่อย พญาลืมแกงเป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ลำต้นอ่อน ล้มง่าย แตกกอน้อย ใบสีเขียวแก่ ใบธงห้อย รวงยาว จับถี่ เมล็ดแบน เปลือกเกลี้ยง สีเหลืองอ่อน มีหางยาว เมล็ดข้าวสารสีขาวขุ่น เก็บเกี่ยวประมาณเดือนตุลาคม

2. สินเหล็ก

ข้าวสินเหล็ก เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนา โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวขาวดอกมะลิ 105 (พันธุ์แม่) ซึ่งเป็นของสถาบันวิจัยข้าว กับข้าวเจ้าหอมนิล (พันธุ์พ่อ) ของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเริ่มดำเนินการ เมื่อ พ.ศ. 2545 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

เมื่อได้ลูกผสม F1 ปล่อยให้มีการผสมตัวเองแล้วเก็บเมล็ด F2 มาปลูกต่อ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 10,000 ต้น คัดเลือกต้น F2 จากการสังเกตลักษณะต้นที่ให้ผลผลิตดี การติดเมล็ดดี รูปร่างเมล็ดเรียวยาว มีกลิ่นหอม ได้จำนวน 500 ต้น ในปีเดียวกัน จากนั้นประเมินคุณภาพเมล็ดโดยกะเทาะเมล็ด แล้วสังเกตความสม่ำเสมอ สังเกตความใส-ขุ่น ของเมล็ด การแตกหักจากการสี แล้วจึงคัดเลือก F3 family ได้ 300 ครอบครัว

ปลูกครอบครัว F3 จำนวน 16 ต้น ต่อครอบครัวแบบปักดำ คัดเลือกต้นครอบครัวที่มีต้นที่ให้ผลผลิตสูง ติดเมล็ดดี ขนาดเมล็ดใหญ่ ยาวเรียว ไม่เป็นโรคไหม้คอรวง เปลือกเมล็ดสะอาด คัดพันธุ์ที่มีเมล็ดสีขาว น้ำหนักเมล็ดต่อครอบครัวดี แล้วคัดเลือกภายในครอบครัวดี แล้วทำการคัดเลือกภายในครอบครัวให้ได้จำนวนประมาณ 2-5 ต้น ในปี 2546 และทำเช่นนี้อีกในรุ่น F4 และ F5 ในปี 2547

จากนั้นเปรียบเทียบผลผลิตในรุ่น F6 และ F7 ในปี 2548 โดยเลือกครอบครัว F6 จำนวน 96 ครอบครัว ปลูกแบบปักดำ จำนวน 25 ต้น ต่อครอบครัว ทำเป็น 3 ซ้ำ เพื่อเปรียบเทียบผลผลิต ลักษณะที่แสดงออก ปริมาณธาตุเหล็กและคุณค่าทางโภชนาการ แล้วคัดเลือกต้นดีเด่นภายในครอบครัวแล้ว bulk ให้ครอบครัว F7 เพื่อปลูกเปรียบเทียบผลผลิตเป็นครั้งที่ 2 และวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ค้นพบข้าวหอม สีขาว ที่มีธาตุเหล็กสูงและคุณสมบัติโภชนาการโดยรวมดีเด่น 1 สายพันธุ์ ในปี 2548 โดยใช้ชื่อพันธุ์ว่า “สินเหล็ก”

ลักษณะประจำพันธุ์

ความสูง 148 เซนติเมตร

อายุเก็บเกี่ยว 125 วัน

ผลผลิต 600-700 กิโลกรัม ต่อไร่

เปอร์เซ็นต์ ข้าวกล้อง 76%

เปอร์เซ็นต์ ต้นข้าวหรือข้าวเต็มเมล็ด 50%

รูปร่างเมล็ด เรียวยาว

ความยาวของเมล็ด ข้าวเปลือก 11 มิลลิเมตร

ข้าวกล้อง 7.6 มิลลิเมตร ข้าวขัด 7.0 มิลลิเมตร

สีของข้าวกล้อง สีน้ำตาลอ่อน

ปริมาณอะไมโลส 16.7%

อุณหภูมิแป้งสุก (GT) น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส

ปริมาณธาตุเหล็ก 1.5-2.0 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม

ดัชนีน้ำตาล ปานกลางในข้าวกล้อง 58 ข้าวขัด 72

ข้าวพันธุ์สินเหล็กกำลังอยู่ในขั้นปลูกประเมินพันธุ์ ประกอบการขอจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยกองคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร คาดว่าจะถ่ายทอดสู่เกษตรกรต่อไปในอนาคต ในทางเศรษฐกิจ ข้าวสินเหล็กเป็นที่ต้องการในตลาดโภชนาการเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีธาตุเหล็กอยู่ในปริมาณที่สูงและมีดัชนีน้ำตาลในระดับปานกลางถึงต่ำ จึงทำให้เมล็ดข้าวสินเหล็กมีมูลค่าสูง

3. ไรซ์เบอร์รี่

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนา โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พันธุ์พ่อ) กับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จากสถาบันวิจัยข้าว (พันธุ์แม่) โดยเริ่มผสมพันธุ์เมื่อปี พ.ศ. 2545 ณ ศูนย์วิจัยข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

เมื่อได้ลูกผสม F1 ปล่อยให้มีการผสมตัวเอง แล้วเก็บเมล็ด F2 มาปลูกต่อซึ่งมีจำนวนมากกว่า 10,000 ต้น คัดเลือกต้น F2 จากการสังเกตลักษณะทรงต้นที่ให้ผลผลิตดี การติดเมล็ดดี รูปร่างเมล็ดเรียวยาว ได้จำนวน 500 ต้น ในปีเดียวกัน จากนั้นประเมินคุณภาพเมล็ดโดยกะเทาะเมล็ดแล้วสังเกตความสม่ำเสมอ สังเกตความใส-ขุ่น ของเมล็ด การแตกหักจากการสี แล้วจึงคัดเลือก F3 family ได้ 300 ครอบครัว

ปลูกครอบครัว F3 จำนวน 16 ต้น ต่อครอบครัวแบบปักดำ คัดเลือกต้นครอบครัวที่มีต้นที่ให้ผลผลิตสูง ติดเมล็ดดี ขนาดเมล็ดใหญ่ ยาวเรียว ไม่เป็นโรคไหม้คอรวง เปลือกเมล็ดสะอาด คัดพันธุ์ที่มีเมล็ดสีขาวกล้องสีม่วงเข้ม-ดำ น้ำหนักเมล็ด ต่อครอบครัวดี แล้วคัดเลือกภายในครอบครัวดี แล้วทำการคัดเลือกภายในครอบครัวให้ได้จำนวนประมาณ 2-5 ต้น ในปี 2546 และทำเช่นนี้อีกในรุ่น F4 และ F5 ในปี 2547

จากนั้นเปรียบเทียบผลผลิตในรุ่น F6 และ F7 ในปี 2548 โดยเลือกครอบครัว F6 จำนวน 96 ครอบครัว ปลูกแบบปักดำจำนวน 25 ต้น ต่อครอบครัว ทำเป็น 3 ซ้ำ เพื่อเปรียบเทียบผลผลิต ลักษณะที่แสดงออก ปริมาณธาตุเหล็กและปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระชนิดต่างๆ แล้วคัดเลือกต้นดีเด่นภายในครอบครัวแล้ว bulk ให้ครอบครัว F7 เพื่อปลูกเปรียบเทียบผลผลิตเป็นครั้งที่ 2 และวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ค้นพบข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการโดยรวมดีเด่น 1 สายพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2548 โดยใช้ชื่อพันธุ์ว่า “ไรซ์เบอร์รี่”

ลักษณะประจำพันธุ์

ความสูง 106 เซนติเมตร

อายุเก็บเกี่ยว 130 วัน

ผลผลิต 750-850 กิโลกรัม ต่อไร่

เปอร์เซ็นต์ ข้าวกล้อง 76%

เปอร์เซ็นต์ ต้นข้าวหรือข้าวเต็มเมล็ด 50%

ความต้านทานโรค ต้านทานโรคไหม้

รูปร่างเมล็ด เรียวยาว

ความยาวของเมล็ด ข้าวเปลือก 11 มิลลิเมตร

ข้าวกล้อง 7.5 มิลลิเมตร ข้าวขัด 7.0 มิลลิเมตร

ปริมาณอะไมโลส 15.6%

อุณหภูมิแป้งสุก (GT) ระดับ 7 (น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส)

ปริมาณธาตุเหล็กสูง 1.5-1.8 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม

ปริมาณสารเบต้าแคโรทีน 60 ug ต่อ 100 กรัม

ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระชนิดที่ละลายน้ำ 4,755 mnol ascorbic acid eq./g.

ปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระชนิดละลายในน้ำมัน 3,344 nmol Trolox eq./g.

ข้าวพันธุ์นี้กำลังอยู่ในขั้นปลูกประเมิน ประกอบการขอจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ คาดว่าจะถ่ายทอดสู่เกษตรกรต่อไปในอนาคต ในทางเศรษฐกิจ ข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นที่ต้องการในตลาดโภชนาการเป็นอย่างมาก เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในปริมาณที่สูง จึงเป็นตัวผลักดันให้เมล็ดข้าวไรซ์เบอร์รี่มีมูลค่าสูง

4. สังข์หยด

“ข้าวสังข์หยด พัทลุง” เป็นข้าวที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศรับรอง ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา ให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์พันธุ์แรกของประเทศไทย (จีไอ) โดยชื่อข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงนั้น หมายถึง ข้าวสังข์หยด ที่ผลิตตามระบบการตรวจรับรองการผลิตตามระบบการจัดการคุณภาพ (GAP) และภายใต้เงื่อนไขของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเรียกกันตามถนัดของแต่ละคน แต่ถ้าให้ถูกต้องจริงๆ ต้องเรียกว่า “ข้าวสังข์หยด เมืองพัทลุง”

เพื่อให้เห็นความแตกต่างตั้งแต่ชื่อ ตลอดถึงคุณภาพด้วย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication ย่อว่า GI) โดยมีผลทำให้ข้าวสังข์หยด ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในสิทธิของชุมชนผู้ผลิต เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพข้าวสังข์หยดที่ผลิตในท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าของข้าวสังข์หยด เพราะเครื่องหมาย จีไอ เป็นเสมือนเครื่องหมายทางการค้า ที่รับรองคุณภาพของข้าวสังข์หยด ส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้แปรรูปในท้องถิ่น ได้รักษามาตรฐานสินค้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมในท้องถิ่น กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ทั้งยังสร้างชื่อเสียงแก่ชุมชน จังหวัด ตลอดถึงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

เป็นข้าวต้นสูง กอตั้ง แตกกอปานกลาง ใบสีเขียว มีขนบนแผ่นใบข้าวเปลือกสีฟาง ขนาดเมล็ด 9.35 มิลลิเมตร กว้าง 2.13 มิลลิเมตร หนา 1.75 มิลลิเมตร จัดเป็นข้าวเจ้านาสวน ถิ่นกำเนิดอยู่ในจังหวัดพัทลุง

ข้าวสังข์หยด มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ คือ มีกากใยอาหารสูง จึงมีประโยชน์ในการชะลอความแก่ นอกจากนี้ มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัสสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ ซึ่งมีประโยชน์ในการบำรุงโลหิต บำรุงร่างกายให้แข็งแรงและป้องกันโรคความจำเสื่อม และยังมีสารแอนติออกซิแดนต์ พวก oryzanol และมี Gamma Amino Butyric Acid (GABA) ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง จึงนับได้ว่า ข้าวพันธุ์สังข์หยดเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณค่าทางอาหารสูง

คุณลักษณะของข้าวสารสังข์หยด เมล็ดเล็ก เรียว ท้ายงอน เยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีแดงถึงแดงเข้ม เมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดข้าวจะนุ่ม และจับตัวกันคล้ายข้าวเหนียว วิธีการหุง ให้ซาวข้าวเบาๆ โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพียงครั้งเดียว เพื่อไม่ให้สูญเสียคุณค่าของข้าว เติมน้ำให้ท่วมข้าว สูง 1 ข้อนิ้ว เมื่อข้าวสุกทิ้งไว้ให้ข้าวระอุ ประมาณ 5-10 นาที หากต้องการให้ข้าวแข็งหรือนุ่ม สามารถลดหรือเพิ่มน้ำได้ตามความชอบ

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวสังข์หยด ต่อน้ำหนัก 100 กรัม

