แบงก์ชาติสั่งธ.พาณิชย์ เพิ่มเงินสดสำรองรับน้ำท่วมกทม.

http://www.thairath.co.th/content/eco/212630

28 ตุลาคม 2554, 17:45 น.

njpus24ncqkx5e1gw7rdysbiqm27cpxfkzm4oho1ltr

 

แบงก์ชาติ สั่ง ธนาคารพาณิชย์ สำรองเงินสดเพิ่ม รับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯยาว เตรียมจัดเอทีเอ็มเคลื่อนที่เข้าไปบริการประชาชน เล็งเสนอยกเว้นเก็บค่ากดเอทีเอ็มข้ามธนาคารชั่วคราว

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมของธปท. ธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ พบว่า น้ำท่วมในกรุงเทพฯจะเริ่มเห็นผลชัดในสัปดาห์หน้า และคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะยืดเยื้อยาวนาน ดังนั้นจึงได้มีการเตรียมหนทางที่จะทำให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีปัญหาต่างๆในช่วงภาวะน้ำท่วมยาวนาน โดยอย่างแรก คือ การเตรียมเงินสดและธนบัตรให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายของประชาชน โดยมีธนบัตรสำรองรับการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 3 เดือน และเปิดดำเนินการโรงพิมพ์ธนบัตรตามปกติ เพื่อให้เงินสดหมุนเวียนของประเทศอยู่ในระดับ 1.2 ล้านล้านบาทตลอดเวลา

ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 วันทำการที่ผ่านมา ประชาชนเริ่มมีการเบิกเงินสดเพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากน้ำท่วมเริ่มขยายวงกว้างและมีการอพยพ ทำให้การเบิกธนบัตรจาก ธปท.เพื่อไปสำรองจ่ายของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากปกติวันละ 5,000-6,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 19,000-22,000 ล้านบาทต่อวัน

njpus24ncqkx5e1gw7rdysbiqm27cpxfkzm4oho1ltr

“ปริมาณเงินสดที่ต้องการเพิ่มขึ้นในระดับนี้ยังไม่มีปัญหา ธปท.สามารถรองรับได้ ดังนั้นอยากให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า หากมีเงินในบัญชีจะสามารถเบิกถอนออกมาใช้จ่ายได้แน่นอน ส่วนกรณีที่มีปัญหาในเรื่องเอทีเอ็มในพื้นที่น้ำท่วมใช้การไม่ได้นั้น ทางธนาคารพาณิชย์จะพยายามที่จะดำเนินการให้มีเอทีเอ็มเคลื่อนที่ เช่น อาจจะใช้รถ หรือเรือ เข้าไปให้บริการในพื้นที่มากขึ้น”

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า ในระหว่างที่เอ็มทีเอ็มหายาก และหลายธนาคารปิดการให้บริการตู้เอทีเอ็ม ในการประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์กับธนาคารพาณิชย์ในครั้งหน้า จะเสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเอทีเอ็มต่างธนาคารเป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือประชาชน เพราะในบางพื้นที่อาจจะมีตู้เอทีเอ็มให้บริการได้ไม่ครบทุกธนาคาร นอกจากนั้น ธปท.ได้กำชับให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลลูกหนี้ของธนาคารอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของหนี้สินเก่าและการขอสินเชื่อใหม่ หากลูกค้าต้องการเงินเพื่อที่จะใช้จ่ายในช่วงประสบภัยน้ำท่วม แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าอาจจะไม่ต้องการสินเชื่อใหม่ในขณะนี้มากนัก เพราะในขณะนี้อยากกู้บ้านเรือนที่จมน้ำให้ได้ก่อน

 

 

 

ไทยรัฐออนไลน์

  • โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
  • 28 ตุลาคม 2554, 17:45 น.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

  • 1163 ข่าว
  • ไม่มีรูปภาพที่เกี่ยวข้อง
  • ไม่มีข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น