– พลังงาน 364.2 กิโลแคลอรี

– โปรตีน 73 กรัม

– คาร์โบไฮเดรต 73.1 กรัม

– เส้นใย 4.81 กรัม

– แคลเซียม 13 มิลลิกรัม

– ฟอสฟอรัส 317 มิลลิกรัม

– ธาตุเหล็ก 1.4 มิลลิกรัม

– วิตามิน บี 1 0.32 มิลลิกรัม

– วิตามิน บี 2 0.01 มิลลิกรัม

– ไนอะซิน 6.4 มิลลิกรัม

5. เฉี้ยง

ข้าวเฉี้ยง เป็นพันธุ์หนึ่งที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้ดี และปลูกได้ในหลายท้องที่ทุกจังหวัดในภาคใต้ อายุในการเก็บเกี่ยวปานกลาง ปลูกได้ในพื้นที่ที่มีชลประทาน และที่อาศัยน้ำฝน”

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้านาสวน มีส่วนสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมกราคม มีใบสีเขียว ใบธงแผ่เป็นแนวนอน คอรวงยาว รวงยาวปานกลาง ระแง้ค่อนข้างถี่ เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง โดยมีระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 1 สัปดาห์ ให้ผลผลิตประมาณ 470 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนเมล็ดข้าวกล้อง กว้างxยาวxหนา = 2.1×6.7×1.6 มิลลิเมตร มีท้องไข่ปานกลาง ปริมาณอะมิโลส 27 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์เฉี้ยงนั้น มีอายุเบา โดยจะให้ผลผลิตค่อนข้างสูงและสม่ำเสมอ อีกทั้งยังสามารถปรับตัวได้ดีทั้งในพื้นที่ที่เป็นนาดอนและนาลุ่ม มีความเหมาะสมกับพื้นที่ทุกจังหวัดในภาคใต้ทั้งที่เป็นน้ำชลประทานและน้ำฝน มีการปลูกกันมากในจังหวัดพัทลุง และนครศรีธรรมราช

คุณภาพการสีดีและคุณภาพการหุงต้มดี ทั้งข้าวเก่าและข้าวใหม่ ข้าวใหม่สามารถสีบริโภคได้ทันที สำหรับคุณภาพข้าวสุกแล้ว ร่วนแข็ง และหอม แต่สิ่งสำคัญมีข้อควรระวัง คือไม่ต้านทานต่อโรคไหม้ และค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง

ลืมผัว

ข้าวลืมผัว เป็นข้าวไร่ที่เป็นข้าวเหนียวนาปีของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง บ้านรวมไทยพัฒนาที่ 3 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 650 เมตร คุณพนัส สุวรรณธาดา เจ้าพนักงานการเกษตร ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้นำมาคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ ระหว่างปี 2534-2538

โดยได้มอบเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ให้ คุณไชยวัฒน์ วัฒนไชย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร ขณะนั้น (ปัจจุบัน เกษียณราชการ และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากรมการข้าว) เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นได้นำเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ไปให้ชาวไทยภูเขาในพื้นที่ปลูกดังเดิม

แต่เมื่อเวลาผ่านไป พบว่า ข้าวลืมผัว มีเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นปน และไม่เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สำนักวิจัยข้าว กรมการข้าว โดย คุณอภิชาติ เนินพลับ คุณอัจฉราพร ณ ลำปาง เนินพลับ คุณพงศา สุขเสริม และศูนย์วิจัยข้าวแพร่ โดย คุณวรพจน์ วัจนะภูมิ จึงได้เริ่มคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์อีกครั้ง

ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝนภาคเหนือตอนล่าง ในปี 2551 และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 ขณะนี้อยู่ในโครงการนำร่องอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวเพื่อใช้ประโยชน์ ของสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

ข้าวลืมผัว มีต้นสูงประมาณ 137 เซนติเมตร ออกดอกประมาณ วันที่ 15 กันยายน จำนวนเมล็ด ต่อรวง เฉลี่ย 130 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างอ้วน น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 37.9 กรัม

สถิติสูงสุดเมื่อปลูกในสภาพไร่และฟ้าอากาศเหมาะสม ได้ 490 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อนำมาปลูกในพื้นราบ ผลผลิตที่ได้ 200-350 กิโลกรัม ต่อไร่ ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว

ข้าวลืมผัว มีสีเปลือกหุ้มเมล็ดเปลี่ยนไปตามระยะการเจริญเติบโตของเมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีม่วงดำ ที่เรียกว่า ข้าวเหนียวดำ หรือข้าวก่ำ เป็นข้าวเหนียวที่มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย เมื่อเคี้ยวจะรู้สึกมันและนุ่มแบบหนุบๆ

การบริโภคทำได้ทั้งแบบข้าวเหนียวนึ่ง รับประทานกับอาหาร ผสมข้าวต้มทำให้มีสีม่วงอ่อนสวยงาม ทำเป็นขนมแบบข้าวเหนียวเปียก ทำเป็นชาข้าวคั่วแบบเพิร์ล บาร์เลย์ หรือเครื่องดื่มทั้งแบบมีแอลกอฮอล์หรือปราศจากแอลกอฮอล์ จะมีสีคล้ายทับทิมสวยงาม

คุณค่าทางโภชนาการที่เด่นเป็นพิเศษ เมื่อวิเคราะห์ทันทีหลังเก็บเกี่ยวฤดูนาปี 2552 พบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ (แอนติออกซิแดนต์) โดยรวม ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ในปริมาณสูงถึง 833.77 มิลลิกรัม กรดแอสคอร์บิก ต่อ 100 กรัม

มีวิตามินอี (อัลฟา-โทโคฟีรอล) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดคอเลสเตอรอล ปริมาณ 16.83 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม

มีแกมมา-โอไรซานอล ที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ตลอดจนการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ปริมาณ 508.09 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม

มีกรดไขมัน ที่ช่วยบำรุงสมอง ป้องกันภาวะเสื่อมของสมองและช่วยความจำ ได้แก่ โอเมก้า-3 อยู่ 33.94 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม

มีโอเมก้า-6 ที่บรรเทาอาการขาดภาวะเอสโตรเจนของวัยทองและช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สูงถึง 1,160.08 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม

มีโอเมก้า-9 ซึ่งช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดไม่อุดตัน ไม่เป็นโรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน และช่วยลดความอ้วนสูงถึง 1,146.41 มิลลิกรัม ต่อ 100 กิโลกรัม

มีแอนโทไซยานิน 46.56 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม โปรตีน 10.63 เปอร์เซ็นต์ ธาตุเหล็ก 84.18 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ส่วนแคลเซียม สังกะสี และแมงกานีส มีในปริมาณ 169.75, 23.60 และ 35.38 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ตามลำดับ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดย บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาเชียงใหม่, สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

7. ปิ่นเกษตร

ข้าวปิ่นเกษตร เป็นข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนามาจากการผสมระหว่างข้าวดอกมะลิ 105 กับข้าวไม่ไวแสงที่ทนแล้ง (CT9993) เมื่อได้ F1 แล้วปล่อยให้มีการผสมตัวเอง จากนั้นปลูก F1 แบบต้นเดียว และปลูก F3-F7 แบบ Pedigree selection จนสามารถคัดเลือกข้าวหอมสีขาวที่ไม่ไวแสง มีกลิ่นหอม นุ่มเหนียว ข้าวกล้องมีความนุ่มนวล มีเมล็ดยาวและใสมาก โดยใช้ชื่อว่า “ปิ่นเกษตร”

ข้าวพันธุ์ปิ่นเกษตร ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 3 จากการประกวดข้าวโลก (2nd World Rice Competition) ในปี พ.ศ. 2547

ลักษณะประจำพันธุ์

ความสูง 150 เซนติเมตร

อายุเก็บเกี่ยว 138 วัน

ผลผลิต 80-700 กิโลกรัม ต่อไร่

เปอร์เซ็นต์ ข้าวกล้อง 76%

เปอร์เซ็นต์ ต้นข้าวหรือข้าวเต็มเมล็ด 50%

ความยาวของเมล็ด ข้าวเปลือก 11 มิลลิเมตร

ข้าวกล้อง 8.2 มิลลิเมตร ข้าวขัด 7.6 มิลลิเมตร

ปริมาณอะไมโลส 16%

อุณหภูมิแป้งสุก (GT) ระดับ 3

ปริมาณธาตุเหล็ก 1.1 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม

ธาตุเหล็กในเมล็ดข้าวพันธุ์นี้มีความเป็นประโยชน์สูงมาก ทั้งในระดับเซลล์ทดสอบและในร่างกายมนุษย์

ข้าวปิ่นเกษตรได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 จากการประกวดข้าวโลก จึงเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรโดยทั่วไป ทั้งคุณภาพและปริมาณผลผลิต ในขณะนี้ข้าวปิ่นเกษตรกำลังส่งเสริมและทดลองปลูกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม

8. มะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์

ข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์ เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว คณะเทคโนโลยี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์ เป็นข้าวเจ้าหอมต่างสี ซึ่งได้จากการคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ข้าวเจ้าต่างสี พันธุ์พื้นเมืองไวต่อช่วงแสง 3 พันธุ์ คือ มะลิแดง เบอร์ 54 มะลิพื้นเมือง (ข้าวแดง) และมะลิดำ เบอร์ 53 จากแปลงแสดงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2548 จนได้พันธุ์บริสุทธิ์ จำนวน 12 สายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง จำนวน 5 พันธุ์ คือ มะลิโกเมนสุรินทร์ 1-5 และกลุ่มที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีดำ จำนวน 7 พันธุ์ คือ มะลินิลสุรินทร์ 1-7

ข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์ สามารถสนองต่อการเรียกหาของคนรักสุขภาพ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อีกทั้งยังมีข้อดีทางด้านคุณภาพทางกายภาพ ทางเคมี และคุณภาพการหุงต้มรับประทานดี คือ เป็นข้าวเมล็ดเรียวยาว เปอร์เซ็นต์อะมิโลสต่ำ ข้าวสุกเหนียวนุ่ม และมีกลิ่นหอม

จากการตรวจวิเคราะห์ในเมล็ดพบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูง ประกอบด้วย สารประกอบฟีโนลิก และแอนโทไซยานิน ที่มีผลทำให้ผิวหนังของเราไม่เหี่ยวแห้งเร็วก่อนวัยอันควร แถมยังช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็งและยังออกฤทธิ์ในการขยายเส้นเลือด ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดอุดตันในสมองและโรคอัมพาตอีกด้วย

นอกจากนั้น ข้าวกลุ่มนี้ยังเหมาะสำหรับใช้ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์เพราะมีการใช้ปัจจัยการผลิตต่ำ จึงเป็นทางเลือกสำหรับชาวนาที่ทำนาแบบอินทรีย์ ผลผลิตภายใต้สภาพการปลูกแบบอินทรีย์ จะอยู่ที่ 224-458 กิโลกรัม ต่อไร่ ความสูง 158-185 เซนติเมตร ออกดอกระหว่างวันที่ 20-29 ตุลาคม

“มะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์ ตอบสนองต่อปุ๋ยค่อนข้างต่ำ ผลผลิตจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับการบำรุงดิน ไม่ว่าจะได้ผลผลิต 270, 300 หรือ 400 กิโลกรัม ต่อไร่ มันก็กำไรอยู่แล้ว เพราะต้นทุนต่ำ”

คุณสมบัติของข้าวมะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์ ที่ได้จากการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ข้าวสายพันธุ์ดังกล่าวมีความต้องการปุ๋ยเคมีน้อย แต่ปัจจัยของผลผลิตของข้าวสายพันธุ์นี้ ขึ้นอยู่กับแร่ธาตุและอาหารในดิน ดังนั้น การดูแลรักษาและบำรุงดิน จึงจัดว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ว่าผลผลิตจะออกมาเท่าไหร่ ผู้ที่ทำนาแบบเกษตรอินทรีย์นั้น ก็มีกำไรเสมอ เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตข้าวที่ต่ำ

การแพร่กระจายพันธุ์ของมะลิโกเมนสุรินทร์ และมะลินิลสุรินทร์นั้น มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนในปัจจุบันมีเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ นำตัวอย่างเมล็ดพันธุ์จากศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ไปปลูกแล้วกว่า 300 ราย ต่อกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ทำนาเกษตรอินทรีย์ที่มีการปลูกเชิงการค้า ตัวอย่าง เช่น สหกรณ์การเกษตรปราสาท จำกัด เกษตรกรในจังหวัดสกลนคร เกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม เกษตรกรในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ และเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ที่จังหวัดยโสธรและร้อยเอ็ด นอกจากนั้น ฤดูนาปี 2554 มีเกษตรกรสนใจนำไปทดลองปลูกในภาคอีสานแล้วจำนวนหลายราย

9. ลูกผสม ซีพี 304

เป็นข้าวลูกผสมที่ปรับปรุงพันธุ์โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ จุดเด่นข้าว ซีพี 304 คือให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 938 กิโลกรัม สามารถต้านทานโรคไหม้ได้ อายุการเก็บเกี่ยวสั้นที่ 90-105 วัน (ขึ้นอยู่กับสภาพดินและฤดูกาล) รูปร่างเมล็ดยาวเรียว เมล็ดยาว 7.61 มิลลิเมตร กว้าง 2.11 มิลลิเมตร ปริมาณอะมิโลส 27.41 เปอร์เซ็นต์ ท้องไข่น้อย ทั้งนี้เนื้อสัมผัสข้าวสุกค่อนข้างนิ่ม เมื่อเย็นแล้วจะแข็งและเหนียว

ข้าว ซีพี 304 เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง ลักษณะพิเศษ ลำต้นตั้งตรง ใบและกาบใบมีสีเขียว ใบธงตั้งตรง คอรวงสั้น มีจำนวนเมล็ดต่อรวงที่ 250 เมล็ด ข้าวสุกมีลักษณะร่วน นุ่มปานกลาง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,200-1,500 กิโลกรัม ต่อไร่

พื้นที่แนะนำ : พื้นที่นาในเขตชลประทาน ดินอุดมสมบูรณ์ และที่สำคัญ เกษตรกรต้องมีความพร้อม

10. ลูกผสมแท้ ซีพี 111

ข้าวลูกผสม ซีพี 111 เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปี และนาปรัง ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ของสถานีวิจัยข้าวลูกผสมฟาร์มกำแพงเพชร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด

ข้าวลูกผสม ซีพี 111 เป็นข้าวเจ้า ความสูงประมาณ 115-120 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและพื้นที่ปลูก ลำต้นตั้งตรง ใบธงตั้งตรง คอรวงยาว เป็นข้าวที่ตอบสนองต่อการให้ปุ๋ยได้ดี เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดยาว 7.36 มิลลิเมตร ความยาวของรวงประมาณ 26-30 เซนติเมตร จำนวนเมล็ดเฉลี่ยต่อรวง ประมาณ 136 เมล็ด มีปริมาณอะมิโลส 28% คุณภาพข้าวสุก ร่วน ค่อนข้างแข็ง เปอร์เซ็นต์ข้าวต้นประมาณ 45-50% ผลผลิตข้าวสูงถึง 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ในฤดูกาลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมีการจัดการดูแลที่ถูกต้อง

ลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์ ซีพี 111 มีความสามารถต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคไหม้และขอบใบแห้ง ในทุกฤดูนาปีและนาปรังจะให้ผลผลิตสม่ำเสมอทุกๆ ปี เมล็ดข้าวแกร่ง ใส ท้องไข่น้อย

ช่วงเวลาปลูกข้าว ซีพี 111 ที่เหมาะสม คือช่วงนาปี และนาปรัง เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อนหนาว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ รวมถึงปัจจัยต่างๆ ในแต่ละพื้นที่

ฤดูการปลูกข้าวพันธุ์แท้ที่เหมาะสมที่สุดคือ ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม

11. กข 45

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข 45 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวสายพันธุ์ PCRBR83012-267-5 (ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวพันธุ์หอมนายพล กับ IR46) กับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี เมื่อ ปี 2532

กข 45 เป็นข้าวเจ้าน้ำลึก ไวต่อช่วงแสง จะออกดอกประมาณวันที่ 25 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน ควรปลูกในพื้นที่ที่มีระดับน้ำไม่เกิน 100 เซนติเมตร มีความสามารถยืดปล้องได้ดีที่ระดับน้ำ 90 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ทรงกอตั้ง ต้นแข็งปานกลาง ใบสีเขียว ใบธงตั้งตรง รวงยาว 27.7 เซนติเมตร เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ยาว 10.2 มิลลิเมตร กว้าง 2.73 มิลลิเมตร และหนา 2.09 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวกล้องรูปร่างเรียว ยาว 7.44 มิลลิเมตร กว้าง 2.33 มิลลิเมตร และหนา 1.83 มิลลิเมตร

คุณภาพการสีดี เมล็ดข้าวขาวใส มีท้องไข่น้อย สีเป็นข้าว 100% ได้ ปริมาณอะมิโลสต่ำ 16.35 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ความคงตัวของแป้งสุกอ่อน 80 มิลลิเมตร อัตราการยืดตัวของข้าวสุก 1.67 เท่า ข้าวเมื่อหุงต้มด้วยอัตราส่วน ข้าวต่อน้ำ เป็น 1 : 1.7 เท่า (โดยน้ำหนัก) นุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอม ระยะพักตัวของเมล็ดพันธุ์ประมาณ 9 สัปดาห์

12. เหนียวสันป่าตอง

ข้าวเหนียวสันป่าตอง เกิดจากการกลายพันธุ์ของพันธุ์ข้าวเจ้าเหลืองใหญ่ 10 เมื่อประมาณปี 2498 สถานีทดลองสันป่าตองได้พบว่า พันธุ์ข้าวเจ้าเหลืองใหญ่ที่เกษตรกรปลูกอยู่นั้น มีลักษณะของข้าวเหนียวปะปนอยู่ จึงได้คัดแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวออกจากพันธุ์ข้าวเจ้าเดิม แล้วนำไปปลูกศึกษาพันธุ์แบบรวงต่อแถว ใช้เวลานาน 7 ปี

ข้าวเหนียวที่ศึกษานั้นมีลักษณะที่ดีหลายประการ สายพันธุ์คงที่ ไม่กลายพันธุ์ เป็นข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูง เฉลี่ยประมาณ 520 กิโลกรัม ต่อไร่ ข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด น้ำหนักประมาณ 29.6 กรัม ข้าวนึ่งอ่อนนุ่ม ต้านทานต่อโรคใบจุดสีน้ำตาล ทนต่อสภาพดินเค็ม ด้วยคุณสมบัติที่ดีหลายประการนี้เอง คณะกรรมการข้าวจึงได้พิจารณามีมติให้เป็นข้าวพันธุ์ส่งเสริมและขยายพันธุ์ได้ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2505 และตั้งชื่อว่า “ข้าวเหนียวสันป่าตอง”

ข้าวเหนียวสันป่าตอง เป็นข้าวที่มีลำต้นสูงประมาณ 150 เซนติเมตร ทรงกอแผ่ ปล้องสีเหลืองอ่อน กาบใบและใบสีเขียว มีขนบนใบ ใบแก่ช้าปานกลาง มุมของยอดแผ่นใบตก ข้อต่อระหว่างใบและกาบใบสีเขียวอ่อน ลิ้นใบมีลักษณะแหลมสีขาว หูใบสีเขียวอ่อน ปลายยอดดอกและกลีบรองดอกสีฟาง ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ใบธงหักลง รวงยาวและแน่นปานกลาง ระแง้ค่อนข้างถี่ คอรวงยาว ก้านรวงอ่อน เมล็ดข้าวเปลือกสีน้ำตาล ยอดเมล็ดสีฟาง มีขนที่เปลือกเมล็ด ข้าวกล้องรูปร่างยาวเรียว ยาว 7.2 มิลลิเมตร กว้าง 2.3 มิลลิเมตร หนา 1.8 มิลลิเมตร ข้าวสุกอ่อนนุ่ม หอม ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 5 สัปดาห์

13. น้ำรู

ข้าวน้ำรู ได้จากการรวบรวมสายพันธุ์ข้าวจากชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ ที่บ้านน้ำรู ดอยสามหมื่น ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดย คุณวิฑูรย์ ขันธิกุล ได้ทำการปลูกศึกษาเปรียบเทียบผลผลิตที่สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาว อำเภอสะเมิง และสถานีทดลองเกษตรที่สูงในภาคเหนือ คณะกรรมการวิจัยและพัฒนา กรมวิชาการเกษตร ได้รับรองสายพันธุ์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2530

ข้าวน้ำรูเป็นข้าวไร่ ข้าวเจ้า ลำต้นสูง 141 เซนติเมตร ไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน อายุการเก็บเกี่ยวเมื่อปลูกในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,100-1,250 เมตร จะเก็บเกี่ยวได้ประมาณกลางเดือนตุลาคม หากปลูกในพื้นที่สูงกว่านี้ การออกดอกจะช้าลง แต่ถ้าพื้นที่ต่ำกว่านี้จะออกดอกเร็วขึ้น สภาพพื้นที่ที่แนะนำให้ปลูกได้ดีและเหมาะสมคือ 1,000-1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวน้ำรู คือ ลำต้นตรงและแข็ง ไม่ล้มง่าย แตกกอดี ทรงต้นค่อนข้างแน่น ใบยาว แผ่นใบกว้างตรง มีขนเล็กน้อย กาบใบสีเขียว ระแง้ถี่ คอรวงยาว เมล็ดร่วงปานกลาง ส่วนใหญ่ไม่มีหาง เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 1 สัปดาห์ คุณภาพข้าวสุก ร่วน นุ่ม ผลผลิตประมาณ 247 กิโลกรัม ต่อไร่ สามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่อากาศหนาวเย็นและพื้นที่สูงมากๆ ต้านทานโรคเมล็ดด่างในธรรมชาติ ค่อนข้างต้านทานโรคไหม้ ข้อควรระวังคือไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ใบสีส้ม โรคใบหงิก โรคเขียวเตี้ย โรคหูด ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคเน่าคอรวง

14. ก่ำดอยสะเก็ด

ข้าวก่ำดอยสะเก็ด เป็นข้าวเหนียวที่มีประวัติการปรับปรุงพันธุ์ ในปี 2538 ซึ่งได้รวบรวมพันธุ์ข้าวจาก คุณพินิจ คำยอดใจ อาชีพทำนา อยู่บ้านเลขที่ 31/1 บ้านสันปูเลย ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะพันธุ์ข้าวก่ำดอยสะเก็ด เป็นพืชล้มลุกวงศ์หญ้า เป็นข้าวเหนียวตอบสนองต่อช่วงไวแสง ระบบรากแบบ Fibrous Root System ลักษณะการเจริญเติบโตทางลำต้น มีการแตกกอ เฉลี่ย 9 กอ ต่อต้น มีความสูงเฉลี่ย 141 เซนติเมตร สีของลำต้นเป็นสีม่วง มีปล้องสีม่วง ส่วนเขี้ยวใบก็เป็นสีม่วงเช่นกัน รูปร่างของใบเป็นแบบใบแคบ มีสีม่วงทั้งกาบใบและตัวใบ มีเส้นกลางใบเป็นสีม่วง ลักษณะช่อดอกเป็นแบบรวง ดอกเดี่ยว สมบูรณ์เพศ กลีบดอกรองมีสีม่วง และกลีบดอกมีสีม่วงเช่นกัน เกสรตัวผู้สีเหลือง เกสรตัวเมียสีม่วง

ลักษณะของเมล็ดมีเปลือกสีม่วง เยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วง เมล็ดเรียวยาว ขนาดเมล็ดกว้าง 0.33 เซนติเมตร ยาว 0.97 เซนติเมตร ส่วนจำนวนเมล็ดต่อรวงเฉลี่ย 120 เมล็ด อายุการออกดอก 86 วัน มีระยะเวลาการบานดอกจากกอแรกถึงการบาน 90 เปอร์เซ็นต์ นาน 15 วัน

15. เล็บนก

ข้าวเล็บนก เป็นข้าวที่ได้จากการรวบรวมพันธุ์ 307 พันธุ์ จาก 104 อำเภอ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ในปี 2527 โดยพันธุ์เล็บนกที่เก็บมาจากตำบลชะรัด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ข้าวพันธุ์เล็บนกมีผลผลิตเฉลี่ย 476 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาที่โรงสีท้องถิ่นรับซื้อกัน ราคาอยู่ที่ระหว่าง 9,500-10,000 บาท

ข้าวเล็บนก เป็นข้าวที่มีคุณภาพการหุงต้มเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เป็นพันธุ์ข้าวที่ผลิตเป็นการภายในท้องถิ่นภาคใต้ ลักษณะประจำพันธุ์ของข้าวพันธุ์เล็บนก เป็นข้าวเจ้า ประเภทไวต่อแสง มีอายุการเก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ รวงยาวจับกันแน่น ระแง้ถี่ คอรวงยาว และความสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ข้าวพันธุ์เล็บนกให้ผลผลิตค่อนข้างสูง เมื่อปลูกในสภาพนาเป็นลุ่มน้ำที่แห้งช้า ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมของภาคใต้ตอนกลาง บริเวณพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง

16. หอมมะลิแดง ข้าวเจ้านาปี

มะลิแดง หรือที่เรียกอีกชื่อว่า ข้าวหอมแดง เป็นสายพันธุ์ข้าวเจ้าที่กลายพันธุ์มาจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งพบในแปลงปลูกของสถานีทดลองข้าวจังหวัดสุรินทร์ ประมาณ พ.ศ. 2525-2526 โดยจากการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของข้าวพันธุ์หลัก ขาวดอกมะลิ 105 ที่สถานีทดลองข้าวสุรินทร์ ซึ่งมี คุณบุญโฮม ชำนาญกุล เป็นผู้อำนวยการสถานีในขณะนั้น พบว่า ในรวงข้าวจำนวนหนึ่งมีเมล็ดที่เป็นข้าวเหนียวปนอยู่ จึงแยกเมล็ดที่เป็นข้าวเหนียวปนอยู่ และแยกเมล็ดแต่ละรวงไปปลูกศึกษาลักษณะต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527

จน พ.ศ. 2542 สถาบันวิจัยข้าวเสนอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร เป็นพันธุ์ข้าวทั่วไป โดยใช้ชื่อว่า “ข้าวหอมแดง” (Red Hawm Rice) และมีอีกชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า มะลิแดง

ลักษณะประจำพันธุ์

– เป็นข้าวเจ้า สูงประมาณ 120-130 เซนติเมตร

– ไวต่อช่วงแสง

– อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 20 พฤศจิกายน

– ลำต้นแข็ง กอตั้ง

– ใบสีเขียวอ่อน ใบโน้ม ใบธงตก

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง

– ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 8 สัปดาห์

– ท้องไข่น้อย

– เมล็ดข้าวกล้อง กว้างxยาวxหนา = 2.1×7.5×1.7 มิลลิเมตร

– ปริมาณอะมิโลส 16.9%

ผลผลิต

– ประมาณ 643 กิโลกรัม ต่อไร่

ลักษณะเด่น

– เป็นข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงเข้ม

– ข้าวสุกนุ่ม เหนียว และมีกลิ่นหอมเหมือนขาวดอกมะลิ 105

– ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในสภาพธรรมชาติได้ดี

– ค่อนข้างต้านทานโรคไหม้

ข้อควรระวัง

– ไม่ต้านทานโรคใบสีส้ม โรคใบขอบแห้ง และโรคใบขีดโปร่งแสง

พื้นที่แนะนำ

– ควรปลูกในพื้นที่เฉพาะ เพราะเป็นข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง การนำไปปลูกในแปลงข้าวขาวอาจทำให้ปะปนกัน

พร้อมกันนี้ยังได้มีการศึกษาพบว่า ข้าวมะลิแดงที่ผลิตออกมาในลักษณะข้าวกล้องอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ ที่สำคัญต่อร่างกาย มีอยู่ในปริมาณที่สูงมาก เช่น ธาตุเหล็ก ทองแดง วิตามินอี อีกทั้งยังช่วยลดน้ำตาลในเลือดด้วย ซึ่งเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

17. เข็มเงิน

เข็มเงิน เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล จะหารับประทานในพื้นที่อื่นได้ยาก ชาวบ้านจะอนุรักษ์ปลูกไว้ในรูปแบบของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตข้าวซ้อมมือ ชุมชนสะพานโยง อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล

คุณลักษณะเด่นของข้าวพันธุ์เข็มเงิน คือ เมล็ดเล็ก รสชาติดี หุงแล้วนุ่ม หอม อร่อย ไม่แพ้ข้าวหอมพันธุ์อื่นๆ ให้ผลผลิตต่อไร่น้อย เพียงแค่ 60 ถัง ต่อไร่ เท่านั้น

ปัจจุบัน ข้าวพันธุ์เข็มเงินปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เท่านั้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะนำมาแปรรูปเป็นข้าวซ้อมมือ และข้าวกล้อง

18. เหลืองอ่อน

ข้าวเหลืองอ่อน เป็นข้าวนาปี ต้นสูง เก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนธันวาคม เป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพหุงต้มดี เป็นที่ต้องการของตลาด มีเมล็ดข้าวเปลือกสีเหลืองอ่อน เรียวยาว เมล็ดข้าวสารเลื่อมมัน นิยมปลูกกันอยู่ในนาน้ำฝน ในภาคกลาง หลายจังหวัด เช่น ราชบุรี เพชรบุรี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปลูกในจังหวัดร้อยเอ็ด

ข้าวเหลืองอ่อน มีฟางอ่อนล้มง่าย ถ้าข้าวงอกงามอาจล้มไวทำให้เสียหายต่อผลผลิต การปรับปรุงพันธุ์ทำได้โดยหาข้าวฟางแข็งมาผสม พันธุ์ข้าวฟางแข็งพันธุ์พื้นเมืองยังมีอยู่หลายพันธุ์

ลักษณะเด่นของข้าวเหลืองอ่อน จะแตกกอดี พันธุ์ข้าวที่มีฟางแข็ง พันธุ์ข้าวที่มีรวงใหญ่ รวงเป็นพวง พันธุ์ข้าวที่มีเมล็ดใหญ่ ลักษณะต่างๆ เหล่านี้สามารถจะนำมาใช้เป็นพันธุ์พ่อแม่ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้

19. ปะกาอำปึล (ดอกมะขาม)

ข้าวหอม ทนแล้งเป็นที่ 1

ปะกาอำปึล เป็นข้าวพันธุ์หนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ถิ่นกำเนิดของข้าวพันธุ์นี้ อยู่ตะเข็บชายแดนไทยกัมพูชา ทางฝั่งไทยปลูกกันแถบจังหวัดสุรินทร์ ส่วนกัมพูชาคือจังหวัดอุดรมีชัย

คุณอร่าม ทรงสวยรูป ผู้ศึกษาข้าวพันธุ์นี้ บอกว่า ปะกาอำปึล แปลว่า ดอกมะขาม

ทำไม คุณอร่าม ต้องสนใจข้าวพันธุ์นี้

คุณอร่ามแนะนำว่า ข้าวปะกาอำปึล เป็นข้าวเจ้า ต้นสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105

“ต้นตอผู้ที่เก็บรักษาข้าวพันธุ์นี้ไว้ เป็นพระ อยู่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ จุดเด่นของข้าวปะกาอำปึลอยู่ที่ทนแล้ง ผลผลิตอาจจะน้อยกว่าข้าวหอมมะลิ เหมาะปลูกตามหัวไร่ปลายนา น้ำขังได้นิดหน่อย ไม่ชอบน้ำขังมาก เมื่อสุกแก่ เปลือกของข้าวสีเหลืองทองเหมือนดอกมะขาม เมล็ดยาว เมื่อขัดขาวจะสีขาวเหมือนข้าวทั่วไป หากสีเป็นข้าวกล้องเมล็ดสีน้ำตาลออกเขียว ทนทานต่อโรคแมลง เท่าที่ถามคนรักษาพันธุ์ไว้ เมื่อปลูกไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้สารกำจัดศัตรูข้าว ปลูกทิ้งรอเก็บเกี่ยว อาจจะกำจัดวัชพืชให้บ้าง”

คุณอร่ามบอก และเล่าต่ออีกว่า

“คุณภาพการหุงต้ม เป็นข้าวที่นุ่ม เมื่อเก็บเกี่ยวและสีใหม่ๆ มาหุง มีความหอมไม่น้อยไปกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมื่อหุงกินแล้วเหลือ อยู่ได้นาน ไม่บูดง่าย ผมว่าเปรียบเทียบกับข้าวที่นิยมปลูกกัน ตัวนี้น่าสนใจ เพราะปุ๋ยและสารเคมีไม่ต้องให้ ปลูกนาโคก ขาดน้ำก็ได้เกี่ยว ขอให้น้ำค้างตกถึงใบก็ได้เกี่ยวข้าวยาไส้แล้ว”

20. หอมนิล

ข้าวเป็นยา

จัดเป็นข้าวนาสวน ไม่ไวแสง ปลูกได้ตลอดทั้งปี การแตกกอดี ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ต้นสูง 75 เซนติเมตร ใบและลำต้นสีเขียวอมม่วง เมล็ดข้าวกล้องยาวประมาณ 6.5 มิลลิเมตร มีสีม่วงดำ เปลือกหุ้มเมล็ดข้าวสีม่วงเข้ม อายุการเก็บเกี่ยว 95-100 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 400-700 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้านทานต่อโรคไหม้

ข้าวเจ้าหอมนิล เป็นข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยมีโปรตีนอยู่ในช่วงประมาณ 10-12.5% มีปริมาณแป้งอะไมโลสประมาณ 12-13% มีปริมาณสาร 2-acetyl-1-pyrroline ปานกลาง ร่วมกับสารหอมระเหยจำเพาะ พวก Cyclohexanone ในปริมาณมาก มีแคลเซียม 4.2 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ปริมาณธาตุเหล็กแปรปรวนอยู่ระหว่าง 2.25-3.25 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม และธาตุสังกะสีประมาณ 2.9 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม

ข้าวเจ้าหอมนิล มีปริมาณสาร antioxidation สูงประมาณ 293 ไมโครโมล ต่อกรัม ในส่วนของเยื่อหุ้มเมล็ดที่เป็นสีม่วงเข้มประกอบไปด้วยสาร anthocyanin, proanthocyanidin, bioflavonoids และวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และสีผสมอาหารตามธรรมชาติ

ในส่วนของรำและจมูกข้าว มีวิตามินอี วิตามินบี และกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ในส่วนของรำมีน้ำมันรำข้าว 18% เป็นองค์ประกอบ ซึ่ง 80% เป็นชนิด C18 : 1 และ C18 : 2 เหมือนกับน้ำมันที่ได้จากถั่วเหลืองและข้าวโพด และพบว่ามีสาร โอเมก้า-3 ประมาณ 1-2% รำของข้าวเจ้าหอมนิลมีปริมาณเส้นใย digestible fiber สูงถึง 10% จากข้อมูลทางโภชนาการนับได้ว่าข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่มีศักยภาพในการนำมาแปรรูปทางอุตสาหกรรมอาหารสูง เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งข้าวเจ้าหอมนิล รวมทั้งขนมขบเคี้ยวต่างๆ

ข้าวเจ้าหอมนิล มีเมล็ดสีม่วงดำ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณสีของเมล็ด สีม่วงดำประกอบไปด้วย สีม่วงเข้ม (cyanidin) สีชมพูอ่อน (peonidin) และสีน้ำตาล (procyanidin) ผสมกัน ซึ่งสีที่เห็นนั่นเป็นสารประกอบกลุ่ม flavonoid ที่เรียกว่า สารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ที่ประกอบไปด้วยสาร cyanidin กับ สาร peonidin สารโปรแอนโทไซยานิดิน (proanthocyanidin) ประกอบด้วยสาร procyanidin ซึ่งสารดังกล่าวทั้งหมดนี้เป็นสาร antioxidant ที่ทำหน้าที่จับกับอนุมูลอิสระแล้วช่วยทำให้กลไกลการทำงานของร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าปกติ

สารแอนโทไซยานิน มีรายงานวิจัยพบว่า สามารถช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดที่หัวใจ และสมอง บรรเทาโรคเบาหวาน ช่วยบำรุงสายตาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นเวลามองตอนกลางคืน สาร cyanidin มีประสิทธิภาพในการ antioxidation ได้ดีกว่าวิตามินอี หลายเท่า และยังยับยั้งการเจริญเติบโตของ epidermal growth factor receptor ในเซลล์มะเร็ง สารโปรแอนโทไซยานิดิน หรือเรียกว่า สาร condensed tannins มีรายงานวิจัยพบว่า สารโปรแอนโทไซยานิดิน ทำการ antioxidation ได้ดีกว่าวิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีน (beta-carotene) สารโปรแอนโทไซยานิดิน ยังไปจับกับอนุภาคของกัมมันตภาพรังสีทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ และช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดป้องกันโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ยังยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม ปอด กระเพาะอาหาร และเม็ดเลือดขาว

21. หลวงประธาน

เป็นข้าวนาสวน พื้นที่ที่นิยมปลูกจะอยู่บริเวณลุ่มภาคกลาง ความสูงประมาณ 160 เซนติเมตร ลำต้นแข็งปานกลาง ทรงกอตั้ง ใบธงทำมุมเอนปานกลาง รวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว ก้านรวงอ่อน แตกระแง้ปานกลาง ข้าวเปลือกสีน้ำตาล ติดเมล็ดมากกว่า 90% เมล็ดร่วงง่าย การนวดง่าย

22. ปิ่นแก้ว

ข้าวชนะที่ 1 ของโลก ปี 2476

เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย จึงมีการปรับปรุงพันธุ์พืชชนิดนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เมื่อปี 2476 ข้าวไทยดังกระฉ่อนโลก ที่ประเทศแคนาดา คือข้าวพันธุ์ “ปิ่นแก้ว”

เดิมปิ่นแก้ว เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่ได้จากการประกวดพันธุ์ข้าว ของนางจวน (ไม่มีการบันทึกนามสกุล) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จากนั้นมีการนำไปคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โดยพระยาโภชากรและทีมงานนาทดลองคลองหก รังสิต ปัจจุบันคือ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว

ไทยได้ส่งข้าวปิ่นแก้วไปประกวดที่เมืองเรจินา ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2476 ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1 นอกจากนี้ สายพันธุ์อื่นๆ ยังได้ที่ 2 และ 3 รวมแล้ว 11 รางวัลด้วยกัน ซึ่งการประกวดครั้งนั้นมีทั้งหมด 20 รางวัล

ข้าวปิ่นแก้ว เป็นข้าวที่ปลูกในระดับน้ำลึกได้ดี ต้นสูง 200 เซนติเมตร หรืออาจสูงกว่านี้ ตามระดับน้ำ เป็นข้าวนาสวน ไวต่อช่วงแสง ทรงกอแผ่เป็นแนวนอน คอรวงยาว

ข้าวเปลือกยาว 10.82 มิลลิเมตร กว้าง 2.2 มิลลิเมตร หนา 2.12 มิลลิเมตร

ข้าวกล้องยาว 8.39 มิลลิเมตร กว้าง 2.35 มิลลิเมตร หนา 1 มิลลิเมตร

คุณภาพการหุงต้มดี

23. ขาวห้าร้อย

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้า ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 140 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 23 พฤศจิกายน ทรงกอตั้ง แผ่นใบสีเขียวมีขนบ้าง ปล้องสีเหลืองอ่อน คอรวงสั้น รวงแน่นปานกลาง ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีเขียวอ่อน ลำต้นค่อนข้างแข็ง จำนวนเมล็ดข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 2.60 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ขนสั้น

– เมล็ดข้าวเปลือกยาวxกว้างxหนา = 9.92×2.50×2.40 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 7.79×2.43×2.16 มิลลิเมตร

– มีท้องไข่น้อย

– ปริมาณอะมิโลส 28.22 เปอร์เซ็นต์

24. ปลุกเสก

เป็นข้าวเจ้า ที่นิยมปลูกกันในสมัยก่อน ปัจจุบันยังมีการรักษาพันธุกรรมไว้

ข้าวปลุกเสก มีความสูง 128.4 เซนติเมตร กอแบะ เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง หากปลูกในฤดูปกติ ออกดอกปลายเดือนพฤศจิกายน

ที่มาของชื่อข้าวนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอี่ยม ทองดี ผู้ทรงคุณค่าวงการข้าวไทย ให้แง่คิดว่า ข้าวพันธุ์นี้ น่าจะได้มาจากพิธีกรรมสำคัญเมื่อครั้งในอดีต

25. หอมทุ่ง

หอมทั่วทุ่ง ตั้งแต่เริ่มออกดอก

เป็นข้าวเหนียว ที่มีถิ่นกำเนิดแถบอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ความสูงของต้น 99.4 เซนติเมตร กอตั้ง เปลือกเมล็ดสีฟาง

เมล็ดยาว 9.61 มิลลิเมตร กว้าง 2.88 มิลลิเมตร ออกดอกช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

เหตุที่ได้ชื่อพันธุ์ว่า “หอมทุ่ง”นั้น เพราะช่วงเวลาที่พันธุ์นี้ออกดอก กลิ่นหอมจะกระจายไปทั่วทุ่ง เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตนำมานึ่ง ยังมีกลิ่นหอมกรุ่น ชวนลิ้มลองรสชาติ

26. เบื่อน้ำ

ชื่อพันธุ์ข้าว มีที่มาหลายทางด้วยกัน

เช่น ตั้งตามชาวนาที่มีพันธุ์ข้าวอยู่

ตั้งตามลักษณะเมล็ดข้าว

มีอยู่ไม่น้อย ตั้งตามคุณสมบัติโดดเด่นที่ข้าวมีอยู่

ข้าวเบื่อน้ำ เป็นข้าวเจ้าที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง

ถึงแม้คุณสมบัติเรื่องการหุงต้มและผลผลิต อาจจะสู้บางสายพันธุ์ไม่ได้ แต่ก็มีการเก็บรักษาพันธุกรรมไว้

27. ดอโนน

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเหนียว ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 94 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 26 กันยายน ทรงกอตั้ง แผ่นใบสีเขียว มีขน ปล้องสีเขียวอ่อน คอรวงยาว รวงแน่นปานกลาง ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีเขียว ลำต้นแข็งมาก จำนวนข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 3.53 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 10.27×3.40×2.28 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 7.09×2.84×1.99 มิลลิเมตร

– ลักษณะข้าวหุงสุกนุ่ม เหนียว

28. ขาวปากหม้อ

เป็นข้าวเจ้า ได้จากการรวบรวมพันธุ์ของ คุณทอง ฝอยหิรัญ พนักงานการเกษตร อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2495-2496 จำนวน 196 รวง แล้วนำมาคัดเลือกแบบคัดพันธุ์บริสุทธิ์ ตามสถานีทดลองข้าวต่างๆ จนได้สายพันธุ์ขาวปากหม้อ 55-3-148

คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ ให้ใช้ขยายพันธุ์ เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2508

ข้าวขาวปากหม้อ ต้นสูง 140 เซนติเมตร ไวต่อแสง ลำต้นสีเขียว แตกกอดี ทรงกอตั้งตรง ใบกว้างและยาว เมล็ดรูปร่างเรียวยาว ข้าวเปลือกสีฟาง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ วันที่ 3 ธันวาคม ระยะการพักตัวของเมล็ดประมาณ 6 สัปดาห์ เมล็ดข้าวกล้อง กว้าง ยาว และหนา 2.3, 7.6 และ 1.9 มิลลิเมตร ปริมาณอะมิโลส 22-26 เปอร์เซ็นต์ จุดเด่นของขาวปากหม้อ อยู่ที่คุณภาพของข้าวสุก ร่วน นุ่ม และขาว รับประทานอร่อย

29. เบาขี้ควาย

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้า ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 135 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 8 ธันวาคม ทรงกอตั้ง แผ่นใบสีเขียว ปล้องสีเหลืองอ่อน คอรวงยาว ระแง้ถี่ ยอดเกสรตัวเมียสีเหลือง ยอดดอกสีน้ำตาล จำนวนเมล็ดข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 3.10 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางขีดน้ำตาล

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 8.15×2.55×1.79 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 6.16×2.19×1.66 มิลลิเมตร

– มีท้องไข่น้อย

– ปริมาณอะมิโลส 24.16 เปอร์เซ็นต์

30. ผาแดง

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้า ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 150 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 26 ตุลาคม ทรงกอตั้ง แผ่นใบสีเขียว มีขน ปล้องสีเขียว คอรวงยาว ระแง้ถี่ ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีเขียวอ่อน ลำต้นแข็งปานกลาง จำนวนข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 3.27 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีเหลืองขีดน้ำตาล

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 9.54×3.45×2.15 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 6.88×2.92×1.93 มิลลิเมตร

– มีท้องไข่มาก

– ปริมาณอะมิโลส 26.12 เปอร์เซ็นต์

– ลักษณะข้าวหุงสุก ร่วน แข็ง ไม่มีกลิ่นหอม

31. หอมจันทร์ 

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้า ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 166 เซนติเมตร วันออกดอกประมาณ วันที่ 24 ธันวาคม ทรงกอแบะ แผ่นใบสีเขียว ปล้องสีม่วง คอรวงยาว ระแง้ถี่ ยอดเกสรตัวเมียสีม่วงดำ ยอดดอกสีแดง จำนวนเมล็ดข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 3.60 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีน้ำตาล

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 9.73×2.64×1.72 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 7.24×2.23×1.68 มิลลิเมตร

– มีท้องไข่น้อย

– ปริมาณอะมิโลส 21.70 เปอร์เซ็นต์

32. เหลืองใหญ่

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้า ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 180 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 24 พฤศจิกายน ทรงกอตั้ง แผ่นใบสีเขียวมีขนบ้าง ปล้องสีเหลืองอ่อน คอรวงสั้น รวงแน่นปานกลาง ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีเขียวอ่อน ลำต้นแข็งปานกลาง จำนวนข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 2.40 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางขีดสีน้ำตาล ขนสั้น

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 9.48×2.61×2.21 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 7.05×2.29×1.77 มิลลิเมตร

– มีท้องไข่ปานกลาง

– ปริมาณอะมิโลส 26.35 เปอร์เซ็นต์

ลักษณะเด่น ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

33. ทองมาเอง

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้า ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 188 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 24 พฤศจิกายน ทรงกอตั้ง แผ่นใบสีเขียว มีขนบ้าง ปล้องสีเหลืองอ่อน คอรวงสั้น รวงแน่นปานกลาง ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีเขียวอ่อน ลำต้นล้ม จำนวนเมล็ดข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 2.60 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางขีดน้ำตาล ขนสั้น

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 9.80×2.45×2.20 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 7.23×2.32×1.82 มิลลิเมตร

– มีท้องไข่น้อย

– ปริมาณอะมิโลส 28.97 เปอร์เซ็นต์

34. นางกลาย

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้า ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 159 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 23 ธันวาคม ทรงกอตั้ง แผ่นใบสีเขียวมีขนบ้าง ปล้องสีเหลืองอ่อน คอรวงยาว ระแง้ถี่ ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีน้ำตาล จำนวนข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 3.10 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีน้ำตาล

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 7.43×2.93×1.89 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 6.26×2.36×1.76 มิลลิเมตร

– มีท้องไข่น้อย

– ปริมาณอะมิโลส 23.11 เปอร์เซ็นต์

35. บือพะทอ

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้า ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 142 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 19 กันยายน ทรงกอแบะ แผ่นใบสีเขียว ปล้องสีเหลืองอ่อน รวงแน่นปานกลาง คอรวงสั้น ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีขาว จำนวนข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 2.91 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 9.92×3.03×2.04 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 6.55×2.53×1.67 มิลลิเมตร

– ปริมาณอะมิโลส 17.92 เปอร์เซ็นต์

36. บือปิอี

เป็นข้าวเหนียว ที่ปลูกสืบทอดกันมานาน ของชนเผ่ากะเหรี่ยง

ต้นข้าวสูง 119.6 เซนติเมตร ออกรวงปลายเดือนตุลาคม กอตั้ง

เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง

จัดเป็นข้าวที่คุณสมบัติโดดเด่น เป็นหนึ่งในข้าวพันธุ์ดีของชนเผ่ากะเหรี่ยง

37. กระดูกช้าง

ถิ่นกำเนิดเดิม อยู่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นข้าวเจ้าที่ต้นสูงมาก ออกดอกในเดือนพฤศจิกายน

ลักษณะของกอ แตกกอปานกลาง กอตั้ง ใบสีเขียว มีขนบนแผ่นใบ สีเปลือกข้าวสีฟาง เมล็ดข้าวเปลือกยาว 10.8 มิลลิเมตร กว้าง 2.73 มิลลิเมตร หนา 2.07 มิลลิเมตร

คุณภาพข้าวเมื่อหุงสุก แข็ง ร่วน

คุณสมบัติพิเศษ ฟางข้าวแข็งมาก

สำหรับการตั้งชื่อ สันนิษฐานว่า สาเหตุที่ได้ชื่อว่า “กระดูกช้าง” น่าจะมาจากฟางข้าวที่แข็ง ซึ่งหากมีการนำไปใช้งานบางอย่าง น่าจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก

38. สายบัว

จัดเป็นข้าวพันธุ์หนัก ตั้งแต่ปลูกจนเก็บเกี่ยว ใช้ระยะเวลา 240 วัน

เป็นข้าวเจ้า ที่ลำต้นแข็งแรง ทนทานต่อโรค แมลง

สู้น้ำดี หมายถึง ยืดตามระดับความสูงของน้ำ จึงจัดเป็นข้าวขึ้นน้ำหรือข้าวหนีน้ำอีกสายพันธุ์หนึ่ง

ข้าวพันธุ์นี้ นิยมปลูกกันพอสมควร เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

เรื่องคุณสมบัติของข้าวเมื่อหุง อาจจะสู้พันธุ์อื่นไม่ได้ แต่ข้าวสายบัว โดดเด่นในเรื่องการนำมาแปรรูป เช่น การทำขนมจีน ขนมปาด ลอดช่อง ดอกจอก ตะโก้ และอื่นๆ

39. ลูกปลา

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้าไวต่อแสง ต้นสูงประมาณ 123 เซนติเมตร วันออกดอกประมาณ วันที่ 9 พฤศจิกายน ทรงกอตั้ง แผ่นใบสีม่วงที่ริมมีขน ปล้องสีเหลืองอ่อน คอรวงยาว รวงแน่น ระแง้ถี่ ยอดเกสรตัวเมียสีม่วงดำ ยอดดอกสีแดง ลำต้นค่อนข้างแข็ง จำนวนข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 2.02 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ก้นจุด

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 8.44×2.55×1.95 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 6.21×2.19×1.72 มิลลิเมตร

– มีท้องไข่มาก

– ปริมาณอะมิโลส 19.12 เปอร์เซ็นต์

– ลักษณะข้าวหุงสุก นุ่ม เหนียว

40. บือเกษตร

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเจ้า ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 114 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 9 ตุลาคม ทรงกอตั้ง แผ่นใบสีเขียว ปล้องสีเหลืองอ่อน รวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีขาว จำนวนข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 3.22 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางขีดน้ำตาล

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 8.21×3.44×2.08 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 5.78×2.88×1.81 มิลลิเมตร

– ปริมาณอะมิโลส 16.88 เปอร์เซ็นต์

41. ดอเตี้ย

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเหนียว ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 98 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 25 กันยายน ทรงกอแบะ แผ่นใบสีเขียวมีขน ปล้องสีเหลืองอ่อน คอรวงยาว รวงแน่น ระแง้ถี่ ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีเขียวอ่อน ลำต้นค่อนข้างแข็ง จำนวนเมล็ดข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 3.00 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีเหลือง

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 10.51×3.14×2.03 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 7.27×2.56×1.83 มิลลิเมตร

– ลักษณะข้าวหุงสุก นุ่ม

42. ดอหางวี

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นข้าวเหนียว ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 106 เซนติเมตร วันออกดอก ประมาณ วันที่ 2 ตุลาคม ทรงกอแบะ แผ่นใบสีเขียวมีขน ปล้องสีเหลืองอ่อน คอรวงยาว รวงแน่น ระแง้ถี่ ยอดดอกและยอดเกสรตัวเมียสีเขียวอ่อน ลำต้นค่อนข้างแข็ง จำนวนเมล็ดข้าวเปลือก 100 เมล็ด หนัก 2.52 กรัม

คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี

– เมล็ดข้าวเปลือกสีเหลืองขีดน้ำตาล

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 9.74×2.68×1.95 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 7.12×2.22×1.75 มิลลิเมตร

– ลักษณะข้าวหุงสุก นุ่ม

43. แลกหลาน

คุณไพบูลย์ ผิวพันธมิตร ชาวนาอยู่บ้านเลขที่ 27 หมู่ที่ 11 ตำบลศรีสองรัก อำเภอเมือง จังหวัดเลย มีอาชีพเป็นช่างไม้ แต่ก็ทำนาไว้กินข้าว คุณไพบูลย์บอกว่า พันธุ์ข้าวที่ปลูก ส่วนหนึ่งเก็บสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า บางส่วนนำมาจากทางราชการที่แนะนำให้ “ข้าวที่ปลูกเป็นข้าว 6 และข้าวแลกหลาน พันธุ์หลังนี่มีมานานแล้ว” คุณไพบูลย์บอก

ข้าว 6 ที่คุณไพบูลย์บอก คือข้าว กข 6 ของกรมการข้าว บางปีเขาก็ปลูกข้าว 8 คือ กข 8 กรมการข้าวได้วิจัยข้าวออกมา หากเป็นข้าวเหนียวเป็นเลขคู่ หากเป็นข้าวเจ้าใช้เลขคี่ อย่างกข 9

ข้าวแลกหลานนั้น คุณไพบูลย์ บอกว่า ตนเองปลูกมานานพอสมควร โดยได้พันธุ์มาจากเพื่อนบ้านอีกทีหนึ่ง ที่มาของชื่อยังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งมีที่มาหลายทางด้วยกัน

เนื่องจากข้าวพื้นเมืองของที่นั่น มีคุณสมบัติโดดเด่น ให้ผลผลิตสูง เมล็ดสวย รับประทานอร่อย ทนทานต่อโรค แมลง มีคนอยากได้พันธุ์ข้าวที่ว่ามาก แต่เจ้าของหวง สุดท้าย คนอยากได้ ยินยอมนำหลานสาวไปแลกกับพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ จึงเรียกพันธุ์ข้าวที่ได้มาว่า “ข้าวแลกหลาน”…นี่เป็นคำบอกเล่า

คำบอกเล่าอีกทางหนึ่ง มีคนปลูกข้าวพันธุ์ดีอยู่ ข้าวที่ว่าให้ผลผลิตดีกว่านาคนอื่น แต่เจ้าของไม่ยอมนำออกเผยแพร่ จะขอซื้ออย่างไรก็ไม่ขาย มีชาวนาที่อยากได้ข้าวที่ว่ามาก นำหลานไปแลกพันธุ์ข้าว

หากเป็นอย่างหลังนี่ แสดงว่าคนอยากได้พันธุ์ข้าว ไม่ได้รักหลานเลย

ทุกวันนี้ ข้าวแลกหลานมีปลูกมากแถบริมน้ำเลย ใครอยากได้มาปลูก ก็แบ่งปันกันได้ ไม่จำเป็นต้องนำหลานไปแลกแล้ว

คุณไพบูลย์บอกว่า ข้าวแลกหลานเป็นข้าวเหนียว คล้ายๆ ข้าว กข 6 แต่แตกต่างตรงที่ ข้าวแลกหลานเมล็ดสั้นกว่า ต้นข้าวแข็งแรง ไม่ล้มง่ายในแปลง ต่างจาก กข 6 เมื่อขณะที่อยู่ในแปลงนาและใกล้เกี่ยวมักล้มง่าย

44. หอมดง

เป็นข้าวพื้นเมืองของคนเชื้อสาย ญัฮกุร

ญัฮกุร หรือ เนียะกุล ที่คนไทยเรียก แต่ไม่เป็นที่ชอบใจของชาวญัฮกุรนักคือ “ชาวบน” เป็นชุมชนที่ใช้ภาษามอญโบราณ อยู่บนภูเขาแถบแม่น้ำป่าสักในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะที่จังหวัดชัยภูมิ อยู่ในเขตอำเภอหนองบัวระเหว และอำเภอจัตุรัส กลุ่มชนดังกล่าวเรียกตนเองว่า “ญัฮกุร” (Nyah-Kur) แปลว่า “คนภูเขา” คนไทยในเมืองเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ชาวบน” ซึ่งพูดภาษาที่คนไทยภาคต่างๆ ฟังไม่รู้เรื่อง

ชาวบน มีผิวค่อนข้างดำ ตาโตกว่าคนไทย แต่ไม่ต่างจากคนไทยมากนัก รูปร่างสูงปานกลาง ผู้หญิงจะหน้าตาดี การแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวบน คือ ผู้หญิงจะสวมเสื้อเก๊าะ และนุ่งผ้านุ่งมีชายผ้าใหญ่ สวมสร้อยเงิน และเจาะใบหูกว้างเพื่อสวมตุ้มหูใหญ่ ชาวบนเรียก กะจอน ทำด้วยไม้มีกระจกติดข้างหน้า ไว้ผมยาวเกล้ามวย ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าโสร่งตาหมากรุก วิธีการนุ่งแบบเหน็บธรรมดา

ข้าวหอมดง จัดเป็นข้าวเจ้า ที่นิยมปลูกในสภาพไร่ ต้นเตี้ย วัดความสูงเฉลี่ย 70 เซนติเมตร แตกกอดี ใบสีเขียว ใบธงนอน รวงสั้น จับห่าง คอรวงเหนียว เป็นข้าวกลาง เก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายน เมล็ดอ้วนสั้น เปลือกสีเหลืองนวล หางสั้น ข้าวสารสีขาวใส เหมาะต่อการบริโภค มีกลิ่นหอมมาก

45. เอวมดแดง

ข้าวพันธุ์เอวมดแดง เป็นข้าวพื้นที่ของภาคใต้ โดยศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ได้เก็บรวบรวมสายพันธุ์มาจากอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

ข้าวพันธุ์เอวมดแดง เป็นข้าวเจ้านาสวน

ข้าวพันธุ์นี้ จะมีความสูงของลำต้นประมาณ 187 เซนติเมตร

ทรงกอ เป็นกอแบะ

ลักษณะรวงจะจับกันแน่นมาก ก้านรวงตั้งตรง แต่พบว่ามีการร่วงของเมล็ดมาก

สีของแผ่นใบมีสีเขียวจาง สีของกาบใบ มีสีเขียวเส้นม่วง

ออกดอก ประมาณ วันที่ 26 ธันวาคม

46. ล้นยุ้ง 

ล้นยุ้ง เป็นชื่อพันธุ์ข้าวนาสวน ประเภทข้าวเจ้า

ถือเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของประเทศไทย

โดยชื่อของสายพันธุ์ข้าวชนิดนี้ ตั้งให้มีความหมายในทางที่ดี เป็นสิริมงคล บ่งบอกถึงความร่ำรวย หรือการได้ผลผลิตมากๆ เช่นเดียวกับข้าวสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ขาวเศรษฐี ขาวหลุดหนี้ ก้อนแก้ว เกวียนหัก เหลืองควายล้า ขาวทุ่งทอง เป็นต้น

กรมการข้าว ได้มีการรวบรวมสายพันธุ์ข้าวล้นยุ้งมาจากอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

โดยข้าวล้นยุ้ง จะออกดอกช่วงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน

ลักษณะประจำพันธุ์ : ต้นสูงปานกลาง กอแบะ แตกกอปานกลาง

ใบ : สีเขียว มีขนบนใบ

สีข้าวเปลือก : สีฟาง

คุณภาพข้าวสุก : ร่วน

ขนาดเมล็ดข้าวเปลือก : ยาว 9.74 มิลลิเมตร กว้าง 2.76 มิลลิเมตร หนา 1.99 มิลลิเมตร

47. ดอกพะยอม 

ได้จากการรวบรวมพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองในพื้นที่ภาคใต้ โดยเจ้าหน้าที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในระหว่างปี พ.ศ. 2502-2521 โดยนำมาปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ในสถานีทดลองข้าวภาคใต้ จนคณะกรรมการวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตร มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2522

ข้าวดอกพะยอม เป็นข้าวไร่พื้นเมือง ลำต้นสูงประมาณ 150 เซนติเมตร เป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน มีอายุเก็บเกี่ยว ถ้าปลูกต้นเดือนมิถุนายน เกี่ยวปลายเดือนตุลาคม ถ้าปลูกปลายเดือนสิงหาคม เกี่ยวปลายเดือนมกราคม (อายุประมาณ 145-150 วัน)

ลำต้นเขียว ใบยาว ค่อนข้างแคบ ชูรวงดี เมล็ดเรียวยาว ข้าวเปลือกสีฟางก้นจุด มีระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 2 สัปดาห์ เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 10.3×2.4×2.0 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 7.3x 2.2×1.8 มิลลิเมตร ปริมาณอะมิโลส 24% คุณภาพข้าวสุก ร่วน นุ่ม มีกลิ่นหอม

ผลผลิต ประมาณ 250 กิโลกรัม ต่อไร่

ลักษณะเด่น คอรวงยาว สามารถปลูกเป็นพืชแซมยางได้ดี มีความต้านทานโรคไหม้ โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคใบขีดสีน้ำตาล

ข้อควรระวัง ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และโรคใบวงสีน้ำตาล

พื้นที่แนะนำ พื้นที่ข้าวไร่ในภาคใต้

48. เจ๊กเชยเสาไห้

พันธุ์ข้าว จีไอ

เจ๊กเชย เป็นชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพดีของอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานตั้งแต่ต้นรัชสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นสายพันธุ์ข้าวที่หุงจะขึ้นหม้อ เมล็ดข้าวสวย รสชาตินุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง ที่สำคัญคือไม่บูดง่าย และไม่ยุบตัวเมื่อราดแกง โดยสายพันธุ์ข้าวเจ๊กเชยนั้นหากดูที่สีของกาบใบจะแบ่งออกเป็น หนึ่ง เจ๊กเชยกาบใบเขียว และ สอง เจ๊กเชยกาบใบม่วง

ที่มาของชื่อนั้น สืบเนื่องมาจากผู้ที่นำสายพันธุ์ข้าวพันธุ์นี้เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งเป็นพ่อค้าที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ชื่อ “เจ๊กเชย” จึงกลายเป็นชื่อเรียกที่สืบต่อกันมาถึงทุกวันนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เกษตรกรในพื้นที่อำเภอเสาไห้ ซึ่งปลูกข้าวสายพันธุ์นี้ ได้เลิกปลูกกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีสาเหตุปัญหาด้านผลผลิตที่ต่ำ ปลูกได้เพียงปีละครั้ง ความไม่บริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนความแปรปรวนในประชากรของพันธุ์ข้าวเจ๊กเชยทำให้ราคาไม่จูงใจให้เกษตรกรปลูก

ดังนั้น ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว จึงดำเนินการคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์จากพันธุ์ข้าวเจ๊กเชยพื้นเมืองไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพข้าวเสาไห้ให้ดีเด่นเหมือนกับอดีตที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นปรับปรุงพันธุ์ในฤดูนาปี 2545 โดยเก็บรวบรวมพันธุ์จากแปลงเกษตรกรในจังหวัดสระบุรี จำนวน 34 ตัวอย่างพันธุ์ ทำการปลูกคัดเลือกแบบหมู่ (mass selection) ได้สายพันธุ์ PTTC02019 แล้วคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ (pure line selection) จนได้สายพันธุ์บริสุทธิ์ PTTC02019-1 ในฤดูนาปี 2546

การรับรองพันธุ์ – คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว มีมติรับรองพันธุ์ข้าว ชื่อ เจ๊กเชย 1 เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551

ลักษณะประจำพันธุ์ เจ๊กเชย 1

– เป็นข้าวเจ้า สูงเฉลี่ย 160-170 เซนติเมตร

– ไวต่อช่วงแสง

– อายุเก็บเกี่ยว วันที่ 10 ธันวาคม

– ทรงกอตั้ง ใบสีเขียว ใบธงหักลง คอรวงยาว

– เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ขนสั้น

– เมล็ดข้าวเปลือก ยาวxกว้างxหนา = 10.3×2.5×2.0 มิลลิเมตร

– เมล็ดข้าวกล้อง ยาวxกว้างxหนา = 7.7×2.1×1.7 มิลลิเมตร

– ปริมาณอะมิโลสสูง 27.1%

– คุณภาพข้าวสุกค่อนข้างแข็ง

– ระยะพักตัวของเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 6-7 สัปดาห์

ผลผลิต เฉลี่ย 812 กิโลกรัม ต่อไร่

ลักษณะเด่น

– ข้าวสารมีคุณภาพดีแบบข้าวเสาไห้ หุงขึ้นหม้อ ร่วนเป็นตัวไม่เกาะกัน เนื้อสัมผัสจากการชิมค่อนข้างแข็ง แต่มีความนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง

– สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้นและขนมได้ดี

– สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในเรื่องน้ำท่วม เนื่องจากเป็นข้าวต้นสูงและทนน้ำท่วมได้ดีกว่าข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงในพื้นที่เดียวกัน

ข้อควรระวัง – ไม่ต้านทานต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

พื้นที่แนะนำ – จังหวัดสระบุรีและใกล้เคียงที่มีนิเวศการเกษตรคล้ายคลึงกัน

ด้วยข้าวพันธุ์เจ๊กเชยเสาไห้เป็นสายพันธุ์ข้าวคุณภาพดี กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้รับการจดทะเบียนให้เป็นหนึ่งในสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546

49. ช่อไม้ไผ่ 

ช่อไม้ไผ่ เป็นชื่อสายพันธุ์ข้าวเหนียวดำพันธุ์พื้นเมืองของภาคใต้

ลักษณะเด่นคือ เมื่อนำมานึ่งสุกมีลักษณะอ่อนนุ่ม

คนในภาคใต้ จะนิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นอาหารเสริมหรืออาหารว่าง ใช้ในงานบุญประเพณี ทำให้มีราคาจำหน่ายสูงกว่าข้าวทั่วไป

เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะวิตามินบี 1 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 และวิตามินอี

พื้นที่แนะนำปลูก เหมาะสำหรับปลูกในบริเวณพื้นที่นาดอนและสภาพไร่ในภาคใต้

แต่ข้อควรระวังคือ อ่อนแอต่อโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ไม่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่นาลุ่ม

จากลักษณะเด่นและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว จึงดำเนินการปลูกคัดเลือกให้เป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์แบบรวงต่อแถว คัดเลือกจนได้สายพันธุ์ PTNC96004-49 และต่อมาได้ขึ้นทะเบียนภายใต้ชื่อ ข้าวเหนียวพันธุ์เหนียวดำช่อไม้ไผ่ 49

โดยเป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ออกดอกปลายเดือนมกราคม ผลผลิตเฉลี่ย 363 กิโลกรัม ต่อไร่

ความสูงของลำต้น ประมาณ 135 เซนติเมตร

ลักษณะทรงกอตั้ง ใบสีเขียวเข้ม กาบใบสีเขียว ใบธงหักลง

ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ยอดดอกสีม่วง กลีบดอกสีม่วงดำ คอรวงยาว รวงแน่นปานกลาง รวงยาว 28.5 เซนติเมตร เมล็ดเกาะกันเป็นกลุ่มบนระแง้ กลุ่มละ 2-4 เมล็ด ส่วนใหญ่มี 3 เมล็ด

ข้าวเปลือกสีฟาง ยาว 10.21 มิลลิเมตร กว้าง 3.66 มิลลิเมตร หนา 2.22 มิลลิเมตร

ข้าวกล้องสีม่วงดำ รูปร่างเมล็ดค่อนข้างป้อม ยาว 7.20 มิลลิเมตร กว้าง 2.81 มิลลิเมตร หนา 1.92 มิลลิเมตร

ข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด หนัก 34.59 กรัม น้ำหนักข้าวเปลือก 10.38 กิโลกรัม ต่อถัง

คุณภาพการสี ปานกลาง

ระยะพักตัว ประมาณ 8 สัปดาห์

สถานที่ติดต่อ ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี เลขที่ 128 หมู่ที่ 7 ตำบลมะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โทร. (076) 343-135

50. แม่โจ้ 2 

ผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น ปี 55

“ข้าวเหนียวหอมต้นเตี้ยไม่ไวต่อช่วงแสงสายพันธุ์แม่โจ้ 2” ผลงานวิจัยของ ผศ.ดร. วราภรณ์ แสงทอง สาขาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับทีมงานนักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาพืชไร่ คณะผลิตกรรมการเกษตร และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทดลองและปรับปรุงพันธุ์นานถึง 7 ปี โดยใช้ข้าวเจ้าพันธุ์ปทุมธานี 1 เป็นพันธุ์รับ และข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 เป็นพันธุ์ให้ ใช้วิธีผสมกลับ และใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก

“ข้าวเหนียวหอมต้นเตี้ยไม่ไวต่อช่วงแสงสายพันธุ์แม่โจ้ 2” มีคุณสมบัติสำคัญคือ ไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ทั้งในฤดูนาปีและนาปรัง ความสูงประมาณ 90-120 เซนติเมตร

ลักษณะต้นเตี้ยช่วยต้านทานต่อการหักล้มและง่ายต่อการใช้รถเก็บเกี่ยว แก้ปัญหาการขาดแรงงานเก็บเกี่ยว ความเป็น “ข้าวเหนียวหอม” จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเหนียว เนื่องจากสายพันธุ์แม่โจ้ 2 มีกลิ่นหอม

สำหรับ “ข้าวเหนียวหอมต้นเตี้ย แม่โจ้ 2” ขณะนี้กำลังอยู่ในการทดลองปลูกสถานีสุดท้ายก่อนเผยแพร่พันธุ์ให้เกษตรกรที่สนใจต่อไป

51. ก่ำพะเยา

ข้าวก่ำ เป็นข้าวที่คนทางภาคเหนือนิยมปลูก เพื่อใช้รับประทาน และปลูกเนื่องจากเป็นความเชื่อจากอดีต ส่วนความเป็นมาของข้าวก่ำพะเยา เริ่มจาก คุณศรีวรรณ และ คุณจันทร์ฟอง วงศ์เรือง สองสามีภรรยาชาวบ้านซ่อน อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นผู้ริเริ่ม นำพันธุ์ข้าวก่ำมาปลูกเป็นคนแรก โดยนำมาจากอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย กระทั่งปี 2515 คนจึงเรียกข้าวพันธุ์นี้ว่า ข้าวก่ำพะเยา

จากการค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการ พบว่า ข้าวก่ำพะเยามีสาร Anthocyanin (แอนโทไซยานิน) ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ช่วยการหมุนเวียนของกระแสโลหิต ชะลอการเสื่อมของเซลล์ร่างกาย โดยเฉพาะสารแอนโทไซยานิน เป็นชนิดที่พบในข้าวสีม่วงกลุ่มอินดิก้า (ซึ่งรวมข้าวก่ำไทย) คือ cyanindin-3 glucoside ได้พิสูจน์แล้วว่ามีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด และมีสารแกมมาโอไรซานอล

นอกจากจะมีคุณสมบัติเป็นการต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเช่นเดียวกันแล้ว ยังสามารถลดคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มระดับของ HDLในเลือด และยังมีผลต่อการทำงานของต่อมใต้สมอง ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับของฮอร์โมนอินซูลินของคนเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ต้านการหืนของไขมันในรำข้าวและนมผงไขมันเต็ม

คุณประโยชน์ที่มากกว่าการหุงเป็นข้าวสุกรับประทาน คือ การทำเป็นข้าวกล้องงอก และน้ำข้าวกล้องงอกเพื่อการบริโภค

52. หอมชลสิทธิ์

ทนน้ำท่วมฉับพลัน

ข้าวหอมชลสิทธิ์ ผลงานวิจัยโดย ดร. ธีรยุทธ ตู้จินดา จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (Biotec) สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โดยแหล่งที่มาของชื่อนั้น สืบเนื่องมาจากผู้วิจัยต้องการตั้งชื่อที่แสดงความรู้ว่าเกี่ยวข้องกับน้ำ และเป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่มีพระราชพิธีเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จึงได้กลายเป็นที่มาของชื่อ พันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์

ข้าวสายพันธุ์นี้เป็นหนึ่งในผลสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวไม่ไวแสง ผลผลิตสูงให้ทนต่อสภาพน้ำท่วมฉับพลัน ในทุกระยะการเจริญเติบโต

โดยเป็นลูกผสมของข้าวทนน้ำท่วมกับข้าวขาวดอกมะลิ 105

จากนั้นได้ถูกนำมาคัดเลือกให้มีคุณสมบัติการหุงต้มแบบข้าวขาวดอกมะลิ เมล็ดข้าวมีกลิ่นหอม

คุณสมบัติเด่นที่สำคัญอีกประการคือ สามารถปลูกได้ทั้งปี และสามารถทนอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 2 สัปดาห์ จึงเหมาะกับสภาพพื้นที่นาในเขตภาคกลาง ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลันอย่างต่อเนื่อง

อีกจุดเด่นของข้าวพันธุ์หอมชลสิทธิ์ คือทนต่อการระบาดของแมลงศัตรูข้าว อย่างเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคขอบใบแห้ง

ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกต่อไร่อยู่ในระดับ 900-1,000 กิโลกรัม

ปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ส่งเสริมให้เกิดแปลงนาสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ระดับขยายพันธุ์ข้าว ณ สหกรณ์การเกษตรผักไห่ จำกัด

ลักษณะประจำสายพันธุ์

1. ข้าวเจ้าหอม ความสูงประมาณ 105-110 เซนติเมตร

2. พันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งปี อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน

3. ข้าวเปลือกสีฟางคล้ายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105

4. จำนวนรวงต่อกอประมาณ 15 รวง (นาดำ)

5. ความยาวรวงประมาณ 15 เซนติเมตร

6. ลำต้น ใบสีเขียวยาวกว้างปานกลาง

7. ใบธงทำมุมกับคอรวง ทรงกอตั้งแบะเล็กน้อย

8. เมล็ดข้าว ขนาดกว้าง 2.5 ยาว 10.9 หนา 2.0 มิลลิเมตร

53. ขาวโป่งไคร้

เป็นข้าวเหนียว ไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน ได้จากการรวบรวมจากแปลงของเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพื้นที่ราบ บ้านโป่งไคร้ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดย คุณวิชัย คำชมภู สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง ปลูกศึกษาพันธุ์ที่ไร่นาสาธิตแม่เหียะ และเปรียบเทียบผลผลิตที่สถานีทดลองข้าวในภาคเหนือ คณะกรรมการวิจัยและพัฒนา กรมวิชาการเกษตร มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2530

ลักษณะเด่น

ต้านทานต่อโรคไหม้ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 243 กิโลกรัม ต่อไร่ ค่อนข้างต้านทานโรคขอบใบแห้ง นวดง่าย ข้าวสุกมีกลิ่นหอมเล็กน้อย เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่ปรับตัวเข้ากับการปลูกบนที่สูงถึง 1,250 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ลักษณะประจำพันธุ์

ความสูง 142 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็ง ใบและกาบใบสีเขียว ใบธงกว้างและตรง มีเมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง รวงยาว ระแง้ถี่ เมล็ดรูปร่างป้อม และรวงปานกลาง อายุเก็บเกี่ยวปลายเดือนตุลาคม ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว 8.3 มิลลิเมตร กว้าง 3.0 มิลลิเมตร หนา 2.1 มิลลิเมตร ระยะพักตัวของเมล็ด 1 สัปดาห์ คุณภาพข้าวสุก ค่อนข้างแข็ง

ข้อควรระวัง

ไม่ต้านทานโรคใบสีส้ม โรคใบหยิก โรคเขียวเตี้ย โรคหูด และไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และแมลงบั่ว

54. เจ้าฮ่อ

เป็นข้าวเจ้าพื้นเมือง ไวต่อแสงอย่างอ่อน ได้จากการคัดเลือกพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซุ (ลีซอ) จังหวัดเชียงราย โดย คุณสมพงษ์ ภู่พวง สถานีทดลองข้าวพาน ในปี 2522 ปลูกศึกษาพันธุ์ และเปรียบเทียบผลผลิตในสถานีทดลองข้าว และสถานีทดลองพืชสวนในภาคเหนือ คณะกรรมการวิจัยและพัฒนา กรมวิชาการเกษตร มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2530

ลักษณะเด่น

ต้านทานต่อโรคไหม้และโรคหูด ให้ผลผลิตเฉลี่ย 210 กิโลกรัม ต่อไร่ สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพข้าวไร่ทั่วไป โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน รูปร่างลำต้นตั้งตรง ลำต้นใหญ่ค่อนข้างแข็ง คุณภาพข้าวสุก นุ่ม เหนียว

ลักษณะประจำพันธุ์

มีความสูง 134 เซนติเมตร สีเมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง รวงยาว ระแง้ถี่ คอรวงโผล่พ้นใบธงพอดี ใบค่อนข้าวกว้างและยาว ข้อต่อระหว่างใบและกาบใบสีฟาง เมล็ดร่องปานกลาง อายุเก็บเกี่ยวประมาณปลายเดือนตุลาคม ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว 7.4 มิลลิเมตร กว้าง 2.8 มิลลิเมตร มีประมาณอะมิโลส 15.8 เปอร์เซ็นต์ ระยะพักตัวของเมล็ด 1 สัปดาห์

ข้อควรระวัง

อายุค่อนข้างหนัก จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีฝนค่อนข้างสม่ำเสมอ และดินอุ้มความชื้นได้ดีเท่านั้น ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม โรคใบหยัก โรคเขียวเตี้ย ไม่ต้านทานแมลงบั่ว และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ปลูกได้ดีในสภาพข้าวไร่ ความสูงไม่เกิน 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่สามารถให้ผลผลิตได้ในพื้นที่ความสูงไม่เกิน 1,000 เมตร

55. เจ้าขาว

เป็นข้าวเจ้า ไวต่อแสง ได้จากการรวบรวมของ คุณวิทูรย์ ขันธิกุล เจ้าหน้าที่เกษตร สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง ในปี พ.ศ. 2523 จากอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 400 รวง นำมาปลูกคัดเลือกพันธุ์แบบรวงต่อแถว ได้รวงที่ 123 ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ หลังจากนั้นดำเนินการศึกษาพันธุ์ เปรียบเทียบพันธุ์ตามลำดับ พบว่า สายพันธุ์ข้าวเจ้าขาว (SPTC 80187-126) สามารถให้ผลผลิตสม่ำเสมอ ต้านทานโรคไหม้ ออกดอกประมาณ วันที่ 20 กันยายน มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานตรงตามความต้องการของเกษตรกร

ลักษณะเด่น

สามารถปลูกได้ในพื้นที่สูง ระดับ 800-1,250 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 350 กิโลกรัม ต่อไร่ คุณภาพการสีดี รูปร่างลำต้นตั้งตรง ลำต้นแข็ง ไม่ล้ม ต้านทานโรคไหม้ คุณภาพข้าวสุก อ่อนนุ่ม

ลักษณะประจำพันธุ์

ความสูง 175 เซนติเมตร สีเมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง รวงแน่น ระแง้ถี่ คอรวงยาว ใบและกาบใบสีเขียว มุมของใบธงหักลง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ วันที่ 20 ตุลาคม ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว 7.29 มิลลิเมตร กว้าง 2.70 มิลลิเมตร หนา 1.99 มิลลิเมตร มีปริมาณอะมิโลส 18.7 เปอร์เซ็นต์ ระยะพักตัวของเมล็ด 4 สัปดาห์

ข้อควรระวัง

ค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดหลังขาวในสภาพไร่นา

56. กข 6 

เป็นข้าวเหนียว ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ โดยการใช้รังสีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ โดยใช้รังสีแกมมาปริมาณ 20 กิโลแรด อาบเมล็ดพันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 แล้วนำมาปลูกคัดเลือกที่สถานีทดลองข้าวบางเขน และสถานีทดลองข้าวพิมาย

จากการคัดเลือก ได้ข้าวเหนียวหลายสายพันธุ์ในข้าวช่วงที่ 2 นำไปปลูกคัดเลือกจนอยู่ตัว ได้สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ สายพันธุ์ KDML105″65-G2U-68-254 นับว่าเป็นข้าวพันธุ์ดีพันธุ์แรกของประเทศไทย ที่ค้นคว้าได้โดยใช้วิธีชักนำพันธุ์พืชให้เปลี่ยนกรรมพันธุ์โดยใช้รังสีซึ่งคณะกรรมการวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตร มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2520

ลักษณะประจำพันธุ์

เป็นข้าวเหนียว ลำต้นสูงประมาณ 154 เซนติเมตร ไวต่อช่วงแสง ลักษณะทรงกอกระจายเล็กน้อย ใบยาวสีเขียวเข้ม ใบธงตั้ง ลำต้นแข็งปานกลาง ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล คุณภาพการสีดี เมล็ดยาวเรียว เมล็ดข้าวเปลือกมีสีน้ำตาล อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ วันที่ 21 พฤศจิกายน

ระยะพักตัวของเมล็ด ประมาณ 5 สัปดาห์

เมล็ดข้าวกล้อง กว้างxยาวxหนา = 2.2×7.2×1.7 มิลลิเมตร

คุณภาพข้าวสุก เหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม

ผลผลิตประมาณ 666 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและทนแล้ง

ข้อควรระวัง ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และโรคใบแห้ง ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและแมลงบั่ว

พื้นที่แนะนำ บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

57. หางยี 71 

ได้จากการรวบรวมพันธุ์ โดยพนักงานข้าวจากอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ. 2506 ปลูกคัดเลือกแบบคัดพันธุ์บริสุทธิ์ตามสถานีทดลองข้าวต่างๆ จนได้สายพันธุ์ หางยี 563-2-71 ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ ให้ใช้ขยายพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2511

ลักษณะประจำพันธุ์

– เป็นข้าวเหนียว สูงประมาณ 152 เซนติเมตร

– ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้เฉพาะฤดูนาปี

– ลำต้นสีเขียว ใบแคบ และยาว สีเขียวเข้ม รวงอ่อนมีระแง้แผ่ออกคล้ายตีนนก

– เมล็ดข้าวยาวเรียว

– ข้าวเปลือกสีน้ำตาล

– อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 4 พฤศจิกายน

– ระยะพักตัวของเมล็ด ประมาณ 1 สัปดาห์

– เมล็ดข้าวกล้อง กว้างxยาวxหนา = 2.1×7.1×1.8 มิลลิเมตร

– คุณภาพข้าวสุก เหนียวนุ่ม

ผลผลิต

– ประมาณ 506 กิโลกรัม ต่อไร่

ลักษณะเด่น

– ต้านทานโรคไหม้

– ค่อนข้างต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล

– เป็นข้าวต้นสูง อายุเบา เหมาะกับสภาพที่ดอนที่น้ำหมดเร็ว

ข้อควรระวัง

– ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม

– ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และแมลงบั่ว

58. เขียวนกกระลิง 

เขียวนกกระลิง เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่หายากของประเทศไทย ข้าวสายพันธุ์นี้อยู่ในกลุ่มข้าวเจ้า กรมการข้าวมีการรวบเมล็ดพันธุ์ข้าวเขียวนกกระลิงได้จากเขตอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

ที่มาของชื่อ เป็นการตั้งตามหลักการตั้งชื่อที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ข้าวหรือเมล็ดข้าว ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะมาในส่วนของใบและกาบใบข้าวที่มีสีเขียวเหมือนกับสีเขียวบนลำตัวของนกกระลิง

จากข้อมูลของกรมการข้าว บอกว่า ข้าวพันธุ์นกกระลิง เป็นข้าวเจ้าขึ้นน้ำ ที่ไวต่อช่วงแสง ลักษณะของกอจะแบะ และแตกกอน้อย ใบและกาบใบสีเขียว ไม่มีขนบนแผ่นใบ ใบธงทำมุม 45 องศา กับลำต้น สีข้าวเปลือฟางก้นจุด ขนาดเมล็ดข้าวเปลือกยาว 10.40 มิลลิเมตร กว้าง 2.84 มิลลิเมตร หนา 2.05 มิลลิเมตร ในส่วนความสูงของลำต้นนั้น มีสถิติที่บันทึกไว้ว่า เคยพบ ต้นข้าวเขียวนกกระลิงสูงถึง 1.20 เมตร ข้าวสายพันธุ์นี้ จะออกดอกประมาณช่วงต้นเดือนธันวาคม และข้าวสารของพันธุ์เขียวนกกระลิง เมื่อนำไปหุงแล้ว พบว่า ข้าวสุกจะมีลักษณะแข็งร่วน

59. อัลฮัม ดุลิลละฮฺ 

มาจากภาษามลายู แปลว่า ขอบคุณพระเจ้า เรียกสั้นๆ ว่า ข้าวอัลฮัม ชาวนาพัทลุงได้นำข้าวอัลฮัมไปปลูก โดยตั้งชื่อใหม่ว่า “ข้าวขาวสตูล”

ข้าวอัลฮัม เป็นข้าวพันธุ์ไวแสง ที่มีลักษณะพิเศษคือ ทนต่อความเป็นกรดของดินในพื้นที่ภาคใต้ได้ดี เช่นเดียวกับข้าวพันธุ์ลูกแดง ข้าวขาวตายก ไข่มด ช่อมุก ดอนทราย ลูกเหลือง ข้าวแดง หมออรุณ รวงยาว สีรวง มัทแคนดุ เป็นต้น ซึ่งข้าวพื้นเมืองในกลุ่มนี้โดยทั่วไปจะมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณไร่ละ 15-40 ถัง

ชาวนาสตูลนิยมปลูกข้าวอัลฮัม ในช่วงนาปี เริ่มปักดำนาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ใช้เวลาปลูกและดูแลประมาณ 5-8 เดือน และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี ข้าวพันธุ์นี้ดูแลไม่ยุ่งยาก แค่หว่านปุ๋ยไร่ละ 15 กิโลกรัม ใน 2 ระยะ คือ ช่วงปักดำเพื่อเร่งให้ต้นข้าวแตกกอและช่วงที่ต้นข้าวเริ่มตั้งท้อง ข้าวอัลฮัม มีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ เป็นข้าวขาวที่มีรสชาติหวานมัน มีคุณค่าทางอาหารสูง ปลูกง่าย ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช ปัจจุบันปลูกเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน แล้วยังจำหน่ายในท้องถิ่นและส่งขายในประเทศมาเลเซียอีกด้วย

60. เล้าแตก 

เป็นข้าวเหนียวประจำถิ่นอีสาน มีเรื่องเล่าว่า ผู้เฒ่าคนหนึ่งปลูกข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวก็เก็บข้าวขึ้นเล้า (ยุ้ง) แต่เก็บยังไงก็ยังไม่พอใส่ เลยส

6 thoughts on “84 สายพันธุ์ข้าว สู่ “ข้าวของพ่อ วิถีพอเพียง”

  1. ต้องการข้อมูลรายชื่อพันธุ์ข้าวตั้งแต่ลำดับที่ 61-84 ค่ะ เพราะข้างบนใส่มาแค่ 60 พันธุ์ค่ะ…ขอบคุณค่ะ

    ถูกใจ

  2. มีเมล็ดพันธุ์ข้าวมะลินิลสุรินทร์ เพื่อจำหน่าย (จำนวนจำกัด)
    เมล็ดพันธุ์ข้าวมะลินิลสุรินทร์ เพื่อใช้ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นพันธุ์ข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระแอนโธไซยานินสูง กลิ่นหอมมาก คุณภาพการหุงต้มรับประทานดีมาก เป็นข้าวอะมิโลสต่ำ ไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี สนใจติดต่อ คุณเฉลิมชัย โทร. 0877028696

    ถูกใจ

  3. As with any business venture, it is of the utmost importance to do your research before deciding to go in the business of web hosting reseller packages.

    People, who are planning to use their own software, they must not choose this hosting service.
    Japanese Gardens – Although the gardens are technically in Fort Worth, Texas, it is only a short drive.

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น